fbpx

การออกวิ่ง และความโดดเดี่ยวอันแสนสุข

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ลงสนามวิ่งมินิมาราธอนเป็นครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด

สิบกิโลเมตร ไม่ใช่ระยะทางยิ่งใหญ่อะไร หากแต่มองจากสายตาคนที่ร้างห่างจากการวิ่งพื้นสนาม ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นมิตรนัก ยิ่งเมื่อต้นธารของการลงแข่งขันมาจากกลุ่มคนเมาที่มือหนึ่งกำแก้วเหล้า อีกมือกดสมัครลงแข่งวิ่ง เข้าตำราเห็นช้างตัวเท่าหมู 

นั่นคือหมุดหมายแรกที่ทำให้ผู้เขียนได้ซ้อมวิ่งจริงจัง (ผสมปนเประหว่างความเสียดายเงินค่าสมัครกับอาการอยากท้าทายตัวเองในการแข่งแรกหลังโควิด) แม้ชีวิตประจำวันจะอยู่กับลู่วิ่งไฟฟ้าตามประสาคนอยู่เมืองใหญ่หาพื้นที่สาธารณะวิ่งยาก แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับการลงวิ่งพื้นราบที่ปราศจากแรงส่งจากลู่ ห้ากิโลเมตรแรกของการซ้อมในสวนสาธาณะจึงหืดขึ้นคอคล้ายทั้งปอดทั้งขาและเท้ามีชีวิตเป็นของตัวเอง ส่งเสียงประท้วงต่อต้านพฤติกรรมไม่คุ้นชิน

แต่ก็อีกนั่นแหละ เสียงประท้วงเหล่านั้นค่อยๆ ชะงัดลงไปเองเมื่อร่างกายพามาทำความรู้จักกับการวิ่งในสวนสาธารณะ ทั้งปอด ขา เท้าและอวัยวะอื่นๆ ก็ร่วมแรงร่วมใจทำหน้าที่แข็งขันให้ผ่านห้ากิโลเมตรแรกไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก -ในความหมายว่า ไม่สำลักลมหายใจและไม่มีกล้ามเนื้อมัดไหนร้าวราน- เวลาที่ทำได้เป็นเรื่องที่เรามาพูดกันทีหลัง พร้อมกันนี้ ทีมวิ่งขี้เมาก็เริ่มเสาะหารองเท้าวิ่งคู่ใหม่ นาฬิกาข้อมือจับอัตราการเต้นของหัวใจและเพซวิ่ง เรื่อยไปจนถึงสิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ ก่อนหน้าการมาถึงของวันแข่งในอีกหนึ่งเดือนให้หลัง

เลขมาตรฐานการวิ่งที่ตั้งไว้ห้ากิโลเมตร ขยับมาเป็นเจ็ด และบางวันมิตรสหายอาจพาวิ่ง long run เพื่อให้ร่างกาย ‘เห็นหน้าค่าตา’ กับระยะจริงที่ลงแข่งซึ่งหมายถึงสิบกิโลเมตร (หรือสำหรับพวกเขา บางทีอาจหมายถึง 15-21 กิโลเมตร แต่สำหรับผู้เขียน ตัวเลข 12 ก็ถือว่าเกินพอ) การวิ่งระยะทางเช่นนั้นไม่เพียงปลุกให้ปอดและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้ตื่นจากความง่วงงุน หากแต่มันยังผลัดเปลี่ยนผิวหนังเปราะบางอ่อนนุ่มที่ผู้เขียนก็ไม่เคยใส่ใจว่ามันต้องการการดูแลไม่น้อยไปกว่าอวัยวะส่วนอื่นๆ กล่าวคือหนังบางส่วนของฝ่าเท้าห้อเลือดและหลุดลอก แสบคันในระดับที่พอทนได้ เป็นความรู้ใหม่ของผู้เขียนในวัยสามสิบที่เพิ่งรู้ว่าถุงเท้าลายน่ารักที่ใส่ติดเท้าทุกเมื่อเชื่อวันที่ไปซ้อมวิ่งนั้น บางเกินไปจนทำให้เท้าบางส่วนเสียดสีกับรองเท้า และยังผลให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาในที่สุด (จนมิตรสหายที่วิ่งด้วยกันต้องบอกอย่างอดทนเหมือนอธิบายให้เด็กหัดเดินเจ้าอารมณ์ฟังว่า “ไม่มีใครเขามองถุงเท้าหรอก ไปหาซื้อคู่ที่หนากว่านี้เถอะ”)

