fbpx

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ – ชาลเก 04 : การเผชิญหน้าของชนชั้นแรงงาน

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

ที่ผ่านมา The Rivalry มักจำเล่าเรื่องราวของคู่ปรับในโลกกีฬาที่มีพื้นฐานมาจากความแตกต่าง สู่การพัฒนาเป็นความไม่ลงรอยจากความแตกต่างนั้น และเมื่อผ่านกาลเวลาที่ยาวนานพอสมควร ก็วิวัฒนาการกลายเป็นสงความตัวแทนผ่านการแข่งขันที่เรียกว่ากีฬาแบบที่เป็นอยู่ในหลายๆ ตอนที่ผ่านมา แต่เรื่องราวในตอนนี้อาจจะมีพล็อตต่างจากเรื่องทั้งหลายที่ผ่านมาพอสมควร เพราะคู่อริของเรื่องราวในตอนนี้ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นแบบนั้น แม้จะเป็นหนึ่งในคู่ปรับที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคู่หนึ่งของโลกก็ตาม แต่พวกเขากลับมีพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ในความเหมือนกันของชนชั้นก็มีความแตกต่างอยู่เหมือนกัน

ดอร์ทมุนด์ และ เกลเซนเคียร์เชิน เป็นสองเมืองสำคัญที่กำลังจะถูกพูดถึงในตอนนี้ โดยเมืองทั้งสองต่างตั้งอยู่ในแคว้นรูห์ ของรัฐนอร์ธไรน์เวสต์เฟเลีย (North Rhine-Westphalia) ซึ่งเป็นรัฐทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี มีพรมแดนติดกับประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยความพิเศษของเมืองทั้งสองนี้ นอกจากจะเป็นเมืองสำคัญและมีชื่อเสียงแล้ว ทั้งสองเมืองยังมีอาณาเขตติดกันด้วย และนั่นเองอาจจะมีส่วนในการช่วยบ่มเพาะความเป็นอริต่อกันขึ้นมา

ในปัจจุบัน การเจอกันของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์กับชาลเก 04 ต่างถูกเรียกขานว่า ‘รีเวียร์ เดอร์บี’ ซึ่งมาจากคำว่า โคห์เล่นรีเวียร์ (Kohlerevier – ถ่านหิน) หรือ แบร์กเบารีเวียร์ (Bergbaurevier – พื้นที่ทำเหมือง) โดยตัดเพียงคำว่า ‘รีเวียร์’ มาใช้ เพื่อให้มีความหมายคงเดิมว่า ‘ดาร์บีถ่านหิน’ หรือ ‘ดาร์บีของพื้นที่ทำเหมือง’ ซึ่งแสดงออกถึงความเหมือนกันของพื้นเพในย่านนี้ แต่บ่อยครั้งเราก็มักจะได้ยินคนเรียกขานการเจอกันของทั้งคู่ด้วยชื่ออื่นอย่าง ‘รูห์ เดอร์บี’ เช่นกัน

การเป็นอริกันของทาง ‘เสือเหลือง’ อย่างดอร์ทมุนด์ กับ ‘ราชันสีน้ำเงิน’ อย่างชาลเก เกิดขึ้นก่อนที่จะมีศึกบุนเดสลีกานานหลายทศวรรษ โดยการเจอกันครั้งแรกของสองคู่ปรับนี้ ต้องย้อนกลับไปเกือบศตวรรษในปี 1925 โดยหลังจากนั้นทั้งดอร์ทมุนด์และชาลเกก็กลายเป็นสโมสรคู่อริกันมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

ดังนั้นเรื่องราวของคู่ปรับคู่นี้จึงไม่เหมือนใคร เพราะไม่ได้เริ่มต้นด้วยความ ‘ต่าง’ หากแต่เริ่มต้นด้วยความ ‘เหมือน’ แต่ถึงอย่างนั้น ความเหมือนกันก็กลับส่งผลให้ทั้งสองเมืองต่างตั้งแง่ใส่กันได้ แม้จะมีจุดที่ไม่เหมือนกันเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นก็ตาม นี่คือเรื่องราวของดาร์บีแห่งแคว้นรูห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในการเจอกันของคู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนี

นี่คือเรื่องราวของ ‘รีเวียร์เดอร์บี’ ระหว่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กับ ชาลเก 04

