fbpx
สถานการณ์ยังเป็นปกติบนความอัปลักษณ์ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ยังเป็นปกติบนความอัปลักษณ์ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

ในเบื้องต้นผมอยากขอสารภาพบางอย่างก่อนว่า หนังสือเล่มที่ผมกำลังจะเขียนถึงนี้ เป็นหนังสือที่ผมซื้อมานอนกองไว้บนโต๊ะทำงานผมร่วมปีแล้วและผมไม่มีโอกาสได้อ่านมันสักที

ผมจำได้ว่า ผมเลือกซื้อหนังสือเล่มนี้มา เพราะเคยได้รับคำแนะนำจากเพื่อนฝูงหลายๆ ท่านให้ลองหาผลงานของ สมุด ทีทรรศน์ อ่าน เพราะเขาคือนักเขียนไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจคนหนึ่งในรอบหลายปีนี้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จนแล้วจนรอดผมก็ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปเป็นปีแล้ว… ดังนั้นผมอาจไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ในฐานะที่มันคือความสดใหม่ของวรรณกรรมไทยในปีนี้ แต่ก็อาจเข้าใจได้ว่า “สถานการณ์ยังเป็นปกติ” คือผลผลิตช่วงหนึ่งของวรรณกรรมไทยในครึ่งแรกของทศวรรษ 2560 ที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

“สถานการณ์ยังเป็นปกติ” เป็นผลงานของ สมุด ทีทรรศน์​ ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้มีผลงานอย่าง “ก่อนความหมายจะหายลับ” และชื่อ สมุด ทีทรรศน์ ยังเป็นนามปากกาของ จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร ผู้เคยได้รับรางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมของกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ซึ่งถือเป็นรางวัลสำคัญของบรรดานักวิจารณ์วรรณกรรมในสังคมไทยถึง 3 ครั้ง ด้วยผลงานวิจารณ์วรรณกรรมอันหลากหลายและแหลมคมของเขา เช่น วรรณกรรมดำดิ่ง

“สถานการณ์ยังเป็นปกติ” เป็นเรื่องสั้น 8 เรื่องที่เล่าจากฉากเดียวกัน คือ “เมืองธรรมดา” ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่ธรรมดา และเพราะมีแต่ความไม่ธรรมดา ผิดปกติ ผิดเพี้ยน การเป็น “เมืองธรรมดา” จึงเสียดสีความไม่ปกติในการดำรงอยู่ของเมืองธรรมดา ความผิดเพี้ยนทั้งหลายประดามีนั้นถือได้ว่าเป็นความปกติของเมืองนี้ และเมื่อมันดำเนินต่อไปก็ไม่ถือว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะมันเพี้ยนเป็นปกติอยู่เช่นนั้นเอง

ประเด็นที่น่าสนใจประการแรก คือ เมืองธรรมดาที่ปรากฏอยู่ใน “สถานการณ์ยังเป็นปกติ” ไม่ใช่แค่เมืองที่ดำรงอยู่ในทางกายภาพ หรือมีขนาด ความหนาแน่น ปริมาณ ผู้คน สถานที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงเมืองที่อยู่ในความคิด อยู่ในจินตนาการของผู้คนและมีบทบาท/อำนาจต่อความคิดของผู้คนตลอดเวลาไม่ว่าคนในเมืองธรรมดาจะไปอยู่ที่ไหน เราอาจเรียกได้ว่า พรมแดนของเมืองธรรมดานั้น ‘กินพื้นที่’ เข้าไปอยู่ในความคิดและจินตนาการของผู้คนด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นเมืองที่ ‘ติดตัว’ ผู้คนไปทุกๆ ที่

“เมืองธรรมดา” ในรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง ปมของตัวละครที่โยงใยกันอย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางในเชิงกายภาพทางภูมิศาสตร์ของตัวเรื่องทุกๆ เรื่องด้วย เพราะตัวละครต่างๆ ตลอดจนปมนั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองธรรมดา ทั้งเป็นคนที่ทำงานอยู่ในเมืองธรรมดา เป็น ‘คนอื่น’ ที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองธรรมดา เป็นชาวเมืองธรรมดาที่ต้องอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น เป็นชาวเมืองธรรมดาที่มีปมบาดแผลอยู่ในจิตใจของตนเองและส่งต่อปมนั้นจากรุ่นสู่รุ่น

