fbpx

ปราศจากอคติและให้ความยุติธรรม ความหมายของ ‘พิพากษาในพระปรมาภิไธย’

อำนาจตุลาการมีส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจอย่างล้นเกิน

ในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ อำนาจตุลาการมีส่วนต่อความพลิกผันในการเมืองไทยจากการตัดสินคดีทางการเมืองจนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ คดีเกี่ยวกับสถาบันการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แม้ว่าการตัดสินคดีทุกครั้งย่อมทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่คดีที่ทำให้สาธารณะและแวดวงนักกฎหมายเกิดคำถามคือคดีที่ไม่สามารถให้เหตุผลอันกระจ่างชัดมาประกอบคำตัดสินนั้นได้ รวมถึงกรณีที่ปรากฏ ‘อคติ’ ของผู้ตัดสิน

ขณะที่การเมืองภาคประชาชนออกมาส่งเสียงทักท้วงความไม่ถูกต้องชอบธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดปีที่ผ่านมา กระบวนการทางกฎหมายก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย เยาวชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี ประชาชนจำนวนมากยังคงถูกคุมขังเพราะการแสดงความคิดเห็น

ภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้สังคมต้องกลับมาคิดทบทวนกันอีกครั้งว่า องค์กรตุลาการควรทำหน้าที่อย่างไรเพื่อที่จะธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยไม่ทำให้การทำหน้าที่นั้นเป็นชนวนจุดประกายความขัดแย้งในสังคมให้แผ่กว้าง

ประเด็นดังกล่าวนี้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กรรมการกฤษฎีกาและอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้ในงานเสวนา บทบาทตุลาการกับการธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งควรค่าแก่การนำมาพิจารณาอีกครั้งถึงภาพการอำนวยความยุติธรรมในสังคมปัจจุบัน

คำถามสำคัญในบริบทสังคมไทยที่ธงทองตั้งไว้คือ อำนาจตุลาการมีความสัมพันธ์อย่างไรกับอำนาจอธิปไตยและรูปแบบการปกครอง และในสภาพการณ์ปัจจุบันผู้พิพากษาควรทำหน้าที่อย่างไรภายใต้ ‘การทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย’

อำนาจตุลาการช่วงก่อนและหลัง 2475

ธงทองเริ่มต้นด้วยประวัติศาสตร์กฎหมายไทยว่า ระบบที่เกิดขึ้นมาช้านานในแต่ละสังคมคือการมี ‘อำนาจอธิปไตย’ เป็นระบบที่เข้ามาจัดการสังคมให้มีกฎกติกา แก้ปัญหา พัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า รวมทั้งระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยจะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎกติกา มีผู้นำที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ขับเคลื่อนการพัฒนา รวมทั้งวินิจฉัยข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ในยุคสุโขทัยพระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว รวมถึงการตัดสินคดี ขณะที่บ้านเมืองมีขนาดเล็ก พระเจ้าแผ่นดินจะรับหน้าที่ตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง แต่พอมีผู้คนมากขึ้น ปริมาณคดีความก็เพิ่มขึ้นจนเกินกว่าที่พระเจ้าแผ่นดินจะสามารถตัดสินด้วยพระองค์เอง จึงต้องมีผู้ช่วยทำหน้าที่นี้ นำมาสู่เรื่องบทบาทของตุลาการ

อย่างไรก็ดี ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจ้าของอำนาจอธิปไตยคือพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น แม้จะมีผู้ช่วยทำหน้าที่ตัดสินข้อขัดแย้ง แต่อำนาจแท้จริงยังคงอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดิน

แนวโน้มที่น่าสนใจคือ เมื่อเวลาผ่านไปก็มีคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้มากขึ้น ธงทองยกตัวอย่างช่วงรัชกาลที่ 4 ผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยตัดสินคดีคือ ‘พระมหาราชครู’ ในเวลานั้นตำแหน่งว่างลง จึงมีประกาศพระบรมราชโองการให้คนทั้งหลายสามารถเสนอชื่อคนที่ควรจะเป็นพระมหาราชครูคนใหม่ได้

