fbpx
40 ปี อัลบั้ม 'The Wall' วง Pink Floyd : เรายังเป็นแค่อิฐในกำแพง

40 ปี อัลบั้ม ‘The Wall’ วง Pink Floyd : เรายังเป็นแค่อิฐในกำแพง

ภาวิณี คงฤทธิ์, พิมพ์ใจ พิมพิลา เรื่อง

ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ ภาพ

 

“รัฐบาลจะไม่กลับมาเปิด จนกว่าจะได้กำแพง” 

คือประโยคที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลั่นวาจาไว้ หลังจากสภาคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ-เม็กซิโก จนหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งต้องปิดทำการร่วมเดือนเต็มๆ จากปลายปี 2018 ต่อต้นปี 2019

หลังจากคำกล่าวของทรัมป์ถูกนำเสนอออกไป กระแสสังคมก็ตอบโต้เขาอย่างหนัก หนึ่งในนั้นคือศิลปินอย่าง โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) มือเบสแห่งวง Pink Floyd ที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างเต็มตัว โดยเขาต้องการจัดคอนเสิร์ตขึ้นที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความล้าหลังของรัฐบาลสหรัฐฯ เหมือนคราวที่วงเคยแสดงคอนเสิร์ต ‘The Wall’ เพื่อฉลองการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1990

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วง Pink Floyd แสดงออกในการต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยม แต่เป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว ที่พวกเขาใช้เสียงเพลงในการสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคมและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

อันที่จริง อัลบั้ม The Wall ออกสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 1979 แต่เพราะประเด็นที่แหลมคมในเนื้อหาของอัลบั้มดังกล่าว และวิกฤติการเมืองโลกในปัจจุบันดูเหมือนจะวนถอยหลังกลับไป การย้อนฟังอัลบั้ม The Wall จึงราวกับว่ามันยังสดใหม่อยู่เสมอ

เส้นเรื่องหลักในอัลบั้มนี้พูดถึงชีวิตของ ‘พิงก์’ เด็กชายที่ต้องสูญเสียพ่อไปในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เขามีวัยเด็กที่ทุกข์ทรมาน พิงก์ได้แต่หวังว่ายามที่เขาโตขึ้น สังคมจะดีกว่าเดิม แต่กลายเป็นว่ามันกลับแย่ลง

ระบบการศึกษาไม่ได้ช่วยทำลายกำแพงที่เกิดขึ้นในใจ แต่กลับยิ่งสูงขึ้น เขาโตขึ้นท่ามกลางคำถาม และตัดสินใจสร้างกำแพงปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก แต่สุดท้ายเขาค้นพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ก่อนตัดสินใจทำลายกำแพงนั้นและกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริงอีกครั้ง

อิทธิพลของอัลบั้มดังกล่าว ทำให้ในปี 1980 เพลง Another brick in the wall, Part 2 ที่มีเนื้อหาต่อต้านระบบการศึกษา ถูกแบนจากประเทศแอฟริกาใต้ เพราะถูกนักเรียนหัวก้าวหน้านำไปใช้ในการนำประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวในโรงเรียน

ข้ามมาถึงปี 2010 วง Blurred Vision จากประเทศอิหร่าน ก็หยิบเพลงเดียวกันมาใช้ในการประท้วงรัฐบาลอิหร่านที่เคยปราบปรามผู้ชุมนุม

สำหรับสังคมไทย แม้ว่ายังไม่มีมวลชนที่ไหนหยิบเอาเพลงในอัลบั้ม The Wall มาใช้ในการประท้วงรัฐบาลทหารที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2014 ทว่าความอึดอัดคับข้องของคนหนุ่มตัวเล็กๆ ในวงการดนตรีกระแสรอง ก็ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาจับเข่าคุย วิเคราะห์ความหมายของบทเพลงและสังคมการเมืองที่อยู่ในอัลบั้ม The Wall ร่วมกัน เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย ธนัญชัย ไกรเทพ และ ฮามีร อ่อนทอง สมาชิกวงอมตะ, รัชพงศ์ โอชาพงศ์ หัวหน้าโครงการ Triple H Music ค่ายเพลงไม่แสวงหากำไร และ ภาคภูมิ เตี๋ยวงษ์สุวรรณ อาจารย์ประจำวิชาปฏิบัติกีต้าร์สมัยนิยม วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บาดแผลจากสงคราม

 

 

พวกเขาเปิดเพลงแรกของอัลบั้ม คือเพลง In the flesh? ที่ชวนให้ผู้คนตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ว่า กำลังสู้อยู่กับอะไร สู้เพื่อใคร และใครได้ประโยชน์จากสงคราม

