fbpx
กลาสโกว์ เรนเจอร์ส vs กลาสโกว์ เซลติก : การเผชิญหน้าของทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง

กลาสโกว์ เรนเจอร์ส vs กลาสโกว์ เซลติก : การเผชิญหน้าของทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

กลาสโกว์ไม่ใช่เมืองหลวงของสกอตแลนด์ แม้จะมีคนเข้าใจผิดอยู่บ้าง ทว่าเมืองแห่งนี้ก็มีศักดิ์ศรีเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในดินแดนแห่งวิสกี้ของสหราชอาณาจักรอยู่ดี แม้จะมีพื้นที่เพียง 175 ตารางกิโลเมตรโดยประมาณ และมีประชากรอาศัยอยู่ราว 6 แสนคนเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับขนาดของเมืองและจำนวนประชากรที่ดูด้อยกว่าเมืองใหญ่ในยุโรปเมืองอื่นๆ เพราะแม้จะมีจำนวนประชากรเพียงเท่านั้น แต่กลับเป็นต้นกำเนิดของเกมดาร์บี้อันกลายมาเป็น ‘คู่ปรับแห่งโลกกีฬา’ ที่เข้มข้นและมีเรื่องราวยาวเหยียด ทั้งยังเต็มไปด้วยคุณภาพไม่แพ้เมืองใหญ่เมืองอื่นในยุโรปอย่าง ลอนดอน, แมนเชสเตอร์, มิลาน, โรม หรือมาดริด เลยทีเดียว

‘ดิ โอลด์ เฟิร์ม (The Old Firm) ดาร์บี้’ คือชื่อของเกมดังกล่าว เกมที่มีเรื่องราวอันยาวนาน และประวัติศาสตร์อันน่าเหลือเชื่อ ซึ่งถูกร้อยเรียงจากการเผชิญหน้าของผู้คนในเมืองอันมีพื้นที่ไม่มาก และประชากรไม่หนาแน่นเมืองนี้ โดยมีจุดกำเนิดจาก 3 สิ่งที่เป็นชนวนให้มนุษย์ก่อสงครามกันมาตลอดทุกยุคทุกสมัยอันได้แก่ เชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง

นี่จึงเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญของสงครามตัวแทนซึ่งเปลี่ยนจากการเผชิญหน้ากันในชีวิตจริงมาสู่สงครามในสนามกีฬา และต่างจากเรื่องราวการเผชิญหน้ากันอื่นๆ ที่จุดเริ่มต้นความขัดแย้งมักจะเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่เรื่องราวที่เมืองกลาสโกว์แห่งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเผชิญหน้ากันด้วยปัจจัยอันได้รับอิทธิพลจากอดีตอย่างต่อเนื่อง และนี่คือเรื่องราวของเกมดาร์บี้ที่อาจจะเข้มข้นและดุเดือดที่สุดเกมหนึ่งในยุโรปและในโลกใบนี้

นี่คือเรื่องราวของ ‘ดิ โอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี้’ ระหว่าง ‘เดอะ ไลท์บลูส์’ (The Light Blues) กลาสโกว์ เรนเจอร์ส และ ‘เดอะ บอยส์’ (The Bhoys) หรือ ‘ม้าลายเขียว-ขาว’ กลาสโกว์ เซลติก แห่งสกอตติช พรีเมียร์ชิป

จุดเริ่มต้นคือความแตกต่างทางเชื้อชาติ

เหมือนมีใครเขียนบทไว้ให้กลาสโกว์ เซลติก ได้พบกับกลาสโกว์ เรนเจอร์ส อีกครั้งก่อนที่ฤดูกาลของสกอตติช พรีเมียร์ชิป จะจบลงแม้ว่า ‘เดอะ ไลท์บลูส์’ จะคว้าแชมป์ในฤดูกาล 2020-21 ไปครองเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม และผลการแข่งขันของเกมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาก็จบลงไปด้วยผลเสมอด้วยสกอร์ 1-1 นั่นเป็น ‘ดิ โอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี้’ นัดที่ 423 นับตั้งแต่ที่ทั้งคู่พบกันครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 1888 นั่นหมายความว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของคู่ปรับแห่งเมืองกลาสโกว์นั้นดำเนินมาเกือบจะ 133 ปีแล้ว

