fbpx
ลาซิโอ – โรมา : การปะทะกันของ ‘ขวาจัด’ ในกรุงโรม

ลาซิโอ – โรมา : การปะทะกันของ ‘ขวาจัด’ ในกรุงโรม

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต


5 ไม่ใช่แค่ลำดับตอนของคอลัมน์ The Rivalry ที่คุณอ่านอยู่เท่านั้น แต่ยังคือจำนวนแชมป์กัลโช เซเรีย อา ที่ลาซิโอกับโรมาคว้าได้รวมกัน — ใช่แล้วแค่เพียง 5 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าสโมสรที่ถูกมองว่าอยู่ในระดับเดียวกันอย่างเอซี มิลาน (18 สมัย) อินเตอร์ มิลาน (19 สมัย) และยูเวนตุส (36 สมัย) แบบเทียบไม่ติด แต่ถึงอย่างนั้นทีม ‘อินทรีฟ้าขาว’ และ ‘หมาป่าเหลืองแดง’ ก็ยังถือเป็นทีมยักษ์ใหญ่ในวงการฟุตบอลอิตาลีมาตลอด และเหนืออื่นใด พวกเขายังเป็นสองสโมสรที่มีความแค้นต่อกันแบบลงรากลึกทั้งที่ต้นเหตุไม่ได้มาจากการแก่งแย่งชิงดีเหมือนคู่ปรับอีกหลายคู่

ลาซิโอเคยคว้าแชมป์เซเรีย อา ได้ 2 สมัย ส่วนโรมาเคยคว้าได้ 3 ซึ่งรวมกันแล้วยังน้อยกว่าสโมสรอย่างเจนัว โตริโน หรือโบโลญญาด้วยซ้ำไป แต่เรื่องราวของทั้งสองสโมสรกลับยิ่งใหญ่และเป็นที่กล่าวขาน โดยเฉพาะเวลาที่ทั้งสองทีมมาเจอกันในเกม ‘ดาร์บีกรุงโรม’ หรือที่คนอิตาลีเรียกว่า ‘ดาร์บีแห่งเมืองหลวง’ (ดาร์บี เดลลา คาปิตาเล) ซึ่งเคยมี ‘คนตาย’ และเรื่องอื้อฉาวมากมายทั้งที่เป็นเพียงการแข่งขันฟุตบอลเกมเดียว

ความน่าสนใจของสองคู่ปรับแห่งกรุงโรมแตกต่างจากคู่ปรับคู่อื่นๆ ที่มีความสำเร็จ และมีการแก่งแย่งชิงดีเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อน เพราะการปะทะกันของแฟนบอลกับนักเตะในสนามล้วนแต่ถูกผลักดันด้วยประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังรวมไปถึงพลังด้านลบต่างๆ แม้ว่าทั้งสองสโมสรจะอยู่ในกรุงโรมเหมือนกัน และเป็นลูกไล่ของบรรดายักษ์ใหญ่จากแดนเหนือไม่ต่างกันก็ตาม

ถึงแม้เรื่องราวของทั้งสองสโมสรอาจจะไม่ได้มีอายุของความเกลียดชังหยั่งรากยาวนานนับร้อยปีเหมือนสโมสรในสหราชอาณาจักรอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด-ลิเวอร์พูล หรือ กลาสโกว์ เซลติก-กลาสโกว์ เรนเจอร์ส แต่เชื่อเถอะว่าแผลสดแสบกว่าแผลเก่าตกสะเก็ดเสมอ 

นี่คือเรื่องราวความขัดแย้งที่อาจมีจุดเริ่มต้นจากอุดมการณ์ฟาสซิสม์ แต่กลับพัฒนาจากรอยร้าวสู่รอยแตกอันยากเยียวยา ซึ่งแม้จะมีฉากหน้าเป็นการแข่งขันฟุตบอล แต่ฉากหลังคือความเกลียดชังที่มีแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบขวาจัดที่ทำให้เรื่องราวบานปลายจนกลายเป็นความสูญเสีย

ขอต้อนรับทุกท่านเข้ามาทำความรู้จักกับเรื่องราวของลาซิโอกับโรมา แห่งศึกดาร์บี เดลลา คาปิตาเล…

จุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้า

แรกเริ่มเดิมที กรุงโรมเป็นเพียงไม้ประดับของวงการฟุตบอลอิตาลี เรียกได้ว่าไม่มีทั้งบทบาทและชื่อเสียง ความยิ่งใหญ่ทั้งหมดในยุคเริ่มต้นของฟุตบอลแดนมักโรนีล้วนตกไปอยู่กับสโมสรในแดนเหนืออย่างเจนัว, โปร เวอร์เซลลี, โนเวเซ, เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน, โบโลญญา และยูเวนตุส ซึ่งเป็นสโมสรที่อยู่ขึ้นไปเหนือกรุงโรมตามแผนที่ทั้งหมด แม้ลาซิโอจะถือกำเนิดมาในปี 1900 แต่พวกเขามาไกลสุดได้เพียงแค่รองแชมป์ 3 สมัยเท่านั้น จนสโมสร อาแอส โรมา ถือกำเนิดในปี 1927

การถือกำเนิดของโรมานำมาซึ่งความขัดแย้งในกรุงโรมอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากนโยบายฟาสซิสต์ที่ถูกนำมาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แพร่จากนาซีเยอรมนีมาสู่อิตาลีภายใต้นายพลเบนิโต มุสโสลินี ที่ขึ้นสู่อำนาจเหนืออิตาลีอย่างเบ็ดเสร็จช่วงปลายทศวรรษ 1920 ทำให้มีแนวคิดที่จะมีสโมสรแห่งกรุงโรมเพื่อต่อกรกับแดนเหนือขึ้นมา นอกเหนือจากนั้นการมี ‘ทีมของท่านผู้นำ’ ยังแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของตัวเขาอีกด้วย (แนวคิดนี้ได้แพร่ขยายสู่สเปนภายใต้นายพลฟรังโก และทำให้เกิดคู่ปรับเรอัล มาดริด-บาร์เซโลนาในตอนที่แล้ว) 

ในปี 1927 มุสโสลินีออกคำสั่งให้รวม 3 สโมสรในกรุงโรมอย่างสโมสรฟุตบอลโรมัน, อัลบา ออเดเซ และฟอร์ติตูโตเข้าด้วยกันภายใต้ชื่ออาแอส โรมา ขณะที่ลาซิโอกลับเป็นหนึ่งเดียวในกรุงโรม ที่รอดพ้นจากคำสั่งรวมทีมในครั้งนี้เพราะพวกเขามี ‘แบ็คดี’ อย่างนายพลจอร์จอ วัคคาโร ทหารคนสนิทของมุสโสลินี ทำให้คำสั่งรวมทีมละเว้นสโมสรอินทรีฟ้าขาวแบบหวุดหวิด

อย่างไรก็ตาม การมีตัวตนโดยอำนาจเหนือกฎเกณฑ์ของโรมาก็นำพาความไม่พอใจมาสู่แฟนของลาซิโอเช่นกัน เพราะนอกจากจะรวมทีมกันโดยคำสั่งและอิทธิพลมืดแล้ว โรมายังได้รับอภิสิทธิ์อื่นๆ ในนาม ‘ทีมของมุสโสลินี’ ทำให้หลาย ๆ สโมสรเกรงใจ แม้จะไม่มีการใช้อำนาจแทรกแซงกีฬาอย่างน่าเกลียดแบบที่ฟรังโกทำกับเรอัล มาดริดในสเปน แต่นั่นก็เพียงพอให้โรมาเป็นที่เกลียดขี้หน้าของหลายๆ สโมสรในลีก โดยเฉพาะ ‘เจ้าที่’ อย่าง ลาซิโอ 

ที่มาอันแตกต่างสร้างรอยร้าว

หลังจากโรม ดาร์บี หรือ ดาร์บี เดลลา คาปิตาเล ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการจากการมีตัวตนของโรมา ความเป็นศัตรูต่อกันก็ตามมาแบบติดๆ เพราะโรมาถูกสร้างขึ้นให้เป็นตัวแทนของชาวอิตาเลียน ดังนั้นความพยายามในการอัปเปหิสโมสรร่วมเมืองออกไปจากความเป็นโรมันและอิตาเลียนจึงเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง นำมาสู่จุดเริ่มต้นของความเกลียดชังที่จะขยายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