“เวลานั้นอำนาจตุลาการยังไม่ได้แยกออกมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากอำนาจบริหาร ถ้าในวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายจะบอกว่าฝากรวมไว้กับกระทรวง ทบวง กรมทั้งหลาย ยกตัวอย่างกรมนาหรือกระทรวงเกษตรในปัจจุบันอาจจะดูแลการพิพาทในเรื่องที่ดินด้วยก็เป็นได้”

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองหลายประการ มีการแยกอำนาจบริหารกับตุลาการออกจากกัน มีระบบการศึกษากฎหมายแบบใหม่ มีโรงเรียนกฎหมาย มีกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการของศาล คล้ายสำนักงานศาลยุติธรรมในปัจจุบัน

“แม้จะเริ่มมีการก่อตัวชัดขึ้นของระบบอำนาจตุลาการ แต่ยังถือว่าสงวนอำนาจในส่วนนี้ไว้เป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ยกตัวอย่างว่าคำพิพากษาสุดท้ายบางเรื่องของกรรมการศาลฎีกา (คือตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาในปัจจุบัน) ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเป็นชั้นที่สุด”

ธงทองยกตัวอย่างคดีความช่วง พ.ศ. 2466-2467 มีอธิบดีศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ เป็นโจทก์ฟ้องหม่อมเจ้าองค์หนึ่งเป็นคดีอาญา ขณะนั้นคือช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีธรรมเนียมว่า ศาลทั้งหลายมีอำนาจตุลาการ แต่หากเป็นคดีสำคัญต้องทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยจากพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อคู่ความเป็นอธิบดีศาล หม่อมเจ้าซึ่งเป็นจำเลยย่อมเกิดความกังวลเรื่องการลำเอียงเข้าข้างผู้พิพากษาด้วยกัน รัชกาลที่ 6 จึงทรงตั้งศาลรับสั่งพิเศษขึ้นมา ประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 4-5 คน และในรายงานสุดท้ายที่ตัดสินคดีระบุว่า “ฝ่ายจำเลยคงเข้าใจผิดว่า ความยุติธรรมในสยามประเทศมิผ่อนผันเอนเอียงตามฐานะของคู่กรณีที่พิพาทนั้นฤๅ ถ้าจำเลยยังมีความพะวงสงสัยประการใดในข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสนองว่าจำเลยเข้าใจผิดถนัด ตุลาการศาลนี้ย่อมรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่น้อยกว่าตุลาการที่มีอยู่ทั้งหลาย มิยอมเลยให้ผู้ใดมาบั่นความยุติธรรมเล่นได้ แม้จำจะต้องฝ่าอุปสรรคใดๆ ข้าพระพุทธเจ้าก็จะสนองพระเดชพระคุณให้เต็มความสามารถตามหน้าที่อันดีในลักษณะอินทภาษนั้น”

รัชกาลที่ 6 อ่านข้อความนี้แล้วก็เห็นว่า “ผู้พิพากษาได้ใช้วิจารณญาณสอดส่องในคดีอันซับซ้อนยุ่งยากนี้โดยละเอียดลออดีมาก ความเห็นที่แสดงนั้นก็ปราศจากฉันทา โทสา ภยาและโมหาคติ เป็นการถูกต้องด้วยตัวบทกฎหมายและแบบอย่างแห่งดุลยวินิจฉัยไว้ทุกประการแล้ว เราจึงเห็นชอบด้วยตามคำพิพากษาของศาลรับสั่งให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษานั้นเถิด” สุดท้ายเรื่องนี้ก็ปล่อยจำเลย คดีนี้สะท้อนลักษณะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีระบบกฎหมายแบบใหม่ แต่คดีสำคัญยังอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ก็ส่งผลต่ออำนาจตุลาการ ศาลแต่ละประเภทมีกฎหมายรองรับสถานะและบทบาทหน้าที่ในการทำหน้าที่พิพากษาคดี

“ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน มีคีย์เวิร์ดที่เราต้องสร้างความเข้าใจคือ ศาลทั้งปวงที่มีอยู่ในขณะนี้‘พิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ คำนี้มิได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระบรมราชวินิจฉัยสุดท้ายเหมือนตัวอย่างคดีในรัชกาลที่ 6 ที่ยกมาข้างต้น แต่หมายความว่าผู้พิพากษาทั้งหลายมีหน้าที่ต้องพิพากษาอรรถคดีไปตามบทกฎหมาย ไปตามที่เห็นว่าเป็นความยุติธรรม”

