fbpx

เมื่อซอฟต์พาวเวอร์ ‘ราชวงศ์วินด์เซอร์’ แผ่ว จนมิอาจต่อสายใยบางประเทศในเครือจักรภพ

แม้อังกฤษจะไม่มีข้าวเหนียวมะม่วงหรือผัดไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่อำนาจละมุนของอังกฤษก็มีหลากหลาย เช่น ค่านิยมเสรีนิยมประชาธิปไตย, สื่อมวลชนอิสระ, สถาบันการศึกษาดังๆ ระดับโลก ไปจนถึงวงเดอะบีเทิลส์, เอลตัน จอห์น, เจมส์ บอนด์, มิสเตอร์บีน, แฮร์รี่ พอตเตอร์ และฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

นอกจากนี้ ราชวงศ์วินด์เซอร์ยังเป็นที่ยอมรับกันทางสากลว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอำนาจอันทรงพลังยั่งยืนแข็งแกร่งมายาวนานต่อเนื่อง ดูได้จากซีรีส์อย่าง The Crown ของเน็ตฟลิกซ์ที่โด่งดังอย่างมาก แม้ว่าในทางประวัติศาสตร์ ราชวงศ์อังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมจะปฏิบัติตัวไม่น่ารื่นรมย์นัก

ยิ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไปในช่วงปีหลังๆ นี้ เกิดกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงขึ้น ทำให้สายสัมพันธ์และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในเครือจักรภพ (Commonwealth) ที่เคยชื่นชมจงรักภักดีต่อราชวงศ์วินด์เซอร์และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีท่าทีถดถอยแผ่วบางลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่เริ่มมีทัศนะแตกต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว 

ท่าทีที่เด่นชัดล่าสุด เห็นได้จากการชุมนุมประท้วงของประชาชนจำนวนหนึ่งในประเทศจาเมกาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่เจ้าชายวิลเลียมและพระชายาแคเธอรีน ในฐานะผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ มีหมายกำหนดการเสด็จเยือนจาเมกาอย่างเป็นทางการ ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีเสด็จขึ้นครองราชย์ (Queen Platinum Jubilee) และวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการได้เอกราชของจาเมกา มีกลุ่มผู้ประท้วงนัดชุมนุมหน้าสถานทูตอังกฤษในกรุงคิงส์ตัน เมืองหลวงของประเทศจาเมกา เรียกร้องให้ผู้แทนของสมเด็จพระราชินีนาถแสดงความสำนึกผิดในเหตุการณ์ค้าทาส และชดเชยค่าเสียหายให้แก่ลูกหลานของทาสที่เรียกร้องขอความเป็นธรรม

ถอยหลังกลับไปในยุคล่าอาณานิคมตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 พ่อค้าและขุนนางจากยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษใช้กำลังบังคับอพยพชาวแอฟริกันผิวดำจากทวีปแอฟริกา มาใช้แรงงานเป็นทาสไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในดินแดนเกาะแก่งหลายแห่งของแคริบเบียน โดยมีจาเมกาเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลหลัก

ถึงอย่างนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์วินด์เซอร์กับประชาชนหลายประเทศในเครือจักรภพก็มีความอบอุ่นหวานชื่นกันมานาน หลังจากประเทศเหล่านี้ได้เอกราช ทั้งในแอฟริกาและแคริบเบียน อย่างจาเมกา มีชาวอังกฤษทำมาหากินอยู่ถึง 50,000 คน และมีชาวจาเมกาทำมาหากินในอังกฤษถึง 800,000 คน บางคนประสบความสำเร็จมีฐานะโด่งดังในสังคมอังกฤษ เป็นดาราทีวีดังๆ หรือเป็นดาวเด่นในวงการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เช่น ราฮีม สเตอร์ลิง (Raheem Sterling) นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ บ้างก็เป็น ส.ส. และได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี, บางคนได้รับเครื่องราชย์ฯ ถึงชั้นอัศวิน (Most Excellent Order of the British Empire) หรือเป็นสมาชิกสภาขุนนางก็มี นักร้องดังระดับโลกเช่น บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) ก็เป็นชาวจาเมกาที่มาสร้างเนื้อสร้างตัวในอังกฤษเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกในหลายพื้นที่ของประเทศอดีตอาณานิคมก็เปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัยของประชากร เมื่อคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า ปี 2020 เกิดกระแส Black Lives Matter แผ่กระจายไปทั่วโลกจนมีการโค่นล้มอนุสาวรีย์พ่อค้าทาสที่เมืองบริสตอลในอังกฤษ ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ในประเทศอดีตอาณานิคมจึงไม่เหมือนกับคนรุ่นพ่อแม่ของเขา ดังนั้นหมายกำหนดการเยือนแคริบเบียนของเจ้าชายวิลเลียมและพระชายาจึงพบกับกระแสต่อต้าน แตกต่างไปจากยุคสมัยที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธและเจ้าชายฟิลิปเคยเสด็จเยือนหลายครั้งหลังจากที่ประเทศเหล่านี้ได้เอกราชใหม่ๆ 

นักสังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า หากสมเด็จพระราชินีนาถส่งเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล พระชายา เป็นตัวแทนพระองค์ ออกตระเวนเสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพเหล่านี้ บรรยากาศการต้อนรับจากประชาชนเครือจักรภพอาจจะมีกระแสต่อต้านน้อยกว่า เพราะโลกทัศน์ของเจ้าชายแฮร์รี่ที่แสดงการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความหลากหลายทางสีผิว อีกทั้งมีท่าทีเป็นกันเอง ไม่เคร่งครัดเรื่องพิธีการที่รุงรังแบ่งชนชั้น อีกทั้งพระชายาก็มีเชื้อสายคนผิวดำ ทั้งนี้นักสังเกตการณ์ยังเชื่อว่าเจ้าชายแฮร์รี่และพระชายา น่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันเป็นที่ยอมรับในหมู่คนรุ่นใหม่ในประเทศอดีตอาณานิคมมากกว่า 

ในงานเลี้ยงรับรองที่รัฐบาลจาเมกาจัดถวายระหว่างหมายกำหนดการเยือนครั้งนี้ เจ้าชายวิลเลียมมีพระดำรัสว่า พระองค์ทรงมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประวัติการค้าทาสที่เลวร้ายของชาวอังกฤษ ความเลวร้ายนี้ไม่ควรเกิดขึ้น มันจะเป็นบาดแผลที่เปื้อนประวัติศาสตร์ของอังกฤษตลอดไป พระองค์มีพระดำรัสด้วยว่าอังกฤษจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลจาเมกาที่ประกาศว่าจะเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ โดยยกเลิกระบบที่ยังคงมีสมเด็จพระราชินีนาถเป็นประมุขแห่งรัฐ 

เจ้าชายวิลเลียมและพระชายาในงานเลี้ยงรับรองโดยรัฐบาลจาเมการะหว่างเสด็จเยือนประเทศในแคริบเบียน (ที่มาภาพ)

แอนดรูว์ ฮอลเนส (Andrew Holness) นายกรัฐมนตรีจาเมกา ทูลว่า จาเมกามีความตั้งใจที่ก้าวสู่ความเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ ด้วยการยกเลิกสถานะประเทศที่อยู่ใน Commonwealth Realm (ราชอาณาจักรในเครือจักรภพ) ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากจาเมกาได้เอกราชทางการเมืองจากอังกฤษมายาวนานถึง 60 ปีแล้ว แต่ยังคงมีสมเด็จพระราชินีนาถเป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ว่าในทางภาคปฏิบัติแล้วพระองค์เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ โดยรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งจากประชาชนจาเมกามีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศอย่างเป็นอิสระเช่นประเทศเอกราชทั่วไป 

เมื่อปีที่แล้ว บาร์เบโดส เป็นประเทศล่าสุดที่ถอนตัวออกจาก Commonwealth Realm เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประเทศสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์ ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแทน โดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จไปร่วมพิธีเป็นสักขีพยาน และร่วมแสดงความยินดีกับชาวบาร์เบโดสด้วย โดยในวาระดังกล่าวก็เป็นครั้งแรกที่สมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์กล่าวถึงการค้าทาส โดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มีพระดำรัสอย่างเป็นทางการยอมรับว่าภารกิจการค้าทาสเป็นธุรกิจแห่งความเลวร้าย โหดเหี้ยม เป็นรอยเปื้อนอัปยศในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ 

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในงานเฉลิมฉลองการเปลี่ยนระบบการปกครองสู่สาธารณรัฐของประเทศบาร์เบโดส (ที่มาภาพ)

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สอง นอกจากเป็นประมุขแห่งรัฐของสหราชอาณาจักรแล้ว ยังทรงเป็นกษัตริย์ของอีก 14 ประเทศที่เรียกว่า Commonwealth Realm ด้วย อย่างเช่น แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ตูวาลู, ปาปัวนิวกินี, เบลีซ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ได้รับเอกราชหมดแล้ว แต่ยังคงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ รวมแล้วมีพสกนิกรในสมเด็จพระราชินีนาถทั่วโลกประมาณ 150 ล้านคน ที่ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ในปีนี้ 