ประเด็นเรื่อง ‘คนอื่น’ ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละครกับ “เมืองธรรมดา” ได้อย่างน่าสนใจ เพราะเมืองธรรมดาเป็นเมืองที่มีลักษณะเป็น ‘ศูนย์กลาง’ หรือเป็นเมืองที่ ‘รวมศูนย์’ เอาไว้ มันได้ดึงดูดผู้คนจากหลากหลายที่เข้ามาอยู่ในเมืองเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “ครอบครัวของมายา” ที่ตัวละคร “มายา” เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน (ภาษาสุภาพของคำว่า ‘คนรับใช้’) ของครอบครัวหนึ่งในเมืองธรรมดา

มายาคือตัวละครที่โหยหาความสัมพันธ์ที่มั่นคงแบบครอบครัว ซึ่งเธอไม่อาจหามันได้ในเมืองธรรมดานี้ เพราะมายาเป็นคนต่างถิ่น เป็นคนอื่น และเป็น ‘คนตะวันออก’ เจ้านายของมายานั้นควบคุมมายาด้วยความเชื่อเรื่องผี ซึ่งในตัวเรื่องกล่าวไว้ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยในการกำกับและควบคุม ‘คนตะวันออก’

การเป็น ‘คนอื่น’ ในเรื่องสั้น “ครอบครัวของมายา” นั้น ก็คือการเป็น ‘คนตะวันออก’ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สมุดได้เสนอเอาไว้ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้อยู่หลายเรื่องด้วยกัน ‘คนตะวันออก’ และ ‘ความเป็นตะวันออก’ ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด เสนอเอาไว้ในงานศึกษาอันลือลั่นของเขา คือ Orientalism หรือ “บูรพคดีนิยม” ข้อเสนอของซาอิดนั้นคือการศึกษากระบวนการประกอบสร้างวาทกรรมความเป็นตะวันออกโดยคนตะวันตก กล่าวคือ ความรู้เกี่ยวกับความเป็นตะวันออก เป็นสิ่งที่ถูก ‘สร้างขึ้น’ โดยชาวตะวันตก ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เดิมในความเป็นตะวันออกนั้นเอง

เมื่อแนวคิดเรื่องบูรพคดีนิยม คือการศึกษาความเป็นตะวันออกผ่านแว่นตาของชาวตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคม ดังนั้นสายตาที่เจ้าอาณานิคมมองมาที่ชาวตะวันออกจึงมองด้วยสายตาแบบเจ้าเหนือหัวมองทาส ภาพความเป็นตะวันออกคือคู่ตรงกันข้ามของความเป็นตะวันตก และเมื่อเจ้าอาณานิคมมองตนเองว่ามีความเหนือกว่า ศิวิไลซ์กว่า ภาพของพวกอาณานิคมก็คือความด้อยกว่า ความเป็นตะวันออกคือความป่าเถื่อน โหดร้าย ไร้อารยธรรม แต่ก็มีความสัมพันธ์กับความเป็นตะวันตกในฐานะที่ความเป็นตะวันออกคือ ‘ตะวันตกที่ยังไม่พัฒนา’ หรือกล่าวได้ว่า ความเป็นตะวันออกคืออดีตอันไกลโพ้นของตะวันตกเอง เป็นอู่อารยธรรมของตะวันตกแต่ยังด้อยกว่าในทุกๆ ด้าน

ข้อเสนอของซาอิดดังกล่าวคือกรอบคิดสำคัญของนักวิชาการที่สนใจศึกษาประเด็น ‘หลังอาณานิคม’ เพื่อนำมาอธิบายกระบวนการสร้างความหมายของตะวันออกโดยตะวันตก หรือกล่าวให้ถึงที่สุด มันคือการวิพากษ์ความเป็นศูนย์กลางของยุโรปในช่วงอาณานิคมนั่นเอง นอกจากนี้ กรอบคิดดังกล่าวยังถูกนำมาใช้โต้กลับการครอบงำทางอัตลักษณ์ที่ตะวันตกมีเหนือตะวันออก ดังนั้นมันจึงสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ด้วย

เราอาจนำกรอบคิดที่ว่ามาอธิบายกระบวนการทางสังคมที่มีการรวมศูนย์กลางอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วพยายามสร้างความหมายและประกอบสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันผ่านอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมเพื่อครอบงำภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ต่อมาอำนาจในการสถาปนาความหมายทางการเมืองและวัฒนธรรมนี้เองได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลในฐานะอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น แต่ก็ไม่รู้สึกว่าอัตลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดให้มานั้นเป็นสิ่งที่เข้ากันได้กับปัจเจกบุคคล

