fbpx
ความฝันเป็นพิษ The Treasure of the Sierra Madre

ความฝันเป็นพิษ The Treasure of the Sierra Madre

นรา เรื่อง

 

เดือนนี้ผมเลือกหยิบเรื่อง The Treasure of the Sierra Madre มาเล่าสู่กันฟัง ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2-3 ข้อ อย่างแรกคือ หนังมีอายุครบ 70 ปีพอดิบพอดี เหมาะที่จะนำมาเป็นข้ออ้างแบบข้างๆ คูๆ

ประการต่อมาคือ เป็นหนังที่เปี่ยมด้วยความยอดเยี่ยมในหลายๆ ด้าน ทั้งเนื้อหาแง่คิดที่ไม่มีวันล้าสมัย และวิธีการทางศิลปะในลีลาเก่าๆ ซึ่งต่างจากหนังยุคปัจจุบันไกลมาก แต่ยังคงทรงพลังเป็นแบบอย่างชั้นดีสำหรับการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่รู้เสื่อมคลาย

ผมรู้จักหนังเรื่องนี้ครั้งแรกตอนสมัยเรียน จากการอ่านพบในหนังสือ ‘หนังคลาสสิค’(The Great Movies) ของวิลเลียม เบย์เออร์ แปลเป็นไทยโดยอาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

อ่านแล้วก็เกิดความอยากดูอย่างแรงกล้า และใช้เวลาเสาะหาวิดีโอหนังเรื่องอยู่นานเกินสิบปี กว่าจะมีโอกาสได้ดู

ความรู้สึกหลังจากดูจบเมื่อกาลครั้งหนึ่งในตอนนั้น ผมพบว่า เป็นหนังที่สนุกมาก แต่ไม่ได้ประทับใจอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากชั่วโมงบินการดูหนังของผมอยู่ในระยะอ่อนหัด ยังจับสังเกตความดีงามใดๆ ไม่ได้เลย

แต่ 20 ปีต่อมา ในการดูเพื่อเขียนถึง ความรู้สึกของผมที่มีต่อ The Treasure of the Sierra Madre เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

พูดง่ายๆ มันเป็นหนังดีครบถ้วนในทุกแง่มุม ทั้งความบันเทิง ความลึกของเนื้อหา และฝีมือชั้นเชิงทางศิลปะ

จนถึงปัจจุบัน The Treasure of the Sierra Madre ได้รับการคัดเลือกจากหลากสถาบันให้ติดกลุ่มหนึ่งในหนังผจญภัยที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลกภาพยนตร์ เป็นงานลำดับแรกๆ หรือต้นแบบของพล็อตเรื่องว่าด้วยการออกติดตามค้นหาขุมทรัพย์และตีแผ่สะท้อนกมลสันดานของมนุษย์ เป็นอีกการแสดงระดับมาสเตอร์พีซของฮัมฟรีย์ โบการ์ท พระเอกอันดับหนึ่งตลอดกาลของฮอลลีวู้ด เป็นหนังเรื่องโปรดลำดับต้นๆ ของผู้กำกับดังๆ หลายคนอย่าง สแตนลีย์ คูบริค แซม ไรมี พอล โทมัส แอนเดอร์สัน (ซึ่งยึดถือหนังเรื่องนี้เป็นแหล่งอ้างอิง ขณะเขียนบทเรื่อง There Will Be Blood) ฯลฯ

รวมเลยไปถึงวอลเตอร์ ไวท์ ตัวเอกจากซีรีส์ฮิต Breaking Bad ก็มีต้นแบบส่วนหนึ่งมาจากตัวละครชื่อเฟร็ด ซี. ด็อบส์ ใน The Treasure of the Sierra Madre

The Treasure of the Sierra Madre เป็นหนังปี 1948 กำกับโดยจอห์น ฮุสตัน ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ บี. ทราเวน พล็อตคร่าวๆ จับความเหตุการณ์ช่วงทศวรรษ 1920 เล่าถึงหนุ่มอเมริกันชื่อเฟร็ด ซี. ด็อบส์ ซึ่งไปตกอับอยู่ที่เมืองแทมปิโกในเม็กซิโก

