ซากเดนของเผด็จการ

ซากเดนของเผด็จการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

อำนาจของผู้นำแบบเผด็จการไม่ได้ดำรงอยู่เพียงห้วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งและยังคงถือปืนในมือเท่านั้น แม้ว่าตัวบุคคลของระบอบเผด็จการจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว ก็มิได้หมายความว่าระบอบนั้นจะสิ้นสุดลงโดยทันที ซากเดนของระบอบเผด็จการยังคงสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน รวมถึงอาจสร้างภาระ ความยุ่งยาก และปัญหานานัปการ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไปต้องแบกรับไว้ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่อย่างดารดาษทั้งจากต่างประเทศและภายในสังคมของเราเอง

 

ผู้นำมั่งคั่ง ประชาชนยากไร้

 

อดีตผู้นำเผด็จการของเฮติ (Haiti) นาม Duvalier ผู้ได้รับฉายาว่า “Baby Doc” ได้กู้ยืมเงินในนามของรัฐบาลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เป็นจำนวนเงิน 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุผลเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ แต่ภายใน 3 วัน เขาได้ฝากเงินจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าบัญชีส่วนตัวที่ธนาคารในต่างประเทศ ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ประชาชนก็ได้ลุกฮือขึ้นขับไล่ Duvalier ให้พ้นจากตำแหน่งไป

คำถามที่ตามมาคือ ประชาชนชาวเฮติจำเป็นต้องรับผิดชอบในเงินกู้ที่อดีตผู้นำเผด็จการของตนกู้ยืมมาหรือไม่ ขณะที่ประชาชน (ในช่วงเวลาดังกล่าว) มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน

เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ผู้นำเผด็จการหลายคนได้กู้ยืมเงินจากธนาคารในต่างประเทศเป็นจำนวนมากภายใต้เหตุผลของการพัฒนาประเทศ แต่กลับปรากฏว่าเงินจำนวนดังกล่าวกลายเป็นความมั่งคั่งส่วนตัวของผู้นำเผด็จการ เช่น อดีตประธานาธิบดี Marcos แห่งฟิลิปปินส์ อดีตประธานาธิบดี Samoza แห่งนิการากัว และอดีตประธานาธิบดี Mobutu แห่งซาอีร์ เป็นต้น

เฉพาะผู้นำรายหลัง พบว่ามีทรัพย์สินอยู่ในธนาคารของตะวันตกมูลค่าประมาณ 4-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงข้ออ้างของการกู้เงินก็จะพบว่าโครงการจำนวนมากอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้คนและสังคมมากเท่าใด เช่น แผนการกู้เงินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฟิลิปปินส์ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าที่ตั้งของประเทศนี้อยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวสูง และใกล้กับภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่, การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำสงครามที่มุ่งใช้กับฝ่ายต่อต้านในประเทศของตนมากกว่าการปกป้องภัยจากภายนอก, โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นต้น

แม้ว่าประชาชนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ อาจไม่ได้เป็นผู้กู้เงินจากสถาบันการเงินของต่างประเทศ แต่ก็เป็นหลักการในทางกฎหมายระหว่างประเทศของโลกในศตวรรษที่ 20 สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน อันเป็นที่ยอมรับกันว่า การกระทำของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ต้องผูกพันถึงรัฐบาลที่เข้ามาสู่ตำแหน่งในภายหลัง เพราะการกู้เงินที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของรัฐ ต่อให้เป็นรัฐบาลที่ขึ้นมาสู่ตำแหน่งด้วยการยึดอำนาจ หรือเป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางก็ตาม

ดังนั้น ต่อให้ผู้นำเผด็จการพ้นจากตำแหน่งไป ไม่ว่าจะด้วยการลุกฮือของประชาชน หรือการยอมสละอำนาจด้วยตนเองก็ตาม ภาระเรื่องเงินกู้ต่างประเทศก็ถูกทิ้งไว้ให้ประชาชนต้องแบกรับต่อไป ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่

 

ถนอม (กิตติขจร) ถูกขับไล่ แต่อุทัย (พิมพ์ใจชน) ยังนอนคุก

 

เมื่อปี พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ตนเองเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ พร้อมกับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและยกเลิกฝ่ายนิติบัญญัติ (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ต่อมาในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2515 อดีต ส.ส. 3 คน (ซึ่งต้องพ้นไปจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากการยึดอำนาจ) ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐประหารของจอมพลถนอม ซึ่งยังมีอำนาจปกครองอย่างเด็ดขาดในขณะนั้นในข้อหาเป็นกบฏ โดยทั้งสามคนประกอบด้วย อุทัย พิมพ์ใจชน อดีต ส.ส.ชลบุรี อนันต์ ภักดิ์ประไพ อดีต ส.ส.พิษณุโลก บุญเกิด หิรัญคำ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ

ทั้งสามคนได้ร่วมกัน “… เป็นโจทย์ยื่นฟ้องคณะปฏิวัติ ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติกับพวกอีกรวม 17 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาหาว่าเป็นกบฏ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญประชาชนชาวไทย เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาได้มีคำวินิจฉัยว่าบุคคลทั้งสามไม่ใช่ “ผู้เสียหายตามกฎหมาย” เมื่อไม่ใช่ผู้เสียหายก็ย่อมปราศจากอำนาจในการฟ้องร้องคณะปฏิวัติ

