fbpx
กับดักเร้นรูป

กับดักเร้นรูป

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

ทุกครั้งที่ผ่านหูผ่านตาข่าวคราวเกี่ยวกับการศึกษาและความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ผมจะคิดถึงข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กไทยคนหนึ่งที่ได้รับทุน “1 อำเภอ 1 ทุน” ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2004 เสมอ ข่าวรายงานว่าปัญหาหลักของเด็กไทยคนนั้น คือ ไม่รู้ภาษาเยอรมันและการไม่เคยจากไปไกลบ้าน ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยในขณะนั้น เธอกำลังเรียนภาษาเยอรมันอยู่และยังไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

เหตุผลที่ทำให้คิดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ คือ ประโยคของรุ่นน้องคนหนึ่งที่ออกความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ไว้ว่า “บางทีเราก็ไม่รู้ว่าราคาที่ต้องจ่ายให้โอกาสที่ได้รับนั้นมีค่าเท่าชีวิต”

ผ่านมาอีกหลายปีกว่าผมจะเข้าใจลึกซึ้งถึงผลกระทบของคำว่า “ไม่สามารถปรับตัวได้”

ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมพยายามหาซื้อหนังสือชื่อ Social Mobility and Education in Britain: Research, Politics and Policy มาอ่าน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากโลกยังอยู่ในสภาวะไม่สมดุลจาก Covid-19 ในระหว่างที่กำลังทำใจกับความไม่ได้ดั่งใจ ก็บังเอิญได้ไปเห็นรูปหนังสือ The Privileged Poor: How Elite Colleges Are Failing Disadvantaged Students ใน Instagram ของ Harvard Press  ซึ่งถือว่าเป็นความบังเอิญที่โชคดีเพราะทำให้มองเห็นอะไรต่อมิอะไรชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะเป็นการมองจากบริบทที่ไม่คุ้นเคยนักของสหรัฐอเมริกา

 

 

กว่าสองทศวรรษก่อนหน้านี้ การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้รับการกดดันจากภายนอกให้ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ยากไร้ ผลของการกดดันจากสาธารณะและทางการเมือง ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งออกนโยบายช่วยเหลือทางการเงินแบบไม่ต้องกู้ยืมแก่นักเรียนยากจน ผลของการเปิดประตูด้านการศึกษาครั้งนั้นทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำที่เคยเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะคนขาวมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติและฐานะของนักศึกษามากขึ้น

แต่การได้เข้าไปอยู่ข้างในไม่ได้แปลว่าเป็นส่วนหนึ่งเสมอไป

Anthony Abraham Jack (AAJ) ผู้เขียน The Privileged Poor: How Elite Colleges Are Failing Disadvantaged Students เป็นชายผิวดำจากพื้นฐานครอบครัวที่ยากจนผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เขาได้ทุนให้ไปเรียนใน Private High School ก่อนเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Amherst College ประสบการณ์ที่เขาสัมผัสด้วยตัวเองทำให้รับรู้ว่าความสำเร็จด้านตัวเลขเชิงนโยบายนั้น เป็นเพียงภาพลวงตาของเป้าหมายที่แท้จริง

เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำก็มีวิธีป้องกันตัวเองจากนโยบายแห่งการเปิดโอกาส ด้วยการคัดเลือกนักศึกษาส่วนหนึ่งให้มีความหลากหลายจากนักเรียนยากไร้ที่ได้ทุนการศึกษาของโรงเรียนเอกชนเพื่อส่งนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย การทำแบบนี้ถ้ามองจากสัดส่วนความหลากหลายของนักศึกษาเพียงอย่างเดียวก็จะเห็นว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว แต่หากมองให้ลึกลงไป จะเห็นว่าวิธีป้องกันตัวเองของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหา

AAJ เริ่มการวิเคราะห์ปัญหาโดยชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อ Renowned (ชื่อสมมติของมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา) หลังการเปิดประตูรับนักเรียนยากจน เขาแบ่งนักศึกษาออกเป็นสามประเภท ดังนี้