Commonwealth Realm เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติ ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาก็มีพระเจ้าจอร์จที่หกและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเท่านั้นที่เป็นประมุขแห่งรัฐ อย่างไรก็ตามทุกประเทศที่ถอนตัวออกจาก Commonwealth Realm ต่างก็ยังคงเป็นสมาชิกของประเทศในเครือจักรภพทั้งสิ้น 

ความผูกพันระหว่างประเทศในเครือจักรภพและสถาบันกษัตริย์อังกฤษเห็นได้จากการจัดการแข่งขัน Commonwealth Games โดยปีนี้อังกฤษได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่เมืองเบอร์มิงแฮม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลอง Queen Platinum Jubilee ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 

Commonwealth Realm ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Commonwealth of Nations หรือที่เราเรียกว่าเครือจักรภพ ที่ขณะนี้ยังมีประเทศสมาชิกรวมกันถึง 54 ประเทศ รวมประชากรได้ประมาณ 2.6 พันล้านคน หรือประมาณ 1/3 ของประชากรทั่วโลก โดยมีอินเดียเป็นประเทศสมาชิกที่มีประชากรสูงสุด ตามด้วยปากีสถานและไนจีเรีย จึงไม่แปลกนักที่มีคนกล่าวว่า แม้อังกฤษได้สูญเสียสถานะความเป็นประเทศมหาอำนาจและเจ้าอาณานิคมไปแล้วกว่า 60 ปี แต่อังกฤษยังมีซอฟต์พาวเวอร์ทางด้านอิทธิพลทางการทูต ผ่านสายใยความเชื่อ ความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องมีอำนาจทางการเมืองหรือกฎหมายใดๆ มาบังคับ แม้ขณะนี้ถือว่าซอฟต์พาวเวอร์กำลังถูกท้าทายจากกระแส BLM และทัศนคติที่เปลี่ยนไปในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับเยาวชนที่ทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมจากประเทศในเครือจักรภพ
เนื่องในวันเยาวชนสากลปี 2019 (ที่มาภาพ)

ศาสตราจารย์ฟิลิป เมอร์ฟี (Philip Murphy) ผู้อำนวยการ Institute of Commonwealth Studies นักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในยุโรป ได้มีข้อเสนอแนะถึงวิธีการที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ธำรงไว้ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 

1. remain politically neutral: รักษาความเป็นกลางอยู่เหนือการเมืองไว้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่กษัตริย์ถูกดึงให้ลงไปแทรกแซงทางการเมืองหรือถือหางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็มักจะพบกับการต่อต้านทั้งบนดินและใต้ดิน ยกตัวอย่างกษัตริย์ของเดนมาร์กในปี 1920 และกษัตริย์เบลเยียมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองพระองค์สูญเสียความน่าเชื่อถือและความศรัทธาในหมู่ประชาชน ซึ่งเมอร์ฟีกล่าวว่า กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญควรอยู่เหนือการเมืองและปฏิบัติตามข้อแนะนำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

2. avoid scandals or any hint of corruption: หลีกเลี่ยงเรื่องอื้อฉาว ไร้กลิ่นคอร์รัปชัน ซึ่งเมอร์ฟี ยกตัวอย่างกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่หนึ่งแห่งสเปน (Juan Carlos I) ที่ถูกกล่าวหาเรื่องรับเงินใต้โต๊ะโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในซาอุดิอาระเบีย ต่อมามีเรื่องอื้อฉาวทางเพศ ทำให้ต้องสละราชสมบัติ หรือกรณีเจ้าชายแอนดรูว์แห่งอังกฤษที่มีข่าวอื้อฉาวทางเพศ และคบค้ากับนักค้ามนุษย์เจฟฟรี เอฟสตีน 

3. keep the team small:  ขนาดและจำนวนของสมาชิกราชวงศ์ที่รับเงินภาษีประชาชน ยิ่งมีขนาดใหญ่มีจำนวนมากย่อมมีความเสี่ยงทำให้เกิดเสียงตำหนิติเตียน เสี่ยงต่อพฤติกรรมที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อความรักความศรัทธา และปัญหาค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระต่อประชาชน สถาบันกษัตริย์ในนอร์เวย์ลดจำนวนสมาชิกราชวงศ์ที่รับเงินหลวงลงเหลือเพียงสี่พระองค์ ในสวีเดนพระมหากษัตริย์ทรงตัดสินพระทัยตัดพระนัดดาออกจากบัญชีรับเงินหลวงไปห้าพระองค์ อย่างไรก็ตาม ทั้งนอร์เวย์และสวีเดน เป็นประเทศเล็กมีจำนวนประชากรน้อย ในประเทศใหญ่ที่มีประชากรมากอย่างอังกฤษ จำนวนสมาชิกราชวงศ์อาวุโสจะมีมากกว่า 

