fbpx
‘Intelligenzia’ การเกิดใหม่ของวารสารของนักศึกษา โดยนักศึกษา เพื่อประชาชน

‘Intelligenzia’ การเกิดใหม่ของวารสารของนักศึกษา โดยนักศึกษา เพื่อประชาชน

ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ และ ภูริช วรรธโนรมณ์ เรื่อง

ภูริช วรรธโนรมณ์ ภาพ

 

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามากุมบังเหียนการปกครองประเทศไทย ในรูปแบบรัฐบาลทหาร อ้างว่าการรัฐประหารมีความชอบธรรมเพื่อนำไปสู่ ‘ความสงบ’ ของประเทศ แต่ ‘ความสงบ’ ที่ว่า กลับมาพร้อมการปิดกันสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกทางความคิดด้านการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเห็นที่ตรงข้ามกับรัฐบาล

ภายใต้บรรยากาศที่ปิดกั้น นิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่ง อันประกอบด้วยสมาชิกเพียงไม่กี่คน จับมือกันผลิตสื่อเพื่อให้นักศึกษาและนักวิชาการได้มีพื้นที่ในการแสดงออกความคิดเห็นอย่างเสรี ผ่านวารสารชื่อ ‘Intelligenzia’ โดยการนำของ ป็อป—‘สุรัตน์ สกุลคู’ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พวกเขาพิมพ์และเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมงานเขียนจากนักวิชาการชื่อดังในหลากหลายประเด็น ซึ่งได้รับทั้งเสียงตอบรับและคำวิจารณ์ เพิ่มชีวิตชีวาให้กับวงการวิชาการอีกครั้ง โดยวารสารฉบับต่อไปกำลังจะคลอดออกมาในเดือนกรกฎาคมนี้

101 ชวน สุรัตน์ มาสนทนาถึงเรื่องมุมมองทางการเมืองยุคปัจจุบัน ในฐานะบรรณาธิการวารสาร Intelligenzia วารสารที่เรียกได้ว่าเป็นของนักศึกษา โดยนักศึกษา เพื่อประชาชน ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมาผ่านงานเขียนด้านประวัติศาสตร์และการเมือง รวมถึงเผยประสบการณ์การสื่อสารผ่าน ‘วารสาร’ ในสังคมที่ปิดกั้นและเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

 

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสนใจในด้านประวัติศาสตร์และการเมืองไทย

หลังกลับมาจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศฝรั่งเศส อายุประมาณ 18 ปี พอกลับมาถึงเมืองไทยจึงเริ่มสนใจอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ ผมสารภาพว่ายังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ในแบบ ใครทำอะไร ใครเป็นใคร

‘ปฏิวัติสยาม 2475’ โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เป็นเล่มแรกที่ทำให้ผมมีมุมมองในเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองที่เปลี่ยนไป หนังสือเล่มดังกล่าว ทำให้ผมมองภาพลักษณ์ของ รัชกาลที่ 7 เปลี่ยนไปด้วย เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่ารัชกาลที่ 7 เป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยไทย เราละเลยคุณูปการของคณะราษฎรไปหลายอย่างอยู่เหมือนกัน ทั้งที่มรดกของคณะราษฎรยังอยู่กับเราเยอะมาก ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี

 

มันขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเราด้วยไหม ที่ทำให้เราเริ่มมีมุมมองที่กว้างขึ้น  

ช่วงวัยมีส่วนอย่างมาก ตอนที่ได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองแบร็สต์ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ออกทุนให้ ผมรู้สึกได้ว่า สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกับไทยมาก คือ วัยรุ่นที่นั่นไม่ว่าเขาจะทำอะไร จะคิด หรือจะมีกิจกรรมอะไรก็ดี เขาดูมีชีวิตชีวา ผมรู้สึกว่าเขาได้ปลดปล่อย ได้แสดงความคิด แต่พอมาดูบ้านเรา ทำไมทุกอย่างที่จะทำมีข้อจำกัด

