fbpx
“กองกำลังไซเบอร์” ด้านมืดของภาคประชาสังคม และพื้นที่ประชาธิปไตย

“กองกำลังไซเบอร์” ด้านมืดของภาคประชาสังคม และพื้นที่ประชาธิปไตย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

เมื่อปีที่แล้ว องค์กร CIVICUS Monitor จากประเทศแอฟริกาใต้ สำรวจสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่เคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม” (civic space) หรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นขององค์กรภาคประชาสังคม โดยปราศจากการปิดกั้น ดำเนินคดี ลอบสังหาร ตัดแหล่งทุน ใส่ร้ายป้ายสี และมาตรการปราบปรามอื่นๆ โดยทำการสำรวจใน 195 ประเทศทั่วโลก

ข้อค้นพบที่ได้คือ มี 20 ประเทศที่พื้นที่ภาคประชาสังคมถูกปิดตาย (closed civic space) 35 ประเทศถูกกดทับ (repressed – คือแทบไม่มีเสรีภาพ) 51 ถูกปิดกั้น (obstructed – คือมีการสร้างข้อจำกัดมาขวางกั้นการทำงานของภาคประชาสังคม) และ 63 ประเทศ มีพื้นที่แคบ (narrowed – ดีกว่าสามกลุ่มแรก แต่ยังเคลื่อนไหวลำบาก) คำนวณได้อีกอย่างว่า ประชากรโลกเกือบหกพันล้านคนอาศัยในประเทศซึ่งพื้นที่ประชาธิปไตยหดแคบ หรือไม่มีพื้นที่ดังกล่าวเลย รายงานชี้ว่าในทวีปเอเชีย “ไม่มีพื้นที่เปิดสำหรับภาคประชาสังคมเลย”[1]

แนวโน้มนี้สอดคล้องกับดีเบตร่วมสมัย ว่าด้วยภาวะถดถอยของประชาธิปไตยซึ่งกำลังสูญเสียความชอบธรรมในบริบทการเมืองโลก[2] รวมถึงวิวัฒนาการของระบอบอำนาจนิยม ซึ่งไม่เพียงแต่รุกคืบทำลายต้นทุนประชาธิปไตยในประเทศตัวเอง แต่มีการส่งออกโมเดลอำนาจนิยม รวมถึงแลกเปลี่ยนเทคนิคการปราบปรามผู้เห็นต่างข้ามภูมิภาค[3] ทั้งสองประการนี้ส่งผลต่อพื้นที่ปิดและหดแคบของภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย[4]

มิติหนึ่งที่เชื่อมโยงประเด็นทั้งสามนี้ และเริ่มเป็นข้อกังวลสำหรับคนทำงานเคลื่อนไหวและองค์กรวิจัยนานาชาติคือ การใช้เสรีภาพในโลกไซเบอร์ เพื่อปิดกั้น กดปราบ และบั่นทอนความชอบธรรมของภาคประชาสังคมซึ่งเห็นต่างจากรัฐบาล[5]

อาจฟังดูประหลาด เพราะส่วนใหญ่เรามักเข้าใจว่าการปิดกั้นเสรีภาพในโลกไซเบอร์นั้นมีแบบเดียว คือรัฐบาลออกกฏหมายควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต (เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560) หรือใช้ “เทคโนโลยีสปาย” ตราจตราสอดส่องพฤติกรรมประชาชนในการใช้สื่อสังคม หากมีข้อความต้านรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ก็ออกหมายจับ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี วิธีการปราบปรามแบบ “โจ๋งครึ่ม” เช่นนี้ เริ่มเกิดขึ้นควบคู่กับมาตรการแบบใหม่ที่แนบเนียนกว่า

ในปัจจุบัน รัฐบาลทั้งอำนาจนิยมและกึ่งประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก ต่างอาศัย “กองกำลังไซเบอร์” เพื่อปลุกปั่นเนื้อหา ข้อเท็จจริง และความเห็นสาธารณะในสื่อสังคม ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว วิธีการเช่นนี้ไม่ได้ใหม่อะไร เพราะกลุ่มการเมือง พรรค รัฐบาล และกองทัพในหลายสังคม ต่างก็ใช้ “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” และ “โฆษณาชวนเชื่อ” มานาน แต่จุดที่น่าสนใจคือ ปฏิบัติการดังกล่าวเข้มข้นและซับซ้อนขึ้นในยุคที่สมาร์ทโฟนเป็นเหมือนอวัยวะอีกส่วนของร่างกาย อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ห้า และข้อมูลในโลกไซเบอร์ถูกผลิตและแชร์ต่อๆ กันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเราไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลนั้นๆ

“กองกำลังไซเบอร์” มีสมาชิก 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

1) คนของรัฐบาล (รวมถึงประชาชนที่ถูกจ้างวาน) องค์กรรัฐ หรืออาจเป็นรัฐบาลเสียเอง เช่นรัฐบาลรัสเซียถูกกล่าวหาว่าสร้าง “ฟาร์ม” ฝึกอบรมกองกำลังไซเบอร์ให้แทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และยุโรป[6]

