fbpx

การเดินทางของคนหัวใจสลาย The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry

ด้วยความที่ไม่รู้อะไรมาก่อนเลย ผมจึงรู้สึกกับนิยายเรื่อง The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry (ชื่อไทยคือความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด) ของเรเชล จอยซ์ เหมือนไปพบเจอ ‘ของดี’ เข้าให้ด้วยความบังเอิญและมีโชคช่วยนิดๆ

ความประทับใจไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่เริ่มอ่านหรอกนะครับ ตรงกันข้าม เมื่อติดตามได้ราวๆ สิบหน้า ผมเกือบจะตัดสินใจ ‘ไม่ไปต่อ’ เพราะรู้สึกว่ามันมีลักษณะเป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งคุ้นเคยเป็นอย่างดีจากหนังและนิยายจำนวนมาก ว่าด้วยตัวเอกที่มีชีวิตย่ำแย่ติดลบ แล้วจู่ๆ วันหนึ่งก็มีอะไรบางอย่างมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ นำพาตัวละครออกไปโลดแล่นผจญภัยในโลกกว้าง มีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิต ได้สำรวจตรวจสอบทำความเข้าใจเบื้องลึกของตนเอง กระทั่งท้ายสุดก็คลี่คลายปัญหาสำเร็จ ได้รับโอกาสที่สองสำหรับ ‘การเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ’

ผมไม่ได้รังเกียจรังงอนงานสูตรสำเร็จทำนองนี้หรอกนะครับ พูดตามตรงคือเป็นพล็อตในแบบที่ผมชอบและพร้อมที่จะชอบเสียด้วยซ้ำ แต่ข้อติดขัดคือความที่มีกลไกและองค์ประกอบหลักๆ จับต้องได้ชัด จนแทบจะกลายเป็น ‘ท่าบังคับ’ บวกรวมกับความคุ้นเคยผ่านตามานับไม่ถ้วน พล็อตเช่นนี้จึงยากแก่การทำออกมาให้ดี และยิ่งยากขึ้นไปอีกในการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่

พูดอีกแบบคือ คราวใดที่ทำถึง ก็จะกลายเป็นความดีงามน่าประทับใจ แต่การสร้างและการเขียนมากเกินกว่าครึ่งมักประสบความล้มเหลวด้วย 2 ปัญหาใหญ่ๆ อย่างแรกคือซ้ำซากจนดูเฝือ ถัดมาคือเรื่องทำนองนี้มุ่งหยิบยื่นความรู้สึกที่ดีต่อผู้อ่าน มุ่งสร้างความซาบซึ้งประทับใจ หลายครั้งจึงกลายเป็นความจงใจจะ feel good จนเบาหวิว ไม่น่าเชื่อถือ เต็มไปด้วยความหน่อมแน้ม ตั้งหน้าตั้งตาคิดบวกเกินเหตุ จนกลายเป็นการยัดเยียดและเต็มไปด้วยท่าทีสั่งสอนแบบ ‘ขึ้นธรรมาสน์เทศน์’

นี่ยังไม่นับรวมการเร้าอารมณ์ในลักษณะฟูมฟายนะครับ

ช่วงต้นๆ ของ The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry ส่อเค้าว่าจะเป็นไปตามที่ผมตั้งแง่และหวั่นเกรง ฮาโรลด์ ฟราย ชายชราวัย 65 และมอรีน ภรรยาของเขา ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมานาน 47 ปี โดย 20 ปีหลัง ความสัมพันธ์เลวร้ายถึงขั้น ‘จำทน’ ต้องอยู่ด้วยกัน ทั้งสองไม่ได้ระหองระแหงทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่หนักหนาสาหัสกว่านั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ชืดชาซังกะตาย ต่างฝ่ายต่างพยายามหลีกเลี่ยงการข้องแวะพูดคุยกันเท่าที่จะทำได้ และคราวใดที่จำต้องสนทนา ก็มักจะเป็นคำพูดที่เหินห่าง เย็นชา ไร้ความหมาย

เช้าวันหนึ่ง ฮาโรลด์ได้รับจดหมายจากแดนไกล เขียนส่งมาโดยควีนนี เฮนเนสซี จากสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเซนต์เบอร์นาดีน เธอป่วยหนักเป็นมะเร็ง มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จึงเขียนมาเพื่อกล่าวคำอำลา