วัยรุ่นหรือเยาวชนในประเทศฝรั่งเศส ทำไมเขาถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหรือสังคมเขาได้ มันน่าสนใจมาก ตอนนั้นรู้สึกจะเป็น ฟร็องซัว ออล็องด์ ที่เป็นประธานาธิบดีอยู่ ซึ่งในประเทศฝรั่งเศส ประธานาธิบดีอำนาจเยอะมาก แต่คนหนุ่มสาวต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเขา ถ้าเป็นประเทศไทยไปทำอะไรอย่างนั้น ไม่โดนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ก็คงโดน มาตรา 44 เล่นงาน

 

ไปฝรั่งเศสมาแล้ว คิดว่าการศึกษาไทยควรจะพัฒนาไปทางไหน

เมืองไทยควรจะเพิ่มวิชาปรัชญาเข้ามาอยู่ในหลักสูตร  เพราะเมื่อเอาวิชาพวกนี้เข้ามาบรรจุเด็กจะเกิดการตั้งคำถาม ถามว่าเด็กปัจจุบันมีการตั้งคำถามไหม มันก็มี แต่น้อย ผมไม่อยากให้มองแค่โรงเรียนแถวสามย่าน หรือโรงเรียนแถวปากคลองตลาด แต่ผมอยากให้มองกว้าง ๆ อย่างโรงเรียนที่อยู่ตามชนบท เขาไม่ได้คิดตามตรรกะนี้ เขาเรียนเพราะต้องเรียน สถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนเอกชน คุณควรจะต้องเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เต็มที่

 

การไปแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศสเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญกับคุณอย่างไร

มันเป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องของมุมมองและโลกทัศน์ ผมมองว่าตอนที่ผมอยู่ฝรั่งเศสมันมีส่วนมาก ไม่ใช่เพราะไปร่วมชุมนุมกับเขา แต่เพราะเราเริ่มอ่านหนังสือ ผมได้อ่าน ‘สัญญาประชาคม’ ของรุสโซ พอได้อ่าน ก็มองภาพสังคมไทยว่า ยังอีกนานกว่าจะมีพัฒนาการได้แบบฝรั่งเศส

เอาแค่เรื่องการมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยการที่ไม่มีใครเข้ามากำหนด กำกับ และควบคุมให้ได้ก่อน ไม่ใช่วันดีคืนดีพอเราคิดเห็นต่างก็กำจัดเรา เอาแค่เรื่องพื้นฐาน ผมมองว่าสังคมไทยยังทำไม่ได้เลย แต่มันเป็นหลักการพื้นฐานที่อยากให้มี

 

เมื่อกลับมามองการเมืองในช่วงเลือกตั้งของไทย เห็นอะไรบ้าง

การเข้ามาของรัฐบาล และการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมา ไม่มีใครตอบเรื่องวิธีการคิดสูตรคำนวนคะแนนได้ ขนาดคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการก็ยังปวดหัว การเลือกตั้งที่มันถูกออกแบบมาอย่างบิดเบือนขนาดนี้ แม้ในวันที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือโหวตเลือกประธานรัฐสภา ถ้าเราลองสังเกตดู การเลือกตั้งรอบนี้ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการของเขาเลย คุณควรที่จะเริ่มตั้งคำถามกันได้แล้ว คุณจะยังไม่หูตาสว่าง หรือใช้ชีวิตแบบเสเพลไปวันๆ ไม่ได้แล้ว มันต้องมีการรับรู้ข่าวสารอะไรบ้าง

 

ชื่อวารสาร Intelligenzia มีที่มาที่ไปอย่างไร

ตอนที่จะทำวารสารเมื่อปีที่แล้ว ทีมงานเสนอชื่อทั้งไทยและเทศ แต่ไม่ได้มีความโดดเด่น ทีมงานเลยให้ผมไปคิดชื่อ แล้วจากที่ตัวเองเคยเรียนวิชาปัญญาชนกับการเมือง ในภาษาอังกฤษเราจะเจอแต่คำว่า Intellectual ที่แปลว่าปัญญาชน พอเราอ่านประวัติศาสตร์ความคิด ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา เรากลับพบคำอยู่คำหนึ่งซึ่งดูสวยงามมาก คือ คำว่า ‘Intelligenzia’ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน มันถูกใช้ครั้งแรกในสหภาพโซเวียต

