fbpx

ดินาโม คีฟ – ชัคตาร์ โดเนตสก์ : ความบาดหมางที่เกิดจากความแตกต่างทางการเมือง

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

‘คลาสซิกนี ดาร์บี’ เป็นคำในภาษายูเครน ที่ถอดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘คลาสสิก ดาร์บี’ เป็นชื่อที่ใช้เรียกการเจอกันของสองทีมคู่ปรับแห่งยูเครน อย่าง ‘ดินาโม คีฟ’ ยอดทีมแห่งเมืองหลวง และ ‘ชัคตาร์ โดเนตสก์’ สโมสรใหญ่ในดินแดนทางตะวันออกของประเทศ แต่นอกเหนือจากเรื่องกีฬาแล้ว การเจอกันของทั้งสองทีมมีความหมายในทางการเมืองมากกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด

ย้อนกลับไปก่อนวิกฤตการณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซียเพียงไม่กี่วัน รัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้ดินแดนทางตะวันออกของยูเครนที่ติดกับรัสเซียอย่างโดเนตสก์และลูฮันส์ก ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอยู่แล้ว

นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมื่อบวกเรื่องการเมืองเข้าไป ยิ่งทำให้คลาสชิกนี ดาร์บีเป็นเกมที่ดุเดือด และเป็นเสมือนสงครามตัวแทนแห่งศักดิ์ศรีของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง โดยดินาโม คีฟเป็นเสมือนตัวแทนความเป็นชาตินิยมยูเครน ส่วนฝั่งชัคตาร์ โดเนตสก์ก็ถูกมองเป็นตัวแทนของความไม่อยากเป็นยูเครน ซึ่งก่อนหน้านี้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านเกมฟุตบอลไม่ใช่เวทีทางการเมือง

แต่ถ้าจะพูดถึงรากเหง้าความสัมพันธ์ที่ทำให้ทั้งสองทีมมาเผชิญหน้ากันแล้วนั้น อาจไม่ต้องย้อนไปนานนับร้อยปีแบบหลายเรื่องที่ The Rivalry เคยนำเสนอ แต่ที่น่าสนใจคือแม้จะไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานขนาดนั้น แต่เรื่องราวความสัมพันธ์และความขัดแย้งทั้งสองทีมกลับยุ่งเหยิงและยาวเหยียดทีเดียว

และนี่คือเรื่องราวของสองทีมจากสองดินแดน ที่พลเมืองในเขตมีความคิดเห็นไม่ตรงกันนัก จนส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเชียร์ฟุตบอลในสนาม นี่เป็นเรื่องราวของ คีฟ และ โดเนตสก์ ดินแดนที่แม้จะอยู่ในเขตของประเทศยูเครนเหมือนกัน แต่ก็มีอะไรหลายอย่างที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดเรื่องราวระหว่างคู่ปรับที่มีเรื่องของการเมืองคั่นกลางระหว่างทั้งสองทีม

นี่คือเรื่องราวของ คลาสซิกนี ดาร์บี ระหว่างดินาโม คีฟ และ ชัคตาร์ โดเนตสก์

โซเวียต – จุดแตกหักในยุคสตาลิน

หากย้อนเวลาไปในอดีตกาลอันยาวนานเกือบพันปี ชนชาวรัสเซียและยูเครนอาจมีบรรพบุรุษร่วมกัน นั่นคือชาวสลาฟตะวันออก แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ก็ทำให้ชาวสลาฟตะวันออกที่ว่านั้นแตกเป็นก๊กเป็นเผ่าอย่างชัดเจน นั่นเองที่ทำให้ยูเครนกับรัสเซียแยกออกจากกัน แม้จะมีการรวมๆ แยกๆ ระหว่างทั้งสองชาติอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ครั้งที่ชาวยูเครนไม่น่าจะลืมลง เพราะเพิ่งเกิดไม่นาน แถมยังกลายเป็นแผลลึกที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถมองรัสเซียได้เหมือนเดิมอีกเลย คือในยุคสมัยที่ทั้งสองฝ่ายถูกรวมอยู่ภายใต้ธงผืนเดียวกันคือ สหภาพโซเวียต

