fbpx
สองนักวิชาการ ‘อันตราย’ ที่จีนไม่อยากให้จำ

สองนักวิชาการ ‘อันตราย’ ที่จีนไม่อยากให้จำ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ เขียน

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงที่ผ่านมามีการตอบโต้กันระหว่างชาวเน็ตไทยและจีนที่สร้างความสนใจระดับนานาชาติ โดยโต้เถียงเรื่องสถานะความเป็นประเทศของไต้หวันและฮ่องกง ทำให้ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่และคอมมิวนิสต์จีนเป็นที่สนใจ จนมีการพูดถึงสิ่งที่จีนทำแล้วส่งผลเสียกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ หรือประเด็นเรื่องความเป็นเผด็จการของจีนที่กดขี่ชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวอุยกูร์

ขณะที่ชาวเน็ตจีนใช้ VPN เข้ามาแสดงความเห็นเพื่อกระจายแนวคิด ‘จีนเดียว’ อย่างแข็งขันและไม่ฟังใคร ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพว่าสังคมจีนตอนนี้อาจจะดูไร้ความหวังที่จะมีเสรีมากขึ้น

ทว่า มิได้หมายความว่ากลุ่มเสรีนิยมหรือผู้ที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทางความคิดของจีนจะไม่มีอยู่ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีผู้ที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจอันกดขี่ ด้วยหลักการที่ตนยึดมั่นว่าผู้คนต้องมีความคิดที่เสรีได้

วันที่ 29 เมษายนในปีที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 108 ปีของมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของจีน เพราะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ผลิตผลงานทางวิชาการและบุคคลสำคัญมากมาย คนที่โดดเด่นและเป็นที่จับตามากที่สุดตอนนี้ คือ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมเคมีอย่าง สี จิ้นผิง ผู้เป็นประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบันตั้งแต่ปี 2012 และยังคงไม่มีกำหนดวาระการลงจากการดำรงตำแหน่ง

มหาวิทยาลัยที่มีอายุถึง 108 ปีย่อมมีศิษย์เก่ามากมายมาร่วมเฉลิมฉลอง ประวัติศาสตร์ต่างๆ และเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยย่อมถูกพูดถึง

หนึ่งในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญที่สุดของจีน คือ ขบวนการ 4 พฤษภาคม ปี 1919 มีการเดินขบวนของนักศึกษาปัญญาชน จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหวา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เหล่าคนรุ่นใหม่ต่างเรียกร้องให้ประเทศจีนปฏิรูปจากขนบธรรมเนียมขงจื๊อ เปลี่ยนไปใฝ่หา ‘นายประชาธิปไตย’ (Mr. Democracy) และ ‘นายวิทยาศาสตร์’ (Mr. Science) ข้อความเหล่านี้กึกก้องไปทั่ว เหมา เจ๋อตง ยกย่องคุณูปการของนักศึกษาปัญญาชนนี้ สี จิ้นผิง ยกย่องเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการแสดงความรักชาติ ทำให้จีนยิ่งใหญ่เกรียงไกรไม่น้อยหน้าตะวันตก

ดูแล้ว มหาวิทยาลัยชิงหวา อาจเทียบได้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในไทยได้กระมัง?

ทว่าเมื่อบางเหตุการณ์ไม่อาจพูดถึงได้อย่างเต็มปาก ทำให้งานเฉลิมฉลองความทรงจำของมหาวิทยาลัยจึงชุลมุนไม่น้อย แม้เหตุการณ์พฤษภาคม 1919 จะถูกรัฐบาลจีนยกย่อง แต่ในอีกด้านหนึ่งหากผู้คนตอนนี้หันมา ‘เอาจริง’ กับการเรียกร้องหา ‘นายประชาธิปไตย’ และ ‘นายวิทยาศาสตร์’ เหมือนกับนักศึกษาในเวลานั้น เผด็จการคอมมิวนิสต์จีนที่พยายามปิดกั้นเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่น การกระทำต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง หรือการปิดโบสถ์คริสต์) ก็จะถูกท้าทาย ความเป็นไปได้นั้นจะยิ่งน่ากลัวขึ้นสำหรับคอมมิวนิสต์จีน ด้วยอาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยเก่าแก่นี้ยึดถือจิตวิญญาณของคนรุ่นนั้นอย่างจริงจัง สวี่ จางรุ่น (許章潤) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยชิงหวา ออกมาเขียนบทความเตือน สี จิ้นผิง ว่าให้ระวังการทำลายกรอบกติกากฎหมายที่ดีของประเทศ ส่งผลให้เขาถูกสั่งระงับการสอนและกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา ในเวลาต่อสวี่ได้เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลจีนถึงการจัดการวิกฤตโควิด-19 จนถูกกักบริเวณที่บ้านและตัดขาดจากอินเทอร์เน็ต

