fbpx
ความน่าจะอ่าน 2020

[ความน่าจะอ่าน] หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ (The Storied Life of A.J.Fikry)

คาลิล พิศสุวรรณ เรื่อง

 

 

1

 

‘เกาะอลิซ’ คือเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งของรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และหากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่คิดจะไปพักผ่อนบนเกาะแห่งนี้ คุณจำเป็นจะต้องโดยสารเรือเฟอร์รีจากหมู่บ้านไฮแยนนิส เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่จะพาคุณเข้าสู่เกาะอลิซได้ การเดินทางไปยังเกาะอลิซไม่ใช่เรื่องง่ายดาย มันอาศัยระยะเวลา และความสุ่มเสี่ยงที่จะเมาคลื่นทะเล แต่หากคุณอดทนต่อเงื่อนไขเหล่านี้ได้ สิ่งที่รอคอยคุณอยู่บนเกาะแห่งนี้ คือชุมชนเล็กๆ อันเงียบสงบ และ ‘ไอแลนด์บุ๊กส์’ ร้านหนังสือขนาดย่อมเพียงหนึ่งเดียวบนเกาะอลิซ หากลองมองป้ายซีดจางที่แขวนอยู่เหนือเฉลียงร้าน คุณจะพบประโยคสั้นๆ เขียนว่า ‘ไม่มีผู้ใดอ้างว้างดั่งเกาะกลางทะเล เพราะหนังสือทุกเล่มคือโลกใบหนึ่ง’

บนเกาะเล็กๆ ที่โดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นของมหาสมุทรแอตแลนติก พ้นไปจากเรือเฟอร์รีที่สัญจรอยู่ระหว่างเกาะอลิซ และรัฐแมสซาชูเซตส์ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ไอแลนด์บุ๊กส์คืออีกหนึ่งสถานีเล็กๆ ที่คอยเชื่อมโยงผู้คนบนเกาะอลิซกับโลกภายนอก ผ่านหนังสือนับพันๆ เล่มที่เบียดเสียดกันอยู่บนชั้นหนังสือของร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้

 

2

 

เกาะอลิซไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงพื้นที่สมมติที่ ‘แกเบรียล เซวิน’ นักเขียนหญิงเจ้าของผลงาน The Storied Life of A.J. Fikry หรือ ‘หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ’ เนรมิตขึ้นมา และก็แน่นอนว่า ไอแลนด์บุ๊กส์เองก็เป็นร้านหนังสือที่เซวินจินตนาการขึ้นเช่นกัน รวมไปถึง ‘เอ.เจ. ฟิกรี้’ เจ้าของร้านหนังสือวัยใกล้จะสี่สิบ ที่หลังจากสูญเสียภรรยาอย่างกะทันหันเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ชีวิตของเขาก็มีแต่จะเหี่ยวเฉา ไร้ชีวิตชีวา

ทว่าเดิมที เอ.เจ. ไม่ใช่คนน่าเบื่อ “เมื่อนานมาแล้ว ก่อนที่ผมจะมาเป็นคนขายหนังสือ ตอนที่ผมมีเวลาอยู่กับตัวเองในยามค่ำ และตอนที่ผมอ่านเพื่อความสนุก ผมจำได้ว่าผมสนุก” (หน้า 22) เขารำพันกับตัวเองประหนึ่งจะย้ำเตือนว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยมีชีวิตที่ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่อาจเพราะความโศกเศร้าจากความสูญเสียคนรัก หรืออาจเพราะความจำเจของชีวิตประจำวันภายใต้สถานะของคนขายหนังสือ เหล่านี้ได้ค่อยๆ บดบี้ให้ เอ.เจ. จมดิ่งลงไปเรื่อยๆ

“ผมไม่ใช่คนแบบที่คุณเรียกว่าไอ้ขี้เมาหรอก แต่ผมจะชอบดื่มจนหลับไปอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ผมสูบบุหรี่บ้าง และดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารแช่แข็งเป็นหลัก ผมไม่ค่อยขัดฟัน ผมเคยเป็นนักวิ่งระยะไกล แต่ตอนนี้ไม่ได้ออกกำลังกายเลย ผมอาศัยอยู่คนเดียวและไร้ซึ่งความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับใครก็ตาม และตั้งแต่ภรรยาผมจากไป ผมก็เกลียดงานที่ผมทำอยู่เหมือนกัน” (หน้า 31)

