fbpx

The Silent Sea: Hyperobjects, Hybrid Species และการลงจอดบนโลกอีกครั้ง

ยากที่จะคาดเดาว่าโลกแอนโทรโพซีน (Anthropocene) จะนำเราไปสู่อะไร มีการคาดเดามากมายถึงการที่มันจะนำไปสู่หายนะของมนุษย์เองไม่ช้าก็เร็ว แต่กระนั้น ก็มีมนุษย์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าพวกเขาจะไม่ไปถึงวันนั้น หรือถึงแม้วันนั้นวันที่โลกเผชิญกับหายนะทางธรรมชาติและสังคมอย่างใหญ่หลวงจะมาถึง พวกเขาก็เชื่อว่ามนุษย์จะยังคงสามารถหาหนทางเอาตัวรอด และสร้างโลก (worlding) ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงโลก (planet Earth) ที่เราอาศัยอยู่นี้ขึ้นมาใหม่ได้

***** เนื้อหาส่วนนี้เปิดเผยบางส่วนของเรื่อง

โลกมนุษย์ใกล้กาลหายนะ

The Silent Sea ซีรีส์เกาหลีที่อิงอยู่กับวิทยาศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (science/climate fiction) ผูกโยงเรื่องราวกับแนวคิด ‘ทะเล’ และ ‘น้ำ’ ของดวงจันทร์ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นทางรอดและเป็นหนทางในการสร้างโลกใหม่ให้กับ ‘ชาติพันธุ์ฮันกุก’ และรวมไปถึงมนุษยชาติท่ามกลางสภาวะการขาดแคลนน้ำถาวรที่แผ่วงกว้างไปทั่วโลกได้

เราไม่รู้แน่ชัดนักว่าเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่องค์ประกอบต่างๆ ก็ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่ามันคงจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่ไกลออกไปนัก ภาวะขาดแคลนน้ำไม่ได้ดำรงอยู่ท่ามกลางสุญญากาศ หากแต่เชื่อมโยงกับปัญหาเชิงนิเวศอื่นๆ เช่นสภาวะแห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้น การล้มตายของพืชและสัตว์หลากสายพันธุ์ สภาวะของการลดลงของน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการจัดการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดไม่สามารถปรับตัวได้ นอกจากนี้สภาวะที่ว่ายังส่งผลต่อการเติบโตของเชื้อโรคใหม่ๆ การปนเปื้อนและกระจายของสารพิษ และโรคภัยต่างๆ ที่คร่าชีวิตเด็กเกิดใหม่จำนวนมาก

ท่ามกลางสภาวะทางภูมินิเวศดังกล่าว ในเกาหลีใต้เอง ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านระบบสัดส่วนการจัดสรรน้ำ ที่เชื่อมโยงอย่างมากกับการเมืองและระบบสวัสดิการที่ล้มเหลว ระบบชนชั้นที่อิงอยู่กับการปันส่วนน้ำเอื้อให้ผู้ที่มีสิทธิพิเศษสามารถเข้าถึงน้ำได้มาก ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยความกระหายและไร้ซึ่งความหวังในการมีชีวิตรอด ท่ามกลางสภาวะดังกล่าว ประเทศอื่นๆ อาจมีปฏิบัติการเพื่อแสวงหาทางรอดในในโลกที่คืบคลานเข้าใกล้หายนะนี้จากดาวเคราะห์ที่ไกลออกไป เช่น การสำรวจการตั้งรกรากใหม่บนดาวอังคาร แต่เกาหลีใต้กลับเลือกที่จะส่งทีมนักอวกาศไปยังดวงจันทร์ที่แห้งแล้งซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก แน่นอนว่า มันต้องมีความลับหรือทรัพยากรอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกาหลีใต้สามารถรอดพ้นวิกฤตการณ์เลวร้ายนี้ไปได้

