fbpx
5 สุดยอดความสำเร็จของอาเซียนในปี 2019

5 สุดยอดความสำเร็จของอาเซียนในปี 2019

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประชุมที่เกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้สำเร็จลุล่วงไปแล้วพร้อมกับความชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างสมาชิกอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาหลักที่เข้าร่วมการประชุมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากมาย

ระหว่าง 5 วันของการประชุมมีการรับรองเอกสารสำคัญ (ปฏิญญาและข้อตกลงต่างๆ) 15 ฉบับ เอกสารแถลงการณ์ของประธานการประชุม 13 ฉบับ และเอกสารรับทราบความคืบหน้า 18 ฉบับ นั่นคือความสำเร็จทางด้านสารัตถะ หากแต่ยังมีความสำเร็จอีกด้านคือการมีผู้นำ พนักงานของรัฐ นักธุรกิจ และสื่อมวลชนเดินทางเข้ามาประเทศไทยหลายหมื่นคน ยังไม่นับรวมตลอดทั้งปี 2019 ที่ไทยเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนไปแล้วมากกว่า 176 ครั้ง และหากนับรวมการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็น่าจะมีการประชุมเกิดขึ้นมากกว่า 300 ครั้งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ภาพบรรยากาศการเป็นเจ้าภาพที่ดีของไทยได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

หากจะให้ผมสรุปว่าแล้วสุดยอดความสำเร็จที่ส่งผลโดยตรงต่อประชาชนไทยและประชาชนอาเซียนที่จับต้องได้มีเรื่องอะไรบ้าง ผมขอสรุปออกมาเป็น 5 สุดยอดความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียน ดังนี้ครับ

 

1. ทำข้อตกลงอาเซียนให้เกิดขึ้นจริงโดยการจัดตั้งศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์

 

ที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง อาเซียนถูกวิจารณ์ว่าเป็นเวทีในการพูดคุย ลงนามในข้อตกลง แต่ไม่ได้มีผลให้เห็นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ประเทศไทยในฐานะประธานได้ทำให้ข้อตกลงเหล่านั้นกลายเป็นรูปธรรม มีหน่วยงานถาวร มีงบประมาณ และมีกำลังคน เพื่อผลประโยชน์ของคนไทยและคนอาเซียน โดยทั้ง 7 ศูนย์ได้แก่

1. ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) เปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ปี 2018 เพื่อเตรียมพร้อมรับภัยคุกคามในโลกยุค 4.0 ที่เข้ามาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

2. คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) ซึ่งเป็นคลังอุปกรณ์กู้ภัย คลังสินค้ายังชีพขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ที่พร้อมจะนำออกไปบรรเทาความทุกข์ร้อนของคนอาเซียนได้ในยามเผชิญภัยพิบัติ

3. ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine: ACMM) นอกจากสิ่งของบรรเทาทุกข์แล้ว เรายังเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ไว้ช่วยเหลือคนอาเซียนในภาวะที่เดือดร้อนที่สุดอีกด้วย

4. ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Center) แน่นอนเพื่อให้คนอาเซียนได้มีโอกาสเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ระหว่างพวกเรากันเองมากยิ่งขึ้น และหากผมเป็นนักธุรกิจที่ต้องการขายสินค้าและบริการให้กับตลาดขนาด 650 ล้านคนใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจะรีบไปชมศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน เพื่อผมจะได้รู้ว่าคนอาเซียนเขากินอะไร เขาใช้อะไร เขาตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการอย่างไร เพราะปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่กำหนดการตัดสินใจเหล่านี้คือ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา

และในครึ่งหลังของปี 2019 ประเทศไทยยังเปิดตัวอีก 3 ศูนย์อาเซียนนั่นคือ

5. ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ปี 2020 ไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเต็มขั้น เราจะขาดแคลนแรงงาน และเราจะต้องการระบบสวัสดิการและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัย ดังนั้นการตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ สิงคโปร์จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

6. ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Training Centre for Social Work and Social Welfare: ATCSW) ต่อเนื่องจากเรื่องสังคมสูงวัย

7. ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD)

 

2. สิทธิเด็กและเยาวชน

 

เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (UN Convention on the Rights of the Child: UNCRC) ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน 10 ประเทศได้มีการออกเอกสารถึง 4 ฉบับเพื่อยืนยันเดินหน้าการพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน โดยเอกสารทั้ง 4 ฉบับได้แก่

