fbpx
The Truth Booth : พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’

The Truth Booth : พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ความจริงคืออะไร?

ในยุคสมัยที่มนุษย์เรียนรู้ว่าความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ความจริงแตกต่างไปตามมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน เมื่อความจริงของเราไม่เหมือนกัน การตามหาและสถาปนาความจริงสูงสุดจึงไม่ใช่สาระสำคัญ การเปิดพื้นที่รับฟังความหลากหลายของความจริงต่างหากที่ใช่

แต่การพูดความจริงในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป โดยเฉพาะกับบางสังคม ในสังคมที่การพูดความจริงคือเรื่องต้องห้าม การแลกเปลี่ยนและชนกันของความจริงที่แตกต่างอย่างสุดขั้วไม่ได้นำมาซึ่งการรับฟังและข้อถกเถียง แต่กลายเกิดเป็นการทำลายล้างความจริงของอีกฝ่าย หยิบฉวยอาวุธนานาฆ่าฟันความจริงที่ไม่ต้องตรงกับที่ตนเชื่อมาทั้งชีวิต สร้างความกลัวให้อีกความจริงไม่กล้าเผยตัวออกมา

แต่ความจริงก็คือความจริง และยังคงเฝ้ารอที่จะถูกพูดและถูกรับฟังจากใครบางคน

CAUSE COLLECTIVE คือกลุ่มศิลปิน นักออกแบบ และนักชาติพันธุ์วิทยาที่ทำงานร่วมกันบนความสนใจในประเด็นสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง Ryan Alexiev, Jim Ricks และ Hank Willis Thomas เชื่อในการทำให้ศิลปะเป็นเรื่องสาธารณะและมีบทสนทนาของผู้คนรวมอยู่ในนั้น

ในปี 2011 ทั้งสามเริ่มโปรเจ็กต์ In Search of the Truth ด้วยคำถามที่ว่าความจริงของแต่ละคนคืออะไร?

พวกเขาออกแบบ The Truth Booth ห้องเป่าลมสูง 16 ฟุต รูปทรงบับเบิ้ลคำพูด แปะป้ายคำว่า ‘TRUTH’ ในภาษาต่างๆ พามันเดินทางไปตามเมืองทั่วโลกเพื่อตามหาความจริงในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง

ภายในห้องประกอบด้วยเก้าอี้หนึ่งตัว หน้าจอ และกล้อง ทุกเมืองที่ The Truth Booth เดินทางไป มันจะถูกตั้งไว้ในที่สาธารณะ เชื้อเชิญให้คนที่เดินผ่านไปมาเข้าไปเล่าความจริงของตัวเอง ด้วยการบันทึกวิดีโอความยาวสองนาที โดยเริ่มต้นเรื่องราวว่า “The truth is…”

  พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’ The truth booth

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’ The truth booth

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’ The truth booth

ภาพ: CAUSE COLLECTIVE

บทสัมภาษณ์ใน artnet  ของ Hank Willis Thomas ผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์บูธแห่งความจริงเล่าว่า

นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องฟังเรื่องที่เล่าโดยผู้คนจริง มากกว่าฟังเรื่องเกี่ยวกับพวกเขาจากปากคนอื่น ในขณะที่สื่อนำเสนอตลอดเวลาว่าผู้คนกำลังรู้สึกอย่างไร สิ่งที่เราทำคือแพลตฟอร์มที่ให้ความสำคัญกับเสียงจากคนจริง ให้คนได้พูดเรื่องสำคัญของพวกเขาออกมาด้วยตัวเอง

Hank เน้นว่าพื้นฐานของประชาธิปไตยคือพื้นที่ที่เปิดให้ความคิดที่ไม่เหมือนกันถูกพูดออกมาได้ ขัดแย้งกันได้ ถกเถียงกันได้

เพราะไม่ว่าขัดแย้งหรือกลมกลืน ก็ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่ยึดโยงมนุษย์ไว้ด้วยกัน

จนถึงปี 2019 The Truth Booth เดินทางไปฟังเสียงคนจากทั่วโลกมาแล้วกว่า 6,000 คน จากไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อัฟกานิสถาน แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และเดินไปทาง 50 รัฐทั่วอเมริกาเพื่อฟังเสียงและกระตุ้นให้การเปล่งเสียงเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ด้วยทุนจากการระดมในเว็บ kickstarter.com

