‘Ma’amalade sandwich Your Majesty?’ กลายเป็นคลิปวิดีโอไวรัลที่กระจายไปทั่วโลก เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองพระราชทานเลี้ยงน้ำชาให้กับหมีพเนจรจากเปรูที่พระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งเป็นการเปิดฉากการถ่ายทอดสดมหกรรมดนตรี Party at the Palace ค่ำวันที่ 4 มิถุนายน แม้จะเป็นวิดีโอสั้นๆ เพียงสองนาทีกว่า แต่ก็มี ‘สาร’ ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง เพราะมีสัญลักษณ์ของซอฟต์พาวเวอร์โน้มน้าวความรู้สึกของผู้คนส่วนหนึ่งให้มีความเห็นอกเห็นใจ (compassion) เผื่อแผ่เมตตาให้ผู้คนที่บ้านแตกสาแหรกขาดมาขอพึ่งพระบารมี โดยเฉพาะการโน้มน้าวคนในสังคมอังกฤษที่มีทัศนคติแข็งกร้าวกับคนอพยพ
เนื่องจากเมื่อหลายปีก่อนอารมณ์ต่อต้านคนเข้าเมืองมีกระแสสูงขึ้นในช่วงที่ฝ่ายขวาอนุรักษนิยมโหมรณรงค์ขอถอนตัวจากประชาคมยุโรป (Brexit) และกระแสยังคงมีต่อเนื่องในบางส่วนของสังคมอังกฤษ เพราะจำนวนผู้อพยพขอเข้ามาลี้ภัยในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ BBC Events จัดถวายในช่วงการถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี The Queen’s Platinum Jubilee เมื่อดูโดยผิวเผินแล้วผู้คนจำนวนมากอาจเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างสีสันให้กับงานเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์นี้ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามสนใจวรรณกรรมอังกฤษ ก็จะเข้าใจว่าคลิปนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณส่งเสริมคุณค่าสังคมที่เรียกว่า British values (คุณค่าแบบบริทิช) และดูเหมือนสวนทางนโยบายสกัดคนเข้าเมืองของรัฐบาลอังกฤษด้วย
รัฐบาลบอริส จอห์นสันมีแผนงานต่อผู้อพยพที่เดินทางผ่านการข้ามช่องแคบอังกฤษมาอย่างผิดกฎหมาย โดยบังคับส่งผู้อพยพขึ้นเครื่องบินไปประเทศรวันดาในทวีปแอฟริกา แต่ต้องระงับเที่ยวบินวินาทีสุดท้ายหลังแพ้คดีที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป มีรัฐมนตรีบางคนให้สัมภาษณ์สื่อฯ ว่า อังกฤษอาจจะขอถอนตัวออกจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป แต่ก็ถูกดักคออีกว่า ในยุคนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ อังกฤษเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งศาลแห่งนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นสถาบันยุติธรรมที่คอยคัดง้างกับผู้นำยุโรปบางประเทศที่ลุแก่อำนาจย่ำยีสิทธิมนุษยชนแบบที่เคยเกิดในนาซีเยอรมัน


ในแต่ละปีจะมีผู้อพยพนับหมื่นคน (เมื่อปี 2021 ประมาณ 28,000 คน) ที่เป็นเหยื่อของนักค้ามนุษย์พยายามเดินทางจากชายฝั่งประเทศฝรั่งเศสข้ามช่องแคบอังกฤษเข้ามา โดยใช้เรือเล็กๆ เสี่ยงต่อคลื่นลมจนมีบางส่วนจมน้ำตายอย่างน่าอนาถ (เมื่อปี 2021 จมน้ำตาย 27 คน) บางส่วนที่โชคดีก็สามารถขึ้นฝั่งอังกฤษได้ พวกเขาจำนวนหนึ่งเป็นผู้ขอลี้ภัยทางการเมืองที่หลบหนีการกดขี่ปราบปรามในประเทศของตน แต่ก็มีบางส่วนเช่นกันที่เข้าข่ายเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มาจากประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เช่น ซีเรีย ลิเบีย เยเมน ซูดาน โดยมีพวกนายหน้านักค้ามนุษย์ให้บริการอย่างเป็นอุตสาหกรรม
ในสายตาของรัฐบาลอังกฤษเหมารวมว่าการอพยพดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย อันแตกต่างไปจากผู้ลี้ภัยสงครามยูเครนที่มีการจัดระบบการขอลี้ภัยอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ หลังจากรัสเซียยกกองทัพรุกรานยูเครนโดยไม่ประกาศสงครามเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เกิดการอพยพลี้ภัยสงครามอลหม่าน มีชาวยูเครนพลัดถิ่นหลายล้านคนในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทำให้มีผู้กล่าวหาว่ารัฐบาลอังกฤษมีหลายมาตรฐานในการจัดการกับผู้อพยพ
