จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
ถ้าใครติดตามข่าววงการสตาร์ทอัพ คงได้ยินคำเปรียบเปรยว่า อูเบอร์ (Uber) คือบริษัทรถรับจ้างที่มีมูลค่ามากที่สุด ที่ไม่มีรถเป็นของตนเองแม้แต่คันเดียว หรือ แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) คือบริษัทโรงแรมที่มีมูลค่ามากที่สุด ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของห้องแม้แต่ห้องเดียว ด้วยรูปแบบทำงานผ่านทางระบบแอพพลิเคชันออนไลน์ (ที่นิยมเรียกว่าแพลตฟอร์ม) ทำให้บริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการ พร้อมๆ กับแสวงหารายได้ผ่านการติดต่อเป็นตัวกลางในการให้และรับบริการเหล่านี้
ความสำเร็จของบริษัทอินเทอร์เน็ตเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้กับสตาร์ทอัพจำนวนมากมาย จนหลายครั้งในการนิยามตัวตนของสตาร์ทอัพใหม่ ก็มักจะเรียกตนเองว่าเป็น ‘อูเบอร์สำหรับอะไรสักอย่าง’ หรือเป็น ‘แอร์บีเอ็นบีสำหรับสถานที่บางที่’ เลยทีเดียว
สำหรับในประเทศไทย มีแพลตฟอร์มจำนวนมากมายในลักษณะนี้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มให้บริการขนส่ง เช่น Grab, GET หรือ Lalamove แพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหาร เช่น Line Man หรือ Foodpanda และ แพลตฟอร์มจ้างงานอื่นๆ เช่น จ้างแม่บ้าน BeNeat หาคนทำงานอิสระ (หรือฟรีแลนซ์) เช่น Fastwork นอกจากนี้ในกรณีที่งานเป็นแบบดิจิทัล สามารถทำงานที่ใดก็ได้ ก็ยังมีแพลตฟอร์มจ้างงานเช่น Upwork, Fiverr, หรือ Freelancer ที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศเดียวกัน
เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงานเป็นชิ้น
ลักษณะที่โดดเด่นของงานลักษณะนี้คือเป็นงานที่เสร็จสิ้นเป็นชิ้น โดยมากงานหนึ่งชิ้นจะสามารถทำเสร็จได้ในเวลาไม่นาน (ไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน) ในมุมนี้จะไม่ต่างจากงานอิสระทั่วไป เช่น งานรับจ้างเย็บผ้า ซ่อมรองเท้า หรือรับพิมพ์งานเอกสาร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้งานลักษณะนี้ปรากฏรูปแบบขึ้นชัดเจนขึ้นคือการขับเคลื่อนการรับและทำงานผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งลูกค้าและผู้ให้บริการต่างติดต่อกันอยู่บนระบบออนไลน์ ในหลายๆ กรณีผู้ให้บริการและลูกค้าจะมีโอกาสพบปะกันในโลกจริง เช่น การให้บริการขนส่ง หรือการส่งสินค้าหรืออาหาร ในหลายๆ กรณี เช่นในเว็บทำงานอิสระแบบดิจิทัล ผู้ให้บริการกับลูกค้าอาจไม่มีโอกาสได้พบกันตรงๆ เลย
หน้าที่ของแพลตฟอร์มนอกจากจะเป็นตัวกลางให้ผู้เกี่ยวข้องได้พบปะและจับคู่ ยังมีระบบอื่นๆ ที่ช่วยในการประเมินคุณภาพของการทำงาน เช่น ระบบให้คะแนนและระบบให้แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพและเพิ่มความน่าเชื่อถือในประเด็นด้านความปลอดภัย เป็นต้น
เราเรียกเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงานแบบรับเหมาอิสระและรับทำงานเป็นชิ้นเหล่านี้ว่า เศรษฐกิจแบบกิ๊ก หรือ Gig Economy (มาจากชื่อเรียกหนึ่งการแสดงสดของนักดนตรีอิสระ) หลายคนคาดการณ์ว่างานในลักษณะนี้จะเป็นรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ในอนาคต เพราะว่ามีความอิสระ มีความคล่องตัว และหลายครั้งสามารถเลือกเวลาในการทำงานได้เอง ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีภาระต้องดูแลลูกเล็ก อาจขับรถรับจ้างในช่วงเวลาที่ลูกเข้าสถานรับเลี้ยงหรือโรงเรียนอนุบาล คนที่ทำงานประจำอาจทำงานอิสระแบบรับงานเป็นชิ้นเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มรายได้ในเวลาที่สะดวก เป็นต้น อย่างไรก็ตามมายาคติของชีวิตที่เป็นอิสระ ทำให้หลายคนมองเห็นแต่ภาพที่สวยงามของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคนทำงานอิสระแบบนี้
ในแง่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม การที่มีแรงงานอิสระจำนวนมากอยู่ในระบบ เพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการ กล่าวคือ แพลตฟอร์มสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนผู้ให้บริการในระบบได้ผ่านการให้แรงจูงใจแบบต่างๆ เช่น ในบริบทของรถรับจ้าง ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ใช้บริการมาก แพลตฟอร์มอาจมีการปรับเพิ่มค่าตอบแทน เพื่อเพิ่มจำนวนรถในระบบ ความยืดหยุ่นนี้เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบของบริษัทกลุ่มนี้ เทียบกับบริษัทในรูปแบบเดิมที่มีพนักงานประจำจำนวนที่ค่อนข้างตายตัวมากกว่า
เนื่องจากรายได้ของแพลตฟอร์มขึ้นกับความสามารถในการจับคู่ผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ การที่มีผู้ให้บริการจำนวนมากย่อมทำให้การจับคู่ทำได้สะดวก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่มีผู้ให้บริการจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดสภาวะการแข่งขัน ถ้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่มากพอ ผู้ให้บริการจำนวนมากก็จะอยู่ในสภาวะว่างงาน (แม้ว่าต้องการจะทำงานก็ตาม) ในหลายๆ ธุรกิจบริการ สภาวะว่างงานนั้นนอกจากจะมีค่าเสียโอกาสแล้ว (เช่น ผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่ได้ขับไปไหน แต่รออยู่หน้าร้านดังเพื่อรับงานส่งอาหาร) ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ขับรถรับจ้างก็ต้องขับรถเปล่าวนไปมา ไม่แตกต่างจากการทำงานประจำแต่อย่างใด
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐ (อ้างอิงจาก Gig Economy Data Hub) พบว่าคนทำงานประมาณ 10% มีรายได้หลักมาจากการทำงานในรูปแบบงานอิสระนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของ Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ (อ้างอิงในรายการด้านล่าง) ที่พบว่าประมาณ 8.9% ของผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 9,387 คน ทำงานแบบอิสระเป็นชิ้นเต็มเวลา และในกลุ่มนี้พบว่า 19% ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน
ถ้าพิจารณาในกลุ่มของคนทำงานประเภทนี้โดยเฉพาะ ในการสำรวจจากรายงานเรื่องแพลตฟอร์มอีโคโนมี โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พบว่า 42% ของผู้ขับอูเบอร์ในจังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้จากการขับอูเบอร์เป็นรายได้หลัก ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าแม้รูปแบบงานแบบเป็นชิ้นจะเอื้อต่อการทำงานเป็นงานเสริม แต่ยังมีคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพหลักผ่านการทำงานแบบนี้
