fbpx
The Senses : Design Beyond Vision : ศาสตร์แห่งการออกแบบสัมผัส พางานดีไซน์ไปไกลกว่าตาเห็น

The Senses : Design Beyond Vision : ศาสตร์แห่งการออกแบบสัมผัส พางานดีไซน์ไปไกลกว่าตาเห็น

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

 

ในมานุษยวิทยาตะวันตกมีคำที่น่าสนใจ แต่อาจไม่คุ้นหูเรานัก อย่าง ‘Ocularcentrism’ หรือแนวคิดที่ว่า ดวงตา คือ ‘ศูนย์กลาง’ การรับรู้ของมนุษย์ เราจะเห็นสัญลักษณ์ดวงตาถูกใช้แทนค่าความหมายของความรู้และการรู้แจ้ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Vision ที่หมายถึงการมองเห็น พูดถึงความคิดคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต แม้แต่ประโยคสามัญอย่าง ‘I see.’ ยังใช้คำว่า ‘เห็น’ แทนความหมายของการเข้าใจ

แนวคิดที่ว่านี้ ยกการมองเห็นอยู่ยอดปีระมิด แม้เรารับรู้โลกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ดวงตาดูเหมือนจะมีเอกสิทธิ์ชี้ขาดมากกว่าการรับรู้อื่น อย่างการได้ยิน ได้กลิ่น รับรู้รสชาติ หรือการสัมผัส เราได้ยินเสียงหลอนๆ ได้กลิ่นแปลกๆ หรือรู้สึกเย็นวาบจนขนลุก แต่เราจะยืนยันได้ว่าเราเจอผี ก็ต่อเมื่อเรา ‘เห็น’ ผีใช่มั้ยล่ะ

Ocularcentrism มีผลมากในโลกศิลปะตะวันตก และแน่นอนกับสถาปัตยกรรมและการออกแบบด้วย สิ่งที่ตาเห็นมักจะถูกคิดเป็นเรื่องแรกและเรื่องใหญ่ในงานออกแบบ เราจึงได้แต่เข้าไป ‘ดู’ งานศิลปะและงานออกแบบที่มีกรอบกระจกกั้นในพิพิธภัณฑ์ มากกว่าจะได้เข้าไปสัมผัส รู้สึก หรือมีประสบการณ์ร่วมกับมัน

แนวคิดตาเป็นใหญ่ยิ่งชัดขึ้นไปอีกในยุค Screen Culture ที่ทุกอย่าง ‘จบในจอ’ อย่างตอนนี้ แทนที่งานออกแบบหนึ่งชิ้นจะถูกรับรู้ด้วยสัมผัสทั้งห้า กลายเป็นว่าเราเคยชินกับการตัดสิน ‘ชอบ-ไม่ชอบ’ งานออกแบบชิ้นหนึ่งผ่านหน้าจอแบนๆ เท่านั้น

นิทรรศการ The Senses : Design Beyond Vision เป็นเหมือนแถลงการณ์จากนักออกแบบกลุ่มหนึ่งที่เชื่อในแนวคิด Multisensory Design หรือการออกแบบพหุประสาทสัมผัส หรือเรียกง่ายๆ คือการออกแบบที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสหลากหลาย มากไปกว่าแค่ตาเห็น นิทรรศการนี้จึงรวบรวมงานออกแบบที่ไม่ใช่แค่ให้ดู แต่ต้องจับ ดมกลิ่น ได้ยิน และชิมรส จัดแสดงอยู่ใน Cooper Hewitt, Smithsonian Design Museum ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคมเมื่อปี 2018

ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสไปมีประสบการณ์ร่วมกับนิทรรศการนี้ หนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในชื่อเดียวกัน เรียบเรียงโดย Ellen Lupton และ Andrea Lipps จึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการต่อยอดแนวคิดนี้ ไปจุดประกายคนทั่วโลก รวมถึงพวกเราเอง

 

 

หนังสือ The Senses : Design Beyond Vision รวบรวมผลงาน Multisensory Design ที่จัดแสดงในนิทรรศการ บันทึกแนวคิดเบื้องหลังและจุดประสงค์ของนิทรรศการ และรวมบทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้เอาไว้

 

ภาพ : nytimes.com

 

ภาพ : nytimes.com

 

ภาพ : nytimes.com

 