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ของชีวิต การวิ่งให้ได้ดีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและต้องใช้เวลา หลายครั้งที่ผู้เขียนได้แต่มองเหล่านักวิ่งขาประจำที่พบในสวนสาธารณะด้วยความชื่นชม สังเกตเห็นพวกเขาได้ไม่ยาก วิ่งหลังตรง น่องทั้งสองข้างได้ทรงและแกร่งดุจเหล็ก วิ่งด้วยลมหายใจสม่ำเสมอ หากวิ่งกันเป็นคู่ พวกเขามักก้าวพร้อมกันคล้ายมีด้ายที่มองไม่เห็นร้อยไว้ ทั้งหมดยังเป็นเรื่องที่ผู้เขียนยังไปไม่ถึง -และน่าจะใช้ระยะเวลาอีกนาน

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พวกเราไปวิ่งกันยังต่างจังหวัด ถนนสูงชันเลียบทะเล เราคุยกันว่านี่ย่อมเป็นสนามซ้อมที่ดีที่สุดก่อนลงแข่งจริงอันเนื่องมาจากความชันสุดขีดของถนน กระทั่งเมื่อความร้อนของดวงอาทิตย์บวกกับเหนอะหนะของทะเลและความชื้นก่อนพายุเข้ามาเยือน ก็เป็นอันรู้กันว่ามันอาจยากเย็นเสียยิ่งกว่าสนามที่เราจะไปลงแข่งจริงๆ เสียอีก เราจบการฝึกซ้อมนั้นกันที่เจ็ดกิโลเมตร ผิวหน้าแดงก่ำ ไอร้อนของทะเลดันเส้นเลือดบนหน้าผากปูดโปน กระหืดกระหอบวิ่งไปจนถึงห้องอาหารในโรงแรม และไม่ทำอย่างอื่นนอกจากดื่มน้ำในแก้วหมดเป็นลิตร นั่งกันเหมือนหลุมดำที่ดูดกลืนเอาน้ำสะอาดจากเหยือกของพนักงานเสิร์ฟที่ไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากเทน้ำลงแก้วให้เราทุกครึ่งนาที (จนถึงจุดหนึ่งที่พวกเราต่างเกรงใจเสียจนอยากขอเหยือกนั้นมาถือไว้เสียเอง) และเป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนได้รู้ว่าร่างกายยังห่างไกลจากการเป็นนักวิ่งที่ใช้ได้ ทั้งการหายใจ ทั้งกล้ามเนื้อ ยังไกลลิบจากสิ่งที่อยากให้ตัวเองเป็น 

ไม่มีทางดิ้นรนอะไรอย่างอื่นได้นอกจากยอมรับข้อเท็จจริงนี้ไว้และก้มหน้าก้มตาวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ผลักตัวเองให้วิ่งเร็วขึ้น นานขึ้นบ้างในบางวันตามประสาวิ่งชนกำแพงที่ไม่มีทางลัด หนทางเดียวที่เราพอจะต่อรองกำแพงนี้ได้คือการหมั่นออกวิ่งให้เป็นประจำ วิ่งได้ดีหรือไม่ดีนั้นอาจต้องว่ากันทีหลัง 

