fbpx
THE PRINCE 2019 : มาคิอาเวลลีกับการเมืองไทย เมื่อกลอำนาจอยู่ในมือพ่อมด

THE PRINCE 2019 : มาคิอาเวลลีกับการเมืองไทย เมื่อกลอำนาจอยู่ในมือพ่อมด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

หากโลกกำลังเดินหน้าเข้าหาสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และเชื่อเรื่องคนเท่ากัน แต่แนวคิดหนึ่งที่ยังคงอยู่กับโลกมาอย่างยาวนานและดูเหมือนว่ายังทรงอิทธิพลอยู่ไม่เสื่อมคลาย คือแนวคิดของมาคิอาเวลลี นักคิด นักเขียน นักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลีในยุคเรเนซองส์

หนังสือ The Prince หรือ เจ้าผู้ปกครอง ที่ว่ากันว่าเป็น ‘ตำรา’ ที่ชนชั้นปกครองของทั่วโลกต้องอ่าน มาคิอาเวลลีเขียนขึ้นในปี 1513 แต่กว่าจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกก็เมื่อปี 1532 เพราะเนื้อหาใน The Prince ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง มาคิอาเวลลีถูกมองว่าเป็นคนโหดร้ายอำมหิต เมื่อเขาเสนอเรื่อง ‘ชุดคุณธรรม’ ที่ต่างกันระหว่างชนชั้นปกครอง กับชนชั้นถูกปกครอง เมื่อคำว่า ‘รัฐ’ มาก่อนสิ่งอื่นใด ผู้นำก็สามารถผิดสัจจะ หรือผิดคุณธรรมได้ทันทีหากนั่นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐชาติ

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แต่แนวคิดแบบมาคิอาเวลเลียนนี้ยังคงแทรกซึมอยู่กับทุกสังคม บางคนเชื่อว่า นี่เป็นการอธิบายมนุษย์ด้วยสายตาที่เป็นจริง มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้ แต่มาคิอาเวลลีเพียงอธิบายออกมาเป็นตัวหนังสือที่กระจ่างชัดเท่านั้น

101 ชวน ดร.กานต์ บุณยะกาญจน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง การสร้างความนิยมและการตีความ ‘เจ้าผู้ปกครอง’ ของมาคิอาเวลลีในบริบทการเมืองไทย มาคุยในประเด็นแนวคิดของมาคิอาเวลลี ว่า ‘เนื้อแท้’ เป็นอย่างไร และเมื่อหยิบมาคิอาเวลลีมามองการเมืองไทย จะมีความสอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เชื่อกันว่า สายธารนักคิดจากตะวันตกในเชิงการเมือง เข้ามาในไทยช่วง 2475 และผู้คนมักพูดกันว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้นธารความคิดตะวันตกในไทย แต่แนวคิดของมาคิอาเวลลีที่มาจากอิตาลีนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่าเข้ามาเมื่อไหร่ ทั้งอิตาลีไม่ใช่ประเทศที่โดดเด่นในแง่แนวคิดทางการเมืองในไทย และมาคิอาเวลลียังมีแนวคิดที่ต่างจากบรรดานักคิดคนอื่นๆ ในช่วงปี 2475 ที่เป็นสายเสรีนิยม เขาเชื่อในเรื่องเจ้าผู้ปกครองซึ่งแตกต่างจากคนอื่น แต่ก็ยังมีประเด็นซับซ้อนที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างน่าสนใจ

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ แม้ไม่ใช่ชนชั้นปกครองก็อ่านได้

 

แนวคิดแบบมาคิอาเวลลีเข้ามาในไทยตั้งแต่ตอนไหน และอย่างไร

ก่อนหน้านี้มีงานบอกว่าแนวคิดมาคิอาเวลลีเข้ามาในไทยปี 2500 แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของผม อ.ไชยันต์ ไชยพร ก็กรุณาช่วยสืบหาติดต่อจนได้ตัวคนแปลคนแรกมาสัมภาษณ์ แต่ก็ยังไม่ใช่จุดตั้งต้น ผนวกกับกรรมการวิทยานิพนธ์ อ.วีระ สมบูรณ์ บอกว่าเคยเจอว่าในจดหมายของพระยาอนุมานราชธน ในช่วงปี 2490 เขียนว่ามาคิอาเวลลีเป็นทูต ซึ่งตลกมากที่คนโหดร้ายพรรค์นั้นจะถูกยกให้เป็นทูต แล้วไม่พูดถึงงานอื่นๆ เลย ผมก็นึกสงสัยว่า แล้วพระยาอนุมานราชธนรู้จักมาคิอาเวลลีตอนไหน ก็ยังไม่ได้คำตอบ

ผมเลยลองไปไล่ดูว่ามีคนอิตาลีคนไหนเข้ามาในไทยบ้าง แล้วก็ไปเจอคนหนึ่งที่น่าสนใจมาก ชื่อ เยรินี มียศเป็นพระสารศาสตร์พลขันธ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาคนแรก ซึ่งเป็นกรมสอนความรู้ทหาร ผมเจอมาคิอาเวลลีตรงนี้แหละ ในงานที่ประหลาดมากของท่านคือ ‘Siamese Proverb’ บทความว่าด้วยสุภาษิตของสยาม แล้วมาคิอาเวลลีไปซ่อนอยู่ใน Proverb หนึ่งก็คือ “ตัดไผ่อย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” เขาอธิบายว่าเป็น Machiavellian Proverb  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีคำว่ามาคิอาเวลเลียนปรากฏ นั่นคือปี 2447 มาคิอาเวลลีถูกใช้ครั้งแรกในการอธิบายสุภาษิตในสมัยรัชกาลที่ 5

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารของสยามสมาคม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า คือที่สำหรับแลกเปลี่ยนในชนชั้นนำสยาม แปลว่าตอนพรีเซนต์เปเปอร์ ทั้ง บ.ก. ทั้งคนฟังจะต้องอ่านแน่นอน ดังนั้นคนที่อ่านต้องรู้จักคำว่ามาคิอาเวลเลียนพอสมควร ไม่อย่างนั้นสื่อสารกันลำบาก เพราะต้องมีการอธิบายอีกชั้นนึง

ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ เวลาเราพูดถึง “ตัดไผ่อย่าไว้หน่อ” เราก็จะเห็นความโหดร้ายรุนแรงแบบที่เราเข้าใจมาคิอาเวลลี แต่ว่ามาคิอาเวลลีในแบบนั้นเป็นอะไรที่พื้นมาก

เล่าย้อนไปนิดนึง เวลาเราถามว่ามาคิอาเวลลีเข้ามาในไทยยังไง อ.สมบัติ จันทรวงศ์ บอกว่า มาคิอาเวลลีน่าจะเข้ามาตั้งแต่อยุธยา ชัดเจนมากในจดหมายเหตุวันวลิต (จดหมายเหตุเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สมัยอยุธยา เขียนโดย Jeremais van Vliet เป็นภาษาฮอลันดา) เขาบรรยายพระเจ้าปราสาททองด้วยสำเนียงแบบมาคิอาเวลเลียนหมดเลย ไอเดียก็เป็นมาคิอาเวลลี แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามาคิอาเวลลีเข้ามา

สำเนียงแบบมาคิอาเวลเลียนเป็นยังไง

เช่น พระเจ้าปราสาททองเป็นผู้ที่โหดเหี้ยม ใช้อุบายทุกอย่างในการขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ ซึ่งไอเดียแบบนี้ ไม่ได้ปรากฏแค่พระเจ้าปราสาททอง เราเจองานบันทึกของตุรแปง อธิบายพระนารายณ์ เราเจองานที่อธิบายพระเจ้าเสือ ลา ลูแบร์ก็อธิบายพระนารายณ์ด้วยสำเนียงแบบมาคิอาเวลเลียน เวลานักวิชาการตีความก็จะพูดทำนองเดียวกันว่านักสำรวจตะวันตก อธิบายกษัตริย์ไทยด้วยสำเนียงมาคิอาเวลเลียนหมดเลย

ผมเจอหลักฐานว่า The Prince ถูกแปลเป็นภาษาดัตช์ในช่วงเวลาเดียวกับวันวลิตเลย แล้วงานของยุคนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นอายของมาคิอาเวลลี เพราะเป็นช่วงที่ดัตช์กำลังจะปลดแอกตัวเองจากสเปน เป็น Machiavellian Moment ในสาธารณรัฐดัตช์เพื่อเอาตัวรอด งานตอนนั้นถูกตีพิมพ์เยอะมาก ในยุโรปมีกว่า 35 ฉบับ เพราะฉะนั้นสันนิษฐานนี้เข้ารูปเข้ารอย

