fbpx
The Rising of Restitutions เอาการล่าอาณานิคมคืนไป เอาความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมคืนมา

The Rising of Restitutions เอาการล่าอาณานิคมคืนไป เอาความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมคืนมา

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จำปรากฏการณ์ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ได้ไหมครับ

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเนิ่นนานมาแล้ว เชื่อว่า ทับหลังนี้ถูก ‘ขโมย’ ไปตั้งแต่ปี 2503 ช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม แต่มีผู้ไปพบจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา ก็เลยเกิดการคทวงคืน จนได้คืนมาในปี 2531

กรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้น ต้องบอกว่าเป็นการทวงคืนที่ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะมีการหาหลักฐานต่างๆ ว่าเป็นการโจรกรรมไปจริงๆ และมีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวาง ใช้เวลาไม่นานนัก ทับหลังจึงกลับคืนสู่ดินแดนเดิม

เรื่องแบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า Restitution ซึ่งก็คือการหวนคืนถาวรของสิ่งใดๆ ก็ตามที่ถูกนำไปจากเจ้าของ โดยที่เจ้าของไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ

พบว่า ตอนนี้เทรนด์ Restitution หรือการเรียกร้องขอสมบัติต่างๆ ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมของประเทศที่เคยถูกปล้นชิงผ่านลัทธิล่าอาณานิคม  กำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และหลายประเทศในยุโรปก็ค่อยๆ ทยอยคืนสมบัติเหล่านี้ให้ประเทศต้นทาง

จะมีที่อิดออดไม่น้อย ก็สหราชอาณาจักร

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอังกฤษ คือเจเรมี ไรต์ (Jeremy Wright) ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time เอาไว้ว่า ถ้าทำตามเหตุผลของการคืนโบราณวัตถุพวกนี้ทั้งหมดแล้วละก็ พิพิธภัณฑ์อย่างที่เรารู้จักก็คงจะว่างเปล่า และจะไม่เหลือสถานที่หนึ่งเดียวใดๆ อีกต่อไป ที่คนจะได้เห็นสิ่งของท่ีหลากหลาย

ต้องยอมรับว่า พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ล้วนแต่มีคอลเล็คชันสะสมของที่ ‘เด็ด’ มากๆ ในระดับโลกมากมาย และประโยชน์ของการไปเยือนพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ (ตั้งแต่บริติชมิวเซียม, ลูฟวร์ หรือ Museum Island ในเบอร์ลิน และที่อื่นๆ) ก็คือการที่เราจะได้ ‘เห็น’ (รวมไปถึงชื่นชมและศึกษา) โบราณวัตถุจากหลากหลายดินแดน หลากหลายยุคสมัย ภายในที่เดียวกัน ซึ่งนั่นคือหน้าที่หนึ่งของพิพิธภัณฑ์

แต่คำถามก็คือ แล้วถ้าเป็นของที่เจ้าของเขาไม่ได้อยากให้มาล่ะ การอุ๊บอิ๊บของเขาเอาไว้ไม่ยอมคืน แถมยังจัดแสดงด้วยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมหรือเปล่า

หลายประเทศมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเป็นอย่างนี้ ดังนั้นจึงเกิดกระบวนการ Restitution ขึ้นมา เช่นเยอรมนี เพิ่งจะคืนไม้กางเขนหินสมัยศตวรรษที่ 15 ให้แก่นามิเบีย ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการชดเชยการสังหารโหดชาวพื้นเมืองที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และถือเป็นแนวทางในการคืนของต่างๆ ให้แก่ประเทศต้นทาง ที่เคยถูกปล้นชิงมาเพราะการล่าอาณานิคมด้วย

เนเธอร์แลนด์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้แนวทางเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งกำลังเจรจากับศรีลังกาและอินโดนีเซีย เพื่อคืนโบราณวัตถุบางอย่าง รวมไปถึงฝรั่งเศส ที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก็เพิ่งรับหลักการในรายงานที่แนะนำให้คืนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ให้กับประเทศในแอฟริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสหลายประเทศ

แต่กลับไม่ใช่ในอังกฤษ

พิพิธภัณฑ์ช้ันนำหลายแห่งในอังกฤษปฏิเสธการส่งโบราณวัตถุคืนประเทศต้นทาง โดยบอกว่ามีกฎหมายห้ามส่งวัตถุล้ำค่าแบบนี้ออกนอกประเทศ กฎหมายนี้จึงค้ำคออยู่ หลายพิพิธภัณฑ์เลือกจะใช้วิธีให้ยืมและสร้างความร่วมมืออื่นๆ แทน ตัวอย่างเช่น บริติชมิวเซียมก็เลือกจะนำวัตถุในคอลเล็คชันของตัวเองไปจัดแสดงในประเทศที่ ‘เคย’ เป็นเจ้าของวัตถุนั้นๆ มาก่อน โดยอ้างว่าพร้อมจะพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวที่เท่าเทียมกับพิพิธภัณฑ์ในประเทศเหล่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ ข้ออ้างในการเก็บรักษาวัตถุโบราณเหล่านี้ไว้ในประเทศพัฒนาแล้ว ก็คือประเทศเหล่านี้มีเทคโนโลยีที่จะรักษา ‘สมบัติของโลก’ เอาไว้ได้ดีกว่า แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว ข้ออ้างนี้จึงตกไป แต่กลับเกิดข้ออ้างใหม่ขึ้นมาแทน