 

คำว่าปัญญาชน หรือ Intelligenzia สามารถใช้กับใครได้บ้าง

ผมรู้สึกว่าคนที่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น Intelligenzia ได้ จะต้องนำเสนอทางออกของปัญหาสังคมที่มันเป็นรูปธรรม หรือพยายามที่จะนำเสนอใจกลางปัญหาในสังคมไทย เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เวลามีการเคลื่อนไหวต่างๆ เขาจะเป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ออกมาแสดงความเห็น และมีความรับผิดชอบ (accountability) ต่อสิ่งที่กระทำ

 

อะไรคือเป้าหมายของการทำวารสาร

เราอยากจะมีวารสารที่นักศึกษาเป็นคนทำ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม อย่างน้อยที่สุดเราก็อยากสร้างความเชื่อมั่น และความเข้าใจให้กับคนที่ไม่รู้ หรือทำให้เขาสนใจการเมืองแบบเข้มข้นได้ Intelligenzia จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ที่จะถ่ายทอดข้อมูลไปยังกลุ่มคนภายนอก หรือคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

คุณจะหวังพึ่งสื่อกระแสหลักอย่างเดียวในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ได้ ผมคิดว่ามันต้องมีมากกว่านี้ นี่ขนาดเราส่งเสียงแหกปากออกไป ผมคิดเหมือนกันนะว่า อาจจะดังไม่พอหรือเปล่า

ถามว่าคนอ่านฟ้าเดียวกันก็เยอะ คนนอกวงการก็อ่าน แต่เขาอ่านแล้วเก็บ หน้าที่เราคือเร่งเขา จะบอกว่าปลุกเร้าก็ได้ ให้คิดว่าสภาพที่เรากำลังเจออยู่ในเวลานี้มันไม่ปกตินะ มันใหญ่เกินกว่าที่คนอย่างเราจะจัดการ และในที่สุดต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างเอาจริงเอาจัง

 

อะไรคือสิ่งที่ได้มาหลังจากขายเล่มแรกสำเร็จ

ผมไม่ได้ดีใจที่ขายได้หมด เราพิมพ์แค่ 500 เล่ม เพราะมีเงินอยู่เพียงเท่านี้จากการลงขันกันเอง ผมดีใจตรงที่่หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างหนักไปทางงานวิชาการพอสมควร แต่กลุ่มที่สั่งซื้อวารสารส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 18 ถึง 25 ปี น่าจะ 80-90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับงานวิชาการที่ดูจับต้องยาก

การทำวารสารเล่มนี้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ทำให้ผมมีโอกาสไปพบกับนักศึกษาที่ต่างจังหวัด เราตื่นเต้นและตกใจมากเลยว่าเขาสนใจ หรือแม้กระทั่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเองก็ตาม

 

 

คิดว่าอะไรเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Intelligenzia ได้รับกระแสตอบรับอย่างมากล้นในหมู่คนรุ่นใหม่

ส่วนสำคัญคือ วารสารเล่มนี้เป็นหนังสือที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ลงมือทำกันเอง และผมมองว่า เพราะเรารู้ว่าผู้อ่านเขาอยากรู้อะไร เลยพยายามที่จะหาในสิ่งที่เขาอยากอ่าน รวมถึงมีการรวบรวมเหล่าบรรดานักเขียน และคอลัมนิสต์ที่เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ อันเป็นบุคคลร่วมสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่และได้ร่วมต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมไทย เช่น วาด รวี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, วิสา คัญทัพ และวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นต้น

 