หลักการกว้างๆ ของนโยบายส่งผู้ลี้ภัยไปรวันดาคือ จะมุ่งเฉพาะกลุ่มผู้อพยพที่พยายามข้ามช่องแคบอังกฤษ โดยคัดกรองผู้อพยพที่เป็นชายหลบหนีมาคนเดียว แยกออกจากกลุ่มผู้หญิงและเด็ก โดยพวกเขาจะถูกส่งตัวไปรวันดา ซึ่งรัฐบาลที่นั่นจะจัดศูนย์แรกรับเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยระหว่างที่พำนักในศูนย์แรกรับจะมีอาหารให้ครบ ไม่ถูกกักกันตัวเฉพาะในศูนย์ เมื่อตรวจสอบเอกสารและเข้าข่ายได้สิทธิลี้ภัย จะมีโครงกาสนับสนุนทางการเงินให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในรวันดา ทั้งทางด้านการศึกษา อบรมอาชีพให้ตั้งตัวทำมาหากินต่อไปได้ กำหนดเวลาให้ไม่เกินห้าปี โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 120 ล้านปอนด์ แต่ถ้าหากพบว่าไม่เข้าข่ายขอลี้ภัยการเมืองก็จะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง
กลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติต่างก็ประสานเสียงกันคัดค้านนโยบายของรัฐบาลบอริส พร้อมบอกเหตุผลว่าวิธีการนี้ไม่ถูกต้องตามหลักสากลว่าด้วยวิธีปฏิบัติกับผู้ขอลี้ภัย เพราะเป็นการเหมารวม ขาดการแยกแยะผู้ที่มีสิทธิโดยชอบธรรมจากประเทศที่มีภัยสงคราม นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในอังกฤษกว่า 160 องค์กรต่างเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการที่พวกเขาถือว่าโหดร้ายทารุณกับผู้ที่หนีภัยประหัตประหารมาขอลี้ภัยในอังกฤษ
ผู้นำนักการเมืองฝ่ายค้าน และ ส.ส. พรรครัฐบาลบางคนเองก็ออกมาคัดค้านอย่างเปิดเผย เนื่องจากมีความกังวลลึกๆ ว่ารัฐบาลรวันดาก็เคยมีประวัติฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และกดปราบฝ่ายคัดค้านรัฐบาลอย่างรุนแรง มิได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ที่มาทำข้อตกลงก็คงอยากได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษภายใต้โครงการนี้
น่าสังเกตว่าก่อนที่มีการไต่สวนฉุกเฉินที่ศาลสิทธิมนุษยชนที่กรุงเฮกเพื่อสกัดการส่งผู้อพยพขึ้นเครื่องบินไปรวันดา ก็มีการปล่อยข่าวออกมาทางสื่อฯ ว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทรงมีพระดำรัสเป็นการส่วนพระองค์กับผู้เข้าเฝ้าฯ ว่า การส่งผู้อพยพไปรวันดานั้นเป็นเรื่องน่าอนาถใจ (appalling) ซึ่งปรากฏว่ามีสื่อฯ หลายสำนักลงข่าวตรงกันหลายฉบับ แต่เมื่อมีการสอบถามไปยังสำนักพระราชวังก็ได้รับการชี้แจงว่า สำนักพระราชวังจะไม่เปิดเผยหรือยืนยันพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งยังมีนักการเมืองพรรครัฐบาลออกมาโต้ตอบข่าวดังกล่าวว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในฐานะที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์มิบังควรที่จะแสดงทัศนะทางการเมืองออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสวนทางนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ความจริงก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะก่อนหน้านี้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงเคยมีพระราชดำรัสในช่วงเทศกาลอีสเตอร์แสดงความห่วงใยต่อผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหลายล้านคนที่ต้องอพยพออกนอกประเทศหนีภัยสงคราม เมื่อดูจังหวะเวลาที่มีการปล่อยข่าวนี้ก็เป็นช่วงหลังจากกรณีนโยบายรวันดาออกมา และประจวบกับหมายกำหนดการเสด็จประเทศรวันดาเพื่อเข้าร่วมประชุมประเทศกลุ่มเครือจักรภพ ในฐานะเป็นตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้