บทนำของหนังสือเริ่มต้นด้วยการนิยามความหมายและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับประสาทสัมผัส (Sense) ผู้เขียนบอกว่า ตอนเด็กๆ เราทำความเข้าใจว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าของเราแยกส่วนกันทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วการรับรู้ของเราซับซ้อนกว่านั้น เพราะทุกประสาทสัมผัสทำงานร่วมกันดังวงออเครสตร้าเพื่อประกอบขึ้นมาเป็นประสบการณ์ของเรา

 

ภาพ : PPTV

 

ยกตัวอย่างวินาทีสั้นๆ ที่เราถูกน้ำสาดเข้าตรงหน้าในวันสงกรานต์ ผิวหน้าของเรารับรู้อุณหภูมิที่เย็นและความเจ็บจากแรงสาดของน้ำ จมูกของเรารู้กลิ่นคลอรีน ลิ้นรับรสเฝื่อนของน้ำที่กระเด็นเข้าปาก หูได้ยินเสียงน้ำกระทบใบหน้าและเสียงหัวเราะคิกคักตามมา แม้ยังลืมตาไม่ขึ้น แต่ทั้งหมดก็ประกอบขึ้นเป็นประสบการณ์ ถูกบันทึกเป็นความทรงจำที่ชัดเจนของวันสงกรานต์

การออกแบบที่ครอบคลุมทุกประสาทสัมผัสรับรู้ของ Multisensory Design จึงสามารถสร้างประสบการณ์และความรู้สึกเฉพาะตัวให้กับผู้เข้าร่วม ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการจึงเป็นไปในแนวทางที่ว่านี้

 

 

Snow Storm โดยนักออกแบบกลิ่น Christopher Brosius นำเสนอกลิ่นฤดูหนาวของ ค.ศ. 1972 ไม่ใช่แค่กลิ่นที่ไม่ธรรมดา แต่วิธีการนำเสนอก็ไม่ธรรมดาด้วย เพราะ Brosius ออกแบบให้ผู้เข้าชม (หรืออาจต้องใช้คำว่าผู้เข้าดม) ต้องหยิบลูกบอลจากเส้นใยผ้าที่นุ่มๆ ขึ้นสัมผัสขณะดมเพื่อเชื่อมโยงถึงประสบการณ์ของหิมะ

 

 

ศาสตร์ของ Multisensory Design พูดบ่อยๆ ถึงอาการ Synesthesia หรือประสบการณ์ที่แต่ละประสาทสัมผัสเชื่อมโยงถึงกัน เช่น บางเสียงทำให้เราคิดถึงของมีคม หรือบางสีที่เห็นแล้วได้กลิ่น Tactile Orchestra โดย Studio Roos Meerman and KunstLAB เล่นกับประสบการณ์ที่ว่านี้ ด้วยผนังสร้างจากวัสดุคล้ายขนสัตว์นุ่มๆ ความยาวหกเมตร เมื่อผู้เข้าร่วมออกแรงกด กอด ลูบ หรือขยำลงไปพร้อมเอาหูแนบ จะได้ยินเสียงดนตรีที่แตกต่างกัน ราวกับได้ร่วมกันบรรเลงออเครสตร้าที่ไม่ได้ฟังด้วยหู แต่ได้ใช้ร่างกายสัมผัสความอ่อนนุ่มของบทเพลงด้วย

การออกแบบบางชิ้นงานใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าหูจะเป็นอวัยวะรับรู้เสียง แต่จริงๆ เสียงคือคลื่นความถี่ในอากาศที่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยร่างกาย สังเกตได้จากอาการขนลุกหรือแน่นหน้าอกเวลายืนหน้าลำโพงดังๆ Tactile Headset ของ Alessandro Perini จับความสั่นสะเทือนของเสียงมานำเสนอด้วยวิธีใหม่ ลูกบอลทั้งลูกทำหน้าที่ส่งคลื่นความถี่ไปที่กะโหลกศีรษะของเรา เกิดเป็นเสียง แม้หน้าตาและคำว่า Headset จะแปลว่าหูฟัง แต่ไม่ได้ใช้หูฟัง

Tactile Headset 

YouTube video

 

ผลงานบางชิ้นใช้แนวคิด Multisensory Design เปลี่ยนเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นพิเศษอย่างเรื่องของจานอาหาร เราคุ้นเคยกับเนื้อฉ่ำๆ ไอศกรีมนุ่มๆ และการตกแต่งจานที่มีชีวิตชีวา แต่จานเสิร์ฟอาหารของเรายังคงไม่พ้นจานเซรามิกสีขาวแข็งๆ ไร้ชีวิต และส่งเสียงบาดหูยามกระทบกับช้อน Lina Saleh จึงออกแบบ Living Plates เนื้อวัสดุที่นุ่มของจานใบนี้ สามารถเปลี่ยนรูปยามอาหารถูกตักออกไป เคลื่อนไหว และเด้งดึ๋งได้ราวจานตรงหน้าเรามีชีวิต ประสบการณ์กินจึงเปลี่ยนไป