โรมาเลือกใช้สีเหลือง-แดง เป็นสีประจำสโมสร ซึ่งผ่านการคิดอย่างรอบครอบแล้วว่าเป็นสีสันแห่งสำนักวาติกันอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะนครรัฐวาติกันก็ตั้งอยู่ในกรุงโรม สื่อถึงการเป็นศูนย์กลางอันสำคัญของอิตาลี นอกจากนี้ในตราสัญลักษณ์พวกเขายังเลือกใช้รูปหมาป่าเลี้ยงเด็ก เนื่องจากตามตำนานโบราณเล่าขานว่าโรมูลุสและรีมุส ฝาแฝดผู้สถาปนากรุงโรม ถูกเลี้ยงดูด้วยหมาป่า จึงสรุปได้ไม่ยากว่าโรมาคือสโมสรที่ถูกก่อตั้งมาด้วยแนวความคิดแบบชาตินิยมสุดขั้ว ภายใต้ผู้นำฟาสซิสต์ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

ด้านลาซิโอที่ก่อตั้งมาก่อน พวกเขากลายเป็นพวกนอกรีตไปโดยปริยาย เนื่องจากพวกเขาใช้สัญลักษณ์ทีมเป็นรูปอินทรี ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาเทพจูปิเตอร์ (หรือเทพซุสในความเชื่อแบบกรีก) แถมสีฟ้าขาวซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติกรีชเพื่อสื่อถึงความเป็นจ้าวแห่งกีฬาที่เป็นชาติซึ่งเคยเป็นจัดโอลิมปิกเกมส์มาแต่ยุคโบราณด้วย (สังเกตได้ว่า หลายสโมสรในยุโรปมีคำว่า ‘โอลิมปิก’ นำหน้าเช่น โอลิมปิก มาร์กเซย์, โอลิมปีก ลียง, โอลิมเปียกอส ก็ล้วนมาจากแนวคิดแบบนี้เช่นกัน)

จากเหตุผลที่ว่ามา ตัวตนของลาซิโอเลยกลายเป็นตัวตนแห่งชาวต่างชาติและพวกนอกรีตในสายตาแฟนบอลโรมา แถมภายใต้การพีอาร์แบบชาตินิยมของมุสโสลินีแล้ว ความเกลียดชังจากการที่มีพื้นเพอันแตกต่าง ยิ่งสร้างความแตกแยกให้แฟนบอลทั้งสองทีมได้หนักหนากว่าเก่า แฟนบอล ‘หมาป่า’ เองก็มักจะเรียกแฟนบอลลาซิโอในเชิงเหยียดๆ ว่า ‘บูรินี’ (Burini) แปลว่าพวกบ้านนอก หรือ เปแกน (Pagan) ที่แปลว่า พวกนอกรีตหรือมนุษย์ถ้ำ ขณะที่แฟนลาซิโอที่ส่วนมากมีอันจะกินก็จะเรียกแฟนโรมาว่า ‘โพเวโร’ (Povero) ที่แปลว่าพวกกุ๊ย พวกยากจน หรือพวกอนาถา เช่นกัน

สงครามของอาณาเขต

จากปัจจัยเรื่องชาตินิยมทำให้เริ่มเห็นปัญหาที่ใหญ่โตกว่าเดิมจากการเกิดขึ้นของโรมาในกรุงโรม ฝั่งลาซิโอก็กลายเป็นคนนอกไปในทันที คำเรียกแฟนลาซิโอว่า ‘บูรินี’ ที่แปลว่าบ้านนอก ยังสื่อความหมายอย่างชัดเจนในเชิงอาณาเขต ซึ่งตรงนี้ต้องอธิบายก่อนว่า โรมา เป็นเมืองหลวงของอิตาลีที่ตั้งอยู่ในแคว้นลาซิโอ แม้สโมสรลาซิโอจะมีที่ทำการในกรุงโรม แต่ในยุคนั้น แฟนของโรมาจะเป็นนิยามตัวเองว่าเป็นคนโรมมากกว่าเพราะสโมสรของพวกเขาถูกรวมมาจากอีก 3 สโมสรที่มีอิทธิพลในกรุงโรม

