fbpx
กรรมกรผู้กล้าฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเรียกร้องธรรมชาติกลับคืนมา

กรรมกรผู้กล้าฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเรียกร้องธรรมชาติกลับคืนมา

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

หลายเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปตามชนบทหลายแห่งทั่วประเทศ ไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและชุมชนที่ปกป้องผืนป่า ประทับใจชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ทำงานปิดทองหลังพระอย่างจริงจัง

มีโอกาสเดินทางมาอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นครั้งแรก

อำเภอหันคาเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ แหล่งปลูกข้าวสำคัญของคนภาคกลาง เดิมชื่อว่า อำเภอบ้านเชี่ยน  ต่อมาในปี พ.ศ.2470 ได้ย้ายมาตั้งที่แห่งใหม่ ณ ตลาดหันคา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหันคา เหตุที่เรียกว่า ‘หันคา’ มีตำนานเล่าว่า มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มาล่มขวางลำน้ำ ในลักษณะหันและคาตรงบริเวณท่าบ้านหลวงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอ

ผมตั้งใจเดินทางมาพบกรรมกรรับจ้างคนหนึ่งที่อาจหาญฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำให้คงอยู่

คงไม่มีใครที่สู้สุดชีวิตเท่ากับ ลุงเฉลียว ยันสาด แห่งอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท

ลุงเฉลียวเป็นคนบ้านห้วยงู อำเภอหันคา มาตั้งแต่เกิด ฐานะครอบครัวยากจน ตอนเป็นเด็กมักมาหาผักปลาจากบึงวงฆ้อง บึงน้ำขนาดใหญ่ ร่วมกับชาวบ้านแถวนั้น จึงผูกพันกับพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้มาช้านาน

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ลุงเฉลียวเรียนไม่จบวิทยาลัยช่าง เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย จึงเข้ารับราชการทหาร มีความชำนาญในการอ่านพิกัดแผนที่ เพราะสังกัดหน่วยทหารปืนใหญ่

พอออกจากราชการ มาทำงานเป็นกรรมกรรับจ้างทั่วไป ได้กลับมาเยี่ยมบ้านที่ชัยนาทในปี พ.ศ.2536 พบว่า บึงวงฆ้องพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดร่วม 1,000 ไร่ ที่เคยเป็นที่หาอยู่หากินของชาวบ้าน ค่อยๆ ถูกบุกรุกจับจองที่ดินเป็นที่ดินส่วนบุคคล กระทั่งมีการออกเอกสารสิทธิ (นส.3) ทับที่สาธารณะ แต่ไม่มีใครสนใจลุกขึ้นมาทำอะไร

ลุงเฉลียวบอกกับผมว่า “ตอนนั้น ผมเห็นความไม่ยุติธรรม เห็นคนมาบุกรุกจับจองที่สาธารณะประโยชน์ ก็รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่งั้นลูกหลานลำบากแน่”

ลุงเฉลียวชักชวนคนในหมู่บ้านราวสิบกว่าคน พยายามสืบค้นหาหลักฐานข้อมูลมาต่อสู้ จนพบว่าทางการได้ขึ้นทะเบียนบึงวงฆ้องเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2477

เมื่อได้เอกสารชิ้นสำคัญแล้ว ก็พากันไปยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่า เปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลได้อย่างไร

แต่มีแต่ความเงียบ ไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะแกนนำเป็นแค่กรรมกรรับจ้าง ไม่มีชื่อเสียงอันใด

เมื่อไม่รู้จะหันหน้าพึ่งใคร ปี 2541 ลุงเฉลียวจึงเดินทางมาสวนจิตรลดา มายื่นเรื่องกับแผนกฎีกา กองราชเลขานุการในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ หลังจากนั้นไม่นานจึงมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานเร่งตรวจสอบที่ดินบึงวงฆ้อง

ผลปรากฏว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนพื้นที่สาธาณประโยชน์บึงวงฆ้อง จำนวน 60 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 640 ไร่ อันถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน

ลุงเฉลียว ไม่หยุดแค่นั้น ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินสาธารณะ

แต่มีแต่ความเงียบ ไม่มีใครสนใจ เพราะแกนนำเป็นแค่กรรมกรรับจ้าง

เอกสารสิทธิ์ทับซ้อนพื้นที่สาธาณประโยชน์บึงวงฆ้อง

ผมมานั่งนึกว่าขนาดคนเมืองกรุงที่มีการศึกษา ทางการมาตัดต้นไม้ใหญ่แบบผิดกฎหมาย เดือดร้อนกับตัวเองแท้ๆ หลายคนยังอยู่นิ่งเฉยยอมจำนน แต่ลุงเฉลียวจบแค่ ม.ศ.3 เมื่อพบเห็นการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ลุงไม่ได้เดือดร้อนโดยตรง แต่ลุงไม่ได้นิ่งเฉย

ลุงบอกว่ากรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ให้กับผู้บุกรุก กรมที่ดินกำลังทำผิดกฎหมายที่ออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ

ไม่ต่างจากคดีความหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีการออกโฉนดที่ดินให้กับนายทุนหรือคนใหญ่คนโต ทับซ้อนบริเวณพื้นที่สาธารณะหรืออุทยานแห่งชาติ

บึงน้ำ เรียกอีกอย่างว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ wetland ในความเข้าใจของคนจำนวนมากคือ waste land เป็นพื้นที่รกร้าง ไม่มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล การบุกรุกจึงง่าย ไม่มีใครใส่ใจ

