fbpx
นิวยอร์ก - บอสตัน: คู่ปรับตลอดกาล รากฐานจากยุคล่าอาณานิคม

นิวยอร์ก – บอสตัน: คู่ปรับตลอดกาล รากฐานจากยุคล่าอาณานิคม

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

ถนนอินเตอร์สเตตสาย 95 (I-95) เป็นหนึ่งในถนนที่มีชื่อเสียงที่สุดบนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่พรมแดนสหรัฐฯ-แคนาดา ที่โฮลตัน-วูดสต็อกในมลรัฐเมน ทอดยาวไปทางอีสเทิร์น ซีบอร์ด ผ่าน 16 มลรัฐแดนลุงแซมก่อนไปสิ้นสุดที่ยูเอสไฮเวย์วัน (US 1) ที่เมืองไมอามี มลรัฐฟลอริดา สาเหตุที่ถนนเส้นนี้มีชื่อเสียงมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะทัศนียภาพสองข้างทางที่งดงามซึ่งเปลี่ยนไปตามภูมิประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นถนนที่เชื่อมสองเมืองคู่อริในสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘นิวยอร์ก’ และ ‘บอสตัน’ ไว้ด้วยกันที่ระยะทางราว 350 กิโลเมตรอีกด้วย

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ระยะทางระหว่างนิวยอร์ก-บอสตัน ห่างกันพอๆ กับเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์ หรือ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ แต่ไม่น่าเชื่อว่าด้วยเส้นทางแค่นั้น กลับมีความแตกต่างกันระหว่างทั้งสองเมืองชัดเจนจนพัฒนาต่อมากลายเป็นความแตกต่างทางวิถีชีวิต แม้อาจจะไม่ถึงกับเกลียดชังจนถึงขั้นจะฆ่ากันให้ตาย แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นความไม่ชอบขี้หน้าและไม่ถูกชะตาอย่างรุนแรงระหว่างชาวเมืองทั้งสองฝ่าย และปัจจุบันความรู้สึกนั้นก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดของ ‘นิวยอร์กเกอร์’ และ ‘บอสโตเนียน’ อยู่

แน่นอนว่าชาวเมืองทั้งสองมิอาจแสดงออกมาใส่กันแบบตรงๆ แต่กับกีฬาที่เหมือนตัวแทนของเมืองนั้นนับเป็นคนละเรื่องกัน นั่นทำให้ในทุกเวทีการเจอกันของทีมกีฬาจากทั้งสองเมือง จึงกลายเป็นสงครามขนาดย่อมที่ให้ชาวเมืองทั้งสองได้ทำสงครามน้ำลายกันผ่านตัวแทนของพวกเขา จนทำให้ถูกขนานนามว่าเป็นคู่ปรับที่เกลียดขี้หน้ากันมากที่สุดในวงการกีฬาสหรัฐอเมริกา

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนรู้กันอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือคำถามที่ว่า ‘อะไรทำให้พวกเขาไม่ถูกกันหนักขนาดนั้น?’ และการที่จะตอบคำถามนั้น เราอาจต้องมองย้อนไปถึงรากเหง้าประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งสองที่ผ่านมากว่า 300 ปี

นี่คือเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจกันของบอสตันและนิวยอร์ก ยาวมาจนวิวัฒนาการกลายเป็นสงครามตัวแทนในสนามกีฬาหลากหลายชนิด ไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียวแบบที่ผ่านๆ มา กับความน่าสนใจของสองเมืองซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน การวิวัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน จนนำไปสู่ปัจจุบันที่แสนจะแตกต่าง

