fbpx
The Silent Revolution หนุ่มสาว, อย่าให้เขาทุบทำลายเธอ

The Silent Revolution หนุ่มสาว, อย่าให้เขาทุบทำลายเธอ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง

 

The Silent Revolution หรือ Das schweigende Klassenzimmer ภาพยนตร์เยอรมนีในปี 2018 กำกับโดย Lars Kraume เล่าเรื่องความเงียบสองนาทีของชั้นเรียนมัธยมในเยอรมนีตะวันออก ช่วงสงครามเย็นก่อนการสร้างกำแพงเบอร์ลิน

สองนาทีแห่งความเงียบนั้นพาชีวิตคนหนุ่มสาวในชั้นเรียนหนึ่งไปเผชิญความจริงในความบัดซบของบ้านเมือง และระบบเน่าเหม็นที่คนรุ่นก่อนสร้างเอาไว้ อันนำไปสู่การตัดสินใจสำคัญในชีวิต

เรื่องเริ่มที่ในปี 1956 ระหว่างที่ Kurt และ Theo นักเรียนมัธยมชั้นปีสุดท้ายในเยอรมนีตะวันออก แอบข้ามไปดูหนังในเบอร์ลินตะวันตก พวกเขาเห็นภาพข่าวการปฏิวัติฮังการี คนหนุ่มสาวในบูดาเปสต์ลุกขึ้นมาต่อต้านสหภาพโซเวียตที่ขยายอำนาจไปทั่วยุโรปตะวันออกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพความตายของนักเรียนนักศึกษาในวัยใกล้เคียงกัน ทำให้เด็กหนุ่มสองคนในวัยที่ยังไม่พ้นรั้วโรงเรียนรู้สึกสั่นสะเทือน สะกิดความรู้สึกลึกๆ ว่าพวกเขาเองก็ไม่พอใจโซเวียตที่เข้ามายึดครองบ้านเมือง

เมื่อกลับมาที่โรงเรียนใน Stalinstadt เขาชักชวนเพื่อนร่วมชั้นให้สงบนิ่งไว้อาลัยแก่คนหนุ่มสาวฮังการีเป็นเวลาสองนาที โดยเล่าถึงข่าวการตายของ Ferenc Puskás นักฟุตบอลดาวรุ่งฮังการีระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นไอดอลของเด็กหนุ่มหลายคน จนมีการโหวตร่วมกันว่าพวกเขาทั้งชั้นจะไว้อาลัยด้วยการไม่ปริปาก 2 นาที

เมื่อเริ่มวิชาเรียน ครูที่หน้าชั้นเรียนพบความผิดปกติ ไม่มีลูกศิษย์คนใดเอ่ยปากตอบคำถามเขาสักคนเดียว

เป็นความเงียบสองนาทีอันแสนยาวนาน

จนเมื่อเวลาไว้อาลัยสิ้นสุดลง Erik หนึ่งในเพื่อนร่วมชั้นบอกครูว่า “นี่คือสัญลักษณ์ของการต่อต้าน”

การแข็งขืนเป็นเรื่องที่ปล่อยไว้ไม่ได้ภายใต้ระบบการสอดส่องที่ไม่ต้องการความเห็นต่าง โดยเฉพาะเมื่อพบว่าเป็นการไว้อาลัยให้แก่นักปฏิวัติฮังการี อันเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียต ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาที่รัฐเป็นผู้ควบคุม ‘ความจริง’ ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของชาติ

แม้เหล่านักเรียนจะพยายามเฉไฉว่าเป็นการไว้อาลัยแก่ Puskás ในฐานะแฟนฟุตบอล และยืนยันว่าการแสดงออกครั้งนี้ ‘ไม่ใช่การเมือง’ แต่ข้ออ้างนี้ใช้ไม่ได้ผลเมื่อคนของพรรคคอมมิวนิสต์เผยว่าข่าวการตายของ Puskás เป็นเพียงข่าวลวงที่ถูกปล่อยในเยอรมนีตะวันตก แท้จริงแล้วนักฟุตบอลดังยังไม่เสียชีวิต

กลุ่มนักเรียนถูกป้ายสีทันทีว่ามีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็น ‘ฟาสซิสต์’ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวกันกับที่กลุ่มปฏิวัติฮังการีถูกโจมตี ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย แต่เมื่อพวกเขาแข็งขืนย่อมถูกยัดข้อหาให้กลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของรัฐ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง

ข่าวการแสดงออกเชิงการเมืองของนักเรียนค่อยๆ ขยายตัวอย่างเงียบๆ ตัวแทนคณะกรรมการการศึกษาพื้นที่ถูกส่งมาสอบสวนข้อเท็จจริง ไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่เดินทางมาสั่งการว่าต้องหาตัวผู้นำที่เป็นคนบงการเรื่องนี้ให้ได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ มิเช่นนั้นแล้วทุกคนจะถูกไล่ออก

 

The Silent Revolution หรือ Das schweigende Klassenzimmer ภาพยนตร์เยอรมนีในปี 2018 กำกับโดย Lars Kraume

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากหนังสือของ Dietrich Garstka หนึ่งในนักเรียน 19 คนของชั้นเรียนดังกล่าวที่เขียนบันทึกเรื่องราวช่วงนั้นเอาไว้

The Silent Revolution ไม่ได้เล่าถึงสถานการณ์ทางการเมืองในภาพกว้าง มีเพียงคำบอกเล่าที่ดังมาจากโทรทัศน์และวิทยุ หรือข่าวลือจากผู้ใหญ่ ที่ไม่มีอะไรยืนยันว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริง ผู้ชมจะได้รับรู้เท่ากับที่เด็กมัธยมในเยอรมนีตะวันออกรับรู้ และในสถานการณ์ที่ไม่มีความจริงบริสุทธิ์เช่นนี้ ข่าวลือที่ถูกปกปิดอาจมีค่ามากกว่าความจริงที่ถูกโหมประโคมโดยรัฐบาล

ระหว่างถูกผู้มีอำนาจกดดันว่าต้องชี้ตัวผู้นำการต่อต้านครั้งนี้ให้ได้ เพื่อแลกกับการไม่ถูกไล่ออกยกชั้นเรียน Erik เริ่มเปิดเผยความลับของเพื่อน และให้ข้อมูลว่าลุงของเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเปิดบ้านเป็นพื้นที่พูดคุยของเด็กๆ และมีวิทยุที่เข้าถึงข่าวจากเยอรมนีตะวันตก Erik ทำไปเพื่อปกป้องสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องในฐานะลูกชายฮีโร่ พ่อของเขาไปร่วมรบกับนาซีจนเสียชีวิต ทิ้งอุดมการณ์แรงกล้าไว้กับชีวิตที่แหว่งวิ่นของลูกชาย

Erik โตขึ้นมาพร้อมความทรงจำว่าใครคือศัตรู โดยที่จดจำเรื่องราวของพ่อขณะมีชีวิตอยู่แทบไม่ได้ แต่สิ่งที่เขากอดรัดไว้ตลอดมาคืออุดมการณ์ของคนรุ่นพ่อที่เขาเลือกจะแบกมันข้ามช่วงวัย

เมื่อการสอบสวนเริ่มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ Erik ค้นพบความจริงอีกด้านในเรื่องเล่าการต่อสู้ของพ่อที่ถูกปกปิดมาตลอดชีวิต ความจริงชุดใหม่นี้ทำลายเขาจนย่อยยับ เมื่อเขานำความทรงจำของพ่อ ประวัติศาสตร์กระแสหลัก และอุดมการณ์ที่รัฐเชิดชู วางไว้บนพื้นฐานความเกลียดชังแล้วรับมันมาเป็นส่วนหนึ่งในตัวตน

จนวันหนึ่งที่ค้นพบว่าสิ่งที่ก่อร่างตัวตนขึ้นมา เป็นเพียงความว่างเปล่าที่เริ่มต้นจากการหยิบประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนมารับใช้ปัจจุบัน เมื่อนั้นหลักยึดที่ทำให้ชีวิตเขาตั้งมั่นก็ได้สูญสลายไป

 

The Silent Revolution หรือ Das schweigende Klassenzimmer ภาพยนตร์เยอรมนีในปี 2018 กำกับโดย Lars Kraume

 

อีกด้านหนึ่งคือชีวิตของ Theo ที่คิดว่าพ่อของตัวเองคือคนงานโรงงานจนๆ ไม่มีอะไรดี ใช้ชีวิตตามครรลอง สนใจแต่เรื่องปากท้องและเคี่ยวเข็ญให้ลูกตั้งใจเรียนจบเพื่ออนาคตที่ดี

