fbpx

‘จากอดีตผู้ถูกคุมขังสู่หมอดูไพ่ยิปซี’ ชะตาชีวิตที่เลือกได้ เพราะมีคนรอบข้างโอบอุ้มให้เริ่มต้นใหม่

ถ้าถามว่าอะไรจะทำให้ชีวิตมนุษย์ยุคใหม่รู้สึกสั่นคลอนได้มากที่สุด สิ่งนั้นน่าจะเป็นสัญญาณอาชีพเลี้ยงปากท้องกำลังมีปัญหา 

ยิ่งอยู่ในฐานะที่ไม่ได้มีเงินอยู่ก้นถุงรองรับ ไม่มีสวัสดิการจากที่ไหนคอยปลอบประโลมให้อุ่นใจ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน ค่าครองชีพพุ่งสูง ความเสี่ยงที่จะตกงานเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ยืนบนปากเหวแบบนี้ ไม่มีใครอยากนึกถึง

หนึ่ง (นามสมมติ) วัย 46 ปี รู้สึกถึงความสั่นคลอนนี้มานาน หลังจากได้เข้าทำงานโรงงานแบบสัญญาจ้าง (sub-contact) เธอรู้ว่าวันใดวันหนึ่งตัวเองจะต้องเป็นผู้ที่ ‘ถูกเลือก’ ให้ตกงานก่อนใคร ไม่ใช่แค่เพราะอายุที่อยู่นอกเกณฑ์รับจ้างงานของบริษัทเท่านั้น

แต่เพราะเธอเคยมีคดีติดตัวและผ่านการเข้าไปอยู่เรือนจำมาแล้วนับ 10 ปี

ย้อนกลับไปปี 2553 หนึ่งถูกจับกุมที่ร้านเสริมสวยของตัวเองโดยตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 15 คน ทั้งหมดเข้าไปค้นร้านเธอและพบเงินที่เกี่ยวพันกับยาเสพติด โดยที่เจ้าตัวไม่รู้มาก่อนว่าการรับจ้างเก็บเงินกู้จะเกี่ยวข้องกับคดีร้ายแรง แต่ด้วยหลักฐานทางการเงินและความรู้ด้านกฎหมายที่จำกัด ทำให้หนึ่งถูกตัดสินในข้อหา ‘ร่วมจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติด’ ต้องจำคุก 28 ปี 6 เดือน

ชีวิตในเรือนจำ 10 ปี ทำให้หนึ่งมีประสบการณ์ใช้ชีวิตใน 3 เรือนจำ พบเจอภาวะอึดอัด การต่อสู้ แย่งชิง การใช้ชีวิตให้รอดด้วยตัวคนเดียว และการเริ่มต้นใหม่ จนทำให้เธอได้เรียนรู้การอ่านไพ่ยิปซี และกลายเป็นหมอดูที่ทายอนาคตให้กับเพื่อนๆ หลังกำแพง ก่อนที่หนึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และสามารถขอพักโทษออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้ 

เล่าเพียงเท่านี้อาจสรุปเหตุการณ์ชีวิตของเธอได้เพียงไม่กี่บรรทัด แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเธอไม่ได้มีเงินตั้งตัวมากพอจะกลับมาทำธุรกิจเดิม และต้องเริ่มอาชีพหมอดูที่ไม่สามารถสร้างรายได้จุนเจือมากพอ การมีอาชีพที่สองและสามจึงเกิดขึ้นบนความรู้สึกกังวลต่อการถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ  

นี่คือเรื่องราวของอดีตผู้ถูกคุมขังที่พยายามจะกลับเข้าสู่สังคมเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ความหวังที่อยากดำรงชีวิตได้แม้จะเคยถูกตัดสินคดีมาก่อน และความฝันที่อยากเห็นสังคมเปิดรับให้คนหลังกำแพงได้ใช้ชีวิตนอกกำแพงได้ เมื่อพวกเขาพ้นผิด

เมื่อความหวังเรื่องปากท้องกลายเป็นความผิดต่อกฎหมาย

หนึ่งเป็นคนจังหวัดอ่างทอง ย้ายมาทำงานในจังหวัดอยุธยาด้วยการเปิดร้านเสริมสวยในย่านอุตสาหกรรม เธอบอกว่าการเป็นช่างแต่งหน้าทำผมแถวนี้มีรายได้ดี “มันมีแต่โรงงาน คนมาอยู่เยอะ มันเป็นแหล่งชุมชนเลย” หนึ่งเล่าสภาพแวดล้อมให้เห็นภาพร้านเสริมสวยที่มีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ทำให้เธอไม่มีเวลาเลี้ยงลูก จึงจำเป็นต้องส่งให้คนรู้จักช่วยเลี้ยงอยู่ต่างจังหวัด

“พอสามีเสียชีวิต เราก็ต้องหาเงินคนเดียว พอเริ่มหาเงินคนเดียวไม่ไหว ก็ต้องเริ่มหารายได้เพิ่ม” หนึ่งไล่เรียงค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่ค่ากินอยู่ ค่าจ้างเลี้ยงลูก แยกกับค่านมและแพมเพิร์ส ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์เสริมสวย และค่าจ้างผู้ช่วย ดังนั้น การทำอาชีพเดียวไม่อาจทำให้ปากท้องอิ่ม

