fbpx

ริเวอร์เพลต – โบคา จูเนียร์ส: ชนชั้นที่แตกต่าง สร้างคู่ปรับระดับโลก

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

ลา โบคา คือเขตหนึ่งในกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำมานทันซา ทางออกไปสู่ปากอ่าวริโอ เดอ ลา พลาตา สถานที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญด้านศิลปะแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอาร์เจนตินาและทวีปอเมริกาใต้ อย่างสโมสรริเวอร์เพลต กับ โบคา จูเนียร์สด้วย

การมีจุดเริ่มต้นเดียวกันนั้น ใม่ได้หมายความว่าทั้งคู่ต้องสมัครสมานปรองดองกันแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทั้งสองสโมสรกลับกลายเป็นหนึ่งในคู่ปรับที่ขึ้นชื่อกันว่าเกลียดชังกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติฟุตบอล ความเกลียดชังกันของแฟนทั้งสองทีมเลยเถิดไปจนถึงมีเรื่องทะเลาะวิวาท ชกต่อย ทำร้ายและทำลายกัน ลามไปจนถึงขั้นมีแฟนบอลเสียชีวิต ด้วยสาเหตุเพียงแค่ว่า ‘เชียร์บอลกันคนละทีม’

เรื่องราวของริเวอร์เพลตและโบคา จูเนียร์ส ไม่ต่างจากความบาดหมางอื่นๆ ในวงการกีฬาที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพราะเมื่อมองย้อนลงไปในอดีต ความขัดแย้งทั้งสองทีม มีมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพวกเขา และสืบทอดเชื้อไฟแห่งความเกลียดชังต่อมารุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าตอนนี้ ทั้งสองสโมสรจะไม่ใช่เสือสองตัวที่อยู่ในถ้ำเดียวกันเหมือนในยุคเริ่มต้นแล้ว แต่ความขัดแย้งไม่ได้หายไปพร้อมกับการย้ายจากย่านลา โบคาแห่งนี้

การเจอกันของทั้งคู่ถูกขนานนามในชื่อว่าเกม ‘ซูเปร์คลาสิโก’ (คนไทยอาจจะคุ้นชื่อในนาม ซูเปอร์กลาสิโก) เพราะทั้งสองทีมต่างเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงที่สุดในอาร์เจนตินา ทำให้เกมดังกล่าวมีความคลาสสิกทุกครั้งที่เจอกัน

เกม ‘ซูเปร์กลาสิโก’ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในดาร์บีที่ดุเดือดและสำคัญที่สุดในโลกฟุตบอล ในเดือนเมษายน 2004 หนังสือพิมพ์เดอะ อ็อบเซอเวอร์ ในเครือเดอะ การ์เดียน ประเทศอังกฤษ ได้ยกให้เกมซูเปร์กลาสิโกอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ของ ’50 สิ่งกีฬาที่คุณต้องทำก่อนตาย’ โดยกล่าวว่า “วันที่มีเกมซูเปร์กลาสิโกในบัวโนสไอเรส ทำให้เกมโอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี (เซลติก พบ เรนเจอร์ส) ดูเหมือนฟุตบอลในโรงเรียนประถมไปเลย”

และเหมือนทุกทีที่เราจะพาไปทำความเข้าใจกับรากเหง้าแห่งความขัดแย้งของเกมฟุตบอลระหว่างคู่ปรับ เกมที่เป็นจุดตัดระหว่างชนชั้นในกรุงบัวโนสไอเรส เกมระหว่างริเวอร์เพลตและโบคา จูเนียร์ส ที่เรียกว่าซูเปร์กลาสิโก

‘ลา โบคา’ จุดเริ่มต้นร่วมกัน

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 1900 ในย่านลา โบคา สมัยนั้นย่านนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญและมีอู่ต่อเรืออยู่รวมกันมากมาย ลา โบคา ในสมัยนั้น มีชาวเจนัวจากอิตาลี อพยพมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก และกีฬาอย่างฟุตบอลก็ตามชาวเจนัวเหล่านั้นมาเติบโตในดินแดนฟ้าขาวแห่งนี้ด้วย และเมื่อมีคนที่เล่นฟุตบอลรวมกันมากขึ้น สโมสรฟุตบอลก็ถูกก่อตั้งขึ้นตามที่มันควรจะเป็น โดยสโมสรแห่งแรกที่ถูกก่อตั้งในย่านนี้มีชื่อว่าริเวอร์เพลต ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1901

สโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาหลังจากการควบรวมกิจการของสองสโมสรคือ ‘ซานตาโรซา’ และ ‘ลาโรซาเลส’ ซึ่งชื่อ ริเวอร์เพลต ถูกตั้งเป็นชื่อของสโมสรเนื่องจากระหว่างการก่อสร้างท่าเรือบัวโนสไอเรส ได้มีคนงานทิ้งหน้าที่ไปเล่นฟุตบอล โดยทิ้งกล่องเครื่องมือที่พวกเขาใช้ทำงานเอาไว้ และบนกล่องนั้นเขียนว่า ‘เดอะ ริเวอร์ เพลต’ ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวอังกฤษตั้งให้กับปากอ่าวริโอ เดอ ลา พลาตา ทำให้ชื่อนั่นก็ถูกนำมาใช้เรียกสโมสรที่ก่อตั้งขึ้นใหม่แห่งนี้

ริเวอร์เพลตใช้สีขาว-แดงเป็นหลัก อันมาจากสีที่ทั้งซานตา โรซาและลาโรซาเลสมีร่วมกัน ซึ่งสองสีดังกล่าวคือคู่สีที่ปรากฏอยู่ในธงประจำเมืองเจนัว แม้ในตอนแรกที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลอาร์เจนตินาระหว่างปี 1901-1903 สโมสรแห่งนี้จะใช้เสื้อแข่งสีขาวล้วน แต่หลังจากเข้าร่วมกับสมาคมอย่างเป็นทางการ สโมสรแห่งนี้ก็ใช้สีขาว-แดงมาตลอด จนกลายมาเป็นชุดแข่งขันที่คุ้นตาแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน

ถัดจากจุดเริ่มต้นของริเวอร์ เพลต มีอีกราว 4 ปี ก็มีอีกหนึ่งสโมสรเกิดขึ้นในย่านลา โบคา สโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งโดยชายเชื้อสายเจนัว 5 คน ที่รักและหลงใหลในการเล่นฟุตบอล พวกเขาทั้งหมดเล่นฟุตบอลมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก และทั้งหมดได้รับการถ่ายทอดวิชาการเล่นฟุตบอลมาจากแพทริก แมคคาร์ธี นักเตะชาวไอริช ซึ่งเคยเล่นฟุตบอลในระดับอาชีพที่ยุโรปมาก่อน

ทั้ง 5 คน รวมกับแมคคาร์ธี รวมตัวกันก่อตั้งสโมสรที่มีชื่อว่าโบคา จูเนียร์ส ขึ้นมาในปี 1905 แรกเริ่มเดิมที พวกเขาถกเถียงกันเรื่องสีของสโมสร และไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนกระทั่งมีหนึ่งในนั้นเสนอว่า ให้ไปที่ท่าเรือและเลือกใช้สีธงชาติของเรือลำแรกที่จะมาเทียบท่าที่ลา โบคาเป็นสีประจำทีม และด้วยความบังเอิญว่า เรือลำแรกที่มาถึงนั้นเป็นเรือจากสวีเดน ทำให้เราได้เห็นโบคา จูเนียร์สมีสีประจำสโมสรเป็นสีน้ำเงิน-เหลืองมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งน่าคิดว่าถ้าพวกเขาเห็นเรือของอังกฤษหรือเดนมาร์กทุกวันนี้ สีของสโมสรโบคา จูเนียร์สอาจจะเป็นโทนสีเดียวกับริเวอร์เพลตไปแล้วก็ได้

ในช่วงแรกเริ่ม ความสัมพันธ์ของทั้งสองสโมสรมีความเป็นเพื่อนบ้านมากกว่าเป็นอริ ทั้งสองสโมสรมีประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน โดยทางริเวอร์เพลตที่ก่อตั้งก่อน ได้เข้าร่วมแข่งขันดิวิชัน 3 ในปี 1905 ก่อนเลื่อนสู่ดิวิชัน 1 ในปี 1908 และคว้าแชมป์ในประเทศรายการแรกได้สำเร็จในปี 1914 ขณะที่โบคา จูเนียร์ซึ่งมาทีหลังได้เลื่อนชั้นสู่ดิวิชัน 1 ในปี 1913 ก่อนจะคว้าแชมป์สมัยแรกได้ในปี 1919