คิดยังไงที่ถูกเปรียบเทียบว่า Intelligenzia คล้ายคลึงกับสังคมศาสตร์ปริทัศน์

ตอนทำเล่มนี้ผมมองสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นหนึ่งในวารสารทางวิชาการที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิด สร้างมุมมองและสร้างปัญญาชนออกมาสู่สังคมไม่น้อย แต่เราไม่ได้คิดที่จะทำแบบนั้น อย่าลืมว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ มันเติบโตขึ้นมาจากทุนของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่เหมือนกัน คือ การนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคที่ผู้ปกครองไม่มีความยุติธรรม แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ที่มาและการเริ่มต้น เขามีชื่อเสียง เขาเป็นนักคิด แต่เราเป็นเพียงนิสิตนักศึกษา

เอาเข้าจริง มีวารสารอยู่อีกเล่มนึงที่ผมสนใจ คือ วารสารเล่มละบาท น่าจะอยู่ในช่วง 14 ตุลา พวกนักศึกษาพิมพ์กันเองขายกันเอง ผมรู้สึกว่าตัวเนื้อหาของวารสารของเราน่าจะใกล้เคียงกับวารสารเล่มนี้มากกว่า เพราะมีงานของนักศึกษาเยอะ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Intelligenzia สร้างความสมดุลระหว่างงานของนักศึกษากับงานของนักวิชาการ เพราะเราอยากเห็นความคิดของผู้ใหญ่ด้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะมองความคิดของคนรุ่นเรา ว่ามันสะท้อนอะไรที่เหมือนและแตกต่างกันบ้าง อย่างไร

 

บรรยากาศทางการเมืองตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกับการทำวารสารฉบับนี้อย่างไร

เวลาเขาอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ ขอบข่ายที่จะใช้ในการเอาผิดคนที่เห็นต่างมันกว้างมาก ฉะนั้น พวกไหนก็ตามที่กระทำอันใดอันหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะโดนหมด คุณแสดงความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ไม่ได้ ไม่ต้องอะไรมาก แค่ล้อเลียน คุณก็มีเจ้าหน้าที่ตามถึงบ้าน อันนี้เป็นตัวอย่างที่ตลกมาก ‘ตลก’ ที่เลียนเสียงประยุทธ์ แล้วโดนตำรวจตามถึงบ้าน ขอให้ลบคลิปที่มีคนเอาไปแชร์

ข้อดีของการทำงานทางความคิดอย่างนึงคือมันยังเข้ามาไม่ถึง แต่ต่อไปก็ไม่แน่ อย่างบทนำเล่มหน้าเราจะพูดถึงความวิจิตรตระการตาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในขณะที่คนกำลังชื่นชมความงดงาม สื่อกระแสหลักประโคมข่าวกันยิ่งใหญ่ Intelligenzia ก็จะพูดถึงด้านที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เช่น ต้นทุนทางเศรษฐกิจ หรือบทวิเคราะห์ในฐานะหนึ่งในมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากรัฐรวมศูนย์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีความเข้มข้นและศักดิ์สิทธิ์มาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องพระปฐมบรมราชโองการ ที่มีรูปแบบการใช้คำเปลี่ยนแปลงไปจาก ‘ชาวสยาม’ ในรัชกาลก่อน เป็น ‘ราษฎร’ ในรัชกาลปัจจุบัน

หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อย่าง 22 พฤษภาคม 2557 นักวิชาการส่วนใหญ่บอกว่าเหตุการณ์นั้นคือ Coup d’état หรือรัฐประหาร นักวิชาการอย่างชาญวิทย์ เสนอว่า มันคือ Twin Coups แต่มันผิวเผินมาก

หนึ่งในหน้าที่ของ Intelligenzia คือไปตรวจสอบว่านักวิชาการเขาเสนออะไรมา แล้วเราเสนออะไรต่อยอดมากกว่าที่เขาเสนอ ยังไม่ได้มีใครพูดถึงสเกลของ Coup d’état ที่ไปไกลกว่านั้น คือจะสามารถเรียกเหตุการณ์นี้เป็นการปฏิวัติ (Revolution) ได้ไหม เพราะการปฏิวัติไม่ได้หมายถึงว่า เราจะต้องใช้กำลังอย่างเดียว แต่ต้องมาดูเรื่องของระบอบและโครงสร้างทางอำนาจเป็นสำคัญด้วย ปัจจุบันถ้าเราไปดูโครงสร้างทางอำนาจ โดยเฉพาะชนชั้นนำ อำนาจต่างๆ มันแทบจะเหมือนกับก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียด้วยซ้ำ