นี่คือเรื่องราวของนิวยอร์กและบอสตัน คู่ปรับในทุกสนามของวงการกีฬาอเมริกัน

จุดเริ่มต้นจากความเหมือนที่แตกต่างในยุคล่าอาณานิคม

ความบาดหมางในปัจจุบันของนิวยอร์กและบอสตัน อาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อทั้งสองเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกันในยุคล่าอาณานิคม พื้นที่แถบบอสตันถูกยึดครองโดยชาวอังกฤษที่เคร่งครัดศาสนาแบบสุดๆ ที่เรียกว่า ‘พิวริตัน’ (มาจากคำว่า purity ที่แปลว่า บริสุทธิ์ โดยพวกเขาเชื่อว่าการปฏิรูปศาสนาที่อังกฤษยังไม่บริสุทธิ์เพียงพอ) ที่มาตั้งรกรากหลังมองว่าพื้นที่ในยุโรปเป็นพื้นที่สกปรกและเต็มไปด้วยคนบาป บอสตันและพื้นที่โดยรอบจึงกลายเป็นดินแดนใหม่สำหรับผู้ศรัทธาในพระเจ้าในช่วงราวคริสต์ศักราช 1630 และนั่นทำให้ในปัจจุบันหากใครไปที่บอสตันก็จะเห็นโบสถ์เก่าที่ถูกอนุรักษ์ไว้มากมายในย่านดาวน์ทาวน์ และพื้นที่โดยรอบสวนสาธารณะอย่างบอสตันคอมมอน

ขณะที่ทางนิวยอร์ก ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้มีชื่อว่านิวยอร์ก แต่มีชื่อว่า ‘นิวอัมสเตอร์ดัม’ ซึ่งถูกตั้งตามชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่แห่งนั้นอย่างชาวดัตช์จากเนเธอร์แลนด์ พวกเขามาในนามดัตช์เวสต์อินเดียคอมปะนี ในช่วงราวคริสต์

ศักราช 1614 โดยยึดพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำฮัดสัน ในการตั้งรกรากและดำเนินธุรกิจการค้าบริเวณเกาะแมนฮัตตันในปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นเมืองท่าและเมืองทางการค้าซึ่งมีการไปมาหาสู่ของคนมากหน้าหลายตา นิวอัมสเตอร์ดัมมักจะผ่อนปรนเรื่องการนับถือศาสนา แตกต่างจากบอสตันที่เคร่งครัดในการนับถือศาสนาคริสต์จนอาจจะถึงขั้นสุดโต่ง (สุดโต่งขนาดที่สามารถทำให้เกิดการสังหารหมู่ที่น่าเวทนาที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง ‘การล่าแม่มดที่ซาเล็ม’ ซึ่งสาเหตุเพียงเพราะความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง)

จากจุดนั้นเองที่ทำให้ชาวบอสตันเริ่มรังเกียจชาวนิวอัมสเตอร์ดัมออกนอกหน้า เพราะนอกจากจะเป็นพวกนอกรีตในความคิดของพวกเขาแล้ว คนนิวอัมสเตอร์ดัมยังถือเป็นคนละชาติพันธุ์กับพวกเขาอีกด้วย 

แต่ถึงแม้ว่าเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่นิวยอร์กจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้ผู้ปกครองของฝั่งบอสตันอย่างอังกฤษไม่พอใจ แต่ประเด็นสำคัญที่ให้อังกฤษกับดัตช์เกิดข้อพิพาทครั้งใหญ่ตามมาคือความขัดแย้งในแง่ผลประโยชน์ทางการค้า จนทำให้อังกฤษซึ่งตั้งบริษัทการค้าใหญ่อยู่ในพื้นที่นิวเฮเวนและนิวลอนดอนในมลรัฐคอนเน็กติกัตปัจจุบัน ตัดสินใจเปิดสงครามกับดัตช์เวสต์อินเดียคอมปะนี กลายเป็นสงครามแองโกล-ดัตช์ในที่สุด