การระงับการสอนของสวี่เกิดขึ้นก่อนการฉลองครบรอบมหาวิทยาลัย และในช่วงของการฉลอง 108 ปีมหาวิทยาลัยก็ได้ทำเรื่องอันเป็นที่ครหาว่าเอาใจเผด็จการคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการเอาผ้าไปล้อมกั้นสุสานหินที่ตั้งในมหาวิทยาลัย พร้อมระบุว่า “กำลังบูรณะ” คล้ายกับบ้านเราตอนประชาชนประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ก็นำเอาต้นไม้ไปปลูกเพื่อไม่ให้คนเข้าไปนั่งได้ หรือบอกว่ากำลังปรับปรุงอยู่เสียอย่างนั้น

แล้วอนุสาวรีย์นี้คืออะไร? ทำไมมหาวิทยาลัยต้องกลัวว่าคนจะเข้าไปรำลึกด้วย?

 

ศาสตราจารย์สวี่ จางรุ่น และจารึกระบุว่า “ศิลาที่ระลึก หวัง จิ้งอัน (หวัง กั๋วเหวย) แห่งไห่หนิง” ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา / ที่มา: China Heritage

 

หากสันนิษฐานจากการกระทำของมหาวิทยาลัยที่ไม่ต่างกับไทยก็คือ อนุสาวรีย์นี้มี ‘นัยที่น่าสะพรึงต่อผู้มีอำนาจ’ ที่นั่นมีข้อความเขียนจารึกว่า “เพื่อไขว่คว้าหาความรู้เป็นนักวิชาการที่จริงแท้ โซ่ตรวนคุณค่าเชิงบังคับต้องถูกทลายออก ทางนี้ทางเดียวที่เขาจะแสวงหาความจริงได้” ข้อความยังเขียนต่อไปทำให้เรารู้ว่าผู้เขียนมีนามว่าอะไรและเขามีทัศนคติอย่างไร “ชายคนนี้ หวัง กั๋วเหวย เลือกจะตายแทนที่จะมีชีวิตที่จิตใจของเขาต้องถูกคุมขัง … การตายของเขานั้นแสดงให้เราเห็นจิตใจที่เสรีอิสระ”

ชายคนนี้คือ หวัง กั๋วเหวย (王國維) นักวิชาการชาวจีนซึ่งได้รับการขนานฉายาว่าเป็น ‘สี่ปรมาจารย์สำคัญ’ ของวงวิชาการจีน เขาเป็นคนไห่หนิง มณฑลเจ๋อเจียง สอบจอหงวนไม่ผ่าน แต่เป็นคนอุตสาหะวิริยะ ในช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจ เขาเรียนภาษาญี่ปุ่นและศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ณ โตเกียว หลังจากกลับมาที่จีนเขาเลือกจงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ของแมนจู และหนีไปญี่ปุ่นเมื่อเกิดปฏิวัติซินไห่โค่นล้มราชวงศ์ในปี 1911 และจนเขากลับมาที่จีนในปี 1916 และได้รับเลือกให้เป็นศาสตราจารย์สอนที่ชิงหวาในปี 1924

จารึกแผ่นนี้สร้างขึ้นในปี 1929 หลังจากเขาเสียชีวิตไปสองปี จากการตัดสินใจกระโดดลงน้ำในช่วงที่กองทัพปฏิวัติแห่งชาติเข้าบุกรุกปักกิ่ง การตายของเขาถูกมองจากเพื่อนนักวิชาการและลูกศิษย์ว่าเป็นการประท้วงต่อการที่จีนต้องสูญเสียเสรีภาพทางความคิดไป โดยต้องหันไปยึดหลักลัทธิไตรราษฎร์ของซุนยัตเซ็น (ดังที่จารึกเขียนว่า “คุณค่าเชิงบังคับ”)