ในตอนนั้นไม่ว่าใครจะได้แชมป์ การเฉลิมฉลองก็ยังเป็นความรู้สึกร่วมของชาวลา โบคา ทั้งสองสโมสรเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในย่านนี้ กล่าวได้ว่า มีบางคนในย่านนั้นที่เอาใจช่วยทั้งสองทีม อาจจะเชียร์ทีมหนึ่งเป็นหลัก และอีกทีมเป็นทีมเชียร์รอง แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้มีความขัดแย้งขั้นทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างในปัจจุบัน จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในปี 1925

ซึ่งเหตุการณ์นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่จะตามมา และการเผชิญหน้านั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 100 ปี แล้วก็ตาม

‘นูเญซ’ จุดตัดแห่งความแตกต่าง

หลังจากช่วงเวลา 20 ปีเศษของริเวอร์เพลตที่ลา โบคา สโมสรก็หาทางขยับขยายตัวเองให้ใหญ่โตกว่าเดิม และทางออกที่พวกเขาเลือกคือการย้ายออกไปสู่สถานที่ใหม่ที่พวกเขาเชื่อว่าดีกว่า โดยในปี 1925 สโมสรก็ได้ย้ายจากลา โบคาขึ้นไปทางเหนือราว 17 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตที่มีชื่อว่านูเญซ ซึ่งเป็นเขตทางตอนเหนือของกรุงบัวโนสไอเรส และนั่นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของทั้งริเวอร์เพลตและโบคา จูเนียร์สให้เป็นเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปัจจัยที่ทำให้ริเวอร์เพลตตัดสินใจย้ายมาสู่ย่านนูเญซ นอกจากเรื่องของฐานแฟนบอลที่อาจจะเพิ่มขึ้นแล้ว ในพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เจริญก้าวหน้า และมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับย่านลา โบคา ชาวเมืองในย่านนูเญซส่วนมากเป็นคนมีอันจะกิน เป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง และมีบางส่วนที่เรียกได้ว่าฐานะดี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางสังคมไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของแฟนบอลไปในคราวเดียวกันด้วย

ริเวอร์เพลตได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวเมืองในย่านนูเญซ เพราะในตอนนั้นย่านนี้ยังไม่มีสโมสรประจำถิ่น ขณะเดียวกัน ริเวอร์เพลตเองก็เพิ่งประสบความสำเร็จมาจากการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดในปี 1920 นั่นทำให้ผู้อยู่อาศัยในแถบนี้เชื่อมั่นว่าสโมสรแห่งนี้จะมีอนาคตที่สดใส ซึ่งจะทำให้พวกเขามีความสุขในอนาคตหากได้ฝากหัวใจไว้กับทีมนี้ นอกจากนั้น การได้มีทีมเชียร์อยู่ใกล้บ้าน ก็ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่พวกเขาจะไม่ต้องเดินทางไกลนับ 10 กิโลเมตรเพื่อไปดูฟุตบอลถึง เขตโรซาริโอหรือลา โบคา ด้วย

ขณะเดียวกัน การทิ้งถิ่นฐานเดิมแต่แรกเริ่มไปสู่ที่แห่งใหม่ครั้งนี้ สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวลา โบคาที่สนับสนุนทีมมาตั้งแต่แรก หลายคนเชียร์สโมสรแห่งนี้มาตั้งแต่หัวดำยันเริ่มมีหัวขาว จากรักมากจึงกลายเป็นแค้นมาก แค้นที่สโมสรของพวกเขาตัดสินใจแบบนี้ เพราะแฟนบอลย่านลา โบคา รู้สึกว่ากำลังถูกหักหลังอย่างร้ายกาจจากทีมที่พวกเขาเคยรัก และเคยทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้ และผลกระทบที่ตามมาย่อมทำให้โบคา จูเนียร์สเข้ามาครองใจในฐานะยักษ์ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวในลา โบคา แบบไม่ยากเย็น

‘ลอส มิโญนาริออส’ การต่อสู่ระหว่างชนชั้น

ลอส มิโญนาริออส หรือ เดอะ มิลเลียแนร์ส (The Millionaires) กลายเป็นฉายาของทีมริเวอร์เพลต นับตั้งแต่พวกเขาย้ายมาสู่ย่านนูเญซ อันมีสาเหตุมาจากเงินที่หลั่งไหลเข้ามาสู่สโมสรจำนวนมากจากแรงสนับสนุนของบรรดาแฟนบอลที่มีฐานะ พร้อมกับสปอนเซอร์และค่าโฆษณา ซึ่งพวกเขาได้รับจากบรรดาสินค้าที่มองเห็นถึงกำลังซื้อจากแฟนบอลของพวกเขา ทำให้ริเวอร์เพลต กลายเป็นทีม ‘เจ้าบุญทุ่ม’ แห่งอาร์เจนตินา ที่ควักเงินจำนวนมหาศาลซื้อนักเตะหลายรายมาร่วมทีมในช่วงราวปี 1930

