fbpx

ลางระบาด

“the fact that Ben says everybody on earth will soon be starving or suffocating or dying of SARS or Ebola or H5N1, the fact that H5N1 only has to mutate a few more times and we’re all goners, so maybe it was all for nothing, human achievement, but before that happens, we still have to do our taxes,”

                                                                                        Lucy Ellmann, Ducks, Newburyport (2019)

หากให้คุณย้อนคิดกลับไปถึงจุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของ Covid-19 คุณคิดว่าภาพที่คุณเห็นเป็นภาพแบบใด? คุณเห็นอะไรบ้าง? และถ้ามีโอกาสนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของคุณเอง คุณคิดว่าคุณอยากจะบอกเล่าสิ่งใดออกมา?

อาจเป็นเรื่องยากที่จะต้องตั้งสติในการบอกเล่า เพราะมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นทุกวัน แต่ละเหตุการณ์เป็นเรื่องชวนให้ทดท้อหมดเรี่ยวแรงหมดกำลังใจ แต่ถ้าคุณไม่ตั้งสติให้ดี ในความสับสนจะมีเรื่องเล่าบางเรื่องฉวยโอกาสเขียนเหตุการณ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจนทำให้คุณไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง หรือแม้กระทั่งเขียนให้คุณเองเป็นตัวต้นตอของปัญหา เพราะทุกเรื่องเล่ามีตรรกวิธีบางอย่างในการกำกับการรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เพื่อเป็นการช่วยคุณคิดและช่วยให้คุณเจาะจงกับบางจุดของภาพใหญ่มากขึ้น ผมอยากชวนคุณอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่นำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับการระบาดในช่วงแรกของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ประเทศนั้นจะเป็นปลายทางทั้งในความฝันและความจริงของใครต่อใครที่ต้องการรับวัคซีนที่ตนเชื่อมั่น เพราะประเทศของพวกเขาเองไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้เพียงพอต่อชีวิตซึ่งถูกสอนสั่งให้พอเพียง

The Premonition: A Pandemic Story (2021) คือหนังสือเล่มล่าสุดของ Michael Lewis นักเขียนผู้โด่งดังจากเรื่องราวเชิงสารคดี ผลงานของเขาหลายเรื่องได้รับการดัดแปลงไปนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์ เช่น The Blind Side: Evolution of a Game, Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game และ The Big Short: Inside the Doomsday Machine สำหรับการกลับมาครั้งนี้ เขาพาเรากลับไปสำรวจสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับภาวะระบาดของ Covid-19 ในสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่มีคนกลุ่มหนึ่งได้คาดการณ์และออกแบบวิธีป้องกันเมื่อเกิดโรคระบาดไว้แล้วล่วงหน้า รวมไปถึงการถ่ายทอดให้เห็นถึงอุปสรรคที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในปฏิบัติการรับมือ



Lewis เริ่มต้นเรื่องราวด้วยรูปแบบที่คนรู้จักผลงานของเขาดีสามารถคาดเดาได้ไม่ยาก นั่นคือการแนะนำตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อให้เห็นที่มาของคุณสมบัติซึ่งท้ายที่สุดจะเผยให้เห็นถึงปัญหาและผลสืบเนื่อง

ตัวละครเหล่านั้นได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ผลักดันนโยบาย และองค์กรเอกชนที่มีความเชื่อร่วมกันว่าถ้ารัฐดำเนินแผนการรับมือโรคระบาดเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนผู้เสียชีวิตจะน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ การระบาดจะถูกควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น และจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้นของเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล ในสายตาของพวกเขา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พรั่งพร้อมทั้งการเงินและวิทยาการ ความหายนะทั้งหมดจึงเกิดจากความบกพร่องในการตัดสินใจ อันสืบเนื่องมาจากปัญหาขององค์กรด้านสาธารณสุขตั้งแต่หน่วยย่อยไปจนถึงระดับประเทศ