“มันจะง่ายขึ้นเอง แต่นายแค่ต้องออกวิ่งแบบนี้ให้ได้ทุกวัน นี่แหละส่วนที่ยาก -แต่แล้ว เดี๋ยวมันก็จะง่ายขึ้นในที่สุด” ตัวละครหนึ่งในแอนิเมชันม้าระยำ BoJack Horseman กระซิบบอกโบแจ็คไว้ตอนที่เขาพยายามกอบกู้ซากชีวิตด้วยการลุกมาวิ่ง และไม่เกินไปจากนั้น สำหรับผู้เขียน การวิ่งไม่ใช่เรื่องชวนอิดออดและอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกิจวัตรที่จำเป็นด้วยซ้ำไป แต่มันย่อมมีโมงยามที่ร่างกายต่อต้านบิดพริ้ว แค่เพราะวันนั้นอากาศเย็นเกินไป ง่วงงุนเกินไป หรือแม้แต่มีบางสิ่งก่อกวนอยู่ในความรู้สึกเกินไป ฯลฯ บางวันเราดื้อรั้น หากแต่ถ้าเราต่อรองกับตัวเองได้ พ้นจากระยะหนึ่งกิโลเมตรแรก ไม่มีสักครั้งที่ผู้เขียนจะเสียใจที่ออกมาวิ่ง -กลับกัน ความเอื่อยเฉื่อยนั้นมักนำพาความอึดอัดทั้งใจและกายตามมาเสมอ

หลายปีก่อนครั้งเมื่อชะตากรรมประเคนทั้งมือทั้งเท้าให้ชีวิต อย่าว่าแต่ลุกขึ้นมาวิ่ง ลำพังจะลากสังขารออกจากเตียงยังกลายเป็นสิ่งที่สำนึกปฏิเสธ เฝ้ามองโลกเคลื่อนผ่านไปไร้จุดหมาย ไม่มีหมุดหมายใดให้ต้องจดจำหรือทำความเข้าใจ (และเป็นสิ่งที่ในเวลาต่อมาผู้เขียนได้ตระหนักว่าเป็นโมงยามที่อันตรายที่สุดครั้งหนึ่ง) ใครสักคนผลักหลังกึ่งบังคับให้ออกไปวิ่ง “ทำให้เป็นกิจวัตร” ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น วันต่อมาคว้ารองเท้าวิ่งเก่าๆ ออกกึ่งเดินกึ่งวิ่งในสวนเล็กๆ แถวที่พัก กระทืบเอาความเคียดแค้นชิงชังลงพื้น มองย้อนไปน่าจะเป็นการวิ่งที่โกรธเกรี้ยวต่อชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่ง หากแต่ก็ด้วยการวิ่งเช่นนี้เองที่เปิดพื้นที่ให้หวนกลับมาทบทวนสุ้มเสียงแผ่วเบาในหัว -ไม่ว่าจะความเศร้าหรือความเกลียดชังที่ไม่สบตาด้วยมาตลอด- ไกลไปกว่านั้น ภายหลังความทึมเทาของการปล่อยให้โลกเคลื่อนผ่านชีวิตไปช้าๆ การวิ่งมอบสำนึกของวันเวลากลับมา ในความหมายของการทำบางสิ่ง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยมากแค่ไหนจนสำเร็จ 

การประสบความสำเร็จในการออกวิ่งแต่ละวันต่างไปจากการทำงานอื่นให้เสร็จ มันไม่เรียกร้องอะไรมากไปกว่าการค่อยๆ ก้าวเท้าออกจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จะวิ่งแค่ไม่กี่อึดใจหรือวิ่งนานนับชั่วโมงก็ล้วนให้ผลของการ ‘ได้วิ่ง’ ที่อาจใช้เป็นเครื่องมือกระซิบปลอบประโลมตัวเองว่าอย่างน้อยที่สุด วันนี้ก็ได้เคลื่อนผ่านเราไปโดยไม่มีอะไรสูญเปล่า 

กับทีมวิ่งขี้เมา ในสวนสาธารณะ บางวันพวกเราวิ่งไล่เรียงเป็นแถว มีบ้างที่วิ่งรวดเดียวด้วยกันจนจบครบเจ็ดกิโลเมตร ปราศจากคำพูดคำจาใดๆ คล้ายว่าต่างคนต่างตกอยู่ในภวังค์ลับในหัว แต่หากเพซวิ่งต่างกัน เราต่างหลุดเลื่อนออกจากแถว แต่ไม่ว่าอย่างไร จะวิ่งด้วยกันหรือวิ่งแยกเดี่ยวออกไปตัวคนเดียว ก็ไม่มีความแตกต่างมากมายนัก ถึงที่สุดเราล้วนวิ่งเพียงลำพัง โดดเดี่ยวพาร่างกายขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้าทีละเมตร ทีละเมตร