หากมองผ่านสายตาของคนนอก ชีวิตที่ปราศจากการสร้างสัมพันธ์ใหม่ๆ ของ เอ.เจ. หลังจากที่สูญเสียความสัมพันธ์กับภรรยาไป ย่อมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เขาต้องดำรงอยู่อย่างหม่นหมอง แต่ขณะเดียวกัน การปฏิเสธจะเชื่อมโยงกับมนุษย์คนอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หรือการตัดสินที่โง่เขลาของ เอ.เจ. แต่อย่างใด นั่นเพราะบาดแผลและความเจ็บปวดของชีวิต เป็นเรื่องที่ผู้เป็นเจ้าของชีวิตเท่านั้นจึงจะเข้าใจ และแม้ว่า เอ.เจ. เองก็รู้ตัวดีว่า เขาไม่ควรจะกักขังตัวเองอยู่กับความหมองหม่น แต่จะให้ทำอย่างไรกันเล่า? จะให้ตื่นเช้าขึ้นมาในวันหนึ่ง แล้วก็เดินไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชนอย่างเป็นปกติ ราวกับว่าความโศกเศร้าจากอดีตอันตรธานไปหมดแล้วได้อย่างไรเล่า?

หนืดเนือย และสับสน แต่ก็เป็นช่วงเวลานี้เอง ที่อยู่ๆ ชีวิตอันมืดมนของ เอ.เจ. ก็ได้รู้จักกับ ‘มายา’

 

3

 

“ถึงเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้

เธอชื่อมายาค่ะ อายุยี่สิบห้าเดือน เธอเป็นเด็กที่ฉลาดมาก พูดเก่งมากสำหรับเด็กอายุเท่านี้ และเป็นเด็กน่ารัก นิสัยดี ฉันอยากให้เธอเติบโตขึ้นมาเป็นนักอ่าน ฉันอยากให้เธอเติบโตมาในสถานที่ที่เต็มไปด้วยหนังสือและผู้ที่สนใจหนังสือ ฉันรักเธอมากแต่ฉันดูแลเธอต่อไปไม่ไหวแล้ว พ่อของเธอเองก็ดูแลเธอไม่ได้ และฉันก็ไม่มีครอบครัวที่พอจะช่วยได้เลย ฉันอับจนหนทางแล้วค่ะ

ด้วยความเคารพ

แม่ของมายา ”

(หน้า 43)

 

เย็นวันหนึ่งหลังจากปิดร้าน เอ.เจ. พบกระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ นี้พร้อมกับเด็กหญิงวัยสองขวบที่กำลังนั่งเปิดดูนิทานภาพบนพื้นร้านหนังสือของเขา ไม่รู้ว่ามาจากไหน และไม่รู้ว่าใครเป็นแม่ของเด็ก ที่สุดแล้ว ชายวัยใกล้จะสี่สิบที่ใช้ชีวิตอยู่โดยลำพังก็จำต้องจับพลัดจับผลูเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงตัวน้อยอย่างมายาประหนึ่งลูกแท้ๆ ของเขา สันโดษจนคล้ายชินชา แต่การมาถึงของมายาก็ได้แต่งแต้มสีสัน และมอบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับ เอ.เจ. ที่เหี่ยวเฉา เขาต้องเรียนรู้การเปลี่ยนผ้าอ้อม เรียนรู้การป้อนนม เรียนรู้การกล่อมให้เด็กเข้านอน กล่าวให้ถึงที่สุดคือ หลังจากที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจนเฉยชา การเลี้ยงดูมายาได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการที่ เอ.เจ. จะได้พัฒนาทักษะการปฏิสัมพันธ์ และเชื่อมโยงตัวตนของเขากับมนุษย์คนอื่นๆ อีกครั้ง นั่นเพราะเมื่อผู้คนในชุมชนต่างรับรู้ว่า เอ.เจ. รับมายามาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม พวกเขาก็เริ่มแวะเวียนมาหา เอ.เจ. มากขึ้นเรื่อยๆ ตบเท้าเข้ามาในร้านหนังสือเพื่อทำความรู้จักกับสมาชิกคนใหม่ของชุมชน กระทั่งพวกแม่ๆ ที่เป็นกังวลว่า เอ.เจ. จะเลี้ยงมายาไม่ไหวก็คอยมาสอดส่องว่า ความเป็นอยู่ของเด็กน้อยเรียบร้อยดีไหม พวกหล่อนช่วยแนะนำเคล็ดลับการเลี้ยงดูลูกน้อยกับ เอ.เจ. และบางครั้งยังมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เสื้อผ้า ผ้าห่ม และเฟอร์นิเจอร์เด็กใช้แล้ว มาฝากพ่อลูกอ่อนมือใหม่

ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่าง เอ.เจ. และชาวบ้านบนเกาะอลิซจะถูกเชื่อมประสาน หากพร้อมๆ กัน ร้านไอแลนด์บุ๊กส์ยังกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยจะมีใครเดินเข้าร้านนี้สักเท่าไหร่

“เมื่อมาเยี่ยมเด็กน้อย ผู้หญิงหลายคนก็ซื้อหนังสือหรือนิตยสารติดไม้ติดมือกลับไปด้วย” (หน้า 61)

พวกแม่ๆ ไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเดียวของร้านหนังสือ ยังมีตำรวจบนเกาะอลิซ ที่เคยช่วยเหลือ เอ.เจ. ตามหาแม่แท้ๆ ของมายา พวกเขาก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งลูกค้าประจำของร้านไอแลนด์บุ๊กส์ไปด้วยเช่นกัน จากการที่ เอ.เจ. แนะนำนิยายสืบสวนสอบสวนที่น่าสนใจ รวมไปถึงการจัดตั้งชมรมหนังสือในฐานะกิจกรรมเล็กๆ ภายในร้าน เพื่อให้เหล่าตำรวจที่รักการอ่านได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อหนังสือที่อ่านจบไป

แต่ไหนแต่ไรมา หนังสือที่คุณจะพบเจอภายในไอแลนด์บุ๊กส์ ล้วนเป็นการคัดสรรจากรสนิยมของ เอ.เจ. ในแง่ชั้นหนังสือของร้านจึงมักจะอัดแน่นไปด้วยรวมเรื่องสั้น วรรณกรรมคลาสสิก และนวนิยายที่เจ้าของร้านมั่นใจว่าดี และแม้จะไม่มีชาวเมืองคนใดปฏิเสธว่า หนังสือที่ เอ.เจ. คัดเลือกมาไม่ดี หากพวกเขาก็ยังไม่รู้สึกว่า ร้านหนังสือแห่งนี้ได้ผนวกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะอลิซ

“ฉันว่าคุณน่าจะขยายโซนนิทานภาพด้วยนะ” คุณแม่คนหนึ่งพูดกับ เอ.เจ. “พวกเด็กๆ ควรจะมีอะไรให้อ่านตอนมาที่นี่เหมือนกัน” หล่อนว่าต่อไป เปล่าเลย หญิงสาวไม่ได้จะกล่าวโทษ เอ.เจ. ที่ร้านหนังสือของเขามีแต่หนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ออกจะเป็นไปในลักษณะของคำแนะนำ เพราะไอแลนด์บุ๊กส์สามารถพัฒนาไปเป็นร้านหนังสือที่ดีกว่านี้ได้ พูดอีกอย่างคือ สำหรับหล่อนแล้ว ร้านหนังสือที่ดี ไม่ควรจะจำกัดกลุ่มลูกค้าแค่เฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่มันควรจะเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมโยงคนกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ แม่บ้าน หรือตำรวจ นักอ่านมือสมัครเล่น หรือหนอนหนังสือ

นั่นเพราะร้านหนังสือคือพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกๆ คน

 

4

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Ryan L. Raffaelli รองศาสตราจารย์แห่ง Harvard Business School ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง Reinventing Retail: The Novel Resurgence of Independent Bookstores โดยที่ Raffaelli ได้ใช้เวลากว่าแปดปีเพื่อศึกษาวงการร้านหนังสืออิสระในสหรัฐอเมริกา เพื่อพิจารณาหาเงื่อนไขว่า ร้านหนังสืออิสระจะสามารถอยู่รอดในยุคที่ใครๆ ต่างก็พากันซื้อหนังสือออนไลน์ได้อย่างไร

ในสหรัฐอเมริกา การถือกำเนิดขึ้นของ amazon.com เมื่อปี 1995 ได้ส่งผลให้ตัวเลขร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่างานวิจัยของ Raffaelli กลับชี้ให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างปี 2009 – 2018 อยู่ๆ ตัวเลขการเติบโตของร้านหนังสืออิสระในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 49 เปอร์เซนต์ จาก 1,651 ร้านทั่วประเทศในปี 2009 เป็น 2,470 ร้านทั่วประเทศในปี 2018

Raffaelli บอกว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขของร้านหนังสืออิสระเติบโตขึ้นอีกครั้ง แม้จะมีคู่แข่งสำคัญอย่างแอมะซอนประกอบไปด้วยสามเงื่อนไขด้วยกัน คือ ความเป็นชุมชน (community) การคัดสรร (curation) การเป็นพื้นที่รวมตัว (convening)

