fbpx

สปาร์ตัก มอสโกว์-ดินาโม มอสโกว์: เมื่ออำนาจรัฐปะทะประชาชนกลางเมืองหลวง

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

บางครั้งปูมหลังของฟุตบอลก็อาจเต็มไปด้วยเรื่องน่าเศร้าและน่าเห็นใจ เพราะประวัติศาสตร์ของคู่ปรับบางคู่ก็เติบโตขึ้นเพราะน้ำตา ความแค้น และอาจจะรวมไปถึงหยดเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงความเกลียดชังระหว่างทั้งสองทีมในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้ในเวลาต่อมาสโมสรสองแห่งมีอันต้องกลายเป็นอริกันแบบตลอดกาล

โชคชะตาก็อาจมีส่วนในการหล่อหลอมความเกลียดชังและความเป็นอรินั้นให้เกิดขึ้นมา เมื่อสโมสรแห่งหนึ่งได้รับฉายาว่า ‘ทีมของประชาชน’ ในยุคที่ประเทศชาติปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์สมบูรณ์แบบ คู่แข่งของพวกเขาก็ไม่วายจะหนีพ้น ‘ทีมของรัฐ’ หรือที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

เรื่องราวที่จะเล่าใน The Rivalry ตอนนี้เป็นเรื่องราวคู่ปรับแห่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์ฟุตบอลไม่เหมือนที่ไหนในโลกอย่างรัสเซีย ประเทศซึ่งเต็มไปด้วยบรรดาทีมคู่ปรับมากมาย หากนับแค่เพียงมอสโกว์เมืองเดียว พวกเขามีทีมคู่ปรับร่วมเมืองถึงหกสโมสร ทำให้เมืองหลวงของรัสเซียแห่งนี้กลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับที่สองของยุโรป รองจากกรุงลอนดอนที่มีเกมดาร์บีมากมายขนาดนี้

ยังไม่นับว่าการเป็นอริและแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างมอสโกว์กับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็ยังก่อกำเนิดคู่ปรับตลอดกาลระหว่างสองเมืองนี้อีกต่างหาก ซึ่งนั่นเราอาจจะว่ากันภายหลัง

แต่วันนี้เรื่องราวในตอนนี้ของ The Rivalry เป็นเรื่องของสองสโมสรที่ไม่ได้ต่อสู้กันแค่ฝีเท้าในสนามฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องสู้กันด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างระหว่างฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ถือและใช้อำนาจ กับอีกฝ่ายที่เป็นประชาชน ซึ่งต้องการความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา

การต่อสู้ของพวกเขาทั้งสองทีมถูกเรียกว่าโอลเดสต์ รัสเชียน ดาร์บี (Oldest Russian Derby) หรือเกมดาร์บีแมตช์ที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย หรือบางทีอาจถูกเรียกในชื่ออื่นอย่าง ‘เกมแห่งการเมือง’ (Game of political importance) ตามจุดกำเนิดของเรื่องราวเช่นกัน

ที่ว่ามาทั้งหมด คือคำจำกัดความการเจอกันระหว่างสองสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งกรุงมอสโกว์ อย่างสปาร์ตัก มอสโกว์ เจ้าของฉายา ‘ทีมของประชาชน’ และดินาโม มอสโกว์ สโมสรซึ่งถูกขนาดนามว่า ‘เมนตี’ หรือ ‘ตำรวจ’ (ไม่ใช่แค่แถวนี้สินะ ที่ตำรวจเป็นอริกับประชาชน!) และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

สปาร์ตัก มอสโกว์ – สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของประชาชน

ย้อนกลับไปเมื่อราว 100 ปีก่อน ในปี 1922 สโมสรฟุตบอลที่ในอนาคตจะมีชื่อว่าสปาร์ตัก มอสโกว์ ถือกำเนิดขึ้นในย่าน เพรสเนีย (Presnya) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมอสโกว์ ซึ่งในเขตนี้เป็นย่านที่มีประวัติการประท้วงต่อต้านการจัดตั้งสหภาพโซเวียตมาก่อน ทำให้ย่านนี้ถูกจับตามองจากรัฐบาลมาตั้งแต่แรกเริ่ม