 

ธีมของวารสารในเล่มหน้าจะแตกต่างจากเล่มแรกไหม

ต่าง เล่มแรกคืออยากทำ โดยไม่มีใครมีประสบการณ์ เป็นการลองผิดลองถูก ไม่ได้ตั้งธีม เราพิจารณาจากบทความที่น่าสนใจ แล้วก็ลง แต่เล่มหน้าผมตั้งธีมไว้ว่า ‘2019: so what…Thailand?’ หรือ ‘ปี 2019 แล้วไงต่อ’ เพราะปี 2019 คนมองว่าทุกอย่างจะจบที่การเลือกตั้ง แล้วหลังจบก็จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พอกระบวนการเลือกตั้งมันบิดเบี้ยว และมันถูกออกแบบมาเพื่อให้คสช. อยู่ในอำนาจ ซึ่งน่าจะอยู่ยาวด้วย ประเทศไทยจะเป็นยังไงต่อ

น่าสนใจว่าถ้าเป็นช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พวกชนชั้นกลางออกมาเรียกร้องกันแล้ว แปลว่าตอนนี้ชนชั้นกลางเราเห็นดีเห็นงามด้วยหรือเปล่า

 

ทำไมคนกลุ่มเดียวกันถึงยอมรับการรัฐประหารในรอบนี้

หนึ่งในข้ออ้างที่เขาใช้ คือ ความสงบ ในขณะที่คนรุ่นเรามองว่ามัน Non Sense แต่ยังมีคนในสังคมที่มองว่ามันดี กลายเป็นการปะทะกันทางความคิดกันระหว่างคนรุ่นเรากับคนรุ่นเก่า พูดอีกแบบ คือเป็นการปะทะกันของคนยุคดิจิทัลกับยุคอนาล็อก อย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้โตมากับทีวีอนาล็อก โตมากับทีวีหนวดกุ้ง แต่คนรุ่นเราโตมาแบบมีความหลากหลายในการเข้าถึงสื่อและข้อมูล ที่สำคัญคือเราสามารถรู้ได้ว่า อันไหนมันคือข้อเท็จจริง (Fact) หรือข่าวปลอม (Fake News)

การปะทะกันทางความคิดแบบนี้ มันอาจจะยังคงอยู่หลังจากนี้ต่อไป อย่างประเด็นเรื่องพานไหว้ครู นอกเหนือจากเรื่องความเหมาะสม หรือพาเหรดของโรงเรียนที่ตรัง สิ่งที่เราเห็น คือ เด็กคิดได้ น่าสนใจว่า เด็ก ม.4 – ม.6 รุ่นนี้เริ่มรู้เรื่องและโตในช่วงรัฐบาลพลเรือน พอมาเจอกับสภาวะซึ่งไม่เหมือนกับที่เคยเห็น เขาก็จะตั้งคำถาม

 

คิดว่า Intelligenzia ในอนาคตจะเป็นตัวกลางให้กลุ่มหัวก้าวหน้าและกลุ่มอนุรักษ์นิยม หันหน้ามาดีเบตกันได้ไหม

ในมุมของผมและทีมงานอีก 4 คนที่เหลือ สังคมไทยภายในวงวิชาการส่วนใหญ่ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในลักษณะที่ตอบโต้ไปมา โดยที่ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งสุดโต่งไปเลย แต่สิ่งที่เราอยากเห็นและอยากทำมาก คือเวทีดีเบตแบบฝรั่ง มีประเด็นหนึ่งทางสังคม แล้วก็ให้นักวิชาการฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวามาดีเบตกัน เหมือนดีเบตของ Zizek กับ Peterson คือที่ผ่านมาผมนึกไม่ออกว่ามันมีหรือเปล่า ส่วนใหญ่มันจะเป็นเสวนาเสียมากกว่า

