fbpx

เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล The Remains of the Day

เถ้าถ่านแห่งวารวัน

นิยายเรื่อง The Remains of the Day ที่จะเล่าสู่กันฟังในคราวนี้ ล่วงเลยพ้นระยะวางจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไปมาเนิ่นนานแล้ว ท่านที่สนใจอยากอ่านคงต้องออกแรงเสาะหาตามห้องสมุดหรือเพจขายหนังสือมือสอง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ายากง่ายเพียงใด

อย่างไรก็ตาม มีตัวช่วยอีกอย่างคือฉบับภาพยนตร์สร้างเมื่อปี 1993 ซึ่งถึงแม้จะแตกต่างกันในวิธีเล่าเรื่องเนื่องจากความเป็นงานศิลปะต่างแขนง แต่เหตุการณ์หลักๆ รายละเอียด เนื้อหาสาระ ตลอดจนอารมณ์สะเทือนใจ กล่าวได้ว่าถอดแบบจากเรื่องเดิมออกมาได้ใกล้เคียงเป็นที่สุด

ที่สำคัญคือ ทั้งหนังและนิยายล้วนเยี่ยมยอดทั้งคู่ เข้าข่ายสมควรได้ดูได้อ่านสักครั้งในชีวิต

หนังเรื่อง The Remains of the Day เพิ่งจะเผยแพร่ทาง Netflix เมื่อเร็วๆ นี้ ผมรีบดูโดยไม่รอช้าด้วยความตื่นเต้นยินดี ดูจบแล้วก็เกิดอาการใจไม่สงบ จบไม่ลง ต้องเสาะหานิยายมาอ่านอีกครั้ง เป็นรอบเท่าไหร่แล้วก็เหลือที่จะจดจำได้

ที่จำได้แม่นคือร้าวรานใจทุกครั้งเมื่ออ่านจบ รวมถึงหนล่าสุดนี้ด้วย

The Remains of the Day เป็นนิยายปี 1989 (ฉบับแปลภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 หรือ ค.ศ. 2006 ใช้ชื่อว่า ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’) เขียนโดยคาสึโอะ อิชิงุโระ (ซึ่งต่อมาในปี 2017 ไดรับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม) ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมอย่างท่วมท้น และคว้ารางวัล booker prize ในปีนั้น ติดอันดับโพยเลือกสรรนิยายยอดเยี่ยมที่ต่างๆ จนถึงปัจจุบันก็ขึ้นหิ้งเป็นวรรณกรรมคลาสสิกร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

ถ้าจะตั้งคำถามแบบจู่โจมว่าคุณงามความดีของนิยายเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? คำตอบเฉพาะหน้าฉับพลันที่ผมนึกออกโดยไม่ต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก็คือ นี่เป็นนิยายที่ครบเครื่อง ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่แก่นสารที่นำเสนอ ความละเมียดละไมของสำนวนภาษา การเล่าเรื่องได้อย่างน่าอ่านชวนติดตามตลอดเวลา ลีลาชั้นเชิงทางศิลปะที่ทั้งงดงาม แยบยล และลุ่มลึก รวมถึงอารมณ์ที่นิยายนำพาผู้อ่านไปสู่ความรู้สึกเจ็บลึกตรึงใจ

ถ้าหากอ่านแค่เนื้อเรื่องย่อตามแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่าง wikipedia หรือใน Goodreads พล็อตกว้างๆ ของนิยายเรื่องนี้ช่างเรียบง่ายธรรมดาเหลือเกิน

สตีเวนส์ พ่อบ้านประจำคฤหาสน์ดาร์ลิงตันฮอลล์อันเก่าแก่หรูหราและเคยรุ่งเรือง ได้รับจดหมายจากคุณเคนตัน อดีตแม่บ้านที่เคยทำงานร่วมกันมายาวนาน และไม่ได้พบเจอกันราวๆ 20 ปี หลังจากเธอลาออกไปแต่งงาน

ในจดหมายของคุณเคนตันไม่ได้ระบุชัดตรงๆ ออกมา แต่ข้อความหลายแห่งก็ชวนให้สตีเวนส์ทึกทักเข้าใจไปว่า คุณเคนตันเลิกราหย่าร้างกับสามี กำลังมองหางานใหม่ และมีชีวิตที่ปราศจากความสุข