1. Joint Statement on Reaffirmation of Commitment to Advancing the Rights of the Child in ASEAN แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนเพื่อยืนยันว่าอาเซียนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสิทธิของเด็กและเยาวชน และจะเดินหน้าขับเคลื่อนการปกป้องคุ้มครองสิทธิให้เด็กและเยาวชนอาเซียน

2. ASEAN Declaration on the Rights of Children in the Context of Migration ปฏิญญาอาเซียนที่จะคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง นั่นคือเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระหว่างการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออาเซียนบูรณาการกันลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ผู้คนในอาเซียนก็จะเดินทางไปมาระหว่างกันเพื่อทำงาน เพื่อย้ายถิ่นพำนัก และเราต้องดูแลเด็กที่อาจจะเผชิญความยากลำบากเมื่อพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

3. Declaration on the Protection of Children from all Forms of Online Exploitation and Abuse in ASEAN นอกจากเน้นการไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังและการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว เรายังต้อง Advancing ด้วย ดังนั้นต้องคุ้มครองไม่ให้เด็กและเยาวชนของอาเซียนถูกแสวงหาประโยชน์ในทางที่ผิดและไม่ให้เด็กของเราถูกละเมิดล่วงเกินบนโลกไซเบอร์

4. Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN ปฏิญญากรุงเทพที่จะสร้างพันธมิตรในเรื่องการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goal 2030)

 

3. การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ทุกประเทศทั่วโลกตกลงกันแล้วว่าภายในปี 2030 เราจะต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการนี้อาเซียนได้เตรียมความพร้อม และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยเอกสารสำคัญของอาเซียนที่เกิดขึ้นจากการที่ไทยผลักดันในฐานะประธานการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี 2019 ประกอบไปด้วย

1. แนวทางการปฏิบัติของอาเซียนต่อปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลในท้องทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) ซึ่งจะนำไปสู่การลงนามใน Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region เพราะเกือบทุกประเทศอาเซียนอยู่ติดมหาสมุทร และในกรณีของ สปป.ลาว แม่น้ำโขงก็ไหลลงมหาสมุทร ดังนั้นขยะทะเลเชื่อมโยงถึงกันทุกประเทศ การแก้ปัญหาโดยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงชาติเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

2. แถลงการณ์เชียงใหม่ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ที่ว่ามาตรการตอบโต้การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย (Chiang Mai Statement of ASEAN Ministers Responsible for CITES and Wildlife Enforcement on Illegal Wildlife Trade) เช่นเดียวกับเรื่องขยะทะเล การแก้ปัญหาโดยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงชาติเดียวไม่เพียงพอ เพราะถ้ายังมีคนต้องการซื้อ ก็จะมีคนยอมเสี่ยงเข้าไปลักลอบจับสัตว์ป่า ดังนั้นเราต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

3. ASEAN Declaration on Industrial Transformation to Industry 4.0 เช่นเดียวกัน การ Advancing อีกเรื่องที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมภาคการผลิตของอาเซียนให้เท่าทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

4. ASEAN Leaders’ Declaration on ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance (AVSSR) ความริเริ่มของไทยเพื่อดูแลป้องกันให้คนอาเซียนสามารถเข้าถึงวัคซีนและได้รับการคุ้มครองสุขภาพที่ดี

5. ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 25th Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC COP25) ผู้นำอาเซียนยืนยันที่จะเดินหน้าสนับสนุนที่ประชุมสหประชาชาติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

6. East Asia Summit Leaders’ Statement on Partnership for Sustainability แถลงการณ์ร่วมของอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เพื่อยืนยันในเรื่องการเป็นพันธมิตรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

7. Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN ปฏิญญากรุงเทพที่จะสร้างพันธมิตรในเรื่องการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goal 2030)

 

4. การวางตำแหน่งอาเซียน ณ จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

 

จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ณ กรุงเทพ ในเดือนมิถุนายน 2019 เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo – Pacific: AOIP) เกิดขึ้นเพื่อเป็นการยืนยันท่าทีที่ชัดเจนของประชาคมอาเซียนท่ามกลางการขยายอิทธิพลทั้งในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคงเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ประชาคมอาเซียนกำหนดท่าทีอย่างชัดเจนในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของอาเซียนและประเทศสมาชิก โดยยืนยันหลักการสำคัญในการวางตำแหน่ง อาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในระดับภูมิภาคผ่านสถาปัตยกรรมที่อาเซียนได้สร้างสรรค์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น เวที East Asia Summit ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับอีก 8 คู่เจรจาหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เวทีด้านความมั่นคง อันได้แก่ ASEAN Regional Forum ระหว่างอาเซียนกับอีก 17 ประเทศทั่วโลก ASEAN Defence Minister Meeting – Plus (ADMM – Plus) และเวทีในระดับภูมิภาคอื่นๆ