แต่มีลักษณะอย่างนึงที่ผมพยายามจะพูด เพราะจะมีจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในช่วงเยรินีคือ ก่อนหน้านี้เราไม่เจอการอ้างมาคิอาเวลลีตรงๆ แต่ทุกคนบรรยายกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ว่ามีมิติของความโหดเหี้ยม ใช้กำลังอย่างเด็ดขาดรุนแรงเมื่อยามจำเป็น แต่สิ่งที่เยรินีทำตอนนั้น เขามาพร้อมสุภาษิต “ตัดไผ่อย่าไว้หน่อ” เขายกกรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ซึ่งเป็นหลานของรัชกาลที่ 1 และเป็นลูกของพระเจ้าตาก

หลังจากการผลัดแผ่นดิน พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 1 ทรงไม่ประหารเจ้าฟ้าเหม็นด้วยเหตุว่าเป็นหลาน พระองค์ไม่ได้ทำตามอย่างโบราณราชประเพณีในการตัดไผ่อย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก เยรินีบรรยายแบบนี้ และขยายความต่อไปอีกว่า แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าฟ้าเหม็นก่อการกบฏ ความเมตตาที่พระองค์มีก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นความรุนแรง ก็คือต้องประหารเจ้าฟ้าเหม็น

การเขียนของเยรินีน่าสนใจมาก เพราะปกติเวลาชาวตะวันตกอธิบายกษัตริย์ไทย มักอธิบายในมิติความเป็นมาคิอาเวลเลียน คือเด็ดขาด โหดร้าย รุนแรง แต่ลีลาเยรินีในฐานะปราชญ์พลิกการมองมาคิอาเวลลี นี่คือจุดเริ่มต้นมาคิอาเวลลีในไทยที่ว่ากษัตริย์ไทยไม่ได้มีความเป็นมาคิอาเวลเลียนโดยธรรมชาติเหมือนที่ตะวันตกบรรยาย โดยเนื้อแท้พระองค์ไม่ได้ประสงค์จะโหดร้ายเลย แต่ด้วยความจำเป็นต่างหาก พระองค์จึงต้องทำ

น่าสนใจว่าเยรินีเลือกอธิบายอย่างนี้เพราะอะไร แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าเยรินีเป็นข้าราชการสยาม ไม่ใช่ฝรั่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแล้วเขียน แต่นี่คือจุดตั้งต้นมาคิอาเวลลีที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในไทยชัดเจนที่สุดเท่าที่ผมหาเจอตอนนี้ ยังไม่เจอข้อมูลที่เก่ากว่านี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนภาพการมองเจ้าผู้ปกครองสยามไปเลย

ถ้ามองว่าเป็นการพยายามเปลี่ยนภาพเพื่อให้ดูเป็นคนมีเมตตา มีโอกาสเป็นไปได้มั้ยในทิศทางนั้น

อันนี้น่าสนใจ พอเรากลับไปมองในการอธิบายผู้ปกครองอยุธยา ก็จะมีทั้งความเมตตาและความโหดเหี้ยม กษัตริย์สยาม สามารถร้องเพลงกล่อมช้าง ในขณะเดียวกันก็ตัดคอคนถ้าไม่ฟังได้พร้อมกัน พระนารายณ์ทำให้ผู้คนกลัวได้ แต่ในกรณีแบบนี้กำลังจะพูดว่า มิติด้านความรุนแรงของพระองค์ ถ้าจะเกิดขึ้นก็บนความจำเป็นเท่านั้น

แต่อย่างหนึ่งที่อาจจะต้องเข้าใจ เวลาชาวตะวันตกอธิบายสยาม เขาอธิบายบนความขัดแย้งอย่างนึงว่า เราไม่ใช่คริสเตียน ก็ต้องบอกว่าเราเป็นกษัตริย์ที่ไม่มีความเป็นธรรมเทียบเท่ากษัตริย์ชาวคริสต์ เขาเป็น The white man’s burden ที่ต้องมาปลดแอกพวกเรา

จนกระทั่งช่วงเปลี่ยนเป็นรัฐสมัยใหม่ เยรินีถึงพยายามจะพลิกวิธีอธิบายแบบนั้น แล้วมีเรื่องเจ้าฟ้าเหม็นพอดี ก็ปะเหมาะกับเยรินีในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ แล้วเยรินียังสร้างคำอธิบายใหม่ในกองทัพสยาม ว่าความจำเป็นเป็นตัวตัดสินทุกอย่าง ซึ่งคือรากเหง้าคำอธิบายเกือบทั้งหมดที่ทุกวันนี้กองทัพยังใช้อยู่ ที่ว่าเป้าหมายสำคัญที่สุด ความจำเป็นอยู่เหนือวิธีการทั้งหมด

ผมไปเจอข้อสอบนักเรียนเทคนิคทหารบกวิชาจรรยา ปี 2479 เป็นคำถามที่ถ้าถามในหมู่นักการเมืองไทยตอนนี้ หลายคนอาจจะบอกว่าสะเทือนใจมาก ถามว่าถ้ามีคนมาว่าท่านว่ามัวแต่ละอายต่อบาป ชาติไม่พัฒนา ท่านจะตอบเขาอย่างไรการกล้าตั้งคำถามนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2480 ผมว่าเป็นความน่าท้าทายมาก ผลพวงก็มาจากการตีความเยรินีชุดนี้แหละที่ส่งต่อกันมาในกองทัพอย่างชัดเจน

ชาติต้องสำคัญที่สุด?

ใช่ครับ ถ้าเราพูดในมิตินี้ ชาติเป็นคำตอบ มีคำอธิบายหลายอย่าง แม้กระทั่งมีงานชิ้นนึงอยู่ในวารสารยุทธโกษ เป็นวารสารทหาร ซึ่งตัวเยรินีเคยเป็น บ.ก. เขาเอาหลักการนี้มาประยุกต์กับกรณีนโปเลียนหย่ากับโจเซฟิน ว่าเป็นเพราะประโยชน์ชาติ มิได้เอาเรื่องส่วนตัวอยู่เหนือเรื่องของชาติ ดังนั้นหลักการนี้ดูเป็นหลักการพื้นฐานมาก

หลักการตีความนี้เริ่มตั้งแต่ 2447 แล้วไม่เคยถูกท้าทายเลย ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง จนต่อมาถึงเจ้ากรมคนที่สองคือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ก็สืบทอดขนบมาโดยตลอด ชัดเจนว่าแนวคิดมาคิอาเวลลีมาทางสายกองทัพชัดเจน

นอกจากสายกองทัพแล้ว ยังมีการอธิบายมาคิอาเวลลีอีกแบบหนึ่ง ในงานของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พระโอรสของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) ชื่อ เฟเดริกมหาราช ในท้ายเล่มของเล่มที่สอง เจ้าฟ้าจุลฯ ได้ยกระดับการเข้าใจมาคิอาเวลลีของไทยไปอีกสเต็ปนึง โดยการชี้ให้เห็นว่าข้อเสนอของมาคิอาเวลลีคือ เราไม่ควรประเมินความดีความเลวผู้ปกครองด้วยคุณธรรมแบบที่คนธรรมดามี มาตรฐานจริยธรรมของผู้ปกครองกับคนธรรมดาคนละชุดกัน

เวลาคุณพูดเรื่องความดีของคนธรรมดา อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีถ้าผู้ปกครองทำ เช่น คนธรรมดามีเมตตาเอื้อเฟื้ออาจจะดี แต่มาคิอาเวลลีบอกว่า ถ้าผู้ปกครองเอื้อเฟื้อ สุดท้ายจะเกิดหายนะต่อผู้ปกครองเอง เพราะทุกครั้งที่คุณให้ คุณก็จะให้ไปเรื่อยๆ แล้วโดยธรรมชาติของคน จะไม่พอ คุณก็ต้องให้ไม่หยุด พอให้ไม่หยุด เงินไม่เหลือ คุณก็ต้องขึ้นภาษีผู้คน แล้วเก็บมาเพื่อจะมาให้คนอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นมาคิอาเวลลีก็จะบอกว่า ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเอื้อเฟื้อ หากไม่นำไปสู่การรักษารัฐ