องค์การอวกาศและการบินแห่งชาติเกาหลีรวบรวมลูกเรือสำหรับปฏิบัติการสำคัญในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาด้วยการให้สิทธิ์ในการเข้าถึงน้ำได้มากขึ้นหากพวกเขาทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย นำตัวอย่าง ‘สิ่ง’ สำคัญที่หลงเหลืออยู่ในสถานีบังแฮศูนย์วิจัยบนดวงจันทร์กลับมาสู่โลกได้สำเร็จ มีเพียงสมาชิกลูกเรือเพียงคนเดียว คือ ดร.ซง จีอัน ที่ไม่ต้องการสิ่งจูงใจที่ว่า เพราะเธอได้รับบัตรทองที่ให้สิทธิ์เข้าถึงน้ำได้ไม่จำกัด อันเป็นการชดเชยจากรัฐบาลจากการตายของพี่สาวของเธอ พร้อมกับนักวิจัยนับร้อยในเหตุการณ์ที่สถานีวิจัยบนดวงจันทร์บัลแฮเมื่อ 5 ปีก่อน สำหรับ ดร.ซงแล้ว นี่เป็นโอกาสของการค้นหาด้วยตัวเองว่าพี่สาวของเธอเสียชีวิตที่นั่นได้อย่างไร

ไม่มีลูกเรือคนใดรู้ว่าตัวอย่าง ‘สิ่ง’ สำคัญที่ต้องนำกลับมาจากสถานีดวงจันทร์คืออะไร ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ เป็นไปได้ว่าไม่มีมนุษย์คนไหนรู้จักสิ่งดังกล่าวอย่างแท้จริงเลยก็ว่าได้ สิ่งที่ว่านี้ ภายหลังถูกเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น ‘น้ำดวงจันทร์’ เมื่อมองจากพื้นโลก เราจะเห็นแอ่งดำมืดปกคลุมอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ กาลิเลโอเคยคิดว่าแอ่งดำมืดบนผิวดวงจันทร์นั้นคือแอ่งน้ำของทะเลอันแสนสงบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์เริ่มตระหนักว่าพื้นที่เงามืดของดวงจันทร์นั้นไม่ใช่ท้องทะเลที่แสนสงบอย่างที่กาลิเลโอเคยคิดไว้ แต่กลับเป็นทะเลที่แสนสงัด ซึ่งทั้งแห้งแล้ง ไร้คลื่น ไร้ชีวิต ทว่าเต็มไปด้วยฝุ่น อุณหภูมิที่ผกผัน และบรรยากาศที่น่าอึดอัด แม้ว่าพื้นผิวดวงจันทร์จะประกอบไปด้วยน้ำ แต่มันก็ไม่ใช่แอ่งน้ำอย่างที่มีอยู่บนโลก หากแต่ดำรงอยู่ในภววิทยาที่ต่างออกไป

เมื่อลูกเรือเข้าไปในสถานีร้างบัลแฮ เป็นที่แน่ชัดว่าทุกคนในนั้นไม่ได้ตายจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีดังที่หน่วยงานของรัฐอ้างไว้ ซากศพที่ถูกทิ้งไว้ในในสถานีดูเหมือนจะเสียชีวิตจากการจมน้ำ ตัวอย่างที่ลูกเรือต้องเก็บกลับไปกลายเป็นว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสีเลย หากแต่มันคือน้ำ ‘น้ำดวงจันทร์’ ซึ่งคร่าชีวิตของผู้ปฏิบัติการทั้งหมดในสถานีก่อนหน้านี้