2) “บ็อท” (ย่อมาจาก “โรบ็อท”) หรือโปรแกรมอินเทอร์เน็ตที่ถูกออกแบบให้สวมรอยเป็นมนุษย์ แชร์ข้อความในโลกโซเชียล และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ในบางกรณี “บ็อท” อาจทำงานจาก “บัญชีปลอม” (fake account) ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

3) บริษัทเอกชนซึ่งรับจ้างทำแคมเปญเลือกตั้งให้รัฐบาล (โดยมากเป็นบรรษัทข้ามชาติ) โดยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายจากข้อมูลผู้ใช้บัญชีในสื่อสังคม และอาจใช้บริการคนกลุ่มแรก หรือเทคนิคที่สอง ในการเผยแพร่ข้อความซึ่งเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่ผู้จ้าง คดีอื้อฉาวของบริษัท Analytica เมื่อสองสามเดือนที่แล้วเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ บริษัทนี้ถูกกล่าวหาว่าดึงข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคนในสหรัฐฯ และอย่างน้อยหนึ่งล้านคนในอังกฤษ เพื่อ “ปั่น” ความเห็นสาธารณะในบริบทการเลือกตั้งสหรัฐฯ และการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ เมื่อปี 2016[7] นอกจากนี้บริษัทยังถูกจ้างให้ทำแคมเปญในสื่อสังคมเพื่อสนับสนุนพรรครัฐบาล และทำลายภาพลักษณ์พรรคฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้งที่อินเดียและเคนยา เป็นต้น

4) “จิตอาสา” คือคนทั่วไปที่สนับสนุนรัฐบาลหรือพรรคการเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ และอาสาเป็นกองกำลังไซเบอร์เพื่อปกป้องรัฐบาลของตนจาก “อริราชศัตรู”

นักวิจัยด้านโฆษณาชวนเชื่อในอินเทอร์เน็ตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่ากองกำลังไซเบอร์ข้างต้นปรากฏในอย่างน้อย 28 ประเทศ[8] (รวมถึงเพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม)[9] โดยพบว่ารัฐบาลประชาธิปไตยใช้กองกำลังไซเบอร์เพื่อปั่นความเห็นสาธารณะ “นอกประเทศ” ตน โดยเฉพาะเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายต่างประเทศบางประการ ส่วนรัฐบาลอำนาจนิยมอาศัยกองกำลังไซเบอร์เพื่อปั่นความเห็น “ภายในประเทศ” เพื่อค้ำจุนอำนาจตน

สำหรับวิธีการทำงานของเหล่ากองกำลังไซเบอร์ แบ่งออกเป็นสามประการคือ

1) ผลิตเนื้อหาในรูปแบบบทความข่าว ที่เรียกกันติดหูว่า “ข่าวปลอม” (fake news) รวมไปถึงรูปภาพ วิดีโอ มีม (ภาพตัดต่อล้อเลียน) หรือบล็อก

2) สร้างกระแสผ่าน “แฮชแท็ก” หรือข้อความสั้นที่ฮิตติดหู แต่สามารถกำหนดความรับรู้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแชร์เนื้อหาในข้อแรกต่อๆ กัน เพื่อให้ข้อมูลกระจายสู่วงกว้างจนเกิดเสียงสาธารณะในทางที่ผู้ปั่นกระแสต้องการ

3) สร้างบทสนทนากับผู้ใช้สื่อสังคมคนอื่น รวมถึงคอมเมนต์ใต้เนื้อหาข้อที่หนึ่ง

วิธีการทั้งสามนี้ใช้ผลิตและปลุกปั่นความเห็นสาธารณะได้ใน 3 ทิศทางคือ เชิงบวก (สนับสนุนรัฐบาล หรือสร้างความรู้สึกว่าผู้นำรัฐบาลเป็นที่รักใคร่ของประชาชน) แบบกลางๆ (เบี่ยงเบนความสนใจสาธารณะจากประเด็นร้อนหรือคดีอื้อฉาวของรัฐบาล) และแบบลบ (มุ่งโจมตี ข่มขู่ผู้วิจารณ์รัฐบาลได้โดยปราศจากร่องรอยของผู้ชักใย) การโจมตีเช่นนี้เรียกว่า “อินเทอร์โทรลลิ่ง” (internet trolling)

การ “โทรลลิ่ง” ที่ว่านี้ มักมุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคล (ภาษาปะกิตเรียกได้เห็นภาพว่า “personality assassination”) โดยอาจป้ายสี ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขู่ฆ่า (หากเป็นเพศหญิง มักถูกขู่ “ข่มขืน”) รวมถึงการ “แคปหน้าจอ” คำพูดหรือภาพของบุคคลเพื่อประจาน ตลอดจนเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่หรือชื่อบุคคลในครอบครัว