ผู้เขียนคงไม่ใช่ตัวแทนที่เหมาะที่ดีในการจะอธิบายเรื่องราวเหล่านี้นัก นั่นเพราะไม่ได้เป็นนักวิ่งที่เก่งกาจอะไร หรือหากจะพูดกันจริงๆ ก็ยังห่างไกลจากคำนั้นมากมายเหลือเกินด้วยซ้ำ ไม่ได้มีมัดกล้ามเนื้อสวยงามเหมือนสลักจากไม้มะเกลือหรือหล่อด้วยเหล็ก ตรงกันข้ามคือนอกจากไขมันส่วนเกินที่แปะอยู่ตามเนื้อตัวมากมาย, ท่าวิ่งผิดมาตรฐานในบางคราวหรือพฤติกรรมการกินที่แทบไม่เอื้อให้ร่างกายได้หาพลังงานไปผลาญ ถึงที่สุดก็น่าจะพูดได้เต็มปากว่า หากปราศจากการวิ่ง ชีวิตน่าจะหัวคะมำลงเหวกว่านี้มาก และอาจลงเอยเป็นปุ๋ยหมักของที่ไหนสักแห่งไปแล้ว

มันอะไรขนาดนั้น -หลายคนคงตั้งคำถาม

แต่เรื่องของเรื่องคือ ไม่ว่าจะในการวิ่งครั้งไหน ถึงที่สุดสิ่งหนึ่งที่การวิ่งมอบให้ผู้เขียนคือบทสนทนาที่เกิดขึ้นในหัวเมื่อโดดเดี่ยวตัวเองออกจากโลกภายนอก

สิ่งที่การวิ่งมอบให้ -พ้นไปจากความแข็งแรงของปอดและกล้ามเนื้อต่างๆ- คือโมงยามที่ทำให้ได้ทบทวนความคิดของตัวเอง ท่ามกลางเสียงหอบหายใจที่ดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ปราศจากเสียงพูดคุยรอบข้าง สองเท้าขยับก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ไม่เรียกร้องความละเมียดหรือสติมากมายไปกว่าการออกวิ่งให้ตรงทาง หัวสมองจึงกลายเป็นพื้นที่โล่งกว้าง บางครั้งดึงเอาเรื่องราวตรงหน้าเข้ามาสนทนา -มิตรสหายที่วิ่งห่างออกไปไม่กี่เมตร พวกเขาตื่นกันกี่โมงนะ, กระรอกน้อยตัวนั้นอายุเท่าไหร่แล้ว มีใครตั้งชื่อให้มันหรือยัง ฯลฯ- บางครั้งดึงเอาเรื่องเก่าเก็บที่นามปกติเราเลี่ยงจะสบตาด้วย

มีหลายครั้งที่พยายามนึกทบทวนว่าอะไรทำให้การวิ่งเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่ผู้เขียนทำได้โดยไม่ปริปากบ่น (เว้นเสียแต่อาการตึงกล้ามเนื้อหรืออาการเจ็บแปลบจากแผลที่ฝ่าเท้าบางคราว) เงื่อนไขหนึ่งอาจเพราะเป็นคนเล่นกีฬาเป็นทีมไม่ได้ วิชาพละชั่วโมงใดก็ตามที่ต้องจับคู่หรือจับกลุ่มไม่ว่าจะตะกร้อ, บาสเก็ตบอล กลายเป็นนรกไร้ก้นบึ้ง กระทั่งวิชาลีลาศที่ต้องอาศัยสองคนขึ้นไปยังเกือบเอาชีวิต (ทั้งของตัวเองและคู่เต้น) ไม่รอด ดังนั้น คำตอบเดียวที่พอจะมองเห็นได้ชัดคือ การวิ่งนั้นเป็นกิจกรรมตัวคนเดียว มันไม่เรียกร้องอะไรมากมาย เปิดพื้นที่ให้เราครุ่นคิดเดียวดายเพียงลำพัง เงียบเชียบอยู่ในลมหายใจของตัวเอง