หลังการจากไปของวลาดิเมียร์ เลนินในเดือนมกราคมปี 1924 ส่งผลให้โจเซฟ สตาลินขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียต โซเวียตก็เปลี่ยนท่าทีที่มีต่อยูเครนไปพอสมควร โดยนโยบายของสตาลินพยายามหาทางกดยูเครนให้อยู่ใต้อำนาจของโซเวียตอย่างเด็ดขาด หนึ่งในวิธีที่พวกเขาใช้จัดการกับยูเครน คือการบังคับให้ทำนารวม แต่ไม่ได้แบ่งสรรปันสวนอาหารที่ได้มาอย่างเหมาะสม คำสั่งดังกล่าวนำไปสู่เหตุการณ์ที่มีชื่อว่า ‘โฮโลโดเมอร์’ ซึ่งนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครนด้วยการปล่อยให้อดตาย ระหว่างปี 1932-1933 โดยมีการตีตัวเลขคร่าวๆ ว่ามีผู้ที่อดตายจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึงราว 4 ล้านคน

นอกจากนั้นแล้วในปี 1944 สตาลินยังเนรเทศชาวตาตาร์ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของไครเมียออกจากพื้นที่ ส่งผลให้มีชาวตาตาร์เกือบ 8,000 คนเสียชีวิตระหว่างการเนรเทศ นอกจากนั้นสตาลินยังดำเนินนโนบายต่อเนื่องเพื่อลบร่องรอยที่เหลือในการดำรงอยู่ของชาวตาตาร์ด้วย เพื่อให้ไครเมียเป็นดินแดนที่ชอบธรรมของโซเวียต

แม้หลังจากนั้นราว 10 ปี นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำคนใหม่ของสภาพโซเวียต ได้ออกมาประณามนโยบายของสตาลิน รวมถึงการเนรเทศกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ พร้อมเซ็นสัญญายกไครเมียให้เป็นส่วนหนึ่งของยูเครน แต่นั่นไม่ได้ชดเชยความสูญเสียของผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวยูเครนได้เลย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคสตาลินนั้น นำมาซึ่งรอยแตกร้าวที่ไม่อาจสมานได้อีกระหว่างยูเครนและรัสเซีย

บิโล ไซนี – ตัวแทนแห่งชาวยูเครน

บิโล ไซนี (Біло-сині) เป็นคำในภาษายูเครน ที่มีความหมายว่าสีขาวและสีฟ้า ซึ่งเป็นชื่อเล่นของทีมดินาโม คีฟ ยอดทีมแห่งเมืองหลวงของยูเครน โดยชื่อเล่นนี้ก็มีที่มาเหมือนหลายๆ ทีมในยุโรปที่เรียกชื่อเล่นจากสีประจำทีมอย่างรอสโซ-เนรี (สีดำ-สีแดง) ของเอซี มิลาน, เดอะ บลูส์ (สีน้ำเงิน) ของเชลซี, อาซูลกรานา (น้ำเงิน-เลือดหมู) ของบาร์เซโลนา และ โลส บลังโกส (สีขาว) ของเรอัล มาดริด เป็นต้น

ดินาโม คีฟ ก่อตั้งขึ้นในปี 1927 ตามนโยบายส่งเสริมการกีฬาของสภาพโซเวียต ที่ให้การสนับสนุนการสร้างทีมกีฬาในท้องถิ่นเพื่อให้ชาวโซเวียตให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย โดยนอกจากดินาโม คีฟแล้ว ภายใต้โครงการนั้นยังมีทีมกีฬาอีกมากมายถูกก่อตั้งภายใต้ชื่อ ‘ดินาโม’ อาทิ ดินาโม มอสโกว์ (ปัจจุบันอยู่ในรัสเซีย), ดินาโม ทบิลิซี (ปัจจุบันอยู่ในจอร์เจีย), ดินาโม ซาเกร็บ (ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย) และดินาโม บูคาเรสต์ (ปัจจุบันอยู่ในโรมาเนีย) เป็นต้น

ถึงแม้จะถูกก่อตั้งภายใต้โครงการของสหภาพโซเวียต แต่หน่วยงานของดินาโมบริหารงานกันอย่างเป็นเอกเทศตามแต่ละท้องที่ โดยเฉพาะในคีฟ ทำให้สโมสรดินาโม คีฟมีนักฟุตบอลในยุคแรกเริ่มเป็นชาวยูเครนทั้งหมด แม้จะเป็นทีมที่อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตก็ตาม

ผลจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวยูเครน ทำให้ทีมฟุตบอลของพวกเขาเป็นทีมขึ้นมาอย่างสมภาคภูมิ แต่การเติบโตของดินาโม คีฟ ในช่วงแรกต้องประสบกับความยากลำบากไม่น้อย เพราะการเถลิงขึ้นสู่อำนาจของโจเซฟ สตาลิน ที่พยายามหาทางกดยูเครนให้อยู่ใต้อำนาจของโซเวียตอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้หน่วยงานกลางของดินาโม โซเวียตไม่ยอมรับดินาโม คีฟ ในฐานะสมาชิก ทำให้สโมสรแห่งนี้แทบไม่มีเกมการแข่งขัน เพราะโดนคว่ำบาตรจากทีมฝั่งรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม จากการร่วมแรงร่วมใจของชาวยูเครน ดินาโม คีฟก็สามารถผ่านวิกฤตและเป็นศูนย์กลางของชาวยูเครนได้ในเวลาต่อมา ไม่เพียงแค่เรื่องของฟุตบอลหรือกีฬาเท่านั้น ดินาโม คีฟยังเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวยูเครน เพราะทีมฟุตบอลแห่งนี้มีแนวทางชัดเจนจากการใช้นักฟุตบอลและทีมงานสตาฟฟ์โค้ชชาวยูเครนเป็นหลัก จนสามารถก้าวไปสู่การคว้าแชมป์ลีกของสหภาพโซเวียตได้ถึง 4 สมัยในช่วงปี 1960

หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ของดินาโม คีฟก็เป็นการต่อสู้ฟาดฟันกับทีมจากมอสโกว์มาตลอด โดยเฉพาะกับสปาร์ตัก มอสโกว์ ที่ประวัติศาสตร์การเผชิญหน้าของทั้งสองทีมเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 และลากยาวไปจนถึงสิ้นสุดสงครามเย็น เมื่อยูเครนประกาศเอกราชเป็นของตัวเอง การเจอกันของดินาโม คีฟกับทีมจากรัสเซียก็ถูกจำกัดแค่ในฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปเท่านั้น นั่นเองที่ทำให้ดีกรีความเป็นคู่อริของ คีฟ-มอสโกว์ เบาบางลงไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม การแยกตัวเป็นเอกราชของยูเครน ก็ทำให้ดินาโม คีฟ ได้พบเจอกับคู่ปรับรายใหม่ จนกลายเป็นที่มาของชื่อ คลาสซิกนี ดาร์บี และทีมนั้นก็คือชัคตาร์ โดเนตสก์

เฮียร์นิกี – ทีมของคนชายขอบที่โดนใส่กรอบว่า ‘โปรรัสเซีย’

จริงหรือไม่ก็ยังยากจะพิสูจน์ แต่ในสายตาของชาวคีฟ พวกเขามองว่าชัคตาร์ โดเนตสก์คือสโมสรนอกคอกที่มีความเป็นยูเครเนียนต่ำเตี้ยเรื่ยดินและยังมีความ ‘โปรรัสเซีย’ แบบสุดกู่อยู่

การจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ดินาโม คีฟ กับ ชัคตาร์ โดเนตสก์

อาจจะต้องเล่าย้อนกลับไปถึงยุคสมัยแห่งการก่อตั้งสโมสรแห่งนี้ โดยชัคตาร์ก่อตั้งในยุคหลังนโยบายดินาโมในช่วงปี 1936 โดยสโมสรแห่งนี้เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนงานเหมืองในโดเนตส์ก (นั่นเองที่ทำให้ทีมแห่งนี้มีชื่อเล่นว่า เฮียร์นิกี [Гірники] ที่แปลว่า คนเหมือง) ที่ต้องการก่อตั้งทีมฟุตบอลขึ้นในเมือง

แรกเริ่มเดิมที สโมสรแห่งนี้มีชื่อว่า ‘สตากาโนเวตส์’ โดยชื่อดังกล่าวถูกตั้งตามอเล็กเซย์ สตากานอฟ นักขุดเหมืองแร่ที่ถูกทางการของสหภาพโซเวียตยกย่องว่าเป็นชายผู้ทุ่มเทให้กับงาน และถูกใช้เป็นนโยบายสร้างชาติภายใต้ชื่อ ‘ขบวนการสตากานอฟ’ ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม 10 ปีหลังจากก่อตั้ง สโมสรแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อจากสตากาโนเวตส์เป็นชัคตาร์ในปี 1946 แต่ตลอดประวัติศาสตร์ของพวกเขาก็ไม่ได้มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน หรือมีเรื่องราวเล่าขานแบบที่ดินาโม คีฟเป็นเสมือนสัญลักษณ์การต่อสู้ของชาวยูเครนแต่อย่างใด โดยกว่าที่พวกเขาจะมาลืมตาอ้าปากมีชื่อเสียงได้ก็ต้องรอจนยุค 2000 หลังจากที่รินาต อักเมตอฟ นักธุรกิจท้องถิ่นเข้ามายังสโมสรพร้อมเม็ดเงินมหาศาล และความสำเร็จครั้งแรกของพวกเขาในลีกยูเครนก็ต้องรอจนกระทั่งปี 2002 เลยทีเดียว