ดังนั้นอีกปัจจัยที่ทำอาจจะทำให้ลาซิโอรอดพ้นจากการควบรวมสโมสรไปเป็นโรมาก็คือ เขตอิทธิพลของพวกเขาใหญ่โตเกินไป ในช่วงการก่อตั้งสโมสรต้นทศวรรษ 1900 แฟนของลาซิโอจึงมีมาจากเมืองหลายเมืองรอบๆ กรุงโรมทั้ง ติโวลี, โฟรซิโนเน, โซรา, ลาตินา รวมไปถึงริเอติ ดังนั้นเมื่อกรุงโรมกลายเป็นอาณาเขตของโรมา แต่ลาซิโอก็ยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากแฟนๆ โดยรอบ

อย่างไรก็ตามโรมไม่ได้ต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของโลกที่เป็นจุดศูนย์กลางความเจริญ ทำให้มีคนจากเมืองอื่นๆ มาทำงานและแสวงหาโอกาสที่นี่มากมาย แถมยิ่งเป็นในยุคสงครามจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมืองหลวงจะต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างจากบรรดาเมืองโดยรอบที่แม้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ผู้ที่อยู่ได้ก็ไม่ต้องดิ้นรนเนื่องจากค่าครองชีพที่ต่ำกว่า จากจุดนั้นเองที่ทำให้ชนชั้นและอาณาเขตของลาซิโอกับโรมาถูกแบ่งออกจากกันอย่างชัดเจน

แม้โรมา จะมีแฟนในกรุงโรมมากกว่า แต่บรรดาแฟนก็มักจะเป็นชนชั้นแรงงาน ซึ่งกลายเป็นจุดที่แฟนของลาซิโอซึ่งมาจากเมืองโดยรอบเป็นส่วนใหญ่โจมตีว่าเป็นชนชั้นล่าง ขณะที่คำดูถูกที่แฟนลาซิโอได้รับมักจะเป็นเรื่องของการเป็นพวกบ้านนอก เพราะอยู่เมืองและพื้นที่โดยรอบกรุงโรม นั่นยิ่งทำให้ความน่าเกรงใจกันมีน้อยลงกว่าทีมร่วมเมืองอื่นๆ เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกันอย่างแท้จริง ทั้งที่สโมสรต่างตั้งอยู่ในเมืองหลวงทั้งสองทีมก็ตาม

ความเลยเถิดที่อาจจะดูไม่ค่อยดี

กาลเวลาที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปก็ทำให้อะไรหลายอย่างแปลี่ยนแปลงตาม หลังจากยุคสงครามโลก โรมาก็หลุดพ้นจากคำครหาว่าเป็น ‘ทีมของท่านผู้นำ’ โดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันหลายเมืองรอบกรุงโรมก็สร้างสโมสรประจำเมืองของตัวเองขึ้นมา ทำให้ฐานแฟนบอลของลาซิโอจากเมืองโดยรอบที่ไกลออกไปอาจจะลดลง แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัดคือเรื่องราวของชนชั้น ที่แฟนลาซิโอยังดูจะเป็นผู้มีอันจะกินกว่าแฟนโรมา นั่นเองที่ทำให้การเมืองเข้ามามีบทบาทในอิทธิพลทางความคิดของแฟนบอล

สำหรับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่าย่อมต้องการความเปลี่ยนแปลง ทำให้พวกเขามีความคิดเอียงซ้ายแบบสังคมนิยม แต่ผู้ที่รวยกว่าและฐานะดีกว่าก็ไม่ต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจึงเป็นแนวคิดแบบเอียงขวาไปทางอนุรักษนิยม ซึ่งแน่นอนว่าความคิดทั้งสองเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่เมื่อมีความคิดแบบใดแบบหนึ่งก็จะมีคนที่มีความคิดสุดโต่งอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปลายยุค 90 แฟนกลุ่มเดนตายของลาซิโอที่เรียกตัวเองว่า ‘อิร์ริดูซิบิลี’ ซึ่งขึ้นชื่อว่าขวาจัดและมีแนวคิดแบบสุดโต่ง ทั้งยังสนับสนุนแนวคิดเผด็จการและมักจะเอาเครื่องหมายสวัสดิกะแบบนาซีมาใช้เป็นสัญลักษณ์ก็ก่อเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก หลังขึ้นข้อความในโซนเชียร์ของฝั่งตัวเองทางเหนือ (เคอร์วา นอร์ด) ว่า “เอาช์วิตซ์คือเมืองของพวกแก ที่รมแก๊สคือบ้านของพวกแกด้วย (AUSCHWITZ LAVOSTRA PATRIA I FORNI LE VOSTRE CASE)” อันเนื่องมาจากฐานแฟนบอลของโรมาบางส่วนก็เป็นยิว และค่ายกักกันที่เอาช์วิตซ์คือหนึ่งในสถานที่ที่มีชาวยิวเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