“มีคนมาทำผมที่ร้าน แล้วบอกว่าถ้าอยากได้รายได้ ไปรับเก็บเงินกู้สิ ได้เงินประมาณ 2,000-3,000 (บาท)” ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นงานยากและใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเก็บเงินตามนัด จากนั้นโอนเงินให้กับเบอร์ที่โทรมาสั่งให้ไปรับเงิน หนึ่งบอกว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในที่แจ้ง ทำในเวลากลางวัน ทำให้เธอไม่ระแคะระคายว่าการรับเงินเหล่านี้จะนำไปสู่อะไร

“มีวันหนึ่งตำรวจอนอกเครื่องแบบเข้ามาร้านประมาณ 15 คน มาค้นๆ แล้วจับเราโดยไม่มีหมายค้นอะไรเลย บอกว่าเงินที่เราเก็บมาเป็นเงินยาเสพติด เราบอกไม่รู้เลย เพราะเขาบอกให้ไปเก็บเงินกู้” 

ก่อนวันที่ตำรวจจะเข้ามาจับกุมหนึ่ง เธอขับรถไปเก็บเงินตามคำสั่ง และนำเงินนั้นกลับมาไว้ที่ลิ้นชักที่ร้านก่อน เมื่อตำรวจมาค้นเจอแล้วพบว่าเงินก้อนนี้เป็นหลักทรัพย์ที่ตำรวจนำมาใช้ล่อซื้อยาเสพติด และติดตามเส้นทางการเงินจนมาถึงร้านเสริมสวย ทำให้เธอต้องถูกฝากขังในเรือนจำทันที

“คือเราก็ไม่รู้เรื่องเลย บอกเขาไปว่านึกว่าเก็บเงินกู้ เราปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องยาเสพติดเลย แต่เขาก็ไม่ฟัง เราก็ไม่รู้จะทำยังไง” หนึ่งเล่า

ด้วยข้อจำกัดทางความรู้เรื่องกฎหมายทำให้หนึ่งถูกจับฝากขังในวันนั้น ก่อนจะได้พูดคุยกับทนายอาสาที่เข้ามาทำคดี และคุยกับคนในเรือนจำที่ถูกตัดสินในคดียาเสพติด

“ทุกคนบอกว่าสู้คดีได้ แต่ถ้าแพ้จะโดนจำคุกตลอดชีวิตนะ เพราะตอนนี้เจ้าหน้าที่มีหลักฐาน คือเงินที่ตำรวจเอามาล่อซื้อ เบอร์โทรศัพท์เราที่คุยกับนาย ก. (นามสมมติ) ซึ่งเป็นคนที่โทรบอกให้เราไปเอาเงิน และมีรูปถ่ายเราตอนที่ไปรับเงิน ศาลเลยตัดสินว่า เป็นการร่วมกันจำหน่ายและจำหน่าย เท่ากับว่าเจอสองข้อหาเลย และจะหนักตรงกับคำว่า ‘ร่วม’ โทษทั้งหมดนี้ต้องจำคุกตลอดชีวิต แต่เพราะเป็นคดีแรก เลยลดเหลือ 50 ปี พอรับสารภาพก็เหลือ 28 ปี 7 เดือน” คำถามคือแม้ว่าเธอจะไม่รู้เรื่องและเป็นเพียงคนเก็บเงินจำเป็นต้องได้รับโทษหนักขนาดนี้เลยหรือ

“เอาจริงๆ เราก็ไม่รู้จะสู้ยังไง เราไม่มีพยาน ไม่มีความรู้ มีแค่ตัวเราบอกได้ว่า เราไม่รู้เรื่อง คิดแค่ว่าเขาให้ไปเก็บเงินกู้ แต่ในศาล เขามีเอกสารมาวางกองตรงหน้าแล้วบอกว่า เรามีส่วนเกี่ยวข้อง มันก็ไปเถียงอะไรไม่ได้”

ปี 2553 หนึ่งต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำคนเดียวทันที โดยไม่ได้ติดต่อบอกญาติ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งได้เจอหน้าลูกที่ฝากเลี้ยงเอาไว้เลย

10 ปีชีวิตใน 3 เรือนจำ สู่อาชีพหมอดูไพ่ยิปซี

ตั้งแต่มีการจัดทำรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำในแต่ละปี พบว่า เรือนจำทั่วโลกมีพื้นที่แออัดมากขึ้นเรื่อยๆ และโดยส่วนใหญ่มักเข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยคดียาเสพติด รายงาน Global Prison Trend ปี 2022 พบว่า มีคนมากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลกต้องถูกคุมขังในเรือนจำ เพราะคดียาเสพติด เนื่องจากการกำหนดบทลงโทษทางอาญาโดยไม่ได้สัดส่วนในกฎหมายยาเสพติดให้โทษ แม้ว่าช่วงหลังมานี้จะมีความพยายามปรับปรุงกฎหมายและสร้างมาตรการปราบปรามยาเสพติดใหม่แล้วก็ตาม  

ในกรณีของหนึ่ง ศาลได้ตัดสินคดีภายใต้ พ.ร.บ. ยาเสพติดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งยังเป็นฉบับเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับลดโทษทางอาญาให้เหมาะสมอย่างฉบับปัจจุบัน ทำให้เราเห็นภาพตัวอย่างชัดว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ต้องเดินเข้าเรือนจำด้วยโทษสูง จำคุกระดับ 20 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต ทำให้มีนักโทษจำนวนมากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเดียวกัน เพิ่มความแออัดและการจัดการในเรือนจำมากขึ้น อย่างในคดีของหนึ่งเอง เมื่อศาลตัดสินโทษสูง เธอจึงต้องย้ายเข้ามาอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง  