ในช่วงการก่อตั้ง สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ใช้ชื่อว่า คราสนายา เพรสเนีย (Krasnaya Presnya) หรือหากแปลแบบดื้อๆ ก็คงจะเป็นเพรสเนียสีแดง โดยสโมสรฟุตบอลแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมอสโกว์ สปอร์ตส์ คลับ หรือ MCS ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยประชาชนตั้งแต่ปี 1883 เพื่อให้ประชาชนรวมตัวกันออกกำลังกาย โดยภายใต้ชื่อของ MCS นั้น มีหลายสมาคมกีฬา อาทิ ยิมนาสติก ลอนเทนนิส มวย สกี จักรยาน ฟันดาบ เป็นต้น

คราสนายา เพรสเนีย ถูกผลักดันและก่อตั้งขึ้นโดยอีวาน อาร์เตมเยฟ กับนิโคไล สตารอสติน ด้วยความที่เป็นสโมสรจากประชาชน ทำให้สโมสรแห่งนี้ต้องมีผู้สนับสนุนถึงจะอยู่ได้และการเติบโตของสโมสรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป กว่าจะมีสนามเป็นของตัวเอง ก็ต้องเก็บเงินจากค่าตั๋วอยู่หลายปี ก่อนจะได้ย้ายไปเล่นที่ทอมสกี สเตเดียม ในปี 1926 โดยในช่วงนั้นสโมสรได้รับการสนับสนุนเรื่องอาหารจากสหภาพแรงงาน ทำให้สโมสรแห่งนี้มีความแน่นแฟ้นกับชนชั้นแรงงานมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

ตระกูลสตารอสติน เป็นนักกีฬาฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมาก่อนจะมาก่อตั้งสโมสรคราสนายา เพรสเนีย ทำให้เขาได้รับความชื่นชมจากผู้มีอำนาจไม่น้อย โดยหนึ่งในนั้นคืออเล็กซานเดอร์ โคซาเรฟ เลขาธิการของ คอมโซมอล (Komsomol) หรือ สหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการกีฬา และด้วยเงินทุนจากโคซาเรฟ ทำให้สโมสรนี้ถูกพัฒนาขึ้นอีกครั้ง และถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสปาร์ตัก มอสโกว์ ในปี 1934 และใช้ชื่อนี้มาจวบจนปัจจุบัน

โดยทางสตารอสตินกับพี่น้องของเขารวมสี่คน เคยเปิดเผยว่าชื่อของสปาร์ตักได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายเรื่อง สปาร์ตาโก (Spartaco) ของ ราฟาเอลโล โจวาโญลี (Raffaello Giovagnoli) หรือที่คุ้นหูกันในนาม ‘สปาร์ตาคัส’ ซึ่งกลายเป็น ‘สปาร์ตัก’ ในภาษารัสเซียน

โดยนวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องของสปาร์ตากุส ทาสชาวเธรสเป็นผู้นำการลุกฮือของทาสที่เมืองกาปูอาเมื่อ 73 ปีก่อนคริสตศักราช และรวบรวมทาสชนชาติต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก ก่อการกบฏต่อกรุงโรม ซึ่งลำพังแค่นิยามจากชื่อของทีม ก็ดูจะไม่น่าเป็นที่เป็นที่พอใจของรัฐบาลสหภาพโซเวียตสักเท่าไหร่แล้ว

ดินาโม มอสโกว์ – ตัวแทนของตำรวจลับว่าที่เคจีบี!

หลังจากสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม 1922 ก็มีนโยบายต่างๆ ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนถูกประกาศใช้มากมาย หนึ่งในนโยบายที่ถูกประกาศใช้หลังการก่อตั้งประเทศได้ไม่นาน คือนโยบายส่งเสริมการกีฬาของสภาพโซเวียต ที่ให้การสนับสนุนการสร้างทีมกีฬาในท้องถิ่นเพื่อให้ชาวโซเวียตให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย

นโยบายนี้ได้กำเนิดสโมสรกีฬามากหน้าหลายตาที่มีจุดร่วมคือขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ดินาโม’ ไล่ตั้งแต่ ดินาโม คีฟ (ปัจจุบันอยู่ในยูเครน) ดินาโม ทบิลิซี (ปัจจุบันอยู่ในจอร์เจีย) ดินาโม ซาเกร็บ (ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย) และดินาโม บูคาเรสต์ (ปัจจุบันอยู่ในโรมาเนีย)

แต่หากพูดถึงทีมตระกูลดินาโมทีมแรกในประวัติศาสตร์ก็คงต้องเป็นดินาโม มอสโกว์ ทีมที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของสหภาพโซเวียต โดยสโมสรแห่งนี้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1923 หรือหลังคู่ปรับอย่างสปาร์ตัก มอสโกว์ราว 1 ปี