ไม่ต้องเอานักวิชาการที่มีชื่อเสียงก็ได้ อาจจะเอานักวิชาการรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนแบบขวาหรือแบบซ้าย แล้วมาซัดกันบนประเด็นทางสังคม นั่นแปลว่าจะต้องสร้างหรือหา Argument แล้วก็ไลฟ์สด หรืออัดวิดีโอไว้ ให้คนเขาตัดสินเอง

 

กระแสตอบรับของวารสารตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

กระแสวารสารไปถึงนักการเมือง อย่างพี่กาย (พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ) อดีตโฆษกพรรคไทยรักษาชาติที่หล่อๆ เขาบอกว่า ผมจะสนับสนุน สุรนันทน์ เวชชาชีวะ และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ยังมาแซวอยู่เลย แล้วก็มีความผิดพลาดของเราในเพจ สุภลักษณ์ กับ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ก็มาวิจารณ์ เก่งกิจวิจารณ์เราก่อนเลยว่า นี่ถ้าเกิดไม่เอาลง กลัวโดน 112 มั้งเนี่ย สุภลักษณ์มาแซวว่า Intelligenzia มีมุมนี้ด้วยเหรอครับ ในมุมเขา เขาอาจจะคาดหวังกับ Intelligenzia มาก

อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ยังเข้ามาแสดงความยินดีตอนที่ทำเล่มนี้ออกมา บอกว่าดีใจที่เห็นอะไรแบบนี้ หรือ อ.เกษียร เตชะพีระ ก็เอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่กระแสไปถึงคนเหล่านี้ ผมก็รู้สึกขอบคุณ

 

อุปสรรคในการทำวารสารเล่มแรก จากคนที่ไม่ได้จบการศึกษาด้านการสื่อสารมาก่อนคืออะไร

อุปสรรคมีมาก ถ้าตัวปก จะเป็นหน้าที่ของน้องคนนึงออกแบบมา แต่เราเป็นคนเลือก ทำหลายแบบมาก ตอนแรกสีหวานแหววมาก แต่เราคิดว่าสังคมไทยไม่ได้หวานแหววขนาดนั้น เราก็ขอเปลี่ยน เคยมีปัญหาเรื่องอาร์ตเวิร์ก เพราะไม่มีใครเก่งกราฟฟิค แต่เล่มที่กำลังทำ คราวนี้เราได้มือดีที่ทำกราฟฟิคเก่งๆ มา ก็จะมีความเป็นหนังสือสูงขึ้น คล้ายในงานกรัมซี่ของสำนักพิมพ์สมมติ ก็ต้องรอติดตาม

แล้วก็มีติดปัญหาเรื่องเงิน พอมีปัญหานี้เลยลงขันกัน ทีแรกมีพรรคหนึ่งจะสนับสนุน แต่เขามีปัญหาด้านการเงิน ก็เครียดนะว่าจะเอายังไง เลยเปิดพรีออเดอร์จาก 100 นึงเป็น 130 เพื่อปิดเล่ม ปรากฎว่ามันได้ หลังจากนั้นมา คนก็มาซื้อกันเยอะ ตอนนั้นก็ดีใจมาก จะร้องไห้เลย

ฉบับหน้าเราเลยค่อนข้างเต็มที่ มีความเป็นวิชาการสูงกว่า ถ้าเอามากางดู คนโนเนมจะเยอะกว่าคนมีชื่อ ฉบับต่อไป เราอยากทำให้คนตัวเล็กๆ เหล่านี้ มีชื่อเสียง โตได้ สามารถมีบทบาทในการทำงานทางความคิด ในสักวันหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตหนึ่งจากการที่คุณเคยเขียนอะไรบางอย่างลงใน Intelligenzia แค่นี้ก็ยิ้มแล้ว