“จากตอนแรกอยู่ในเรือนจำอยุธยาจะมีคนน้อยกว่านี้ แต่พอมาที่ (ทัณฑสถาน) หญิงกลาง คนเยอะมาก มีนักโทษประมาณ 4,000 คน ความวุ่นวายก็ตามมา เราไปอยู่แล้วอึดอัดมาก เด็กใหม่ที่เข้าไปอยู่อยากกลับบ้านหลายคน บางคนอยากตาย เพราะคนอยู่มานานก็แสดงความเป็นเจ้าถิ่น  เช่น ตอนไปต่อแถวกินข้าว เขาจะมีคนคอยคุมว่าให้เด็กใหม่ไปต่อแถวข้างหลัง แต่คำถามคือถ้าเราไปต่อข้างหลังแล้วเราจะได้กินตอนไหน คนอยู่ตั้ง 3,000-4,000 คน และมีเวลาจำกัด อันนี้ทำให้เกิดการทะเลาะ ความขัดแย้งกัน แก่งแย่งชิงดีกันเยอะเลย” 

“บอกได้เลยว่าคนที่เคยเรียบร้อย ถ้าเข้าไปอยู่ในเรือนจำจะเป็นอีกคนเลย เพราะข้างในมีแต่การแก่งแย่ง ถ้าช้าเราก็จะไม่ได้กิน ไม่ได้อาบน้ำ พอมีการบังคับ เราจะต้องสู้และเร็ว เราต้องแย่งน้ำซักผ้า เราต้องรีบวิ่งไปเก็บผ้า บางคนจะคิดว่าไม่กลัวใคร โดนทำโทษก็แค่นั้น เราสู้ให้ตัวเองอยู่รอดดีกว่า” 

เธอยกตัวอย่างอีกเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นปัญหาความแออัดในทัณฑสถานหญิงกลางคือ ช่วงเวลาอาบน้ำจะมีการกำหนดจำนวน ‘การตักน้ำ’ และจะมีการกำหนดวันสระผม เพื่อจำกัดปริมาณน้ำและรักษาเวลา เนื่องจากความแออัดของจำนวนคน 

ประสบการณ์ที่หนึ่งว่า ตรงกับการรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำปี 2022 ที่ระบุว่าเรือนจำยังคงเป็นสถานที่ที่มีความรุนแรง โดยมีรายงานการทรมานและการใช้กำลังเกินควรต่อผู้ต้องขังในทุกภูมิภาคทั่วโลก บุคคลบางกลุ่มรวม ทั้งผู้หญิง เด็ก บุคคล LGBTQ+ และผู้ที่เพิ่งเข้ามาในเรือนจำต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ความรุนแรงจากผู้ถูกคุมขังและเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ รายงานยังระบุชัดว่า เรือนจำทั่วโลกพบปัญหาขาดแคลนน้ำเฉียบพลัน โดยเฉพาะในประเทศเปราะบาง ทำให้ได้รับผลกระทบความขัดแย้งและการขัดแคลนน้ำ รวมถึงมีน้ำที่ไม่ปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยไม่เพียงพอ 

“พออาบน้ำได้น้อย คนในนี้จะมีปัญหาโรคเกี่ยวกับเชื้อราเยอะด้วยนะ” หนึ่งให้ข้อมูลเสริม 

หนึ่งผ่านความอึดอัดจากการอยู่ทัณฑสถานหญิงกลางได้ไม่ถึงปีก็จำเป็นต้องย้ายเรือนจำ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพในปี 2554 ทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องอพยพคนไปที่อื่น โดยหนึ่งถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำกลางราชบุรี 

“ที่นี่คนน้อย มีคนอยู่ประมาณ 900 คน ไม่จำกัดการใช้ชีวิตเท่ากับ (ทัณฑสถาน)หญิงกลาง ไม่ต้องนับจำนวนตักน้ำ แต่ยังมีกิจวัตรให้ทำเป็นตารางเวลาอยู่ ตื่นนอน 6 โมง ออกกำลังกาย อาบน้ำ กินข้าว กลางวันแบ่งกันทำงานตามกองงาน”

“กองงานจะมีพับถุง ไหมพรม เย็บจักร กองรีด บางทีจะมีคนจากข้างนอกมาจ้างทำงานให้ อย่างพับถุงได้เงินเล็กๆ น้อยๆ กองงานที่ได้เงินเยอะคือ กองงานรีดผ้ากับกองงานปักเครื่องหมาย”

อย่างไรก็ตาม หนึ่งเลือกอยู่กองงานไพ่ยิปซี ซึ่งเป็นกองงานใหม่ในช่วงที่เธอถูกย้ายไปอยู่เรือนจำกลางราชบุรีพอดี เธอยอมรับว่าเลือกอยู่กองงานนี้เพื่อลดความกดดันในการใช้ชีวิตในเรือนจำ เนื่องจากในกองงานอื่นๆ ได้ทำงานแบบเดิม ทั้งเย็บถุงหรือติดเครื่องหมายในแบบคล้ายๆ กัน แต่เธออยากได้ทำงานใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้เรื่องใหม่บ้าง เธอสนใจศาสตร์การพยากรณ์ที่บอกเล่าผ่านไพ่ใบเล็กๆ เหล่านี้ และหลงใหลเสน่ห์การทำนายอนาคตผ่านการหยิบสำรับมาวางเรียงรายต่อหน้าผู้คน

         