ทว่า ในทะเลดวงจันทร์ที่สงัดนิ่งนั้น “น้ำดวงจันทร์” มันคืออะไรกันแน่

น้ำดวงจันทร์ กับความเป็น Hyperobjects

น้ำดวงจันทร์คือของเหลวที่ดำรงอยู่ได้ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำมาก สามารถกระจายตัวในอากาศ และจะทวีคูณมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับของเหลวของอินทรีย์วัตถุหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น เลือดของมนุษย์ และของเหลวในพืช ด้วยเหตุนี้ ดวงจันทร์จึงยังคงเป็นทะเลสงัดที่แห้งแล้งทั้งๆ ที่มีน้ำที่ทวีคูณอยู่มากมาย อุณหภูมิที่ต่ำมากของดวงจันทร์ที่ทำให้โมเลกุลของน้ำคงที่ รวมถึงไม่มีสิ่งมีชีวิตหรืออินทรีย์วัตถุใดๆ เข้าไปทำปฏิกิริยาให้เกิดการทวีคูณ อย่างไรก็ตาม การไปถึงของมนุษย์บนดวงจันทร์ได้ทำให้น้ำดวงจันทร์กลับมามีชีวิตในรูปแบบใหม่อีกครั้ง ของเหลวจากสิ่งมีชีวิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นทำให้น้ำดวงจันทร์กลับกลายสภาพเป็นน้ำที่ท่วมหลากได้

เมื่อน้ำดวงจันทร์สัมผัสกับมนุษย์มันจะทวีคูณอย่างรวดเร็ว จนทำให้มนุษย์คนนั้นจมน้ำในร่างกายตนเองจนเสียชีวิตในที่สุด เมื่อมนุษย์สิ้นชีวิตลง น้ำดวงจันทร์ก็จะหยุดการขยายจำนวน ข้อเท็จจริงที่ว่านี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความรู้ของลูกเรือที่ได้เข้าไปสัมผัสปฏิกิริยาที่เป็นผลจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับน้ำดวงจันทร์ ในความเป็นจริงแล้ว น้ำดวงจันทร์เป็น ‘สิ่ง’ ที่เราไม่รู้จักและเข้าใจการการดำรงของมันอย่างสมบูรณ์นัก มันอยู่ในในสถานะของเหลวในแคปซูล มันกระจายร่วมอยู่กับฝุ่นในพื้นผิวอวกาศของดวงจันทร์ มันสามารถอยู่ในตัวมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่างและมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ เช่น มนุษย์และพืชต่างๆ ในสถานีในลักษณะที่ต่างกันออกไป เราไม่รู้แน่ชัดว่ามันมีสภาวะเป็นวัตถุ (materiality) หรือมีชีวิต (vitality) หรือเป็นได้ทั้งสองอย่าง เราไม่รู้ด้วยว่าน้ำดวงจันทร์เกิดขึ้นมาเมื่อใดและจะดำรงต่อไปในลักษณะไหน ยังมิต้องพูดถึงว่าหากน้ำดวงจันทร์ถูกนำไปยังโลกของมนุษย์ มันจะกลายเป็นอะไรได้บ้าง เช่นนั้นแล้วมนุษย์ควรจะจัดการความสัมพันธ์อย่างไรกับน้ำดวงจันทร์ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์นี้

นักปรัชญา ทิโมธี มอร์ตัน (Timothy Morton) เสนอมุมมองในการทำความเข้าใจโลกที่เราดำรงอยู่ท่ามกลางหายนะทางระบบนิเวศผ่านแนวคิด hyperobjects ในหนังสือ The Ecological Thought (2010) และ Hyperobjects: Philosophy and Ecology after the End of the World (2013) มอร์ตันเสนอว่า hyperobjects คือสิ่งซึ่งดำรงอยู่ในลักษณะที่กระจายตัวอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมข้ามพ้นพื้นที่และช่วงเวลาที่มนุษย์จะสามารถรับรู้เข้าใจการดำรงอยู่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สภาวะของ ‘สิ่ง’ ที่อยู่เหนือการรับรู้และความเข้าใจของมนุษย์นี้กลับไม่ได้ดำรงอยู่แยกขาดจากมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงดวงจันทร์เพื่อจะได้มีประสบการณ์ตรงกับมัน

Hyperobjects ดำรงอยู่ในโลกใบนี้ร่วมกับเราอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ กัมมันตภาพรังสี โฟมและพลาสติก หรือแม้กระทั่งกลไกการทำงานของระบบทุนนิยม สิ่งสำคัญก็คือว่า แม้ว่าเราจะไม่รับรู้หรือไม่ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของมัน หรือแม้กระทั่งปฏิเสธการดำรงอยู่ของมันก็ตาม แต่มันก็ดำรงอยู่กับเราไม่ไปไหน และดำรงอยู่เหนือประสบการณ์และการให้ความหมายของมนุษย์อีกด้วย มอร์ตันชี้ว่า hyperobjects มีคุณสมบัติที่หลากหลายมากมาย แต่ที่เราพอจะเข้าใจได้อาจเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับมันก่อน นั่นคือ