ประจวบเหมาะกับที่คฤหาสน์ดาร์ลิงตัน (เรื่องราวช่วงปัจจุบันของนิยาย เกิดขึ้นในปี 1956) เพิ่งเปลี่ยนผ่านเจ้าของ หลังจากลอร์ดดาร์ลิงตันถึงแก่กรรม ทายาทตัดสินใจขายคฤหาสน์ เนื่องจากภาระในการดูแลรักษานั้นหนักหนาสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เจ้าของคนใหม่เป็นชาวอเมริกันชื่อฟาราเดย์ ลดจำนวนคนรับใช้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็น ส่งผลให้การงานในความรับผิดชอบของสตีเวนส์ล้นมือจนเกิดข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้ง

สตีเวนส์เป็นพ่อบ้านประเภทอุทิศชีวิตจิตใจให้กับหน้าที่การงาน เรียกร้องต้องการความสมบูรณ์แบบ ทั้งจากผู้ร่วมงานใต้บังคับบัญชาและจากตนเอง เพื่อให้การรับใช้เจ้านายเป็นระเบียบตามครรลองอันสมควรอย่างไร้ที่ติ

ความผิดพลาดเบ็ดเตล็ดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ก่อนร่อนชะไรไม่เคยปรากฏ ทำให้สตีเวนส์รู้สึกทุกข์ร้อนใจ สงสัยในประสิทธิภาพความสามารถของตนว่าย่อหย่อนลง แต่แล้วท้ายที่สุด เขาก็ปักใจเชื่อว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเนื่องด้วยจำนวนคนกับปริมาณไม่สอดคล้องสมกัน ดังนั้นหากได้แม่บ้านผู้เก่งกาจและเป็นมืออาชีพอย่างคุณเคนตันหวนกลับคืนมาช่วยแบ่งเบางานอีกแรง ข้อยุ่งยากต่างๆ ก็จะได้รับการปัดเป่าจนหมดไป

เมื่อเจ้านายออกปากว่าสตีเวนส์ควรได้ออกไปเที่ยวชมโลกภายนอกบ้าง พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอให้ยืมรถและเบิกค่าน้ำมันได้ จึงสบช่องเหมาะที่เขาจะถือโอกาสเดินทางไปพบคุณเคนตัน เพื่อชักชวนให้เธอกลับมาทำงานที่ดาร์ลิงตันฮอลล์

เรื่องราวหลักๆ เล่าถึงเหตุการณ์ขับรถเดินทางตามลำพังของสตีเวนส์ในชั่วระยะเวลา 6 วัน โดยมีการพบปะเจอะเจอกันระหว่าง ‘เพื่อนเก่า’ เป็นเป้าหมายปลายทาง รวมทั้งเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง

ความยอดเยี่ยมประการแรกของ The Remains of the Day คือการเล่าทุกสิ่งผ่านมุมมองของสตีเวนส์ (ในลักษณะคล้ายๆ การเขียนบันทึกประจำวัน)

สิ่งที่ทำให้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครในนิยายเกิดความพิเศษและน่าสนใจก็คือระหว่างเดินทาง สิ่งที่พบเจอตามรายทาง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ผู้คน หรือเหตุการณ์ (รวมถึงการหยิบจดหมายของคุณเคนตันมาอ่านซ้ำในยามว่าง) ทำให้สตีเวนส์นึกย้อนไปถึงความหลังต่างๆ นานา

พูดง่ายๆ คือนิยายเรื่องนี้ดำเนินเหตุการณ์ด้วยการตัดสลับไปมาระหว่างปัจจุบันกับอดีต ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 1923 ถึงปี 1938 (ผมไม่แน่ใจว่าตัวเลขถูกต้องหรือเปล่านะครับ เป็นการประเมินจากความจำ) 

ถึงตรงนี้ก็ยังเป็นวิธีบอกเล่าที่ปกติธรรมดานะครับ

ความพิเศษเฉพาะตัวมาปรากฏให้เห็น เมื่อการรำลึกอดีตตลอดทั้งเรื่องมีความพร่าเลือนคลุมเครือจากกาลเวลาเนิ่นนาน ส่งผลให้ความทรงจำหลายๆ ครั้งของตัวละครไม่แจ่มชัดถูกต้อง ไม่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