เจ้าฟ้าจุลฯ เอาหลักการตรงนี้มาเขียน ซึ่งจะต่างจากเยรินีที่เป็นทหาร ท่านเรียนประวัติศาสตร์ จึงมีการตีความความคิดทางการเมืองมากขึ้น ท่านชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมของผู้ปกครองเป็นคนละชุดกันกับเรารึเปล่า คุณไม่สามารถวัดความสำเร็จ หรือความเป็นมหาราชที่วัดโดยเกณฑ์คนธรรมดาได้ ถ้ามองด้วยคุณธรรมของคนธรรมดา เฟเดริกอาจจะไม่เป็นมหาราชเลย ทั้งไม่รักษาสัจจะ ทั้งใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมกับมิตรของตัวเอง แต่ถ้ามองในแง่ความเป็นกษัตริย์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐแล้ว ก็คงจะตอบง่ายขึ้น

อยากย้อนไปจนถึงแก่นแนวคิดของมาคิอาเวลลีนิดนึง อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ว่ามาคิอาเวลลีเติบโตมาแบบไหน เจออะไรมา จนนำมาสู่แนวคิดทางการเมืองการปกครองแบบนี้

มาคิอาเวลลีเป็นลูกทนายความธรรมดา ไม่ได้มีชีวิตโดดเด่นอะไรนัก แต่เป็นคนเรียนดี พ่อแม่ยื่นหนังสือคลาสสิกให้อ่านตั้งแต่เด็ก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงส่งไปเรียนพิเศษ ในวัยหนุ่ม มาคิอาเวลลีได้ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลสาธารณรัฐฟลอเรนซ์

ก่อนหน้านี้ฟลอเรนซ์ถูกปกครองโดยตระกูลเมดิชี เป็นตระกูลสำคัญ ในเวลาต่อมาเกิดกบฏจากบาทหลวง หลวงพ่อซาโวนาโรลาบอกว่าฟลอเรนซ์เต็มไปด้วยกิเลส นึกภาพว่าฟลอเรนซ์เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยศิลปะ ผู้คนวาดรูปสวยงาม เอาแต่มัวมุ่งความบันเทิง เรามาจัดพระเพลิงเผากิเลสดีกว่า ให้ผู้คนเอางานศิลปะมาเผา วุ่นวายไปหมดเลย แล้วบาทหลวงก็กลายเป็นผู้ปกครองของฟลอเรนซ์ พูดเรื่องการระมัดระวัง การใช้ชีวิตอย่างสงบเสงี่ยม ต่อต้านกิเลสตัณหา

ฟลอเรนซ์กลายเป็นดินแดนนักบุญ แทนที่จะเป็นดินแดนคนบาปที่มัวแต่สนใจเรื่องศิลปะ ความสวยงาม เรื่องเพศ ต้องไม่ลืมว่าฟลอเรนซ์เป็นต้นทางศิลปะในอิตาลีมาตลอด ช่วงเวลานั้นมาคิอาเวลลีก็เป็นหนุ่มแล้ว แล้วก็เห็นสภาพแบบนั้น ทีนี้การปกครองแบบนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายก็พังครืนลง ลงเอย หลวงพ่อก็ถูกเผากลางลานที่แกเผารูปนั่นแหละ พอแกถูกเผา การเมืองฟลอเรนซ์ก็พลิกไปพลิกมา ผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจกลายเป็นระบบสาธารณรัฐ

มาคิอาเวลลีด้วยความเป็นคนหนุ่มไฟแรง เรียนมหาวิทยาลัย มีบทบาท มีงานหลายชิ้นพยายามบอกว่า เขาก็ได้รับการฝากฝังเข้าไปทำงานเป็นเลขาคณะรัฐมนตรี ก็ยังเถียงกันอยู่ว่าตำแหน่งจริงๆ คืออะไร พอเข้าไปทำงาน ก็อยู่ฝั่งสาธารณรัฐเต็มตัวเลย ช่วยงานหลายอย่าง ก่อนหน้านี้ ฟลอเรนซ์หรืออิตาลีใช้วิธีการจ้างทหาร แล้วทหารมักจะหักหลังอยู่เสมอ เช่น คนอื่นให้เงินเยอะกว่า ก็หักหลังตีเรา

มาคิอาเวลลีเสนอว่าเรามาฝึกทหารพลเมืองกันเลยดีกว่า ฟลอเรนซ์ต้องมีกองกำลังประจำการ แล้วก็ไปยึดปิซ่า เมืองที่มีหอเอน ทำสงครามสำเร็จอยู่ครั้งสองครั้ง แล้วก็ติดตามคณะการทูตไปอีกหลายงาน เจอคนเด่นๆ ดังๆ หนึ่งในนั้นคือซีซ่า บอร์เจีย ลูกของพระสันตะปาปา ที่ขยายอำนาจแคว้นโรมัญญาอย่างรวดเร็ว มาคิอาเวลลีก็มีไอดอลเป็นคนนี้

จนต่อมา สาธารณรัฐในฟลอเรนซ์ถูกยึดคืนโดยตระกูลเมดิชี มาคิอาเวลลีในฐานะคนเคยทำงานใกล้ชิดก็ถูกทรมานแล้วเนรเทศ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไปอยู่บ้านที่ชานเมืองในแคว้นทัสกานี ระหว่างที่ถูกเนรเทศนี่แหละ เขาก็เขียนงานชิ้นนึงขึ้นมาชื่อ The Prince หรือแปลเป็นไทยว่า เจ้าผู้ปกครอง เป็นงานสั้นๆ เพื่อจะบอกว่าผู้ปกครองควรทำตัวอย่างไรเพื่อรักษาอำนาจ ตั้งใจว่าจะเขียนไปส่งให้ตระกูลเมดิชีเพื่อขอกลับไปทำงาน เขาใช้คำว่า คนทั่วไปมีของขวัญเป็นม้า อาวุธ ของมีค่า ผ้าแพรพรรณ แต่เขาไม่มี ชีวิตต่ำต้อยของเขามีของขวัญคือหนังสือเล่มน้อยที่รวมความรู้ทั้งหมดของเขาใส่มาแล้ว

เขาใช้คำว่า อย่าคิดว่าเขากล้าหาญสอนผู้ปกครองเลยนะ เพราะท่านเป็นผู้ปกครองอยู่แล้ว ให้นึกเสียว่าที่เขาเขียนได้ เหมือนจิตรกรวาดรูปภูเขา คุณจะวาดรูปภูเขาได้คุณต้องอยู่ที่ราบ แล้วมองภูเขาขึ้นไป เพราะฉะนั้นในฐานะประชาชนผู้ต่ำต้อยอย่างเขาเท่านั้นแหละ ที่จะเขียนแนะนำผู้ปกครอง งาน The Prince จึงเกิดขึ้น

ความน่าสนใจคือ งานนี้ตั้งคำถามกับคุณธรรม บอกว่าคุณธรรมแบบที่เข้าใจกันมา ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อรัฐ มันไม่ใช่ ดังนั้น ถ้าพูดอย่างหยาบที่สุด ซึ่งยังมีการถกเถียงกันอยู่คือ ผู้ปกครองอาจจะไม่จำเป็นต้องรักษาคำสัตย์ก็ได้ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์รัฐ ระหว่างความรักกับความกลัว ผู้ปกครองควรเลือกความกลัวมากกว่าความรัก

มาคิอาเวลลีบอกว่า ความรักเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเขา ทำดีแทบตาย ถ้าเขาไม่รักคุณก็จบ คุณทำไปก็เท่านั้นแหละ แต่ความกลัวอยู่ที่คุณ ตราบใดที่คุณยังทำตัวให้น่ากลัว ตราบนั้นฝ่ายนึงก็ยังคงกลัวคุณอยู่ และยังอยู่ใต้บังคับบัญชาของคุณ เพราะมนุษย์ในสายตามาคิอาเวลลีเป็นพวกไม่ซื่อสัตย์ เป็นพวกกลับกลอก หาประโยชน์เฉพาะสิ่งที่ตัวเองได้

ดังนั้นในแง่ของการรักษาอำนาจ ความกลัวย่อมดีกว่า เพราะอำนาจจะถูกผูกเอาไว้ตลอดกาล ตราบใดที่เราน่ากลัว ตราบนั้นเขายังกลัวเรา แต่ในความรัก ตราบใดที่เราน่ารัก ไม่ได้การันตีว่าเขาจะรักเรา แต่มาคิอาเวลลีก็ไม่ใช่คนโหดร้ายอย่างนั้น เขาบอกว่าดีที่สุดให้มีทั้งสองอย่าง ทำอย่างไรจะเป็นทั้งที่เคารพรัก ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอำนาจ อันนี้เป็นโจทย์ที่มาคิอาเวลลีเสนอกับเรา