ความเป็นอริของทั้งสองทีมนั้นแตกต่างจากการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในยุโรปที่อยู่ร่วมเมืองเดียวกันทั่วไป เพราะพื้นฐานการเผชิญหน้ากันของเซลติกกับเรนเจอร์สนั้น เกิดมาจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ และทำให้แทบจะทันทีที่รู้ว่าอีกฝ่ายมีตัวตนอยู่บนโลก ความเกลียดชังกันก็เกิดขึ้นตามมา

ย้อนกลับไปในกลางศตวรรษที่ 19 กลาสโกว์คือหัวเมืองที่ได้รับอิทธิพลในแง่บวกจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษมากที่สุดเมืองหนึ่ง พร้อมกันนั้นพวกเขายังมีแม่น้ำไคลด์ (River Clyde) ที่ไหลออกไปยังทะเล ทำให้กลาสโกว์มีสถานะเป็นเมืองท่าอีกด้วย ซึ่งคู่ค้ารายใหญ่ของพวกเขาก็มาจากอเมริกาเหนือ โดยสินค้าที่มาพร้อมกันนั้นคือของมูลค่าสูงอย่างยาสูบ ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในจักรวรรดิอังกฤษ และในยุคนั้นว่ากันว่าเป็น ‘เมืองอันดับสอง’ รองแค่มหานครลอนดอนเท่านั้น

ความเจริญและมั่งคั่งย่อมดึงดูดคนมากหน้าหลายตาให้เข้ามาลงทุนและทำมาหากิน นั่นรวมไปถึงพวก ‘ไอริช’ หรือ ‘ชาวไอร์แลนด์’ ที่ในเวลานั้นกำลังอยู่ในช่วงแร้นแค้นและลำบาก เนื่องจากการระบาดของเชื้อราไฟทอปธอรา (Phytophthora) เข้ามาทำลายภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจในประเทศ และพืชที่โดนเล่นงานมากที่สุดคือมันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชสำคัญที่คนในประเทศใช้บริโภคเป็นอาหารหลัก

นั่นทำให้ผู้คนมากมายต้องล้มตายจากความอดอยาก เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า ‘ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (Irish An Gorta Mor, English Great Famine, Irish Potato Famine)’ ปัจจุบันหากใครได้ไปเยือนกรุง ดับลิน ก็จะเห็นรูปปั้นคนอดอยาก (The Famine Sculpture) บริเวณริมแม่น้ำลิฟฟีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวไอริชจำนวนมากหนีตายจากความอดอยากไปแสวงหาทางรอดในต่างแดน ซึ่งกลาสโกว์ที่กำลังมั่งคั่งก็เป็นหนึ่งในปลายทางในฝันของชาวไอริชเช่นกัน แต่สำหรับเมืองที่กำลังมั่งคั่งและเฟื่องฟูถึงขีดสุด การมาของคนไอริชที่ทั้งยากจนและไร้การศึกษาก็ไม่ต่างจากการมาของปัญหาทางสังคม เพราะเนื่องจากการไร้การศึกษานี่เองทำให้ทางเลือกของพวกเขามีไม่เยอะ ดังนั้นผู้ชายชาวไอริชส่วนใหญ่ก็ต้องไปเป็นคนใช้แรงงาน ส่วนผู้หญิงจำนวนมากก็ต้องไปขายบริการทางเพศเพื่อเอาชีวิตรอด

ทั้งหมดนั้นคือพื้นฐานทางสังคมที่เกิดขึ้นในยุคก่อนการก่อตั้งของทั้งสองสโมสร ซึ่งเดาได้ไม่ยากเลยว่าชาวสกอตติชจะเหยียดชาวไอริชที่เข้ามาสร้างปัญหา ส่วนชาวไอริชเองก็คงไม่ชอบขี้หน้าพวกที่เหยียดเขาเท่าไหร่นัก กระทั่งปี 1872 สโมสรฟุตบอลเรนเจอร์ส เอฟซี หรือที่เรารู้จักกันในนาม กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ก็ถือกำเนิดขึ้น โดย 4 ผู้ก่อตั้งชาวสกอตต์ สโมสรแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นเป็นตัวแทนชาวสกอตต์ขนานแท้ทั้งสีสันและตราสัญลักษณ์นั้นต่างสื่อออกถึงความเป็นสกอตติชอย่างชัดเจน