จุดเริ่มต้นจากคนงานเหมืองถ่านหิน

ความเหมือนที่สำคัญอย่างมีนัยระหว่างชาลเก 04 จากเกลเซนเคียร์เชินกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์แห่งดอร์ทมุนด์ คือการที่ทั้งสองเมืองเป็นเมืองสำคัญในการผลิตถ่านหินป้อนสู่วงการอุตสาหกรรม โดยพื้นที่ในย่านนั้นมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งสำคัญในการทำเหมืองถ่านหินมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แล้ว และในช่วงราวปี 1850 มีข้อมูลว่าในแคว้นรูห์ สามารถผลิตถ่านหินได้ถึงปีละ 1.9 ล้านตัน และมีการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงปี 1900 ว่ากันว่ารูห์สามารถผลิตถ่านหินได้ถึงปีละ 60 ล้านตัน

แน่นอนว่าการเพิ่มกำลังการผลิตย่อมหมายถึงการเพิ่มกำลังคนเช่นกัน ตัวเลขพลเมืองในปี 1840 หลังจากที่เกลเซนเคียร์เชินเริ่มการทำเหมืองถ่านหินขนาดเล็ก ในตอนนั้นมีตัวเลขผู้อยู่อาศัยที่ราว 6,000 คน แต่หลังจากนั้นจำนวนผู้อยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับขนาดของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินที่เติบโตขึ้นเช่นกัน จนในช่วงปี 1900 ก็มีการพบว่าตัวเลขประชากรในเมืองแห่งนี้เพิ่มสูงถึง 138,000 คนไปแล้ว

ที่ดอร์ทมุนด์ก็ไม่ต่างกัน เพราะตัวเลขในยุคเริ่มต้นการทำเหมือนถ่านหินของพวกเขา ระบุว่ามีประชากรอาศัยราว 7,000 คน แต่หลังจากการทำเหมือนถ่านหินเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ก็มีการอพยพเข้ามายังเมืองแห่งนี้เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ในปี 1900 ดอร์ทมุนด์ก็มีประชากรเกือบ 160,000 คน

ณ ต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองที่สโมสรฟุตบอลของทั้งสองเมืองได้เริ่มต้นขึ้น โดยที่เกลเซนเคียร์เชินเริ่มต้นก่อน เมื่อสโมสร เวสต์เฟเลีย ชาลเก ถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 1904 โดยบรรดานักเรียนมัธยมปลายในเมืองแห่งนี้ โดยที่ตอนแรกสโมสรแห่งนี้ใช้สีแดง-เหลืองเป็นสีประจำทีม ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสีรอยัลบลู แบบที่เราคุ้นเคยกันในนาม ‘ราชันสีน้ำเงิน’ ในปี 1924 หลังสโมสรแห่งนี้แยกตัวเป็นอิสระและใช้ชื่อว่า ‘เอฟซี ชาลเก 04’

ขณะที่ทางฝั่งดอร์ทมุนด์ ก็มีการแจ้งเกิดของสโมสรคู่ปรับฟ้าประธานของชาลเกในอีก 5 ปี ต่อมาเช่นกัน โดยสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ยืนยันในเว็บไซต์ของสโมสรว่า พวกเขาถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ธันวาคม 1909 จากความร่วมมือกันของนักฟุตบอล 18 คน โดยชื่อโบรุสเซียเป็นภาษาละตินของคำว่า ปรัสเซีย (ซึ่งเป็นแว่นแคว้นในอดีตที่มีอิทธิพลต่อการรวมชาติเยอรมนี) โดยคำว่าโบรุสเซียนี้ บรรดาผู้ก่อตั้งทีมเห็นครั้งแรกในโรงเบียร์แห่งหนึ่งใกล้กับดอร์ทมุนด์ และเลือกที่จะนำมาใช้เป็นชื่อทีม แรกเริ่มเดิมทีนั้นสโมสรแห่งนี้มีสีประจำสโมสรคือสีน้ำเงิน-ขาว ก่อนเปลี่ยนมาเป็นเหลือง-ดำ แบบที่คุ้นตากันในปี 1913

