fbpx
The Silent Child: ‘ความเงียบ’ ที่เด็กหูหนวกทั่วโลกต้องเผชิญ

The Silent Child: ‘ความเงียบ’ ที่เด็กหูหนวกทั่วโลกต้องเผชิญ

“…The interests of the deaf child and his parents may best be served by accepting that he is a deaf person, with an elaborate cultural and linguistic heritage that can enrich his parent’s life as it will his own….”

– ฮาร์แลน เลน[1] (Harlan Lane), The Mask of Benevolence

‘The Silent Child’ เป็นหนังสั้นความยาว 20 นาทีที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ลิบบี’ (Libby) เด็กหญิงหูหนวกวัย 6 ขวบผู้เติบโตมาในครอบครัวของคนได้ยิน หนังเปิดฉากด้วยการมาถึงของโจแอน (Joanne) นักสังคมสงเคราะห์เด็กด้านคนหูหนวกที่จะเข้ามาช่วยดูแลพัฒนาการทางภาษาของลิบบีเพื่อเตรียมความพร้อมเธอสำหรับการเข้าโรงเรียน

แม้ครอบครัวของลิบบีจะรู้ว่าเธอหูหนวกมาตั้งแต่เมื่ออายุได้ 3 ขวบครึ่ง[2] แต่ลิบบีกลับถูกปฏิบัติโดยคนรอบข้างราวกับว่าเธอเป็นคนได้ยิน ซู (Sue) ผู้เป็นแม่ของลิบบีบอกกับโจแอนว่าลูกของเธอสามารถอ่านปาก (lip reading) และเข้าใจสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวพูดได้เป็นอย่างดี – แน่นอนว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โจแอนพบว่าลิบบีไม่สามารถอ่านปากหรือเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดได้อย่างที่ซูบอก ลิบบีถูกทิ้งให้อยู่ในความเงียบงันที่ไม่ใช่แค่โลกที่ปราศจากเสียง แต่ยังปราศจากปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายจากคนในครอบครัวของเธอเอง

การมาถึงของโจแอนผู้พยายามสื่อสารกับลิบบีด้วยภาษาสัญญะท่าทาง (Sign language) ทำให้ลิบบีมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เธอเริ่มเปิดใจและตอบโต้กับโจแอนด้วยสัญญะท่าทาง[3] ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกันในห้วงเวลาอันสั้น โจแอนเสนอให้ซูและคนอื่นๆ ในครอบครัวเรียนภาษาสัญญะท่าทางเพื่อจะได้สื่อสารกับลิบบี พร้อมทั้งแนะนำว่าหากต้องการให้ลิบบีเข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดา เธอก็ควรจะมีล่ามภาษาสัญญะท่าทาง (sign interpreter) คอยให้ความช่วยเหลือ

ข้อเสนอของโจแอนทำให้ซูและสามีของเธอทะเลาะกันอย่างหนัก ซูอยากให้ลิบบีพูดได้และใช้การอ่านปากทดแทนการได้ยิน

เธอกำลังเรียนภาษาที่ฉันและคนในโรงเรียนไม่รู้ เมื่อคุณมีลูก คุณย่อมอยากให้พวกเขาเป็นคนปกติ คุณอยากให้พวกเขาสมบูรณ์แบบ” ซูบอกเหตุผลของเธอ

เธอเป็นคนปกติ, ซู, เธอแค่เป็นใบ้” โจแอนตอบกลับ

ในที่สุดซูก็ตัดสินใจส่งลิบบีเข้าโรงเรียนธรรมดาโดยไม่มีล่ามและยุติความช่วยเหลือจากโจแอน –เด็กหูหนวกวัย 6 ขวบอย่างลิบบีต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เด็กหูหนวกจำนวนมากต้องเจอ นั่นคือพวกเขาถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวและไม่ได้รับการศึกษาที่เอาพัฒนาการของเด็กหูหนวกเป็นศูนย์กลาง เพื่อแลกมากับความพึงพอใจของพ่อแม่ที่ได้เห็นลูกของพวกเขา ‘กลายเป็นคนปกติ’

The Silent Child
ลิบบี (Maisie Sly – ซ้าย) และโจแอน (Rachel Shenton – ขวา)

หนังสั้นเรื่องนี้เป็นผลงานการเขียนบทของราเชล เชนตัน (Rachel Shenton) นักแสดงหญิงชาวอังกฤษผู้ที่ในขณะเดียวกันก็รับบทเป็น ‘โจแอน’ อีกด้วย – เชนตันได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากพ่อของเธอเอง เขาสูญเสียการได้ยินไปหลังจากเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งในขณะที่เธอมีอายุได้เพียง 12 ขวบ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เชนตันตัดสินใจเรียนภาษาสัญญะท่าทางบริติช (British Sign Language หรือ BSL) และมีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิของคนหูหนวกมาจนถึงปัจจุบัน