ความน่าสนใจแรกสุดคือ หนังไม่ได้เล่าแสดงถึงต้นสายปลายเหตุให้ทราบว่า ตัวละครเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรที่เม็กซิโก แต่ให้ภาพเฉพาะแค่ในปัจจุบันที่กำลังตกระกำลำบาก ร่อนเร่ ว่างงาน ยังชีพด้วยการเที่ยวขอเงินจากคนอเมริกัน พออยู่รอดไปวันๆ

ขณะเดียวกันหนังก็ใช้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อธิบายบุคลิกนิสัยของตัวละครนี้อย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งไม่ยี่หระต่อสภาพอาภัพอับโชค ความซื่อ ความยุติธรรม มีน้ำใจต่อเพื่อน ยินดีสู้งานหนักแลกกับค่าตอบแทนน้อยนิด และเมื่อโดนคดโกง เขาก็พร้อมจะตอบโต้ด้วยการใช้กำลัง เพื่อเรียกร้องความถูกต้อง

20 นาทีแรกของหนัง เป็นการเขียนบทและเล่าเรื่องที่น่าทึ่งมาก ด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ชมรู้จักกับธาตุแท้ของตัวละครโดยกระจ่าง อีกด้านหนึ่งก็ปูพื้นสถานการณ์ห้อมล้อมต่างๆ นานาเอาไว้อย่างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำตัวละครหลักทั้งหมด (ประกอบไปด้วย เฟร็ด ซี. ด็อบส์ผู้เป็นตัวเอก บ็อบ เคอร์ทิน เพื่อนที่ทุกข์ยากตรากตรำมาด้วยกัน และฮาวเวิร์ด ผู้เฒ่านักเสี่ยงโชคที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเนิ่นนาน) สถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่สร้างความเป็นเหตุเป็นผลผลักดันขับเคลื่อนให้ทุกคนตัดสินใจออกเดินทางไปเสี่ยงโชคเสาะหาทองคำในดินแดนเปลี่ยวร้างห่างไกล

เป็นช่วง 20 นาทีที่บรรจุเรื่องราว เหตุการณ์ และรายละเอียดเยอะแยะมากมาย ซึ่งหากถ่ายทอดตามจังหวะจะโคนมาตรฐานปกติทั่วไป ควรต้องใช้เวลาราวๆ หนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการบอกเล่า แต่จอห์น ฮุสตันสามารถรวบรัดตัดความอย่างกระชับฉับไว และได้น้ำได้เนื้อครอบคลุมใจความสำคัญครบถ้วน โดยไม่รู้สึกว่ารีบเร่ง ห้วน แต่ราบรื่นพอเหมาะกำลังดี

ที่สำคัญคือ มันเป็น 20 นาทีเริ่มต้น ซึ่งให้แง่มุมต่างๆ เพื่อที่ผู้ชมจะยึดถือเป็นตัวตั้ง สำหรับเทียบเคียงกับหลายๆ เหตุการณ์ถัดจากนั้นของหนังตลอดทั้งเรื่อง

ความน่าสนใจต่อมา หนังใช้เวลากินความไปถึงเกือบๆ ครึ่งเรื่อง ตัวละครหลักทั้งสามก็รอนแรมระเหระหน เดินทางไกล เผชิญวิบากต่างๆ นานา ทั้งพวกโจรปล้นรถไฟ ความเถื่อนร้างของภูมิประเทศ ออกค้นหาแหล่งทองคำ คว้าน้ำเหลว และพบความสำเร็จเจอขุมทรัพย์ เริ่มต้นลักลอบทำเหมือง