สงครามแองโกล-ดัตช์เกิดขึ้นทั้งหมดสองครั้ง (โดยระหว่างนั้นก็มีคำศัพท์คลาสสิกที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบันอย่างคำว่าแยงกีส์ -Yankees ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ฝ่ายดัตช์เรียกพวกอังกฤษ ซึ่งมีรากมาจากคำว่า Jan Kee [บ้างก็ว่ามาจากคำว่า Janke] มีความหมายว่า ไอ้แจ็กน้อย-Little Jack) และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทางดัตช์เวสต์อินเดียคอมปะนี จนต้องยอมทิ้งพื้นที่ย่านแมนฮัตตันที่พวกเขาเรียกว่านิวอัมสเตอร์ดัมให้อังกฤษเข้ามายึดครองในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ก่อนเปลี่ยนชื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นนิวยอร์ก พร้อมขนานนามพื้นที่ในการครอบครองของพวกเขาทั้งหมดว่า ‘นิวอิงแลนด์’ ซึ่งครอบคุมอาณาเขตในหลายมลรัฐในปัจจุบันทั้งนิวแฮมเชียร์, แมสซาซูเซ็ตต์, โรดไอร์แลนด์, โพรวิเดนซ์, คอนเน็กติกัต และนิวยอร์ก รวมถึงส่วนหนึ่งของเมน 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นิวอัมสเตอร์ดัมซึ่งกลายมาเป็นนิวยอร์กจะอยู่ในการปกครองของอังกฤษแล้ว แต่นั่นไม่ได้ยุติความเป็นปรปักษ์ระหว่างนิวยอร์กกับบอสตัน ชาวบอสตันยังมองคนที่อยู่ในนิวยอร์กว่าเป็นพวกต่างด้าวและเป็นพวกนอกรีต ทั้งยังดูถูกพ่อค้าชาวนิวยอร์กว่าขายอาวุธให้ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน (อินเดียนแดง) เพื่อแลกกับสินค้าอย่างขนสัตว์ ซึ่งสร้างความปวดหัวให้ชาวอังกฤษที่พยายามปราบปรามชนพื้นเมืองที่แข็งข้ออยู่ในขณะนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนิวยอร์กและบอสตันไม่ค่อยลงรอยกันเรื่อยมา

บทบาทที่แตกต่างในการประกาศอิสรภาพ

ตลอดช่วงต้นไปจนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ทั้งบอสตันและนิวยอร์กเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นท่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสองแห่งของอาณานิคมอังกฤษในอเมริกา ทำให้นิวอิงแลนด์กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญและทำเงินให้เจ้าอาณานิคมอย่างจักรวรรดิอังกฤษมหาศาลในแต่ละปี

นิวยอร์กพัฒนาขึ้นกลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมตั้งแต่ช่วงต้นของประวัติศาสตร์ โดยมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากทั่วยุโรปและมีผู้อยู่อาศัยถึงราว 25,000 คนในปี 1776 ซึ่งเป็นรองเพียงแค่ฟิลาเดลเฟีย ที่ในตอนนั้นมีผู้อาศัยราว 30,000 คนเพียงเมืองเดียว การส่งออกสินค้าการเกษตรและสิ้นค้าพื้นเมืองเป็นรายได้หลักที่ทำให้เมืองแห่งนี้มั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการก่อกำเนิดของมหาวิทยาลัยชั้นนำของทวีปอเมริกาอย่างคิงคอลเลจ ที่จะกลายเป็นมหาวิทยาลัย โคลัมเบียในอนาคต ซึ่งเป็นการตั้งขึ้นเพื่อสู้กับบอสตันที่มีการสถาปนามหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างนิวคอลเลจ ที่จะกลายเป็นฮาร์วาร์ดในอนาคตเช่นกัน

ความแตกต่างครั้งใหญ่ของทั้งสองเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงการปฏิวัติอเมริกา เมื่อบอสตันกลายเป็นเมืองแนวหน้าในการต่อสู้กับประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ เริ่มตั้งแต่การเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ (Stamp Act) ในปี 1765 ก่อนมาถึงเหตุการณ์การต่อต้านภาษีใบชาใน Boston Tea Party (งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน) ในปี 1773 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการปฏิวัติอเมริกา

ในขณะที่บอสตันกำลังผนึกกำลังกับเมืองต่างๆ ในนิวอิงแลนด์ เพื่อปลดแอกอเมริกาจากอังกฤษ แต่นิวยอร์กกลับแตกเป็นสองฝ่ายและไม่ได้มีบทบาทในการปฏิวัติมากนัก หลังกลุ่มการเมืองสองกลุ่ม ได้แก่ ตระกูลลิฟวิงสตัน และ เดอ แลนซี มีความเห็นในการสนับสนุนขั้วอำนาจในสงครามต่างกัน โดยทางฝั่งลิฟวิงสตันสนับสนุนให้อเมริกามีอิสรภาพภายใต้สภาคองเกรสที่ฟิลาเดลเฟีย แต่ทางเดอ แลนซีเชื่อมั่นในการอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษต่อไป ทำให้เมืองแห่งนี้ต้องมาแย่งอำนาจกันเอง ในขณะที่กองทหารอาณานิคมขับไล่กองกำลังอังกฤษออกจากนิวอิงแลนด์

ความแตกแยกภายในนิวยอร์กทำให้นายพลวิลเลียม ฮาวแห่งอังกฤษ ยึดเมืองแห่งนี้จากนายพลจอร์จ วอชิงตัน กับกองทัพปลดแอกอเมริกาได้สำเร็จ ส่งผลให้อังกฤษยังครองอำนาจและสิทธิ์ขาดเหนือนิวยอร์กในการเก็บภาษีและรายได้ต่างๆ จนกระทั่งมีการลงนามรับรองเอกราชของสหรัฐอเมริกาในสนธิสัญญาปารีสในปี 1738 ในตอนนั้นสหรัฐฯ ถึงได้นิวยอร์กกลับคืนมาอีกครั้ง

การต่อสู่กันระหว่างเมืองท่าแห่งการค้า กับ เมืองอุตสาหกรรมแห่งการศึกษา

ช่วงสั้นๆ หลังจากการปฏิวัติอเมริกาจบลง นิวยอร์กกลายเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้นิวยอร์กถือเป็นเมืองหลวงแห่งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนั้นแม้ตำแหน่งเมืองหลวงของประเทศจะโดนยึดไป แต่นิวยอร์กยังค่อยๆ เติบโตขึ้นใหม่ภายใต้สมญานาม ‘เมืองหลวงทางการเงิน’ ของสหรัฐฯ จากการเป็นท่าเรือตามธรรมชาติที่เป็นทางเลือกสำหรับการทำอุตสหกรรมหลากหลายรูปแบบ แถมความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำฮัดสันไล่ขึ้นไปจากปากอ่าวจนถึงเมืองอัลบานี ก็มากเพียงพอทำให้การเกษตรเจริญรุดหน้าและหล่อเลี้ยงเมืองแห่งนี้ให้สมบูรณ์ในทุกแง่มุม

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบอสตันจะเป็นเมืองที่หยุดการเจริญแต่อย่างใด เพราะหลังจากได้รับเอกราช บอสตันก็กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกับการศึกษา และทำหน้าที่เป็นผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมรถไฟ พวกเขาดำเนินการขุดคลองนิวอิงแลนด์ และทำให้ย่านตะวันออกของสหรัฐฯ ในยุคนั้นมีสาธารณูปโภคสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ พวกเขาพยายามอย่างเต็มที่ที่จะกลายเป็นเมืองที่ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องไปพึ่งพาการส่งออก ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นรายได้หลักของนิวยอร์กไปแล้ว 

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 นิวยอร์กเติบโตและวิวัฒน์เข้าสู่ความเป็นมหานครแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลายเป็นมหานครแห่งโลกหลังจากนั้นอีกไม่นาน แต่บอสตันก็มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและปัญญา จากการอนุรักษ์สิ่งต่างๆ และทำตัวเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาจากการมีฮาร์วาร์ดเป็นศูนย์กลาง โดยยังมีเรื่องของศิลปะและกีฬาที่ชาวเมืองบอสตันภาคภูมิใจ และในยุคนี้นี่เองที่เมืองแห่งนี้ให้กำเนิดกีฬาสำคัญของโลกอย่างบาสเก็ตบอลและวอลเลย์บอลในเวลาไล่เลี่ยกัน บอสตันจึงให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเมืองของชนชั้นสูง มีความสูงส่ง และไม่แออัด