ด้วยยุทธวิธีเช่นนี้ ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเลือกที่จะ “เซ็นเซอร์” ตัวเอง เพราะกลัวภัยมาถึงตนหรือคนในครอบครัว ส่วนผู้ที่เลือกจะเสี่ยงต่อไป ก็อาจถูกดักทำร้ายได้ในพื้นที่จริง เช่นที่เกิดในตรุกี รัสเซีย และอาเซอร์ไบจัน[10] ส่วนกรณีของไทย กลุ่มอย่าง “ยุทธการลงทันฑ์ทางสังคม” (ปิดตัวในปี 2556) หรือ “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” ใช้วิธีการคล้ายๆ กัน และสามารถระดมคนให้ “ถล่ม” ผู้ต้องสงสัยว่าละเมิดมาตรา 112 อีกทั้งยังแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากไม่สำเร็จ ก็เสนอให้สมาชิกกลุ่มใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมาย[11]

นอกจากนี้ “โทรลลิ่ง” อาจอาศัยวาทกรรมชาตินิยมโจมตีผู้วิจารณ์รัฐบาล เพื่อปลุกกระแสให้ผู้คนเห็นว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่รักชาติ ทรยศ ไม่ใช่คนในชาติตนจริงๆ รับเงินต่างชาติ รวมถึง “ขายตัว” ให้ต่างชาติ พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า “โทรลลิ่งเพื่อชาติ” (patriotic trolling)[12]

“อินเทอร์เน็ตโทรลลิ่ง” เป็นมิติหนึ่งของยุทธการปราบปรามภาคประชาสังคมของรัฐบาลอำนาจนิยม ส่งผลให้พื้นที่ในการแสดงความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจหดแคบลง

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังสะท้อนปัญหาของความเข้าใจว่าภาคประชาสังคมต้องก้าวหน้า หรือรักประชาธิปไตยเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มของ “จิตอาสาโทรลลิ่ง” ที่สมัครใจให้การสนับสนุนผู้นำ พรรค หรือระบอบการเมืองอำนาจนิยม ด้วยเหตุผลว่าต้องการปกป้อง “ผู้นำที่ตนรัก” จึงอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง และอาศัยเสรีภาพในโลกไซเบอร์ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตน ในแง่นี้ “จิตอาสาโทรลลิ่ง” จึงสะท้อนความเป็นจริงอีกด้านของภาคประชาสังคม เพราะสำหรับคนเหล่านี้ พวกเขามองว่าสิ่งที่ตนทำถือเป็นภารกิจปกป้องชาติ

ในสังคมไทย คนเหล่านี้ถือเป็นส่วนต่อขยายของภาคประชาสังคมฝ่ายขวา ทว่าต่างจากอดีตซึ่งมีการจัดตั้งจากรัฐโดยตรง ระดมพลและระงับกิจกรรมได้ตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ทว่า “โทรลลิ่ง” ฝ่ายขวาในปัจจุบัน ดูเหมือนไร้การจัดตั้งจากทางการโดยตรง แทรกซึมอยู่ในกลุ่มคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยทุกเมื่อเชื่อวัน และที่สำคัญคนเหล่านี้อาจเป็นคนที่เราไว้ใจ

 

เชิงอรรถ

[1] https://www.civicus.org/index.php/media-resources/reports-publications/2802-people-power-under-attack-findings-from-the-civicus-monitor

[2] ดู Steven Levitsky and Daniel Ziblatt, How Democracies Die: What History Reveals about our Future (London: Random House, 2018).

[3] ดู Erica Frantz and Andrea Kendall-Taylor, “The Evolution of Autocracy: Why Authoritarianism is Becoming more Formidable,” Survival Global Politics and Strategy 59(5): 57-68.

[4] ดู Thomas Carothers and Saskia Brechenmacher, Closing Space: Democracy and Human Rights Support Under Fire (Washington DC: Carnegie Endowment for International Peace, 2014).

[5] https://carnegieendowment.org/2018/05/02/examining-civil-society-legitimacy-pub-76211

[6] http://www.bbc.com/news/technology-43093390

[7] https://www.theguardian.com/uk-news/2018/may/02/cambridge-analytica-closing-down-after-facebook-row-reports-say

[8] http://comprop.oii.ox.ac.uk/wp-content/uploads/sites/89/2017/07/Troops-Trolls-and-Troublemakers.pdf

[9] https://rsf.org/en/news/vietnams-cyber-troop-announcement-fuels-concern-about-troll-armieslhttps://www.bloomberg.com/news/features/2017-12-07/how-rodrigo-duterte-turned-facebook-into-a-weapon-with-a-little-help-from-facebook

[10] https://www.google.de/search?q=In+the+crosshairs+of+Azerbaijan%E2%80%99s+patriotic+trolls&oq=In

[11] https://kyotoreview.org/yav/misunderstanding-internet-thailand/https://prachatai.com/english/node/5539

[12] https://www.theguardian.com/commentisfree/2017/jul/13/patriotic-trolling-how-governments-endorse-hate-campaigns-against-critics

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save