วิธีแบบนี้ มีใครเคยทำสำเร็จไหม

สิ่งที่มีคนตีความก็อำนาจแบบศาสนจักรไง พระผู้เป็นเจ้าคือสิ่งที่เราทั้งกลัวเกรงแล้วก็รักด้วย อำนาจแบบนั้นเท่านั้นที่จะทำให้ได้ทั้งรักทั้งกลัว หรืออำนาจแบบพ่อแม่ เรากลัวพ่อแม่มั้ย กลัว ขณะเดียวกันเรารักพ่อแม่มั้ย เราก็รัก

มาคิอาเวลลีมีเงื่อนไขว่าอย่าทำให้เกลียด กลัวโดยไม่เกลียด ถ้าทำให้กลัวแล้วเขาเกลียด คุณจบชีวิต แต่เขาก็ไม่ได้อธิบายชัด มีความพยายามจะบอกว่า คนเราโกรธที่พ่อตายน้อยกว่าโกรธที่คนอื่นมาแย่งมรดกที่พ่อทิ้งไว้อีก ดังนั้นอย่าไปยุ่งกับทรัพย์สินพลเมือง

ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมหน่อย ทำให้กลัว ทำยังไงบ้าง เช่น มีกองทัพ หรือมีบุคลิกที่น่ากลัวขึงขัง?

กองทัพก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนอยู่ในร่องในรอย แต่ท่าทางขึงขังนี่ตอบยากมากว่าทำให้กลัวรึเปล่า คือบางทีอาจจะตลกก็ได้ แต่มาคิอาเวลลีไม่ได้พูดชัดเจนในงานว่าความตลกจะนำมาสู่อะไร แต่ถ้าจะตีความให้ชัดเจนก็คือ การทำให้กลัวคือการใช้อำนาจอย่างรวดเร็ว กระชับ ฉับไว คุณใช้อำนาจอย่างรวดเร็วเท่าไหร่ ฝ่ายตรงข้ามก็คาดเดาไม่ได้เท่านั้น ทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในการคาดการณ์

ความหวาดกลัวเกิดจากการที่คุณรู้ว่าไม่สามารถต่อรองกับอำนาจแบบนี้ได้ เพราะเด็ดขาดเหลือเกิน หรือเพราะคุณไม่สามารถเข้าใจกลไกของมันได้ ก็เป็นความหวาดกลัวธรรมชาติของมนุษย์

จริงๆ แล้ว มาคิอาเวลลีนับถือคุณค่าอะไรสูงสุด เขาต้องการอะไรเป็นหมุดหมายสำคัญ

ตอบยากมาก น่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ได้อีกหลายชิ้น แต่ถ้าผมจะตอบ ผมตอบจากส่วนสุดท้ายของงานหลายๆ ชิ้น เช่น The Prince, History of Florence คือมาคิอาเวลลีต้องการรวมชาติ

เขาเกิดในช่วงเวลาที่ฟลอเรนซ์กำลังเกิดวิกฤต ต้องเข้าใจว่าเป็นปมในใจของคนในรัฐซึ่งกำลังถูกคุกคามจากคนภายนอกอยู่ตลอดเวลา มาคิอาเวลลีเป็นคนในอิตาลี ซึ่งอิตาลีเป็นรากเหง้าของโรม โรมพังเพราะคนเถื่อน ในตอนท้ายของประวัติศาสตร์ฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นงานสุดท้ายที่มาคิอาเวลลีเขียน เขาบอกว่า ถ้าไม่ทำอะไร ตอนนี้ถนนกำลังเปิดทางให้บรรดาบาบาเรียน หรือคนเถื่อนจะเข้ามายึดครองอิตาลีอีกรอบแล้วนะ ในตอนท้ายของ The Prince มาคิอาเวลลีบอกว่าถึงเวลาปลดแอกอิตาลีจากบรรดาคนเถื่อน

นี่อาจจะเป็นข้อสรุปก็ได้ครับว่า ถึงแม้มาคิอาเวลลีจะเขียนหลายแบบ ทั้งงานสาธารณรัฐนิยม และงานแบบเจ้าผู้ปกครองนิยมก็ตาม แต่เป้าหมายสูงสุดของเขาคือประโยชน์ของรัฐ ทำยังไงก็ได้ให้อิตาลีรอดพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญ

พอพูดแบบนี้อาจจะเป็นแนวคิดยุคนั้น แต่พอมา 2019 แล้ว แนวคิดเรื่องรัฐชาติถูกตั้งคำถามเยอะมากว่า เส้นไม่มีจริง หรือรัฐชาติที่แท้จริงคืออะไรก็ไม่รู้ แต่ในยุคนั้นความหมายของคำว่าชาติถูกสร้างขึ้นจากอะไร ทำไมจึงมีอิทธิพลต่อคนได้มากขนาดที่ทำให้คนยอมที่จะให้ผู้ปกครองไม่ต้องมีศีลธรรมก็ได้

ช่วงเวลาสงครามเหล่านั้น ถ้ารัฐไม่รอด เราก็ไม่รอด ทำไมเราถึงยอมให้ผู้ปกครองอยู่รอด ปล่อยให้ผู้ปกครองมีอำนาจ เพราะการที่ผู้ปกครองเข้มแข็งก็แปลว่ารัฐเข้มแข็ง นี่เป็นวิธีคิดพื้นที่สุด การรอดของรัฐ คือการรอดของคุณ แต่นอกจากนั้นวิธีคิดเรื่องชาตินิยมอาจจะมีส่วนบ้าง แต่น้อยกว่าแนวคิดนี้ เพราะเป็นช่วงสงครามและความขัดแย้ง

ความหวาดกลัว เกิดจากการที่คุณรู้ว่าไม่สามารถต่อรองกับอำนาจแบบนี้ได้

ตัดมาที่ไทย พอแนวคิดมาคิอาเวลลีเข้ามาแล้วส่งผลอย่างไรบ้างต่อชนชั้นปกครองของไทย

เป็นปริศนาใหญ่มาก ก่อนผมจะทำวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ มีงานหลายชิ้นมากเลยที่พยายามจะตีความว่า มีความเป็นมาคิอาเวลเลียนในบุคคลสำคัญของไทยหลายคน เช่น รัชกาลที่ 1 จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ หรือทักษิณ ชินวัตร ผมก็เริ่มตั้งคำถามว่า มาคิอาเวลลีส่งผลต่อคนเหล่านี้มากมายขนาดนั้นจริงๆ หรือ

มาคิอาเวลลีเป็นที่แพร่หลายในโลกตะวันตก เพราะถูกทารุณเอาไว้เยอะเลย พอมาคิอาเวลลีเสนอคำสอนนี้ ศาสนจักรสั่งแบนเลย ไม่ถูกตีพิมพ์ ถูกด่า คนบาป เป็นปีศาจ แล้วก็ถูกดองก่อนที่จะเอาไปเผยแพร่ แต่การเข้ามาของมาคิอาเวลลีในไทย เราไม่เคยเจอวิกฤตแบบนั้น การเผยแพร่แนวคิดเป็นไปอย่างราบรื่น มีหายไปช่วงหนึ่ง คือช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกซ่อนแป๊บเดียว แต่ก็อยู่ของมันอย่างสงบเสงี่ยมเรียบร้อย หรือจริงๆ แล้วมาคิอาเวลลีไม่ได้แปลกใหม่อะไรเลยในไทย การทำความเข้าใจมาคิอาเวลลีของผมคือการเจอบางอย่างที่อยู่มานานแล้ว

ถ้าเรากลับมาคิดดีๆ คำสอนจำพวกแบบ คุณธรรมมีหลายชุด เวลาเราพูดเรื่องความดี เราไม่ต้องพูดความจริงทุกกรณี บางครั้งเราต้องเอื้อเฟื้อ ตระหนี่ หรือประโยชน์บางอย่างสำคัญกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ไม่ใช่มาคิอาเวลลีเพิ่งมาพูด วันวลิตไม่ได้มาบอกให้พระเจ้าปราสาททองรู้จักมาคิอาเวลลี พระเจ้าปราสาททองทำมานานแล้ว มาคิอาเวลลีเป็นแค่ชื่อใหม่ในเนื้อเดิม

ถ้าถามว่าส่งผลต่อชนชนชั้นนำยังไง ผมคิดว่า บางคนถือว่าเป็นสัจจะทางการเมือง มาคิอาเวลลีเป็นแค่คนเผยกลซึ่งมีมานานแล้ว แล้วเป็นคนเผยกลที่ตลกมาก คือเอาชื่อตัวเองไปแปะหน้าหนังสือในการบอกว่านี่คือกล