ฮามีรมือเบสวงอมตะ มองว่าเพลงนี้ถือเป็นเพลงปฐมบทที่โรเจอร์ตั้งใจส่งสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าต่อจากนี้จะมีกลุ่มบุคคลหรือผู้มีอำนาจกำลังกระทำการบางอย่างที่จะนำความวุ่นวายมาสู่ผู้คน

จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลให้จิตใจของผู้คนยิ่งเปราะบาง ล่องลอย และไร้ซึ่งความมั่นคง ไม่ต่างจากการมีชีวิตอยู่บนพื้นน้ำแข็ง ซึ่งปรากฏอยู่ในเพลงที่สองอย่างเพลง Thin ice

“ผมว่าเขากำลังเปรียบเปรยชีวิตของคนในสังคมสมัยใหม่ ดูเหมือนจะสะดวกสบาย แต่จริงๆ แล้วเปราะบาง เราใช้ชีวิตอย่างไม่มีหลักประกันอะไรเลย เราไปสู้ทำไม พ่อแม่ส่งลูกไปรบในสงครามเพื่ออะไร เขาตั้งคำถามเรื่องสงครามอยู่ตลอดเวลา” ธนัญชัย มือกีต้าร์สมาชิกวงอมตะ กล่าว

 

ธนัญชัย ไกรเทพ
ฮามีร อ่อนทอง

 

รัชพงศ์ แห่ง Triple H Music มองว่าเพลงนี้อาจจะไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องสงครามเพียงอย่างเดียว แต่กำลังพูดไปถึงความเสี่ยงในการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นที่ถูกบีบให้ต้องต่อสู้ตลอดเวลา ยิ่งประเทศเจริญขึ้นเท่าไหร่ ความเปราะบางในใจคนยิ่งสูงขึ้นตาม ผู้คนต่างทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในชีวิต แต่ยิ่งถวิลหาความมั่นคงมาก มันก็ยิ่งไกลออกไป เรายังคงใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นน้ำแข็งบางๆ ที่ไม่รู้ว่าจะจมลงไปข้างล่างเมื่อไหร่

จากความวุ่นวายในสังคมและความเปราะบางที่มีต้นเหตุมาจากสงคราม ข้อความหลักที่ The wall กำลังบอกเราผ่านบทเพลงที่ 3 คือเพลง Another brick in the wall, Part 1 เด็กชายตัวน้อยผู้เป็นบาดแผลจากสงคราม

ภาคภูมิ อาจารย์วิชาปฏิบัติกีต้าร์ฯ กล่าวว่า ในเพลงเราจะได้ยินการร้องแบบตะคอก มันเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจ เพราะหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาของเด็กที่ต้องขาดผู้นำครอบครัว พ่อที่ถูกส่งให้ไปตายในสนามรบ มีเด็กมากมายถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเพลงนี้ก็เขียนมาจากเหตุการณ์จริงที่โรเจอร์ได้เผชิญมา

“ผู้สร้างบาดแผลได้จากลาไป ความเจ็บปวดเหมือนจะบรรเทาลง ถึงเวลาที่ชีวิตจะต้องดำเนินต่อไปด้วยรอยแผลเป็นที่ยังคงอยู่ เด็กน้อยคนนั้นหวังเหลือเกินว่าชีวิตในวันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่า โรงเรียนจะทำให้เขาได้มีชีวิตใหม่ แต่เปล่าเลย ระบบการศึกษาที่เขาฝันถึงไม่ได้ช่วยให้กำแพงในใจหายไป ในทางกลับกัน มันยิ่งทำให้กำแพงที่มีสูงขึ้นไปอีก เพลงที่ 4 อย่างเพลง The Happiest Days Of Our Lives กำลังบอกเราอย่างนั้น”

มือกีต้าร์วงอมตะ เสริมว่ามันเป็นเพลงเชื่อมไปสู่ตอนที่ 2 ของอัลบั้ม เขาสูญเสียพ่อให้กับสงคราม แล้วต้องมาเจอระบบการศึกษาที่เด็กถูกกดขี่ ไม่มีสิทธิแสดงออก

“ผมคิดว่าโรเจอร์กำลังแต่งเพลงนี้เพื่อตั้งคำถามว่า การที่มนุษย์คนหนึ่งเติบโตมา เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา สุดท้ายแล้วเพื่อพัฒนาชีวิต หรือเพื่ออะไร”

 

เผด็จการการศึกษา

 

We don’t need no education.
We don’t need no thought control.
Hey! Teachers! Leave them kids alone!
All in all you’re just another brick in the wall.