ทั้งสองสโมสรจากทั้งสองเมือง แม้จะเป็นเมืองเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน แต่ลึกๆ แล้วพวกเขาก็ยังคงเป็นคู่แข่งกันด้วย พวกเขาไม่ยอมแพ้กันทั้งในแง่การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถ่านหิน รวมไปถึงกำลังในการผลิตในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม แม้ลึกๆ แล้วพวกเขาจะไม่ยอมแพ้กัน แต่ฉากหน้าที่พวกเขาเข้าหากันเป็นไปด้วยความชื่นมื่นกว่าที่คิด เพราะพวกเขารู้ดีว่าหากสองเมืองที่มีกำลังในการผลิตถ่านหินมากที่สุดในยุโรปจับมือกัน อำนาจการต่อรองและผลประโยชน์นั้นสูงเพียงใด ทำให้การเข้าหากันของชาวเมืองเป็นไปแบบมิตรภาพมากกว่าการแข่งขัน แต่ลึกๆ แล้วพวกเขาก็มีความรู้สึกว่าจะยอมอีกฝ่ายไม่ได้ซ่อนอยู่เช่นกัน

ด้วยความรู้สึกแบบนั้นเอง ทำให้การมาถึงของทีมฟุตบอลประจำเมืองจึงเปิดโอกาสให้พวกเขาเอาความ ‘หมั่นไส้’ ส่วนตัวไปลงในการแข่งขันและรักษาฉากหน้าทางธุรกิจที่ทั้งสองเมืองต่างให้ความร่วมมืออันดีต่อกันไว้ได้ต่อไป

สงครามโลกครั้งที่ 2 กับจุดเปลี่ยนสำคัญ

ในยุคแรกการเจอกันของสองเพื่อนบ้านถ่านหินอย่างดอร์ทมุนด์กับชาลเก ยังไม่ถูกเรียกว่า ‘รูห์ เดอร์บี’ หรือ ‘รีเวียร์ เดอร์บี’ แต่อย่างใด เพราะในยุคแรกของฟุตบอลเยอรมนี การแข่งขันจะเป็นการเจอกันของทีมใกล้ๆ เท่านั้น และคำว่ารีเวียร์ เดอร์บี ที่จะถูกใช้เรียกการเจอกันของคู่นี้ ต้องรอจนถึงปี 1947 หรือกว่าสองทศวรรษหลังการฟาดแข้งในสนามเกมแรกของทั้งคู่ที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 1925

ในยุคแรก เป็นชาลเกที่ครองความยิ่งใหญ่เหนือการเจอกันของทั้งสองทีม โดย 3 นัดแรกที่เจอกันระหว่างปี 1925-1927 เป็นทีมชาลเกที่เหนือกว่าและเอาชนะได้ทั้งหมด แต่หลังจากนั้น ทั้งสองทีมนี้ก็ไม่มีการเจอกันอีกเลยจนกระทั้งถึงปี 1936 ซึ่งเข้าสู่ยุคสมัยของเกาลีกา

เกาลีกาคือระบบฟุตบอลลีกที่เกิดขึ้นหลังจากการเถลิงอำนาจของพรรคนาซี โดยพวกเขาสั่งยุบลีกระดับภูมิภาคที่ใช้กันมาตลอด และสร้างระบบลีกรูปแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยพวกเขาจัดการแบ่งลีกออกเป็นลีกย่อยๆ ตามภูมิภาค ซึ่งในยุคหนึ่งเคยมีลีกย่อยสูงสุดถึง 16 ลีก ซึ่งรวมถึงดินแดนที่นาซีเยอรมันไปยึดมาอยู่ใต้การปกครองทั้ง โปแลนด์ เชกโกสโลวาเกีย ออสเตรีย หรือลักเซมเบิร์ก เข้ามาอยู่ในลีกย่อยเหล่านี้ด้วย

ภายใต้ระบบเกาลีกาที่มีอายุแค่ 8 ปี ลีกระบบนี้เกิดขึ้นในปี 1936 ช่วงที่นาซีเยอรมันเรืองอำนาจ และไปล่มสลายลงก่อนฉากสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1944 ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดภายใต้ระแบบเกาลีกานี้คือทีมราชันสีน้ำเงิน อย่างชาลเก 04 นี้เอง โดยพวกเขาคว้าแชมป์ไปได้ถึง 4 สมัย ในปี 1937, 1938, 1940 และ 1942 โดยนี่ยังไม่นับการคว้าแชมป์เยอรมัน คัพ ในปี 1937 ซึ่งว่าได้ว่าช่วงนี้นี่เองที่เป็นช่วงเวลาที่สโมสรประสบความสำเร็จสูงสุด