กลายเป็นเรื่องเล่าย้อนอดีตบนความลังเล ไม่แน่ใจ และเต็มไปด้วยการสันนิษฐานคาดเดาสารพัดสารพัน

ประการต่อมา คือสตีเวนส์ผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่อง เป็นตัวละครที่มองเห็นโลกรอบข้างไม่ตรงกับความเป็นจริง พิจารณาและประเมินทุกสรรพสิ่งให้เข้ากับความคิดความเชื่อพื้นฐานของตนเอง และมีเหตุผล คำอธิบาย (กระทั่งข้อแก้ต่าง) ให้กับเรื่องราวต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ หลากหลายเรื่องราวที่เขาบอกเล่า ผู้อ่านกับสตีเวนส์จึงมองเห็นและเข้าใจเหตุการณ์ไม่ตรงกัน

น้ำหนักส่วนใหญ่ของความเศร้าสะเทือนใจในนิยายเรื่องนี้จึงวางอยู่บนเงื่อนไขข้างต้น คือเป็นเรื่องของตัวละครที่ยึดมั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสุดโต่ง กระทั่งมองข้ามละเลย ไม่ทันตระหนักต่อความเป็นจริงง่ายๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว หากเฉลียวใจขึ้นมาหรือสิ่งนั้นขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม เขาก็จะกลบเกลื่อน สร้างและหยิบยกเหตุผล (มีความเป็นไปได้ว่าสตีเวนส์ไปไกลถึงขั้น ‘หลอกตัวเอง’ โดยไม่รู้ตัว) ให้ตรงกับกรอบต่างๆ ที่เขากำหนดวางไว้

‘เส้นผมบังภูเขา’ นั้นใช้ได้กับสตีเวนส์อย่างเหมาะเจาะ ที่สำคัญคือไม่ได้บังภูเขาแค่ลูกเดียว แต่บังหลายเทือกเขาเลยครับ

ตรงนี้ต้องขยายความเพิ่มเติมว่า สตีเวนส์มีเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ปรารถนาจะก้าวไปให้ถึงขั้น ‘พ่อบ้านผู้ยิ่งใหญ่’ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นให้ได้ใกล้เคียงมากสุดเท่าที่จะสามารถทำได้

‘พ่อบ้านผู้ยิ่งใหญ่’ ในอุดมคติของสตีเวนส์ ไม่ได้หมายเฉพาะเพียงแค่ความสามารถในการทำงานได้อย่างถูกต้องไร้ที่ติเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่านั้นที่เขาคิดเข้าใจคือ การมี ‘ศักดิ์ศรี’ (ซึ่งตัวละครพยายามอธิบายว่าคืออะไร แต่ท้ายที่สุด เขาก็ไม่ได้สาธยายลงรายละเอียด และทำได้เพียงแค่ยกตัวอย่างเหตุการณ์และเรื่องเล่า 2-3 กรณี)

สรุปหยาบๆ ตามความเข้าใจของผม ‘ศักดิ์ศรี’ ตามนิยามของสตีเวนส์ น่าจะหมายถึงการเสียสละอุทิศตนในแบบหน้าที่และความรับผิดชอบ อยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ความเลื่อมใสศรัทธาต่อนายจ้าง และซื่อสัตย์ภักดีจนถึงที่สุดอย่างไม่มีเงื่อนไข และปราศจากข้อสงสัย (หน้า 123 ตัวละครกล่าวว่า “สำหรับคนรุ่นเรานั้น เกียรติภูมิของอาชีพมีที่มาจากคุณค่าทางคุณธรรมของนายเสียยิ่งกว่าอย่างอื่น”)