คนจำนวนมากบอกว่ามาคิอาเวลลีไม่ได้ทำอะไรแปลกเลย เรื่องทั้งหมดที่มาคิอาเวลลีสอน ทุกคนก็ทำเป็นกันทั้งนั้น เราก็ไม่เลือกที่จะโกหกถ้าไม่เป็นประโยชน์กับเรา เรื่องแบบนี้ใครก็รู้ เราอย่าไปให้มากนะเดี๋ยวมันจะพัง หรือบางทีเราดุเด็ก วิธีการจัดการกับเด็กคือสุดยอดแห่งการเป็นมาคิอาเวลลี มีหนังสือมาคิอาเวลลีสำหรับคุณแม่

ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยรู้อยู่แล้ว รู้ก่อนมาคิอาเวลลีจะมาอีก

แนวคิดแบบมาคิอาเวลลี ก็คือผู้ปกครองจะต้องปกครองคน ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิดคนเท่ากัน เกี่ยวไหมว่าสังคมเราอาจจะไม่ได้เชื่อว่าคนเท่ากันแต่แรกอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าไม่เห็นแปลกเลย

ส่วนหนึ่งก็เป็นไปได้นะ แต่อย่างหนึ่งที่ผมบอก คำสอนมาคิอาเวลลีเป็นสัจจะทางการเมือง หรือถ้าคุณถามว่าแนวคิดที่ผู้ปกครองมีอำนาจเหนือผู้คนจะยังอยู่ได้ไหมในโลกปัจจุบันที่เชื่อเรื่องคนเท่ากัน ผมคิดว่าอยู่แน่นอน จะต้องดำรงอยู่ตลอดกาล เพราะว่าทันทีที่คุณพูดว่าต้องมีผู้ปกครอง คุณก็บอกแล้วว่าต้องมีใครมีอำนาจมากกว่าเรา คุณตั้งผู้ปกครองทำไม ถ้าคุณทำได้เองทุกอย่างแล้ว

แต่ถ้าเป็นผู้ปกครองที่เราเลือกมา และสามารถตรวจสอบได้ เช่นในระบอบประชาธิปไตย ก็อาจจะแตกต่างจากผู้ปกครองแบบเดิม?

ทุกแนวคิดล้วนเชื่อว่าเราต้องการผู้ปกครอง ทั้งเสรีนิยม อนุรักษนิยม อำนาจนิยม รวมไปถึงสังคมนิยม เขาอาจจะบอกในแง่ทฤษฎีว่าไม่เอาผู้ปกครอง แต่ไม่มีใครปฏิเสธการมีอยู่ของผู้ปกครอง อาจจะเถียงกันแค่เรื่องที่มาของอำนาจ เป้าหมายการใช้อำนาจ และวิธีการตรวจสอบอำนาจ แต่เราไม่ได้เถียงกันเรื่องว่า เราไม่ได้ต้องการผู้มีอำนาจ ทุกระบอบยังไงเรากลับไปที่เดิมคือเราต้องการผู้ปกครอง เพราะว่าสังคมมนุษย์ ไม่มีผู้ปกครองก็ไม่เกิดรัฐ รัฐคือสิ่งที่ไม่ได้หายไปจากแนวคิดการปกครอง เพียงแต่เรามาเถียงกันว่าเขาจะมีที่มาแบบไหน แล้วใช้อำนาจแบบไหน

มาคิอาเวลลีถูกคนอย่างแมคคอมิคส์ตีความว่าเป็น Civil Prince ด้วย คือผู้ปกครองแบบนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยจริงๆ เพราะทำให้คนเท่าเทียมจริงๆ เท่าเทียมภายใต้คนๆ เดียว ถ้าไม่มีคนรันระบบให้ เกิดขึ้นไม่ได้

ระบอบที่เรารู้จักทุกวันนี้คือความไม่เท่าเทียมบนชนชั้นที่หลากหลาย ผมคิดว่ายังมีการตีความอะไรแบบนี้อยู่

ในกรณีมาคิอาเวลลี ก็มีการตีความหลากหลาย คนอย่างฟรานซิส เบคอน คนอย่างสายสนับสนุนปฏิวัติฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งบอกว่า เราเป็นหนี้มาคิอาเวลลี เขาสอนว่าสิ่งที่เจ้าเป็นคือยังไง เราก็เลยรู้ มาคิอาเวลลีเป็นคนที่เขียนงานอย่างกลับกลอกเพื่อแฉเจ้าให้เราเห็น คุณอาจจำเป็นต้องใช้อำนาจแบบนี้ เพื่อจะสร้างรัฐให้อยู่รอดได้

ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามักจะคิดว่ากระแสอังกฤษกับฝรั่งเศสครองอำนาจ งานของหลวงวิจิตรวาทการ ชื่อ มนุษย์ปฏิวัติ พูดชัดเจนว่า ในช่วงพลิกแผ่นดินใหม่ๆ ถ้าจะรักษาแผ่นดินให้อยู่รอดได้ ก็เห็นจะต้องใช้วิธีการแบบอิตาลี คือกระชับอำนาจให้มั่น

เวลาเราพูดแบบนี้ วิธีแบบอิตาลีคือ มาคิอาเวลลี ฟาสซิสต์ มาเซ็ตเดียวกัน ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าฟาสซิสต์ในเวลานั้น ไม่ได้มีความหมายลบอย่างที่เราเข้าใจ เป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่งเท่านั้น  เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังเคยคิดว่าจะไปแบบอิตาลีด้วยซ้ำไป

เมื่อกี้มีคำนึงที่ว่า “เท่าเทียมภายใต้คนคนเดียว” แล้วถ้าในบริบทปัจจุบันที่คนมีข้อมูลข่าวสาร มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย คนคนเดียวที่ว่าจะอยู่ยังไงภายใต้สภาวะบ้านเมือง และวิธีคิดของผู้คนในยุคสมัยใหม่

การเท่ากันภายใต้หลักการ หรือบุคคลแต่เพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่เรื่องแปลก รากฐานความเท่ากันในโลกตะวันตกคือ เราทุกคนเสมอหน้ากันต่อหน้าพระเจ้า พระเจ้าเท่านั้นที่ไม่เท่ากับเรา แต่มูลเหตุแห่งความชอบธรรมของพวกเรามาจากพระองค์ แล้วทุกวันนี้ถ้ากลับไปถามเรื่องว่าคนเท่ากัน จริงๆ เป็นอย่างไร ในเชิงวิทยาศาสตร์ คุณไม่มีวันได้คำตอบแน่ เรากลับไปหารากฐานทางความคิดถูกมั้ยครับ กลับไปหาคนอย่าง จอห์น ล็อค ไปหานักคิดเสรีนิยม ซึ่งถอยกลับไปจริงๆ รากก่อนหน้านั้นคือเสมอหน้ากันต่อหน้าพระเจ้า

ในโลกสมัยใหม่ ถ้าหลักการนั้นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างที่เป็นฐานความชอบธรรมของสิ่งอื่นๆ ได้ ก็ทำได้ หลักการโลกตะวันตกเองก็เลี่ยงที่จะไม่พูดถึงพระเจ้า ในขณะที่พระเจ้ายังคงดำรงอยู่ในฐานะ one above all สำหรับสรรพสิ่งทั้งหลายอยู่

แต่พระเจ้าอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีจริง แต่ในโลกจริงมีเจ้าปกครองจริงๆ

ในกรณีเจ้าผู้ปกครอง เราไม่ได้พูดถึงตัวบุคคลแบบมนุษย์คนหนึ่ง เราพูดถึงหลักการบางอย่างที่ดำรงอยู่ ผมว่าคือการลดทอนหรือการขยายความ เฉกเช่นเราทำกับพระเจ้า ก็เป็น one above all อยู่ดี ท้ายที่สุดเวลาเรากลับไปถามว่า มนุษย์เท่ากันเพราะอะไร ถ้าคุณไม่มีหลักการบางอย่างซ่อนอยู่ข้างหลัง คุณก็ไม่สามารถอธิบายความเท่าเทียมกันของมนุษย์ได้