ต่อความเป็นชุมชน Raffaelli อธิบายว่า คือการที่ร้านหนังสืออิสระจะรับรู้ว่าเป็นกิจการของท้องถิ่นหรือชุมชน ด้วยเหตุนี้ การซื้อหนังสือจากร้านหนังสืออิสระจึงเท่ากับการอุดหนุนกิจการของผู้คนในชุมชน และถือเป็นการสนับสนุนชุมชนไปในตัว ต่อประเด็นการคัดสรร Rafaelli ชี้ให้เห็นกระแสที่ร้านหนังสืออิสระให้ความสำคัญกับการคัดเลือกหนังสือเข้าร้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคำนึงจากรสนิยมของเจ้าของร้าน และประสบการณ์ของลูกค้าเป็นหลัก แทนที่จะหมกมุ่นอยู่แค่กับหนังสือเบสต์เซลเลอร์ ร้านหนังสืออิสระให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าจากการแนะนำหนังสือใหม่ๆ ที่พวกเขาอาจไม่รู้จักมาก่อน

ในส่วนสุดท้ายคือ การเป็นพื้นที่รวมตัว Rafaelli ตั้งข้อสังเกตว่า ร้านหนังสืออิสระพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้เป็นมากกว่าร้านที่ขายหนังสือเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ ร้านหนังสืออิสระได้กลายเป็นพื้นที่รวมตัวสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะนักเขียน กิจกรรมเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง การเล่นดนตรีสด และการรวมกลุ่มเสวนา ในแง่นี้ ความหมายของร้านหนังสืออิสระจึงครอบคลุมความหมายที่กว้างกว่าร้านหนังสือหนึ่งๆ แต่เป็นพื้นที่ซึ่งคอยเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวให้ถึงที่สุด นิยามของร้านหนังสืออิสระไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวอีกต่อไป หากเป็นพื้นที่ของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนสามารถเข้ามานิยามความหมายของพื้นที่แห่งนี้ในลักษณะที่จะสอดรับกับรูปแบบการใช้งานของพวกเขา

ประโยคหนึ่งจาก American Gods นวนิยายเล่มสำคัญของ Neil Gaiman เขียนไว้ว่า “เมืองจะไม่ใช่เมือง หากไม่มีร้านหนังสือ” หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ร้านหนังสืออิสระเป็นประหนึ่งเลือดเนื้อ และหัวใจของชุมชน

 

5

 

ในหนังสือเรื่อง ‘Politics of the Everyday’ หรือ ‘การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน’ ของเอซิโอ มานซินี่ เขาได้ยกคำอธิบายของคาร์โล โดโนโล่ที่มีต่อ ‘สมบัติส่วนรวม’ (commons) ว่า

“คือกลุ่มก้อนของสิ่งของที่ถูกใช้ร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญ อันส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม อีกทั้งยังเป็นทางแก้ต่อปัญหาในสังคมซึ่งถูกสั่งสมไว้จนลุล่วงไปได้ และยังกระตุ้นสภาพการมีชีวิตของมนุษยชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศที่มันดำรงอยู่ พวกมันจะถูกแบ่งปันกันไป…จนถึงจุดที่มันกลายเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดและสามารถอวดแสดงคุณสมบัติอันสำคัญของมันออกมาเมื่อได้รับการปฏิบัติและบริหารอย่างถูกต้องในฐานะของ ‘ที่เป็นส่วนรวม’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ อย่างน้อยก็โดยหลักการ” (หน้า 42)

ภายใต้นิยามนี้ มานซินี่อธิบายว่า การที่จะมีสมบัติส่วนร่วม จำเป็นจะต้องมีชุมชน โดยที่สมบัติส่วนรวมจะช่วยหล่อเลี้ยงและสร้างสรรค์ความเป็นชุมชน ในขณะเดียวกัน ชุมชนก็จะช่วยปกป้องสมบัติส่วนร่วมด้วย มานซินี่เสนอต่อว่า ไม่ใช่สมบัติส่วนรวมทุกอย่างจะเป็นสาธารณะ โดยเขาได้ยกตัวอย่างสวนของเพื่อนบ้านที่ได้รับการดูแลโดยเพื่อนบ้านด้วยกันก็ถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมได้ แม้ว่าสวนที่ว่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลก็ตาม ลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของ ‘สมบัติส่วนรวมทางสังคม’ (Social Commons) นั่นคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสามารถที่จะร่วมแรงร่วมใจกัน ผูกพันและถักทอทุกๆ องคาพยพในชุมชนเข้าด้วยกัน