หัวใจสำคัญซึ่งได้รับการขับเน้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนของ The Treasure of the Sierra Madre อยู่ที่ครึ่งเรื่องหลัง นั่นคือ การค่อยๆ เล่าแสดงอย่างเป็นลำดับขั้นตอนว่า ทองคำจำนวนมหาศาลที่ค้นพบ สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจคน และนำพาทุกชีวิตไปสู่บทสรุปอันเศร้าหมองและเย้ยหยันได้อย่างไร

โดยวันเวลาที่หนังสร้างขึ้นและแรกออกฉาย พล็อตเรื่องและประเด็นแง่คิดเช่นนี้ ถือได้ว่าสดใหม่ แต่ล่วงเลยถึงปัจจุบัน มันกลายเป็นเค้าโครงและแก่นเรื่องคลาสสิค ที่มีการสร้างออกมาจำนวนนับไม่ถ้วน ผู้ชมสามารถคาดเดาความเป็นไปและบทลงเอยทั้งหมดล่วงหน้าได้โดยไม่ผิดเพี้ยน ตั้งแต่เริ่มติดตามตัวหนังไปแค่ไม่กี่นาที

อีกปัจจัยคือ ความคุ้นเคยของผู้ชมที่มีต่อเนื้อเรื่องและเนื้อหาซึ่งมีการทำซ้ำบ่อยมากเช่นนี้ ส่งผลให้ถ้อยทีน้ำเสียงของความเป็น ‘นิทานที่มุ่งให้คติธรรมสอนใจ’ ยิ่งฉายชัดมากขึ้นตามจำนวนที่ผลิตออกมา

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทั้ง 2 ย่อหน้าข้างต้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับ The Treasure of the Sierra Madre ผู้ชมอาจคาดเดาบทลงเอยคร่าวๆ ในบั้นปลายของหนังได้ไม่ยาก แต่ในระหว่างทาง หนังก็เต็มไปด้วยเหตุพลิกผันนานัปการที่ยากจะคาดเดาอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม 2 ประการ

อย่างแรกคือ การปรุงรสให้หนังมีความตื่นเต้นเร้าใจชวนติดตามชนิดไม่อาจละสายตา

อย่างต่อมา คือ สถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาหลายๆ ระลอก เป็นการคิดสร้างขึ้นอย่างชาญฉลาด มันเป็นทั้งอุปสรรคความยากลำบากที่ตัวละครต้องพบเผชิญ และหาหนทางคลี่คลาย เป็นทั้งเหตุปัจจัยที่ค่อยๆ นำพาตัวละครให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในใจ

เหนือสิ่งอื่นใด ทุกสถานการณ์ล้วนผลักดันให้ทุกตัวละครต้องเลือกตัดสินใจ บนความขัดแย้งระหว่างจิตใจใฝ่ดีกับอำนาจของกิเลสเย้ายวน ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น

ไม่ใช่เฉพาะกับตัวละครเท่านั้นนะครับ ผู้ชมเองในขณะติดตาม ก็ถูกหนังชักจูงให้ต้องเลือกทำแบบทดสอบจริยธรรมนี้ด้วยเช่นกัน (หนังไปได้ถึงขั้น มีหลายฉากที่ทำให้คนดูเอาใจช่วยให้ตัวละครกระทำเรื่องชั่วร้าย มากเท่าๆ กับหลายฉากที่เรามุ่งหวังให้เขาเหล่านั้นตัดสินใจเลือกความถูกต้องดีงาม)

ความแนบเนียนในการเล่าและแสดงรายละเอียดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ The Treasure of the Sierra Madre หลุดพ้นห่างไกลจาก ‘นิทานสอนใจ’ ที่หยิบยื่นสาระแง่คิดให้กับผู้ชมอย่างทื่อมะลื่อตรงไปตรงมา