และเพื่อที่จะมีศักดิ์ศรีขึ้นมาได้ พ่อบ้านที่ดีจึงจำต้อง (หน้า 51) “…และขอให้ผมเสนอต่อไปว่า ‘ศักดิ์ศรี’ นั้นเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับที่ความสามารถของพ่อบ้านที่จะไม่ละทิ้งความเป็นมืออาชีพที่เขามีอยู่ พ่อบ้านชั้นด้อยกว่าจะทิ้งความเป็นมืออาชีพไปเป็นคนธรรมดาทันทีแม้จะถูกยั่วยุเพียงเล็กน้อย เพราะสำหรับคนเหล่านั้นแล้ว การเป็นพ่อบ้านก็เหมือนการแสดงละครตลกสำหรับเด็ก เมื่อถูกผลักหรือสะดุดเพียงเล็กน้อย ฉากหน้าก็จะหลุดร่วงออก เผยให้เห็นนักแสดงข้างใน แต่พ่อบ้านที่ยิ่งใหญ่นั้นยิ่งใหญ่เพราะความสามารถในการดำรงอยู่ในบทบาทตามอาชีพ และดำรงอยู่เช่นนั้นจนถึงที่สุด พวกเขาจะไม่หลุดไปตามบทบาทไปเพราะเหตุการณ์ภายนอก ไม่ว่าจะน่าประหลาดใจ น่าตกใจ หรือน่ารำคาญใจเพียงใด พวกเขาจะสวมใส่ความเป็นมืออาชีพเสมือนสุภาพบุรุษที่ดีจะพึงใส่สูท นั่นคือจะไม่ยอมให้ผู้ร้ายหรือสถานการณ์กระชากมันออกจากตัวเขาในสายตาสาธารณะ เขาจะถอดมันออกก็ต่อเมื่อเขาตั้งใจจะทำเช่นนั้น และแน่นอนว่าต้องเป็นเมื่อเขาอยู่ตามลำพังด้วย นั่นละที่ผมเรียกว่าเป็นเรื่องของ ‘ศักดิ์ศรี’…”

ด้วยประการฉะนี้เอง ตลอดเรื่องเล่าทั้งเหตุการณ์อดีตและปัจจุบัน สตีเวนส์จึงเป็นตัวละครที่เก็บงำอารมณ์ความรู้สึก ปกปิดอำพราง วางตัวสำรวม ควบคุมตนเอง และเต็มไปด้วยจริตมารยาทแบบผู้ดีเกือบตลอดเวลา (พูดง่ายๆ เขาเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างเอาจริงเอาจัง)

ความยอดเยี่ยมที่สำคัญของ The Remains of the Day อยู่ที่การสร้างตัวละครผู้มีพฤติกรรมและความคิดอ่านห่างไกลจาก ‘คนธรรมดาทั่วไป’ อย่างสตีเวนส์ออกมาได้อย่างสมจริงมีเลือดเนื้อ

เชื่อมโยงต่อมาคือ การให้ตัวละครดังกล่าวเล่าถึงสารพัดเหตุการณ์อันเป็นเสมือน ‘บททดสอบ’ ที่เขาต้องรับมือจัดการ เพื่อให้บรรลุถึงความเป็นพ่อบ้านผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับพ่อ ซึ่งหน้าที่การงานมาก่อนความสัมพันธ์ส่วนตัว, การรับใช้ลอร์ดดาร์ลิงตัน โดยเฉพาะภารกิจสำคัญระดับชาติ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเจตนางดงามปรารถนาให้โลกดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายตรงกันข้าม กลายเป็นเรื่องอัปยศอดสู

และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสตีเวนส์กับคุณเคนตัน

นอกจากจะโดดเด่นด้วยการรำลึกเหตุการณ์อดีตเทียบเคียงกับปัจจุบัน เหมือนวางชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบรวมกันเป็นภาพรวมได้อย่างชวนติดตาม และทำให้พล็อตเรียบง่ายกลายเป็นการดำเนินเรื่องที่วิจิตรพิสดารแล้ว บททดสอบต่างๆ (หรือความขัดแย้งระหว่าง ‘หน้าที่’ กับ ‘ความปรารถนาส่วนตัว’) แต่ละครั้ง ยังบาดลึกสะเทือนใจเพิ่มทวีมากขึ้นตามลำดับ