ส่วนนิวยอร์ก แม้จะเป็นเมืองที่มั่งคั่ง แต่ในอีกมุมพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับภาวะประชากรล้น ทำให้มีประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้รับการศึกษา นำมาสู่ความสกปรกของเมือง แต่ด้วยทรัพยากรที่เหนือกว่าเมืองคู่แข่งอย่างบอสตัน ทำให้พวกเขาสร้างความบันเทิงสำหรับคนมีเงินอย่างละครบรอดเวย์ขึ้นมาในราวปี 1860 และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างล้นเหลือเนรมิตสิ่งต่างๆ ที่บอสตันไม่สามารถจะมีได้อย่างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างเซ็นทรัลปาร์ก ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1844 

แม้จะเติบโตและพัฒนาไปในรูปแบบต่างกันอย่างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเดิมคือความไม่ถูกกันของเมืองทั้งสอง โดยชาวนิวยอร์กยังมองพวกบอสตันว่าเป็นพวกบ้านนอกไม่รู้จักความเจริญในช่วงที่พวกเขาเป็นมหานครแห่งแรกของสหรัฐฯ ขณะที่บอสโตเนียนก็มองการพัฒนาของนิวยอร์กว่าเจริญแต่วัตถุ ทว่ากลับซ่อนปัญหามากมายไว้ในเมืองที่เติบโต อย่างการทุจริตในวงการการเมือง ทั้งยังเรื่องของความสกปรก และการที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติศาสนาอยู่ในเมืองแห่งนั้นด้วย เพราะอย่าลืมว่าบอสตันกำเนิดภายใต้คณะบุคคลที่เคร่งศาสนา และยังเป็นคนขาวที่เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วย จึงไม่แปลกที่ชาวบอสตันมักจะเหยียดชาวนิวยอร์กอยู่เสมอ และเหยียดได้ในทุกเรื่อง ขณะที่นิวยอร์กเกอร์ก็ดูถูกชาวบอสตันเช่นกัน

จุดเริ่มต้นของยุคสมัยของการต่อสู้ด้วยกีฬา

อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า บอสตันเป็นจุดกำเนิดของกีฬาทั้งบาสเก็ตบอลและวอลเลย์บอล แต่ที่ยังไม่ได้บอกคือชาวบอสตันรักและผูกพันกับกิจกรรมกีฬามาก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวบอสตันรู้ตัวว่าพวกเขาไม่สามารถแข่งขันในเรื่องความเจริญของเมืองกับนิวยอร์กได้อีกต่อไป ความคาดหวังของชาวเมืองจึงถูกส่งต่อมายังโลกของกีฬา ที่เข้ามารับช่วงต่อในต้นศตวรรษที่ 20 อย่างพอดิบพอดี และด้วยความที่เมืองฝั่งตะวันออกถูกตั้งขึ้นมาก่อนฝั่งตะวันตก ทำให้มหาอำนาจของโลกกีฬาอเมริกาในยุคนั้นก็วนเวียนอยู่แต่ในย่านนอร์ธ อีสต์อย่างนิวยอร์ก, บอสตัน และฟิลาเดลเฟีย 

ในช่วงก่อนสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ การแข่งขันทางกีฬาของบอสตันและนิวยอร์กยังไม่ชัดเจนนัก พวกเขาแข่งขันกันในการกำหนดรูปแบบการเล่นเสียมากกว่า แม้แต่กีฬาอันดับสองของวัฒนธรรมสหรัฐฯในปัจจุบันอย่างเบสบอล ในยุคก่อนสงครามกลางเมือง ทางบอสตันและนิวยอร์กแข่งขันกันตรากฎการเล่น โดยใช้กฎคนละแบบกัน และไม่มีการแข่งขันกันอย่างชัดเจน โดยทางบอสตันจะเล่นกันในรูปแบบของ ‘แมสซาซูเซ็ตต์เกม’ ส่วนฝั่งนิวยอร์กจะเล่นในรูปแบบที่เรียกว่า ‘นิกเกอร์บ็อกเกอร์’ ซึ่งเหมือนรูปแบบในปัจจุบันมากกว่า