โครงการส่งเสริมการกีฬาของสภาพโซเวียตภายใต้ชื่อ ‘ดินาโม’ นี้ ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างดินาโม คีฟก็อยู่ภายใต้ยูเครน หรือดินาโม บูคาเรสต์ก็อยู่ภายใต้โรมาเนีย แต่นั่นหมายความว่าดินาโม มอสโกว์ถูกกำกับดูแลด้วยรัฐบาลกลางของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นรัฐบาลมีอำนาจมากที่สุดในโลกควบคู่กับสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานั้น

การกำกับดูแลดินาโม มอสโกว์จึงตกอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยของโซเวียต และอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจเหนือสโมสรแห่งนี้ ถูกส่งมาให้เฟลิกซ์ เซอร์ซินสกี หัวหน้าหน่วยตำรวจลับหรือ OGPU ที่ในอนาคตจะกลายเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในนาม ‘เคจีบี’

ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ดินาโม มอสโกว์จึงเป็นเหมือนตัวแทนทีมของรัฐ และพวกเขาก็ถูกเรียกขานด้วยฉายาอย่าง เมนตี (Menty) หรือ มูโซรา (Musora) ในเวลาต่อมา ซึ่งทั้งสองชื่อมีความหมายว่า ‘ตำรวจ’ ทั้งสิ้น

เมื่อนิยามของพวกเขาชัดเจนขนาดนี้ ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างดินาโม มอสโกว์กับสปาร์ตัก มอสโกว์ ก็เกิดขึ้นทันทีที่สโมสรทั้งสองรู้ว่ามีอีกฝ่ายอยู่บนโลกใบนี้และแชร์เมืองร่วมกัน เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวคิด รวมไปถึงชนชั้นของสโมสรทั้งสองต่างกันเหลือเกิน

เกมแห่งการเมือง – การส่งต่อความเกลียดชังไปอีกหลายชั่วคน

สี่พี่น้องตระกูลสตารอสติน อันได้แก่ นิโคไล, อเล็กซานเดอร์, อังเดรย์ และ ปีโอเตอร์ ช่วยกันดูแลสปาร์ตัก มอสโกว์อย่างแข็งขึ้น และทำให้สโมสรแห่งนี้เติบใหญ่จนกลายเป็น ‘ทีมของประชาชน’ อันแข็งแกร่งแตกต่างจากคู่แข่งทั้งหมด เพราะพวกเขาถูกสร้างขึ้นในฐานะทีมฟุตบอลอิสระ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับส่วนใดส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ

สปาร์ตักถูกบริหารทีมอย่างเป็นกลาง โดยมีจุดมุ่งหมายคือความสำเร็จในโลกฟุตบอลเท่านั้น นั่นทำให้สโมสรแห่งนี้กลายเป็นจุดสนใจของผู้ที่คลั่งไคล้ในฟุตบอลไปโดยธรรมชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกลึกๆ ร่วมกันคือไม่พอใจที่พรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมกีฬาเพื่อเป้าหมายของตัวเอง

ดังนั้น การแสดงออกของคนกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล คือการมายืนฝั่งของสปาร์ตักมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้การแสดงตัวเป็นแฟนสโมสรแห่งนี้นับวันก็มีแฟนบอลมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิธีการมาเป็นแฟนบอลสปาร์ตัก ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ที่ถ้าหากโดนจับได้ก็อาจถูกจับไปไว้ยังค่ายกักกันที่กูลักเลยก็เป็นได้

ตัดภาพไปที่ทางฝั่งดินาโม มอสโกว์ หลังจากที่พวกเขาได้ประธานสโมสรคนใหม่อย่างลาฟเรนติ เบรียา ผู้ได้รับสมญานามว่า ‘เพชฌฆาตของสตาลิน’ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสโมสรแห่งนี้ หลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะวิธีการที่เขาใช้เล่นงานคู่แข่ง

แน่นอนว่าคู่ปรับตัวฉกาจของดินาโมคือสปาร์ตัก และการที่ทีมคู่ปรับได้แชมป์และแข่งขันกับพวกเขาได้อย่างสูสี ว่ากันว่าเบรียา ต้องการเห็นสปาร์ตักตกต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในแง่ส่วนตัว เขาต้องการมอบความสิ้นหวังให้กับคนที่ไม่เคารพในพรรคคอมมิวนิสต์และนโยบายของพรรค อย่างกองเชียร์ ‘เรด-อาร์มีส์’ ของสปาร์ตัก ดังนั้นการ ‘ยัดข้อหา’ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จึงตามมาแบบไม่มีใครรู้สาเหตุ