หากคนที่เข้ามาเล่าความจริงใน The Truth Booth ยินยอมและยินดีเผยแพร่ความจริงของตัวเองเป็นสาธารณะ วิดีโอนั้นจะถูกอัปโหลดและรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ insearchofthetruth.net เราสามารถเลือกฟังความจริงโดยแบ่งตามประเทศ หรือแบ่งตามประเด็นของเรื่องราว มีตั้งแต่เรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ ความกลัว ความรัก การเปลี่ยนแปลง ศาสนา การศึกษา เงิน ความยุติธรรม อำนาจ การทุจริต สิ่งแวดล้อม เอเลี่ยน ฯลฯ

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’ The truth booth

ภาพ: CAUSE COLLECTIVE

การฟังความจริงของคนจากทั่วโลกทำให้เราเห็นว่าเรื่องสำคัญและคุณค่าที่เรายึดถือล้วนแตกต่างเรื่องสำคัญของคนในออสเตรเลียอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยของคนในตะวันออกกลาง สิ่งที่นักศึกษาในอเมริกาให้คุณค่าอาจไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเด็กในเม็กซิโก การฟังความจริงของคนอื่นคลิปแล้วคลิปเล่าไม่ได้ทำให้ความจริงของเราเปลี่ยน แต่มันทำให้ความจริงของเราที่เคยใหญ่คับโลก และเราเชื่อนักหนาว่าความจริงนั้นต้องเป็นความจริงของทุกคนบนโลกด้วยค่อยๆ เล็กลงและเล็กลง

ถ้าบอกว่านี่คือคุณค่าของการฟัง ก็คงไม่ผิดนัก

เมื่อผมมองเข้าไปในแววตาของคนเป็นร้อยๆ ที่กำลังเล่าความจริง ผมเดาว่าสำหรับบางคนในนั้น ภารกิจของพวกเขาที่มีต่อความจริงที่เก็บไว้ (หรือบางคนอาจถึงขั้นแบก)  ได้สิ้นสุดลง ในวินาทีที่พวกเขาพูดมันออกมาหน้ากล้อง บางคนถอนหายใจเมื่อพูดประโยคอันกระอักกระอ่วนนั้นออกมาจนจบ บางคนน้ำตาไหลออกมาพร้อมความจริง หลายคนเปลี่ยนเป็นยิ้มเมื่อได้เล่า

ถ้าบอกว่านี่คือคุณค่าของการได้พูดก็คงไม่ผิดนักเช่นกัน

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครที่พร้อมพูด ‘ความจริง’ The truth booth

ภาพ: CAUSE COLLECTIVE

สำหรับ In Search of the Truth งานศิลปะไม่ได้มีหน้าที่บอกเล่าความจริงจากมุมของศิลปินอย่างงานศิลปะที่เราคุ้นเคย แต่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการบอกเล่าและแลกเปลี่ยนความจริงของคนทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับงานศิลปะ จะพูดว่าในฐานะคนดูก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง

ผมไม่แน่ใจว่า หากเราอยู่ในสังคมที่การพูดความจริงเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ The Truth Booth จะยังจำเป็นอยู่ไหม เพราะมันคงดีกว่า หากเราสามารถพูดความจริงของตัวเองออกมาในที่โล่งแจ้งต่อหน้าผู้คนตัวเป็นๆ แทนที่จะพูดมันออกมาคนเดียวต่อหน้ากล้อง

บับเบิ้ลเขียนคำว่า TRUTH ขนาดยักษ์ ตั้งตระหง่านประจันหน้าผู้คนในเมืองทั่วโลกอย่างสง่าผ่าเผย แต่ทว่ามันกลับเป็นสัญลักษณ์ว่า โลกนี้ยังมีอีกหลายความจริงที่เป็นสิ่งต้องห้าม และต้องพูดมันอย่างหลบซ่อน

หากจะมีข้อความสำคัญที่งานศิลปะชิ้นนี้ส่งถึงผม และผมอยากส่งต่อให้สังคมที่เราอยู่ในเวลานี้ที่สุด นั่นคือ เมื่อใครคนหนึ่งกล้าลุกขึ้นมาพูดความจริงด้วยเสียงดังฟังชัด สิ่งที่เราทั้งหลายควรทำเช่นเดียวกับที่ The Truth Booth ทำไม่ใช่ลุกขึ้นไล่ล่าฆ่าฟัน แต่ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ความจริงนั้นถูกรับฟัง

ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นความจริงเดียวกันกับเราหรือไม่ก็ตาม

อ้างอิง 

http://www.causecollective.com/projects/httpwww-insearchofthetruth-net/

http://insearchofthetruth.net

Hank Willis Thomas Wants to Send ‘The Truth Booth’ to All 50 States Before Election Day

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save