จารึกนี้มิได้บันทึกเพียงคำสรรเสริญของปัญญาชนที่ตายเพราะไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการทางความคิด แต่ได้แต่งเรียบเรียงข้อความโดยปัญญาชนที่โดดเด่นที่สุดอีกคนหนึ่งด้วยก็คือ เฉิน ยินเชี่ย (陳寅恪) นักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของจีน เฉินเป็นเพื่อนกับหวัง ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของประธานเหมาที่สิ่งของเก่าแก่ถูกทำลายราบ จารึกนี้ถูกแบกเอาไปเป็นที่รองในห้องเคมีทดลอง และถูกกลับมาตั้งในช่วงปี 1970 เฉินกลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ไม่จำนนก้มหัวให้เผด็จการ ดังที่ในช่วงประธานเหมาเรืองอำนาจ เขาได้รับคำเชิญให้เป็นสมาชิกของ Chinese Academy of Sciences สถาบันการศึกษาที่คอมมิวนิสต์ตั้งขึ้นมาแข่งกับของเดิม เขาเขียนจดหมายกล่าวปฏิเสธจะเป็นนักวิชาการสถาบันนั้นดังนี้

“ผมไม่ได้ต่อต้านระบอบการเมืองปัจจุบันนี้ แต่จากที่ได้อ่าน Das Kapital ในสวิตเซอร์แลนด์ช่วงรัชสมัยซวนจงปีที่สาม ผมได้ข้อสรุปว่าการยอมรับโลกทัศน์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์นั้นย่อมไม่สามารถทำให้คนนั้นผลิตงานวิจัยแบบวิชาการได้ [หากผมได้บริหารสถาบันที่จะเชิญให้ผมเข้าร่วมนี้] ทุกคนที่ผมเชิญมาทำงาน และนักศึกษาทุกคนต้องสามารถมีความรู้สึกที่เป็นอิสระทางปัญญาและมีจิตวิญญาณที่อิสระเสรี ถ้าไม่เป็นแบบนั้น พวกเขาไม่อาจจะมาเป็นลูกศิษย์ผมได้ ไม่รู้ว่าในอดีตท่านเห็นด้วยกับผมไหม แต่ตอนนี้ประจักษ์ชัดว่าท่านไม่ได้เห็นในทิศทางนี้เลย ผมไม่อาจยอมรับท่านเป็นลูกศิษย์ได้อีกแล้ว”

“ … ที่ผมบอกว่าไม่ควรมีโซ่ล่ามเรา ผมหมายความว่าท่านไม่อาจจะให้ทุกอย่างเริ่มต้นบนแนวคิดมาร์กซ์-เลนิน โดยหวังว่าทุกคนจะใฝ่หาอิสรภาพทางวิชาการจริงแท้ได้ มันไม่จำเป็นอย่างยิ่งอีกด้วยที่จะต้องมีชั่วโมงศึกษาการเมืองอย่างเข้มข้น และผมไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะใช้กับผมคนเดียว แต่รวมถึงทุกคนในสถาบันด้วย ผมไม่เคยยุ่งในบทสนทนาการเมือง และไม่มีความจำเป็นต้องข้องเกี่ยวการเมือง หรือเข้าร่วมพรรคการเมืองหรือกลุ่มใด ท่านสามารถตรวจสอบประวัติของผมได้ตามใจชอบ แต่ผมขอยืนยันว่าสิ่งที่ผมบอกท่านนั้นเป็นประเด็นสำคัญจริงๆ”

ในตอนจบของจดหมายเขาคงสร้างความโกรธเคืองให้ผู้ส่งสารไม่น้อยเพราะเขาท้าทายประธานเหมา โดยบอกว่ากรุณาส่งข้อความนี้ให้เหมา และหากจะเชิญเขาเข้าร่วมสถาบันแล้ว ก็ขอให้เหมาเขียนจดหมายรับรองเป็นเกราะคุ้มกันให้เขาแสดงความคิดได้อย่างเสรี

“ผมหวังว่าบุคคลยิ่งใหญ่อย่างท่านจะเข้าใจสาระสำคัญและทำตามที่สิ่งที่ผมเสนอ ถ้าหากไม่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพูดถึงการแสวงหาความเป็นวิชาการอีกต่อไป”