ซึ่งเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ที่ได้รับการลงนามโดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เพราะในร่างฉบับแรกของเอกสารนี้ ยังคงมีสมาชิกบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดท่าทีในแนวทางดังกล่าว (ทั้งนี้เป็นเพราะแต่ละประเทศสมาชิกก็มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจแต่ละประเทศในรูปแบบที่แตกต่างกัน) แต่ในที่สุดด้วยการทำงานอย่างหนักของฝ่ายไทยในฐานะประธานในที่ประชุมก็ทำให้ในที่สุดประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศสามารถบรรลุผลสำเร็จในการกำหนดท่าทีร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจที่มีพลวัตรยิ่งได้

สาระสำคัญของมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ประกอบด้วย 4 ส่วน

1. ความร่วมมือภาคพื้นมหาสมุทร (Maritime Cooperation) เพื่อเป็นการยืนยันจุดยืนของอาเซียนในเรื่องการกำหนดให้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน โดยการเคารพการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) และปฏิบัติตามประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการปรามและป้องกันการเกิดปัญหาข้อพิพาทกับมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลในพื้นที่

2. เชื่อมโยงความเชื่อมโยงต่างๆ (Connecting the Connectivity) เนื่องจากมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย ฯลฯ ที่ต้องการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในพื้นที่ต่างก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาค และเมื่ออาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง อาเซียนยินดีที่จะเชื่อมกับทุกฝ่ายบนเงื่อนไขที่ว่า ความเชื่อมโยงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินเรือ สายการบิน ถนน ราง ท่อก๊าซ ระบบโทรคมนาคม และกฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ อาเซียนยืนยันที่จะให้ทุกฝ่ายต้องสร้างโครงการที่สอดคล้องกับแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) ซึ่งนี่คือผลงานของไทยที่วางไว้ตั้งแต่การประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพในรอบที่แล้วในปี 2008-2009

3. อาเซียนเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 (Sustainable Development Goals: SDG 2030) ของสหประชาชาติ

4. ความร่วมมือในมิติอื่นๆ ซึ่งเน้นย้ำอย่างยิ่งถึงกรอบการเจรจา RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership

และเมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในเดือน พฤศจิกายน 2019 AOIP ก็ถูกขยายขอบเขตออกไปสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน จนกลายเป็นเอกสารสำคัญๆ อาทิ ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Connecting the Connectivity Imitative, ASEAN-China Joint Statement in Synergising the Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 and the Belt and Road Initiative (BRI), Joint Statement of the 22nd ASEAN-Japan Summit on Connectivity และ ASEAN and World Bank Cooperation on Connectivity: Initiative Rolling Pipeline of Potential ASEAN Infrastructure Projects

 

5. ท่ามกลางสงครามการค้า อาเซียนสามารถหาข้อสรุปข้อตกลง RCEP ได้

 

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) คือ ความสำเร็จของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศประชาคมอาเซียนร่วมกับ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมกว่า 48% ของประชากรโลก และ 1 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก และ 1 ใน 3 ของมูลค่าเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ไหลเวียนอยู่ทั่วโลก ได้ริเริ่มความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2012 เริ่มต้นการเจรจาในปี 2013 และเดิมเคยกำหนดไว้ว่าจะสามารถหาข้อสรุปในการเจรจาได้ตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้จนกระทั่งตกมาอยู่ในมือของไทยในฐานะประธานการประชุมที่สามารถผลักดันจนสำเร็จลุล่วงได้

หลายๆ ฝ่ายอาจมองว่าเป็นความสำเร็จจริงหรือ ในเมื่อไม่ได้มีการลงนามข้อตกลง ผมขออนุญาตอธิบายดังนี้

