fbpx

อินเดีย – ปากีสถาน : จากการรบในสงคราม สู่การรบบนสนามคริกเกต

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

14 กับ 15 เป็นเลขที่มีความสำคัญกับปากีสถานและอินเดียตามลำดับ เพราะวันที่ 14 สิงหาคมคือวันชาติของปากีสถาน และวันที่ 15 สิงหาคมก็เป็นวันชาติของอินเดียตามมาติดๆ ซึ่งมันมีเหตุผลที่วันชาติของทั้งสองประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันนั้นเรียงตามกันมา ไม่ได้เป็นเพราะความบังเอิญแต่อย่างใด เหมือนกับที่ความเกลียดชังของทั้งสองชนชาติก็ไม่ได้เกิดเพราะความบังเอิญเช่นกัน

จุดเริ่มต้นปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ อาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่ามีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าความขัดแย้งทางศาสนามักจะเป็นเรื่องที่ ‘จบไม่สวย’ เสมอ เพราะต้นเหตุของความขัดแย้งเป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลที่เป็นรูปธรรม ความขัดแย้งทำนองนี้มักจะทำให้ปัญหาไม่ยอมจบ นั่นทำให้ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และนับวันยิ่งฝังรากลึก

แม้จุดเริ่มต้นจะเกิดจากปมทางด้านศาสนา ทว่าความขัดแย้งของทั้งสองชาตินี้ก็พัฒนามาเป็นความขัดแย้งในเกือบทุกรูปแบบ ทั้งการรบในสังเวียนสงครามของดินแดนแคชเมียร์ การทำสงครามเศรษฐกิจ และแน่นอนว่ายังรวมถึงสงครามในสนามหญ้าของกีฬาที่มีความนิยมอันดับต้นๆ ของชนชาติเครือจักรภพอย่าง ‘คริกเกต’ ด้วย

ไม่นานมานี้ ราวปลายเดือนตุลาคม 2021 ช่วงที่มีการแข่งขันคริกเกตชิงแชมป์โลกที 20 ก็ยังมีเรื่องความขัดแย้งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ และไม่ใช่กับนักกีฬาหรือในสนามหญ้า แต่เกิดขึ้นกับแฟนๆ กีฬาธรรมดาทั่วไป เพราะมีการจับกุมนักศึกษาแคชเมียร์ 3 คนโดยตำรวจอินเดีย ทั้ง 3 ผู้ต้องหาทำการฉลองชัยชนะของปากีสถานเหนืออินเดียในการแข่งขันคริกเกตรายการนี้ และทั้งหมดถูกตั้งข้อหา ‘ส่งเสริมความเป็นปฏิปักษ์และการก่อการร้ายในโลกไซเบอร์’

นั่นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า หนึ่งในเวทีความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานนั้นมีคริกเกตมาเกี่ยวข้องด้วย และวันนี้ The Rivalry จะพาไปทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอันโหดร้าย จนกลายเป็นสงครามของสองเชื้อชาติที่อาจมีจุดเริ่มต้นอารยธรรมร่วมกัน

นี่คือเรื่องราวความขัดแย้งของอินเดียและปากีสถานในสนามคริกเกต

ก่อนจะมาเป็น อินเดีย-ปากีสถาน

ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พื้นที่แถบชมพูทวีปถูกปกครองในระบบ ‘แคว้น’ เหมือนที่เราเคยศึกษาในวิชาพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าดำเนิน 7 ก้าว คือสัญลักษณ์แทนการเผยแพร่ของพุทธศาสนาไปถึงแคว้นทั้ง 7 และนั่นเป็นตัวอย่างว่าพื้นที่ในแถบนี้ถูกปกครองแบบแว่นแคว้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล จวบจนถูกจักรวรรดิอังกฤษผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของของพวกเขา

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า เดิมทีอังกฤษไม่ได้ต้องการผนวกดินแดนย่านนี้ทั้งหมดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิ ชาวผู้ดีเพียงแค่ต้องการทรัพยากรบางอย่างและช่องทางทำการค้าบนพื้นที่ย่านนี้เท่านั้น แต่จากความวุ่นวายหลังการเสื่อมอำนาจของฝรั่งเศสสืบเนื่องจากการปฏิวัติปี 1789 ประกอบกับการต่อต้านราชวงศ์โมกุลที่ปกครองอินเดียในตอนนั้น กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้อังกฤษเลือกเข้ามาปกครองเหนือพื้นที่ในย่านนี้อย่างเป็นรูปธรรม

จักรวรรดิอังกฤษสถาปนา ‘บริติชราช’ (British Raj) ขึ้นมาเพื่อดูแลอินเดียให้อยู่ภายใต้ความปกครองในปี 1858 โดย บริติชราชประกอบไปด้วยการปกครองสองรูปแบบ คือดินแดนที่ปกครองโดยเจ้าพื้นเมือง กับดินแดนที่ปกครองโดยรัฐบาลกลางที่ถูกเรียกว่า ‘บริติชอินเดีย’ แต่ไม่ว่าจะปกครองแบบไหน ดินแดนทั้งหมดล้วนอยู่ในบังคับของสหราชอาณาจักรทั้งหมด

นับจากการสถาปนาบริติชราช อังกฤษก็ปกครองอินเดียต่อมาอย่างยาวนาน จวบจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะถึงแม้ในสงครามโลกครั้งนั้น อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นผู้ชนะสงคราม แต่พวกเขาก็สูญเสียทรัพยากรไปอย่างมหาศาลจากการสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้จักรวรรดิอังกฤษตัดสินใจวางแผนที่จะปล่อยให้พื้นที่ย่านเอเชียใต้ตรงนี้เป็นเอกราช ท่ามกลางการเคลื่อนไหวแบบสันติอหิงสาของมหาตมะ คานธี และนักเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อทวงความเป็นเอกราชมาสู่ดินแดนแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเอกราช เค้าลางแห่งความขัดแย้งก็กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ผู้คนหลายสิบล้านบนแผ่นดินผืนนี้ และหายนะก็เกิดขึ้นในวันที่จักรวรรดิอังกฤษเปลี่ยนใจลอยแพบริติชราชให้เป็นเอกราชแบบดื้อๆ ทั้งที่มันเร็วกว่ากำหนดเดิมนับ 10 เดือน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ปากีสถาน’ และ ‘อินเดีย’ ที่เต็มไปด้วยเลือดและความสูญเสีย

การจากไปพร้อมทิ้งระเบิดเวลาไว้ของอังกฤษ

ย้อนไปก่อนการประกาศเอกราชของอินเดียและปากีสถานสักนิด ในตอนที่อังกฤษวางแผนจะประกาศเอกราชให้พื้นที่บริติชราช ซึ่งเป็นอินเดียและปากีสถานในปัจจุบัน ในตอนนั้นกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดียก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ส่งมาจากประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ การวิ่งเต้นและพยายามเคลื่อนไหวก็ถูกแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง และชัดเจนขึ้นเป็นระยะ จากหลายความพยายามในการปลดปล่อยบริติชราชให้เป็นอิสระ มี 3 ชื่อผู้นำซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ มหาตมะ คานธี, ชวาหะร์ลาล เนห์รู และมูฮาหมัด อาลี จินนาห์

คานธีและเนห์รูเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันและมีชื่อเสียงร่วมกันในการเรียกร้องเอกราชให้อินเดีย ก่อนที่เนห์รูจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย แต่ทางด้านมูฮาหมัด อาลี จินนาห์มีแนวคิดที่ต่างออกไป อันเนื่องมาจากเขาเป็นชาวมุสลิม ดังนั้นเขาจึงเรียกร้องเอกราชและสิทธิให้กับชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม จนทำให้ท้ายที่สุดจักรวรรดิอังกฤษ ก็ยอมแบ่งบริติชราชออกตามการนับถือศาสนา ซึ่งทำให้พื้นที่ภายใต้การดูแลตรงนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศในท้ายที่สุด นั่นคืออินเดียและปากีสถาน โดยอินเดียคือพื้นที่ของชาวฮินดูและศาสนาอื่นๆ ขณะที่ปากีสถานคือพื้นที่ของชาวมุสลิม