Hyperobjects มีคุณสมบัติหนืดหน่วง (viscosity) มันจะยึดเกาะกับสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน และยากที่จะขจัดออกไปได้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะพยายามมากมายอย่างไรก็ตาม มันไม่จำกัดอยู่ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ (nonlocal) แม้ว่าเราจะพบสิ่งเหล่านี้ได้ตามที่ต่างๆ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริง การดำรงอยู่ของมันกระจายอยู่กว้างไกลกว่าที่เราจะรับรู้ได้หมด นอกจากนี้ hyperobjects ยังผันแปรไปตามช่วงเวลาและครอบคลุมกาลเวลาเหนือกว่าการรับรู้ของมนุษย์ (temporal undulation) hyperobjects อยู่รอบๆ ตัวเราจนเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน เราสามารถมีประสบการณ์กับมันในลักษณะหนึ่งภายใต้ช่วงเวลาและพื้นที่หนึ่งๆ ได้ แต่ก็ไม่มีอะไรที่คงที่ตายตัว และรวมถึงว่า hyperobjects นั้นอาจปรากฏให้เห็นเป็นช่วงๆ (phasing) และในบางครั้งมันก็อาจจะดำรงอยู่ในพื้นที่และเวลาที่เราไม่มีทางรับรู้ได้เลย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า hyperobjects นั้นมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ด้วยเสมอ (interobjectivity) การดำรงอยู่และการปรากฏของมันจึงขึ้นอยู่กับว่ามันกำลังมีความสัมพันธ์อยู่กับอะไรบ้าง

มอร์ตันมองว่า hyperobjects ทำหน้าที่ในการนำไปสู่การสิ้นสุดของโลก (the end of the world) แน่นอนว่าโลกของเรายังไม่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ และเราทุกคนก็ยังมีชีวิตรอด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่มอร์ตันหมายถึงเวลาที่เขาพูดถึงการสิ้นสุดของโลก สำหรับเขาแล้ว แนวคิดว่าด้วย ‘โลก’ (world) นั้นเป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้อีกต่อไป มันสิ้นสุดลงแล้ว เพราะความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโลกในฐานะที่เป็นกล่องบรรจุระบบนิเวศที่มนุษย์มีอำนาจควบคุมจัดการและสร้างความรู้เกี่ยวกับมันอย่างสมบูรณ์นั้นไม่เกิดขึ้นจริง การดำรงอยู่และการปรากฏตัวของ hyperobjects ทำให้แนวคิดว่าด้วยโลกที่เราจักรู้ล่มสลายลง นอกจากการรับรู้เกี่ยวกับโลกของเราจะจำกัดและใช้การไม่ได้แล้ว ความสามารถในการสร้างโลก (worlding) ของเราก็เต็มไปด้วยความฉ้อฉลพิกลพิการเป็นอย่างมาก สำนึกเกี่ยวกับนิเวศ (ecology) ของมนุษย์นั้นทำให้เรามองไม่เห็นธรรมชาติ (nature) และในเมื่อเราไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งอย่างสมบูรณ์ ความพยายามใดๆ ของมนุษย์ในการปกป้องโลกและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดพลาดที่จะนำไปสู่การทำลายโลกในตัวมันเองทั้งสิ้น

ใน The Silent Sea ความพยายามในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำนำไปสู่การจัดการแบ่งชนชั้น และความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นในสังคม ความพยายามในการปลูกพืชในห้องปฏิบัติการควบคุมเพื่อเป็นอาหาร นำไปสู่การสูญสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ ความพยายามในการศึกษาวิจัยสร้างความรู้ใหม่ นำไปสู่การปกปิดและการบิดเบือนสิ่งที่รู้มากขึ้น และการพยายามในการรักษาชีวิตนำไปสู่การทำลายชีวิตอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่ต่างกัน การเดินทางมายังสถานีบัลแฮเพื่อหาน้ำดวงจันทร์ในฐานะทรัพยากรเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตทางนิเวศของโลก ย่อมนำไปสู่การล่มสลายของโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