ในทางกลับกัน เซลติก เอฟซี หรือ กลาสโกว์ เซลติก ที่เกิดตามหลังมาในปี 1887 นั้น แสดงออกถึงความเป็นไอริชอย่างออกนอกหน้านอกตา ทั้งสีเขียวขาวและตรากางเขนแห่งเซลติก (ตราดอกโคลเวอร์ 4 แฉก เพิ่งถูกเอามาใช้ในปี 1930) นั่นทำให้แฟนบอลในยุคแรกของทีมล้วนแต่เป็นชาวไอริชที่อพยพมาอยู่ในกลาสโกว์ เพราะนอกจากพวกเขาจะได้มาดูฟุตบอลแล้วยังเหมือนการได้มาเจอเพื่อนฝูงและพี่น้องร่วมชาติไปในเวลาเดียวกัน

การกำเนิดขึ้นในเมืองเดียวกันโดยมีพื้นฐานต่างกันอย่างสุดกู่เช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่แฟนบอลทั้งสองทีมจะเป็นแฟนบอลคนละกลุ่ม และทั้งสองกลุ่มก็ต่างเกลียดขี้หน้ากันนับตั้งแต่เกมแรกที่เจอกันทันที เพราะความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาตินั้นเกิดขึ้นมาก่อนฟุตบอลอยู่แล้ว

ราดน้ำมันด้วยปมทางศาสนา

สิ่งที่ทำให้แฟนบอลทั้งสองทีมจงเกลียดจงชังกันมากกว่าเดิม นอกจากการแบ่งสีเป็นชาวสกอตต์กับชาวไอริชแล้ว เรื่องของศาสนาก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รอยร้าวที่เกิดขึ้นใหญ่โตกว่าเดิม จนกลายเป็นความแตกหักชนิดที่แฟนบอลของทั้งคู่ในยุคแรกเริ่มพร้อมจะบวกกันได้ตลอดเวลา และว่ากันว่าในยุคนั้น กลาสโกว์เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในโลกที่เราจะได้เห็นการปะทะกันเองของชาวคริสต์

ด้วยความที่เรนเจอร์สเป็นเป็นเสมือนตัวแทนของชาวสกอตต์ นั่นทำให้พวกเขามีฐานแฟนบอลส่วนใหญ่เป็นสกอตติช ซึ่งหมายความว่าแฟนบอลเหล่านี้ส่วนมากจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งปฏิเสธการขึ้นตรงต่อวาติกันและพระสันตะปาปา ขณะที่เซลติก ซึ่งมีฐานแฟนเกือบทั้งหมดในยุคนั้นเป็นคนไอริชที่อพยพมาจากไอร์แลนด์ ทำให้พวกเขานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไปโดยปริยาย

ความขัดแย้งทางศาสนาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากจะทำความเข้าใจกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งบนโลกใบนี้ เพราะเป็นเรื่องการเห็นต่างทางความเชื่อซึ่งยากจะอธิบายให้เข้าใจกันได้ด้วยเหตุผลทั่วไป และเมื่อมันยากจะทำความเข้าใจกัน แนวคิดสุดโต่งบางอย่างจึงเกิดขึ้น

หลังการมีตัวตนของเซลติกไม่นาน ฝั่งเรนเจอร์สเคยออกกฎประกาศว่าพวกเขาจะไม่เซ็นสัญญากับนักเตะคนใดก็ตามที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพราะพวกเขารู้ดีกว่านักเตะที่เป็นคาทอลิกนั้นร้อยทั้งร้อยคือนักเตะที่เป็นชาวไอริช แต่ต่อมาอีกหลายปี กฎข้อนี้ก็ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นและพวกเขาก็จำเป็นต้องเซ็นสัญญาคว้านักเตะฝีเท้าดีจากภาคพื้นยุโรปตอนใต้อย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส หรือสเปน ซึ่งชนชาติเหล่านั้นล้วนแต่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นหลัก