การแข่งขันกีฬาของทั้งคู่มาชัดเจนเอาในช่วงหลังจากที่สงครามกลางเมืองของอเมริกาจบลง มีการก่อตั้งลีกอาชีพของเบสบอลกันชัดเจนขึ้น มีการก่อตั้งทีมและกำหนดกฎการแข่งขันร่วมกัน โดยทางบอสตันก่อตั้ง ‘บอสตัน เรดซ็อกซ์’ ขึ้นมาก่อนในปี 1901 และหลังจากนั้นถึงจะมีคู่ปรับตลอดกาลของพวกเขาถือกำเนิดขึ้นในอีก 15 ปีต่อมา ซึ่งนั่นคือ ‘นิวยอร์ก แยงกีส์’ ที่เรารู้จักกัน และหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องราวการขับเคี่ยวกันผ่านเวทีการแข่งขันในสนาม โดยที่คนในเมืองเอาทีมเป็นตัวแทนของพวกเขาในการต่อสู้กันแบบที่เราคุ้นชินในปัจจุบันนั่นเอง

ปัจจุบันของการเผชิญหน้า

บอสตันกับนิวยอร์กเป็น 2 ใน 13 เมือง ที่มีทีมในลีกกีฬาระดับเมเจอร์ของสหรัฐอเมริกา ครบทั้ง 4 ชนิดกีฬา ไล่ตั้งแต่ อเมริกันฟุตบอล NFL, บาสเก็ตบอล NBA, เมเจอร์ลีก เบสบอล หรือ MLB และฮ็อกกีน้ำแข็ง NHL และทั้งสองเมืองยังครองตำแหน่งเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่มีทีมกีฬาครบทั้ง 4 ชนิดกีฬาติด 3 อันดับแรก โดยนิวยอร์กมาเป็นอันดับ 1 หลังจากการก่อตั้งของนิวยอร์ก นิกส์ ทีมบาสเก็ตบอลประจำเมืองในปี 1946 ทำให้นิวยอร์กเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่มีทีมกีฬาครบ 4 ชนิดกีฬาเมเจอร์ของสหรัฐฯ ส่วนทางบอสตันมามีทีมกีฬาครบ 4 ชนิดกีฬาในปี 1960 หลังการถือกำเนิดของบอสตัน เพเทรียตส์ หรือที่รู้จักกันในนามนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ในปัจจุบัน

การมีทีมกีฬาครบทุกลีกโดยเป็นเมืองที่ถือว่า ‘บ้านใกล้เรือนเคียง’ กัน ทำให้ความเป็นคู่ปรับของทั้งสองเมืองในเวทีกีฬายิ่งดุเดือดตามไปด้วย และยิ่งผนวกเข้ากับอดีตที่แตกต่างกันทำให้ความเป็นอริยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทุกการเจอกันของทีมจาก บอสตันและนิวยอร์ก ไม่ว่าจะเป็นบอสตัน เรดซ็อกซ์ กับ นิวยอร์ก แยงกีส์ ในเบสบอล, บอสตัน บรุนส์ กับ นิวยอร์ก เรนเจอร์ส ในฮ็อกกีน้ำแข็ง, บอสตัน เซลติกส์ กับ นิวยอร์ก นิกส์ ในบาสเก็ตบอล ไปจนถึงนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ กับ นิวยอร์ก เจ็ตส์ ในอเมริกันฟุตบอล เสียงโห่จะดังระงมเสมอ ส่วนจะโห่ใส่ใครนั้นก็ขึ้นอยู่กับคำถามที่ว่า ‘เกมนั้นเล่นบ้านใคร?’

ส่วนถ้าถามว่า ใครประสบความสำเร็จมากกว่ากัน ก็ต้องยอมรับว่า เป็นอีกครั้งที่นิวยอร์กทำได้ดีกว่าบอสตัน เพราะนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแข่งขันทางกีฬาของทั้งสองเมือง นิวยอร์กคว้าแชมป์ใน 4 ลีกกีฬายักษ์ใหญ่ประจำชาติทั้ง NFL, NBA, NHL และ MLB รวมถึงถึง 56 สมัย ขณะที่บอสตันตามมาห่างพอสมควรที่ 40 สมัย แต่ชาวบอสโตเนียนก็พอจะมีข้ออ้างอยู่บ้าง เมื่อแชมป์ทั้ง 56 สมัยของนิวยอร์กมาจากทีมกีฬารวมถึง 9 ทีม (NFL 2 ทีม – ไจแอนท์ กับ เจ็ตส์, MLB 2 -ทีม แยงกีส์ กับ เม็ตส์, NBA 2 ทีม – นิกส์ กับ เน็ตส์ และ NHL 3 ทีม – เรนเจอร์ส, ไอส์แลนเดอร์ส, เดวิลส์) ขณะที่บอสตันยืนหยัดคว้าแชมป์ทั้ง 40 สมัย จากทีมกีฬาเพียงชนิดละ 1 ทีม รวม 4 ทีมเท่านั้น 