อย่าลืมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังฝืดเคือง หลังจากเพิ่งจบลงครามโลกมาได้ราว 10 ปีเศษ และมีแววว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะปะทุขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน แต่ทางริเวอร์เพลตกลับมีเงินใช้ได้อย่างไม่ลำบาก นั่นเองที่ทำให้ทีมครองความยิ่งใหญ่หลังจากนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ

ในขณะเดียวกัน โบคา จูเนียร์ส แม้จะไม่ได้มีกำลังเงินเท่า ก็กลับต่อสู้กับริเวอร์เพลตได้อย่างสูสี ชนิดที่แทบจะผลัดกันคว้าแชมป์ ทำให้ทั้ง 2 ทีมเป็นคู่แข่งที่ชัดเจนมากขึ้น และนั่นเริ่มนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างแฟนบอลที่มีแบ็กกราวน์เพราะความเจ็บปวดจากการย้ายถิ่นของริเวอร์เพลตเป็นทุนเดิม ทำให้เริ่มเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และการกระทบกระทั่งกันก็เริ่มมีให้เห็นชัดเจนในช่วงนี้นี่เอง

คำด่าทอและเหยียดหยามระหว่างกันเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แฟนโบคา จูเนียร์สเริ่มตั้งฉายาให้กับแฟนๆ ริเวอร์เพลต ว่า ‘กาญินาส’ ที่แปลว่าไก่ ซึ่งเป็นสแลงที่แปลว่าขี้ขลาด ซึ่งมักจะได้ยินคำนี้เสมอๆ เมื่อริเวอร์เพลตกลับมาเยือนในเกมที่ลา โบคา

ขณะที่แฟนของริเวอร์เพลต เองก็ตั้งฉายาให้แฟนโบคาว่า ‘ลอส ชานชิตอส’ แปลว่าพวกหมูน้อย ซึ่งสื่อถึงความสกปรก และ เป็นการเหยียดชนชั้นที่ชัดเจน เนื่องมาจากที่ตั้งของโบคา จูเนียร์สอยู่ในย่านลา โบคาที่เต็มไปด้วยผู้ใช้แรงงานและชนชั้นล่าง ซึ่งอาจจะมีกลิ่นเหงื่อและคราบไคลติดตัว

ในช่วงแรกนั้น การโจมตีกันไปมาของทั้งคู่อาจจะเป็นเพียงแค่คำด่าทอกันอย่างสนุกปาก แต่แน่นอนว่าความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ไม่ยาก และเมื่อเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง ก็ไม่แปลกที่จะมีการเอาคืนกันไปมา จนไม่อาจหยุดวงจรอุบาทว์ที่ว่านั้นได้อีกต่อไป และหนึ่งในความสูญเสียที่เกิดขึ้น มันก็เริ่มวิวัฒน์จากความสูญเสียอันเล็กน้อยกลายเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอลอาร์เจนตินาในปี 1968 ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ปูเอร์ตา 12 ซึ่งมีแฟนบอลเสียชีวิตไปมากกว่า 70 ราย

‘ปูเอร์ตา 12’ จุดปะทะของความต่างที่ปะทุ

วันที่ 23 มิถุนายน 1968 เกิดความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอลอาร์เจนไตน์ หลังจากเกมซูเปร์กลาสิโกที่สนามเอล โมนูเมนทัล รังเหย้าของริเวอร์เพลต นัดที่เสมอกับโบคา จูเนียร์ส ไปด้วยสกอร์ 0-0 เหตุการณ์ดังกล่าวมีแฟนบอลเสียชีวิตรวมทั้งหมด 71 ราย และมีแฟนบอลอีกกว่า 150 รายที่ได้รับบาดเจ็บ หลังจากที่มีการจลาจลกันบริเวณเกตที่ 12 ของสนามดังกล่าวซึ่งมีสาเหตุมาจากเบียดเสียดกันของแฟนบอล