ด้านฝั่งเซลติกเองแม้จะไม่ได้มีนโยบายสุดโต่งแบบนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาเองก็ถูกชาวสกอตติช โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในกลาสโกว์เองเขม่นใส่ไม่น้อย และบรรดานักเตะเลือดวิสกี้แท้ๆ ถ้าเลือกได้พวกเข้าก็จะไม่เซ็นสัญญากับทีมม้าลายเขียวขาวเพื่อจะตัดปัญหา เพราะนอกจากเรื่องการไม่อยากเล่นให้ทีมของชาวไอริชแล้ว การเช็นสัญญากับเซลติกในยุคนั้น นักเตะจะถูกมองว่าเป็นคนทรยศไปโดยทันทีด้วย

ประเด็นทางศาสนาในดินแดนกลาสโกว์ปลายศตวรรษที่ 19 นั้น เป็นประเด็นที่ค่อนข้างรุนแรงและตึงเครียด มีการแบ่งกลาสโกว์ออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน และทั้งสองส่วนนั้นจะมีน้อยครั้งที่พวกเขาจะไปมาหาสู่กัน ซึ่งนั่นเองที่ทำให้เมืองแห่งนี้ไม่มีการฉลองวันเซนต์แพทริก (นักบุญซึ่งเป็นที่นับถือของชาวไอริช) ในวันที่ 17 มีนาคมของทุกปี แม้ว่าจะมีชาวไอริชอาศัยอยู่ในกลาสโกว์เป็นจำนวนมากก็ตาม

ปัญหาทางการเมืองเรื่องสำคัญ

ถ้าคิดว่าเชื้อชาติกับศาสนา ทำให้เมืองกลาสโกว์ซับซ้อนแล้ว เรื่องของการเมืองยิ่งเป็นตัวทำให้เงื่อนที่พันกันของแฟนบอลทั้งสองทีมยุ่งยากวุ่นวายยิ่งไปกว่าเดิม จนเป็นเงื่อนที่เละเทะเกินกว่าจะแก้ไขให้พวกเขาทั้งคู่กลับมาปรองดองกลมเกลียวกันได้อีกแล้ว

การเมืองในสหราชอาณาจักรนั้นมี 2 ขั้วการเมืองใหญ่ๆ คือ ‘พรรคแรงงาน (Labour)’ กับ ‘พรรคอนุรักษนิยม (Conservative)’ ซึ่งนโยบายของทั้งคู่ก็เป็นไปตามชื่อพรรคของพวกเขา

‘พรรคแรงงาน’ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าฐานเสียงของพวกเขาคือแรงงานและชนชั้นรากหญ้า ซึ่งนโยบายที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาก็เป็นนโยบายสังคมนิยมเอียงซ้ายอยู่บ้าง ทำให้ลูกหลานของชาวไอริชที่เกิดมาในสกอตแลนด์ถูกใจสิ่งนี้ เพราะพวกเขาคือแรงงาน ไม่ก็เป็นลูกหลานของชนชั้นแรงงานเช่นกัน และนั่นเองที่ทำให้การเมืองลามไปถึงสนามฟุตบอลที่ทำให้เซลติก เป็นเสมือนตัวแทนของแนวคิดนี้ไปด้วย

ตัดภาพไปทาง ‘พรรคอนุรักษนิยม’ ด้วยชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดและอยากอนุรักษ์สิ่งต่างๆ ให้เป็นไว้อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งคนที่ไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเป็นคนที่สบายและไม่ต้องดิ้นรนแบบชนชั้นสูง กับบรรดาอีลีตต่างๆ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่แปลกที่ส่วนมากจะเป็นอภิสิทธิ์ชนคนสหราชอาณาจักรอย่างคนสกอตติชซึ่งเป็นแฟนบอลของเรนเจอร์ส