แต่ที่ดีเยี่ยมไปกว่านั้นก็คือ หนังไม่ได้สื่อสารเนื้อหาแบนๆ เพียงแค่ชั้นเดียว ในหนังเกี่ยวกับการผจญภัยตามล่าหาทรัพย์สมบัติโดยทั่วไป แก่นเรื่องมักไม่หนีไปจากการสะท้อนให้เห็นถึงความโลภในจิตใจของมนุษย์ ตัวละครที่ไม่อาจฝืนต้านต่อความเย้ายวน การมุ่งร้ายทำลายกัน เพื่อหวังครอบครองสมบัตินั้นแต่เพียงผู้เดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครใน The Treasure of the Sierra Madre เริ่มต้นด้วยความละโมบไม่รู้จักพอ เมื่อได้ทองจำนวนมูลค่าตามเป้าหมายแรกเริ่มก่อนออกเดินทางแล้ว พวกเขาก็อยากได้เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่า

ในขั้นต่อมา ทุกคนเกิดความคิดชั่วร้าย แอบนึกถึงการกำจัดหุ้นส่วน เพื่อครอบครองทองคำทั้งหมดเพียงลำพัง

ความลุ่มลึกของหนังเริ่มขึ้นตรงนี้ ตรงที่ตัวละครแค่เพียงแต่คิดในทางร้าย แล้วในที่สุดก็หยุดลงเท่านั้น อาจด้วยจิตใจที่ไม่โหดเหี้ยมอำมหิตพอ หรือสะกัดยับยั้งข่มใจไว้ได้ด้วยสำนึกด้านดี

มีฉากสั้นๆ ไม่กี่นาที ที่บอกเล่าแง่มุมข้างต้นได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นฉากถ้ำถล่ม ด็อบส์ติดอยู่ในนั้น เคอร์มินผ่านมาพบเข้า รีบตรงเข้าไปที่ปากถ้ำเพื่อช่วยเพื่อน แต่ชั่วขณะหนึ่ง เขาหยุดะงักด้วยความลังเลใจ แล้วจึงค่อยรีบรุดเข้าไปช่วยเหลือ

จังหวะหยุดชะงักชั่วครู่ของเคอร์ทินนั้น มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ตัวละครอาจนึกคิดไปถึงการปล่อยให้ด็อบส์ตายอยู่ในถ้ำ ซึ่งจะลดจำนวนคนหารส่วนแบ่งทองคำลงไปอีกหนึ่ง

หนังไม่ได้อธิบายชี้ชัด แต่ทิ้งความคลุมเครือไว้ให้ผู้ชมเลือกทำความเข้าใจอย่างเป็นอิสระ ลักษณะเช่นนี้มีปรากฏอยู่ใน 2 ตัวละครคือ ฮาวเวิร์ดกับเคอร์ทินอยู่หลายครั้งหลายครา จนทำให้ตัวละครมีมิติความลึก มีความคาบเกี่ยวก้ำกึ่งระหว่างความดีกับความเลว เหตุผลที่ทั้งคู่ยังไม่ได้ก้าวข้ามเส้นไปสู่ความชั่วร้าย อาจเป็นได้ทั้งความเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต และเชื่อมั่นต่อความดีงาม หรืออาจเป็นได้ว่า มันเพียงแค่ยังไม่สบช่องที่จะลงมือทำชั่ว (ที่แน่ๆ คือ ตัวละครทั้งสองไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากความโลภเข้ามาแผ้วพาน)

สิ่งที่หนังเล่าสะท้อนในลำดับต่อมา คือ เมื่อตัวละครทั้งหมดเกิดความละโมบ เกิดความคิดไปในทางร้ายเข้ามารบกวนจิตใจขึ้นแล้ว มันนำไปสู่ความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกันและกัน

เฟร็ด ซี. ด็อบส์คือตัวละครที่ตกเป็นเหยื่อของความหวาดระแวงมากกว่าใครอื่น เขาเสนอให้แบ่งทองที่ขุดพบออกเป็น 3 ส่วน และให้ทุกคนแยกไปเก็บซ่อนไว้ตามลำพัง แทนที่จะรวมไว้เป็นกองกลางไปจนเดินทางเข้าเมือง เมื่อนำไปขายแล้วจึงค่อยแบ่งสรรปันเงินกันในท้ายที่สุด