การประสบความสำเร็จสูงสุดของในช่วงนั้นของชาลเก ยังหมายถึงความสำเร็จเหนือทีมบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างดอร์ทมุนด์ ด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 1936 พวกเขาเจอกับทีม ‘เสือเหลือง’ 16 แมตช์ใน 8 ฤดูกาล เอาชนะได้ถึง 14 เสมอ 1 และแพ้ 1 ซึ่งความพ่ายแพ้นัดเดียวของชาลเกใน 8 ฤดูกาล มาเกิดขึ้นในฤดูกาลสุดท้ายก่อนสงครามโลกจะสิ้นสุดลง และการแข่งขันฟุตบอลต้องหยุดชะงัก เหมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าหลังจากนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันก่อตั้งฟุตบอลลีกใหม่ขึ้นมาอีกครั้งในปี 1947 โดยเรียกว่าโอเบอร์ลีก ซึ่งยังใช้ระบบที่คล้ายคลึงกับเกาลีกา แต่จะประกอบด้วยลีกย่อยจำนวนแค่ 5 ลีก ได้แก่ ลีกภาคเหนือ, ลีกเบอร์ลิน, ลีกภาคใต้, ลีกภาคตะวันตกเฉียงใต้ และลีกตะวันตก ซึ่งชาลเกและดอร์ทมุนด์อยู่ในลีกนี้นี่เอง โดยหลังจบการแข่งขันลีกย่อยในแต่ละปี แชมป์และรองแชมป์ของแต่ละลีกย่อยจะได้ไปเล่นต่อในการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ เพื่อหาแชมป์ลีกของประเทศในปีนั้นๆ ต่อไป

ในยุคโอเบอร์ลีกานี้เองที่ถือกำเนิดคำว่ารีเวียร์ เดอร์บีขึ้นมา และเหมือนเรื่องราวจะต่อเนื่องจากช่วงปลายของยุคเกาลีกาที่ ดอร์ทมุนด์เอาชนะชาลเกเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ เพราะในยุคของโอเบอร์ลีการะหว่างปี 1947-1963 ทั้งสองทีมเจอกันทั้งหมด 32 แมตช์ และเป็นดอร์ทมุนด์ที่เหนือกว่า ชนะได้ถึง 15 ครั้ง เสมอ 10 และแพ้เพียงแค่ 7 โดยยังคว้าแชมป์โอเบอร์ลีกา ลีกตะวันตกได้ถึง 5 สมัย ในปี 1948, 1949, 1950, 1956 และ 1957 โดยที่จาก 5 ครั้งที่พวกเขาเป็นแชมป์ลีกตะวันตก พวกเขาไปถึงแชมป์ประเทศได้ 3 สมัยด้วยกัน ในปี 1956, 1957 และ 1963 (ปีนั้นได้รองแชมป์ลีกตะวันตก) ขณะที่ชาลเก้คว้าแชมป์ได้เพียงแค่ 2 สมัยเท่านั้นในปี 1951 และ 1958 โดยพวกเขาไปถึงแชมป์ประเทศครั้งเดียวในปี 1958

จุดจบของถ่านหิน ทางแยกแห่งชะตากรรม

จุดเปลี่ยนสำคัญเดินทางมาถึงเกลเซนเคียร์เชินในปี 1958 หลังจากที่ทีมในเมืองพวกเขาคว้าแชมป์เยอรมันได้สำเร็จ และจุดเปลี่ยนครั้งนี้จะเปลี่ยนหน้าตาของชาลเกไปตลอดกาล จุดเปลี่ยนที่ว่านั้นคือการมาเยือนของวิกฤตเหมืองถ่านหิน ที่ทำให้ราคาถ่านหินตกต่ำลงทั่วโลก

ว่ากันว่าสาเหตุเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ เริ่มจากการเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ถ่านหินมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับความต้องการถ่านหินที่ลดลงเรื่อยๆ จากการเข้ามามีบทบาทของเชื้อเพลิงใหม่ในขณะนั้นอย่างน้ำมัน ทำให้ถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงเก่าและสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมค่อยๆ ถูกปลดระวางลงเรื่อยๆ