ในเรื่อง “ครอบครัวของมายา” มีการอธิบายเอาไว้ว่า คนงานที่มาจากประเทศทางตะวันออกอย่างมายานั้นไว้ใจไม่ได้ สิ่งที่ช่วยควบคุมคนเหล่านี้ได้ก็คือความเชื่อเรื่องผี ดังที่เจ้านายพยายามขู่มายาตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ในสายตาของเจ้านายในเรื่องสั้นซึ่งมีสถานะเหมือน ‘เจ้าอาณานิคม’ นั้นเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจคนตะวันออก และคนตะวันออกยังถูกสร้างให้เข้าใจว่าเป็นคนที่ไม่รู้จักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ และเชื่อในเรื่องภูตผีที่ไร้เหตุผลมากกว่า

ประเด็นเรื่องของความเป็นตะวันออกยังปรากฏอยู่ในเรื่อง “วันพักร้อนของพนักงานคนหนึ่ง” ซึ่งเป็นเรื่องของพนักงานคนหนึ่งในเมืองธรรมดาที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเอาชั่วโมงไปแลกกับรางวัลพักร้อนเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อเขาได้รางวัลนั้น “รถไฟสุญญากาศความเร็วสูง” ก็ได้พาเขาไปยังสถานที่อันไกลโพ้น…ไกลกว่าสองหมื่นกิโลเมตร เมื่อเขาไปถึงก็ต้องแปลกใจว่าตนคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอาย ภาษา หรือผู้คนที่คุ้นกับเขามาก จนกระทั่งเขาได้พบกับ ‘คนพื้นเมือง’ ที่เป็นคนนำทางเขา ชื่อว่า “อี. ดับบลิว. ซาอิด” แน่นอนว่านี่คือความจงใจของสมุด ที่ใช้ชื่อของซาอิดมาเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องสั้นนี้

ความน่าสนใจในเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือ นอกจากการให้ ซาอิดเป็นตัวละคร ‘พื้นเมือง’ ที่ “รูปร่างสูง ล่ำสัน ผิวสีน้ำตาล ตัวเป็นมันด้วยเหงื่อไคล ผมสั้นเกรียนจนเห็นหนังหัว…” (หน้า 29) แล้ว ตัวเรื่องยังได้พูดถึง ‘การอพยพ’ หรือ ‘การพลัดถิ่น’ ซึ่งเป็นประเด็นของนักวิชาการ ‘หลังอาณานิคม’ สนใจศึกษากันอีกด้วย โดยตัวละครพนักงานที่ชื่อ “ที.เอ.ไอ ห้าสองเจ็ด” นั้นเป็นคนที่ ‘อพยพ’ ย้ายถิ่นจากเมืองที่เขากำลังไปเที่ยวพักร้อนอยู่นี้เอง ในบทสนทนาของเขากับซาอิดเมื่อครั้งแรกที่เจอกัน ซาอิดได้บอกว่าไม่มีคนจากเมืองของเขา (ซึ่งก็น่าจะเป็นเมืองธรรมดา) มาที่นี่นานแล้วหลังจากที่มีการอพยพไป

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ ก็คือ ถ้าหากเมืองที่พนักงานคนนี้ทำงานอยู่คือเมืองหลวง (หรือเมืองธรรมดา) ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนอพยพย้ายถิ่นเข้ามามากมาย รวมถึงคนจากเมืองของซาอิดด้วย ความเป็นเมืองหลวงได้ดูดเอาผู้คน ทรัพยากร รวมถึงความรู้ชุดต่างๆ เข้ามาไว้ในสถานที่เดียวกัน ดังนั้น เมืองหลวงจึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกัน อำนาจในการดูดกลืนของเมืองหลวงยังทำงานในรูปแบบของการกลืนกลาย นั่นคือการเปลี่ยนสิ่งที่ถูกดูดมาไว้ที่ศูนย์กลาง กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงและตัดขาดจากรากเหง้าเดิม ดังจะเห็นได้จากตัวละครพนักงานในเรื่องที่เขาเองก็ไม่ตระหนักถึงความเป็น ‘คนพลัดถิ่น’ ของตนเอง จนกระทั่งถูกกระตุ้นเตือนอีกครั้งจากการได้มาเยือนถิ่นฐานเก่าแม้จะเป็นสถานะที่แตกต่างไปก็ตาม