น้ำดวงจันทร์เป็น hyperobjects แบบหนึ่งซึ่งอยู่เหนือการรับรู้เข้าใจของเรา หากมันเดินทางกลับมายังโลกมนุษย์ได้ มันจะกลายเป็นอะไรต่อไปไม่มีใครรู้ชัด ในเมื่อโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เต็มไปด้วย hyperobjects มากมาย ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เราตระหนักถึงข้อจำกัดและความผิดพลาดของมนุษยชาติที่ผ่านมาอยู่แล้ว คำถามก็คือว่า เราจะเติม hyperobjects จากดวงจันทร์เพิ่มเข้าไปเพื่ออะไร หากไม่ใช่การเร่งให้โลกนี้ถึงกาลหายนะไวมากขึ้นเท่านั้นเอง

ลูน่า สิ่งมีชีวิตพันทาง

ที่สถานีบัลแฮ ระหว่างภารกิจ 24 ชั่วโมงของการเก็บตัวอย่างน้ำดวงจันทร์ ลูกเรือจับพลัดจับผลูเข้าไปในพื้นที่และห้องทดลองที่ไม่ปรากฏในพิมพ์เขียวของสถานี นั่นหมายความว่ารัฐบาลกำลังเก็บงำความลับที่ใหญ่กว่านี้ไว้นอกเหนือจากการครอบครองน้ำจากดวงจันทร์ ดร.ซองได้ค้นพบลักษณะที่แท้จริงของงานของพี่สาวของเธอ ในฐานะหัวหน้านักวิจัยในโครงการลับเพื่อศึกษาการปรับตัวของ ‘มนุษย์’ กับการรับมือกับการทวีคูณขึ้นของน้ำดวงจันทร์ การศึกษานี้ดำเนินการทดลองใน ‘ลูน่า’ มนุษย์โคลนที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรม เพื่อทำความเข้าใจการตอบสนองต่อน้ำดวงจันทร์ ระบบนิเวศแบบใหม่ หรืออะไรก็ตามที่เราอาจจะยังไม่รู้

ที่นั่นลูกเรือได้พบกับ ลูน่า 073 เธอเป็นมนุษย์โคลนเด็กผู้หญิงที่มีสัญชาตญาณ ความว่องไวแข็งแรง และความสามารถของสัตว์ที่เฉียบแหลมมาก เธอมีเหงือกข้างแก้มเหมือนปลา ทำให้เธอสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำและหายใจภายใต้บรรยากาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ในตอนท้าย เรายังเห็นเธอเดินบนพื้นผิวของดวงจันทร์โดยไม่มีชุดอวกาศ เธอไม่ต้องการอาหาร และสามารถอยู่รอดบนดวงจันทร์ได้เพียงลำพัง น้ำจากดวงจันทร์ยังสามารถใช้รักษาอาการบาดเจ็บของเธอได้ด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ กรรมพันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อและวิวัฒนาการของเธอมีความสามารถที่ให้น้ำจากดวงจันทร์ไม่ทวีคูณขึ้นภายในร่างกาย แอนติบอดีในร่างกายลูน่าสามารถส่งต่อให้กับมนุษย์คนอื่ ๆ เพื่อรับมือจากการเพิ่มทวีคูณของน้ำในร่างกายได้เช่นกัน