เส้นสายอันโยงใยบนปัญหานี้สะท้อนผ่าน Bob Glass นักวิทยาศาสตร์ที่เริ่มต้นพัฒนาแบบจำลองอัตราการกระจายตัวของโรคระบาดในปี 2004 โดยผลงานของเขามีที่มาจากโครงงานวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าร่วมการประกวดในระดับมัธยมปลายของลูกสาว Charity Dean เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้มุ่งมั่นกับการควบคุมการระบาดของวัณโรคและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในระดับชุมชน Rajeev Venkayya นายแพทย์ผู้เขียนแผนการรับมือโรคระบาดเป็นคนแรกในสมัยที่ George W. Bush เป็นประธานาธิบดี Richard Hatchett นายแพทย์อีกคนที่เขียนบันทึกเสนอแนะให้มีคณะหน่วยงานแพทย์สำรองระดับประเทศเพื่อรองรับภัยพิบัติไม่คาดฝันในรูปแบบต่างๆ หลังจากเหตุการณ์ 9/11 และยังเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า ‘Social Distance’ ในความหมายทางการแพทย์ที่หมายถึงการจำกัดกิจกรรมทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคระหว่างผู้คนก่อนจะมีการคิดค้นวัคซีนในการรักษาพยาบาลโรคระบาด

นอกจากนี้สะท้อนผ่าน Carter Mecher ผู้บริหารระดับอาวุโสจากกระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐอเมริกาที่มีความสามารถในการออกแบบระบบป้องกันความผิดพลาดของการรักษาพยาบาลในหอผู้ป่วยหนัก Lisa Koonin พยาบาลประสบการณ์สูงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา และ Joe DeRisi นักพัฒนาเครื่องวินิจฉัยไวรัส ผู้ค้นพบไวรัสที่ให้กำเนิดโรคซาร์ส

การโคจรมาพบกันของกลุ่มคนจากหลากหลายสารทิศนี้เกิดขึ้นจากการที่อดีตประธานาธิบดี Bush อ่านหนังสือชื่อ The Great Influenza: The Story of the Deadliest Pandemic in History ที่ว่าด้วยเรื่องราวการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 และเกิดความวิตกกังวลว่าถ้าเกิดเหตุการณ์โรคระบาดรูปแบบเดียวกันในสหรัฐอเมริกา ฝ่ายรัฐจะรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างไร ซึ่งนำไปสู่การวางแผนสร้างยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับโรคระบาด

Venkayya ซึ่งเป็นผู้รับลูกความต้องการของอดีตประธานาธิบดี Bush ได้คัดเลือกทีมงานเข้ามาร่วมวิเคราะห์ภัยที่อาจเกิดขึ้นจากโรคระบาด คำถามสำคัญของแผนการนี้คือคุณจะช่วยเหลือรักษาชีวิตคนในภาวะโรคระบาดอย่างไรก่อนที่จะมียาและวัคซีนในการรักษาพยาบาล?

คำตอบที่ได้คือการควบคุมการแพร่กระจายของโรค แต่จะควบคุมอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด?

คำตอบที่ Venkayya, Hatchet และ Mecher พบคือ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างในการเข้าสังคม ซึ่งมีมาตรการหลายระดับ สถานที่หนึ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสถานที่สำคัญในการแพร่กระจายของเชื้อโรคคือโรงเรียน เพราะเด็กมีความคิดเรื่องการเว้นระยะห่างในการติดต่อสัมพันธ์กันน้อยกว่าผู้ใหญ่ ข้อมูลที่พวกเขานำมาใช้เพื่อตั้งสมมติฐานและตรวจสอบคือความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการในการรับมือต่อระยะเวลาในรัฐต่างๆ และอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากไข้หวัดสเปนในปี 1918 แบบจำลองอัตราการขยายตัวของโรคระบาดที่ Glass ศึกษาได้เข้ามาช่วยเติมเต็มในการคาดการณ์ แผนการที่พวกเขาเขียนขึ้นได้รับความช่วยเหลือตรวจสอบให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงโดย Koonin ก่อนถูกบรรจุเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการ

ในปี 2009 เกิดการระบาดของไข้หวัดหมูในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ครั้งแรกที่ทำให้ต้องมีการทบทวนถึงแผนปฏิบัติการรับมือโรคระบาด ในขณะนั้น Meecher เป็นเพียงคนเดียวที่ยังทำงานอยู่ในทำเนียบขาว เขาได้เรียก Hatchet กลับมาช่วยงานและพวกเขาเสนอให้มีการควบคุมพื้นที่ด้วยการปิดโรงเรียน แต่ท้ายที่สุด Barack Obama อดีตประธานาธิบดีในขณะนั้นกลับปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาด้วยการไม่ยกระดับมาตรการไปสู่การปิดโรงเรียน

ในการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูครั้งนั้น ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เลวร้ายมากตามที่ Mecher และพวกคาดคะเนไว้ แผนปฏิบัติการของพวกเขาจึงอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาที่มีการประเมินรับมือได้อย่างเหมาะสม

“It’s like someone who looked down at their phone while driving and drifted onto the shoulder but didn’t hit anything, the lessons aren’t as strong and defined. Had that person hit a mailbox or ended up in a ditch and wrecked his car, he would have learned a hard lesson. Had they hit and killed a pedestrian, they probably wouldn’t want to get into the driver’s seat again for a long, long time. In all cases, though, the lesson is really the same.”