ในอังกฤษ ทั้งบริติชมิวเซียมและพิพิธภัณฑ์วีแอนด์เอ (Victoria & Albert Museum) มีสมบัติล้ำค่าของเอธิโอเปียอยู่ไม่น้อย

ในปี 1868 อังกฤษรบชนะจักรพรรดิเทโวดรอสที่สอง (Tewodros II) ที่มัคดาลา (Maqdala) เหตุการณ์ครั้งนั้นเศร้าสะเทือนใจ และเป็นโศกนาฏกรรมของเอธิโอเปียมาก เพราะเมื่อพ่ายศึก พระจักรพรรดิก็ปลงพระชนม์ตัวเอง โดยพระโอรส คือเจ้าชายอลีมาเยฮู (Prince Alemayehu) ถูกส่งตัวมาอยู่ที่อังกฤษ

แม้เจ้าชายจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเพราะตระหนักว่าทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ ทรงได้เข้าเฝ้าพระราชินีวิคตอเรียและเป็นที่โปรดปราน แต่พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลงในวัยเพียง 18 พรรษาเท่านั้น

ที่น่าสนใจก็คือ สิ่งที่อังกฤษได้ ‘พราก’ มาจากเอธิโอเปีย มีตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่า ทาบ็อต (Tabot) ซึ่งเป็นแผ่นไม้และแผ่นหินที่มีจารึกโบราณจำนวน 11 ชิ้น สมบัติของพระจักรพรรดิ ที่เรียกว่า Maqdala Treasures (เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณพ์วีแอนด์เอ) ซึ่งเป็นเพชรพลอยอัญมณีล้ำค่า ไล่ไปจนถึงกระทั่งเส้นพระเกษาของพระจักพรรดิเทโวดรอส และเมื่อเจ้าชายอลีมาเยฮูสิ้นพระชนม์ลง ก็มีการฝังพระศพเอาไว้ที่ปราสาทวินด์เซอร์ เพราะฉะนั้น จึงน่าจะถือได้ว่าร่างของเจ้าชายน่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพรากมาจากดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน

เอธิโอเปียพยายามขอคืน แต่อังกฤษมีกฎหมายห้ามอยู่ สิ่งที่คืนได้มีอยู่เพียงบางอย่าง เช่น สมบัติที่ถูกพวกนาซีปล้นไปในช่วงปี 1933-1945 หรือสิ่งที่เป็นเรือนร่างหรือสิ่งที่ยังเหลืออยู่ของร่างมนุษย์ ซึ่งก็ปรากฏว่า เอธิโอเปียได้คืนไปเพียงเส้นพระเกษาของพระจักรพรรดิเทโวดรอสสองปอยเท่านั้น แต่ที่อยากนำกลับไปฝังในแผ่นดินบ้านเกิดมากๆ คือร่างของเจ้าชายอลีมาเยฮูนั้น อังกฤษไม่อนุญาต และไม่ต้องกล่าวถึงสมบัติอื่นๆ ทั้งหลาย

แต่คำถามที่เกิดขึ้น (แม้กระทั่งกับคนอังกฤษเอง) ก็คือ นี่เป็นเรื่องเหมาะสมหรือเปล่า

อเล็กซานเดอร์ เฮอร์แมน (Alexander Herman) แห่งสถาบันศิลปะและกฎหมาย (Instituion of Art and Law) ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาอิสระ มีความเห็นว่าสถาบันใหญ่อย่างบริติชมิวเซียมควรจะ ‘ใจกว้าง’ กว่าที่เป็นอยู่ ความใจกว้างที่ว่าหมายถึงใจกว้างในการตีความกฎหมายให้ขยายมากขึ้น เพราะเอาเข้าจริง สมบัติของเอธิโอเปียที่บริติชมิวเซียมเก็บไว้นั้น ก็ไม่ได้ ‘เข้ากัน’ กับคอลเล็คชั่นอื่นๆ ทั้งหลาย นั่นคือถ้าไม่มีเก็บไว้ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายกับอะไรเลย หรืออย่างสมบัติมัคดาลานั้น คนอังกฤษส่วนใหญ่ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอังกฤษเก็บรักษาเอาไว้อยู่ ดังนั้น การคืนประเทศต้นทางไปเสียจึงไม่น่าเป็นปัญหาอะไร

ชาวเอธิโอเปียหลายคนตั้งคำถามว่า สำหรับสิ่งที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรนักสำหรับอังกฤษ แต่สำคัญมากๆ ต่อเอธิโอเปีย ทำไมอังกฤษถึงส่งคืนให้ไม่ได้ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นสำคัญต่อเอธิโอเปียพอๆ กับสมบัติที่เป็นมรดกทางศาสนาและประวัติศาสตร์อื่นๆ ของอังกฤษเหมือนกัน