ลูน่าในฐานะเอเลี่ยนสายพันธุ์ใหม่เป็นผลผลิตของการเมืองและวิทยาศาสตร์ ท่ามกลาง hyperobjects ที่ท้าทายการดำรงอยู่ของมนุษย์และการจัดการกับระบบนิเวศของโลก มนุษย์กลุ่มหนึ่งเลือกที่จะละเมิดมนุษยธรรมและจริยธรรมของการสร้างความรู้ในการแสวงหาทางรอด นักวิจัยรวมถึงลูกเรือ เริ่มตระหนักว่า DNA ของลูน่าสามารถรักษาเสถียรภาพของน้ำดวงจันทร์ไม่ให้เกิดการทวีคูณได้ รวมถึงว่ามันสามารถนำมาใช้รักษาโรค ให้ทำร่างกายแข็งแรงว่องไว และประโยชน์อื่นๆ  อีกมากมาย เช่นนั้นแล้ว ก็อาจคาดการได้ว่า หากนำเธอและน้ำดวงจันทร์กลับมายังโลก มันก็อาจเป็นทางออกสำคัญในการที่จะทำให้โลกมีน้ำใช้เพียงพอ และในขณะเดียวกันน้ำจะไม่ท่วมประชากรมนุษย์ รวมถึงว่ามันอาจมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้

ลูกเรืออาจจะพาลูน่าจากดวงจันทร์เดินทางกลับมายังโลกได้ในฐานะเอเลี่ยน (alien) แต่ในความเป็นจริงแล้วเธอไม่ใช่เอเลี่ยนตั้งแต่ต้น หากแต่เป็นผลจากกระบวนการทำให้เป็นอื่น เป็นเอเลี่ยน (alienized/alienation) จากการตัดต่อดัดแปลงธรรมชาติ และจากความฉ้อฉลของปฏิบัติการกอบกู้โลกที่อยู่ในมือของนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง คำถามก็คือว่า ลูน่าจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตบนโลกนี้ในฐานะตัวอย่างในห้องทดลอง ทรัพย์สิน หรือทรัพยากร มากกว่าที่จะเป็นคนที่มีความรู้สึก มีความคิดและมีชีวิตจิตใจหรือไม่ เราควรจะพิจารณาเธอในฐานะอะไร และอะไรทำให้เรามีสิทธิในการตัดสินชีวิตของเธอ

แม้ว่า The Silent Sea จะเป็นเพียง science fiction แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าปฏิบัติการใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ล้วนแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงและพัวพันกับบริบททางสังคมการเมืองทั้งสิ้น ทั้งกัปตันฮงเอง ดร.ซง หมอประจำทีม รวมถึงลูกเรือคนอื่นๆ เข้าสู่ปฏิบัติการกู้โลกในครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัวเรื่องการรักษาลูกสาว การต้องการค้นหาความจริงของการตายของพี่สาว การต้องการได้เลื่อนขั้นสิทธิ์การเข้าถึงน้ำ ตลอดจนการทำงานให้หน่วยงานบรรษัทขนาดใหญ่เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ ยังไม่นับรวมการละเลยเพิกเฉยต่อการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐที่ขาดความโปร่งใสชัดเจน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของการดำรงอยู่ของวิทยาศาสตร์ในโลกทางสังคม นอกจากนี้แล้ว วิธีการคิดที่ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นหนทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา (technological fix) ของสภาวะที่วิกฤตการณ์นี้ได้ ก็ย้อนแย้งกับจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งถูกผลักดันด้วยเหตุผลทางการเมืองตั้งแต่ต้น

วิทยาศาสตร์และการเมืองของการลงจอดบนโลก

ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา มนุษย์มีการเดินทางด้วยยานอวกาศออกไปนอกโลก มีโอกาสได้หันกลับมามองยังโลกที่เราอาศัยอยู่ และเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกได้สำเร็จกว่าสามร้อยครั้ง การได้เห็นโลก (planet Earth) จากภายนอกได้ทำให้เราปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับโลก (world) ที่เราอยู่นี้มากมายหลายครั้ง  ดร.ซงเองก็เช่นกัน เมื่อเธอมีโอกาสพินิจพิจารณาโลกจากหน้าต่างในสถานีบัลแฮ การเดินทางกลับมายังโลกหลังจากที่ได้ออกไปนอกโลกแล้วย่อมนำมาซึ่งวิธีคิดแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมเสมอ 