สำหรับในประเทศไทย เมื่อพิจารณาธุรกิจส่งอาหารและเอกสาร จากการค้นข้อมูลคร่าวๆ พบว่ามี Foodpanda (ส่งอาหาร) และ Skootar ที่มีทางเลือกในการเข้าทำงานแบบเป็นพนักงานประจำที่มีสวัสดิการและประกันกลุ่ม นอกจากนี้ GET มีประกันสุขภาพให้พนักงาน ส่วนผู้ให้บริการรายอื่น เช่น Grab หรือ Lalamove นั้น จากการสืบค้นเบื้องต้นไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการหรือโอกาสในการสมัครเข้าเป็นลูกจ้างประจำในเว็บไซต์
คุณค่าของสถานะพนักงาน
ในโลกทุนนิยมที่ไม่เคยมีอะไรฟรี สิ่งหนึ่งที่แลกมากับอิสระในการเลือกเวลาและสภาพการทำงาน คือสถานะการทำงานแบบผู้รับเหมาอิสระที่มีลักษณะชั่วคราว และเป็นการทำงานแบบตามสัญญาจ้างงานเป็นชิ้นๆ โดยไม่สนใจว่าการทำงานในลักษณะนี้จะเป็นอาชีพหลักของคนงานหรือไม่ การทำงานตามสัญญาจ้างเป็นชิ้นๆ ลักษณะนี้ทำให้แรงงานขาดความมั่นคงในอาชีพ ขาดสวัสดิการ ขาดการคุ้มครองต่างๆ จากกฎหมาย และขาดโอกาสในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพเพื่อต่อรองกับนายจ้าง (หรือเจ้าของแพลตฟอร์มการทำงาน)
ในระยะสั้น การทำงานที่มีอิสระและทางเลือกนั้นมีคุณค่ามาก ทว่าในระยะยาว ความมั่นคงในอาชีพและสวัสดิการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแรงงาน (อ้างอิงจากบทความบน Vox.com) พบว่า 58% ของคนที่ทำงานแบบรับเหมาอิสระเต็มเวลา จะมีความลำบากในการหาเงินก้อนในยามฉุกเฉิน เมื่อเทียบกับ 38% ในกรณีของคนที่ทำงานในรูปแบบธรรมดา
สภาวะการทำงานอิสระยังทำให้คนทำงานไม่ได้รับการคุ้มครองต่างๆ จากภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (ผ่านทางกฎหมายแรงงาน) เช่น การขาดค่าแรงขั้นต่ำ การควบคุมเวลาการทำงาน หรือค่าชดเชยจากการทำงานล่วงเวลา
นอกจากนี้ คนทำงานแบบอิสระยังขาดช่องทางที่สำคัญในการต่อรองกับนายจ้าง นั่นคือสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นทางการในการต่อรอง โดยปกติแล้วความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนทำงานกับนายจ้างมักไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม องค์กรสหภาพแรงงานส่งเสริมให้คนทำงานมีอำนาจต่อรองที่มากขึ้นผ่านทางข้อเสนอและกิจกรรมของพนักงานกลุ่มใหญ่ จากสถิติโดย Economic Policy Institute พบว่าสหภาพมีบทบาททำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
การปกป้องคนทำงานผ่านทางกฎหมาย
สังเกตว่าถ้าพิจารณาจากมุมมองของบริษัทแพลตฟอร์ม การมีแรงงานในระบบแบบอิสระย่อมเป็นสิ่งดี ทำให้โดยทั่วไปแล้ว บริษัทก็จะจัดให้เหล่าพนักงานคนทำงานเป็นผู้รับเหมาอิสระ (indepedent contractor หรือแรงงานอิสระทำงานตามสัญญา) เพื่อหลีกเลี่ยงภาระต่างๆ ที่ตามมาจากกฎระเบียบต่างๆ ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ และสร้างความยุติธรรมให้กับการจ้างงานโดยการออกกฎหมายที่ทำให้การจัดประเภทพนักงานตรงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อให้คนงานได้รับสิทธิ สวัสดิการ และผลประโยชน์ตามกฎหมาย
มลรัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่งออกกฎหมายใหม่ (เรียกย่อว่า AB5) ที่ระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนมากขึ้นในการตรวจสอบว่าบริษัทจะสามารถจัดให้คนทำงานเป็นผู้รับเหมาอิสระได้หรือไม่ เงื่อนไขที่บริษัทจะต้องพิสูจน์คร่าวๆ มีดังนี้ (1) คนทำงานจะต้องเป็นอิสระจากการควบคุมและการสั่งงานของบริษัทผู้ว่าจ้างในด้านที่เกี่ยวกับคุณภาพของงาน (2) งานที่ทำจะต้องไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท และ (3) คนทำงานจะต้องติดต่อกับลูกค้าแบบอิสระในลักษณะเดียวกับการซื้อขาย ประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจทั่วไป
แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้กับหลายอาชีพ เช่น นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก หรือนักบัญชี เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงบางอาชีพ เช่น พนักงานขับรถ หรือพนักงานส่งอาหาร ภายใต้เงื่อนไขสามข้อที่ว่ามา คนขับรถในบริษัทเช่น Uber หรือ Grab (ในประเทศไทย) จะไม่สามารถถูกจัดให้เป็นผู้รับเหมาอิสระได้ เพราะว่าคนขับไม่มีอิสระในการตั้งราคาค่าใช้จ่ายเองและไม่สามารถเลือกลูกค้าเองได้ อย่างไรก็ตาม สังเกตว่าอาชีพอิสระอื่นๆ ที่ทำงานบนแพลตฟอร์มที่สามารถเลือกลูกค้า ติดต่อเงื่อนไขการทำงาน และกำหนดค่าจ้างได้เองนั้น ยังสามารถจัดประเภทเป็นผู้รับเหมาอิสระได้
กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัท เช่น อูเบอร์ ลิฟต์ (lytf) และดอร์แดช (DoorDash – บริษัทส่งอาหาร) เป็นอย่างมาก หลายคนคาดว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงภาพรวมของเศรษฐกิจกิ๊กเลยก็ว่าได้ เพราะว่ายุคสมัยของรถรับจ้างราคาประหยัด หรืออาหารส่งราคาประหยัดจะจบสิ้นลง และสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้ใช้งาน
มีพนักงานอิสระจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับกฎหมายนี้ที่ลดทอนโอกาสในการทำงานของตน อย่างไรก็ตามสภาพการทำงานปัจจุบันของพนักงานอิสระเหล่านี้ก็ไม่ได้ดีเท่าใดนัก และมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงและค่าชดเชยที่ดีขึ้นหลายครั้ง ค่าใช้จ่ายราคาประหยัดของผู้ใช้อาจมีต้นทุนมาจากพนักงานเหล่านี้ส่วนหนึ่ง
ในที่สุดแล้วบริษัทในกลุ่มดังกล่าว ยืนยันว่าจะต่อสู้กับกฎหมายนี้ และจะยังจัดให้พนักงานขับรถและพนักงานส่งของเป็นผู้รับเหมาอิสระต่อไป แต่ความเคลื่อนไหวต่างๆ ประกอบกับการออกกฎหมายครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ต้องเสนอทางออกเพิ่มเติมเป็นทางเลือกที่สาม ที่จะยังจัดให้คนทำงานเป็นพนักงานอิสระต่อไป แต่มีการรับประกันค่าแรงขั้นต่ำ มีสวัสดิการบางส่วนเพิ่มเติมระหว่างช่วงที่ว่างงาน และมีช่องทางให้พนักงานต่อรองกับบริษัทได้มากขึ้น
ทางเลือกในการจ้างคนทำงาน
ไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพจะพยายามจัดให้กำลังคนทั้งหลายเป็นผู้รับเหมาอิสระไปทั้งหมด
สตาร์ทอัพ Managed by Q ที่ให้บริการดูแลจัดการสถานที่ทำงาน ตั้งแต่บริการทำความสะอาด บำรุงรักษา รวมไปถึงดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่บริษัทต้องการแสวงหาช่องทางทำกำไรและเร่งการเติบโต กลับไม่ได้ใช้วิธีการจ้างงานในลักษณะเดียวกับบริษัทสตาร์ทอัพทั่วไป