บ่อยครั้งระยะทางที่วิ่งก็เป็นตัวกำหนดหัวข้อสนทนาในกะโหลก ห้ากิโลเมตรนั้นเป็นระยะทางที่ไม่มากนัก เสียงสนทนาในหัวมักเต็มไปด้วยเรื่องราวสดใหม่ ภาพยนตร์ที่เพิ่งได้ดู ข่าวคราวที่ได้อ่าน ใครสักคนที่วิ่งแซงหน้าไป ขณะที่หากลากยาวไปที่สิบหรือบางคราวก็ 12 กิโลเมตร บทสนทนาที่ปรากฏมักแตกต่างออกไป หากวิ่งให้นานพอ มันย่อมบีบบังคับให้เราสบตาเรื่องที่ปฏิเสธมันมาโดยตลอด ความแค้นเคือง ความอึดอัดใจ ไปจนลูบบาดแผลเก่าแก่ที่รอวันสมาน แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจะหยิบขึ้นมาสนทนากับตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแต่โมงยามของความคิดส่วนใหญ่ในชีวิตหมดไปกับงานที่ทำ หนังที่ดู เพลงที่ฟัง ยิ่งกับในช่วงชีวิตเช่นนี้ที่โทรศัพท์แทบไม่เคยห่างจากมือ แทบไม่มีช่องสัญญาณใดว่างพอให้เสียบปลั๊กเพื่อใช้สมาธิกับตัวเอง ห้วงขณะสั้นๆ ของการวางโทรศัพท์ ปราศจากกิจกรรมอื่นใดนอกจากสาวเท้าไปข้างหน้าเป็นจังหวะสม่ำเสมอ จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เปิดพื้นที่ให้ได้คุยกับตัวเองเสียบ้าง 

สำหรับบางคน น่าจะอนุมานได้ว่าช่องสัญญาณเช่นนี้จะปรากฏตัวขึ้นในรูปแบบของการทำความสะอาดบ้านหรือทำอาหาร ห้วงเวลาที่ได้จัดระเบียบ เรียบเรียงความคิดในหัว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทำในตอนที่นั่งนิ่งๆ ก็ย่อมได้ หากก็พอจะมีเหตุผลมารองรับพฤติกรรมการ ‘ไม่อยู่นิ่ง’ ระหว่าง ‘ครุ่นคิด’ ของมนุษย์ผ่านงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2014 ที่ระบุว่าเมื่อเกิดการขยับตัว สมองจะส่งสัญญาณหลั่งสารบางอย่างที่เชื่อมร้อยระบบประสาทยุ่งเหยิงเข้าด้วยกัน กล่าวอีกอย่าง การขยับขับเคลื่อนร่างกายน่าจะสร้างสมดุลให้หัวสมองที่เต็มไปด้วยเสียงสนทนาพูดคุยขณะเรียบเรียงความคิด และสำหรับผู้เขียน ไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่าการวิ่งย่อมเป็นช่องสัญญาณที่ดีที่สุดสำหรับการเปิดพื้นที่ให้ตัวละครในสมองได้แลกเปลี่ยนกัน

ยิ่งกับคนทำงานเขียน บ่อยครั้งเรามักวิ่งชนกำแพงของถ้อยคำ ไม่ว่าจะเพียรพยายามควานหาในมหาสมุทรของคลังคำมากแค่ไหนก็กลับมามือเปล่า ถูกปิดประตูใส่หน้า หาคำจบลงประโยคไม่ได้ ปล่อยค้างคาไว้เช่นนั้นเหมือนคนทำอาหารที่ไปได้แค่ครึ่งทางแล้วแก๊สหมด ไอร้อนลาจากกระทะ เนื้อข้างในยังไม่สุกพอจะกินได้แต่ก็มาไกลเกินกว่าจะยัดกลับเข้าตู้เย็นอีกหน เป็นภาวะค้างเติ่งที่ก็ต้องถูลู่ถูกังหาทางลงให้กันไป บางคราวจำใจกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ลงท้ายประโยคด้วยคำห้วนสั้นแข็งกระด้าง