ในอิตาลี ปัญหาการเหยียดผิวและเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่แล้วหลังจากแนวคิดชาตินิยมในยุคสงครามโลก แต่เมื่อมันลามมาสู่เวทีสนามหญ้า ปัญหาเลยบานปลายหนักเพราะนอกจากแฟนบอลเองที่เปิดฉากฉะกันทั้งในและนอกสนามแล้ว หลายครั้งนักฟุตบอลเองก็มีส่วนทำให้เรื่องราวที่ไม่ควรจะมีอะไร บานปลายใหญ่โตไปกว่าเดิม และหนึ่งในเหตุการณ์สุดฉาวก็ต้องยกให้เป็นฝีมือของเปาโล ดิ คานิโอ ในปี 2005

หลังจากเกมที่ลาซิโอเอาชนะอาแอส โรมา ในสตาดิโอ โอลิมปิโก กรุงโรม วันที่ 6 มกราคม 2005 อดีตนักเตะเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เดินไปอยู่ต่อหน้ากองเชียร์ของโรมา พร้อมกับทำท่าชูมือขึ้น 45 องศาตามแบบฉบับนาซี พร้อมด้วยสายตาที่แสดงออกถึงความจงเกลียดจงชังต่อแฟนทีมคู่ปรับ เหตุการณ์นี้นอกจากสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับแฟนบอล ‘หมาป่าเหลืองแดง’ แล้ว ยังเป็นภาพที่สร้างความไม่พอใจไปทั่วโลกด้วย แม้หลังเหตุการณ์ดิ คานิโอ จะโดนทั้งโทษแบนและปรับ แต่เขาก็ทำมันอีกในเกมที่พบกับลิเวอร์โน 

ด้วยความเลยเถิดที่ว่ามา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เวลาทั้งสองทีมนี้เจอกันจะต้องใช้ตำรวจเกือบทั้งกรุงโรมมาเพื่อควบคุมสถานการณ์เพื่อป้องกันการเกิดจลาจล แต่ถึงอย่างนั้นดาร์บี เดลลา คาปิตาเลก็ยังเคยมีคนตายในสนามอยู่ดี

ดาร์บีที่เคยมี ‘คนตาย’

หนึ่งในสาเหตุที่พลุและแฟลร์เป็นสิ่งต้องห้ามในสนามฟุตบอล เนื่องจากมันเคยคร่าชีวิตแฟนบอลมาแล้วในสนาม แม้อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทว่าก็ทำให้ดาร์บี เดลลา คาปิตาเล กลายเป็นเกมดาร์บีที่เคยมีคนตายจนกลายเป็นเหยื่อรายแรกที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความรุนแรงในวงการฟุตบอลอิตาลี ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีการ ‘แบน’ ห้ามนำพลุแฟลร์เข้ามาในสนาม (แม้จะมีกฎเช่นนั้น แต่แฟนบอลหลายคนก็แอบเอาเข้ามาได้ในเกมสำคัญๆ เสมอ)

เหตุการณ์น่าเศร้าที่ว่าเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 1979 ในเกมดาร์บีระหว่างโรมากับลาซิโอ แฟนบอลที่เสียชีวิตเป็นแฟน ‘อินทรีฟ้าขาว’ วัย 33 ปี ที่มีชื่อว่าวินเซนโซ ปาปาเรลลี ถูกพลุแฟลร์ยิงเข้าใส่ที่เบ้าตาซ้ายอย่างจัง โดยวิถีของพลุดังกล่าวมาจากทางอัฒจันทร์ทางฝั่งใต้ หรือเคอร์วา ซุด ซึ่งเป็นที่ประจำการของแฟนฮาร์ดคอร์ของโรมา แม้หลังจากเกิดเหตุจะมีความพยายามในการนำตัวผู้เคราะห์ร้ายส่งโรงพยาบาลแต่ก็ไม่ทันการณ์แล้ว 