  1. Upper Income (UI) หมายถึง พวกที่มาจากครอบครัวฐานะดี เป็นประชากรหลักของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำมาโดยตลอด
  2. Privileged Poor (PP) หมายถึง พวกด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวยากจน แต่ได้รับโอกาสได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมเอกชน (ตัวของ AAJ จัดอยู่ในกลุ่มนี้)
  3. Doubly Disadvantaged (DD) หมายถึง พวกด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวยากจนและไม่เคยได้รับโอกาสพิเศษอื่นใดในระบบการศึกษา

จากลักษณะของประชากรทั้งสาม AAJ นำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างของการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของแต่ละกลุ่มที่ค่อยๆ เผยให้เห็นว่า ภายใต้นโยบายแห่งความหลากหลายที่มหาวิทยาลัยชั้นนำขานรับนั้นละเลยและละทิ้งเด็กด้อยโอกาสอย่างไร

ประเด็นแรกที่ AAJ นำเสนอ คือ เรื่องการไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรม (Culture Shock) ที่นักเรียนแต่ละกลุ่มมี ทำให้วิธีการดำรงชีวิตในมหาวิทยาลัยแตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่มีปัญหาที่สุด คือ DD ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ต่อวัฒนธรรมของคนขาวหรือกลุ่มคนฐานะดีในสังคมของมหาวิทยาลัยมาก่อน ต่างจากกลุ่ม PP ที่ผ่านการเรียนรู้ระบบสังคมจำลองการอยู่ร่วมกับพวกฐานะดีมาก่อนแล้วในโรงเรียนเอกชน ความคุ้นชินที่ PP มีต่อ UI มาก่อนหน้า ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถึงความแตกต่างในการปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่แสดงออกผ่านวัตถุและรูปแบบการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย การประสบกับปัญหานี้ทำให้กลุ่ม DD รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ใช่สถานที่ของพวกเขา

ประเด็นต่อมา คือ เรื่องความแตกต่างของทุนวัฒนธรรม (Culture Capital) ในการใช้ชีวิตในสังคมมหาวิทยาลัย กลุ่ม DD ไม่เข้าใจถึงกฎที่ไม่ถูกเขียนไว้ (Unwritten Rules) ที่พวกเขาต้องปฏิบัติ ในขณะที่กลุ่ม UI และ PP รู้จักกับกฎเหล่านั้นเป็นอย่างดี พวกเขาไม่รู้จักการเข้าหาอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ พวกเขาไม่รู้แม้กระทั่งคำว่า Office Hours ของอาจารย์ คือ การเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปหาและปรึกษาได้ในทุกๆ เรื่อง

ส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ คือ การสั่งสอนของครอบครัวที่มองว่าการกระทำแบบนี้คือการประจบประแจงเพื่อผลประโยชน์ การประสบความสำเร็จนั้นควรจะมาจากตัวเองและการทำงานหนัก พวก DD ไม่รู้ว่านี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้ให้ และการเข้าหาทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด ความเข้าใจผิดที่มีต่อกฎที่ไม่ถูกเขียนไว้ทำให้พวกเขาห่างเหินจากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงโอกาสอื่นๆ ที่พวกเขาควรได้รับจากการศึกษาซึ่งมหาวิทยาลัยเตรียมไว้ให้

ประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นของนโยบายมหาวิทยาลัย (University Policies) ที่ละเลยเรื่องผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของนักศึกษาที่มีฐานะแตกต่างกัน AAJ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมาถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องแล้ว กลุ่ม PP ไม่ได้มีความได้เปรียบเหนือกลุ่ม DD เพราะถึงแม้จะได้รับความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา แต่ปัญหาที่ติดตัวมาจากความยากจนของครอบครัวไม่ได้หายไปไหน และนโยบายต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือ บางครั้งกลับเป็นการตอกย้ำถึงความยากจนของพวกเขายิ่งขึ้นไปอีก เช่น การจ้างงานทำความสะอาดหอพักที่มีรายได้ดีกว่างานอื่น ซึ่งในความหมายหนึ่ง คือการเชื้อเชิญให้ไปทำงานที่ไม่มีใครอยากทำ นักศึกษายากจนต้องประสบกับความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง เมื่อพบว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนบางคนมองพวกเขาเป็นคนระดับล่าง