ฟังเผินๆ เหมือนจะดี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ออกมาดีเหมือนแนวคิดที่เกิดขึ้น เมื่อจักรวรรดิอังกฤษตัดสินใจฟ้าแลบถอนทหารออกจากอินเดียภายในเดือนสิงหาคม 1947 ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ราว 10 เดือน ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นบนความเร่งรีบ แม้แต่แผนที่ของทั้งสองประเทศที่ถูกเขียนโดยอังกฤษ ก็ยังเสร็จไม่ทันวันประกาศเอกราชของทั้งอินเดียและปากีสถาน (ตามข้อมูลบอกว่า แผนที่ออกมาหลังวันประกาศเอกราชราว 2 วัน)

นอกจากนี้ การแบ่งประเทศด้วยศาสนา ยังนำมาซึ่งการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ เพราะที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ชาวฮินดู ชาวมุสลิม และชาวศาสนาอื่นๆ ล้วนอยู่ร่วมกันมาตลอด การประกาศว่า อินเดียจะเป็นพื้นที่ของศาสนาฮินดูและอื่นๆ ที่มีประชากรราว 2 ใน 3 และปากีสถานจะเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิมที่มีประชากรราว 1 ใน 3 ทำให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาในพื้นที่นั้นต้องอพยพไปยังอีกประเทศหนึ่ง กล่าวคือชาวมุสลิมก็หาทางอพยพไปในพื้นที่กำลังจะกลายเป็นปากีสถาน ส่วนชาวฮินดูที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะเป็นปากีสถานก็ต้องเดินทางกลับมาสู่พื้นที่ที่กำลังจะเป็นอินเดีย

การอพยพครั้งนี้เป็นการอพยพของคนจำนวนมหาศาลราว 14-15 ล้านคน ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่วัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการสูญเสียของชีวิตคนราว 1-2 ล้านคน สาเหตุหลักๆ มาจากการความขัดแย้งระหว่างศาสนา ทำให้มีการเข่นฆ่ากันระหว่างอพยพ ทั้งการชิงทรัพย์ ข่มขืน รวมไปถึงเผาที่อยู่อาศัยรายทาง เพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวต่างศาสนาที่จะมาใช้งานในอนาคต

สิ่งสำคัญที่ทำให้ความเสียหายรุนแรงขึ้นและกลายเป็นความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตคือข่าวลือแบบปากต่อปาก เมื่อมีเสียงลือว่าชาวฮินดูฆ่ามุสลิมมาถึงหูชาวมุสลิม ก็ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวฮินดูในหมู่มุสลิม และก็เกิดเหตุแบบเดียวกันนี้กับชาวฮินดูเช่นกัน นั่นเองที่ทำให้การอพยพครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตมากมายนับล้านคน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นการก่อร่างสร้างชาตินี้ ยิ่งทำให้การแยกประเทศกลายเป็นจุดแตกร้าวระหว่างชาวมุสลิม และฮินดู หรือจะเรียกในนามประเทศใหม่ว่าชาวปากีสถานและชาวอินเดียมาตั้งแต่แรกเลยก็ว่าได้

จุดแตกหักในแคชเมียร์

หลังจากแยกประเทศเป็นปากีสถานและอินเดีย โดยมีการประกาศเอกราชไล่เลี่ยกันในวันที่ 14 และ 15 สิงหาคม 1947 ตามลำดับ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายก็มองว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้น เมื่อศาสนิกชนของทั้งสองศาสนาที่แตกต่างกันไม่ต้องมากระทบกระทั่งกันอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย เพราะยังมีความขัดแย้งเหนือแคว้นแคชเมียร์ที่ยังคงคอยตอกย้ำรอยร้าวของทั้งสองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ดังที่เล่าไว้แล้วว่า บริติชราชภายใต้การปกครองของอังกฤษใช้รูปแบบการปกครองสองรูปแบบ คือดินแดนที่ปกครองโดยเจ้าผู้ครองชาวพื้นเมือง กับดินแดนที่ปกครองโดยรัฐบาลกลางของอังกฤษ จุดนี้เองที่นำมาสู่ความขัดแย้งของอินเดียกับปากีสถานเหนือดินแดนแคชเมียร์ เนื่องจากแคว้นแคชเมียร์เป็นหนึ่งในดินแดนส่วนน้อยที่ปกครองโดยเจ้าเมืองประจำถิ่น หรือที่เรียกว่า ‘ดินแดนรัฐมหาราชา’ (Princely States) แถมดินแดนนี้ยังมีพรมแดนติดต่อกับทั้งอินเดียและปากีสถาน ทำให้น่าจะมีปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่เรื่องของที่ตั้งแล้ว