โชคดีที่ลุงเป็นทหารในศูนย์อำนวยการยิง ที่ต้องรับผิดชอบวิถีกระสุนเวลายิง จึงมีความชำนาญในการอ่านแผนที่อย่างละเอียด

ลุงเฉลียวศึกษาแผนที่ทหารบริเวณนั้นอย่างถ่องแท้ จนพบว่ามีบริเวณใดที่โดนบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมาย

เมื่อเสียงเรียกร้องมีแต่ความเงียบ เพื่อนๆ จึงเรี่ยไรเงินเป็นเงินทุนให้ลุงเดินทางมากรุงเทพฯ นั่งรถเมล์มาที่ทำการศาลปกครอง ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินข้อหาออกเอกสารสิทธิมิชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน

ไม่น่าเชื่อว่าลุงลงมือร่างเอกสารที่ยื่นฟ้องด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมาโดยตรง และด้วยความยากจน ตกดึกต้องอ่านเอกสารกลางแสงตะเกียง เพราะที่บ้านไม่มีไฟฟ้า

ผมเห็นเอกสารคำฟ้องที่ลุงเขียนด้วยลายมือบรรจงสวยงามหลายสิบหน้า ประเด็นชัดเจน

ลุงบอกว่าเขาอ่านเอกสารหลายร้อยหน้า และนำประเด็นต่างๆ มาเรียบเรียงเป็นคำฟ้องใหม่ แม้แต่คนจบกฎหมายก็ใช่ว่าจะร่างคำฟ้องได้ละเอียด ประเด็นชัดเจนเหมือนลุงเฉลียว

แต่แน่นอนว่าระหว่างทาง ชาวบ้าน นักการเมืองท้องถิ่นที่เสียผลประโยชน์ ต่างแวะเวียนมาข่มขู่ให้ลุงถอนตัว

“มึงไปบอกเพื่อนมึงเลยนะ ระวังตัวให้ดี เขาไปจ้างมือปืนมาแล้ว”  เพื่อนลุงเฉลียวเคยเล่าให้ฟัง

นักการเมืองท้องถิ่นต่างสบประมาทลุงแก่ๆ ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเหมือนกรรมกร ว่าจะมีปัญญาทำสำเร็จหรือ

“มึงตัวแค่นี้ ไม่มีทางเอาที่ดินคืนได้หรอก เดี๋ยวมึงก็เลิกไปเอง”

ลุงเฉลียว, แผนที่ทหาร

เถ้าแก่บางคนเอาเงินมาฟาดหัวหนึ่งล้านบาท ให้เลิกยุ่งเรื่องนี้ แต่ลุงเฉลียวไม่ยอมถอย

ชายวัยหกสิบ ตัวเล็ก แต่แววตามีความมุ่งมั่น บอกกับผมว่า

“วันหนึ่งมีสันติบาลมาหา มาสอบสวนว่า รับเงินใครมาเคลื่อนไหว”

ลุงเฉลียวมีเพียงปากกา แผนที่ และกำลังใจจากลูกเมียและชาวบ้านไม่กี่คน ขณะที่อีกฝ่ายเป็นระดับอธิบดี อำนาจรัฐ และชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่พอใจที่ตัวเองกำลังเสียผลประโยชน์

ฝ่ายกรมที่ดินยังอ้างต่อศาลว่า ลุงเฉลียวไม่มีสิทธิ์ฟ้อง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับที่ดินสาธารณะพันกว่าไร่ แต่ลุงเฉลียวตอกหน้าหงายไปว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก เกิดมาก็อาศัยจับปลา อาบน้ำ ที่แห่งนี้ แต่ตอนนี้ถูกจับจองไปแล้ว ห้ามลงไปใช้

ยี่สิบกว่าปีผ่านไป การต่อสู้ในศาลสิ้นสุดลงโดยที่ลุงไม่มีใครเป็นทนายให้ แต่ว่าความด้วยตนเอง จนในปี พ.ศ.2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมที่ดิน ดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของผู้บุกรุก ในเขตที่สาธารณะประโยชน์บึงวงฆ้อง

ลุงเฉลียวสู้ให้พื้นที่ชุ่มน้ำกลับมาเป็นของชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง และยังปลูกป่าขึ้นรอบๆ บริเวณนั้นจนกลายเป็นป่าใหญ่

ความกล้าหาญของลุง ทำให้บึงน้ำที่เคยถูกบุกรุกพันกว่าไร่กลับคืนมา และบึงวงฆ้องได้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างดี หากมีน้ำท่วมใหญ่

ลุงทำสำเร็จอย่างเงียบๆ ไม่มีใครมาให้เกียรติยศหรือรางวัลใดๆ

ทุกวันนี้ลุงยังเป็นกรรมกร ทำงานรับจ้างเหมือนเดิม

ผมถามลุงว่า ทำไมต้องเสี่ยงชีวิต มาทำเรื่องแบบนี้

“ทำก่อนตาย ตายแล้วไม่ได้ทำ”

แววตาผู้ชายตัวเล็กๆ ทำให้คนถามรู้สึกอายขึ้นมาทันที

ตอนไปพวกผมตั้งใจไปให้กำลังใจลุงเฉลียวที่ทำงานเสียสละ

พอฟังเรื่องของลุงแล้ว เรารู้สึกว่าลุงเฉลียวให้กำลังใจพวกเรามากกว่า

ลุงเฉลียว อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save