เรื่องนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 188 ที่ระบุว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และ ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง

ธงทองชี้ชวนให้สังเกตคำว่า ‘อคติ’ ซึ่งนอกจากจะมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นคำที่ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ในอดีตมักย้ำเตือนกันว่าผู้พิพากษาต้องปราศจากอคติ

‘ตัดสินในพระปรมาภิไธย’ คือหน้าที่รักษาศรัทธาในความยุติธรรม

อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรีและอดีตประธานศาลฎีกา เคยอภิปรายไว้เมื่อปี 2554 โดยในคำอภิปรายได้เชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2546 ในโอกาสที่ผู้พิพากษาไปเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณที่วังไกลกังวล มาแสดงไว้ว่า “ท่านได้เปล่งคำปฏิญาณด้วยความเข้มแข็ง ก็เข้าใจว่า ท่านตั้งใจที่จะทำคำพูดที่เปล่งออกมานี้ ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้าคือ ท่านได้บอกว่าจะได้ปฏิบัติในพระปรมาภิไธย หมายความว่า ข้าพเจ้าถ้าได้เห็นท่านทั้งหลายปฏิบัติดีชอบจริงๆ ก็สบายใจ แต่ว่าถ้าสงสัยว่าท่านจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเดือดร้อน ที่เดือดร้อนเพราะว่าเมื่อปฏิบัติอะไรในพระปรมาภิไธย พูดง่ายในนามของพระเจ้าอยู่หัว ถ้าทำอะไรที่มิดีมิชอบ พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคนที่ทำมิดีมิชอบ ฉะนั้นจะต้องขอกำชับให้หนักแน่นว่าให้ทำตามคำปฏิญาณ เพราะว่าจะทำให้ข้าพเจ้าเองในส่วนตัวและในหน้าที่เดือดร้อน แล้วก็ถ้าข้าพเจ้าเดือดร้อน ก็คงทำให้คนเดือดร้อนมากเหมือนกัน ก็ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม…”

ธงทองเน้นย้ำว่าเรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของตุลาการในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การตัดสินคดีในปัจจุบันเป็นการตัดสินในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลรายคดี

“ผู้พิพากษาจะต้องคิดอย่างที่มีพระราชดำรัสพระราชทานที่ยกขึ้นมา ในเมื่อท่านทั้งหลายทำหน้าที่อันทรงเกียรติและทำหน้าที่ที่คนทั้งหลายจับตามองว่าเป็นการทำงานในพระปรมาภิไธยนั้น สิ่งที่ท่านตัดสินจึงต้องประกอบด้วยเหตุและผล อยู่บนกฎหมาย ปราศจากอคติ

“ถ้าหากท่านไม่ได้ทำแบบที่ว่านั้นจะมีความเสียหายเกิดขึ้นมาก ความศรัทธาของประชาชนที่มีกับความยุติธรรมในประเทศนี้จะสูญหายไป และที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย จะเห็นว่าหากมีความไม่ศรัทธาหรือความไม่เลื่อมใสเกิดขึ้นต่อสถาบันตุลาการก็จะไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเป็นธรรมดา

“ตรงกันข้าม ถ้าผู้พิพากษาสามารถทำหน้าที่ได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากอคติ ก็จะเกิดความยุติธรรมและความพอใจของคนทั้งหลาย และความศรัทธา-ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขย่อมเกิดขึ้นตามมาเป็นเรื่องปกติ” ธงทองกล่าว

‘ปราศจากอคติ’ หลักสำคัญผู้พิพากษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาธารณชนมักให้ความสนใจเรื่องบทบาทตุลาการเมื่อเกิดคดีสำคัญขึ้น โดยเฉพาะคดีความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อสถาบันตุลาการมากขึ้นทุกขณะ

ธงทองยกตัวอย่างว่าคดีเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้ หากจำกันได้ ตั้งแต่คดีบกพร่องโดยสุจริต คดีทำกับข้าวแล้วเป็นลูกจ้างหรือไม่ กรณีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ หรือคดีการให้ปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับผู้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ก็ล้วนเป็นคดีที่สาธารณชนให้ความสนใจ