ฮาโรลด์เขียนตอบกลับ จากนั้นก็เดินออกจากบ้านเพื่อนำจดหมายไปหย่อนลงตู้ไปรษณีย์ แต่เมื่อไปถึงกลับเกิดอาการลังเล จึงผัดผ่อนหาข้ออ้างให้ตนเองมุ่งสู่ตู้ไปรษณีย์ถัดไป เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไกลห่างบ้านออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกหิว จึงแวะปั๊มน้ำมันเพื่อซื้ออาหารว่าง ได้พูดคุยสนทนากับเด็กสาวพนักงาน ฮาโรลด์เล่าเรื่องให้ฟังคร่าวๆ ว่าควีนนีป่วยเป็นมะเร็ง เด็กสาวจึงตอบกลับสั้นๆ ว่า ป้าของเธอก็ป่วยด้วยโรคเดียวกัน พร้อมทั้งปลอบประโลมให้มีความหวังและศรัทธา

คำพูดของเด็กสาวปั๊มน้ำมันอาจเป็นไปตามมารยาท แต่สำหรับฮาโรลด์แล้ว เขาตีความและเข้าใจไปไกลกว่านั้น ว่าถ้าหากมีศรัทธาอันมุ่งมั่นแรงกล้ามากพอ มันอาจช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บของควีนนีให้หายได้

ฮาโรลด์จึงฉีกจดหมายฉบับเดิมทิ้ง เขียนอีกฉบับขึ้นใหม่ บอกกับควีนนีว่าเขาจะเดินทางไปเยี่ยมเยียน และขอให้เธอมีชีวิตอยู่รอจนเขาไปถึง จากนั้นก็หย่อนจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ และเริ่มเดินเท้าทางไกลระยะทางประมาณ 500 ไมล์

ที่เล่ามาทั้งหมด เป็นเนื้อเรื่องคร่าวๆ ประมาณ 20 หน้าแรกนะครับ เหตุการณ์ที่เหลือถัดจากนั้นเป็นไปตามสูตรทุกประการ ในระหว่างทางฮาโรลด์ได้ประสบเหตุต่างๆ มากมาย ได้เจอและพูดคุยกันผู้คนมากหน้าหลายตา เผชิญอุปสรรคหลากชนิดนับไม่ถ้วน ทุกอย่างส่งผลให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งภายในและภายนอก

อีกพล็อตเรื่องรองลงมาที่สลับแทรกมาเป็นระยะๆ เล่าถึงปฏิกิริยาของมอรีนต่อการเดินออกจากบ้านแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของสามี ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ การทำความเข้าใจ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงไปมหาศาลเช่นกัน

พูดง่ายๆ คือหลังจากผ่านตาไปได้ราวๆ 20 หน้า ผมก็พอจะคาดคะเนเรื่องคร่าวๆ ที่เหลือได้หมดครบถ้วน รวมถึงบทสรุปตอนจบว่าควรต้องลงเอยด้วยดี ปัญหาต่างๆ ได้รับการสะสางแก้ไข และน่าจะมีอารมณ์ยืนพื้นเป็นความซาบซึ้งประทับใจ

เมื่ออ่านจนจบ ในส่วนของพล็อตและอารมณ์กว้างๆ นั้น ผมเดาถูกครบถ้วนนะครับ แต่ก็พูดได้อีกเช่นกันว่าในรายละเอียดปลีกย่อย ผมเดาผิดเละเทะไม่เป็นท่าเช่นกัน

ตอนที่อ่านไปได้ 20 หน้านี้เอง ผมเกิดลังเลใจว่าจะอ่านต่อหรือจะหยุด ทุกอย่างที่นิยายปูทางมามีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงยิ่งว่าจะมุ่งไปสู่ความเฝือซ้ำซาก การเร้าอารมณ์แบบเค้นหนักๆ และเนื้อหาสาระแง่คิดที่เปี่ยมไปด้วยท่าทีสั่งสอน

เป็นตอนนั้นเองที่จุดเด่นอย่างหนึ่งของนิยายแสดงตัวปรากฏชัด นั่นคือการผูกปมเพื่อเร่งเร้าความกระหายใคร่รู้ของผู้อ่าน