ล่าสุด พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต เริ่มแสดงสัญญาณในทางบวกขึ้นมา เมื่อมีการจัดแสดงสมบัติมัคดาลาเป็นนิทรรศการชั่วคราวขึ้น และมีการเชิญตัวแทนจากเอธิโอเปียมาเยี่ยมชมด้วย พร้อมทั้งประกาศว่ากำลังพยายามทำงานเพื่อให้สมบัติเหล่านี้ได้ไปจัดแสดงที่กรุงแอดดิส อาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย

แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการส่งคืน

ถ้าถามว่า ทำไม Restitution ถึงสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คำตอบที่อเล็กซานเดอร์ เฮอร์แมน พยายามตอบ มีอยู่ด้วยกันสามข้อ

อย่างแรกก็คือ เริ่มมีกรณีใหญ่ๆ ในยุโรปและอเมริกาเหนือ (ซึ่งจริงๆ แล้ว ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของไทย ก็ถือว่าเป็นกรณีแรกๆ เหมือนกัน) ในการคืนสมบัติที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะจากการล่าอาณานิคมหรือการขโมยแล้วนำไปขายให้กับเอกชน ก่อนที่เอกชนจะขายให้กับพิพิธภัณฑ์อีกต่อหนึ่ง กรณีใหญ่ๆ เหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทวงคืนขึ้นมา

อย่างที่สอง การทวงคืนโบราณวัตถุเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางอารมณ์ความรู้สึกหรือศีลธรรมเท่านั้น (เช่น ทวงคืนสมบัติที่เป็นมรดกทางศาสนา) แต่ยังมีเหตุผลทางการเมืองด้วย เช่น มีแรงกดดันรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งกำลังเกิดการปฏิรูปเพื่อก้าวไปสู่สังคมเสรีนิยม (ช่างตรงข้ามกับบางรัฐบาลในบางประเทศ) และกำลังอยากพัฒนาการท่องเที่ยว หากมีสมบัติชาติมาอยูในพิพิธภัณฑ์ เช่นสมบัติมัคดาลาอันมีทั้งเครื่องเพชรของราชวงศ์และศาสนวัตถุ ก็จะช่วยให้การท่องเที่ยวบูมขึ้นมาได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศเหล่านี้กำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ไนจีเรียที่สร้างพิพิธภัณฑ์ประจำชาติแห่งใหม่ ก็อยากได้รูปปั้นเบนิน (Benin Bronze) คืนจากอังกฤษเหมือนกัน

และอย่างที่สาม ก็คือเกิดแรงกดดันจากชาวพื้นเมือง เช่น ชาวพื้นเมืองในออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ที่เคยถูกพรากจากโบราณวัตถุของตัวเอง ก็กำลังเรียกร้องนานาชาติให้สนับสนุนการเรียกคืน แต่ไม่ได้เกิดจากสถาบันรัฐ ส่วนใหญ่เกิดจากเอกชนและประชาชนทั่วไปที่เรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดีย

การเรียกร้องนี้แรงขึ้นเรื่อยๆ และข้ออ้างที่ว่า พิพิธภัณฑ์คือสถานที่แห่งการ ‘คละเคล้า’ อย่างที่เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) พูดถึงวัฒนธรรมใหม่แบบ Hybrid (หรือ Heterogenous) ที่เกิดขึ้นเพราะการล่าอาณานิคม ก็เริ่มเป็นข้ออ้างที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ โบราณวัตถุพวกนี้ถ้าถูกเก็บงำเอาไว้เงียบๆ ‘ภาพจำ’ เกี่ยวกับประเทศตัวเอง (เช่นอังกฤษ) ก็จะเป็นภาพจำแบบหนึ่ง แต่หากมันถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ก็จะเกิดการย้อนกลับไปพินิจพิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของตัวเอง เกิดการ ‘ชำระ’ ประวัติศาสตร์ และทำให้เห็นแง่มุมโหดร้ายของประเทศตัวเองขึ้นมา

หลายคนจึงตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริงแล้ว อังกฤษ ‘กล้า’ หรือเปล่าเล่า ที่จะ ‘จินตนาการ’ ถึงประเทศตัวเองใหม่ (Reimagine) เพื่อมองให้เห็นว่า ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินนั้น โดยเนื้อแท้แล้วอังกฤษเคยสร้างบาดแผล ความโหดร้ายรุนแรง และ ‘ปล้นชิง’ มาจากคนพื้นเมืองในที่ต่างๆ อย่างไร

การขโมยโบราณวัตถุเหล่านี้คือการแสดงอำนาจ และการยังคงเก็บรักษามันเอาไว้ ก็คือการแสดงอำนาจอีกแบบหนึ่ง

ดังนั้น Restitution จึงคือการโต้กลับต่ออำนาจที่เคยยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ด้วยวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องการการจัดการโบราณวัตถุนี้ในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย

เรื่องนี้จึงสำคัญไม่น้อย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save