RCEP อุปมาเปรียบเสมือนโต๊ะอาหารขนาดใหญ่ที่ควรจะมีอาหารวางเต็มโต๊ะ แล้ว 16 ประเทศสมาชิกมาร่วมวงแบ่งกันรับประทานจากผลประโยชน์ของตลาดสินค้าและบริการ รวมทั้งแหล่งทรัพยากรขนาดมหึมา แต่ในช่วง 2013-2018 สมาชิกได้แต่เพียงมาเขียนเมนูเอาไว้บนบอร์ดว่าเราอยากจะมีรายการอาหารอะไรบ้าง แต่การลงมือทำอาหารก็ยังก๊อกๆ แก๊กๆ ไม่ได้มีความก้าวหน้ามากนัก ล่วงมาถึงปี 2019 ที่ไทยเป็นประธานการเจรจา ไทยนี่แหละ คือผู้ที่ไปจ่ายตลาด ซื้อผัก ซื้อปลา และลงมือหุงข้าว ทำอาหารจนสำเร็จ วางจานอาหารเต็มโต๊ะ พร้อมลงมารับประทาน ถ้านาทีนี้ที่ยังไม่ลงนามครบทั้ง 16 ประเทศก็เสมือนกับโต๊ะอาหารนี้ยังขาดแจกันดอกไม้ ตกแต่งให้สวยงามกลายเป็นโต๊ะอาหารที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นเราจึงไม่รีบร้อน รอให้อินเดียไปจัดดอกไม้มาวางให้โต๊ะนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะเริ่มลงมือรับประทานอาหารร่วมกันแบ่งปันผลประโยชน์ในต้นปีหน้า 2020

ไม่เกินไปที่เราจะบอกว่าไทยคือคนลงมือกะเกณฑ์ให้การจ่ายตลาด การทำอาหาร เกิดขึ้นได้จริง เพราะตั้งแต่เรารับไม้การเป็นประธานมาในช่วงต้นปี 2019 เราคือผู้เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมการเจรจา จากเดิมที่คณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee: TNC) จะประชุมกันปีละ 2-3 ครั้ง ไทยเริ่มกำหนดตารางเวลาให้ TNC ต้องเจรจากันทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไทยได้วาง Roadmap ไว้ด้วยว่าในแต่ละเดือนจะต้องมีอะไรก้าวหน้าบ้าง

ในขณะที่ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตัดสินใจ ประชุมกันปีละครั้ง บางปีอาจจะ 2 ครั้ง แต่พอถึงรอบของประเทศไทย เราขอให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 ที่เริ่มประชุมกันตั้งแต่บ่าย และยาวไปจนรัฐมนตรีทั้ง 16 ประเทศไม่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบ Gala Dinner และเมื่อเสร็จจากงานเลี้ยงอาหารค่ำ ผู้นำที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีก 15 ประเทศก็ขอตัวจากงานเลี้ยงไปนั่งประชุมร่วมกับรัฐมนตรี จนในที่สุดประชุมกันจนถึง 23.45 น. ของคืนวันนั้น

และในที่สุดในวันที่ 4 พฤศจิกายน อาหารชุดนี้ก็ได้รับการวางบนโต๊ะอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อม ที่ผมกล่าวว่าสมบูรณ์เพียบพร้อมเพราะการเจรจาการค้าในกรอบ RCEP แบ่งการเจรจาออกเป็น 2 กรอบ (Tracks) โดยกรอบแรกจะเป็นการเจรจาในประเด็นการเปิดและการเข้าสู่ตลาด (Market Access) สำหรับการค้าสินค้าและการค้าบริการ โดยเฉพาะเรื่องของการค้าสินค้าที่จะเจรจาในเรื่องกรอบระยะเวลาการลดภาษี จำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าประเภทต่างๆ ในขณะที่ภาคบริการก็จะเป็นการระบุถึงการเปิดเสรีและข้อจำกัดต่างๆ ในการให้ผู้ให้บริการเข้ามาดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิกในรูปแบบต่างๆ การเจรจาในกรอบนี้จะให้แต่ละประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศจะเจรจากันเป็นคู่ๆ ในลักษณะทวิภาคี โดยคณะของไทยจะนำโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำงานหนักและมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ในการรักษาผลประโยชน์ของไทย และผลักดันให้การเจรจาทั้ง 100% ของรายการสินค้าที่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศสามารถหาข้อสรุปได้แล้วทั้งหมดจากการประชุมในคราวนี้