ในตอนที่อังกฤษประกาศอิสรภาพให้ทั้งอินเดียและปากีสถาน พวกเขาขีดเส้นแบ่งดินแดนไว้ให้ทั้งสองชาติแล้วก็จริง แต่ยังมีรัฐมหาราชาที่ไม่เคยถูกปกครองโดยตรงจากอังกฤษ และมีอิสระเสรีในการดำเนินนโยบายภายในรัฐ ซึ่งแทนที่อังกฤษจะให้อิสระกับรัฐเหล่านี้หลังปลดปล่อยจากอาณานิคม กลับให้เลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน แคชเมียร์ที่มีมหาราชาฮารี ซิงห์เป็นเจ้าผู้ครองเลือกที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย แม้อยากจะประกาศเอกราชไม่ขึ้นตรงกับใคร แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นที่ถูกปากีสถานใช้กำลังทหารเข้ายึดครองดินแดน ทำให้จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากอินเดีย จนสุดท้ายแคชเมียร์ก็กลายเป็นรัฐภายใต้การปกครองของอินเดียในที่สุด

ในช่วงความขัดแย้งนั้น ปากีสถานอ้างตามหลักการแบ่งดินแดนว่าแคว้นที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมต้องรวมกับปากีสถาน ดังนั้นแคชเมียร์จึงต้องอยู่กับปากีสถาน หรือไม่ก็จัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ชาวแคชเมียร์เลือกว่าจะอยู่กับฝ่ายใด ส่วนอินเดียก็ถือว่าผู้ปกครองรัฐนี้ได้ตัดสินใจรวมกับอินเดีย และสภาท้องถิ่นของแคชเมียร์ได้ลงมติรวมกับอินเดียเมื่อปี 1954 การรวมแคชเมียร์เข้ากับอินเดียจึงมีความชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องลงประชามติอีก

เมื่อต่างฝ่ายต่างเคลมสิทธิเหนือแคชเมียร์ สงครามจึงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลังจากสงครามยุติ ทำให้ 1 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ ตกอยู่ในความควบคุมของกองทัพปากีสถาน และอีก 2 ใน 3 อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอินเดีย เป็นการตกลงเขตยึดครองกันโดยพฤตินัย หลังจากเกิดสงครามยืดเยื้อกันมานาน

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งบนพื้นที่แคชเมียร์ก็ไม่ได้จบมาจนปัจจุบัน และสถานการณ์เหนือพื้นที่แคชเมียร์นับวันก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยความตึงเครียดครั้งล่าสุดก็เพิ่งเกิดขึ้นราว 2 ปีก่อน หลังมีผู้ก่อการร้ายใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย โจมตีขบวนกองกำลังหน่วยพิเศษที่รักษาการณ์อยู่ทางตอนใต้ของแคชเมียร์ ซึ่งเป็นเหตุให้กองกำลังกึ่งทหารของอินเดียเสียชีวิตมากถึง 46 นาย ทำให้อินเดียโต้ตอบด้วยการส่งฝูงบินเข้าไปโจมตีแคมป์ของกลุ่มก่อการร้ายที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตแดนของปากีสถานทางอากาศ ส่งผลให้ปากีสถานตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องบินรบของอินเดียตก 2 ลำ ในเขตพื้นที่แคชเมียร์ พร้อมควบคุมตัวนักบินอินเดียเอาไว้ได้ ทำให้กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดเหนือพื้นที่นี้อีกครั้ง