 

 

ภาคภูมิ มองว่าเนื้อเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ของอัลบั้ม The Wall อยู่ในเพลง Another brick in the wall, Part 2 ภาพโรงเรียนที่กลายเป็นโรงงาน ภาพเหล่าเด็กนักเรียนกำลังถูกปั๊มออกจากเครื่องจักรและกลายเป็นหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่บนสายพานที่เรียกว่าระบบการศึกษา ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นระบบที่ตอกย้ำถึงอำนาจของเผด็จการ

“ในเพลง Another brick พาร์ทที่ 1 ร้องว่า ‘All in all it was all just bricks in the wall.’ It was มันเป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนพ่อที่ได้เป็นอิฐก้อนหนึ่งในกำแพงไปแล้ว แต่ในพาร์ทที่ 2 ร้องว่า ‘All in all you’re just another brick in the wall.’ โรเจอร์กำลังจะสื่อว่าอิฐก้อนใหม่ที่กำลังจะถูกขนขึ้นไปอยู่บนกำแพงก็คือคุณ ใช่หรือไม่” ภาคภูมิกล่าว

 

ภาคภูมิ เตี๋ยวงษ์สุวรรณ

 

วงสนทนาพูดถึงเพลง Mother ว่าเป็นเพลงที่ตั้งคำถามกับสังคมถึงความไม่ปลอดภัย การซ่อนตัวอยู่หลังกำแพงจะช่วยให้ปลอดภัยได้จริงหรือไม่ และเพลงที่ 7 อย่างเพลง Goodbye Blue Sky ก็เป็นคำตอบว่า มันไม่จริง

“เพลงนี้กำลังพูดถึงสงครามอย่างชัดเจน ท่อนแรกที่ร้องว่า ‘Look mummy, there’s an aeroplane up in the sky’ หลังจากนั้นเนื้อเพลงก็พูดถึงเสียงระเบิดที่ร่วงลงมาอีก พูดถึงภาพของผู้คนที่อยู่อย่างหวาดกลัว ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม” ธนัญชัยกล่าว ก่อนที่ภาคภูมิจะเสริมต่อว่า

“อีกท่อนที่ร้องว่า ‘Did you ever wonder why we had to run for shelter, when the promise of a brave new world unfurled beneath a clear blue Sky?’ มันแปลได้ว่า ทำไมเราถึงต้องวิ่งหาที่กำบังกันอีก ในเมื่อเราได้สัญญากันแล้ว ว่าโลกใหม่จะคลี่คลายภายใต้ท้องฟ้าสีคราม แต่ทุกอย่างมันกลับตาลปัตรไปหมด สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยนอกจากความเจ็บปวด เพราะเป็นสิ่งที่สงครามทิ้งไว้ให้”

 

ทุนนิยมที่เติมเต็มช่องว่างในใจ

 

https://www.youtube.com/watch?v=I7ijRW_k9r4

 

Empty spaces เพลงที่ 8 ในอัลบั้ม The Wall พวกเขามองว่าเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนผ่านของเรื่องทั้งหมด หลังจากการตั้งคำถามถึงโลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ประชาชนต้องการการเติมเต็มช่องว่างที่หายไปด้วยบางสิ่งบางอย่าง และสุดท้ายก็ถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยม

ภาคภูมิ อธิบายว่าเพลงนี้มีการบรรยายถึงการเติมเต็มช่องว่าง เพื่อสร้างกำแพงให้เสร็จสมบูรณ์ แต่การเริ่มต้นในมิวสิควิดีโอนั้น ได้นำเอาสัญญะของดอกไม้ที่กำลังผสมพันธุ์เข้ามา ครั้งแรกที่เห็นเราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเซ็กส์ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามกระตุ้นเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความต้องการ แต่ภาพที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการหลอกล่อ เปรียบให้เห็นถึงการครอบงำของระบบทุนนิยม จนประชาชนต้องจบชีวิตลงด้วยความตาย

 

แก้ปัญหาด้วยเซ็กส์ ?