ในขณะที่อีกกรอบหนึ่งจะเป็นการเจรจาในการร่างข้อตกลง (Draft Agreement Text) ซึ่งข้อตกลงจะมีทั้งหมด 20 ข้อบท (Chapters) และสถานะล่าสุดคือ ประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศสามารถบรรลุหาข้อสรุปข้อตกลงได้แล้วทั้ง 20 ข้อบท ซึ่งทั้ง 20 ข้อบทจะเป็นการยกระดับให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคมีความร่วมมือที่มีความทันสมัย, ครอบคลุม, มีคุณภาพสูง และมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Modern, Comprehensive, High-Quality and Mutually Benefit) โดยการเจรจาให้สามารถหาข้อสรุปทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไทยในฐานะประธานก็สามารถแสวงหาจุดร่วมและสรุปผลได้ในเรื่องยากๆ ทั้ง 20 เรื่อง อันได้แก่

1. Initial Provisions and General Definitions บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป

2. Trade in Goods ข้อตกลงการค้าสินค้า

3. Rules of Origin, including Annex on Product Specific Rules กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด

4. Customs Procedures and Trade Facilitation พิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า

5. Sanitary and Phytosanitary Measures มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

6. Standards, Technical Regulations and Conformity Assessment Procedures การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบ และการรับรอง

7. Trade Remedies การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการค้า

8. Trade in Services, including Annexes on Financial Services, Telecommunication Services, and Professional Services ข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการ (ซึ่งรวมทั้งการเปิดเสรีภาคการเงิน โทรคมนาคม และบริการของผู้ประกอบวิชาชีพ)

9. Movement of Natural Persons การเคลื่อนย้ายบุคคล

10. Investment ข้อตกลงด้านการลงทุน

11. Intellectual Property ทรัพย์สินทางปัญญา

12. Electronic Commerce พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

13. Competition กฎว่าด้วยการสนับสนุนการแข่งขัน

14. Small and Medium Enterprises ข้อบทสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

15. Economic and Technical Cooperation ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางวิชาการ

16. Government Procurement การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

17. General Provisions and Exceptions บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น

18. Institutional Provisions ข้อบทด้านสถาบัน

19. Dispute Settlement กลไกระงับข้อพิพาท

20. Final Provisions บทบัญญัติสุดท้าย

จะเห็นได้ว่าทั้ง 20 ข้อบทคือความก้าวหน้า คือมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละประเทศมีความแตกต่างหลากหลาย มีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มีเงื่อนไขทางสังคม-วัฒนธรรม มีรูปแบบการเมืองที่ต่างกัน และมีความจำเป็นด้านความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต่างระดับกัน แต่ในที่สุดเราสามารถหาข้อสรุปได้ร่วมกันในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานการประชุมและพร้อมที่จะนำไปสู่การลงนามในต้นปีหน้า โดยความสำเร็จครั้งนี้ได้รับการยืนยันในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ RCEP ทั้ง 16 ประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019 ว่า “We noted 15 RCEP Participating Countries have concluded text-based negotiations for all 20 chapters and essentially all their market access issues; and tasked legal scrubbing by them to commence for signing in 2020.”

ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคล้ายการจัดโต๊ะอาหารแล้วมีอาหารวางเต็มโต๊ะ เมื่อประเทศคู่เจรจาทั้ง 15 ประเทศสามารถหาข้อสรุปการเจรจาการค้าร่วมกันได้ในทุกข้อบท แต่แน่นอนโต๊ะอาหารแห่งนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอย่างที่บอกว่า เรายังไม่มีแจกันดอกไม้สวยๆ และแจกันดอกไม้ที่ว่าก็คือ อินเดีย ซึ่งในแถลงการณ์ของผู้นำทั้ง 16 ประเทศได้กล่าวไว้ด้วยว่า “India has significant outstanding issues, which remain unresolved. All RCEP Participating Countries will work together to resolve these outstanding issues in a mutually satisfactory way. India’s final decision will depend on satisfactory resolution of these issues.” อินเดียยังคงมีบางประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ซึ่งทั้ง 15 ประเทศก็เข้าใจและจะเดินหน้าหาทางออกร่วมกันในประเด็นเหล่านั้นในรูปแบบที่ทุกประเทศคู่เจรจาพึงพอใจ

ผมจึงเปรียบการเจรจาครั้งนี้เป็นการรอแจกันดอกไม้ที่สวยงามเพื่อให้โต๊ะอาหารแห่งนี้สมบูรณ์พร้อมให้ทั้ง 16 ประเทศได้รับประทานอาหาร หรือได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

RCEP คือความก้าวไกลของเอเชีย เพราะหากเราเร่งรัดจนการลงนามเกิดขึ้นและกันให้อินเดียออกไปอย่างโดดเดี่ยว นั่นเท่ากับเราจะขาดโอกาสเข้าสู่ตลาดของประชากร 1.3 พันล้านคน และอินเดียคือเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก (หากพิจารณามูลค่า GDP ที่ปรับค่าครองชีพแล้ว GDP PPP) และยังเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง รวมทั้งยังเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย

ดังนั้นหากไทยและคู่ค้าอื่นๆ อยากเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของเอเชียใต้ อินเดียคือจิ๊กซอว์สำคัญ เช่นเดียวกับในมิติภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ หากขาดอินเดียไป ภาพของอินโด-แปซิฟิกที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของมหาอำนาจทั่วโลกก็ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นหากเราเร่งรัดให้เกิดการลงนามโดย 15 ประเทศแล้วกันอินเดียออกไป นั่นเท่ากับภาพที่ไม่สมบูรณ์และเสียโอกาสในเอเชียใต้ อินโด-แปซิฟิก ในทางตรงกันข้ามหากบีบบังคับอินเดีย (ซึ่งมีปัญหากดดันจากการยกระดับ RCEP ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ) ให้ยอมลงนามโดยไม่สบายใจจากการกดดันอย่างหนักของ 15 ประเทศ นั่นก็เท่ากับเราไปสร้างปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านให้รุนแรงขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ และหากลงนามไปก็คงจะไม่ใช่ข้อตกลงที่ยั่งยืน ในทางตรงกันข้าม หากเรายอมรับข้อเรียกร้องของอินเดียมากจนเกินไป นั่นก็อาจจะทำให้ทั้ง 15 ประเทศเกิดความไม่สบายใจ

ดังนั้นหากจะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การทอดเวลาออกไปลงนามในปีหน้า โดยประกาศความสำเร็จตั้งแต่ปีนี้ และบอกเป็นนัยเอาไว้ว่าทั้ง 15 ประเทศเขาตกลงกันได้แล้ว ใจคออินเดียจะมารื้อสิ่งที่เขาตกลงไว้แล้วทั้งหมดเลยหรือ นั่นก็เท่ากับเป็นการรอให้อินเดียเอาแจกันดอกไม้มาประดับโต๊ะอาหารแห่งนี้โดยทุกฝ่ายสบายใจ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

RCEP ยังเป็นความก้าวหน้าในการเปิดเสรีการค้าของเอเชีย เพราะความยากลำบากที่สุดของการเจรจาในกรอบนี้คือ การเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกที่ไม่มี FTA ระหว่างกันอยู่แล้ว อาเซียนไม่ใช่ปัญหา เพราะอาเซียนเปิดเสรีอยู่แล้วกับทั้ง 6 ประเทศคู่เจรจา เรามี FTA อยู่แล้วทั้ง อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย และ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดตลาดเป็น อาเซียน+6 นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราเคยเจรจากับทั้ง 6 ประเทศมาแล้ว เราคงไม่ได้มีอะไรที่จะเปิดตลาดมากไปกว่าที่เคยเปิดมาแล้ว หากแต่เราน่าจะได้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าที่นับมูลค่ารวมกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากอัตราภาษีพิเศษได้ง่ายยิ่งขึ้น

แต่สำหรับคู่เจรจาที่ไม่เคยมี FTA ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง อินเดีย-จีน, อินเดีย-นิวซีแลนด์, อินเดีย-ออสเตรเลีย, จีน-ญี่ปุ่น, จีน-เกาหลี, ญี่ปุ่น-เกาหลี, ญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ นี่คือความยาก เพราะเท่ากับการเจรจาการค้าในกรอบใหม่ที่เขาไม่เคยมีความร่วมมือกันมาก่อน แต่ไทยในฐานะประธานก็สามารถผลักดันจนสำเร็จ ซึ่งนั่นคือความก้าวหน้า เพราะอย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ของจีน-อินเดีย จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี คือความขัดแย้ง แต่วันนี้ก็สามารถสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้ ซ้ำยังเป็นความร่วมมือในมิติอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก

RCEP จะเป็นการยืนยันกับประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดว่า ทั้ง 16 ประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่การค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) เกิดขึ้นมากที่สุด และรุนแรงที่สุดทั้งแต่ปี 1995 ผ่านการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและการเสื่อมศรัทธาของการเจรจาการค้าในกรอบพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่ยังไม่มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจารอบโดฮาในปี 2001 และท่ามกลางแนวคิดแบบ Unilateral ที่มหาอำนาจ (ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา) เริ่มต้นการขยายอิทธิพลและกดดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมทำตามแต่เพียงฝ่ายเดียว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save