จุดหนึ่งที่ทำให้สะเทือนอารมณ์มากคือ ในแต่ละการรำลึกทบทวนอดีต นอกจากจะถวิลถึงความหลังแล้ว หลายต่อหลายครั้ง เรื่องเล่าของสตีเวนส์ยังตั้งข้อสงสัยหรือเกิดคำถามหรือกระทั่งความแคลงใจต่อการกระทำที่ล่วงผ่านอีกด้วย แต่ทุกครั้งไม่ว่าจะซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือกลบเกลื่อนบิดเบือน ข้อสรุปที่ตัวละครมีให้กับตนเองคือคำยืนยันว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายเรื่องราวที่สตีเวนส์รำลึก พาให้เกิดความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ แต่เพียงชั่วพริบตา เขาก็ปรับความรู้สึก หยิบยกเหตุผลมาหักล้าง กระทั่งกลายเป็นนึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยความภาคภูมิใจ

ชื่อเรื่อง The Remains of the Day นั้นเชื่อมโยงไปยังอีกคำถามหนึ่ง ว่าหลังจากเวลาอันเนิ่นนานในการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เป็น ‘พ่อบ้านผู้ยิ่งใหญ่’ ท้ายที่สุดสตีเวนส์จ่ายและมอบอะไรไปบ้าง สูญเสียสิ่งใดในชีวิต ได้รับบำเหน็จรางวัลอันใดตอบแทนกลับมา และยังมีสิ่งสำคัญใดหลงเหลืออยู่

นิยายให้คำตอบทั้งหมดไว้ในหน้าท้ายๆ อย่างเรียบง่าย แต่หนักหนาถึงขั้นชวนให้หัวใจสลาย มิหนำซ้ำยังหักมุมส่งท้ายอย่างเย้ยหยันขันขื่นเหลือที่จะพรรณนา

พ้นจากแง่มุมต่างๆ ที่กล่าวมา สิ่งหนึ่งที่ตรึงใจมากสุดของ The Remains of the Day ก็คือมันเป็นนิยายรักโรแมนติกอันแสนจะร้าวราน โดยไม่มีการประกาศตัว และมีการแสดงออกน้อยนิดเบาบาง

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชายหญิงในนิยายเรื่องนี้ บอกเล่าผ่านการเก็บงำซ่อนเร้นตลอดทุกชั่วขณะ และเป็นเช่นนั้นอย่างคงเส้นคงวาไปตลอด ฝ่ายหนึ่งปกปิดความรู้สึกส่วนตัวเพื่อสวมบทบาทในอาชีพให้ถึงพร้อม อีกฝ่ายซึ่งมีบุคลิกนิสัยตรงข้าม ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง แต่ก็ต้องแสดงออกแบบบอกเป็นนัยๆ (ตรงนี้ผมเข้าใจว่าเนื่องด้วยยุคสมัยและความเป็นผู้หญิง)

เกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ความสัมพันธ์ดังกล่าวบอกเล่าเอาไว้คลุมเครือ จนกระทั่งผู้อ่านเกิดคำถามข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วตัวละครตกหลุมรักกันหรือไม่? จนกระทั่งเกือบจบนั่นแหละจึงค่อยมีบทเฉลย ซึ่งถึงแม้จะมีความชัด แต่ก็ยังคงเป็นการเฉลยในลักษณะอมพะนำงำความสงวนท่าทีอยู่พอสมควร

ความที่เนื้อเรื่องและตัวละคร ‘เก็บรักเอาไว้ในอก’ จนเกือบจะจับสังเกตไม่ได้ อะไรต่อมิอะไรที่เล่าไว้มิดเม้นเบาบาง (ที่แน่ชัดคือ นี่เป็นนิยายรักที่ตัวละครไม่ได้เอ่ยคำว่ารักเลย และถ้าผมจำไม่ผิด แม้กระทั่งในส่วนบทบรรยาย ก็ไม่มีคำว่า ‘รัก’ หรือ ‘ความรัก’ ให้เห็นกันเลย) ที่น่าทึ่งคือเมื่อปรากฏร่องรอยจางๆ ในแต่ละครั้ง ผลลัพธ์และอารมณ์กลับบาดลึกความรู้สึกทำร้ายจิตใจอย่างหนักหน่วง โดยไม่ต้องมีการเร้าอารมณ์ใดๆ เลย   

นี่เป็นสิ่งที่นิยายเรื่องนี้ ทำได้ดีวิเศษอย่างน่าอัศจรรย์ใจมากๆ และได้ผลเต็มที่ทุกครั้ง ไม่ว่าจะอ่านเป็นรอบที่เท่าไหร่แล้วก็ตาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save