Living Plates

 

Sidewall, Cherry Forever โดย Michael Angelo ผู้เยี่ยมชมจะได้กลิ่นหอมเมื่อใช้มือถูบนภาพลูกเชอร์รี่

 

Kangaroo Light โดย Studio Banana ลบภาพหลอดไฟแข็งๆ และแตกง่ายไปได้ เพราะหลอดไฟนี้นิ่ม รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบแสงเมื่อถูกบีบหรืองอ

 

Flavor Factory โดย Emilie Baltz ให้ผู้ชมผสมรสชาติไอศกรีมผ่าน Interactive video and sound แสดงให้เห็นว่าอานุภาพของภาพและเสียงสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับรสชาติได้

 

ภาพรวมของ The Senses : Design Beyond Vision ดูเหมือนจะเป็นการขยายพรมแดนของการออกแบบไปสู่รูปแบบงานที่ล้ำและไม่ธรรมดา แต่จุดประสงค์สูงสุดของนิทรรศการกลับสามัญ คือการนำแนวคิดการออกแบบพหุประสาทสัมผัสนี้ไปใช้เพื่อการออกแบบที่นับรวมความแตกต่างหลากหลายของคน หรือ ‘Inclusive Design’ นั่นเอง

นอกจากผลงานสุดล้ำหน้า อีกส่วนของนิทรรศการจึงประกอบไปด้วยผลงาน Multisensory Design สุดสามัญแต่สำคัญ อย่าง Tactile Picture Book โดย Jeeeun Kim ที่ทำให้เด็กผู้พิการทางสายตาสามารถสนุกกับการดูภาพการ์ตูนในหนังสือได้, นาฬิกา Dot Watch โดย Cloudandco ที่แสดงผลด้วยตัวเลขอักษรเบรลล์สำหรับคนมองไม่เห็น แถมยังสวยสำหรับคนมองเห็น, แผนที่และแปลนบ้านที่อ่านได้โดยคนตาบอด ฯลฯ

ทั้งหมดทำให้เราเห็นว่าศาสตร์ Multisensory Design ทำให้เกิดผลิตผลที่ไม่เพียงลบแนวคิด Ocularcentrism ที่ดวงตาเป็นใหญ่ แต่ยังสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลให้แก่ทุกคนโดยเฉพาะผู้พิการ

 

บทความ Inclusive Museum ในหนังสือ เขียนโดย Sina Bahram ผู้ก่อตั้ง Prime Access Consulting ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบที่ผู้พิการเข้าถึงได้แก่บริษัทสตาร์ตอัพและแล็บทดลองทั่วโลก เล่าผ่านมุมมองของเขาเองที่เป็นผู้พิการทางสายตาแต่กำเนิด ถึงประสบการณ์เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในวัยเด็ก ที่แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทางลาดสำหรับผู้พิการหรือประตูเปิดปิดอัตโนมัติ แต่ประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงเพียงผู้มีสายตาปกติ นำเสนอข้อมูลผ่านการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ทำให้เขาต้องถูกแยกออกมาจากกลุ่มเพื่อน และพาเดินอย่างโดดเดี่ยวโดยสตาฟพิพิธภัณฑ์ที่นำหูฟังเปิดเสียงนำชมให้ใส่

ประสบการณ์นั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาพิพิธภัณฑ์แบบ Inclusive Museum พิพิธภัณฑ์ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน เต็มไปด้วยการออกแบบ Tactile Interface หรืออินเตอร์เฟสที่จับต้องได้ ทำให้เด็กและผู้พิการไม่ว่าด้านไหนก็ตามสามารถเข้าถึงข้อมูลในทุกห้อง และเดินอย่างสนุกสนานร่วมไปกับกลุ่มเพื่อนของเขา

 

Multisensory Design จึงไม่ใช่ศาสตร์เพื่องานออกแบบที่ล้ำหน้า แต่คือศาสตร์การออกแบบที่ทำให้เราถอยกลับมา คิดถึงประสาทสัมผัสทั้งห้า และผู้คนที่แตกต่างจากเรา เพื่อนับรวมพวกเขาทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save