สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง
เนื่องในโอกาสที่เดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึงนี้ เป็นห้วงเวลาครบรอบวันเกิดของอาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ ผู้ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาอย่างยาวนาน ในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่ง ผู้เขียนไม่มีอะไรจะทดแทนได้มากไปกว่าการพยายามทบทวนถึงความสำคัญของอาจารย์ปรีดีในการบุกเบิกวิชานิติปรัชญาให้มีตำแหน่งแห่งที่อย่างมั่นคงในการศึกษากฎหมายของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ดำเนินไปพร้อมกับความล้มเหลว บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสภาวะทวิลักษณ์ดังกล่าว รวมถึงการค้นหาคำตอบถึงเหตุที่นำมาซึ่ง “ความสำเร็จที่ล้มเหลว” นี้
ในทางสาธารณะแล้ว ศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ (ต่อไปจะเรียกว่า “ปรีดี” เพื่อความกระชับของบทความนี้) มักเป็นที่รู้จักในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2517-2519 ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 (ระหว่าง 21 ตุลาคม 2519 ถึง 13 พฤศจิกายน 2520) จึงทำให้เขามักถูกพิจารณาในฐานะของปัญญาชนฝ่ายขวา (แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะอภิปราย ณ ที่นี้แต่อย่างใด) อย่างไรก็ตาม สำหรับในแวดวงทางกฎหมายแล้ว ปรีดีนับเป็น “ปรมาจารย์” คนสำคัญทางกฎหมายคนหนึ่ง
ปรีดีเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนต่อการปรับปรุงหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2514-2515 โดยการปรับปรุงคราวนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ “มีความรู้ทั่วไปในวงผู้รู้ทั้งหลายในสมัยนั้นว่า นักนิติศาสตร์ในประเทศไทยมักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้มีทรรศนะคติคับแคบและมีแนวโน้มที่จะยึดมั่นตัวบทกฎหมายตามตัวอักษรจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความจริงและความเปลี่ยนแปลงของสังคมและบ้านเมือง”[1] จึงนำมาสู่การเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย หลักวิชานักกฎหมาย และวิชานิติปรัชญา ในหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่
ปรีดีเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อการวางรากฐานการศึกษาวิชา “นิติปรัชญา” ที่สถาบันแห่งนี้ ทั้งในฐานะผู้บรรยายวิชานิติปรัชญาภายหลังจากที่มีการปรับปรุงหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ และการจัดพิมพ์ตำรา นิติปรัชญา ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2526 ซึ่งจวบจนปัจจุบันก็ยังเป็นตำราสำคัญในการทำความเข้าใจกับนิติปรัชญาเล่มหนึ่ง และเป็นตำราหลักสำหรับการศึกษาวิชานิติปรัชญาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอย่างต่อเนื่อง มีการตีพิมพ์จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 จำนวน 14 ครั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมโดย กิตติศักดิ์ ปรกติ)
นิติปรัชญาของปรีดีเป็นการศึกษาแนวความคิดปรัชญากฎหมายของตะวันตกด้วยการพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องการแสดงให้เห็นความคิดทางด้านกฎหมายในแต่ละช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ยุคกรีก ยุคโรมัน ยุคกลาง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ มาจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยปรีดีให้ความสำคัญกับแนวคิดทางด้านนิติปรัชญา 3 สำนักด้วยกัน คือ สำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) สำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) และสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical School of Law)
ความคิดของปรีดีมีอิทธิพลต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังจะเห็นว่า เมื่อมีการพิมพ์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนิติปรัชญา ของสมยศ เชื้อไทย (ผู้ซึ่งได้รับผิดชอบในการสอนวิชานิติปรัชญาสืบต่อมา) ตำราของสมยศก็ดำเนินไปภายใต้กรอบที่ปรีดีวางเอาไว้ ทั้งในด้านของการจัดหมวดหมู่ และแนวความคิดทางนิติปรัชญาที่ได้นำมาอธิบายไว้ก็ไม่มีความแตกต่างกัน
ต่อมา พิธินัย ไชยแสงสุขกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความสนใจทางนิติปรัชญาอีกคนหนึ่ง ได้ตีพิมพ์หนังสือ นิติปรัชญา ภาค 1: เล่มที่ 1 ว่าด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางกฎหมาย (พ.ศ. 2539) หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยแนวคิดทางนิติปรัชญา ซึ่งพิธินัยได้นำเสนอในทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติและสำนักกฎหมายบ้านเมือง
แม้ว่าโดยภาพรวมจะยังคงเป็นการศึกษาที่ปรีดีวางรากฐานไว้ แต่พิธินัยได้ขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขวางมากขึ้น โดยในส่วนสำนักกฎหมายบ้านเมือง ได้มีการอธิบายถึงแนวคิดของ Hans Kelsen ในเรื่องทฤษฎีความบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย (Pure Theory of Law) อันเป็นแนวความคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20
นอกจากนี้ หนังสือของพิธินัยยังได้กล่าวถึงแนวความคิดสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกา (American Legal Realism) อันเป็นแนวคิดในการวิเคราะห์กฎหมายที่เฟื่องฟูอยู่ในสหรัฐฯ นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา หากกล่าวโดยรวมแล้ว แนวความคิดนี้เชื่อว่ากฎหมายที่แท้จริงคือ “กฎหมายที่ได้มีการปฏิบัติจริง” (law is what law does) รวมทั้งเขายังได้อธิบายถึงแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาและสังคมวิทยากฎหมาย ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวดูจะไม่ได้เป็นที่รับรู้กันในแวดวงการศึกษากฎหมายแต่อย่างใด
งานของพิธินัยนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขยายพรมแดนการศึกษาด้านนิติปรัชญาที่สถาบันแห่งนี้ให้กว้างออกไป แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านับจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวทางด้านความรู้ในวิชานิติปรัชญาเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแต่อย่างใด หากจะพอมีอยู่บ้างก็คือการแปล Law: A Very Short Introduction ของ Raymond Wacks โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล (อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง) ในชื่อ กฎหมาย: ความรู้ฉบับพกพา เมื่อ พ.ศ. 2555
หากพิจารณาภาพรวมสถานะของความรู้ของนิติปรัชญาตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า แม้จะมีการผลิตตำรา เอกสาร หนังสือจำนวนหนึ่งโดยผู้ที่สนใจวิชาดังกล่าว และอีกจำนวนหนึ่งในรูปของบทความ งานแปล ที่กระจัดกระจายอย่างไม่เป็นระบบมากนัก แต่หากนับจากจุดเริ่มต้นที่ปรีดีได้บุกเบิกเอาไว้ ดูเหมือนว่าสถานะของความรู้ของนิติปรัชญากลับไม่มีความก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
หนังสือนิติปรัชญาที่มีความสำคัญและมีส่วนอย่างมากต่อการบุกเบิกพรมแดนความรู้ทางด้านนิติปรัชญากลับปรากฏขึ้นในหนังสือ นิติปรัชญา ของจรัญ โฆษณานันท์ อันเป็นหนังสือของวิชานิติปรัชญาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยหนังสือเล่มนี้ จรัญมุ่งทำความเข้าใจนิติปรัชญาด้วยการจำแนกแนวคิดออกเป็นกลุ่มต่างๆ และทำการศึกษาประวัติศาสตร์ พัฒนาการ รวมถึงข้อถกเถียงของแต่ละแนวคิด ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจแต่ละแนวคิดได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น จรัญยังได้เขียนถึงแนวคิดร่วมสมัยมากขึ้น เช่น แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติในศตวรรษที่ 20, แนวคิดสัจนิยมทางกฎหมาย, แนวคิดทางกฎหมายแบบมาร์กซิสม์ งานชิ้นนี้จึงนับว่าช่วยขยายพรมแดนความรู้ทางนิติปรัชญาในภาษาไทยให้มีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งการหยิบยกประเด็นถกเถียงด้านนิติปรัชญาที่สำคัญมาอภิปราย เช่น การเคารพและการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย การควบคุมศีลธรรมโดยกฎหมาย เป็นต้น
สำหรับจรัญ เขายังได้ทำหน้าที่ขยายพรมแดนความรู้ด้านนิติปรัชญาออกไปอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการตีพิมพ์งานว่าด้วยนิติปรัชญาไทยและนิติปรัชญาแนววิพากษ์ออกมาในโลกวิชาการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยับพรมแดนความรู้ที่สำคัญทั้งในเชิงลงลึกกับสังคมไทย และการตอบรับกับแนวคิดที่แพร่กระจายในระดับสากล
ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า เพราะเหตุใด แนวความคิดทางด้านนิติปรัชญาที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จึงดูราวกับจะหยุดนิ่ง ทั้งๆ ที่คณะนิติศาสตร์แห่งนี้คือสถาบันการศึกษากฎหมายที่สำคัญแห่งหนึ่งของสังคมไทย
ไม่เพียงความหยุดนิ่งของความรู้ด้านนิติปรัชญาเท่านั้น การให้ความสำคัญต่อนิติปรัชญาก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ในการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เดิมเคยมีวิชานิติปรัชญาเป็นรายวิชาบังคับที่นักศึกษาต้องลงเรียน แต่ในการปรับปรุงหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2544 กลับกำหนดให้เฉพาะนักศึกษาที่ไม่เคยเรียนวิชานิติปรัชญาต้องลงทะเบียนวิชานี้เป็นวิชาเลือก ซึ่งหมายความว่า ถ้านักศึกษาคนใดเคยเรียนวิชานี้มาก่อนในระดับปริญญาตรีก็สามารถได้รับการยกเว้นไม่ต้องลงทะเบียนเรียน หลังจากนั้น การปรับปรุงหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2556 ก็ได้ “ลด” สถานะของวิชานิติปรัชญาให้กลายเป็นหนึ่งในวิชาเลือกท่ามกลางวิชาอีกจำนวนมาก