แม้ว่าเราจะไม่ได้มีโอกาสเดินทางออกไปนอกโลกเหมือนนักบินอวกาศหลาย ๆ คน แต่ The Silent Sea ก็ช่วยให้เราสามารถมองกลับมายังโลกได้โดยผ่านสายตาของ ดร.ซง คำถามก็คือว่า เมื่อยานอวกาศพาเรากลับมายังโลกแล้ว เราจะลงจอดบนโลกใบนี้ด้วยสายตา ทัศนคติ และความเข้าใจที่มีต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ในบทนำของหนังสือCritical Zones: The Science and Politics of Landing on Earth (2020) นักมานุษยวิทยา บรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour) เสนอว่า มุมมองความเข้าใจที่เรามีต่อโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นมุมมองที่แยกส่วน ผิดพลาด และหลงทิศหลงทาง ภัยพิบัติและความขัดแย้งต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่นับวันยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นต่อการมีชีวิตรอดของมนุษย์นั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ผิดพลาดและไม่ยั่งยืนระหว่างเรากับธรรมชาติ ท้ายที่สุดแล้ว ท่ามกลางความพยายามอย่างแสนสาหัสของมนุษย์ในการเอาชนะ จัดการ รักษา กอบกู้ หรือสร้างโลกนี้ขึ้นมาใหม่ เรากลับเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้กลับกลายมาเป็น ‘ดินแดนที่เราไม่รู้จัก’ (terra incognita) มากขึ้นทุกวัน

การได้เดินทางออกไปยังนอกโลกและมองย้อนกลับมา ทำให้เรามีโอกาสได้ทบทวนถึงความสัมพันธ์ที่เรามีต่อโลกใบนี้ก่อนที่เราจะลงจอดบนโลกใบนี้อีกครั้ง ลาตูร์เสนอว่าหายนะและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นผลมาจากการแบ่งแยกโลกออกเป็นโลกที่เราพึ่งพา (the world we live from) กับโลกที่เราอาศัย (the world we live in) ออกจากกัน การรุกรานหาประโยชน์จากโลกที่เราพึ่งพาเพื่อมาเลี้ยงดูโลกที่เราอาศัย และการที่โลกที่เราอาศัยถูกรบกวนอย่างมากจากโลกที่เราพึ่งพา โดยเฉพาะการย้อนกลับมาทำลายการมีชีวิตรอดของเรา ทำให้เราต้องกลับมาทำความเข้าใจธรรมชาติและตำแหน่งแห่งที่ของโลกใบนี้ใหม่อย่างจริงจัง หนทางของการแก้ปัญหาที่ว่านี้คือการลงจอดบนโลกที่เราอาศัยอยู่ด้วยทัศนคติแบบใหม่ การลงจอดที่ว่านี้ไม่มีทางลัด ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการเมืองกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการมองและสร้างโลก (worlding) ทั้งหมดของเรา

ท่ามกลางความพัวพันระหว่างวิทยาศาสตร์และการเมืองที่แยกไม่ออกนี้ ทางรอดของมนุษยชาติไม่ใช่การแสวงหาดินแดนหรือดวงดาวใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด เพื่อนำเอา ‘สิ่ง’ ต่างๆ กลับมาใช้จัดการกับโลกที่ใกล้กาลหายนะนี้ จุดเริ่มต้นของการลงจอดอีกครั้งบนโลกใบนี้ คือการเชื่อมั่นในโลกใบนี้ และหาทางอยู่ร่วมกับสรรพสิ่งในโลกให้ได้อย่างสมดุล

มนุษย์ต้องหวนกลับมาลงจอดในที่ ๆ เราจากมา และจัดการกับปัญหาที่เราสร้างขึ้นด้วยวิธีการมองโลกแบบใหม่ด้วยตัวเราเอง   


อ้างอิง

Morton, Timothy. 2010. The Ecological Thought. Cambridge and London: Harvard University Press.

                .  2013. Hyperobjects: Philosophy and Ecology after the End of the World. Minneapolis and London:

University of Minnesota Press.

Latour, Bruno. 2020. “Seven Objections against Landing on Earth” in Critical Zones: The Science and Politics of

Landing on Earth. Bruno Latour and Peter Weibel (eds.). Cambridge and London: The MIT Press.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save