ตัวละครสำคัญของเรื่องอย่าง ‘ลิบบี’ นำแสดงโดยเมซี ซลาย (Maisie Sly) เด็กหูหนวกผู้ผ่านการคัดเลือกจากนักแสดงเด็กทั่วประเทศอังกฤษกว่าร้อยคน เมซีไม่เคยแสดงหนังเรื่องใดมาก่อน และทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วครอบครัวของเธอช่างตรงกันข้ามกับในหนัง แต่เมซีกลับสามารถรับบทเป็นเด็กหูหนวกที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในโลกของความเงียบงันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หลังการเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์อิสระกรุงลอนดอน (London Independent Film Festival) หนังสั้นเรื่อง ‘The Silent Child’ ก็คว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศมากมาย และในเดือนมีนาคม ค.ศ.2018 หนังสั้นเรื่องนี้ก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์ (Academy Awards) สาขาภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Live Action Short Film) ประจำปี ค.ศ.2017 มาครอบครอง

แม้บทของหนังเรื่องนี้จะถูกเขียนขึ้นจากจินตนาการ แต่ประสบการณ์ที่ลิบบีต้องเผชิญกลับไม่ใช่เรื่องแปลกปลอมสำหรับเด็กหูหนวกจากทั่วทุกมุมโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีเด็กหูหนวกมากถึงร้อยละ 90-95 ที่เกิดมาจากพ่อแม่ที่ได้ยิน แต่มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 5 ที่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านภาษาและการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาการของเด็กหูหนวก[4] ที่สำคัญ มีบางครั้งที่ความพร้อมทางเศรษฐกิจไม่ใช่อุปสรรค แต่กลับเป็นทัศนคติของพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจว่าเด็กหูหนวกจะต้องเติบโตมาในวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างไปจากพวกเขาเอง[5] และที่เกินเลยไปกว่านั้น ก็คือพ่อแม่ไม่สามารถยอมรับได้ว่าลูกของตนเป็น ‘คนหูหนวก’

บางทีถ้าหากความรักลูกคือการได้เห็นพวกเขามีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ การเคี่ยวเข็ญให้ลูกของตนกลายเป็น ‘คนปกติ’ ตามความหมายที่คับแคบอย่าง ‘การได้ยินและพูดได้’ ก็คงจะไม่ใช่นิยามของความรักที่ถูกต้องนัก?


เชิงอรรถ

[1] นักจิตวิทยาชาวอเมริกันและนักต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของคนหูหนวก (ค.ศ.1936 – 2019)

[2] ซึ่งเป็นการค้นพบที่นับว่าช้ามาก เพราะในปัจจุบัน แพทย์สามารถวินิจฉัยเด็กหูหนวกตั้งแต่แรกเกิดด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Evoked Otoacoustic Emission หรือ OAE ซึ่งใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ว่า เมื่อเราส่งเสียงสองช่วงความถี่ (f1 และ f2) ที่ใกล้เคียงกันเข้าไปในหู หูของคนที่ได้ยินจะสามารถตอบสนองต่อเสียงกระตุ้นด้วยการผลิตเสียงคลื่นความถี่ที่ 3 ซึ่งจำเพาะเจาะจงออกมา

[3] ภาษาสัญญะท่าทางคือภาษาธรรมชาติของคนหูหนวก การเรียนรู้ภาษาสัญญะท่าทางของเด็กในวัยที่มีวิวัฒนาการเหมาะสมจะทำให้พวกเขาสามารถใช้สัญญะท่าทางได้ในระดับเจ้าของภาษา (native signer) ซึ่งไม่ต่างอะไรกับภาษาพูดสำหรับเด็กที่ได้ยิน

[4] Mitchell, R.E. and Karchmer, M. (2004). Chasing the mythical ten percent: Parental hearing status of deaf and hard of hearing students in the United States. Sign Language Studies.

[5] เด็กที่หูหนวกตั้งแต่กำเนิดย่อมไม่สามารถชื่นชมความไพเราะของดนตรีหรือภาษาพูดในแบบที่คนได้ยินรับรู้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชุมชนของคนหูหนวกจะไม่สามารถชื่นชมความงดงามของภาษาสัญญะท่าทางหรือศิลปะในแบบของพวกเขาเอง – ลองพิจารณาความงดงามของการตีความบทกวี ‘ความหวังเหมือนดังปักษา’ (Hope is the thing with Feathers) ของเอมิลี ดิกคินสัน (Emily Dickinson) โดยคริสซี มาร์แชล (Chrissy Marshall) ทาง https://fb.watch/3Yzym6v5FW/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save