ความโลภ ความระแวง และความหวาดกลัว (อาจจะรวมถึงความเปราะบางอ่อนแอเบื้องลึกด้วยก็ได้) ว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งของตนเอง ทำให้ด็อบส์ใช้ความคิดจิตใจในทางลบของตนเอง ไปหยั่งประเมินเพื่อนๆ ว่าอาจคิดและทำเรื่องชั่วร้ายที่ผุดขึ้นในใจของเขา

ด็อบส์เริ่มหมกมุ่นคร่ำเคร่งกับการปกป้องคุ้มกันเฝ้าระวังทองคำของเขา วิตกจริตไปต่างๆ สารพัดสารเพ แม้กระทั่งในเรื่องจุกจิกหยุมหยิมเล็กน้อย จนความสัมพันธ์ต่อฮาวเวิร์ดกับเคอร์ทิน ทวีความตึงเครียดยิ่งๆ ขึ้น กลายเป็นความร้าวฉานบาดหมาง เมื่อบวกรวมกับปัจจัยภายนอกหลายๆ อย่างที่เข้ามารบกวน ไม่ว่าจะเป็นนักขุดทองรายอื่นที่พยายามฉวยโอกาสขอมีส่วนแบ่ง การคุกคามโดยกลุ่มโจรปล้นรถไฟ การหลบหลีกให้พ้นสายตาเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย รวมถึงชนพื้นเมืองในแถบถิ่นละแวกนั้นที่แวะมาขอความช่วยเหลือ

ปัจจัยภายในและภายนอกทั้งหมด ผสมรวมแล้วขับเคลื่อนเรื่องราวไปสู่บทสุดท้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม

ที่น่าเศร้าสะเทือนใจมากสุดคือ ก่อนถึงบทสรุปแบบ ‘จบไม่สวย’ ด็อบส์ได้กระทำบาปชั่วร้ายเกินให้อภัยต่อเพื่อน จนเพ้อคลั่งแทบเสียจริต จากความรู้สึกผิดผสมระคนปนกันกับความขลาดกลัวและความคิดดิ้นรนหาหนทางเอาตัวรอด (เป็นฉากที่ฮัมฟรีย์ โบการ์ทแสดงได้อย่างโดดเด่นมาก และทำให้เฟร็ด ซี. ด็อบส์ เป็นทั้งตัวละครที่ชั่วช้าน่าชิงชังพอๆ กับน่าสมเพชเวทนา)

ข้อเขียนชิ้นนี้ ผมเจตนาเล่าโดยหลีกเลี่ยงการลงลึกในรายละเอียดของเนื้อเรื่องนะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการเก็บงำความลับของหนังที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนนี้ก็ไม่ใช่จุดที่จะต้องถือเคร่งระมัดระวังโดยเข้มงวดมากนัก ยังมีอีกเหตุผลที่สำคัญกว่า

ก่อนจะพูดถึงว่าคืออะไร ขออนุญาตพูดถึงจอห์น ฮุสตันสักหลายบรรทัดนะครับ

จอห์น ฮุสตันเป็นหนึ่งในสุดยอดผู้กำกับระดับตำนานของวงการหนังอเมริกัน ผมนั้นโตทันติดตามดูหนังของเขาในระยะท้ายๆ อย่าง Escape to Victory และ Annie ซึ่งไม่ใช่ผลงานที่ชวนจดจำนัก ขณะที่หนัง 3 เรื่องสุดท้ายในชีวิตที่เขากลับมาคืนฟอร์มได้รับคำชื่นชมอย่างท่วมท้น คือ Under the Valcano, Prizzi’s  Honor และ The Dead ก็ไม่มีโอกาสเข้าฉายบ้านเรา