Theo พบว่าพ่อของเขาปกปิดเรื่องที่เคยเข้าร่วมการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1953 จนทำให้ไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตและถูกหมายหัวจากรัฐ พ่อของ Theo กีดกันลูกออกจากเรื่องราวเหล่านี้และกำชับให้ลูกใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดา เพราะรู้ซึ้งดีถึงราคาที่ต้องจ่ายในการเป็นผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ

ทั้งหมดนี้คือภาระของคนรุ่นพ่อที่เลือกว่าจะส่งต่อสิ่งใดให้คนรุ่นถัดมา

พ่อของ Theo ก้มหน้าแบกรับสิ่งที่ตามมาโดยไม่ปริปาก ทำให้ลูกชายตั้งคำถามว่าทำไมพ่อไม่หนีไปจากชีวิตในเมืองที่แห้งแล้งแห่งนี้ เหตุใดจึงยอมรับความไม่ถูกต้องที่มากำหนดทั้งชีวิตให้ตกต่ำลง

คำตอบมาจากแม่ของเขา “เขาไม่เคยหนี เขาเกิดที่นี่ และเขาจะไม่ทิ้งมันไปไหน”

เป็นเรื่องยากที่จะตัดขาดจากชีวิตเดิม บ้านเมืองที่รัก ครอบครัว ญาติมิตรสหาย ภาษา อาหาร ความคุ้นเคย และความหวังที่อยากอยู่เพื่อเห็นบ้านเมืองพัฒนา

แต่การตัดสินใจอาจง่ายขึ้นหากเรารู้ตัวได้เร็วว่าแผ่นดินนี้ไม่ได้รักผู้คนของเขาเลย ประชาชนเป็นเพียงสิ่งที่ต้องมีอยู่เพื่อค้ำจุนความชอบธรรมของอำนาจที่รัฐยกขึ้นมามีคุณค่าเหนือผู้คน

 

The Silent Revolution หรือ Das schweigende Klassenzimmer ภาพยนตร์เยอรมนีในปี 2018 กำกับโดย Lars Kraume

 

เมื่อถึงกำหนดเส้นตาย Kurt ในฐานะต้นคิดการไว้อาลัย 2 นาที ปฏิเสธข้อเสนอของผู้ใหญ่ที่จะให้เขาใส่ร้ายคนอื่นและเลือกหนีไปเริ่มชีวิตใหม่ในเยอรมนีตะวันตก กระนั้นเพื่อนทั้งชั้นเรียนก็ยังไม่มีใครปริปากว่า Kurt เป็นศัตรูของรัฐ แต่ออกตัวยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่พวกเขาตัดสินใจร่วมกันทั้งหมด

ทุกคนถูกไล่ออก เป็นรายจ่ายของการไม่สยบยอมต่ออำนาจเบื้องบน เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของการมองความมั่นคงของรัฐเหนือประชาชน ตัดโอกาสเด็กทั้งชั้นเรียนไม่ให้มีอนาคตที่พวกเขาควรจะเลือกเอง

เด็กทั้งชั้นเรียนหลบหนีออกจากเยอรมนีตะวันออก บินหนีออกจากบ้าน ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังเพื่อไปเรียนต่อในฝั่งตะวันตก ไปทั้งที่รู้ว่าไม่สามารถจะหวนกลับมาได้อีก

ในภาวะที่ไม่อาจต่อสู้กับระบบที่เข้ามาควบคุมชีวิตทุกระดับ ไร้ความหวังในการยื้อยุดกับความล้าหลัง พวกเขาใช้ความเงียบทำลายความเงียบ ปราศจากความรุนแรง ไร้ซึ่งเสียง ไม่มีการเดินขบวน สุดท้ายเมื่อรัฐจัดการกับผู้ต่อต้าน พวกเขาเลือกโต้ตอบด้วยความเงียบ เดินหันหลังให้กับการลงโทษ ไม่ยอมรับการชี้ขาดจากอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

ความผิดเดียวในสถานการณ์นี้ คือการรู้เนื้อรู้ตัวว่าตนเกิดมาพร้อมเสรีภาพ ในสังคมที่ผู้คนหลับใหลหรือแสร้งหมดสำนึกในตัวเอง

การยืนยันความเชื่อมั่นด้วยความเงียบคือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เสียงของสำนึกเริ่มดังขึ้นมา

คือการยืนยันว่าตัวเองมีเสรีภาพ และจะไม่ให้ใครย่ำยี

 

The Silent Revolution หรือ Das schweigende Klassenzimmer ภาพยนตร์เยอรมนีในปี 2018 กำกับโดย Lars Kraume

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save