ผมคิดว่าในทางหนึ่ง ร้านหนังสืออิสระ (หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงขึ้นคือ ไอแลนด์บุ๊กส์) สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของสมบัติส่วนรวมของชุมชนหนึ่งๆ ได้อย่างน่าสนใจ นั่นเพราะเมื่อความหมายของร้านหนังสือเปลี่ยนแปลงจาก ‘สถานที่ขายหนังสือ’ ไปสู่ ‘พื้นที่การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน’ ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาที่ร้านไอแลนด์บุ๊กส์จึงไม่ใช่แค่ผู้ซื้อที่ผ่านมาและผ่านไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ยึดโยงอยู่กับร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ ไอแลนด์บุ๊กส์กลายเป็นจุดเชื่อมประสานของผู้คนบนเกาะอลิซ และมากไปกว่าการแวะเวียนมาทักทายมายา และ เอ.เจ. คือความผูกพันที่พวกเขามีต่อพื้นที่แห่งนี้

แน่นอนว่า เอ.เจ กลับมาปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้อีกครั้งเพราะมายา และแน่นอนว่าเพราะมายา ไอแลนด์บุ๊กส์จึงกลับมามีลูกค้าหลังจากร้างไร้ไปเป็นปี แต่หากจะบอกว่า การฟื้นคืนชีวิตไอแลนด์บุ๊กส์เป็นเพราะมายา และ เอ.เจ. แค่สองคน นั่นก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอีกอยู่ดี เพราะเบื้องหลังความสำเร็จของร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ คือการที่ไอแลนด์บุ๊กส์กลายเป็นพื้นที่ที่ยึดโยงผู้คนในชุมชนไว้ด้วยกัน เฉกเช่นที่ตัวละครหนึ่งกล่าวไว้ในช่วงท้ายของหลายเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือว่า

“ผมใช้ชีวิตอยู่บนเกาะอลิซมาตลอด ที่นี่เป็นที่เดียวที่ผมรู้จัก และผมยังอยากให้มันเป็นแบบนั้น สถานที่จะไม่ใช่สถานที่หากไม่มีร้านหนังสือ” (หน้า 214)

ไอแลนด์บุ๊กส์ไม่ใช่ร้านหนังสือเล็กๆ บนเกาะอลิซ — ไอแลนด์บุ๊กส์คือเกาะอลิซ

 

6

 

สารภาพตรงๆ ว่า ก่อนหน้าที่จะได้อ่าน ผมไม่เคยรู้จักหนังสือเล่มนี้มาก่อน แต่นั่นละ หากว่ากันตามที่ Raffaelli กล่าวไว้ในงานวิจัย การที่ผมมองข้ามหนังสือเล่มนี้ไป คงเป็นเพราะสายตามัวแต่ที่สนใจบรรดาหนังสือเบสต์เซลเลอร์ สำหรับผม การได้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการลองดุ่มเดินเข้าไปในร้านหนังสืออิสระสักร้านหนึ่ง กวาดสายตาสำรวจร้านอย่างช้าๆ แล้วทันใดก็รู้สึกอยากจะพบปะกับเจ้าของร้าน เพราะคิดว่า น่าจะพูดคุยกันได้ถูกคอ หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือเป็นหนังสือประเภทนี้ ประเภทที่คุณจะไม่แน่ใจโดยทันทีว่า ใช่สิ่งที่กำลังตามหาอยู่หรือเปล่า แต่แล้วคุณก็เปิดอ่าน พลิกจากหน้ากระดาษหนึ่งสู่อีกหน้า อีกหน้า และอีกหน้า แล้วคุณก็ค่อยๆ เข้าใจว่า ‘ไม่มีผู้ใดอ้างว้างดั่งเกาะกลางทะเล เพราะหนังสือทุกเล่มคือโลกใบหนึ่ง’ คืออะไร

แล้วคุณก็เข้าใจว่า ทำไมการอ่านหนังสือถึงสำคัญกับคุณ

 

 

อ้างอิง

  1. Raffaelli, Ryan L. Reinventing Retail: The Novel Resurgence of Independent Bookstores. 
  2. มานซินี่ เอซิโอ. การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน. (อนุสรณ์ ติปยานนท์, ผู้แปล). (2562). นนทบุรี. อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล.

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save