แม้กระทั่งนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้บางอย่างก็มีกระบวนการเข้าถึงมีลักษณะเปิดเผยให้เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้ยากไร้ด้อยโอกาส หรือการที่ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยต้องปิดในช่วง Spring Break ก็แสดงให้เห็นถึงความละเลยของมหาวิทยาลัยที่มีต่อนักเรียนยากจนผู้ไม่สามารถกลับบ้านได้ หรือไม่มีบ้านให้กลับ พวกเขาต้องดิ้นรนกับการจัดสรรปันส่วนเงินเพื่อหาของกินจากร้านที่มีราคาแพงกว่า

จากประเด็นทั้งสามที่ AAJ ได้วิจัยผ่านการสัมภาษณ์นักศึกษาที่มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดนั้น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอ คือ การมองชีวิตในมหาวิทยาลัยชั้นนำผ่านสำนึกของการมีส่วนร่วม (Sense of Belonging) เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานะที่แตกต่างทางด้านสังคมมีผลต่อชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างไร และปัญหาเหล่านั้นถูกมองข้ามอย่างคาดไม่ถึงอย่างไรโดยตัวนโยบายของมหาวิทยาลัยเอง

ปัญหาที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นความเรื่องมากหรือการเรียกร้องไม่สิ้นสุด “ได้มีโอกาสเข้าเรียนในที่ดีๆ แล้ว จะเรียกร้องอะไรกันอีกนักหนา?” หรือ “ต้องอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ?” คำถามเหล่านี้ คืออุปสรรคสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขยับสถานะทางสังคม (Social Mobility)

การวิจัยของ AAJ ยกระดับมุมมองที่แต่เดิมศึกษาเรื่องระดับชั้นทางสังคมเพียงแค่ในหมู่คนรวยและคนจน ไปสู่มุมมองจากคนจนที่ได้รับโอกาสจากนโยบาย ซึ่งเป็นการเพิ่มรายละเอียดทางสังคมของคนที่อยู่ในการปะทะกันจากทั้งสองโลกอย่างตัวเขาเองและกลุ่มของ PP ช่องว่างทางชนชั้นควรได้รับการจับตามองให้มากขึ้น การให้โอกาสผ่านความช่วยเหลือทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง หากยังนำไปสู่ปัญหาอื่นที่เป็นการผลักนักศึกษายากไร้ออกไป

ในแง่หนึ่งก็คือการรักษาไว้ซึ่งปัญหาสังคมแบบเดิม แต่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น และ PP ในที่นี้ คือกลุ่มชี้วัดสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เร้นอยู่โดยปราศจากการรับรู้ทำงานอย่างไร

สิ่งที่สัมผัสได้ชัดจาก The Privileged Poor: How Elites Colleges Are Failing Disadvantage Students คือหนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายในมหาวิทยาลัยมากกว่าการเรียกร้องจากฝ่ายที่มีสถานะเหนือกว่าในหมู่นักศึกษาให้ปรับตัวเข้าหานักศึกษาที่ยากไร้ หรือนักศึกษาที่ยากไร้ต้องปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมดั้งเดิมในมหาวิทยาลัย อาจเป็นไปได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกาฝังรากลึกและเป็นเรื่องที่ยากต่อการไปเรียกร้องขอความเข้าใจโดยผ่านระบบชนชั้น วิธีที่ดีที่สุด คือการมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายเพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำ การทำแบบนี้จะส่งผลดีขึ้นในระยาวต่อระบบการศึกษาและสังคมโดยรวมมากกว่า

การปรับตัวเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในเชิงปัจเจก หลายๆ ครั้งการปรับตัวทำให้เรามองไม่เห็นว่าสิ่งที่เรารอดมาได้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่แก้ไขได้ การมองไม่เห็นบ่อยๆ เข้าจะนำไปสู่ความละเลย เมินเฉย เคยชิน และสุดท้ายกลายเป็นความไม่รู้ The Privileged Poor: How Elite Colleges Are Failing Disadvantaged Students เป็นตัวอย่างสำคัญของการเปิดเผยให้เห็นถึงกับดักที่เร้นไว้จากการปรับตัว

 

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save