“หากว่าเราสามารถทำให้มั่นใจได้ว่าศาลหรือผู้พิพากษาได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายและปราศจากอคติ ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนสถาพรของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ หากว่าศาลไม่สามารถจะการันตีให้เกิดความเชื่อมั่นได้ ไม่สามารถแสดงเหตุผล ไม่สามารถทำให้คนวางใจได้ ผลจะเกิดในทางตรงกันข้ามคือบ้านเมืองนี้จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

ธงทองบอกว่า หากเราให้ความเป็นธรรมกับข้อเท็จจริง คงไม่ปฏิเสธว่าเวลานี้มีเครื่องหมายคำถามลอยคว้างอยู่ในอากาศจำนวนมากสำหรับเรื่องเหล่านี้ คำถามสำคัญคือทำอย่างไรศาลจึงจะสามารถพิสูจน์ตนเองต่อสาธารณะได้

เขาเน้นย้ำถึงการทำหน้าที่โดย ‘ปราศจากอคติ’ เรื่องนี้มีปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญ รวมถึงในตัวอย่างคดีสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ยกมาข้างต้น พระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 6 ระบุถึงอคติ 4 ประการที่ผู้พิพากษาไม่ควรมีในการพิจารณาคดี ซึ่งตรงกับ ‘หลักอินทภาษ’ ในกฎหมายตราสามดวง ดังนี้

1. ฉันทาคติ คือความลำเอียงเพราะความรักใคร่ เป็นญาติสนิทมิตรสหาย เป็นวงศ์วานว่านเครือ เป็นพรรคพวก หรือแม้กระทั่งเขานำสินบนมาให้

2. โทสาคติ คือความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง เช่น คนที่เป็นคู่แค้นกับเรามาก่อน เป็นคนที่มีข้อพิพาทกับเรามาก่อน และในปัจจุบันอาจหมายความรวมถึงคนที่เราติดตามข่าวมาแล้วเขาคิดไม่เหมือนเรา ซึ่งน่าคิดว่าอาจเป็นต้นทางของโทสาคติได้

3. ภยาคติ คือความลำเอียงเพราะความหวาดกลัว เช่น กลัวว่าตัดสินไปแล้วเขาจะมาวางระเบิดบ้านเรา กลัวว่าตัดสินไปแล้วเขาจะมาด่าเรา นอกจากนี้ธงทองยังบอกว่ามีความกลัวในรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในแวดวงตุลาการ

“มีเรื่องราวที่เล่าสู่กันฟังว่า มีผู้พิพากษาท่านหนึ่งอยู่ในคิวจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในองค์กรตุลาการ เมื่อท่านเข้าใกล้คิวนั้นไปเรื่อยๆ ท่านก็เล่าให้เพื่อนฝูงและผู้คุ้นเคยฟังด้วยความเต็มอกเต็มใจว่า จากนี้ไปไม่ว่าท่านพิจารณาคดีอะไรก็จะไม่ให้ประกัน เพราะหากให้ประกันแล้วเขาหนีไป อาจเดือดร้อนมาถึงท่านว่าบกพร่องในหน้าที่และถูกครหานินทา สุดท้ายจะทำให้ท่านไม่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงที่ว่านั้น เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นภยาคติ คือกลัวตนเองจะไม่เจริญ” ธงทองกล่าว

4. โมหาคติ คือความลำเอียงเพราะคิดว่าตนเองรอบรู้ทุกอย่าง ติไม่ได้ เตือนไม่ได้ ท่องตัวบทกฎหมายที่เรียนตอนมหาวิทยาลัยได้แค่ไหนก็พอใจอยู่แค่นั้น ไม่ขวนขวายหาความรู้หรือหาเรื่องราวต่างๆ เพิ่มเติม

อคติทั้งสี่นี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้พิพากษาต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ

“การพิสูจน์ตนเองได้คือคำพิพากษานั้นต้องแสดงเหตุผลที่แจ้งชัด มีคำอธิบายที่กระจ่างแจ้งแจ่มใส หากจะไม่ให้ประกันก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะมาตราใด วงเล็บใด อนุไหน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คำพิพากษาคลุมเครือ ความระแวงสงสัยก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา

“คดีทางการเมืองหลายคดีในอดีตพบว่าคำพิพากษาชัดเจนและไม่ได้เถียงกันเรื่องเหตุผล แม้โจทก์อาจจะไม่พอใจในมิติทางการเมืองแต่ก็ไม่ใช่ข้ออภิปรายทางกฎหมาย แต่อย่างในคดีเมื่อเร็วๆ นี้กรณีที่ท่านรัฐมนตรีมีคดีไปศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ผมพิสูจน์ไม่ได้ว่าท่านผู้ตัดสินมีอคติหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ท่านรู้อยู่แก่ใจ แต่สิ่งที่ประชาคมกฎหมายสนใจคือเหตุผลที่ท่านยกมาแสดงนั้น ในสายตาของนักกฎหมายจำนวนมากแล้วสามารถหักล้างได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งดีกว่า”

‘คำพิพากษา-การวางตน’ บทพิสูจน์ตุลาการ

ธงทองมองว่า สิ่งบ่งชี้ว่าผู้พิพากษาคนนั้นมีอคติมากน้อยหรือไม่มีเลยนั้นจะปรากฏอยู่ในเหตุผลที่แสดงไว้ในคำพิพากษา ในระบบคอมมอนลอว์คำพิพากษาของศาลเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมาย นักเรียนในต่างประเทศจึงต้องเล่าเรียนคำพิพากษา หากผู้พิพากษาคนไหนเขียนคำพิพากษาได้สง่างามถูกต้องตามหลักกฎหมายประกอบด้วยเหตุผล คนก็ยกย่องเชิดชูว่าเป็นชั้นครู

“สำหรับเมืองไทย คำพิพากษาของศาลหลายฉบับมีการนำมาเรียนกันในทางว่า ‘นักเรียนอย่าทำแบบนี้นะ’ ส่วนตัวอย่างคำพิพากษาแบบที่ควรทำก็มีอยู่บ้าง แต่พบในสิ่งที่ผิดปกติอยู่เยอะ การแสดงเหตุผลดูอ่อนยวบยาบไม่เพียงพอ”

อีกสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์อคติของผู้พิพากษาคือ ‘การวางตน’ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียที่กลายมาเป็นหลักฐานให้สามารถค้นอดีตย้อนหลังได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พิพากษาพึงระวัง เพราะกระทั่งการแชร์ข่าวหรือความเห็นของผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้ใส่ความเห็นเพิ่มเติมก็สามารถแสดงท่าทีบ่งชี้ถึงความเชื่อบางอย่างได้แล้ว

“เวลานี้มีสื่อหลายอย่างที่สามารถทบทวนย้อนอดีตไปได้ไกลมาก สามารถดูภาพถ่ายบนเฟซบุ๊กทั้งที่ท่านโพสต์เองหรือเพื่อนของท่านโพสต์เมื่อหลายปีก่อนได้ แม้ว่าในภาพนั้นท่านจะอยู่ในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีกิจกรรมทางการเมือง ไม่ได้อยู่บนบัลลังก์ก็ตามที และบางทีมีผู้พิพากษาที่แสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดการสูญเสีย อย่างที่ผมอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจถ้าหากผู้พิพากษาจะแสดงท่าทีอย่างนั้นต่อสาธารณะไว้ เช่น เหตุการณ์ปี 2553 ที่มีการสูญเสียชีวิต”

ธงทองเน้นย้ำว่า การเป็นผู้พิพากษานั้น ไม่ได้เป็นกันเฉพาะตอนแปดโมงครึ่งถึงสี่โมงครึ่งและไม่ได้เป็นเฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เรื่องการวางตนจึงไม่ได้ดูกันเฉพาะระหว่างการพิจารณาคดี แต่ผู้พิพากษาต้องประคองตนให้อยู่ในฐานะที่เป็นที่วางใจของสังคมได้ว่าจะไม่มีอคติในทางการเมือง

“การที่สถาบันตุลาการจะรักษาความสง่างามและทำให้องค์กรปราศจากอคติ แต่ละบุคคลต้องดูแลตนเองให้พ้นจากอคติ ต้องเหลียวดูซึ่งกันและกันด้วย คอยเตือนสติกัน ไม่ใช่แค่ในการตัดสินคดี แต่รวมไปถึงการประคองตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดความแตกแยกในทางการเมืองหลากฝักฝ่ายอย่างนี้ ผู้พิพากษาต้องระวังอย่างยิ่งในการแสดงโมหะในหน้าที่ของตนเอง ท่านบอกว่าท่านมีสิทธิในฐานะประชาชน ผมก็เคารพในฐานะประชาชนที่ว่า แต่อย่าลืมว่าท่านมีหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อตัดสินคดีด้วย” ธงทองกล่าว