งานเด่นๆ ของจอห์น ฮุสตันที่ผมมีโอกาสได้ดูจึงมีเพียง The African queen และ The Man Who Would be King ตกหล่นหนังเรื่องสำคัญไปเป็นจำนวนมาก

ข้อจำกัดเหล่านี้ ส่งผลให้ผมรู้จักจอห์น ฮุสตัน ในแบบควรกล่าวได้ว่า ‘ไม่รู้จัก’ มากกว่า บวกรวมกับความเป็นคนเก่งทำหนังได้หลากหลายแนวทางและออกมาดีไปแทบทั้งนั้น สิ่งที่ค้างคาใจผมเสมอมาคือ การตอบคำถามตัวเองว่า อะไรคือจุดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะ หรือความสามารถในเชิงศิลปะของจอห์น ฮุสตัน

จนกระทั่งได้ดู The Treasure of the Sierra Madre ผมจึงค่อยพบคำตอบ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมเล่าหลบเลี่ยงไม่ลงรายละเอียดของเนื้อเรื่อง

จอห์น ฮุสตันเป็นยอดนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ จัดเจน และชำนาญการ ในความหมาย storyteller ระดับปรมาจารย์

นอกจากจะเล่าเรื่องได้กระชับ รัดกุม ฉับไว ชวนติดตามแบบสะกดตรึงความสนใจได้ทุกชั่วขณะแล้ว ฝีมือการเล่าใน The Treasure of the Sierra Madre ยังเต็มไปด้วยกลเม็ดเด็ดพราย ทั้งล่อหลอกให้คิดไปทาง แต่คลี่คลายอีกอย่างแบบนึกไม่ถึง ยั่วเย้าเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมอยู่เนืองๆ แม่นยำในการเร้าอารมณ์ทั้งความตื่นเต้นเร้าใจ กดดันตรึงเครียด ดรามา และอารมณ์ขัน ชนิดครบรส มีบทพูดคมคายเข้าขั้นเป็นวรรคทองอยู่เยอะแยะมากมายจนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว ฯลฯ

ในบทความที่วิลเลียม เบย์เออร์เขียนถึงหนังเรื่องนี้ เล่ายกย่องถึงฉากอันโดดเด่นตอนท้าย ความยาวเกือบๆ 10 นาที มีหลายๆ เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลง โดยที่ตัวละครพูดจาภาษาท้องถิ่น ไม่มีภาษาอังกฤษเลยแม้แต่ประโยคเดียว (รวมทั้งไม่มีการแปลซับไตเติลด้วย)

ความน่าอัศจรรย์ของฉากนี้ก็คือ โดยที่ผู้ชมไม่เข้าใจในภาษาพูดใดๆ เลย ฝีมือการเล่าเรื่องอันเลอเลิศของจอห์น ฮุสตัน ก็ทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวโดยตลอด (และสนุกเพลิดเพลินไปกับเหตุการณ์) อย่างกระจ่างแจ้ง จนแทบไม่รู้สึกถึงอุปสรรคข้อจำกัดของกำแพงภาษา

ผมมานึกทบทวนย้อนหลังเมื่อดูจบแล้ว จึงค่อยพบว่า ความน่าทึ่งของฉากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเก่งกาจในการเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพ กริยาท่าทางของตัวละคร แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งร้ายกาจและเหนือชั้นมาก คือ สิ่งใดก็ตามที่จำเป็นต้องเล่าหรืออธิบายกันในเชิงลึกสำหรับฉากนี้ จอห์น ฮุสตันได้เล่าเกริ่นปูพื้นเตรียมการไว้ล่วงหน้ามาก่อนแล้วทั้งสิ้น แบบที่ผู้ชมไม่รู้ตัวไม่ทันเอะใจ

ท่วงทำนองวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้ ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในฉากอันโด่งดังเท่านั้นนะครับ แต่เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ

เป็นการเล่าเรื่อง เขียนบท และกำกับระดับอภิมหาเทพโดยแท้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save