 

https://www.youtube.com/watch?v=1Rr1YTWMJrU

 

ในเพลง Young Lust ภาพที่สะท้อนออกมาจากเนื้อเพลงและมิวสิควิดีโอ มีความชัดเจนในเรื่องเซ็กส์เป็นสำคัญ โดยสะท้อนไปถึงความเก็บกดที่คนไม่สามารถแสดงออกในเรื่องของเพศได้อย่างอิสระ

ภาคภูมิได้โยงมาที่ปัจจุบันของสังคมไทยว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องศีลธรรมที่ไทยจารึกไว้ในบทเรียนว่าเราไม่สามารถพูดตรงๆ ได้ เขามองว่าประเทศไทยมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มเสรีนิยมที่ค่อนข้างรุนแรง บางครั้งเรารู้แต่ไม่สามารถต่อต้านได้ เพราะอาจถูกครอบงำหรือจำกัดตัวเองด้วยศาสนา การเห็นต่างกลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งที่เป็นสิทธิ

ส่วนเพลง One of my turns มีเนื้อหาต่อยอดจากเพลง Young Lust ธนัญชัยมองว่า “โรเจอร์ วอเตอร์ น่าจะสื่อสารให้เห็นว่าภายใต้อารมณ์ของผู้ชายก่อนหน้าจะเจอสภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถไว้ใจอะไรต่อไปได้ เขาสื่อสารผ่านความรักของวัยรุ่นในการมีความรัก มีเซ็กส์ แล้วก็อกหัก”

ส่วนฮามีรมองว่า เพลงต่อมาอย่าง Don’t leave me now เป็นสภาวะที่ไร้ทางออก การเล่นยา มีเซ็กส์ เพื่อปลดปล่อยอะไรบางอย่าง นำไปสู่ด้านมืด

 

รัชพงศ์ โอชาพงศ์

 

รัชพงษ์เสริมว่า ช่วงนี้เป็นช่วงตอนโตของพิงก์ที่เล่นดนตรี เริ่มประสบความสำเร็จ เริ่มมีปัญหากับชีวิต และเริ่มใช้ยา เราจะเห็นถึงบุคลิก อารมณ์ ความเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวน

“ความสับสนในชีวิตของพิงก์เป็นเหมือนการต่อสู้ภายในตนเอง เพราะการแก้ปัญหาด้วยทุนนิยม เซ็กส์ และยาเสพติด ไม่สามารถทำให้เขาหลุดพ้นได้ กำแพงที่สร้างขึ้นเพื่อปิดตัวเองจากภายนอกทำให้ชีวิตยิ่งทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม”

 

วันหนึ่งเราจะทลายกำแพง

 

 

มาถึงเพลง Another brick in the wall, Part 3 ที่พวกเขามองเนื้อเพลงว่าเหมือนการตัดสินใจ พิงก์ในตอนนี้ไม่ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการยา ไม่ต้องการเซ็กส์ และสิ่งของหรูหรา

เพลงเฉลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร และการทลายกำแพงที่ถูกกล่าวถึงในมิวสิควิดีโอ เป็นมากกว่าการทลายกำแพงเพื่อเอาสนุก หากแต่เป็นการทลายความคิดเก่าๆ เพื่อสร้างความคิดใหม่ให้เกิดขึ้น

ธนัญชัยมองว่า การไล่ฟังและดูเนื้อหาเพลงในอัลบั้ม The Wall ทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างไปจากในเนื้อเพลงเลย โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่ทำให้เราเป็นแค่อิฐในกำแพง และหวังว่าวันหนึ่งเราจะทลายกำแพงนั้นได้

 

ภาพจาก www.rockhall.com/inductees/pink-floyd

 

[box]

Pink Floyd คือวงดนตรีแนว Progressive Rock จากอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 มีสมาชิกรุ่นก่อตั้งทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ซิด บาร์เร็ตต์ มือกีต้าร์, โรเจอร์ วอเทอรส์ มือเบส, มิค เมสัน มือกลอง และ ริชาร์ท ไรท์ มือคีย์บอร์ด

ปี 1967 ภายใต้การนำของซิด บาร์เร็ตต์ เขาได้พาวงทะยานจากวงร็อกใต้ดิน ขึ้นสู่การเป็นวงร็อกหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง ด้วยอัลบั้ม The Piper at the Gates of Dawn

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ซิด บาร์เร็ตต์ ต้องออกจากวง เนื่องจากใช้สารเสพติดเกินขนาด ไม่สามารถทำงานเพลงต่อได้ ทำให้เดวิด กิลมอร์ เข้ามาเป็นมือกีต้าร์คนใหม่ และพวกเขาก็หาส่วนผสมที่ลงตัวจนโลกตื่นตะลึงและจดจำได้ ผ่านผลงานอัลบั้มต่อๆ มา เช่น The Dark Side of the Moon (1973), Wish You Were Here (1975)

เช่นเดียวกับ The Wall (1979) ก็กลายเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านเผด็จการ

[/box]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save