“เราสนใจว่าไพ่เป็นกระดาษที่มีรูป แต่ทำไมสามารถอ่านชีวิตคนคนหนึ่งได้ มีคำตอบอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่ในนั้น พออ่านไปแล้วเรื่องมันตรงกับคนข้างหน้า แล้วเขาบอกว่าเราให้กำลังใจเขา บอกแนวทางชีวิตเขาได้ เวลามีคนบอกว่า “มันตรงนะ พี่รู้ได้ยังไง” เรารู้สึกว่ามันมีความลี้ลับในนั้นนะ มีความตื่นเต้น ทำให้เราอยากรู้ว่าคนคนหนึ่งคิดอะไรอยู่ ต้องการอะไรอยู่ เราตื่นเต้นทุกครั้งที่ต้องอ่านดวงใครสักคนแล้วลุ้นว่าจะตรงกับสิ่งที่เขาต้องการไหม”

ความหลงใหลในพยากรณ์ศาสตร์ทำให้หนึ่งสะสมความรู้จนได้รับเลือกให้ไปดูดวงกับลูกค้าคนนอก ภายในร้าน Cook & Coff ร้านอาหารและคาเฟ่ของเรือนจำกลางราชบุรีที่ให้ผู้ถูกคุมขังมาทดลองใช้ความรู้จากกองงานมาประกอบอาชีพจริงกับคนนอกกำแพง 

“เจ้าหน้าที่ให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษมาลองประกอบอาชีพ พอดีเราได้รับพระราชทานอภัยโทษจนลดเหลือประมาณ 5 ปี และสามารถขอพักโทษได้ ระหว่างยื่นเรื่องเราก็ได้ไปที่ร้าน Cook & Coff ในนั้นมีอาหาร มีกาแฟ ใครสั่งอาหารรอนานก็มานั่งดูดวงกับเราได้ ตอนนี้แหละที่ทำให้เราได้ลองมาดูดวงให้กับคนอื่นจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่เพื่อนหรือเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ”

“ซึ่งมันต่างกันนะ เราต้องอ่านไพ่ให้กับคนที่ไม่รู้จัก ต่างจากเมื่อก่อนที่เรายังพอรู้เรื่องเพื่อนในเรือนจำบ้าง คำถามเพื่อนจะมีอยู่แค่ว่า ญาติจะมาหาไหม จะได้เงินไหม ผัวจะรอไหม แม่จะรอไหม เรื่องจะมีอยู่ประมาณนี้”

“แต่การดูคนข้างนอก จะต้องคุยหัวข้อใหม่ เรื่องกว้างขึ้น เราต้องเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เราต้องหาคำพูดมาให้ลูกค้าโอเคและเราโอเค เพราะว่าพอเราโดนกักบริเวณ แล้วมาเจอคนข้างนอกซึ่งโลกเปลี่ยนไปเยอะ เราจะทำยังไงที่คุยกับเขาเข้าใจ” 

“ลูกค้าบางคนจะแนะนำว่า ถ้าเราดูในลักษณะที่มีไพ่อะไรออกมาก็อ่านไปตามไพ่ แล้วก็อ่านกระโดดไปกระโดดมา เขาฟังไม่รู้เรื่อง เช่น ไพ่เงินก็พูดเงิน ไพ่งานก็พูดงาน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะไพ่ออกมาตามคำถามที่เขาถามอยู่แล้ว เราจะต้องตอบคำถามผ่านไพ่ก่อน เขาแนะนำให้เราอ่านเป็นสตอรี พวกเขาจะเข้าใจง่าย เช่น เขากำลังคิดอะไร จะไปไหน เงินจะได้มาตรงนี้ ระวังเสียตรงนั้น พูดเหมือนเราเขียนเรียงความ เราก็ได้เทคนิคมาปรับปรุง”

ก้าวข้ามกำแพงแรก แต่เจอ กำแพงที่สอง

แม้ศาลจะตัดสินให้หนึ่งจำคุกเกือบ 30 ปี เมื่อผ่านไป 10 ปีแล้ว เธอได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทำให้โทษลดลงเหลือจำคุกอีก 5 ปี แต่เธอสามารถขอพักโทษแล้วออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ โดยเงื่อนไขคือ เธอจะอยู่ในการคุมประพฤติ และต้องไปรายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่ตามระยะเวลาที่กำหนดจนกว่าจะพ้นโทษด้วยสมบูรณ์

การพักโทษถือเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยลดความแออัดของผู้ถูกคุมขัง ตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ คือผู้ถูกคุมขังที่ได้รับโทษมาแล้วอย่างน้อย 1 ใน 3 ถึงจะได้รับอนุญาตในการพักโทษ โดยต้องติดต่อญาติมาประสานงานและลงลายเซ็นต์รับรองด้วย

“แต่เราไม่ได้ติดต่อญาติมา 10 ปี เบอร์ใครก็จำไม่ได้ ที่อยู่ใครก็จำไม่ได้ เลยส่งจดหมายไปที่บ้านตัวเองที่จังหวัดอ่างทอง แต่ที่บ้านไม่มีใครอยู่ บ้านป้าก็อยู่คนละตำบล แต่ไม่ไกลกัน” หนึ่งส่งจดหมายไปนานกว่าครึ่งปีก็ไม่ได้รับการตอบกลับ จนกระทั่งเดือนที่ 7 เจ้าหน้าที่เรียกเธอเข้าไปคุยด้วย

“เขาบอกว่าป้าส่งจดหมายกลับมาให้แล้ว แต่วันหลังช่วยบอกป้าด้วยว่าเขียนภาษาให้สุภาพ เพราะเขาเขียนด่าเรายาวเลย มาหมดทุกคำ บอกว่า มึงหายหัวไปไหนมา ไปทำเ-ี้ยอะไรถึงติดคุก” เธอย้อนความหลัง

“แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่าในคำด่า เขาก็ห่วงเรามากๆ เพราะตอนท้ายจดหมาย เขาถามว่า แล้วไปเอาเงินจากไหนมาเขียนจดหมายส่ง เขาใส่เงินมาให้ 500 (บาท) แล้วบอกว่าให้เอาไปใช้จ่ายค่าซองจดหมาย ตอนนั้นเราร้องไห้เลย” 

หนึ่งเชื่อว่าในคำด่าและท่าทีของป้ายังมีการโอบรับเธออยู่ ในวันที่เธอก้าวพ้นกำแพงสูงออกมาใช้ชีวิต ก็ได้ป้าคอยช่วยเหลือชี้ทางบอกให้เธอรู้ว่ามีที่ไหนกำลังเปิดรับคนทำงาน และให้เธอพักอาศัยด้วย เนื่องจากบ้านของหนึ่งผุพังเหลือเพียงแค่สังกะสีและหลังคา

“เขาพูดแรง เขาด่าเราตามประสาชาวบ้าน แต่ถ้าไม่ได้ป้าคอยบอก คอยช่วยเหลือ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง คงไปอยู่ตัวคนเดียว ไม่ก็ไปหาเพื่อนที่เคยอยู่ในเรือนจำด้วยกัน มันก็ต้องสู้อยู่ดี แต่การมีป้า อย่างน้อยเขาก็เป็นครอบครัวเรา เพราะเราก็ไม่เหลือใครแล้ว” 

เมื่อกลับมาอยู่กับป้า หนึ่งกำเงินที่มีติดตัวมุ่งหน้าไปซื้อไพ่ยิปซีทันที เธอคิดว่าจะใช้ศาสตร์ที่ได้จากเรือนจำนี้มาช่วยอ่านชะตาชีวิตคนอื่นและกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง 

“ตอนนั้นคิดไว้แค่ว่า เริ่มจากอันนี้แหละ ดูไพ่ก่อนเลย ไปซื้อไพ่ ยืมมอเตอร์ไซค์คนรู้จักออกไปนั่งรับดูดวงที่ตลาด”

แต่ภาพที่หวังไว้ไม่เป็นไปตามที่คิด เพราะช่วงที่เธอออกมาเป็นช่วงที่กำลังจะเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่ค่อยมีคนเดินตลาดมากนัก ไม่นับรวมว่าคนแถวนั้นยังไม่คุ้นชินกับการดูดวงแบบไพ่ยิปซี 

“มันท้อนะ บางวันก็ไม่ได้เงินเลย ยืมรถเขามาใช้ เติมน้ำมันก็หมดไปแล้ว ไม่รู้จะหาเงินจากไหน” เธอตัดพ้อ “แต่ดีที่ช่วงนั้นได้กลับมาเจอลูกอีกครั้ง ทั้งสองคนโตมากแล้ว เขาไปอยู่บ้านญาติของพ่อมา เพราะหลังจากเราเข้าเรือนจำ คนที่เราฝากเลี้ยงเขาก็ติดต่อไปที่บ้านทางพ่อเด็ก โตมาเจอกัน ลูกบอกว่า “ต่อไปนี้แม่ก็อยู่ด้วยกันนะ ไม่ต้องไปไหนแล้ว เดี๋ยวลูกดูแลแม่เอง เขาก็ไปทำงาน แบ่งเงินให้เรา 200-300 แต่เขาก็ต้องทำงานหนักมากเหมือนกัน” หนึ่งคิดว่านับเป็นความโชคดีที่ลูกเข้าใจ แต่เธอไม่มีเงินซ่อมบ้านที่เหลือเพียงแค่หลังคากับสังกะสี จึงยื่นเรื่องไปทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เนื่องจากมีทุนช่วยเหลือมอบให้กับอดีตผู้ถูกคุมขังได้

“เขามีจำนวนจำกัด เราต้องยื่นเรื่องไปขอ ตอนนั้นจำรายละเอียดไม่ได้มากแล้ว แต่มีน้องๆ โครงการกำลังใจและ TIJ (สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) คอยแนะนำ เราก็ได้ทุนมาซ่อมบ้านอยู่กับลูกแล้วก็ต่อยอดเป็นร้านเสริมสวยด้วยเลย” เธอบอกว่ายังอยากทำอาชีพนี้อยู่ เพราะได้เงินเยอะและเป็นสิ่งที่เธอถนัด แต่ภาพที่คิดไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อเธอเปิดร้านเล็กๆ แถวบ้าน มีลูกค้ามาใช้บริการตัดผม และแสดงความคิดเห็นว่าราคาตัดผม 50 บาทนั้นแพง

“แถวนี้มีแต่คนแก่ด้วย เขาเลยคิดว่ามันแพงเกินไป เราท้อเลยนะ เมื่อก่อนตอนเปิดร้านเสริมสวยที่อยุธยา เราได้เงินเยอะมาก ยืดผมก็ได้แล้ว 3,000-4,000 (บาท) พอมานึกได้ทีหลังว่า ที่เดิมอยู่ในย่านอุตสาหกรรม มีคน มีโรงงาน คนก็มีเงินมาทำได้ แต่เรากลับมาอยู่บ้าน คนเข้ามาก็ต่างไป มันเลยผิดแผนไปหมดเลย”