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมสะท้อน (แนวคิดของหลักสูตร) ที่ว่า วิชานิติปรัชญาไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับระดับบัณฑิตศึกษาในทางนิติศาสตร์แต่อย่างใด จะลงเรียนวิชานี้หรือไม่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการศึกษาแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริงการศึกษาทฤษฎี/แนวคิดทางนิติปรัชญาจะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการตั้งคำถาม การออกแบบการวิจัย และการใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์งานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา ไม่ต้องพูดถึงว่า การศึกษาแนวความคิดต่างๆ ในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านขอบเขตของเนื้อหาและความลุ่มลึกของแนวความคิดต่างๆ
การพิจารณาว่าการศึกษาวิชานิติปรัชญาในระดับปริญญาตรีมีความเพียงพอแล้วต่อการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่งต่อความคาดหวังที่มีต่อนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาอย่างสำคัญ เพราะต้องไม่ลืมว่าความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งสำหรับบัณฑิตศึกษาคือการทำวิจัยของแต่ละคน ซึ่งหากปราศจากแนวคิดทฤษฎีที่ลุ่มลึกแล้ว ผู้เรียนจะสามารถตั้งคำถามที่มีความสำคัญต่อการค้นคว้าในประเด็นปัญหานั้นๆ ได้อย่างไร
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่การตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบของผู้เรียนระดับบัณฑิตศึกษาทางกฎหมายมักจะวนเวียนอยู่กับการเปรียบเทียบตัวบทกฎหมายของไทยกับต่างประเทศ ก่อนที่จะนำไปสู่ข้อสรุปว่าควรปรับแก้ตัวบทของไทยให้เหมือนต่างประเทศ
สำหรับผู้เขียน ความเข้าใจดังกล่าวไม่ใช่เพียงการครอบงำของวิชาชีพต่อความรู้ทางวิชาการที่ขยายขึ้นมากแต่เพียงอย่างเดียว[2] หากยังเป็นผลอย่างสำคัญมาจากความหยุดนิ่งของความรู้วิชานิติปรัชญา ทำให้ไม่มีการทำความเข้าใจแนวความคิดนิติปรัชญาใหม่ๆ ทั้งที่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดนิติศาสตร์เชิงวิพากษ์ (Critical Legal Studies) นิติศาสตร์ชาติพันธ์แนววิพากษ์ (Critical Race Theory) แนวพินิจกฎหมายจากโลกที่สาม (Third World Approach to International Law:TWAIL) กฎหมายกับวรรณกรรม (Law and Literature) เป็นต้น
ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อการปรับมุมมอง วิธีการศึกษา การตั้งคำถาม หรือแนวทางในการวิเคราะห์กฎหมายอย่างมาก หากผู้สอนไม่สามารถมีมุมมองใหม่ที่แตกต่างหรือท้าทายกับแนวความคิดแบบที่ดำรงอยู่มาแต่ดั้งเดิม ก็ย่อมไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทิศทางงานวิจัย งานวิชาการนั้นจะดำเนินไปในทิศทางเช่นไร
น่าสนใจว่าเพราะเหตุใด แนวความคิดที่ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางในระดับโลกกลับไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการศึกษานิติปรัชญาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้
ในการรำลึกถึงคุณูปการที่อาจารย์ปรีดีได้กระทำแก่สถาบันแห่งนี้ ซึ่งน่าจะมีการจัดงานขึ้นเฉกเช่นที่เคยเป็นมาในทุกๆ ปี คงจะเป็นการสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากมีการตอบคำถามว่าวิชานิติปรัชญาที่ปรีดีได้บุกเบิกไว้ยังมีความสำคัญต่อการศึกษากฎหมายอยู่หรือไม่ และหากยังมีความสำคัญอยู่ บรรดาลูกศิษย์จะทำการ “รื้อสร้าง” องค์ความรู้นี้อย่างไรให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความรู้และสภาพสังคมที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
สุภาษิตฝรั่งอันเป็นที่รับรู้กันกว้างขวางในวงวิชาการก็คือ “Standing on the shoulders of giants” (หรือในภาษาละติน : nanos gigantum humeris insidentes) อันหมายถึงการค้นหาสัจจะด้วยการยืนอยู่บน “ไหล่ของยักษ์” หรือการค้นพบที่มีมาก่อนหน้า แม้จะเป็นที่ยอมรับว่าปรีดีคือยักษ์ใหญ่แห่งแวดวงวิชาการด้านนิติศาสตร์ของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าไหล่ของปรีดี จะว่างเปล่าเดียวดายเหลือเกิน
อ้างอิง
[1] ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539) หน้า 17
[2] ผู้สนใจรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวสามารถอ่านได้ใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นิติศาสตร์ไทยเชิงวิพากษ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2549) โดยเฉพาะใน บทที่ 4 ระบบการศึกษากฎหมาย