ซ้ำรอยช้ำ ย้ำรอยราวด้วยการประกาศเอกราชของบังคลาเทศ

ในตอนที่อังกฤษเขียนแผนที่ อาจเพราะมันเกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ และ ‘ลวก’ เกินไป ทำให้แผนที่ของทั้งอินเดียและปากีสถานไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเท่าไหร่ ซึ่งสิ่งที่ตอกย้ำความไม่สมเหตุสมผลนั้นคือการแบ่งปากีสถานเป็นสองฟากฝั่งแต่มีประเทศเดียว โดยอังกฤษมองว่า สองพื้นที่นี้มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่หมือนกัน พื้นที่แรกคือฝั่งตะวันตกติดกับอัฟกานิสถาน และพื้นที่ฝั่งตะวันออกติดกับพม่าและอ่าวเบงกอล ด้วยความเร่งรีบในการจัดทำแผนที่ อังกฤษจึงแบ่งปากีสถานให้ครองดินแดนสองแห่ง พื้นที่ฝั่งตะวันตกเรียกว่าปากีสถานตะวันตก และพื้นที่ฝั่งตะวันออกเรียกว่าปากีสถานตะวันออก โดยทั้งสองแห่งนี้มีพื้นที่ของอินเดียราว 2,000 กิโลเมตรคั่นกลาง

เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 1971 ปากีสถานฝั่งตะวันออกขอแยกตัวออกมาเป็นเอกราช หลังจากที่พวกเขารู้สึกมานานว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือส่วนร่วมกับปากีสถานตะวันตกเลย นอกจากแค่นับถือศาสนาเดียวกัน ซึ่งนับตั้งแต่แรกที่มีการแบ่งประเทศเป็นปากีสถานและอินเดีย ชาวเบงกอลซึ่งเป็นชนชาติหลักในปากีสถานตะวันออก ก็ไม่ค่อยพอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลางซึ่งอยู่ในปากีสถานตะวันตก เนื่องจากถูกแสวงหาประโยชน์และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก นอกจากนี้ปากีสถานทั้งสองยังมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติอีกด้วย

ระยะห่างกันราว 2,000 กิโลเมตร ทำให้ปากีสถานตะวันออกตัดสินใจไม่ยากที่จะประกาศเอกราชจากประเทศแม่อย่างปากีสถาน และนั่นนำมาซึ่งความไม่พอใจของปากีสถานตะวันตกและกลายเป็นสงครามตามมา แต่อินเดียที่ไม่ถูกกับ ปากีสถานตั้งแต่ต้น ก็อดที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาให้การช่วยเหลือปากีสถานตะวันออกในการสู้กับรัฐบาลกลางของปากีสถาน เพื่อประกาศเอกราช และสงครามก็ดำเนินไปราว 8 เดือนเศษนับตั้งแต่วันประกาสอิสรภาพวันที่ 26 มีนาคม 1971 ปากีสถานซึ่งไม่เห็นประโยชน์และความได้เปรียบในสงครามอีกต่อไป ก็ยอมรับปากีสถานตะวันออกเป็นประเทศใหม่ภายใต้ชื่อว่า ‘บังคลาเทศ’ ในที่สุด

แต่ถึงแม้ประเด็นเรื่องเอกราชจะจบลงไปแล้ว แต่ปากีสถานไม่เคยลืมว่าฝ่ายที่ทำให้บังคลาเทศแยกตัวจากพวกเขาไปจริงๆ แล้วคืออินเดีย โดยเฉพาะบทบาทในสงคราม และการออกตัวสนับสนุนบังคลาเทศอย่างเต็มที่ สิ่งนี้ยิ่งทำให้ชาวปากีสถาน รู้สึกไม่ชอบชาวอินเดียมากขึ้นกว่าเดิมอีก