ในปี 1942 นิโคไลและอังเดรีย แห่งตระกูลสตารอสติน ก็ถูกทางการตามล่าตัวเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าวางแผนเพื่อสมคบคิดกันสังหารสตาลิน ก่อนถูกส่งตัวไปใช้แรงงานที่ไซบีเรีย

ขณะที่พี่น้องอีกสองคนกลับถูกข้อหาที่เรียกได้ว่า ‘งี่เง่า’ ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้จะตัดสินด้วยมาตรฐานที่ตกต่ำจากการใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ในสมัยนั้นก็ตาม โดยทางปีโอเตอร์และอเล็กซานเดอร์ถูกตั้งข้อหาสุดไร้สาระว่าขโมยเสื้อผ้าที่มีผู้มาฝากขาย ก่อนถูกส่งตัวไปยังไซบีเรียเช่นกัน

นอกจากจัดการกับระดับ ‘หัว’ ของสปาร์ตักแล้ว ทางเบรียายังใช้ลูกเล่นนอกสนามอื่นๆ อย่างการตัดกำลังนักเตะของสปาร์ตักด้วยการแบล็กเมล์นักเตะเพื่อให้ย้ายทีมออกไปด้วย

โดยเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากเซอร์เก ซัลนิคอฟ อดีตนักเตะของสปาร์ตัก ที่ออกมาเล่าภายหลังว่าตัวเขาถูกยื่นเงื่อนไขให้ย้ายออกจากสปาร์ตักไปร่วมทีมดินาโม เพื่อแลกกับการที่พ่อเลี้ยงของเขาได้รับการปล่อยตัวจากค่ายแรงงาน

ขณะที่นิกิตา ซิมอนยาน คู่หูในแนวรับชองซัลนิคอฟก็เปิดเผยว่า เขาเองก็โดนอะไรคล้ายๆ กัน เพื่อบังคับให้เขาย้ายไปร่วมทีมดินาโม ทบิลิซี หลังจากพ่อของเขาอยู่ดีๆ ก็ถูกจับ และเขาก็ถูกยื่นข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ ‘ไร้ทางเลือกโดยสิ้นเชิง’

น่าเสียดายที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปแบบที่เบรียาคาดคิด แม้จะตัดแข้งตัดขาคู่แข่งรายสำคัญอย่างสปาร์ตัก มอสโกว์ไปได้ แต่แชมป์โซเวียต ท็อป ลีกหลังจากนั้นส่วนใหญ่ก็จะไปอยู่ในมือของซีเอสเคเอ มอสโกว์ และตอร์ปิโด มอสโกว์ มากกว่า ที่สำคัญคือทั้งสองทีมที่ว่ามาก็มีหน่วยงานรัฐคุ้มครองอยู่ ทำให้เบรียาไม่สามารถใช้วิธีที่เขาจัดการพี่น้องสตารอสตินเล่นงานสโมสรเหล่านี้ได้ด้วยนั่นเอง

ขณะที่บรรดาสี่พี่น้องสตารอสติน ต้องใช้แรงงานอยู่ที่ไซบีเรียนานถึง 13 ปี ก่อนกลับมายังสโมสรที่เขารักอีกครั้งหลังจากที่สตาลินและเบรียาเสียชีวิตไปแล้ว

โอลเดสต์ รัสเซียน ดาร์บี – การเผชิญหน้าหลังฟ้าสีแดงผ่านพ้นไป

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ดินาโมกับสปาร์ตัก ก็เป็นสองทีมที่กลับมาผูกขาดความสำเร็จในโซเวียตท็อป ลีก โดยหลังปี 1950 ทั้งสองสโมสรได้แชมป์รวมกัน 15 สมัย แบ่งเป็นทางสปาร์ตัก 9 สมัย และดินาโมอีก 6 สมัย ก่อนมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 1991 นั่นคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

หลังจากนั้นลีกฟุตบอลของรัสเซียถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ในนามรัสเซียพรีเมียร์ลีก แต่ดูเหมือนว่าดินาโม มอสโกว์ที่บริหารงานด้วยรัฐเป็นหลักมาตลอด จะยังไม่สามารถตั้งตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ได้ทัน ทำให้ให้หลังจากมาสังกัดรัสเซียพรีเมียร์ลีก พวกเขายังไม่สามารถคว้าแชมป์ได้เลย