ตัวละครพนักงานไม่เพียงแต่ไม่ตระหนักถึงความเป็นคนพลัดถิ่นของตน แต่เขายังมองคนพลัดถิ่นอื่นๆ ที่อยู่ในเมืองหลวงด้วยความรู้สึกรังเกียจ คนพลัดถิ่นหรือผู้อพยพที่อยู่ในตัวเรื่องสั้นนี้ก็คือบรรดา “แมลงปีกแข็ง” นั่นเอง เพราะมันแพร่มาจากคนจรจัดที่อยู่รอบๆ เมือง ผู้เดินทางมาจาก “ดินแดนอันไกลซึ่งเขาเข้าใจว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความโสมมสารพัด” (หน้า 23) ความน่าสนใจอีกประการคือเขาตระหนักและเชื่อมโยงกับความเป็นคนพลัดถิ่นของเขาได้ผ่านการร่วมเพศกับซาอิด เราจึงอาจกล่าวได้ว่า การร่วมเพศระหว่างเขากับซาอิดนั้นเป็นการสลายอคติที่เขามีต่อผู้อพยพหรือผู้พลัดถิ่น หรืออาจอธิบายได้ว่า เรื่องเพศทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงเวลา ประวัติศาสตร์ รากเหง้าของคนได้เป็นอย่างดี เพราะมันคือการปลดปล่อยสัญชาตญาณของมนุษย์

นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาได้อีกประการว่า ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่นั้นถูกกักเก็บเอาไว้ในส่วนลึกที่สุดของจิตมนุษย์ นั่นคือจิตใต้สำนึก และเมื่อมันถูกท้าทาย ยั่วยุ การปลดปล่อยประวัติศาสตร์บาดแผลของผู้ถูกกดขี่นั้นก็ถูกนำเสนอออกมาผ่านเรื่องการร่วมเพศ ซึ่งเต็มไปด้วยความสุขสำราญที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยภาษาใดๆ เพราะมันคือการปลดปล่อยสิ่งที่ถูกอัดแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์นั่นเอง

ประเด็นเรื่องคนพลัดถิ่นและผู้อพยพนั้นยังอยู่ในเรื่องสั้น “คนของทะเล” อีกด้วย ตัวละครหญิงสาวในเรื่องเคยเป็นชาวเมืองธรรมดา แต่อพยพย้ายถิ่นออกมาเนื่องจากมีการกวาดล้างอย่างรุนแรง ต่อมาเธอพยายามกลับเข้าเมืองธรรมดา แต่เธอกลับมาก็ค้นพบว่าสภาพของเมืองธรรมดานั้นแตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง “ในอากาศยังคงมีกลิ่นแห่งความตายเจืออยู่ตามซากปรักหักพัง” (หน้า 84)

สุดท้ายเธอก็ต้องออกเดินทางไปจากเมืองธรรมดาอีกครั้งเพื่อไปทำมาหากิน แม้เมืองธรรมดาจะเป็นเมืองที่เธอเคยอาศัยอยู่ แต่เธอก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เมืองของเธอ ขณะเดียวกัน เมื่อเธอไปอยู่ไกลจากเมืองธรรมดา มันก็ได้สร้างความรู้สึกแปลกแยกให้กับตัวเธอเอง ในแง่หนึ่ง ความรู้สึก ‘พลัดถิ่น’ จึงเป็นสิ่งที่ติดตัวเธอไปในทุกๆ ที่ เธอไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับสถานที่แห่งใดเป็นพิเศษเลย สภาวะของตัวละครหญิงสาวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการพลัดถิ่นที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในโลกสมัยใหม่ นั่นคือความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่มีบ้าน ไม่มีความรู้สึกที่อยากจะฝังรากลึกอยู่สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

ในประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์นั้น เรื่องสั้น “เรื่องที่เล่าไม่ได้” มีความน่าสนใจในฐานะการวิพากษ์วิจารณ์วิธีการเขียนประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์ “เรื่องที่เล่าไม่ได้” นั้นพยายามชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของเรื่องเล่าที่ไม่อาจเล่าได้ทั้งหมด เพราะเรื่องเล่าต่างก็มีข้อจำกัดของตัวเองทั้งสิ้น และประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นเรื่องเล่าชุดหนึ่งก็มีข้อจำกัดนี้ด้วยเช่นกัน