มิใช่เฉพาะทางวังเท่านั้นที่มีการปล่อยสัญญาณทางอ้อมเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา สถาบันทางศาสนาก็มีท่าทีอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) หรือประมุขแห่งคณะสงฆ์นิกายอังกฤษ (Church of England) คนปัจจุบัน นั่นคือ เอกอัครสังฆราชจัสติน เวลบี (Justin Welby) ทรงใช้โอกาสพิธีทางศาสนาในเทศกาลอีสเตอร์กล่าวในบทเทศน์ตอนหนึ่งว่า แผนงานของรัฐบาลที่จะส่งผู้ขอลี้ภัยการเมืองไปรวันดานั้น เปรียบเสมือนการ ‘โยนความรับผิดชอบของเราไปให้คนอื่น’ อีกทั้งหลักคิดของนโยบายดังกล่าวนั้นมีลักษณะตรงกันข้ามกับแนวคำสอนของพระเจ้า ย้อนแย้งกับค่านิยมของประเทศที่หล่อหลอมสร้างประเทศมาด้วยความศรัทธาในคริสต์ศาสนา และคุณค่าที่คริสต์ศาสนาแบบสหราชอาณาจักรยึดถือ (Christian values)
กระแสคัดค้านจากทั้งทางวัดและทางวัง ซึ่งเป็นสถาบันที่มีซอฟต์พาวเวอร์ อาจจะไม่มีผลต่อนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้มากนัก เพราะอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นในสภา อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่แสดงออกทั้งอย่างเปิดเผยหรือการปล่อยให้มีข่าวรั่วไหลออกมาทางสื่อฯ เป็นสัญญาณที่มีพลังกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนบางส่วนในสังคมอังกฤษที่อาจจะเคยแข็งกระด้างกับผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพหนีร้อนมาพึ่งเย็นในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐธรรมนูญหลายสำนักลงความเห็นว่า หลักการสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษมีความมั่นคงแข็งแรงและอยู่รอดความผันผวนทางการเมืองมาเป็นเวลายาวนานคือการวางตัวเป็นกลางไม่เลือกข้างทางการเมือง อย่างไรก็ตามสถาบันฯ ก็มีทางเลือกในการส่งสัญญาณทางอ้อม นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีหลายครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถ ส่งสัญญาณเป็นนัยเมื่อเกิดปัญหาที่มีผลกระทบต่อคุณค่าและมาตรฐานของสหราชอาณาจักร (British values and standards)
เมื่อปี 2014 ในพระราชดำรัสฉลองคริสต์มาสประจำปี พระองค์ส่งสัญญาณว่า “diversity is indeed a strength and not a threat” (ความแตกต่างหลากหลายเป็นพลังมากกว่าเป็นภัยคุกคาม) – ในช่วงเวลานั้นซีกการเมืองฝ่ายขวาจัดกระพือความรู้สึกต่อต้านคนต่างเชื้อชาติต่างสีผิวในอังกฤษอย่างเข้มข้น เพื่อปูทางไปสู่ Brexit
สังคมอังกฤษตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความพยายามที่จะปลูกฝังอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย สร้างค่านิยมเผื่อแผ่แบ่งปันเอี้ออาทรกัน โดยมีงานวรรณกรรมและงานศิลปะเป็นพลังผลักดัน ทั้งนี้เพราะความยากลำบากในช่วงสงครามทำให้มีการผลักดันนโยบายหลายอย่างในรูปแบบของสวัสดิการสังคมหลากหลาย ทั้งในเรื่องการศึกษาฟรี การจัดอาหารกลางวันฟรีให้เด็กนักเรียน การรักษาพยาบาลฟรีตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และการจัดระบบบำนาญผู้สูงอายุแบบทั่วหน้า
วรรณกรรม Paddington Bear ก็ก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์บ้านแตกสาแหรกขาดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ประพันธ์คือไมเคิล บอนด์ (Michael Bond) ชาวเมืองเรดิง (Reading-เมืองในเขตบาร์กเชอร์ ประเทศอังกฤษ) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2012 ว่า ประสบการณ์วัยเด็กในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเขียนนิยายหมีจรจัด เขาได้เห็นภาพข่าวเด็กๆ ต้องพากันอพยพหนีภัยสงครามจากเมืองใหญ่ๆ ของอังกฤษ ไปอยู่อาศัยตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลจากเป้าหมายการทิ้งระเบิดของเครื่องบินนาซี มีป้ายชื่อเจ้าบ้านและที่อยู่ที่เด็กๆ จะอพยพไปอยู่อาศัย มือหอบหิ้วกระเป๋าสัมภาระร่ำลาพ่อแม่ สภาพดูแล้วน่าเวทนา ภาพดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจสร้างภาพหมี Paddington ที่หิ้วกระเป๋าเดินทางร่อนเร่พเนจรหาผู้อุปการะที่สถานีรถไฟ
