fbpx
ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง และแสงสว่างของเหตุผล

ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง และแสงสว่างของเหตุผล

ธร ปีติดล เรื่อง

นันทภัค คูศิริรัตน์ ภาพประกอบ

 

“…แต่ว่าสิ่งที่สุดท้ายแล้วเราจะจดจำ ก็อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่เราได้พบเห็น”

ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง (The Sense of an Ending) เป็นนวนิยายที่เขียนโดยจูเลียน บาร์นส์ นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ได้รับรางวัล Man Booker Prize รางวัลอันทรงเกียรติที่ให้กับนวนิยายที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษในปี 2011 และในปีที่ผ่านมายังถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์

นวนิยายเรื่องนี้เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่ออดีตที่ผสมผสานไปกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ การจดจำถึงการเติบโตในวัยเยาว์ ความรักและความสัมพันธ์ที่ร้าวราน และความรู้สึกผิด ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของชายชราผู้ซึ่งถูกเหตุการณ์ไม่คาดคิดพัดพาเรื่องราวอันเป็นปมของชีวิตให้ย้อนกลับมาหา

โทนี่ ชายในวัยเกษียณ ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งอย่างคาดไม่ถึง จดหมายฉบับนั้นพาภาพจำของคนสองคนที่สำคัญในชีวิตของเขากลับมา คนแรกคือเพื่อนสนิทที่ชื่อเอเดรียน และคนที่สองคือคนรักเก่าที่ชื่อเวโรนิกา

เอเดรียนคือเพื่อนที่โทนี่รู้จักตั้งแต่วัยมัธยม เขาฉลาดหลักแหลมเกินวัย และเป็นดาวเด่นที่ดึงดูดทุกคนในกลุ่มเพื่อน ความคิดของเอเดรียนเฉียบคมและน่าติดตามเสมอ เมื่อนวนิยายเล่าถึงประสบการณ์ที่โทนี่จดจำได้ในวัยเรียน เขายังระลึกได้ว่าเมื่อครั้งครูประวัติศาสตร์ตั้งคำถามท้าทายว่าใครควรจะเป็นคนรับผิดชอบต่อการเกิดขึ้นของเหตุการณ์อย่างสงครามโลก นักเรียนทั่วไปต่างถกเถียงกันอย่างหาจุดจบไม่ได้ แต่คนอย่างเอเดรียนวิเคราะห์คำถามไปได้ไกลกว่าทุกคน และตอบว่า

“…ความต้องการที่จะถามหาความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ก็คงสะท้อนมุมมองของตัวฉันกับเรื่องที่เกิด มากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์อย่างเที่ยงตรง คำถามแบบนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาพั้นฐานของประวัติศาสตร์ ปัญหาที่ว่าการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยหรือภววิสัยมากกว่ากัน”

เวโรนิกา ทิ้งความรักที่ปวดร้าวไว้กับโทนี่ ความสัมพันธ์ที่เขามีกับเธอนั้นแปลกประหลาด ในขณะที่เขาหลงใหลในตัวเธอแต่เขาก็หวั่นไหวไปในเวลาเดียวกัน เวโรนิกากำหนดกฎเกณฑ์ให้โทนี่ต้องคอยทำตามและคอยปลุกความรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเองของเขา ความรู้สึกด้อยกว่าของโทนี่ถูกย้ำเป็นบาดแผลในจิตใจเมื่อเวโรนิกาพาเขาไปพบครอบครัวของเธอ โทนี่จำความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดขึ้นอย่างล้นเหลือมาถึงทุกวันนี้

เอเดรียนและเวโรนิกาเป็นตัวแทนของความทรงจำที่ถูกกรองผ่านความรู้สึกผิดหวังของโทนี่สองแบบ เอเดรียนเป็นเหมือนสิ่งที่โทนี่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นแต่ไม่มีวันเป็นได้ ในขณะที่เวโรนิกาคือสิ่งที่โทนี่อยากจะครอบครองแต่ก็ไม่เคยครอบครองได้