บางครั้ง เรื่องที่เล่าไม่ได้ไม่ใช่เพราะติดขัดข้อจำกัดในเรื่องหลักฐาน แต่เพราะอำนาจในการเล่าและการให้ความหมายด้วย แง่หนึ่ง ผมเข้าใจว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า เรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสหลักนั้นมีอำนาจเหนือเรื่องประวัติศาสตร์ชุดอื่นๆ อยู่มาก แม้ว่าอำนาจดังกล่าวนั้นเป็นอำนาจที่เราไม่อาจมองเห็นผู้กระทำการของอำนาจนั้นๆ แต่กลับมีอิทธิพลอย่างรุนแรงที่ทำให้เรื่องประวัติศาสตร์ชุดอื่นๆ ‘ไม่สามารถเล่าได้’

ประเด็นอีกที่น่าสนใจอีกประการ คือ การนำเอาวรรณกรรมคลาสสิกมาตีความใหม่ เล่าใหม่ จะว่าคล้ายกับแฟนฟิคก็น่าจะใช่ แต่มันคือการตีความวรรณกรรมคลาสสิกใหม่ในวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่ง เช่นในเรื่อง “กลุ่มอาการของผู้มีปม” ที่นำเอาตัวละครรัชนีจากนวนิยาย “ปีศาจ” มาเล่าใหม่ด้วยการให้รัชนีลูกแล้ว แต่ยังคงมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคงดังเช่นในนวนิยายเรื่องปีศาจ หรือเรื่องสั้น “จนกว่าเราจะพบอดีต” เป็นการให้โกเมศ จากนวนิยาย “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ของ ศรีบูรพา มาเขียนจดหมายถึงตัวเองในอนาคต

วิธีการเล่าเรื่อง สมุด ทีทรรศน์ ไม่ได้พยายามใช้วิธีการหวือหวาอะไร เป็นการเล่าที่เรียบง่าย มีกลิ่นของวรรณกรรมแบบดิสโทเปียซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังในอนาคตของมนุษยชาติ โลกในเมืองธรรมดาเป็นโลกในอนาคตที่เต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว แม้จะมีนวัตกรรมมากมาย ดังจะเห็นได้จากรถไฟสุญญากาศที่มีทั้งความเร็วสูงและราคาถูก แต่ก็ยังคงมีประเด็นเรื่องของชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง

สิ่งที่น่าประทับใจก็คือ บรรดาความสิ้นหวัง พังทลายและความน่าหดหู่ของปัจเจกบุคคลนั้นสามารถเล่าได้โดยไม่ต้องใช้เทคนิคที่ทำให้ตัวละครแตกเป็นเสี่ยงแล้วเล่าแบบไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเทคนิคที่นักเขียนไทยร่วมสมัยชอบกันมาก แต่ทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง และเกิดความซับซ้อนโดยที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย

เมื่อเราอ่าน “สถานการณ์ยังเป็นปกติ” จนจบทั้งเล่มแล้ว เราอาจจะพบได้ว่ามันคือการเล่าถึงสังคมไทยในอีกมิติหนึ่ง อีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งลักษณะของสังคมไทยนั้นก็เป็นสังคมที่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพเหมือนกับเมืองธรรมดาที่เป็นศูนย์กลางของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เมืองธรรมดาเป็นที่มาของความผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว ภายใต้ความทันสมัยที่ผสมปนเปไปกับซากปรักหักพัง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของศีลธรรมอันดีงาม เพราะคณะรัฐบาลร่วมมือกับคณะสงฆ์ในการสถาปนาระเบียบของสังคม นอกจากนี้ ทั้งกรุงเทพและเมืองธรรมดายังมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับเจ้าอาณานิคม นั่นคือการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘คนอื่น’ และ ‘ความเป็นอื่น’ ด้วยสายตาแบบเจ้านายมองทาส

เมืองธรรมดาน่าฉงน บิดเบี้ยว พิลึกพิลั่นจนกลายเป็นความอัปลักษณ์ได้มากขนาดไหน ผมคิดว่า ‘ความเป็นกรุงเทพ’ ก็คงจะเป็นได้เช่นนั้น หรือไม่…ก็มากกว่านั้นหลายเท่าตัว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save