มูลเหตุแห่งความเท่ากันของมนุษย์ เป็นความคิดซึ่งเราต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ กว่าจะสร้างความเข้าใจแบบนี้ในโลกตะวันตก ใช้เวลาอย่างยาวนาน ไม่ใช่ปุ๊งขึ้นมา คนเท่ากัน แต่ต้องเป็นความคิดที่ผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ มีการเติบโต ไม่ต่างกับมาคิอาเวลลีในการสร้างความคิดเหล่านั้นขึ้นมา ว่ามีหลักการบางอย่างซ่อนอยู่ใต้เรื่องของความเท่ากัน ผมว่าในแง่ปฏิบัติ ก็คือการทำให้หลักการหนึ่งกลายเป็นความชอบธรรมของเรื่องอื่นๆ

ถ้าให้พูดถึงว่าประเทศในปัจจุบันที่คนมองว่าเป็นประชาธิปไตย ยึดถือเสรีนิยมอย่างอเมริกา มีแนวคิดแบบมาคิอาเวลลีแทรกซึมอยู่ในนั้นมั้ย

เราอย่าลืมว่าตอนนี้ประธานาธิบดีอเมริกากลายเป็นทรัมป์ ซึ่งได้มาด้วยข้อเสนอที่เป็นสุดยอดมาคิอาเวลลี ถ้าเราไปเสิร์ช คำว่ามาคิอาเวลเลียนกับทรัมป์ จะเจอเต็มไปหมดเลย มีทั้งแบบทรัมป์ทำตามมาคิอาเวลลี หรือทรัมป์ยังฉลาดไม่เท่ามาคิอาเวลลี อย่าลืมว่าข้อเสนอของเขาเช่น Make America Great Again สร้างกำแพงจัดการเรื่องเพื่อผลประโยชน์ของรัฐเป็นหนึ่ง ทรัมป์ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น คำนวณถึงผลประโยชน์รัฐ ถึงแม้บางครั้งจะคำนวณแบบขาดความเข้าใจไปนิดหน่อยก็ตาม

ในกรณีนี้ต้องใช้คำแบบจูเซปเป้ เปซินี่ นักคิดช่วงปลดแอกอิตาลี ที่บอกว่ามีคนมากมายคิดแบบมาคิอาเวลลี แต่น้อยคนนักสติปัญญาจะเท่ามาคิอาเวลลี ผมคิดว่ากระแสทรัมป์ หรือกระแสฝ่ายขวาที่ขึ้นมา ชัดเจนว่ามาคิอาเวลลีไม่ได้หายไปไหน ถ้าเหมือนวิ่งกันรอบสนาม คนอื่นอาจจะนำไปแล้ว แต่เราลืมไปว่าสนามเป็นวงกลมรึเปล่า มาคิอาเวลลีอยู่กับที่ แล้วทุกคนก็วนมาหาเขาเอง

กระแสเสรีนิยมอาจจะเกิดขึ้นในโลก แต่ ณ เวลานี้ ในอเมริกาเอง หรือหลายพื้นที่ในยุโรป ฝ่ายขวาที่กลับมาก็สะท้อนให้เห็นความโหยหาอะไรบางอย่าง ซึ่งดูคล้ายสิ่งที่มาคิอาเวลลีเสนอ เราอาจจะบอกได้ว่าปรากฏการณ์ในหลายที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นมาของทรัมป์ หรือดูเดแตร์เต้ในฟิลิปปินส์ ก็สะท้อนกลิ่นอายว่าเราโหยหาผู้ปกครองแบบนั้นรึเปล่า ไม่ได้หล่นหายไปนะ แม้กระทั่งในประเทศที่เสรีนิยมจ๋าๆ อย่างอเมริกาเองก็ดี คนอย่างทรัมป์ก็ขึ้นมาได้ ตอนแรกผู้คนก็ตกใจ แต่หนึ่งในหลายคำอธิบายที่นักวิชาการเอากลับมาก็คือความขัดแย้งแบบมาคิอาเวลลี

มาคิอาเวลลีเสนอว่าการที่จะเอาการปกครองบางอย่างกลับมาได้ มีทั้งเจ้าปกครองสืบตระกูล เจ้าผู้ปกครองแบบที่ไปยึดรัฐมา เจ้าผู้ปกครองที่มาจากมหาชน ซึ่งเจ้าผู้ปกครองที่มาจากมหาชนมักเกิดจากชนชั้นที่ขัดแย้งอยู่เสมอ ระหว่างประชาชนชั้นล่างกับบรรดาชนชั้นสูง แล้วเมื่อขัดกัน ชนชั้นล่างก็จะเรียกหา Prince สักคนมาช่วยพวกเขา มาปลอบประโลมใจพวกเขา ซึ่งเป็นความโหยหาฮีโร่โดยปรกติของชนชั้นล่าง แล้วพอฮีโร่มา ฮีโร่ก็จะเยียวยาเขา ผ่านการบอกว่า เขาเป็นคนที่ถูกทิ้ง เขาถูกละเลย การพูดของทรัมป์เรื่อง Make America Great Again ก็คือการกลับไปหาจุดยืนนี้ที่ว่า ชนชั้นสูงเหล่านี้ทิ้งพวกคุณ ซึ่งก็คือการกลับไปหา Civil Prince แบบมาคิอาเวลลี

มาคิอาเวลลีเสนอว่า มีความขัดแย้งอยู่เสมอ ระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูง แต่ถ้าเลือกต้องเลือกชนชั้นล่าง เพราะชนชั้นล่างจะไม่หักหลังคุณ ประชาชนจะไม่หักหลังคุณ แต่ชนชั้นนำเท่านั้นแหละจะแย่งกัน แล้วหักหลังกัน เพราะฉะนั้นผู้ปกครองที่ฉลาดจะเลือกสนับสนุนประชาชนแล้วจัดการเคลียร์พวกชนชั้นสูงทิ้งซะ แล้วผู้ปกครองก็จะสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้

แล้วการเมืองแบบไทยเป็นแบบไหน

พูดกันตรงๆ มาคิอาเวลลีเป็นคนซื่อครับ ข้อเสนอของมาคิอาเวลลีคือการเผยกล แต่สังคมไทยอยู่กับนักมายากลซึ่งเก่งกว่ามาคิอาเวลลีเยอะ ผมคิดว่ามาคิอาเวลลีอธิบายการเมืองไทยไม่ได้หรอก ถ้าเขามาเห็นอาจจะต้องเขียนหนังสืออีกสักสองสามเล่ม แล้วเผลอๆ อาจจะเขียนไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ามายากลเราเป็นยังไง

ถ้าตะวันตกเป็นนักมายากลแล้วมาคิอาเวลลีเผยไต๋ ที่นี่ก็เป็นพ่อมด คุณอธิบายพ่อมดไม่ได้ คุณแก้กลนี้ไม่ได้ เพราะนี่คือเวทมนตร์ เวทมนตร์ทรงพลังกว่า และไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ อธิบายได้ แล้วที่มาคิอาเวลลีจะไปฉีกแล้วอธิบายว่านี่คือกฎวิทยาศาสตร์ เขาอธิบายเราไม่ได้หรอก เราเป็นนักมายากลอีกแบบนึง

มาคิอาเวลลีบอกว่าผู้ปกครองจงอย่าให้นะ เพราะว่ายิ่งให้เงินจะยิ่งหมด ความตระหนี่ต่างหากที่จะช่วยให้ผู้ปกครองรักษาเมืองไว้ได้ แต่สังคมไทยเราโตมากับพระเวสสันดร ซึ่งพระเวสสันดรให้ ต่อให้ให้ช้างไปก็ได้กลับมาครองราชย์ใหม่ แล้วก็ยังได้พรจากพระอินทร์ให้มีทรัพย์ไม่จำกัดในการให้ วิธีคิดเราต่างกันอยู่แล้ว เราไม่เคยกลัวเรื่องอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ผมคิดว่านักมายากลของเราเก่งกว่า อธิบายกันยาก คนละชั้นเลย มาคิอาเวลลีถึงจะพูดตรงไปตรงมาเท่าไหร่ก็ตาม หรือจะดูลุ่มลึกเท่าไหนก็ตาม ก็อธิบายเท่าที่หน้าฉากเห็น

เราต้องไม่ลืมว่ามาคิอาเวลลีไม่ได้รับคืนตำแหน่งจนตาย เขียนให้เมดิชีก็จริงนะ แต่เมดิชีก็ไม่แคร์ งานบางชิ้นให้เหล้ามาสองขวดด้วยซ้ำ คือไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรเลย แต่ผู้คนมาอ่านแล้วมีแรงบันดาลใจบางอย่าง คนที่อ่านมาคิอาเวลลีก็มีหลายคน เช่น ตระกูลเมดิชีที่ปกครองฝรั่งเศสอ่าน มีหลักฐานว่าเจอในเสื้อโค้ตนโปเลียน มีบางอันบอกว่าฮิตเลอร์วางไว้หัวนอน แต่หลายคนที่อ่านพังหมดเลย เพราะฉะนั้นมาคิอาเวลลีเป็นคนเผยมายากล แต่คนอ่านก็อาจจะไม่ได้เข้าใจอะไรขนาดนั้น