หลังจากประสบความสำเร็จแล้ว พวกเขาก็อยู่ในพื้นที่หัวตารางของลีกยูเครนเรื่อยมา และนับตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน เวลาร่วม 20 ปี ชัคตาร์คว้าแชมป์ลีกยูเครนไปถึง 13 สมัย กลายเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้ของยูเครนไปอย่างยากจะปฏิเสธ นั่นเองที่ทำให้มหาอำนาจเก่าอย่างดินาโม คีฟเริ่มไม่พอใจและตั้งตนเป็นอริอย่างชัดเจน

นอกจากประเด็นในสนามแล้ว ชัคตาร์ยังโดนค่อนขอดจากแฟนบอลดินาโม คีฟ รวมถึงชาวเมืองหลวงทั่วไปด้วยว่าเป็นพวก ‘โปรรัสเซีย’ และนั่นทำให้ความไม่ลงรอยของทั้งดินาโม คีฟ และ ชัคตาร์ โดเนตสก์ เริ่มลามออกไปมากกว่าแค่เกมฟุตบอล

อันที่จริงเมืองโดเนตสก์ก็เป็นเหมือนศูนย์กลางของความขัดแย้งอยู่แล้ว เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีทั้งคนยูเครนที่พูดภาษายูเครนเป็นหลัก และคนยูเครนที่พูดภาษารัสเซียเป็นหลักอยู่ปะปนกัน ยังไม่นับคนรัสเซียที่ถือเป็นชาติเพื่อนบ้านที่แวะมามา-ไปไป อยู่บ่อยๆ ด้วย นั่นเองที่ทำให้ดินแดนที่อยู่ในดอนบาสแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากรัสเซียอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ดังนั้นการที่ชาวคีฟและแฟนดินาโม คีฟ ตั้งแง่กับชาวโดเนตสก์ว่าเป็นพวกโปรรัสเซียนั้น แม้อาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะเป็นการ ‘เหมารวม’ เกินไปเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันคำว่า ‘โปรรัสเซีย’ สำหรับชาวโดเนตสก์แล้วก็ไม่ผิดเสียทีเดียว

นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา หากไปดูแผนที่การลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว รัสเซียถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน สำหรับนักการเมืองที่อยู่ฝ่าย ‘อียู’ หรือ สหภาพยุโรป และพยายามจะเอายูเครนออกมาจากรัสเซีย จะได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากคนคีฟ พื้นที่ในแถบภาคกลาง และภาคตะวันออกเป็นหลัก แต่สำหรับนักการเมืองฝ่ายโปรรัสเซียแล้ว คะแนนเสียงของฝั่งนี้จะได้มาจากพื้นที่ทางตะวันตกในแถบดอนบาส โดเนตสก์ ลูฮันสก์ รวมไปถึงทางตอนใต้อย่างไครเมียด้วยนั่นเอง

คลาสซิกนี – ประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานแต่มีล้านความหมาย

สิ่งที่ทำให้คลาสซิกนี ดาร์บี มีความหมายมากกว่าแค่เกมฟุตบอล คือการที่มีกลิ่นอายของการเมืองแฝงอยู่ในนั้นอย่างยากจะแยกออก แม้จะมีประวัติความเป็นอริกันเพียงไม่กี่ปี แต่ถึงขนาดที่สื่อยกย่องคำว่า คลาสซิกนี หรือ คลาสสิกในภาษาอังกฤษให้นั้น มันต้องมีความหมายมากกว่าแค่เกมฟุตบอลธรรมดาอยู่แล้ว

ในปี 2014 หลังจากสงครามในดินแดนดอนบาสเกิดขึ้น จากกลุ่มกบฏที่ต้องการประกาศเอกราชให้โดเนตสก์และลูฮันสก์ ส่งผลกระทบให้ชัคตาร์ต้องอพยพมาปักหลักในกรุงคีฟนับแต่นั้น จวบจนปัจจุบันพวกเขาก็ยังไม่ได้ย้ายกลับไปยังพื้นที่ของตัวเอง