ความร้าวรานที่สุดของโทนี่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเลิกรากับเวโรนิกาไปแล้ว ในวันที่เขากำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาได้รับจดหมายจากเอเดรียน เพื่อนรักของเขาบอกว่าตอนนี้ตนเองกำลังคบหากับเวโรนิกา โทนี่จำได้ว่าแม้จะรู้สึกเศร้าและโกรธอย่างมากมาย แต่เขาก็ตอบกลับไปแสดงความยินดีกับรักครั้งใหม่ของเพื่อน

นวนิยายไม่ได้เล่าถึงชีวิตของโทนี่หลังจากนั้นเท่าไร เล่าเพียงว่าเขาออกเดินทางไปโดยไม่ได้สนใจติดต่อกับใครอื่นเป็นเวลานาน และเมื่อกลับมาพบปะกับครอบครัวและเพื่อนฝูงอีกครั้ง ก็ได้ทราบข่าวสำคัญ… หลังจากคบกับเวโรนิกาไม่นาน เอเดรียนก็ฆ่าตัวตาย

เหตุผลในการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองของเอเดรียนกลายเป็นปริศนา แต่โทนี่ก็ไม่ได้ใส่ใจพอที่ค้นหาคำตอบ ตราบจนวันที่เขาได้รับจดหมายที่ไม่คาดคิดฉบับนั้น

 

ภาพจากเว็บไซต์ goodreads

 

การโกหกตัวเองและความเป็นกลาง

 

ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง ถ่ายทอดเรื่องราวให้คิดไว้มากมาย นวนิยายตั้งคำถามกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ ความเป็นไปได้ของเหตุผลในการจบชีวิตตนเอง รวมถึงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนในความรักและความสัมพันธ์ อย่างไรก็ดี แง่มุมที่ผู้เขียนอยากหยิบมาเล่าถึงมากที่สุด คือเรื่องของมุมมองของมนุษย์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อได้กลับมาทบทวนอดีตของตนเองอีกครั้ง โทนี่กลับรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง เขาตามหาจนพบกับเวโรนิกาในวัยชรา การได้พูดคุยกับเวโรนิกาอีกครั้งทำให้เขาพบว่าตัวเองไม่ได้จดจำทุกอย่างไว้ตามที่มันเป็นจริง ยิ่งเมื่อเวโรนิกานำจดหมายที่เขาคิดว่าถ่ายทอดเพียงคำอวยพรต่อความรักของเพื่อนสนิทมาให้อ่านอีกครั้ง เขากลับพบว่าที่จริงแล้วมันเป็นจดหมายที่เต็มไปด้วยคำผรุสวาทและสาปแช่ง

“บางส่วนของฉันอยากให้พวกแกทั้งสองมีลูกด้วยกัน เพราะฉันเชื่อเหลือเกินว่าวันหนึ่งกฎแห่งกรรมจะมาลงโทษพวกแกทั้งสองต่อไปในรุ่นลูกรุ่นหลาน”

โทนี่เพิ่งเข้าใจว่าเรื่องราวที่เขาจดจำมานานหลายสิบปีนั้น เป็นแค่เรื่องราวแบบที่เขาต้องการจะจำ เรื่องราวของการถูกทรยศ การถูกทำให้รู้สึกด้อยค่า เขาแค่อยากจะรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไปแบบนั้นเพราะเขาเป็นฝ่ายแพ้ คำสอนจากครูประวัติศาสตร์ผุดขึ้นมาอีกครั้งในหัวของเขา “ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องที่ถูกแต่งโดยผู้ชนะ แต่ยังเป็นเรื่องโกหกตัวเองของผู้แพ้”

คงเป็นเช่นคำที่เอเดรียนกล่าวไว้ สิ่งที่ใครต่างจดจำก็สะท้อนมุมมองของตัวเขาเอง การโกหกตัวเองเช่นที่เกิดกับโทนี่นั้นสะท้อนความเปราะบางในตัวมนุษย์ เรามักจะเลือกมองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันผ่านมุมที่เราอยากจะมอง จนท้ายที่สุดแล้วเราอาจแยกสิ่งที่เราเข้าใจออกจากความรู้สึกของเราไม่ได้เลย