Managed by Q จ้างพนักงานต่างๆ ในฐานะลูกจ้าง และลูกจ้างที่ทำงานไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะได้รับสวัสดิการที่รวมถึงประกันสุขภาพ ค่าชดเชยต่างๆ การลาหยุดแบบได้รับเงินเดือน รวมไปถึงเงินสนับสนุนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ การดูแลและใส่ใจคนทำงานเป็นพิเศษเป็นหนึ่งในจุดแข็งทางธุรกิจของ Managed by Q ในขณะที่บริษัทเช่น Uber ยังมีปัญหาคือไม่สามารถทำกำไรได้ แต่ในปี 2017 ที่ผ่านมา Managed by Q สามารถทำกำไรได้แล้ว หลังจากนั้นก็มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบันมีสตาร์ทอัพหลายบริษัท เริ่มปรับรูปแบบการจ้างงานให้มีลักษณะเป็นมิตรกับคนทำงานมากขึ้น (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรือเพื่อป้องกันการโดนฟ้อง) แต่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวในภายหลังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องมีการปรับระบบการจ่ายเงินเดือนมากมาย สตาร์ทอัพบางที่ต้องปิดตัวไปหลังการเปลี่ยนแปลง และอาจด้วยเหตุผลอื่นๆ ประกอบกัน
ในยุคของการจ้างงานแบบกิ๊ก การทำให้งานมีคุณค่าและการดูแลคนทำงานอย่างดี กลับกลายเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของ Zeynep Ton จาก MIT ที่ได้ติดตามบริษัทที่ประสบความสำเร็จและมีแนวคิดที่ทำให้งานมีคุณค่า เช่น Southwest Airlines, Toyota และ Costco โดยพบว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นหากำไรเพียงอย่างเดียวโดยปฏิบัติกับคนทำงานอย่างไม่ค่อยใส่ใจ หรือใช้คนงานแบบทิ้งขว้างตามที่ความเชื่อทั่วไปทางธุรกิจกล่าวเอาไว้
ในทางกลับกัน Ton พบว่าบริษัทที่ลงทุนกับคนงานเหล่านี้มักมีระบบการทำงานที่ไม่ได้มีตารางเวลาแน่นเกินไป มีระบบในการปรับปรุงกระบวนการโดยรับฟังความเห็นของคนงาน รวมทั้งมีการฝึกอบรมทักษะข้ามแผนก เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของกำลังงานในการจัดการกับภาระงานที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา แทนที่จะใช้ระบบการว่าจ้างในการจัดการปัญหานี้
เอกสารเพิ่มเติม
– รายงานจาก Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวกับ gig economy
– ศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจแบบกิ๊ก Gig Economy Data Hub
– รายงาน How unions help all workers โดย Economic Policy Institute
ข่าวเกี่ยวกับกฎหมาย AB5 ในแคลิฟอร์เนีย
- CALIFORNIA JUST DROPPED A BOMB ON THE GIG ECONOMY — WHAT’S NEXT?
- California is cracking down on the gig economy
- California is about to rewrite the rules of the gig economy
- ข้อกฎหมายทางเลือกที่เสนอโดย Uber: Uber circulates new gig-work bill as alternative to AB5
เกี่ยวกับ Managed by Q
- New case study examines good jobs and growth at Managed by Q
- Managed by Q’s “good jobs strategy” is paying off for workers—and the company
- ล่าสุดเมื่อต้นปี Managed by Q ถูกซื้อไปโดยบริษัท WeWork ที่ปัจจุบันกำลังมีปัญหาทางธุรกิจอยู่
เกี่ยวกับกลยุทธ์ Good Job
- สถาบัน Good Job Institute
- หนังสือ The Good Job Strategy โดย Zeynep Ton
- ข่าว A growing number of startups are ditching the Uber model and hiring full-time workers