ผลกระทบจากวิกฤตเหมืองถ่านหิน ส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองเกลเซนเคียร์เชินพังลงตามไปด้วย เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ว่ากันว่าภายในปี 1958 เพียงปีเดียว มีคนงานเหมืองถ่านหินในเกลเซนเคียร์เชินกว่า 50,000 คน แม้เมืองแห่งนี้จะยังพึ่งพาการทำเหมืองแร่ถ่านหินต่อไป แต่อัตราการผลิตถ่านหินก็ค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งเหมืองถ่านหินแห่งสุดท้ายปิดลงไปในปี 2003

ที่น่าสนใจคือหลังจากเลิกนิยามตัวเองว่าเมืองแห่งเหมืองถ่านหิน เกลเซนเคียร์เชินก็ไม่เคยกลายเป็นเมืองที่รุ่งโรจน์ดุจที่เคยเป็นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อีกเลย และน่าแปลกที่ชะตากรรมของเมืองไปผูกเข้ากับชะตากรรมของสโมสรชาลเก 04 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะสโมสรแห่งนี้ก็ไม่เคยกลับมาได้แชมป์ลีกเยอรมันอีกเลยเช่นกัน หลังจากที่เมืองต้องเปลี่ยนไปเพราะวิกฤตดังกล่าว

ในขณะที่เกลเซนเคียร์เชินต้องรับพายุลูกใหญ่จากวิกฤตเหมืองถ่านหิน ทางดอร์ทมุนด์ก็ต้องเจอวิกฤตนี้เช่นกัน หากแต่พวกเขาไม่เดือดร้อนเท่า เพราะเมืองแห่งนี้นอกจากการทำเหมืองถ่านหินแล้ว พวกเขายังมีอุตสหกรรมเหล็กที่คอยกระจายความเสี่ยง แม้จะมีคนตกงานบ้างเมื่อวิกฤตปี 1958 มาถึง แต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่เล็กน้อยหากเทียบกับเมืองเพื่อนบ้านอย่างอย่างเกลเซนเคียร์เชิน และการมาถึงของขาลงจากการทำเหมืองถ่านหิน ยังทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในดอร์ทมุนด์เติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นด้วย

ยุคสมัยที่ไร้ราชันย์

5 ปีหลังจากวิกฤตเหมืองถ่านหิน วงการฟุตบอลเยอรมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยในครั้งนี้สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน ยกเลิกการแข่งขันแบบโอเบอร์ลีกา หลังจากที่ดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์ประเทศในปี 1963 ก็มีการก่อตั้งฟุตบอลบุนเดสลีกาเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ โดยทำการแข่งขันฤดูกาลแรกในฤดูกาล 1963-64

นับตั้งแต่ฤดูกาล 1963-64 มาจนถึงฤดูกาลที่ผ่านมา คือฤดูกาล 2021-22 เป็นจำนวน 59 ฤดูกาล ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ ‘เสือใต้’ บาเยิร์น มิวนิก ที่คว้าแชมป์ได้ถึง 31 สมัย จาก 59 ฤดูกาล เรียกได้ว่าเกินครึ่ง ขณะที่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คว้าแชมป์ไปทั้งหมด 5 สมัย ในฤดูกาล 1994-95, 1995-96, 2001-02, 2010-11, 2011-12 และรองแชมป์อีก 8 สมัยด้วยกัน ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นในยุคหลังๆ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ต่างจากการได้แชมป์ของพวกเขา

ส่วนชาลเกนั้น เราได้สปอยล์ไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า นับตั้งแต่วิกฤตราคาถ่านหินตกลงในปี 1958 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับเมืองเกลเซนเคียร์เชิน ทีมประจำเมืองอย่างชาลเก 04 ก็ยังไม่สามารถกลับมาประสบความสำเร็จได้อีกเลย โดยผลงานดีที่สุดของพวกเขาหลังจากนั้น คือการได้รองแชมป์บุนเดสลีกา 7 สมัยเท่านั้น