ผู้เขียนอยากนำเอาแง่มุมนี้จากนวนิยายมาตั้งคำถามสำคัญต่อไป หากมุมมองของมนุษย์ล้วนถูกบดบังจากความรู้สึกไม่มากก็น้อย มนุษย์จะสามารถมีมุมมองที่เป็นกลางต่อเหตุการณ์ต่างๆ หรือไม่ ความเป็นกลางที่เราคาดหวังว่าจะทำให้การตัดสินต่างๆ ของมนุษย์นั้นมีความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงหรือ?

อมาร์ตยา เซน พยายามตอบคำถามเช่นนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง The Idea of Justice เขาอธิบายว่าความเป็นกลางเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แม้ว่ามนุษย์จะไม่อาจเลี่ยงผลจากอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เซนหยิบเอาแนวคิดของจอห์น รอลส์ และ ฮาเบอร์มาส มาสนับสนุนคำอธิบาย

สำหรับรอลส์ ความเป็นกลางทั้งในด้านมุมมองต่อศีลธรรมและการเมือง จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการใช้เหตุผล คำตอบต่อเรื่องราวต่างๆ จะเป็นกลางได้ก็เมื่อกระบวนการหาคำตอบถูกทดสอบอย่างเพียงพอ ด้วยกระบวนการใช้เหตุผลและการหาหลักฐานสนับสนุน  มุมมองของฮาเบอร์มาสมักจะถูกนำมาแย้งกับรอลส์ ฮาเบอร์มาสไม่ได้ให้ความสำคัญกับความจำเป็นของเหตุผล แต่เน้นว่ากระบวนการที่จะนำมาซึ่งความเป็นกลางได้ จะต้องเป็นกระบวนการที่ ‘เปิดกว้าง’ ให้มุมมองที่หลากหลายแตกต่างได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน จะมีข้อแม้ก็แค่ว่าต้องเป็นมุมมองที่เท่าทัน (informed) เพียงเท่านั้น

เซนมองว่าทั้งรอลส์และฮาเบอร์มาสไม่ได้มีจุดยืนที่ต่างกันมาก ทั้งคู่ต่างเน้นย้ำว่าความเป็นกลางของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความเป็นไปได้นั้นก็มาจากการที่มนุษย์มีกระบวนการแลกเปลี่ยนมุมมองและเหตุผลซึ่งกันและกัน ความต้องการของฮาเบอร์มาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองด้วยความเปิดกว้างต่อความเห็นและข้อมูล แท้จริงก็ไม่ได้ต่างอะไรมากมายกับความต้องการของรอลส์ที่ยึดเหตุและผลในการแลกเปลี่ยนมุมมอง

เพราะฉะนั้นแล้ว หากจะถามย้อนไปถึงเรื่องราวที่เกิดกับโทนี่ แม้มนุษย์ทุกคนล้วนมีมุมมองที่ถูกบดบังด้วยความรู้สึกจนไม่อาจมีความเป็นกลางได้ แต่ในมุมของเซน เขามองว่ามนุษย์อาจหลีกเลี่ยงปัญหาเช่นนี้ได้ ผ่านการเปิดกว้างให้สิ่งที่เรามองเห็นถูกสะท้อนจากมุมอื่นๆ ให้มากที่สุด

 

แสงสว่างของเหตุผล

 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของอมาร์ตยา เซน ก็ยังมีแง่มุมให้ถกเถียงได้อีกอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก อาจมีคำแย้งได้ว่า การนำเอาเหตุผลมาเป็นกระบวนการหลักในการสนับสนุนความเป็นกลาง เป็นการตั้งความหวังเกินไปไหม เพราะแท้ที่จริงแล้วความมีเหตุและผลของมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้ คนเราอาจหาเหตุผลใดๆ ก็ตามมาสนับสนุนมุมมองที่ตนเองต้องการได้เสมอ