ผมตัดสินใจอ่านต่อ เพราะมีคำถามข้อสงสัยมากมาย เช่น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฮาโรลด์กับมอรีน (รวมถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่มีต่อลูกชายชื่อเดวิด) ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายแตกสลาย? ควีนนีเป็นใครและมีความผูกพันข้องเกี่ยวกับฮาโรลด์อย่างไร? และที่สำคัญ การเดินเท้าทางไกลของฮาโรลด์ ซึ่งรู้ๆ กันอยู่แล้วนะครับว่าจะต้องไปถึงจุดหมาย แต่ที่ชวนให้อยากรู้และเกิดอาการคันยิบในหัวใจก็คือ ฉากการพบเจอกันระหว่างตัวละครทั้งสองจะเป็นไปเช่นไร?

ตลอดช่วง 20 หน้าแรกในนิยายได้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ความสงสัยเอาไว้บานตะไท

เมื่ออ่านต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเด่นชัดว่า พ้นจากการเล่าเหตุการณ์ผจญภัยในโลกกว้างของฮาโรลด์แล้ว เทคนิคสำคัญซึ่งใช้อย่างมีประสิทธิภาพมาก จนทำให้เรื่องเล่าที่มีลักษณะไปเรื่อยๆ ไม่โลดโผน สามารถสะกดตรึงความสนใจของผู้อ่านได้ตลอด และชวนติดตามเป็นอย่างยิ่งก็คือ การสร้างข้อสงสัยสลับกับคำเฉลย (ซึ่งร้ายกาจมาก เพราะมาทีละขยัก ไม่ได้ให้ความกระจ่างหมดจด มิหนำซ้ำทุกคำอธิบาย ยังทิ้งปมเพิ่มความกระหายใคร่รู้มากขึ้นกว่าเดิมอีก)

จุดเด่นต่อมาคือ เส้นเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการเดินทางไกลของฮาโรลด์ มีลักษณะเป็นเรื่องแต่งพาฝัน (ตลอดการอ่าน ผมนึกถึงหนังเรื่อง Forrest Gump อยู่เนืองๆ โทนและบรรยากาศ รวมถึงเหตุการณ์บางช่วงค่อนข้างใกล้เคียงกัน) แต่อีกส่วนหนึ่ง ว่าด้วยการเดินทางภายในใจของฮาโรลด์ หวนย้อนกลับไปเผชิญกับชีวิตในอดีตหลายช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยหนุ่ม ห้วงยามที่ความรักระหว่างเขากับมอรีนเต็มไปด้วยความหวานชื่นดูดดื่ม ความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกันของฮาโรลด์กับควีนนี ตั้งแต่แรกพบจนกระทั่งลาจาก ปัญหาและความห่างเหินของพ่อลูกที่ดำเนินไปสู่สภาพเลวร้ายสุดกู่จนเกินแก้

นิยายเล่ารายละเอียดส่วนของอดีตแต่หนหลังเหล่านี้ในลักษณะเป็นส่วนเสี้ยวกระจัดกระจาย และไม่เรียงตามลำดับเวลา แต่เป็นการจัดวางตำแหน่งที่ออกแบบมาอย่างประณีต ทั้งการขานรับสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน การจัดสรรลำดับก่อนหลังอีกแบบ เริ่มต้นด้วยการเล่าสะท้อนถึงบุคลิกนิสัยของฮาโรลด์ ซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวทุกสิ่ง ทั้งผู้คน การวางตัว การรับมือสถานการณ์ดีร้ายในชีวิต ความล้มเหลวซ้ำซากในทุกๆ เรื่อง การพยายามใช้ชีวิตแบบทำตัวเล็กลีบจนปราศจากตัวตน รวมถึงการมีชีวิตโดยไม่กล้าใช้ชีวิต

ถัดต่อจากนั้น เป็นการเชื่อมโยงให้เห็นว่า บุคลิกนิสัยของฮาโรลด์ก่อให้เกิดปัญหาหนักหนาสาหัสได้มากมายเพียงใด ทั้งเรื่องการงานและชีวิตครอบครัว แง่มุมนี้เล่าสลับควบคู่ไปกับความเป็นมาครั้งวัยเยาว์ ฮาโรลด์เติบโตมาในครอบครัวเช่นไร และส่งผลให้เขากลายเป็นมนุษย์ไม่เอาไหนดังที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