สิ่งสำคัญที่จะอำนวยความยุติธรรมในสังคมได้นั้น นอกจากความโปร่งใสของผู้พิพากษาแต่ละคนแล้วยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ‘ระบบที่โปร่งใส’ ทำให้ประชาชนเห็นความชัดเจนในระบบการทำงาน ทั้งคำพิพากษาและระบบการพิจารณาต้องสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล

“ยกตัวอย่างเรื่องการสั่งจ่ายคดี ผมเคยได้ยินกระทั่งว่า คดีหนึ่งจ่ายคดีไปแล้วสุดท้ายถ้าผลออกมาไม่เป็นดั่งใจของผู้พิพากษาที่อยู่ในฐานะตำแหน่งสูงกว่าก็จะเรียกคดีนั้นกลับมา นี่เป็นเรื่องที่ขาดความเป็นอิสระในความเป็นผู้พิพากษาและยิ่งกว่านั้นคือทำให้สถาบันเสื่อม

“ปกติที่ผมเรียนหนังสือมา การพิจารณาคดีในคดีอาญาส่วนมากต้องพิจารณาโดยเปิดเผย การพิจารณาลับจะมีเหตุมีผลพอสมควรในสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้” ธงทองกล่าว

บทบาทตุลาการในการธำรงระบอบการปกครอง

ทั้งการให้เหตุผลในคำพิพากษา การวางตนของผู้พิพากษา และระบบที่โปร่งใส เป็นปัจจัยที่จะทำให้คนในสังคมมีความเชื่อมั่นได้ว่าผู้พิพากษาปราศจากอคติ

“เมื่อผู้พิพากษาทำหน้าที่พิพากษาคดีทั้งหลายในพระปรมาภิไธย ถึงแม้ว่าเป็นการตัดสินใจของศาล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ แต่โดยความเข้าใจของคนทั้งหลาย เมื่อท่านทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย ก็ห้ามไม่ได้หรอกที่คนจะโยงไป โดยเฉพาะเรื่องที่มีมิติการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เช่นในพระราชดำรัส (รัชกาลที่ 9) ที่ผมยกมาข้างต้น

“คำพิพากษาในคดีหนึ่ง ไม่ได้มีผลแค่เฉพาะในคดีนั้น แต่จะเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคม หากเป็นคดีนอกความใส่ใจของสาธารณะ แรงกระเพื่อมก็มีไม่มาก เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงศาล แต่ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในสายตาของสาธารณะ แรงกระเพื่อมก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมานี้

“ขณะเดียวกัน ในเวลานี้ฝ่ายบริหารมีแนวโน้มที่จะเป็นอำนาจนิยมอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นศาลควรทำหน้าที่ของตนเองให้สง่างาม ถ้าพึ่งศาลไม่ได้จะไปพึ่งใคร ทั้งระบบจะถูกปล่อยเสียหายหรือเป็นอันตรายไปด้วย ขอให้ผู้พิพากษาตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของท่าน แล้วประคองตนให้ทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่การให้ความเป็นธรรมเฉพาะคดี แต่หากท่านทำแบบนี้ได้จะเป็นการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสังคม”

อีกเรื่องที่ธงทองเน้นย้ำส่งท้ายคือการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยทั้งสามส่วน

“การใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามส่วน แม้จะแยกเป็นหลักการแบ่งแยกอำนาจ มีการดุลและคานกัน แต่สิ่งที่ผมกังวลคือภาคปฏิบัติในประเทศไทยในเวลานี้ เราต้องตั้งคำถามต่อตัวเราเองว่ามีการดุลและคานกันอย่างที่ว่าหรือไม่ แล้วถ้าคำตอบเป็นไปในเชิงลบ มีสัญญาณที่รู้สึกว่าขาดความสมดุลในเรื่องนี้ ฝ่ายตุลาการก็อย่าปล่อยให้ไม่สมดุลไปด้วย เพราะถ้าไม่สมดุลไปด้วยแล้ว ระบบทั้งหมดล้มแล้ว ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็จะล้ม” เขากล่าวปิดท้าย

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save