fbpx

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 2) : สถานการณ์ของประเทศไทย

ในตอนที่แล้วได้พูดถึง สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว ใน 2 เรื่อง คือ เหตุใดจึงต้องพบศาล และ ต้องพบศาลเมื่อใด ในตอนนี้จะพูดถึงสถานการณ์ในประเทศไทย 2 เรื่อง คือ การนับระยะเวลา 48 ชั่วโมงของกฎหมายไทย และ การจับและควบคุมตัวในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด

1. สิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลภายใน 48 ชั่วโมงของไทย นับตั้งแต่เวลาที่มาถึงสถานีตำรวจ ไม่ได้นับตั้งแต่เวลาที่ถูกจับกุม

ข้อ 9.3 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) บัญญัติว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ” (Anyone arrested or detained on a criminal charge shall be brought promptly before a judge or other officer authorized by law to exercise judicial power) ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตีความคำว่า ‘โดยพลัน’ อย่างประนีประนอมระหว่างการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพื่อการสอบสวนคดีอาญา โดยอธิบายว่า ผู้ถูกจับจะต้องถูกนำตัวไปพบศาลภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาจับกุมตัว[1] เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่มิชอบกับผู้ถูกจับกุม[2] และ เพื่อให้ศาลสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ถูกควบคุมตัวในระหว่างการถูกควบคุมตัวได้[3]

เรื่องสิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลในประเทศไทยได้รับการรับรองไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรค 3 และมาตรา 84

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรค 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน…”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 โดยทันที…”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว เจ้าพนักงานผู้จับกุมจะต้องนำผู้ถูกจับไปสถานีตำรวจโดยทันที  และเมื่อถึงสถานีตำรวจ นาฬิกาของพนักงานสอบสวนก็เริ่มจับเวลา และภายใน 48 ชั่วโมงนี้ พนักงานสอบสวนต้องนำตัวผู้ถูกจับไปพบศาล หากไม่ให้ประกัน

มาตรา 87 จะดูเหมือนจะสอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในเรื่องระยะเวลา 48 ชั่วโมง  แต่จุดเริ่มจับเวลานั้นแตกต่างกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เริ่มจับเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อถูกจับกุม แต่มาตรา 87 ให้เริ่มจับเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อมาถึงสถานีตำรวจ

แม้จะมีมาตรา 84 กำชับไว้อีกมาตราหนึ่งว่าเจ้าพนักงานผู้จับจะต้องนำตัวผู้ถูกจับไปยังสถานีตำรวจโดยทันที แต่คำว่า ‘โดยทันที’ ที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้แน่ชัด อาจจะถูกตีความว่า เวลาหลายชั่วโมง หรือการพาไปแวะสถานที่ไม่เปิดเผยก็ยังอาจหมายถึงโดยทันทีอยู่ เพราะนาฬิกายังไม่เริ่มนับระยะเวลา 48 ชั่วโมงจนกว่าผู้ถูกจับจะมาถึงสถานีตำรวจ

ลองมาดูกฎหมายฝรั่งเศส ตำรวจฝรั่งเศสควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ได้เพียง 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาจับกุม หากจะขยายเวลาควบคุมเป็น 48 ชั่วโมงนับแต่จับกุม ก็ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานอัยการหรือศาล โดยต้องนำตัวมาพบพนักงานอัยการหรือศาลหรือติดต่อกับศาลผ่านทางภาพและเสียงเพื่อสั่งขยายระยะเวลาควบคุมตัว[4]    

กฎหมายไทยได้ยืดระยะเวลาของสิทธิที่จะพบศาลออกไปเป็น 48 ชั่วโมง บวกกับ ‘ระยะเวลาเท่าไรก็ไม่อาจทราบได้ ตั้งแต่เวลาที่ถูกจับ ไปจนถึงเวลาที่ถึงสถานีตำรวจ’ ซึ่งระยะเวลาที่ไม่แน่นอนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแนวทางการตีความของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติที่มิชอบของเจ้าหน้าที่[5]

ทางออกของเรื่องนี้น่าจะทำได้สองทาง คือ  

1) แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 โดยให้เริ่มนับเวลา 48 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาจับกุม เพื่อให้สิทธิที่จะพบศาลภายใน 48 ชั่วโมงปรากฏเป็นจริงนับแต่เวลาถูกจับตัว เหตุผล คือ เมื่อเขาถูกจับ เขาถูกลิดรอนเสรีภาพและไม่อาจไปไหนมาไหนได้แบบเดียวกับการถูกขังไว้ที่สถานีตำรวจ นอกจากนี้ การควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ 48 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ไม่ใช่เป็นเพียงอำนาจของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีและรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย แต่มาตราดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งอีกด้วย

2) ถ้ายังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ศาลน่าจะมีบทบาทเข้ามาคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ถูกควบคุมตัว โดยศาลที่พิจารณาการฝากขังครั้งแรก ถ้าได้มีการตรวจสอบระยะเวลาตั้งแต่การจับกุมถึงเวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงสถานีตำรวจว่าเป็นระยะเวลาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หากเป็นระยะเวลาที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น ระยะเวลานานเกินไปที่ส่อให้เห็นว่ามีการนำตัวผู้ถูกจับไปสถานที่อื่นก่อนมาสถานีตำรวจ ศาลก็สามารถปฏิเสธไม่ออกหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับ เทียบเคียงแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2550[6]  

2. สิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลถูกขยายไปเป็นเวลา 5 วัน ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด

กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับและควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้ 3 วันก่อนแล้วจึงส่งให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวต่อได้อีก 48 ชั่วโมง (2 วัน) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้การจับและควบคุมตัวคดียาเสพติดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยสามารถควบคุมตัวได้ยาวนานถึง 5 วัน (3วัน+48 ชั่วโมง) โดยไม่พบศาล ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาที่จะต้องพบศาลในผู้ถูกจับคดียาเสพติดออกไปถึง 5 วัน

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564) มาตรา 11/6 วรรค 1 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา 11/1 ให้ถือว่ากรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา 11/1 (4) มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา 11/1 (4) ซึ่งกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าว เป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อำนาจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นอำนาจเดิมที่เคยมีอยู่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 15[7] ที่ถูกยกเลิกไป แล้วนำใส่ไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดแทน

อำนาจการควบคุมตัวผู้ถูกจับคดียาเสพติดร้ายแรงถึง 5 วัน อาจจะอธิบายได้จากความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนคดียาเสพติดร้ายแรงโดยมีตัวผู้ต้องหาอยู่กับเจ้าหน้าที่ แต่การให้อำนาจดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรไปทำลายสิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมง  

มาดูกฎหมายฝรั่งเศส คดีทั่วไปตำรวจฝรั่งเศสควบคุมตัวผู้ถูกจับได้ 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาถูกจับกุม แต่ในคดียาเสพติด ศาลฝรั่งเศสมีอำนาจขยายระยะเวลาควบคุมตัวผู้ถูกจับได้เป็น 96 ชั่วโมง (4 วัน) นับแต่ถูกจับกุม และในคดีก่อการร้าย ศาลฝรั่งเศสมีอำนาจขยายเวลาควบคุมตัวได้เป็น 144 ชั่วโมง (6 วัน) นับแต่ถูกจับกุม[8] การให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจสั่งขยายเวลาควบคุมตัวแบบกฎหมายฝรั่งเศส เป็นการตอบความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดหรือคดีก่อการร้ายได้ยาวนานขึ้น และยังคงรักษาสิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมงไว้ได้ตามแนวทางของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

การแยก ‘ความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาควบคุมผู้ถูกจับในคดียาเสพติด’ กับ ‘สิทธิของผู้ถูกจับที่จะต้องพบศาลภายใน 48 ชั่วโมง’ ออกจากกัน น่าจะเป็นคำตอบของเรื่องดังกล่าวได้ คดียาเสพติดร้ายแรงเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่อาจมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาควบคุมตัวไปเป็น 5 วัน แต่การขยายเวลาควบคุมตัวดังกล่าวก็ไม่ควรไปกระทบสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกจับที่มีสิทธิพบศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาถูกจับกุม  

ทางออกของเรื่องดังกล่าว คือ ควรแก้ไขพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรค 1 โดยการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับได้ 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาถูกจับกุม และถ้าจะให้ดี ควรเป็นสถานที่ควบคุมอย่างเป็นทางการซึ่งถูกตรวจสอบได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิแจ้งญาติให้ทราบตามแนวทางอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย ข้อ 17.1 และ 17.2 (c) และ (d)[9] เมื่อครบ 48 ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ถูกจับคดียาเสพติดให้นานขึ้น ก็ควรให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ถูกจับไปขอศาลให้ขยายระยะเวลาควบคุมตัวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 วัน เพื่อรักษาสิทธิของผู้ถูกจับในการพบศาลตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

การแก้ไขกฎหมายด้วยวิธีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีระยะเวลาในการควบคุมตัวผู้ถูกจับคดียาเสพติดเพื่อการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายได้อยู่ 5 วัน เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าไม่ใช่การควบคุมตัวรวดเดียว 5 วัน โดยไม่เจอศาลแบบในปัจจุบัน  


[1] Communication No. 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008, para 7.4

[2] Communication 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008, para. 7.3

[3] See Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment, approved by the General Assembly in its resolution 43/173, principle 37, in Human Rights Comittee, General Comment General comment No. 35, Article 9 (Liberty and security of person), CCPR/C/GC/35, 23 Oct 2014

[4] https://www.service-public.fr/particuliers/vosdroits/F14837

[5] Human Rights Committee, General comment No. 35, Article 9 (Liberty and security of person),CCPR/C/GC/35, 23 Oct 2014, Para 33.

[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4294/2550 ศาลพิพากษาว่า “หากพนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป”  หมายถึงศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนไม่ได้นั่นเอง 

[7] พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา 14 ให้ถือว่ากรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา 14(3) มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา 14(3) ไว้เพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[8] https://www.service-public.fr/particuliers/vosdroits/F14837

[9] International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, Article 17

1. No one shall be held in secret detention.

2. Without prejudice to other international obligations of the State Party with regard to the deprivation of liberty, each State Party shall, in its legislation:

(a) Establish the conditions under which orders of deprivation of liberty may be given;

(b) Indicate those authorities authorized to order the deprivation of liberty;

(c) Guarantee that any person deprived of liberty shall be held solely in officially recognized and supervised places of deprivation of liberty;

(d) Guarantee that any person deprived of liberty shall be authorized to communicate with and be visited by his or her family, counsel or any other person of his or her choice, subject only to the conditions established by law, or, if he or she is a foreigner, to communicate with his or her consular authorities, in accordance with applicable international law;

(e) Guarantee access by the competent and legally authorized authorities and institutions to the places where persons are deprived of liberty, if necessary with prior authorization from a judicial authority;

(f) Guarantee that any person deprived of liberty or, in the case of a suspected enforced disappearance, since the person deprived of liberty is not able to exercise this right, any persons with a legitimate interest, such as relatives of the person deprived of liberty, their representatives or their counsel, shall, in all circumstances, be entitled to take proceedings before a court, in order that the court may decide without delay on the lawfulness of the deprivation of liberty and order the person’s release if such deprivation of liberty is not lawful.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save