หลังสงคราม บอนด์ได้เข้าทำงานที่ BBC Monitoring Service ชานเมืองเรดิงซึ่งเป็นศูนย์ของการฟังการกระจายเสียงทางวิทยุคลื่นสั้นของประเทศต่างๆ แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งให้สำนักข่าว BBC ใช้ประกอบในการรายงานข่าว ที่นั่นเขาได้พบกับผู้อพยพลี้ภัยจากรัสเซีย โปแลนด์ และฮังการี ที่มาทำงานรับฟังคลื่นวิทยุภาษาต่างๆ จึงได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ความยากลำบากของหลายประเทศในยุโรปที่ถูกรัสเซียเข้าครอบงำภายใต้เงาของสหภาพโซเวียต ที่นี่เขาได้เพื่อนสนิทเป็นชาวฮังกาเรียน ซึ่งเขาจดจำลักษณะท่าทางนำมาใส่ในตัวเอกนิยายของเขา
ในเวลาต่อมาบอนด์ได้งานทำในกรุงลอนดอนเป็นช่างกล้องในทีมงานถ่ายทำรายการ Blue Peter ซึ่งเป็นรายการสำหรับเด็ก ออกอากาศหลังโรงเรียนเลิกของ BBC ที่ยังคงมีการผลิตออกอากาศมาจนถึงทุกวันนี้ ช่วงที่มาอยู่ลอนดอน บอนด์เริ่มเขียนนิยาย Paddington Bear ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาใช้ชื่อนี้ เพราะว่าใครก็ตามที่เดินทางโดยรถไฟจากเมืองเรดิงมาลอนดอนก็จะต้องมาลงที่สถานีรถไฟ Paddington แล้วนั่งรถไฟใต้ดินต่อไปถึงจุดหมายปลายทาง
ที่ลอนดอนเขาเช่าแฟลตห้องนอนเดียวในย่าน Notting Hill Gate เป็นย่านชุมชนที่มีผู้คนจากหลากหลายชนชาติอาศัยอยู่ และไม่ห่างจากสถานีรถไฟ Paddington มากนัก ซึ่งเขาได้จำลองบรรยากาศ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เหตุการณ์และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนละแวกในย่านนั้นผูกโยงกับการผจญภัยของหมีไร้บ้านเก้ๆ กังๆ ที่สถานีรถไฟ Paddington ซึ่งครอบครัว Browns Family ให้ความเมตตานำมาอยู่อาศัยด้วยกันที่บ้านเลขที่ 32 Windsor Gardens
ในเวลาต่อมาย่าน Notting Hill นี้กลายเป็นฉากของภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่โด่งดังจนเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยียนจำนวนมาก
ผู้ประพันธ์ใช้เวลาว่างจากงานประจำเขียนนวนิยาย Paddington Bear หมีอพยพจากเปรู หิ้วกระเป๋าเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเร่ร่อนในลอนดอน มีป้ายห้อยคอเขียนว่า ‘Please look after this bear. Thank you’ จนกลายเป็นนวนิยายเด็กที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น ปรากฏว่าเล่มแรกที่ชื่อว่า A Bear Called Paddington ขายดีอย่างมาก เขาจึงเขียนเพิ่มเติมอีก 13 ตอน ซึ่งต่อมามีการนำบางส่วนมาสร้างเป็นภาพยนตร์หมีผจญภัยที่ออกฉายทั่วโลก มีการแปลและให้เสียงเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา สำหรับภาษายูเครนนั้น โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบันเป็นผู้ให้เสียงในช่วงที่เขายังเป็นนักแสดงอยู่
ตามท้องเรื่องในโลกของนวนิยายหมี Paddington ถือว่าเป็นผู้อพยพที่โชคดี เพราะมีครอบครัว Browns Family ดูแลเลี้ยงดูให้ที่พักพิง ไม่ต้องถูกบังคับส่งขึ้นเครื่องบินไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในรวันดา แต่สำหรับผู้อพยพอีกหลายร้อยคนที่อยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวหลายแห่งทั่วประเทศอังกฤษในขณะนี้ กำลังต้องผจญภัยอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยยังไม่มีทางรู้ได้ว่าอนาคตของพวกตนจะเป็นอย่างไร