แนวคิดของมาคิอาเวลลีมีชีวิตใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วถ้าให้คุณลองอธิบายการเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ด้วยแนวคิดแบบมาคิอาเวลลี คุณจะอธิบายอย่างไร

เวลามาคิอาเวลลีพูดเรื่องคุณธรรม เขาพูดคู่มากับศัพท์อีกชุดนึง เรียกว่า Fortuna แปลว่า โชคชะตา มาคิอาเวลลีบอกว่าผู้ปกครองจำเป็นต้องมีคุณธรรมเป็นของตัวเอง เพื่อจัดการกับบรรดาโชคชะตาที่ถาโถมเข้ามา มาคิอาเวลลีอยู่ในฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นเมืองที่มีน้ำผ่าน โจทย์ที่เขาตั้งคำถามเมื่อ 500 ปีที่แล้ว คือจะจัดการกับน้ำท่วมยังไง

มาคิอาเวลลีเป็นเพื่อนกับลีโอนาโด ดาวินชี และวิศวกรอีกหลายคนในยุคเรเนซองส์ เขาเสนอเรื่องการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของมาคิอาเวลลีที่ว่า คุณธรรมที่เขาพยายามจะบอกกับผู้ปกครองก็เพื่อทัดทานโชคชะตา ซึ่งแปรเปลี่ยนไม่รู้จักจบจักสิ้น โชคชะตาเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เหมือนกระแสน้ำที่จะถั่งโถมเข้ามาหาผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงต้องมีคุณธรรมเป็นเขื่อนคูที่จะคอยจัดการกระแสแห่งโชคชะตา ซึ่งจะแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาและไม่มีวันเข้าใจได้ โชคชะตาเป็นสิ่งที่มาคิอาเวลลีไม่สามารถควบคุมได้จนตอนจบงานของเขา

ผมคิดว่าถ้าจะอธิบายการเมืองไทยก็คือ Fortuna หรือโชคชะตา กระแสน้ำก็ทรงพลังอย่างนั้นแหละ สิ่งที่จะทำได้ก็คือลับคุณธรรมให้แหลมคม สร้างคันเขื่อนคูคลองให้สามารถรองรับการแปรเปลี่ยนของโชคชะตาได้ก็แล้วกัน

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ มีชนชั้นสูง ชนชั้นล่าง คนจนก็จนจริงๆ แล้วก็ไม่รู้จะเลื่อนชนชั้นฐานะตัวเองไปยังไง เกี่ยวมั้ยกับการที่บอกว่ามีหลักการหนึ่งคอยดูแลให้คนเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เท่า คุณมองยังไง

ถ้าอธิบายในฐานะที่ผมทำปรัชญาการเมือง กรณีนี้เราอาจจะไม่ต้องใช้มาคิอาเวลลี อาจจะต้องใช้อะไรแบบไทยๆ เช่น พระเวสสันดร คือพอคุณไม่มี เดี๋ยวก็มีคนให้คุณ ทุกวันนี้ไปดูนโยบาย มีนโยบายไหนบ้างที่ไม่มีใครทำตามแบบพระเวสสันดร ทุกคนก็เดินตามรอยพระเวสสันดรกันต้อยๆ นี่คือนักมายากลที่มาคิอาเวลลียังคลายไม่ได้

แล้วถ้าถามว่าใครกันที่ดำรงอยู่ ก็หลักการการให้บนวิธีคิดแบบนี้ทั้งนั้น ความเท่าเทียมไม่ใช่แค่มีคนเดียวแล้ว แต่คือเครือข่ายที่โยงใย แล้วก็ทำให้ผู้คนเหล่านี้อยู่ในที่ทางของเขา ไม่ใช่แค่คนๆ เดียว ไม่ใช่แค่หลักการเดียว แต่คือธรรมชาติที่ผู้คนเหล่านั้นถูกทำบนความพยายามของหลายๆ อย่าง ซึ่งทุกคนก็เล่นบทพระเวสสันดรในมิติของตัวเองทั้งนั้น เพื่อให้บรรดาประชาชนอยู่ภายใต้ที่ทางที่สามารถจัดการได้

ตัวคุณเองมองยังไง

ผมศึกษาความคิดโบราณ วิธีคิดโบราณอยู่ในข้อถกเถียงเรื่อง สงบ กับ สุข เราอาจจะต้องหาวิธีสมดุลสองคำนี้ให้ได้ คุณสงบแล้วสุขมั้ย สุขแล้วสงบมั้ย โลกโบราณเถียงกันอยู่แค่นี้ มาคิอาเวลลีก็เถียงกันอยู่แค่นี้ กลับมาจารีตโบราณแบบไทย คือเราจะจัดการสองอย่างยังไง ในโลกสมัยใหม่ คุณเลือกอันใดอันหนึ่งก็อาจจะลำบากใจ สงบแต่ไม่สุข สุขแต่ไม่สงบ ดุลยภาพอยู่ตรงไหนต่างหาก

ในงานเขียนของคุณ มีการพูดถึงบุคลิกภาพแบบมาคิอาวิลเลียน ช่วยขยายความคำนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม

เวลาเราพูดถึงบุคลิกภาพแบบมาคิอาเวลลี ก็ไม่ใช่มาคิอาเวลลีชายผู้น่าสงสารที่เราเพิ่งคุยกันไป แต่กลายเป็นภาพของคนทะเยอทะยาน บ้าอำนาจ มาคิอาเวลลีคนนั้นที่ถูกฟลอเรนซ์ทิ้งไปแล้ว

มาคิอาเวลลีสำหรับนักบริหารก็กลายเป็นหลักการบริหาร แทนรัฐด้วยบริษัท มาคิอาเวลลีเพื่อความบันเทิงก็เกิดขึ้น เกิดการ์ตูนสอนเด็กมาคิอาเวลลีขึ้นมา ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าผู้ปกครองแบบไหนจะซื้อการ์ตูนมาคิอาเวลลีให้ลูกตัวเองอ่าน ลูกต้องเป็นผู้ปกครองที่เด็ดขาดนะ ในความจำเป็นคือถือประโยชน์รัฐเป็นสำคัญ การเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ คือการลดทอนมาคิอาเวลลีสำหรับผู้คน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าม่านทางศีลธรรมไม่คลายลง ตอนนี้มาคิอาเวลลีไม่ใช่แค่เรื่องผู้ปกครองแล้ว มันไปทุกที่

ในประวัติศาสตร์ยุโรป มาคิอาเวลลีถูกเอาไปใช้โดยบาทหลวงเยสุอิต ในการอธิบายเรื่องการใช้เพื่อประโยชน์ตัวเอง ความขยันหมั่นเพียรด้วยซ้ำ เราใช้มาคิอาเวลลีอย่างมั่วซั่วไปหมดเลย ทุกคนต่างหยิบยืมเรื่องอย่างละนิดอย่างหน่อยของมาคิอาเวลลีไปอธิบายเรื่องที่ตัวเองต้องการ หรือในทางกลับกัน เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่มาคิอาเวลลีอธิบายเรื่องเหล่านั้นไว้อย่างละนิดอย่างละหน่อยในงานของเขาเท่านั้นเอง

เมื่อแนวคิดมาคิอาเวลลีกลายพันธุ์ไปแล้ว แล้วในไทยมีแนวคิดมาคิอาเวลลีในสื่อมั้ย

มีชิ้นนึงที่น่าสนใจ เป็นบทละครเวทีของมาคิอาเวลลี ถูกแปลเป็นไทยชื่อ แมนดรากอร่า มีคนบอกว่าเหมือนประตูหลังของ The Prince ถ้าอยากเข้าแบบง่ายๆ เข้าผ่านแมนดรากอร่า หนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยแล้ว อ่านง่าย

เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ มีชายคนนึง ชอบผู้หญิงที่มีสามีแล้วซึ่งเป็นชายแก่ซื่อๆ ไม่มีลูกสักทีกับหญิงสาวแสนสวยคนนี้ ชายคนนี้ก็ไปวางแผนกับเพื่อนว่าทำยังไงจึงจะได้ผู้หญิงที่อยู่กับสามีไม่มีน้ำยา ก็วางแผนหลอกสามีว่าจะทำให้ท้องได้นะ แต่จะต้องกินน้ำยาวิเศษแมนดรากอร่า ซึ่งเมื่อกินน้ำยานี้เข้าไปแล้ว มีผลร้ายคือชายคนแรกที่นอนกับผู้หญิงคนนี้จะต้องตายเพราะพิษยากำเริบ ดังนั้นเดี๋ยวจะไปหลอกจับผู้ชายคนหนึ่งมาเป็นเหยื่อ คือตัวเองเสนอแผนเอง แล้วก็ปลอมตัวให้คนจับตัวเองมาเพื่อได้นอนกับนางเอก

เมื่อนอนเสร็จแล้ว ผู้หญิงที่ได้เจอชายหนุ่มที่แข็งแรงกว่าสามีตัวเองก็พึงใจเป็นพิเศษ สามีก็ดีใจที่ได้ลูก ผู้หญิงก็ได้ตอบสนองความต้องการ ผู้ชายก็ได้ครองรักกับผู้หญิงคนนั้น ลงเอยทุกอย่าง วิน-วิน เพราะตอนจบ สามีดีใจมากที่ชายคนนี้ติดต่อหมอให้จนทำให้มีลูก เลยเปิดห้องให้มานอนที่บ้านได้ตลอดเวลา

นี่คือบทสรุปที่เป็นมาคิอาเวลลีที่สุดเลย แต่อย่าลืมว่ามาคิอาเวลลีจบทุกอย่าง วิน-วิน นะครับ ไม่มีใครเสียประโยชน์ ทุกคนได้ประโยชน์หมด และศีลธรรมเป็นเรื่องพักไว้ก่อนก็ได้ ถ้านำมาซึ่งประโยชน์ บางคนบอกว่า สาวน้อยในเรื่องแทนรัฐ สามีเก่าคือผู้ปกครองรัฐเดิม ในขณะที่ผู้ปกครองรัฐใหม่คือชายหนุ่มที่อยากได้ผู้หญิง เมื่ออยากได้แล้วก็ต้องหาวิธีครอบครอง น่าจะเป็นคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมที่สุดของมาคิอาเวลลี

ในไทยก็มีเรื่องคล้ายๆ กันของหลวงวิจิตรวาทการ ชื่อเรื่อง คลุมถุงชน โครงเรื่องคล้ายเรื่องนี้มาก สามีภรรยาแต่งงานกันไม่มีลูก แต่เรื่องน่าแปลกอยู่ตรงที่ว่า พ่อแนะนำวิธีที่จะทำให้มีลูกคือพากันไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วให้ลูกชายปลอมตัวเป็นคนอื่นมาข่มขืนเมียตัวเอง ลงเอยเมียก็ท้อง พล็อตดูจะคล้าย แต่ต่างกันตรงที่ไอ้นี่ข่มขืนเมียตัวเอง ไม่มีคนนอกเข้ามา

ผมตั้งคำถามว่าคล้ายกันมากเลยนะในแง่หนึ่ง จนผมไปค้นเจอว่า หลวงวิจิตรวาทการคือคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเสนอรัฐประหารตัวเอง ของทั้งจอมพลสฤษดิ์ และจอมพล ป. ด้วย

ถ้าเรื่องแมนดรากอร่า คือการที่ผู้ปกครองรัฐใหม่อยากไปยึดรัฐคนอื่นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องหลอกแบบนั้น แต่เรื่องนี้ผู้ปกครองรัฐตัวเองจะยึดรัฐตัวเองเพื่อกระชับอำนาจ ก็ต้องปลอมเป็นคนนอกแล้วมาทุบหัวเข้าบ้าน แล้วก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนเมียท้อง พอเมียท้องก็ค่อยบอกความจริงว่าคนที่เข้าหาวันนั้นคือฉันเอง ต้องทำให้ผู้หญิงรู้สึกเหมือนถูกกระทำ แต่ทำให้ตัวเองมีอำนาจเหนือเมียมากขึ้นกว่าเดิมด้วยการกระชับอำนาจ

นี่คือการเอาแมนดรากอร่า มาประยุกต์เป็นเวอร์ชั่นไทยอย่างชัดเจน เพราะเวอร์ชันไทยจะไม่แนะนำผู้ชายให้ไปยุ่งกับเมียคนอื่นหรอก บรรดาผู้เรียนรู้มาคิอาเวลลี ทำงานกับผู้มีอำนาจทั้งนั้น ดังนั้นเขาไม่แนะนำอะไรแบบแมนดรากอร่า อันตราย เขาแนะนำให้เจ้าของรัฐจัดการกับของในรัฐดีกว่า ปลอมตัวมานอนอีกรอบก็แล้วกัน

รัฐถูกกระทำเยอะเหมือนกันนะแบบนี้

รัฐเป็นสาวน้อยในการตีความ คือสาวผู้ถูกกระทำ

พอพูดแบบนี้ ก็มีประเด็นเรื่องเพศเข้ามาด้วย

ใช่ครับ ทางเพศชัดเจน มาคิอาเวลลีบอกว่าโชคชะตาเป็นผู้หญิง ต้องใช้กำลัง ผู้หญิงชอบใช้ความรุนแรง มาคิอาเวลลีเป็นคนแบบนั้น ตามประวัติ มาคิอาเวลลีอยู่บ้าน แล้วขุดอุโมงค์ไปหาโสเภณีด้วยซ้ำไป มีเซ้นส์ในการมองผู้หญิงพอสมควร เพราะฉะนั้นข้อเสนอหลายอย่างของมาคิอาเวลลีก็จะเป็นแบบนั้น

การที่เปรียบโชคชะตาเป็นผู้หญิง แปลว่ามันแปรปรวน เข้าใจไม่ได้ มีหนังสือเล่มนึงเลยชื่อ Fortuna is a woman หรือบางคนพยายามจะตีความว่างานของมาคิอาเวลลีมีกลิ่นอายที่พยายามจะพูดถึงบทบาทของผู้หญิงด้วย เช่น ข้อเสนอสำคัญที่โดดเด่นมาก ก็คือว่า เขาอุปมาแทนผู้ปกครองเป็นสิงโตและจิ้งจอก สิงโตคือการใช้อำนาจ ไล่หมาป่าได้ แต่ออกจากกับดักไม่ได้ ในขณะที่จิ้งจอกแกะกับดักได้ แต่ไล่หมาป่าไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องเรียนรู้ที่จะเป็นสิงโตและจิ้งจอก

สิงโตเป็นภาพแทนความเป็นชาย จิ้งจอกก็เป็นภาพแทนความเป็นหญิง หรือความเจ้าเล่ห์เพทุบาย แล้วข้อเสนอแบบนี้ มาคิอาเวลลีบอกว่า ถ้าตกลงด้วยกฎหมายไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีแบบสัตว์ แล้ววิธีแบบสัตว์ก็ต้องใช้ทั้งสิงโตและจิ้งจอก

มาคิอาเวลลีอกหักมารึเปล่า เลยโกรธผู้หญิง

ถ้ามาสายโกรธผู้หญิงน่าจะมีหลายคนหนักกว่านี้ โสเครตีสมีภรรยาชื่อ Xanthippe ถ้าไปเสิร์ชในกูเกิ้ล ภาพ Xanthippe ที่เห็น มีภาพเดียวคือ กำลังเอาน้ำราดหัวสามีอยู่ อันนี้ยังไม่ตลกเท่าเหตุผลที่โสเครตีสอธิบายกับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ถามว่า ถ้ามีภรรยาแย่แบบนี้จะมีไปทำไม แกบอกว่า ผู้ที่บังคับม้าที่เก่งต้องขี่ม้าแบบไหน ไม่ได้ขี่ม้าแบบนุ่มนวลกระจอกๆ เขาต้องขี่ม้าพยศ ดังนั้นข้าพเจ้าต้องการเข้าใจมนุษย์ ก็ไม่แปลกที่ข้าพเจ้าจะเลือกเมียแบบนี้ ก็มีคนคิดว่า อ๋อ นี่เป็นเหตุผลที่โสเครตีสไม่ค่อยอยู่บ้านไง เที่ยวเดินไปหาคนอื่น กลับบ้านก็โดนน้ำราดหัวเท่านั้นเอง

ก็เหมือนกัน ถ้าอยากเป็นนักรัฐศาสตร์ที่เก่งก็ควรอยู่ประเทศไทย เพราะอธิบายอะไรไม่ได้เลย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save