คริกเกต จากเครื่องมือเอกราช สู่สงความตัวแทนบนสนามหญ้า

ในสมัยที่จักรวรรดิอังกฤษเข้ามายึดครองพื้นที่ชมพูทวีปได้ไม่นาน พวกเขาใช้เครื่องมือมากมายทั้งในรูปแบบความรู้ กฎหมาย และวิทยาการต่างๆ เพื่อควบคุมชนชาวพื้นเมือง และหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกส่งต่อมานั้นคือกีฬายอดนิยมในภูมิภาคนี้อย่าง ‘คริกเกต’

ในช่วงแรก คริกเกตถูกส่งต่อมาถึงอินเดียในฐานะกีฬาของชนชั้นสูงอังกฤษ นั่นทำให้มีเจ้าชายจากหลากหลายแคว้นที่หันมาหัดเล่นกีฬาชนิดนี้ เพื่อหวังที่จะได้รู้จักมักจี่กับชนชั้นสูงของประเทศเจ้าอาณานิคม และนั่นทำให้คริกเกตสามารถสื่อสารคุณค่าแบบชาววิกตอเรียนชั้นสูงได้ดีกว่าวัฒนธรรมรูปแบบอื่นๆ และเมื่อกีฬาชนิดนี้ฮิตในหมู่ชนชั้นสูงที่อยากเข้าสังคม มันก็ลามมาถึงขุนนางที่อยากเข้าใจชนชั้นสูง แพร่มาถึงชนชั้นกลางที่อยากใช้ชีวิตแบบขุนนาง ลามมาจนกระทั่งเล่นกันในชนชั้นรากหญ้าทั่วไปในที่สุด

กระทั่งช่วงปลายการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษราวปี 1920-1930 วงการคริกเกตอินเดียก็เติบโตอย่างมาก พวกเขาเดินทางไปแข่งขันขันในอังกฤษ ทำให้คนในชาติที่ตอนนั้นยังไม่ได้รับเอกราชรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านการเชียร์กีฬา ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวตน และกลายเป็นแนวคิดชาตินิยม จนอินเดียและปากีสถาน (ก่อนได้รับเอกราชก็ยังเป็นพวกเดียวกันอยู่) ได้รับเอกราชในท้ายที่สุด

หลังได้รับเอกราช คริกเกตก็ยังคงอยู่ในสายเลือดของทั้งปากีสถานและอินเดีย แม้ว่าแทบจะทันทีที่มีเอกราช ทั้งสองชาติก็เข้าต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงดินแดนแคชเมียร์ แต่หลังจากที่สงครามสงบลง สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเลือกจะใช้เป็นกาวใจคือคริกเกต พวกเขาจัดการแข่งขันคริกเกตเพื่อสานสัมพันธ์ทั้งสองชาติในปี 1952 แต่ผลที่ออกมากลับไม่เหมือนจุดประสงค์แรกเริ่มของมัน เพราะอย่าลืมว่า กีฬา คือเรื่องของการแข่งขัน ชัยชนะ และความภาคภูมิใจ ซึ่งทั้งหมดนั้นสำคัญกับความรู้สึกของทั้งคนเล่น และคนเชียร์

คำว่า “อินเดียจะแพ้ไม่ได้” หรือ “ปากีสถานจะไม่ยอมแพ้อินเดีย” กลายเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ลดราวาศอก การแข่งขันที่หวังจะให้ลงเอยด้วยความสัมพันธ์อันดีกลายเป็นความแตกแยกที่เพิ่มขึ้น นักกีฬาทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักดีถึงความกดดันที่พวกเขาต้องแบกรับ แม้สุดท้ายเกมจะจบลงไปด้วยชัยชนะของอินเดีย และมีการจัดการแข่งขันอีกหลายครั้งนับจากนั้นตามนโยบายการทูตคริกเกต (Cricket Diplomacy) เพื่อให้แฟนกีฬาทีมเยือนเดินทางสู่ประเทศเพื่อนบ้านในฐานะกองเชียร์ แต่สิ่งที่อยู่ในใจกองเชียร์เหล่านั้นคือความรู้สึกอยากเอาชนะ และต้องการไป ‘เย้ย’ เพื่อนบ้านที่ไม่ชอบขี้หน้าให้ได้ถึงถิ่นเสียมากกว่า