ท่าทีของศาลในคดีดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าสนใจมิใช่น้อย เนื่องจากเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำของจอมพลถนอม ผิดต่อกฎหมายอาญา แต่หากจะตัดสินลงโทษก็อาจจะนำภยันตรายมาสู่ฝ่ายตุลาการได้ เพราะขณะนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบเผด็จการทหาร การวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงต่อการตัดสินในประเด็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว จอมพลถนอมได้ทำการจับกุมบุคคลทั้งสาม และออกคำสั่งที่ 36/2515 (22 มิถุนายน 2515) ให้จำคุกอุทัย เป็นเวลา 10 ปี ส่วนบุญเกิด และอนันต์ จำคุกเป็นเวลา 7 ปี โดยให้เหตุผลว่า

“การฟ้องคดีของผู้ต้องหาทั้งสาม หาใช่เป็นการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่ แต่เป็นการกระทำที่เจตนาชักจูงให้ประชาชนหลงผิดในการกระทำของคณะปฏิวัติว่าเป็นการกระทำของพวกกบฏอันพึงต้องรับโทษทางอาญาตามกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสามเป็นการต่อต้านล้มล้างคณะปฏิวัติมุ่งหมายให้เกิดความเคลือบแคลงใจในการบริหารราชการของคณะปฏิวัติ และเจตนาให้เกิดความปั่นป่วน และกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนจนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในบ้านเมืองได้”

แน่นอนว่าทั้งสามคนต้องได้รับโทษจำคุกอันเนื่องมาจากคำสั่งของจอมพลถนอม แต่ต่อจากนั้นประมาณ 1 ปี ก็ได้เกิด “การปฏิวัติเดือนตุลา” โดยนักศึกษา ประชาชน ร่วมกันประท้วงและต่อต้านรัฐบาล จนในที่สุดจอมพลถนอมก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางไปยังต่างประเทศ

เมื่อจอมพลถนอม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ออกคำสั่งจำคุกอุทัยกับพวก พ้นไปจากตำแหน่งแล้ว คำถามตามมาก็คือว่าแล้วจะดำเนินการอย่างไรกับบุคคลที่ถูกจำคุกทั้งสามคน

ในการดำเนินการเพื่อปล่อยอุทัยและพวกนั้น ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการตรา พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2517 ซึ่งภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเป็นทางการก็ได้มีการปล่อยตัวบุคคลทั้งสาม

การตรากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในกรณีของอุทัยและพวก ย่อมแสดงให้เห็นถึงการยอมรับให้คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารมีผลเสมือนหนึ่งเป็น “กฎหมาย” เฉกเช่นที่ประกาศใช้ในยามภาวะปกติ เมื่อมีความต้องการจะแก้ไขคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารก็จำเป็นต้องตราขึ้นเป็นกฎหมายในลำดับเดียวกัน

การยอมรับคำสั่งคณะรัฐประหารในฐานะเป็นกฎหมายปรากฏมาอย่างสืบเนื่องในระบบกฎหมายของไทย ดังจะเห็นได้จากเมื่อต้องการแก้ไขคำสั่งเหล่านั้นก็จะต้องมีการดำเนินการตราเป็นกฎหมายโดยองค์กรนิติบัญญัติในภาวะปกติขึ้น เช่น การยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) ซึ่งถอนสัญชาติของบุคคลที่มีบิดาหรือมารดาต่างด้าว ก็เพิ่งมาถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ใน พ.ร.บ. สัญชาติ เมื่อ พ.ศ. 2535 หรือหลังจากผ่านไปประมาณ 20 ปี

 

เผชิญหน้ากับซากเดนเผด็จการ

 

นับจากเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา คสช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ออกคำสั่ง ประกาศ และประกาศใช้ พ.ร.บ. เป็นจำนวนมหาศาล เฉพาะในส่วนของ คสช. มีไม่น้อยกว่า 500 ฉบับ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ หากรวมเอา พ.ร.บ. ที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีความเห็นชอบและประกาศใช้ก็จะพบว่ามีจำนวนมากขึ้นไปอีก และก็ยังไม่มีวี่แววว่าองค์กรทั้งสองจะหยุดหรือชะลอดำเนินการแต่อย่างใด

คำสั่งและ พ.ร.บ. จำนวนมากได้ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงการใช้อำนาจเพื่อมุ่งรักษาอำนาจของคณะผู้ปกครองเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการใช้คำสั่งหรือ พ.ร.บ. หลายฉบับเพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอีกหลายฉบับที่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่มุ่งตอบสนองต่อธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่

สังคมไทยจะเผชิญกับปมประเด็นดังกล่าวนี้อย่างไร หากยึดเอาบรรทัดฐานที่เคยดำเนินมาเป็นต้นแบบในการแก้ไข ด้วยการให้องค์กรนิติบัญญัติในยามปกติมาทำหน้าที่แก้ไขก็จะพบว่ายากที่จะเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาชุดต่อไปก็จะมาจากความเห็นชอบของ คสช. หรือหากพิจารณาในระยะเวลาที่ยาวออกไป เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่มาจากการสรรหากันเองแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน เพราะว่าในกระบวนการการแก้ไขกฎหมายในภาวะปกติต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาอย่างยาวนาน

ลำพังการยกเลิก ปว. 337 เพียงฉบับเดียวก็ยังต้องใช้เวลาถึง 20 ปี การใช้อำนาจของ คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากกว่า 500 ฉบับ คงต้องใช้เวลาอีกนับพันปีในการจัดการอย่างแน่นอน

จะมีหนทางอื่นใดหรือไม่ในการเผชิญกับซากเดนของเผด็จการที่ทิ้งไว้ให้เป็นภาระให้แก่คนรุ่นต่อไป คงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันออกแรงผลักดันอย่างมากในอนาคตอันอีกไม่ไกลนี้

MOST READ

Law

20 Aug 2023

“ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท”: ความผิดฐานหมิ่นประมาทกฎหมายเยอรมัน

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทไทย และยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นประมาทเยอรมันเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ

20 Aug 2023

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save