แต่การอพยพมาครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นว่ามีการเมืองแทรกอยู่ในฟุตบอลของยูเครนอย่างชัดเจน เมื่อชัคตาร์ต้องไปใช้สนามที่เมืองลีฟเป็นสนามเหย้า โดยในเมืองลีฟแห่งนี้ เป็นเสมือนศูนย์กลางของผู้คนที่เป็นพวกชาตินิยมยูเครนไม่แพ้ที่คีฟ นั่นส่งผลให้แม้จะได้เล่นในสนามเหย้า แต่ชัคตาร์กลับโดนโห่แทบทุกนัด และยิ่งกับทีมจากเมืองโดเนตสก์ที่มีคนตั้งแง่ว่า ‘โปรรัสเซีย’ มาตั้งแต่แรกแล้ว เหตุการณ์จึงลุกลามไปจนถึงการปาข้าวของและร้องเพลงเหยียดได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหลังจากที่ ชัคตาร์ปฏิเสธการใส่เสื้อที่มีข้อความสดุดีกองทัพยูเครนในปี 2014 ทำให้กระแสต่อต้านพวกเขาจากแฟนบอลฝั่งชาตินิยมยูเครนยิ่งหนักหนาขึ้นอีก จนว่ากันว่ามีจดหมายขู่ฆ่าส่งไปถึงสโมสรเลยทีเดียว

นั่นเองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชัคตาร์ตัดสินใจย้ายออกจากลีฟ ไปใช้สนามใหม่อย่างคาร์คีฟ เพื่อหวังบรรเทาความขัดแย้งให้ทุเลาลงในปี 2016 แต่ก็ดูเหมือนสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไหร่ ทำให้สุดท้ายชัคตาร์จึงตัดสินใจมาใช้สนามโอลิมปิสกี สเตเดี้ยม สนามของดินาโม คีฟเสียเลย เพราะอย่างไรทีมก็ต้องพักที่นี่อยู่แล้ว

การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ชัคตาร์ต้องพบกับกระแสการต่อต้านที่รุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะกับแฟนเจ้าถิ่นอย่างดินาโมที่มักจะเอาเรื่องการเมืองมาเป็นหนึ่งในข้ออ้างโจมตีคู่แข่งรายนี้เสมอ และหลายๆ ครั้งที่แฟนบอลอุลตราของคีฟก็ร้องเพลงเชียร์ หรือใช้คำที่ไม่เหมาะไม่สมมาโจมตีชัคตาร์ แต่พวกเขาก็ยังโชว์ฟอร์มได้แข็งแกร่ง และคว้าแชมป์ลีกยูเครนได้ถึง 4 สมัยนับตั้งแต่ย้ายออกมาจากดอนบาส สเตเดี้ยม

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

หลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความฝันของชัคตาร์ โดเนตสก์ที่หวังจะได้กลับไปเล่นในดอนบาส สเตเดียมในโดเนตสก์อีกครั้ง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ สงครามที่เกิดขึ้นยังทำให้ความหวังที่ฟุตบอลจะได้เล่นกันตามปกติริบหรี่ลงไปตามๆ กัน โดยไม่ต้องนับถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น

รายงานเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมาเปิดเผยว่า มีนักเตะชาวยูเครน 2 รายที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับรัสเซีย โดยชื่อของทั้ง 2 คนคือวิตาลี ซาปิโล อายุ 21 ปี และ ดิมิโทร มาร์ติเนนโก อายุ 25 ปี แม้ทั้งคู่จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับดินาโมหรือชัคตาร์ แต่ก็นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการกีฬาของยูเครน

นี่ยังไม่นับว่านักเตะชาวยูเครนของทั้งดินาโม คีฟและชัคตาร์ โดเนตสก์อีกหลายคนได้เข้าร่วมกับกองกำลังป้องกันตัวเองเพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซียด้วยแล้ว นั่นหมายความว่าอาจจะมีความสูญเสียเกิดขึ้นตามมาก็เป็นได้ เพราะขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วย่อมหมายถึงความสูญเสีย

เราก็ได้แต่หวังให้สงครามและความขัดแย้งครั้งนี้สงบลงโดยเร็ว นอกจากจะลดจำนวนการสูญเสียชีวิตของผู้คนแล้ว เราจะได้กลับไปดูสงครามบนสนามหญ้าอีกครั้ง แน่นอนว่าสงครามระหว่างชัคตาร์ โดเนตสก์และ ดินาโม คีฟในสนามหญ้าย่อมน่าดูกว่าสงครามในสมรภูมิจริงอยู่แล้ว และที่สำคัญ สงครามในสนามหญ้าก็ไม่ได้จบลงด้วยความสูญเสียด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save