ผมคิดว่าเรื่องราวในอดีตของฮาโรลด์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิยายเรื่องนี้หลุดพ้นจากความเป็นสูตรสำเร็จที่ซ้ำซาก

ปัญหาชีวิตของตัวละครเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในพล็อตทำนองนี้นะครับ แต่สิ่งที่ทำให้ The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครก็คือ ความหนักหน่วงร้ายแรงของปัญหา และความสมจริงน่าเชื่อถือในการบอกเล่าปัญหาต่างๆ 

นอกจากจะเป็นการเจือรสขมเข้มข้นเข้ามาในนิยาย feel good ได้อย่างชาญฉลาดแล้ว ความจริงจังและร้ายแรงเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของตัวละครยังส่งผลดีเยี่ยมอีก 2-3 ประการ อย่างแรกคือ ทำให้การเรียนรู้และความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของฮาโรลด์กับมอรีนหนักแน่นน่าเชื่อถือ มีความเป็นเหตุเป็นผลรองรับอย่างหนาแน่นรัดกุม ประการต่อมาคือ ความสมจริงของปัญหานำพาไปสู่บทสรุปคลี่คลายหลายฉากหลายตอนในแบบที่ควรจะเป็น ไม่ได้สุขสมหวังสวยหรูดูดีไปเสียทั้งหมด ไม่ได้โลกสวยตะพึดตะพือ แต่ทิ้งแง่มุมชวนคิดให้ผู้อ่านไตร่ตรอง เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปต่างๆ ในชีวิต

ผมเรียกของผมเองนะครับ ว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีอย่างมีวุฒิภาวะ

ประการสุดท้าย เป็นสิ่งที่ผมคาดคะเนผิดพลาดมากที่สุด นั่นคือการเร้าอารมณ์ พล็อตเรื่อง สถานการณ์ที่คนเขียนผูกแต่งขึ้นมาอย่างช่างคิด และรายละเอียดปลีกย่อย แทบจะกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้เปิดโอกาสและเอื้ออำนวยมากๆ ให้เร้าอารมณ์กันอย่าง ‘เอาตาย’ ได้ตลอดเวลา

อารมณ์ในนิยายเรื่องนี้มีหลากหลายมากนะครับ มีทั้งอารมณ์ขันน่ารักๆ ซาบซึ้ง ตื้นตันใจ เจ็บปวด ขมขื่นบาดลึก เศร้าสลด แต่ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น นำเสนอแบบไม่เน้นหนัก รุกเร้ากันแต่เพียงน้อยนิดพอประมาณ และมีการแตะเบรกยั้งมืออยู่ตลอด

ผลก็คือ หลายฉากหลายตอน หรืออาจจะพูดอีกแบบได้ว่า ก็ตลอดทั่วทั้งเรื่อง มีสถานการณ์แบบหลุมพราง ซึ่งสามารถกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า cliché หรือสิ่งที่ทำซ้ำทำบ่อย จนแทนที่จะได้ผลลัพธ์ออกมาดี กลับกลายเป็นความเฝือ ความเชย และความเลี่ยน (ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมกลัวมากๆ จนเกือบจะเลิกอ่าน)

The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry นำพาผู้อ่านเข้าไปเฉียดใกล้กับความ cliché เกือบตลอดเวลา และสามารถพลิกแพลงหลีกเลี่ยง จนกลายเป็นชั้นเชิงและความแนบเนียนในการนำเสนอได้อย่างน่าทึ่งทุกครั้ง เมื่ออ่านจนจบครบถ้วน การหลบหลีกกับดักในการเร้าอารมณ์ และการเร้าอารมณ์บางๆ โดยไม่บีบคั้น ก็ส่งผลให้ความรู้สึกร่วมของผู้อ่านที่มีต่อนิยายเรื่องนี้ชวนประทับตราติดตรึงใจเป็นที่สุด

จุดเด่นต่อมา คือฝีมือและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของเรเชล จอยซ์ ซึ่งเขียนหนังสือได้มีเสน่ห์ชวนอ่านมาก ทั้งบทสนทนาที่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ การบรรยายอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่สลับซ้อนภายในใจของตัวละคร การพรรณนาทิวทัศน์ฉากหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท้องฟ้า ภูเขา ถนนหนทาง และดอกไม้ เขียนออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาและงดงามมาก

ชื่อเรื่องภาษาไทย ‘ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด’ สะท้อนประเด็นสาระว่าด้วยการออกเดินทางผจญภัยของตัวละคร จนกระทั่งค้นพบความหมายของการมีชีวิต แต่นิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนแง่มุมอื่นๆ อีก

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าประทับใจมากสุด มันพูดถึงความผิดพลาดในการดำเนินชีวิต การรับมือในเบื้องต้นโดยพยายามหันหลังหรือลืมเลือน กระทั่งกลายเป็นการเพิ่มพูน สะสม ตอกย้ำ ขยายบาดแผลในใจให้ลุกลามเรื้อรังเกินเยียวยา จนเกิดสถานการณ์นำพาให้ฉุกคิด หวนกลับไปเผชิญหน้าฝันร้ายต่างๆ ในอดีต มองและพิจารณาครุ่นคิดถึงมันอย่างจริงจัง ทำความเข้าใจ ยอมรับในความผิดพลาด และปลดเปลื้องมันออกมาผ่านคำสารภาพ การระบายความในใจ การแสดงออกที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ที่สำคัญคือ การยอมรับความผิดพลาดของตนเอง และการให้อภัยผู้อื่น

อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งผมชอบมากไม่แพ้กัน คือ บนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างฮาโรลด์กับมอรีน หลังเกิดเหตุอันเป็นความลับสำคัญช่วงเวลา 20 ปีถัดจากนั้น ทั้งสองก็ใช้ชีวิตแบบลืมในสิ่งที่ควรจำ และเลือกจำแต่เฉพาะด้านที่ทำร้ายทั้งตนเองและคู่ชีวิต

นอกจากจะเป็นนิยายว่าด้วยการออกเดินทางไกลเพื่อเผชิญหน้ากับอดีตแล้ว The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry ยังเป็นเรื่องของการเดินทางเพื่อตามหารื้อฟื้นความทรงจำสำคัญที่เลือนหายไปด้วย

กระนั้นความน่าประทับใจสูงสุดที่ผมมีต่อนิยายเรื่องนี้ก็คือ การนำเสนออย่างละเอียดถี่ถ้วน จนทำให้ผู้อ่านเชื่อถือคล้อยตามได้สนิทใจว่า แม้กระทั่งหัวใจที่แตกสลายย่อยยับไม่มีชิ้นดีจากความผิดพลาดใหญ่โตมโหฬารในอดีต ซึ่งส่งผลเสียหายร้ายแรงและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมือนเดิม ก็สามารถเยียวยารักษาให้ดีขึ้นได้

หลังจากเริ่มต้นอ่านด้วยความหวาดหวั่น ไม่มั่นใจ ผมมาตกหลุมรักนิยายเรื่องนี้เข้าให้อย่างจังในตอนไหนบทใดก็ไม่ทราบ รู้แต่เพียงว่ายิ่งอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าดีและมีความพิเศษเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งลุ้นระทึกเร้าใจอยู่ไม่เว้นวายกับหลายๆ ครั้งที่เหมือนเดินไต่เส้นลวด พร้อมจะร่วงหล่นสู่การออกทะเลหรือเข้ารกเข้าพงได้ทุกเมื่อ จนกระทั่งอ่านจบบรรทัดสุดท้าย จึงค่อยเป่าปากด้วยความโล่งอก

จากนั้นก็ออกเดินไปที่สวนสาธารณะ แหงนมองท้องฟ้า สูดลมหายใจเข้าปอดเฮือกใหญ่ ตะโกนด้วยเสียงกระซิบออกมาว่า ‘เจอของดีเข้าให้แล้วโว้ย!’

ผมชอบจังเลยนะครับ ชอบนิยายที่มีคุณภาพ คุณสมบัติ และสถานะประมาณเดียวกับ The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry ซึ่งมีส่วนผสมกำลังเหมาะ ระหว่างความเป็นนิยายขายดีเน้นความบันเทิง เล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย สนุกครบรส และเป็นมิตรกับผู้อ่าน กับอีกครึ่งหนึ่งที่ก้าวเท้าเหยียบย่างเข้าไปในเขตแดนของวรรณกรรมคลาสสิก มีความลึก มีชั้นเชิงลีลาทางวรรณศิลป์ มีการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ และสะท้อนแง่มุมประเด็นทางลึกชวนคิด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save