แม้ฟังดูอาจจะเหมือนเป็นอุบัติเหตุธรรมดา แต่ก็มีการสืบสวนต่อมาและพบว่าก่อนการเกิดเหตุดังกล่าว มีการปะทะกันหลังเกมจบระหว่างแฟนบอลทั้งสองฝ่าย โดยต่างฝ่ายต่างอ้างกันว่า อีกฝ่ายเป็นคนเริ่มก่อน จากหลักฐานของตำรวจทำให้เชื่อได้ว่า หลังจากมีการปะทะคารมกันหลังเกมจบ เหตุการณ์ได้ลุกลามไปเป็นการขว้างปาสิ่งของ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง แฟนบอลโบคา จูเนียร์ ได้มีการปาธงของริเวอร์เพลต ที่จุดไฟจนลุกใหม้เข้ามายังกลุ่มแฟนบอลเจ้าบ้าน หลังจากนั้นเพลิงได้เริ่มลุกลามทำให้แฟนบอลพยายามหนีออกจากสนามด้วยประตูหมายเลข 12

อย่างไรก็ตาม เมื่อแฟนบอลริเวอร์เพลตวิ่งกรูกันมาถึงเกตหมายเลข 12 ก็พบว่าประตูดังกล่าวถูกล็อกไว้ ท่ามกลางเพลิงที่กำลังลุกไหม้ และยังมีแฟนบอลเจ้าบ้านอีกส่วนหนึ่งกล่าวอ้างว่า แฟนบอลโบคา จูเนียร์ก็พยายามปีนรั้วข้ามฟากมาเพื่อมาทำร้ายแฟนบอลที่อยู่ในฝั่งเจ้าบ้าน การเบียดเสียดเพื่อแย่งกันออกจากเกตจึงหนักขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อสามารถปลดล็อกประตูให้เปิดออกได้ ทุกคนเลยพยายามวิ่งกรูกันออกมา

แน่นอนว่าท่ามกลางการเบียดเสียดกันนั้นเอง ที่ทำให้มีแฟนบอลหลายคนล้มลงและถูกเหยียบ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์สงบลงพบว่ามีแฟนบอลที่ถูกเหยียบเสียบชีวิตมากถึง 71 ราย นอกจากนั้นยังมีหลายคนมีรอยฟกซ้ำและรอยถลอก บางส่วนก็มีแผลแตกที่บริเวณศีรษะ และมีเลือดออกตามร่างกายด้วย

ไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิลเลียม เคนท์ ประธานสโมสรริเวอร์เพลตในเวลานั้นเปิดเผยว่า สโมสรได้รับคำสั่งจากตำรวจให้ปิดประตูดังกล่าว เพื่อป้องกันการปะทะกันหน้าสนามระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีม โดยพวกเขาเล็งที่จะระบายแฟนบอลของทีมเยือนที่มีจำนวนน้อยกว่าออกจากสนามให้หมดก่อน จึงจะค่อยปล่อยแฟนบอลเจ้าบ้านออกมา แต่กลายเป็นว่ากลับเกิดเหตุสลดแบบที่ไม่มีใครคาดคิด

รัฐบาลของอาร์เจนตินา ใช้เวลาสืบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้กว่า 3 ปี ก่อนที่จะมีการสรุปคดีว่าไม่มีคนผิดในเหตุการณ์นี้ ซึ่งนั่นสร้างความผิดหวังและไม่พอใจให้ครอบครัวของเหยื่อหนักกว่าเดิม แฟนริเวอร์เพลตบางส่วนใช้ถ้อยคำรุนแรงกว่าเก่าในการเรียกขานแฟนโบคา จูเนียร์ และหนึ่งในนั้นคือคำว่า ‘พวกฆาตกร’

อย่างไรก็ตาม การเยียวยาในเหตุการณ์นี้ กลับไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่มาจากการแสดงความรับผิดชอบของสโมสรริเวอร์เพลต และอีก 68 สโมสรฟุตบอลภายใต้การดูแลของสมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา ที่รวมตัวกันมอบเงินจำนวน 100,000 เปโซ ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งหมดเป็นเงิน 7.1 ล้านเปโซ และยังมีเงินเยียวยาถูกส่งไปถึงผู้ได้รับบาดเจ็บอีกก้อนหนึ่งด้วย

‘ซูเปร์กลาสิโก’ ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นในอดีต ยิ่งทำให้การเผชิญหน้ากันของแฟนบอลทั้งสองทีม มีแนวโน้มที่จะมีปัญหากันมากขึ้น ทั้งที่จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้อยู่ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งไม่น่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับกีฬาและการใช้ความรุนแรงเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการจะหยุดความเสียหายและ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างไรมากกว่า