ในตอนต้นของจดหมาย เขายังได้อ้างถึงจารึกที่เขาเขียนให้หวังเสียด้วย นี่เป็นการตบหน้าเหมาและสถาบันวิชาการคอมมิวนิสต์อย่างถึงรากถึงโคน จดหมายฉบับนี้เผยแพร่หลังจากที่เฉินเสียชีวิตแล้ว และไม่น่าแปลกใจเลยว่ามันจะทำให้เผด็จการที่มุ่งควบคุมเสรีภาพกลัวเขา

กลับไปเรื่องในตอนต้น เมื่อเวลาเวียนมาถึงการครบรอบจารึกนี้ มหาวิทยาลัยชิงหวาต้องเผชิญหน้ากับกิจกรรมที่คนจีนผู้รักจิตวิญญาณอิสระเสรีมารวมตัวกัน เพื่อวางดอกไม้และคารวะจิตวิญญาณของพวกเขาทั้งสองคน

แม้ หวัง กั๋วเหวย จะไม่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์โดยตรง แต่การยกย่องเขาเป็นการทิ่มแทงการยกย่องวีรบุรุษของคอมมิวนิสต์ที่จะเป็นได้ต้องเชื่อผู้นำเท่านั้น หรือคนอย่างเฉินที่ปฏิเสธตำแหน่งวิชาการที่สูงส่ง ซึ่งทำให้คนที่จะก้มหัวรับใช้เผด็จการต้องละอาย

หันกลับมามองประเทศไทย เรามีนักวิชาการที่ยอมศิโรราบให้เผด็จการไม่น้อย ทำให้เกิดการปิดกั้นไม่ให้จัดงานเสวนาการเมืองภายใต้แรงกดดันทหาร เรียกจับคนเห็นต่างไม่ให้เข้าเรียน และพวกเขาเหล่านั้นเคยถูกเสนอตำแหน่งแห่งที่ให้เป็นรัฐมนตรี หรือกลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาไปเสียแล้ว

หากพวกเราไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ร่วมกันยึดมั่นต่อต้านอำนาจอันไม่ชอบธรรม ประเทศไทยก็คงจะเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่จีนเป็นขึ้นทุกวัน

ผู้ท้าทายจะกลายเป็นประวัติศาสตร์เตือนผู้ปฏิบัติตนน่าละอายเสมอ เตือนใจว่าตนมีส่วนไปลดทอนเสรีภาพทางความคิด ไม่ใช่เท่านั้น เรื่องราวของผู้ท้าทายยัง ‘อันตราย’ จนต้องถูกปิดกั้น เพราะจะทำให้คนมีความหวังและซื่อสัตย์กับชีวิต ดังที่หวังและเฉิน สองนักวิชาการจีนที่ไม่ก้มหัวได้แสดงให้เราเห็นก่อนหน้าแล้ว

“อนาคตเราไม่อาจล่วงรู้ได้ และแน่ล่ะเวลาที่งานของบุรุษคนนี้จะหมดความหมายลงไปก็คงมาถึง ดังที่งานวิชาการเขามีหลายด้านให้เห็นแย้งเห็นต่างได้ ทว่าจิตวิญญาณอิสระและจิตใจที่ไม่ถูกร้อยรัดพันธนาการของเขา จะยังคงอยู่รอดต่อไปอีกพันปีอยู่คู่กับความยืนยงของสวรรค์และผืนพิภพ สาดส่องตลอดกาลดังพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย” (หนึ่งในข้อความจากจารึก หวัง กั๋วเหวย โดย เฉิน ยินเชี่ย)

 


อ้างอิง

Xi Praises a Student Protest in China. From 100 Years Ago

Tsinghua University suspends Xu Zhangrun, Chinese law professor who criticised Xi Jinping

‘This may be the last piece I write’: prominent Xi critic has internet cut after house arrest

The Two Scholars Who Haunt Tsinghua University

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ @krichkomkris ที่ช่วยตรวจทานการถอดเสียงชื่อบุคคลต่างๆเป็นภาษาไทย และช่วยเทียบคำแปลจารึกของผู้เขียนที่แปลจากภาษาอังกฤษ โดยตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาจีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save