แนวคิดที่ตัดกันทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ยังเชื่อมโยงไปถึงสถานะของไอร์แลนด์เหนือที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรอยู่ด้วย สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว พวกเขาย่อมไม่ต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือแยกตัวเป็นเอกราชหรือไปรวมกับไอร์แลนด์ ส่วนทางฝั่งของเซลติกจะคิดในทางตรงกันข้าม เนื่องจากพวกเขามีพื้นเพเป็นชาวไอริชที่สนับสนุนการแยกตัวของไอร์แลนด์เหนือไปรวมกับไอร์แลนด์นั่นเอง

ในระหว่างปี 1969 ถึงปี 1998 ข้อพิพาทเหนือไอร์แลนด์เหนือทำให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายที่มีชื่อว่า ไอริช รีพลับลิกัน อาร์มี (Irish Replublican Army) หรือ ขบวนการ (I.R.A.) โดยพวกเขาตระเวนก่อการร้ายไปทั่วสหราชอาณาจักร เพื่อต้องการให้ดินแดนบางส่วนในไอร์แลนด์เหนือเป็นอิสระ

ถึงแม้จะมีการเสียเลือดเนื้อและเกิดความรุนแรงหลายครั้ง แต่สำหรับชาวไอริชบางส่วนมองว่าพวกเขาเป็นฮีโรที่จะมาปลดปล่อยชาวไอร์แลนด์จากการยึดครองของบริเทน ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องเมื่อแฟนบอลเซลติกออกมาให้กำลังใจกลุ่มไออาร์เอ และให้การสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าถึงขนาดที่ว่ามีการแต่งเพลงเชียร์ให้

เรื่องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แฟนเรนเจอร์สและชาวสกอตแลนด์ พวกเขาออกมาตราหน้าแฟนเซลติกว่าเป็นพวกกลุ่มก่อการร้าย พร้อมทั้งแสดงออกด้วยการโบกธงชาติของสหราชอาณาจักรในสนามฟุตบอลเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนความเป็นชาติของพวกเขา ซึ่งทางแฟนเซลติกเองก็แสดงออกด้วยการโบกธงชาติไอร์แลนด์ในสนามด้วยเช่นกัน

‘ดิ โอลด์ เฟิร์ม’ ชื่อนี้มีความหมาย

แม้จะเกลียดกันปานจะฆ่ากันให้ตาย แต่การพบกันของทั้งคู่กลับถูกเรียกด้วยคำที่ดูแน่นแฟ้นอย่าง ‘ดิ โอลด์ เฟิร์ม (The Old Firm) ดาร์บี้’ ซึ่งที่มาของคำคำนี้ก็ไม่มีการยืนยันจากแหล่งข้อมูลใดๆ ว่าจุดเริ่มต้นนั้นมาอย่างไรกันแน่ แต่จากข้อมูลของ วิลเลียม เจ. เมอร์รีย์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Old Firm: sectarianism, sport, and society in Scotland ระบุว่า คำนี้มาจากผู้บรรยายที่พูดขึ้นมาว่าเหมือน ‘เพื่อนเก่าที่แน่นแฟ้นสองคน (Like two old, firm friend)’  เนื่องจากทั้งสองทีมเป็น 2 ใน 11 ทีมที่เก่าแก่ที่สุดในสกอตแลนด์

อย่างไรก็ตาม หลังจากการที่ต้องกระเด็นตกชั้นเพราะปัญหาทางการเงินของเรนเจอร์ส ในปี 2012 แฟนบอลของเซลติก ส่วนมากก็เลือกที่จะไม่ใช้คำว่า ‘โอลด์ เฟิร์ม’ อีก พราะพวกเขามองว่าคู่ปรับตลอดกาลของพวกเขาไม่ใช่ทีมเดิมอีกต่อไป เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและบริษัทใหม่ และเลือกที่จะเรียกการเจอกันระหว่างทั้งสองทีมว่า ‘กลาสโกว์ ดาร์บี้’ แทน แม้ว่าคำเรียกอย่างเป็นทางการจะยังเป็น ‘โอลด์ เฟิร์ม’ เหมือนเดิมก็ตาม