ตรงกันข้ามกับสปาร์ตักที่บริหารงานโดยเอกชนมาตลอด พวกเขาปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และครองความยิ่งใหญ่ในลีกรัสเซียมาตลอด โดยคว้าแชมป์ไปถึง 10 สมัย นับตั้งแต่รัสเซียพรีเมียร์ลีกเริ่มแข่งขันในปี 1992 และถึงแม้พวกเขาจะต้องเจอกับช่วงเวลาที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2016 แต่ถึงอย่างนั้นสปาร์ตักก็ยังคงเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในลีกรัสเซียอยู่ดี

อย่างไรก็ตามแม้ระดับความสำเร็จในฟุตบอลลีกจะห่างชั้นกันเป็นอย่างมาก แต่เกมการเจอกันของทั้งคู่กลับเป็นเกมที่สนุกและไม่ยอมแพ้กันอย่างสิ้นเชิง

หลายครั้งความสัมพันธ์แบบ ‘เกลียดชัง’ กันแต่เก่าก่อน ก็ทำให้เกมร้อนแรงขึ้นเสมอ เรามักเจอใบแดงหรือแฟนบอลที่หน้ามืดเดินมาสาวหมัดใส่กันได้ไม่ยากหากเป็นการเจอกันของสองทีมนี้

ปัจจุบันแห่งความขัดแย้ง – ประวัติศาสตร์ที่ส่งต่อความเกลียดชังอันบิดเบี้ยว

การเจอกันครั้งล่าสุดในเกมโอลเดสต์ รัสเซียน ดาร์บี เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน และจบด้วยชัยชนะของเจ้าบ้านอย่างดินาโม มอสโกว์ เหนือสปาร์ตักด้วยสกอร์ 1-0 และแน่นอนว่ามี 1 ใบแดงตามระเบียบการเจอกันของคู่นี้ที่ต้องเดือดเป็นพิเศษ

แม้ในปัจจุบันผู้คนที่เป็นแฟนบอลของทั้งสองทีม น่าจะมีไม่เกิน 1% ที่ยังทันในยุคการข่มเหงด้วยอำนาจนอกสนามของดินาโมต่อสปาร์ตัก แต่ความขัดแย้งนี้ถูกส่งต่อมาผ่านฟุตบอลเรียบร้อยแล้วแบบเป็นอัตโนมัติ

การส่งต่อความเกลียดชังและความเป็นอริเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ได้หายากในโลกกีฬา ความเกลียดชังถูกส่งต่อกันได้ง่ายกว่าความรักเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะหากหันไปดูแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดหรือลิเวอร์พูล ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรืออังกฤษ หรือชาติไหนๆ ก็ต่างรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่าต้องเกลียดอีกฝ่าย

ความเกลียดชังกันระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีม กลายเป็นการลงไม้ลงมือได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่าพอดี ‘ที่นี่คือรัสเซีย’ มันเลยค่อนข้างจะแตกต่างจากที่อื่นสักเล็กน้อย

กลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงของดินาโมและสปาร์ตักมักจะนัดกันออกมาแลกหมัดกันก่อนเกมเสมอ หมายถึงชกต่อยกันจริงๆ แต่การชกต่อยของพวกเขาอยู่ในของเขตที่พวกเขาตกลงกัน และเมื่อการต่อสู้จบลง พวกเขาจะตบคอตบไหล่ขอบคุณกัน และแยกย้ายไปเตรียมเชียร์ทีมของตัวเอง… ซึ่งแปลกมาก!

โดยเดนนิส ซาเรฟ หนึ่งในแฟนบอลที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ให้สัมภาษณ์กับเดลีเมล์ว่า “เราต่อสู้กันก่อนทุกเกมระหว่างสปาร์ตักและดินาโม เราสู้เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนทีมของเรา”

“นี่ไม่ใช่การต่อสู้ที่รุนแรงมาก ครั้งหน้าเราจะอาจจะต่อสู้กันด้วยไม้หรืออาวุธบ้าง จนกว่าเราจะเสียเลือดกันมากไปกว่านี้”

บางทีนี่ก็เป็นความสัมพันธ์แบบคู่อริที่ยากจะเข้าใจ…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save