ซึ่งหนึ่งในฤดูกาลที่บรรดาแฟนบอลชาลเกลืมไม่ลงมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการเป็นรองแชมป์ในฤดูกาล 2006-07 ที่พวกเขาต้องการชัยชนะอีกเพียงแค่ 2 นัดก็จะคว้าแชมป์ได้สำเร็จ แต่เกมรองสุดท้ายต้องมาเจอคู่ปรับเพื่อนบ้านอย่างดอร์ทมุนด์ และเกมนั้นพวกเขาแพ้ไปด้วยสกอร์ 0-2 ส่งผลให้ท้ายที่สุดแชมป์ฤดูกาลดังกล่าว ต้องหลุดมือไปอยู่กับ เฟาเอฟเบ สตุตการ์ต อย่างน่าเจ็บใจที่สุด

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

สำหรับคนเยอรมันแล้ว รูห์ เดอร์บีมีศักดิ์ศรีค้ำคอไม่น้อยไปกว่า ‘แดร์ คลาสสิเคอร์’ ที่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์พบกับบาเยิร์น มิวนิก หากแต่ความตกต่ำของชาลเก 04 ในยุคหลัง ทำให้แฟนบอลต่างประเทศไม่ค่อยให้คุณค่าการเจอกันกันของชาลเกกับดอร์ทมุนด์ว่ามีความหมายสักเท่าไหร่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเกมนี้จะ ‘เดือด’ น้อยลง โดยเฉพาะสำหรับชาวรูห์ที่มีฟุตบอลในสายเลือด

รีเวียร์ เดอร์บียังเป็นหนึ่งในเกมที่มีแนวโน้มความรุนแรงเกิดขึ้นสูงที่สุดในเยอรมนี ในวันที่มีเกมระหว่างดอร์ทมุนด์กับชาลเก เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ซิกนัล อิดูนา ปาร์ก บ้านของดอร์ทมุนด์ หรือเฟลติน อารีนา รังเหย้าของชาลเก การได้เห็นควันไฟ พลุแฟร์ เสียงดังกึกก้อง สัญลักษณ์และป้ายเชียร์ต่างๆ ที่แสดงออกถึงความรัก (ในทีม) และความเกลียดชัง (ฝั่งตรงข้าม) ถือเป็นเรื่องปกติ

ว่ากันว่าชาวรูห์มีฟุตบอลในสายเลือดเข้มข้นที่สุดในเยอรมนี แม้กระทั้งตำนานของบาเยิร์น มิวนิกและทีมชาติเยอรมนีอย่าง ‘ไกเซอร์’ ฟรานซ์ เบคเคนเบาเออร์ ยังเคยกล่าวว่า “หัวใจของฟุตบอลเยอรมันเต้นในรูห์” ซึ่งเป็นคำยกย่องที่พูดถึงความ ‘อิน’ กับฟุตบอลของชาวแคว้นรูห์ได้ชัดเจนที่สุด

แม้ว่าปัจจุบันทั้งสองเมืองจะเดินทางมาไกลจากอดีตมากแล้ว และไม่มีอะไรให้ต้องเอาชนะคะคานกันอีกต่อไป เพราะทั้งสองเมืองต่างไม่ได้ทำธุรกิจชนิดเดียวกันแล้ว โดยเกลเซนเคียร์เชินก็มีธุรกิจมากมาย และหนึ่งในธุรกิจใหญ่ที่ดำเนินการในเมืองนี้คือเรื่องของโซลาร์เซลล์ ขณะที่ดอร์ทมุนด์ก็วิวัฒน์จากเมืองที่เคยพึ่งพาการทำอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน เหล็ก และเบียร์ มาสู่เมืองสำคัญของเยอรมนีในด้านโรโบติก ไบโอเมดิคัล และไมโครซิสเต็มเทคโนโลยี

แต่สิ่งที่ยังเชื่อมโยงสองเมืองนี้ให้หันหน้ามาพบกันได้แม้ปัจจุบันจะไม่มีอะไรเหมือนกันอีกต่อไป กลับเป็นกีฬาที่สร้างความขัดแย้งให้พวกเขามาตลอดนับร้อยปีอย่างฟุตบอลได้น่าเหลือเชื่อ แม้ว่าการหันหน้ากับมาพบกันในสนามฟุตบอลของทั้งสอง เมืองจะไม่ใช่การหันหน้ามาคุยกันฉันมิตรก็ตามที

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save