4. understand better the plight of minor royals and allow them a means of escape, and equip them to enter careers commensurate with their abilities: ต้องทำความเข้าใจและให้ความเห็นใจปัญหาของสมาชิกราชวงศ์ระดับรองๆ ลงมา เพราะถึงแม้จะดูว่าเป็นผู้มีอภิสิทธิ์ แต่สมาชิกราชวงศ์เหล่านี้ถูกจำกัดขอบเขตเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตครอบครัวเหมือนประชาชนทั่วไป ทั้งทางเลือกในวิชาชีพ ทางเลือกในการหาคู่ครอง ถูกกฎเกณฑ์ประเพณีกดทับ อีกทั้งยังเป็นเป้าของสื่อมวลชนที่มักจะแทรกแซงชีวิตส่วนตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าชายแฮร์รี่และพระชายา เมแกน มาร์เคิล เป็นต้น จึงสมควรให้การสนับสนุนสมาชิกราชวงศ์เหล่านี้ให้มีทางเลือกทางการประกอบวิชาชีพและการเลือกใช้ชีวิตครอบครัว

5. although hereditary, the monarchy is accountable, just like any other public institution: แม้ว่าการสืบทอดฐานะราชบัลลังก์ของสถาบันกษัตริย์ดำเนินตามสายโลหิตและราชประเพณี แต่สถาบันกษัตริย์ก็เหมือนสถาบันทางสาธารณะอื่นๆ ต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ อย่างกรณีที่เห็นได้ชัดคือกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่หนึ่งแห่งสเปน ซึ่งขณะนี้ลี้ภัยในต่างประเทศ ต้องตกอยู่ภายใต้ขบวนการสอบสวนหลายคดี ความจริงแล้วทั้งอดีตและปัจจุบันมีตัวอย่างให้เห็นว่ากษัตริย์ในยุโรปหลายพระองค์ต้องสูญเสียราชบัลลังก์ เพราะทรงมีพฤติกรรมทั้งที่ผิดกฎหมายและผิดมาตรฐานศีลธรรม-จริยธรรม อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกษัตริย์ของลักเซมเบิร์กและเบลเยียม ส่วนกรณีของกษัตริย์ฆวน การ์ลอสที่หนึ่ง รัฐบาลสเปนมิได้บีบบังคับให้สละราชสมบัติก็จริง แต่มติมหาชนชาวสเปนถึง 2 ใน 3 ชี้ว่าไม่ยอมรับกษัตริย์ที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียแบบนั้น

สื่อมวลชนในยุโรปมักจะสำรวจความคิดเห็นประชาชนเป็นระยะๆ ว่า ผู้คนในประเทศยังคงชื่นชม ศรัทธา สนับสนุนสถาบันฯ หรือไม่อย่างไร ซึ่งผลสำรวจมักพบว่าคนในยุโรปส่วนใหญ่ประมาณ 60-80% ยังคงมีความรักความเชื่อถือสถาบันกษัตริย์ของตนอยู่

ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ประเทศในยุโรปถึง 9 ประเทศได้จัดทำให้มีการลงประชามติว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงต้องการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ต่อไปอีกหรือไม่ ปรากฏว่ามีสองประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไป นั่นคือ อิตาลีและกรีซ ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ในสเปนลงประชามติให้รื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับมา หลังจากที่ถูกปกครองด้วยระบอบฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโกมานาน สำหรับประเทศอังกฤษ สื่อมวลชนมีการสำรวจความนิยมต่อสถาบันฯ อยู่เป็นระยะๆ แต่ส่วนใหญ่ถึง 80% ยังคงชื่นชมศรัทธาราชวงศ์วินด์เซอร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย 

ในวาระเฉลิมฉลองปี Queen Platinum Jubilee นี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า อารมณ์ความรู้สึกของพสกนิกรส่วนใหญ่ยังมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถอยู่ ทั้งนี้ เราได้เคยเห็นกระแสความชื่นชมจงรักภักดีในหมู่ชาวอังกฤษ เมื่อครั้ง Diamond Jubilee สิบปีที่แล้ว และเราก็คงจะเห็นจากงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีในปีนี้ เมื่อมีงานสมโภชสำคัญทั่วประเทศในเดือนมิถุนายนที่ใกล้จะถึง คงเป็นเพราะพระจริยวัตรที่งดงามและวัตรปฏิบัติอยู่เหนือการเมืองที่ประชาชนยกย่องศรัทธา แม้จะมีสมาชิกราชวงศ์บางพระองค์มีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม ซึ่งย่อมจะกระทบกระเทือนต่อซอฟต์พาวเวอร์ของราชวงศ์วินด์เซอร์ทั้งในและต่างประเทศ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save