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวบอสตัน ที่ทำให้พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘เมืองแห่งแชมป์’ (City of Champions) ทั้งๆ ที่มีจำนวนแชมป์รวมน้อยกว่านิวยอร์ก มาจากการที่เมืองของพวกเขานั้น มีประชากรโดยรวมแล้วน้อยกว่านิวยอร์กมากกว่า 4 เท่าตัว และมีทีมกีฬาน้อยกว่าเกินเท่าตัว แต่ความสำเร็จนับตั้งแต่ปี 2000 ขึ้นมา พวกเขากลับมีมากกว่านิวยอร์ก เกินเท่าตัว และที่จริงแล้วถ้านับตั้งแต่ยุคมิลเลเนียมเป็นต้นมา บอสตันคือเมืองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการกีฬาของสหรัฐอเมริกาด้วย

บอสตันคว้าแชมป์รวม 12 รายการนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เอาชนะเมืองใหญ่อย่างลอสแองเจลิสที่คว้าแชมป์รวม 11 สมัย จนทำให้นิวยอร์กเกอร์ต้องสงบปากสงบคำและทำตัวน่ารักขึ้นมา เพราะพวกเขาคว้าแชมป์รวมจากปี 2000 ได้เพียง 5 สมัย และยิ่งเมื่อนับว่าในนิวยอร์กมีทีมกีฬาถึง 9 ทีม ก็ยิ่งต้องยอมรับว่า ‘น่าผิดหวัง’

ความเป็นอริของบอสตันกับนิวยอร์กนั้นชัดเจน พวกเขาหมั่นใส่กัน ไม่ถูกกัน และไม่ชอบขี้หน้ากันจากหลายสาเหตุ อันมีประวัติยาวนานแบบที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้บทความชิ้นนี้ไม่ได้เขียนคำว่า ‘เกลียดชัง’ ลงไป เพราะมันพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ประวัติศาสตร์การเผชิญหน้ากันของคนทั้งสองเมืองมีมานานก่อนยุคของกีฬาราวสามศตวรรษ แต่เมื่อมาเป็นยุคปัจจุบัน เรื่องของความรุ่นแรงนอกสนามของกองเชียร์ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเหมือนกับที่เกิดขึ้นในเวทีฟุตบอลของยุโรปเลย

เรื่องทะเลาะวิวาทฟาดปากกันเพราะพูดไม่เข้าหูอาจมีให้เห็นอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและปริมาณแอลกอฮอล์ที่เติมเข้าไป แถมการทะเลาะกันที่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่การยกพลไปตีกับแฟนบอลฝั่งตรงข้าม แถมในวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาของฝั่งอเมริกัน จะไม่มีการแบ่งทีมเยือน-ทีมเหย้า ใครได้ตั๋วตรงไหนก็นั่งไปด้วยกัน นั่งข้างๆ กัน พูดคุยกันได้ (หากต้องการ) นั่นเลยทำให้ทั้งสองทีมมีแค่สงครามน้ำลายใส่กันพอหอมปากหอมพอ และแยกย้ายกันไป ไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เรียกว่าวุฒิภาวะหรือมารยาททางสังคม

แต่ที่แน่ๆ มันทำให้ไม่กล้าใช้คำว่า ‘เกลียดชัง’ กับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังทำให้เรื่องราวระหว่างบอสตันกับนิวยอร์ก อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองคู่อริที่ไม่เหมือนใครในโลกเลยทีเดียว…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save