แต่จากการกลับมายืนบนลีกสูงสุดอีกครั้งของเรนเจอร์ส หลังจบฤดูกาล 2015-16 และกลับมาไล่ล่าแชมป์อย่างเต็มตัวในปี 2018-19 ก่อนจะมาได้แชมป์ลีกสูงสุดของสกอตแลนด์ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011 ทำให้แฟนบอลของ ‘เดอะ ไลท์บลูส์’ ได้ชื่อใหม่จากแฟนบอลของ ‘ม้าลายเขียวขาว’ ว่า ‘ไอ้พวกซอมบี้’ เพราะนอกจากฆ่าไม่ตายแล้ว ยังกลับมารังควานได้อีกต่างหาก

ฉายาล่าสุดที่แฟนเซลติกขนานนามให้แฟนของเรนเจอร์ส ว่า ‘ซอมบี้’ ยังเป็นการล้อเพลงเชียร์ของของทีมคู่แข่งที่มีเนื้อร้องว่า “เราเป็นประชาชน (We are the people)” ซึ่งเนื้อหาในเพลงท่อนนี้ก็ไม่แน่ชัดว่ามีที่มาอย่างไร แต่จากคำกล่าวของแฟนบอลกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเป็นกลุ่มผู้แต่งเนื้อร้องนี้อธิบายว่า “เราคือประชาชน [ผู้ถูกเลือก] (we are the [chosen] people)” ซึ่งแสดงออกถึงความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริเทน และสะท้อนแนวคิดความเป็นชาตินิยมและเอียงขวาอยู่บ้าง

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งของทั้งสองทีมแห่งเมืองกลาสโกว์ ถือว่าเบาบางลงไปพอสมควรถ้าเทียบกับเหตุการณ์แต่เก่าก่อนในยุคเริ่มต้น ประเด็นทางเชื้อชาติและศาสนาถูกลดทอนลง แต่ในประเด็นทางการเมืองนั้นยังคงมีและยังครุกรุ่นอยู่เป็นระยะ ซึ่งต่างจากคู่อริร่วมเมืองคู่อื่นๆ ที่ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นในอดีต ก่อนที่จะเหลือเป็นเพียงเรื่องราวเล่าขานและถูกแปลเปลี่ยนเป็นสงครามตัวแทนด้วยกีฬาในยุคปัจจุบัน

ความเกลียดชังของเรนเจอร์สและเซลติกเป็นของจริงและยังคงมีอยู่ ไม่ใช่เพราะความหมั่นไส้หรือความอิจฉา หากแต่เป็นการรวมกันของความขัดแย้งในปัจจุบันและเรื่องราวมากมายในอดีตที่ถูกปลูกฝังต่อกันมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีการประนีประนอมใดๆ

ถ้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้แชมป์ ลิเวอร์พูลยังพร้อมที่จะตั้งแถวเกียรติยศให้ก่อนเกมที่ทั้งคู่เจอกัน หรือในทางกลับกันก็คงไม่ต่าง แต่การเจอกันในเกมวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาเซลติกปฏิเสธที่จะทำแบบนั้น ไม่มีการยืนต่อแถวปรบมือหรือให้เกียรติใดๆ ต่อกันทั้งสิ้น และแฟนบอลก็พอใจที่จะปล่อยให้เป็นแบบนั้นต่อไป

บางทีเรื่องราวของเรนเจอร์สกับเซลติกอาจจะเรียกได้ไม่เต็มปากว่าเป็น ‘วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต’ เพราะในปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ก็ยังดำเนินต่อไป แลไม่ใช่เหตุผลทั่วๆ ไปอย่างความไม่ลงรอยกัน หรือ อิจฉาตาร้อนใส่กันด้วย หากแต่เป็นเหตุผลที่เคยทำให้คนฆ่ากันตายมาแล้วทั้งสิ้น อย่างชาติ ศาสนา และการเมือง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในศึก ‘ดิ โอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี้’ แต่ละครั้ง จึงล้วนแต่สด ใหม่ และยังคงเป็นเกมดาร์บี้ที่ตำรวจต้องทำงานหนักเสมอ แม้จะเป็นเพียงแค่การแข่งขันฟุตบอลก็ตาม…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save