อย่างไรก็ตาม การวิ่ง -ไม่ว่าจะวิ่งลู่หรือวิ่งพื้นราบ- พาผู้เขียนไปเจอบางถ้อยบางคำที่ซุกซ่อนเร้นลับอยู่ตรงไหนสักแห่งของมหาสมุทร บ่อยครั้ง ประโยคห้วนๆ ที่ตื้อตันหาทางปิดไม่ลงนานเป็นวัน จบลงได้ง่ายๆ เมื่อร่างกายขยับเข้าสู่กิโลเมตรที่ห้าหรืออาจจะเร็วกว่านั้น ให้ภาพคล้ายการเรียงตัวของคำมากมายที่ปรากฏตัวขึ้นแจ่มชัดในหัว บางคำที่ไม่เคยแม้แต่จะแวบคิดถึงตอนที่นั่งอยู่หน้าแป้นพิมพ์ เสนอตัวให้เห็นอย่างว่าง่าย คล้ายสายรุ้งที่เขม้นตาเฝ้ารอมาทั้งวันปรากฏตัวขึ้นหลังฝนตก ภาระหน้าที่เดียวคือต้องจำท่วงทำนองและคำเหล่านั้นจากสนามวิ่งกลับมายังบ้านให้ได้แค่นั้น 

กล่าวกันอย่างหยาบๆ โมงยามไหนที่แน่ชัดแล้วว่าการนั่งอยู่หน้าแป้นพิมพ์ไม่ใช่คำตอบ การหันไปคว้ารองเท้าออกวิ่งก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุด ก็จริงที่ว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้ ‘ประโยค’ ที่ถูกใจกลับมา แต่ถึงอย่างนั้น การออกวิ่งเพื่อตามล่ามันในเขาวงกตของคำนั้นก็น่าจะได้ผลมากกว่าการนั่งเฉยๆ แล้วรอให้มันปรากฏตัวขึ้นเอง ที่เหลือ หากยังจะพอมีโชคบ้าง ถ้อยคำ ห้วงคำนึง หรือความทรงจำเก่าเก็บอาจยอมโผล่หน้ามาให้ได้สบตาบ้างถ้าวิ่งได้นานพอ

ไม่แน่ใจว่าหากพ้นจากระยะ 12 กิโลเมตรแล้ว ห้วงคิดจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากแค่ไหน ถ้อยคำมากมายที่ต้องใช้ในการทำงานจะยังปรากฏตัวหรือไม่ หรือจะเป็นเรื่องอื่นใดในชีวิตที่เป็นฝ่ายปรากฏตัวเข้ามา คงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องหาทางทำความเข้าใจเอาเองเมื่อวิ่งได้ไกลกว่าเดิมในวันใดวันหนึ่ง อะไรจะผุดพรายขึ้นมาเหนือน่านน้ำของความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่กับห้วงคิดของตัวเองตลอดทั้งระยะทางหลายชั่วโมง มีอะไรที่รอ ‘สบตา’ กันอยู่อีกบ้าง 

นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาตอบแทนให้ได้ และไม่ใช่เรื่องที่จะหาคำตอบเอาได้โดยง่ายในวันสองวันอีกเช่นกัน

หากจะค้นพบคำตอบนั้น เรามีแต่เพียงต้องวิ่ง ออกวิ่ง วิ่งต่อไปให้ไกลขึ้น อยู่กับตัวเองเพียงลำพังให้นานพอ จนถึงจุดหนึ่งที่ห้วงคำนึงเหล่านั้นจะยอมปรากฏตัวในโมงยามที่เราแสนจะโดดเดี่ยวอย่างถึงที่สุดนั่นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save