มีรายงานระบุว่า เกือบทุกเกมในศึกซูเปร์กลาสิโก จะต้องมีแฟนบอลของทั้งริเวอร์เพลตหรือโบคา จูเนียร์สมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันจนต้องขึ้นโรงพัก และนอกจากนี้เมื่อมีการคว้าแชมป์ไม่ว่าจะรายการใดก็ตามโดยเอาชนะคู่ปรับอีกทีมได้โดยตรง ก็จะมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการฉลองชัยที่เลยเถิดอยู่เสมอๆ โดยส่วนมาก จะมาจากกลุ่มแฟนบอลที่ถูกเรียกว่า บาร์รา บราบาส ซึ่งถือเป็นแฟนบอลหัวรุนแรง

มาริโอ วาร์กัส ญอซา นักเขียนชาวเปรู อธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแนวคิดแบบชนเผ่า ดังนั้นทุกคนในเผ่าจึงพยายามที่จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนของพวกเขา และพวกเขาก็เกลียดเผ่าอื่นด้วย แต่ปัจจุบันความเกลียดชังที่เกิดขึ้นนั้นมากเกินไป จนอาจจะดีกว่าถ้าเกมซูเปร์กลาสิโก จะต้องเล่นแบบไม่มีแฟนบอลในสนาม

“ปัญหาคือ ในสนามมีความเกลียดชังมากเกินไป ทำให้หลังเกมคุณมักจะได้ยินการตีกันระหว่างพวกบาร์รา บราบาส ของทั้งสองฝ่ายอยู่เสมอ มันจึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้งสองทีมจะเล่นโดยไม่มีแฟนบอลทีมเยือน เพราะว่ามันน่าจะมีความรุนแรงมากๆ แน่ๆ”

ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับ อีวาน โรเซนเฟลด์ ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลอเมริกาใต้จากสปอร์ต อิลลัสเทรเตด ที่มองว่า อาจจะดีกว่าที่เกมซูเปร์กลาสิโก จะเล่นกันแบบไม่มีแฟนบอลทีมเยือนในสนามเหย้าของฝั่งนั้นๆ กล่าวคือ เกมที่ริเวอร์เพลตเป็นเจ้าบ้าน ก็ไม่ควรจะให้แฟนโบคา จูเนียร์สเข้า ส่วนเกมเหย้าของโบคาก็ไม่ควรจะให้แฟนริเวอร์เพลตเข้าชมเช่นกัน

“ความรุนแรงที่พวกเขาทำให้เกิดขึ้น เป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องสั่งห้ามแฟนๆ ไม่ให้มาชมเกมเยือน ความตื่นเต้นในเกมอาจจะไม่ได้ลดลงไปเท่าไหร่ แต่สิ่งที่คุณจะได้มาคือความปลอดภัยและเกมที่ไร้ปัญหา”

นอกจากนี้ โรเซนเฟลด์ ยังให้ข้อสังเกตไปยังบรรดานักฟุตบอลระดับตำนานหลายคนที่ผ่านเกมซูเปร์กลาสิโกมาแล้วว่า พวกเขาได้ผ่านความกดดันที่สุดในชีวิตไปแล้ว และไม่ยากที่เขาจะประสบความสำเร็จหลังจากนั้น

“เมื่อคุณมีแฟนประเภทนี้ ความกดดันไม่ใช่แค่การเอาชนะคู่แข่ง คุณสามารถเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลกได้ แต่ถ้าคุณทำพลาดในซูเปร์กลาสิโก คุณจะถูกเกลียดตลอดไป และในทางกลับกันคุณอาจเป็นผู้เล่นที่แย่ที่สุด แต่ถ้าคุณผ่านเข้ามาในเกมนี้ คุณจะเป็นที่จดจำตลอดไป”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในศึก ซูเปร์กลาสิโก เป็นปัญหาของวงการฟุตบอลอาร์เจนตินา และเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกเกินกว่าที่จะแก้ได้ง่ายๆ แต่ในประเทศที่ทุกคนคลั่งไคล้ฟุตบอลและยกให้กีฬาชนิดนี้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ จนถึงขั้นยกให้ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา เป็นคนที่ทุกคนในชาติรักมากที่สุดได้นั้น การแก้ปัญหาเกี่ยวกับฟุตบอลที่มาพร้อมกับความรุนแรง แทบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลย

แม้อาจจะพูดไม่ได้ว่าเป็นเสน่ห์หรือความคลาสสิกของฟุตบอล เพราะกีฬาชนิดนี้อาจจะไม้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ในฐานะคนนอกที่มองเข้าไปเราก็คงได้แต่ภาวนาเท่านั้น…

ภาวนาว่าอย่าให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นอีกเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save