ในนวนิยาย ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง หลังจากเอเดรียนตัดสินใจจบชีวิตตนเองลง คำถามที่ค้างคาอยู่ก็คือ การตัดสินใจจบชีวิตตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลจริงๆ หรือ ในวันที่โทนี่รับรู้เรื่องราวการจากไปของเอเดรียน แม่ของโทนี่ตั้งคำถามว่า

“เธอว่ามันเป็นเพราะเขาฉลาดเกินไปหรือเปล่า… ถ้าใครบางคนมีสติปัญญาได้ขนาดนั้น เขาก็คงจะหาเหตุผลที่จะทำทุกอย่างได้”

ความเชื่อมั่นในคุณค่าของเหตุผลเป็นสิ่งที่ถูกท้าทายอยู่เสมอ อมาร์ตยา เซน ยอมรับว่าหลายๆ สิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ล้วนถูกสนับสนุนด้วยเหตุผลบางประการเช่นกัน ระบบการเมืองที่กดขี่และทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของสตาลินและพอลพต ก็ล้วนแต่สร้างตนเองบนหลักการของการมีเหตุผล

หากความมีเหตุผลถูกนำไปใช้สนับสนุนเรื่องเลวร้ายได้ เราควรจะหยุดให้คุณค่ากับเหตุผลหรือไม่? เซนตอบคำถามนี้โดยอธิบายว่าแท้ที่จริงสภาพที่นำไปสู่การใช้เหตุผลเพื่อสนับสนุนการกระทำที่เลวร้าย ก็คือการปล่อยให้เหตุผลไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอ ความเลวร้ายของระบบเผด็จการไม่ใช่การไม่มีเหตุผล แต่คือการที่เหตุผลของระบบเหล่านี้ไม่สามารถถูกนำไปถกเถียงต่อด้วยมุมมองและข้อมูลที่ต่างไป ทั้งการกระทำของระบอบเผด็จการยังไม่อาจถูกตั้งคำถามได้อย่างเปิดกว้าง

ประการที่สอง หากเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งในคุณค่าของเหตุผล เราควรจะละทิ้งความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึกไปหรือไม่ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์จะมีที่ทางใดในสังคมที่แสวงหามุมมองที่เป็นกลางและความยุติธรรม

อมาร์ตยา เซน ตอบคำถามนี้โดยการยอมรับว่ามนุษย์ไม่มีวันหนีจากอิทธิพลของอารมณ์ความรู้สึกไปได้ คนที่มีเหตุผลก็ควรยอมรับว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ก็มีลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การยอมรับนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเลือกปฏิเสธบทบาทของอารมณ์หรือเหตุผล เพราะการมองว่ามนุษย์ต้องเลือกระหว่างเหตุผลหรืออารมณ์นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด แท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันในการนำมาซึ่งความเป็นกลางและความยุติธรรมได้

ในด้านหนึ่ง การมีอารมณ์ความรู้สึก ก็สามารถทำให้คนเราสามารถเข้าถึงความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ที่ประสบเคราะห์กรรมได้ ทำให้เราแสวงหาความยุติธรรมด้วยความรู้สึกเห็นใจคนอื่น หรือกระทั่งด้วยความรู้สึกต่อต้านความอยุติธรรม และในอีกด้านหนึ่ง เมื่ออารมณ์ความรู้สึกเข้ามามีบทบาท เราก็ควรจะยอมให้สิ่งที่เรานึกคิดได้รับการทดสอบด้วยเหตุผลด้วยเช่นกัน ทั้งเหตุผลของตัวเราและเหตุผลจากมุมมองอื่นๆ เพื่อให้เราไม่ถูกชี้นำไปในทางที่มืดบอด

 

อ้างอิง

Barnes, Julian (2011). The Sense of an Ending. London: Jonathan Cape (ฉบับภาษาไทย ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง แปลโดย โตมร ศุขปรีชา พิมพ์โดยไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง)

Sen, Amartya (2010). The Idea of Justice. London: Penguin.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save