ในสถานการณ์ที่หนึ่งเจอ เคยมีผู้เชี่ยวชาญในทางธุรกิจอย่าง ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด เสนอทางออกหลังจากทำโครงการให้ความรู้กับผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษว่า ส่วนใหญ่เมื่อคนได้ออกจากเรือนจำแล้วสมัครงานไม่ได้ ก็มักเลือกทำอาชีพขายของหรือขายของชำ ถ้าหากมีการสอนการวางแผนและความเข้าใจพื้นฐานทางการเงินจะทำให้ผู้ต้องขังสามารถบริหารการค้าขายของตัวเองได้ โดยเฉพาะความคิดในเรื่องการจัดการเงิน ปัญหาที่เข้ามาคืออะไร จะแก้ไขได้อย่างไรเพื่อให้รับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด

คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญตรงกับความคิดเห็นของหนึ่งที่คิดว่าน่าจะมีการให้คำแนะนำและเตรียมตัวก่อนออกจากเรือนจำ แต่เมื่อเธอต้องออกมาเผชิญชีวิตด้วยตัวเองแล้ว ทำให้เธอต้องคอยเรียนรู้เองและพยายามหาช่องทางสร้างได้ต่อไป 

“เคยคิดนะว่าถ้าเราเป็นคนขายยาจริงๆ เราคงไปขายยา เพราะมันได้เงินมากกว่า แป๊บเดียวได้แล้ว 30,000 (บาท) ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้” 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เธอเลือกทำคือการมองหาช่องทางต่อยอดอาชีพดูดวงที่ดูมีโอกาสได้เงินมาจุนเจือเพิ่มเติมในครอบครัว

“นึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะลองเป็นหมอกระเป๋า ในที่นี้คนจะเข้าใจว่า เป็นหมอฉีดเสริมความงาม แต่เราหมายถึงหมอดูที่รับไปดูตามบ้านคนอื่นๆ” หนึ่งเริ่มจากการติดต่อเพื่อนที่รู้จัก จัดโปรโมชันดูให้ฟรี แล้วฝากให้เพื่อนบอกต่อๆ รวมทั้งเริ่มเรียนรู้ทำนามบัตร และทำเบอร์ติดต่อให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย 

ไม่เพียงเท่านั้น ลูกยังสอนให้เธอเริ่มใช้สมาร์ตโฟนและประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเข้าถึงและรู้จักหมอดูไพ่ยิปซีคนนี้เพิ่มมากขึ้นอีก

“ลูกบอกว่าแม่ลองไลฟ์ดูดวงสิ ตอนแรกไม่มีใครดูเลยนะ เขาก็บอกให้เราลองพูดไปจนกว่าจะมีคนมาดูนั่นแหละ แล้วก็มีคนมาดู 2-3 คน เราก็พูดของเราไป” เธอว่า 

หนึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักจากการดูดวงมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีรายได้เข้ามาทุกวัน เธอจึงตัดสินใจสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวให้กับโรงงานแห่งหนึ่งเพื่อให้มีรายได้ที่เป็นเงินประจำและแน่นอนเข้ามาบ้าง

“ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าจะได้ทำไหม แต่ตอนนั้นเขาต้องการคนเยอะมาก เขาก็ไม่ได้เช็กอะไร ใครมาสมัครก็รับๆ เลย มันก็ยังรู้สึกโอเคอยู่” หนึ่งยอมรับว่าใจยังคงกังวลและกลัวที่สังคมจะมีภาพกับคนที่เคยเจอคดียาเสพติดมาก่อน แม้เธอจะไม่พูดออกไป แต่เมื่อต้องต่อสัญญางาน หรือมีการตรวจเช็กเอกสารเกี่ยวกับการทำงาน ทุกคนก็จะรู้อยู่ดี

“แต่เราก็เลือกบอกเฉพาะคนที่สำคัญกับเรา เช่น หัวหน้างาน บอกให้เขารู้ไว้ก่อน ซึ่งโชคดีที่เขาไม่ได้ว่าอะไร และบอกเพื่อนบางคนที่สำคัญกับเรา ใครที่สนิทกับเรามาระดับหนึ่งแล้ว เราก็บอก พอเขารู้ เขาก็บอกว่า ‘ไม่เป็นไรหรอกพี่ คนเราเริ่มใหม่ได้’ ได้ยินแบบนี้ มันอุ่นใจนะ เราก็ถือว่าโชคดีที่ได้เจอแบบนี้” 

คนที่ออกจากเรือนจำไม่ได้เลวทุกคน และต้องการการสนับสนุนจากสังคม

ชีวิต 10 กว่าปีที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย หนึ่งได้รับคำถามเสมอว่า ตอนนี้มองชีวิตตัวเองอย่างไร 

“เรายังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมั่นคงนะ ตอนนี้ทำงานเป็น sub-contact โรงงาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาเราออกตอนไหน เพราะอายุ 46 แล้ว ไหนจะเรื่องคดี หรือว่าเขาจะอยากต่อสัญญากับเราไหม เพราะถ้าเขาอยากลดคน เราน่าจะเป็นคนแรกแน่ๆ คิดดูสิว่าถ้าต้องออก อายุเท่านี้แล้วจะไปหางานที่ไหนได้” หนึ่งตัดพ้อกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง

“ทุกวันนี้เราถึงทิ้งอาชีพหมอดูกับช่างเสริมสวยไม่ได้ เสาร์-อาทิตย์วันหยุดเราก็ยังทำ รับดูดวง รับเสริมสวยไปด้วย ใครมาก็ทำ ใครมาก็ดู รับหมด”  