ด้วยความที่จุดเริ่มต้นของคริกเกตเหมือนสงครามตัวแทนที่ตัดสินกันในสนามหญ้ามาตั้งแต่ต้น จึงไม่แปลกที่ในเวลาต่อมาการแข่งขันระหว่างอินเดียกับปากีสถานในสนามคริกเกตไม่ว่าในรายการใดๆ จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ ‘ยอมกันไม่ได้’ และมีความเดือดดาล คุกรุ่น แฝงมาเสมอ ซึ่งนั่นมักจะลงท้ายด้วยการทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนทั้งสองฝ่ายอยู่ร่ำไปจนแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

ทุกครั้งที่มีเกมระหว่างปากีสถานพบอินเดียในการแข่งขันคริกเกต ไม่ว่าจะในรายการใด รุ่นใด ฝ่ายจัดก็จะต้องเตรียมการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนากว่าปกติ และไม่เว้นแม้แต่การแข่งขันดังกล่าวจะไปจัดกันไกลอย่างอังกฤษหรือแคนาดาก็ไม่ต่างกัน

สถานการณ์ในสนามคริกเกตที่ย่ำแย่ เหมือนล้อไปกับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างปากีสถานกับอินเดีย ที่ไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไหร่ และอันที่จริงดูเหมือนว่าจะย่ำแย่ลงด้วยในช่วง 2-3 ทศวรรษหลัง นั่นยิ่งทำให้คริกเกตกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองยิ่งกว่าเดิม และเป็นเหมือนการสู้รบกันขนาดย่อมของตัวแทนทั้งสองชาติผ่านนักกีฬาของชาติตัวเองชนิดที่ยอมกันไม่ได้ ถึงขนาดที่ถ้ามีใครเล่นผิดพลาด หรือเล่นผิดฟอร์ม ก็โดนประจานและรุมถล่มด้วยข้อหารุนแรงอย่าง ‘ขายชาติ’ ไปหลายสัปดาห์ แม้ว่านักกีฬาคนนั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

นั่นทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่า ทุกการเจอกันของปากีสถานและอินเดียในสนามคริกเกต เป็น ‘มากกว่ากีฬา’ ไปแล้ว

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ข่าวการถูกจับของนักศึกษาแคชเมียร์ 3 คน ซึ่งฉลองชัยชนะของปากีสถานเหนืออินเดียในการเล่นคริกเกตชิงแชมป์โลก ที 20 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยข้อหาที่รุนแรงอย่าง ‘ส่งเสริมความเป็นปฏิปักษ์และก่อการร้ายในโลกไซเบอร์’ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อมองจากสายตาคนอินเดีย เพราะพวกเขามองว่านักศึกษาแคชเมียร์ทั้ง 3 คนนี้ พยายามสร้างความตึงเครียด ซึ่งทำให้บรรยากาศของประเทศเสียหาย เพราะการแข่งขันคริกเกตระหว่างทั้งสองชาติเป็นมากกว่าแค่กีฬาอย่างที่กล่าวไป

คดีดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพปัจจุบันของความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานด้วยว่าไม่ได้ลดลงหรือจางไป หากแต่ดูเหมือนว่าจะยังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมปะทุอีกเมื่อไหร่ก็ได้ หากมีชนวนที่จุดให้พวกเขาทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญหน้ากันอีกครั้ง และหากถึงเวลานั้นก็คงเดาไม่ยากเลยว่าน่าจะเดือดยิ่งกว่าการเจอกันในสนามคริกเกตอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ในฐานะพลเมืองของโลก ก็ได้แต่หวังว่าการเผชิญหน้ากันแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นที่สมรภูมิอื่นใดนอกจากสมรภูมิพื้นหญ้าบนสนามคริกเกต หาไม่แล้วความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้นับเป็นคะแนนบนสกอร์บอร์ด แต่อาจถูกนับเป็นลักษณะนามอื่น ที่อาจไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้อีกเลยตลอดกาล…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save