 

ทำงานกับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมีอุปสรรคอะไรบ้างหรือเปล่า

ไม่เลย คนพวกนี้น่ารักมาก คุณอยากให้ผมเขียนอะไรคุณบอกมาเลย เขาให้เกียรติเรามากนะ แม้เราจะเป็นเด็กน้อยมาก

อย่างอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ให้เขียนเรื่องการอุ้มฆ่าวิสามัญ สุรชัย แซ่ด่าน เป็นประเด็นไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ที่มีการพบศพที่แม่น้ำโขง แย่มากเลยนะ แต่ใครจะไปคิดว่าตัว ‘2019: so what…Thailand?’ จะทำงานตรวจสอบตัวมันเอง ว่ามันมีเรื่องคุณลุงสนามหลวง มีประเด็นเรื่องกลุ่มไฟเย็น อาจารย์ใจทักมารบกวนให้ผมเพิ่มประเด็นดังกล่าว ผมก็คิดในใจว่าอาจารย์ขอมา ผมจะกล้าปฏิเสธได้ยังไง

อย่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขายังหัวเราะอยู่เลย ถามว่าเอาตังค์มาจากไหน? ผมขอให้อาจารย์นิธิเขียน แกถามว่าอยากให้เขียนเรื่องอะไร เลยขอให้เขียนเรื่อง ‘การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งภายใต้กติกาคสช.’ แกรับทันที แต่ทีแรกเหมือนแกป่วย คิดว่าจะโดนเทแล้ว แต่แกมีความมืออาชีพ คิดดูแล้วกัน คนอายุ 79 ที่ความคิดยังเฉียบ แกส่งอีเมล์กลับมา ดีใจมาก

 

 

ในเล่มหน้าจะมีใครมาเขียนให้อีก นอกจากนักวิชาการ

ที่ก่อนหน้าพูดถึงคำว่า ‘Intelligenzia’ เราโชคดีที่ได้เนติวิทย์กับเพื่อนอีกคนนึงแปลบทความของ Isaiah Berlin ชื่อ ‘The Role of Intelligentsia’ หรือบทบาทของปัญญาชน อย่างน้อยที่สุดมันเข้ากับชื่อของวารสาร คนน่าจะเข้าใจไอเดียหรือหน้าที่ของ Intelligentsia มากขึ้น เอาเข้าจริง ไอเดียหลักๆ ที่เสนอก็ไม่ได้แตกต่างกับที่พวกเรากำลังทำอยู่

และมีไผ่ ดาวดิน มาเขียนให้ เราอยากเห็นคนที่ถูกกระทำโดยรัฐจากความอยุติธรรม ไผ่บอกว่าให้ผมตั้งชื่อให้เลย ผมคิดว่าสิ่งที่ไผ่โดนมันไม่ยุติธรรม เลยให้ไผ่เขียนบทความชื่อ ‘Where is Justice? ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน’ ซึ่งก็ต้องรออ่านว่าไผ่เขียนอะไรมา ยังไม่ทราบเหมือนกัน

ของวาด รวี นี่ไม่ต้องพูดถึง ตอนแรกผมขอว่าไม่ต้องเขียนแล้วครับ แค่นี้ก็เกรงใจแล้ว แต่เดือนที่แล้ว จู่ๆ โทรมาบอกว่า ผมเขียนบทความไว้ชิ้นนึง แต่ถ้าส่งไปสำนักพิมพ์เขาคงไม่กล้าพิมพ์ คุณลองเอาไปอ่านดู ถ้าเอาแล้วจะส่งกราฟที่เหลือให้ พออ่านเสร็จเลยบอกพี่วาดให้ส่งมา เพราะเราเคลมว่า เราเป็นวารสารที่นำเสนอประเด็นปัญหาสังคม เรื่องนี้ก็ต้องพูดด้วย เพราะผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ตลกมาก ถ้าจะวิจารณ์ประยุทธ์ แต่แกนกลางที่คุมประยุทธ์เราไม่พูด

 