เรื่องหน้าเศร้าของเหตุการณ์นี้คือปาปาเรลลีเป็นแฟนตัวยงของทีม แต่ไม่ใช่แฟนฮาร์ดคอร์หัวรุนแรง เขาเข้าไปชมเกมนี้กับภรรยาและลูกๆ อีกสองคน ในเหตุการณ์นั้นเขาล้มลงต่อหน้าต่อตาของครอบครัว และมีรายงานว่าลูกของเขามีความพยายามในการดึงพลุออกจากเบ้าตาของผู้เป็นพ่อด้วย เหตุการณ์หลังจากนั้นบานปลายอย่างหนัก แฟนๆ ลาซิโอพยายามลงไปในสนามเพื่อหยุดการแข่งขัน ขณะที่ทั้งสองทีมก็ยิงพลุใส่กัน โดยหนังสือพิมพ์ลาซิอารีใช้คำในพาดหัวหน้าหนึ่งของวันรุ่งขึ้นเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘ราวกับเป็นฉากหนึ่งในสงคราม’

หลังจากเกิดความชุลมุนในเกมดังกล่าวได้ไม่นาน ตำรวจก็สามารถจับตัวคนร้ายที่ก่อเหตุได้สำเร็จ เขาเป็นแฟนบอลอัลตราของโรมา วัยเพียง 18 ปี ที่มีชื่อว่าโจวานนี ฟิออริลโญ เขาถูกแจ้งข้อหาฆาตกรรมผู้อื่นโดยไม่เจตนาและถูกศาลสั่งจำคุกไปเกือบ 7 ปี ซึ่งเจ้าตัวก็เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าเขาไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าใคร ทำไปเพราะความคึกคะนองชั่วขณะและสะใจที่ได้เห็นแฟนบอลคู่ปรับวงแตกเท่านั้น

แม้หลังจากนั้นจะไม่มีใครตายในสนามอีก แต่เกมระหว่างโรมากับลาซิโอก็เป็นชนวนเหตุในการ ‘ตีกัน’ บ่อยที่สุดในอิตาลี มีผู้บาดเจ็บนอกสนามเป็นเรื่องปกติในเกมที่ทั้งสองเกมนี้พบกัน และหนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงและน่าตกใจที่สุดก็คงหนีไม่พ้นในปี 2013 ที่มีแฟนบอล 6 คนถูกแทงจนอาการสาหัส แถมรถพยาบาลที่นำตัวพวกเขาไปยังโรงพยาบาล ยังโดนโจมตีด้วยก้อนหิน ท่อนไม้ และพลุไฟในช่วงก่อนเกมจะเริ่มต้นอีกด้วย

ปัจจุบันของความขัดแย้งในกรุงโรม

ทั้งที่อายุของดาร์บี เดลลา คาปิตาเล ยังไม่ถึง 100 ปีด้วยซ้ำแต่กลับเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่รุนแรงหลายต่อหลายครั้งและเคยมีผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเกมนี้หลายศพ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ดาร์บีกรุงโรมเป็นมากกว่าเกมฟุตบอลเกมหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะทุกครั้งที่มีเกมนี้ แฟนบอลมักเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม และยังมีเรื่องราวมากมายทั้งที่มีอายุไม่ได้ยาวนาน การที่แฟนบอลเผชิญหน้ากันและบางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือทำให้สตาดิโอ โอลิมปิโก กรุงโรม เป็นเสมือนโคลอสเซียมอย่างยากจะปฏิเสธ

แม้จะเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกไม่ดีนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความอินของแฟนๆ จนกลายมาเป็นความขัดแย้งถึงขั้นเลือดตกยางออกและมีความสูญเสียเกิดขึ้น คือความใกล้ชิดกันอย่างยากจะหาอะไรมาเปรียบเทียบของสโมสรกับแฟน แม้จะไม่ใช่ในทางที่ดี แต่นี่ก็พอจะอธิบายภาพกว้างๆ ของการที่ใครสักคนเลือกที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของอะไรสักอย่างไว้ ไม่ต่างจากแฟนของโรมากับลาซิโอ

และสิ่งนี้เองที่ทำให้โรม ดาร์บี ไม่เหมือนใคร (และอาจจะไม่มีแฟนบอลในเมืองไหนอยากเหมือนด้วยก็เป็นได้)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save