หนึ่งบอกว่าในฐานะคนที่เคยเจอคดีและอยู่ในเรือนจำมาก่อน เธอเข้าใจดีว่าทำไมการหางานและพยายามอยู่ในสังคมนอกกำแพงให้ได้ถึงเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมา เธอเจอเพื่อนร่วมเรือนจำหลายคนที่พ้นโทษไปแล้วยังต้องแวะเวียนมาให้เห็นหน้าอยู่บ่อยๆ 

“วนเวียนเข้า-ออกกันจนเป็นเรื่องปกติ บางคนออกไปไม่เกิน 7 วัน ก็เข้ามาอีกแล้ว เพราะเขาออกไปไม่มีเงินตั้งตัว สังคมไม่รับเขา บางคนไม่มีเงิน กลับไปบ้าน ขอเงินพ่อแม่ที่ก็ไม่มีเงินอยู่แล้ว เขาก็ด่าสิ “กลับมาก็มาขอ ไปอยู่ในคุกน่ะดีอยู่แล้ว” หลายคนเจอถากถางแบบนี้ มีคนหนึ่งที่เล่าว่า พอไม่มีเงินก็ไปหาเพื่อนที่เคยเจอ เขาขายยาก็ไปขายด้วย เพราะมันได้เงินเร็ว คิดว่าถ้าได้มาสักนิดนึงแล้วจะเลิกทำ แต่มันเลิกไม่ได้ สุดท้ายก็โดนจับแล้วกลับเข้ามา” 

“พอเห็นเรื่องแบบนี้ ทำให้เรารู้ว่าอย่าโทษว่าคนที่ออกมาจากเรือนจำแล้วจะต้องเลวทุกคน ดูสถานการณ์รอบข้างด้วย สังคมมีส่วนสนับสนุนให้เขาต้องทำอย่างนี้หรือเปล่า” หนึ่งให้ความเห็นจากประสบการณ์ตัวเอง

“จากใจจริงๆ ถ้าหากนักโทษที่ไม่มีญาติหรือไม่มีใคร แล้วเขาได้ออกมา อยากให้มีหน่วยงานเปิดรับเขามาฝึกวิชาชีพแล้วทำให้เขาได้มีเงิน เช่น สมมติว่าเราออกมา แล้วเราไม่มีใคร แต่มีที่ของหลวงที่ไม่ได้ใช้ มาเปิดเป็นตึกรับจ้างเย็บจักร แล้วมีเงินให้สะสมสร้างตัว ช่วยเหลือให้นักโทษได้มีเงินติดตัวออกมาด้วย จะได้ให้เขาตั้งตัวได้ ไม่ต้องกลับไปยุ่งกับการทำผิดอีก อย่างเราไม่ได้ยุ่งอะไร ยังรู้สึกว่าใช้ชีวิตยากเลย หางานยาก หารายได้ยาก อยากให้มีเงินให้เขาติดตัวสักเล็กน้อยได้เริ่มชีวิตใหม่บ้าง”

“และที่สำคัญคือ อยากให้สังคมเปิดรับเขาด้วย เช่น มีหน่วยงานที่อยู่ในตำบล หมู่บ้านช่วยเหลือเขา ช่วยสอดส่องว่ามีงานอะไรบ้างที่พอให้เขาทำได้ ก็เสนอให้เขาไปทำ บางคนเขาก็ไม่ได้อยากเลว แต่สถานการณ์มันมีเท่านี้ ถ้าหากมีอะไรที่ทำให้เขาตั้งตัว ฟื้นตัวได้ น่าจะดี” หนึ่งกล่าวทิ้งท้าย

ระบบยุติธรรมและการเปิดรับของสังคมต่อมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังในไทย

อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า สถานการณ์เรือนจำทั่วโลกยังคงเจอปัญหาแออัด ผู้ต้องขังล้นพื้นที่เรือนจำโดยการจับกุมในคดียาเสพติดยังมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าคดีอื่นๆ สถิติการคุมขังในไทยปี 2564 (1 ธันวาคม 2564) มีสัดส่วนของนักโทษคดี พ.ร.บ. ยาเสพติดในไทยคิดเป็น 83.44 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษคดีอื่นๆ นำมาสู่การตั้งคำถามถึงกฎหมายและการมองหามาตรการอื่นๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการให้โอกาสคนที่มาจากเรือนจำคืนสู่สังคม

ในประเทศไทยเริ่มมีการใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่การคุมขังแล้วในหลายแนวทาง ทั้งการใช้กำไลอีเอ็ม การคุมประพฤติ และอื่นๆ ส่วนคดีที่มีโทษรุนแรงอย่างยาเสพติดต้องมีการปรับผ่านกฎหมาย ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ ‘ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564’ ที่มีใจความ “ลดทอนความเป็นคดีอาญา” นำมาสู่การจูงใจให้คนเสพหันมา ‘บำบัด’ และการปรับโทษให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม 

พูดอย่างเข้าใจง่าย การปรับกฎหมายครั้งนี้จะลดการสร้างภาพยาเสพติดเป็นผู้ร้ายที่ต้องได้รับโทษสูงสุดด้วยการคุมขัง และเป็นการเปิดทางให้สังคมได้หันมาให้โอกาสผู้ที่เคยถูกคุมขังในคดียาเสพติด เข้าใจบริบท สถานการณ์ของสังคมว่าคนที่เคยผ่านการทำผิดมาก่อนควรได้รับโอกาสเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก

 ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมการปรับให้กฎหมายยาเสพติดใหม่จากโทษอาญาร้ายแรงมาสู่โทษทางปกครองช่วยให้อดีตผู้ถูกคุมขังเริ่มต้นใหม่ในสังคมได้ ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล อาจารย์ประจำคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ความแตกต่างของความผิดทางอาญาและความผิดทางปกครองมีนัยสำคัญ เพราะการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา ทำให้เกิดตราบาป ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก่อให้เกิดผล 2 อย่าง คือ หนึ่ง-ต้นทุนในการเป็นคนที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการลดลง ในความหมายที่ว่า โอกาสที่ผู้กระทำผิดจะกลับไปเป็นคนดีเป็นเรื่องยาก เพราะว่าสังคมไม่ต้อนรับเขา 

สอง-โอกาสที่ผู้เคยทำผิดจะไปสู่สังคมที่ไม่ดีสูงขึ้น เนื่องจากมีทั้งแรงดันจากสังคมส่วนใหญ่และแรงดึงจากกลุ่มที่จูงใจให้ทำผิด 

อย่างไรก็ตาม การแก้ในระดับกฎหมายไม่ได้เป็นเพียงคำตอบเดียวในการทำให้สังคมเปิดรับผู้เคยกระทำผิด และให้โอกาสกลับคืนสู่สังคม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการสร้างทัศนคติและแนวคิดเกี่ยวกับอดีตผู้ต้องขังก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ 

“ลองคิดภาพว่า ถ้าผมบอกว่าผมเคยขับรถฝ่าไฟแดง คนคงเฉยๆ แต่ว่าถ้าผมบอกผมเคยเสพยา ผมว่าคนคงไม่เฉยๆ แล้ว มุมมองสังคมที่มีต่อผู้เสพยาเสพติด ถึงอย่างไรต้องใช้เวลาพอสมควร แล้วจะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างแท้จริง” ทองใหญ่กล่าว

ในแง่มุมคดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาเสพติด บุคคลที่เคยกระทำผิดและถูกคุมขังก็ถูกตีตราจากสังคมไม่ต่างกัน ในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ในหัวข้อ ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน : ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ เมื่อปี 2562 นักวิชาการหลายคนได้เสนอว่าสังคมและชุมชนต้องปรับภาพจำต่อผู้ถูกคุมขังและมองให้เห็นความหลากหลายของผู้คนจากเรือนจำเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมได้

รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทชุมชนว่า โลกให้ความสำคัญกับมาตรการที่ให้ชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเหยื่อ และทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกได้มานานแล้ว แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องยาก ทั้งการสำนึกผิดและการให้อภัยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาพัฒนาส่งเสริมในเรื่องนี้

ส่วน ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเกี่ยวกับภาพจำของผู้ต้องขังและการนำเสนอภาพผู้เคยกระทำผิดผ่านสื่อว่า ภาพข่าวหรือละครยังสร้างภาพจำเกี่ยวกับเรือนจำและผู้ต้องขังในทางลบ เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์เห็นภาพจริงในเรือนจำ จึงไม่เข้าใจว่าผู้ต้องขังมีชีวิตความเป็นอยู่ เงื่อนไข เหตุผล หรือความจำเป็นของชีวิตแบบไหน ทำให้ไม่เข้าใจผู้ต้องขัง การแก้ปัญหาภาพจำและภาพลักษณ์ของผู้ต้องขังจึงเป็นสิ่งที่ควรขับเคลื่อนไปควบคู่กัน

“สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ค่อยมีความจริงจังมากเท่าที่ควรในการทำงานที่จะเข้าไปรื้อทลายภาพแทนในลักษณะแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องราวในเรือนจำจึงเป็นประเด็นโศกนาฏกรรมที่สื่อต้องการสะท้อนออกมา มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ของการสร้างพลัง (empowerment) พื้นที่ของการฟื้นฟู หรือพื้นที่ของการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างคนในเรือนจำและคนที่อยู่ภายนอกเรือนจำ” ชเนตตีกล่าว

“เพราะฉะนั้นจะมีงานน้อยชิ้นมาก ที่นำเสนอในเชิงของ empowerment แต่ในขณะเดียวกันภาพที่ถูกนำเสนอมากคือ สื่อจะไม่ค่อยให้โอกาสกับผู้ต้อง ขังที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

การเปลี่ยนภาพจำต่อผู้ถูกคุมขังใหม่เพื่อให้โอกาสพวกเขากลับคืนสู่สังคมจึงเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องช่วยเหลือกัน สนับสนุนให้พวกเขาเริ่มต้นใหม่ในชีวิตได้ เมื่อผ่านกำแพงที่หนึ่งมาแล้ว พวกเขาไม่ควรเจอกำแพงที่สองจนนำมาสู่การกระทำผิดซ้ำอีก  


ชวนฟังอีกหลากหลายเรื่องราวของอดีตผู้ต้องขังที่ต้องเผชิญอุปสรรคในการใช้ชีวิตหลังออกจากเรือนจำได้ที่รายการพอดแคสต์ The Second Wall [กำแพงที่ 2] โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) โดยสามารถติดตามได้ทาง

Soundcloud : https://soundcloud.com/thesecondwallpodcast

Spotify : https://open.spotify.com/show/1Wi5VVVHQEV2mqReYKgf1U

Podbean : https://www.podbean.com/media/share/pb-vhvvu-12f203c?utm_campaign=i_share_ep&utm_medium=dlink&utm_source=i_share

Google Podcast : https://podcasts.google.com/feed/aHR0cHM6Ly9mZWVkLnBvZGJlYW4uY29tL1RoZXNlY29uZHdhbGwvZmVlZC54bWw

Youtube : https://www.youtube.com/@JustRightChannelTIJ/videos


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save