อนาคตของ Intelligenzia จะไปถึงจุดไหน จะมีโอกาสได้เห็นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ไหม

ออนไลน์คงไม่ทำ เป็นเจตนาที่คุยกันตั้งแต่แรก เราอยากให้คนเก็บไว้เป็น Hard Copy ที่เรามองคือ เราอยากเป็นสำนักพิมพ์​ จะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นวารสาร อีกส่วนก็เป็นหนังสือ เปิดโอกาสให้คนที่อยากเขียนหรืออยากแปล เราจะขอลิขสิทธิ์ให้ คุณเขียนมาหรือแปลมา แล้วเราก็ให้ค่าตอบแทน ส่วนวารสารก็เปิดรับบทความ ในอนาคตก็จะให้ค่าตอบแทน

ตอนนี้เราไม่ได้ให้ค่าตอบแทนคนเขียน คนเขียนก็รับรู้ดีและเข้าใจ พอเล่มออกมาเราก็จะส่งเล่มให้ ถ้าปีหน้ายังไม่ปลิว เราจะให้ค่าตอบแทนจากกำไร คิดว่าจะทำให้เขาตั้งใจเขียนมากกว่าเดิม ไม่ได้หมายความว่าตอนนี้ไม่ตั้งใจ แต่คิดว่าถ้ามีค่าตอบแทน ข้อผิดพลาดในเปเปอร์ก็จะน้อยลง ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย

 

แล้วอนาคตของ สุรัตน์ สกุลคู คิดว่าจะเป็นอย่างไร

วันนั้นกับวันนี้ หรือวันไหนๆ ก็ตาม คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่เคยทำให้ผมเปลี่ยนจุดยืนในชีวิต คืออยากเป็นนักวิชาการ อยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่หากินกับการสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เราอยากทำงานข้างนอก อยากทำหนังสือ เขียนบทความ ทำงานทางความคิด หรือไปบรรยาย สมมติมีกลุ่มศึกษาไหนตั้งวงมาแล้วขาดวิทยากร ไม่ต้องให้สตางค์ก็ได้ แต่ขอให้ทำกันอย่างจริงจัง

อุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงานกับนักกิจกรรมบางกลุ่ม คือการมี passion มีคำพูดดี อยากทำมาก พูดเป็นสเต็ป หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่พอให้หลังมาไม่ถึงอาทิตย์ ความคิดหรือ passion ที่อยากทำมันหายไปกันหมด ‘การกระทำมันสำคัญกว่าคำพูด’ จริงๆ คำนี้มันก็ยังมีมนต์เสน่ห์ของมัน ที่สุดแล้วคำพูดเป็นนาย เราอยากทำ ก็ไปลองผิดลองถูกเอง ดูงานคนนั้นคนนี้เอามาปรับใช้ มีปัญหาตรงไหนก็ไปแก้ตรงนั้น

 

ฝากผลงานฉบับหน้าหน่อย

สำหรับเล่มต่อไปภายใต้หัวข้อ ‘2019: so what…Thailand?’ กำลังจะคลอดออกมาในวันที่ 14 กรกฎาคมครับ ตอนนี้ก็เปิดให้พรีออเดอร์ 100 เล่มแล้ว

ใครสนใจสามารถสั่งซื้อได้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘วารสาร Intelligenzia’ สามารถไปกดติดตามกันได้ รอบนี้จะมีไปวางขายที่ Bookmoby, Books & Belongings และ Candide Books ที่กรุงเทพจะลง 3 ร้าน ส่วนเชียงใหม่มีที่ Book Re:public ภาคใต้ก็ร้าน BUKU ที่ปัตตานี ภาคอีสานมีร้าน Wild Dog ที่ขอนแก่น

และถ้ามีเวลาก็จะมี Intelligenzia สัญจร เราเคยไปที่เชียงใหม่มาแล้ว คนสนใจเยอะ หรือไปที่ ม.บูรพา ก็มีกลุ่มโกงกางที่สนับสนุนเราเต็มที่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save