ประโยคข้างต้นคือบทสรุปที่ Mecher กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นบนพื้นฐานของสถิติและทฤษฎีในแผนปฏิบัติการ ถ้ามองในอีกความหมายคือเป็นเรื่องของความประมาทและกันไว้ย่อมดีกว่าแก้

หลังจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพาสหรัฐอเมริกามาสู่ยุคของประธานาธิบดี Donald Trump ไม่มีใครในกลุ่มวางแผนปฏิบัติการรับมือโรคระบาดหลงเหลืออยู่แล้วในทำเนียบขาว

ต้นปี 2020 เมื่อหายนะจากโรคระบาดจากเมืองอู่ฮั่นเริ่มขยายวงกว้าง ขณะที่ยังไม่มีวิธีการรับมืออย่างเป็นชิ้นเป็นอันจากรัฐบาลเนื่องจากเรื่องราวยังดูไกลตัว มีเพียงกลุ่มของ Mecher เท่านั้นที่คอยจับตาเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งในชื่อ Wolverines (ที่ไม่ได้มีที่มาจาก Superhero หากแต่เป็นชื่อกลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมกันต่อต้านการบุกรุกสหรัฐอเมริกาของโซเวียตและคิวบาในภาพยนตร์ชื่อ Red Dawn ในปี 1984)

กลุ่ม Wolverines เฝ้ามองโรคระบาด ประเมินสถานการณ์และประสานงานกันผ่านอีเมล พวกเขาไม่มีเส้นสายอำนาจหน้าที่อยู่ในรัฐบาลแล้ว จึงจำเป็นต้องมองหาใครสักคนที่พวกเขาไว้ใจและอยู่ในหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งต่อข้อมูลและนำไปสู่การปฏิบัติใช้ ใครคนนั้นคือ Charity Dean

ตอนนั้น Dean อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมสาธารณสุขแคลิฟอร์เนีย ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 21 ธันวาคม 2019 เธอได้เขียนปณิธานปีใหม่ข้อหนึ่งซึ่งเหมือนจะเป็นลางเกี่ยวกับตัวเธอและโรคระบาดไว้ว่า “It Has Started”

ในช่วงแรก แผนการและแนวทางเกี่ยวกับการใช้ Social Distancing และการควบคุมผู้ติดเชื้อก่อนค้นพบวัคซีนหรือวิธีรักษาอันเหมาะสมที่ Dean นำเสนอไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากหน่วยงานรัฐ เพราะการปฏิบัติการเชิงรุกนั้นมีผลต่อความเชื่อมั่นในแง่ของการเมืองด้วยเช่นกัน ความด้อยประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับต่ำไปถึงระดับสูงถูกเปิดเผยออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้งเมื่อภาคเอกชนอย่าง Joe DeRisi และองค์กรอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเมื่อการระบาดของ Covid-19 เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา

ยอดผู้เสียชีวิตและอัตราการแพร่ระบาดที่สูงจนน่าสะพรึงกลัวคือสาระสำคัญของเรื่องราวนี้ สถิติแห่งความเสียหายขนาดนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ถ้าเพียงแต่…

จากเรื่องราวทั้งหมดดูเหมือนว่า The Premonition: A Pandemic Story จะลงเอยด้วยรูปแบบเดิมๆ ของการเล่าเรื่องในสไตล์ของ Michael Lewis ที่ต้องมีตัวละครเอกเป็นคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ความธรรมดาที่ว่าคือต้องเป็นใครสักคนที่ไม่มีความพิเศษใดๆ ในระบบ แต่มีความไม่ธรรมดาคือมีความสามารถบางอย่างเฉพาะตัวที่เห็นและทำลายจุดบกพร่องในระบบได้ โดยจุดบกพร่องเหล่านั้นล้วนถูกพรางให้พ้นจากสายตาด้วยผลประโยชน์ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยเกี่ยวกับกลและเล่ห์เหลี่ยมการลงทุนในตลาดการเงินอย่าง Liar’s Poker, Flash Boys และ The Big Short หรือจุดด่างพร้อยในวงการกีฬาอย่าง The Blind Side และ Moneyball (ยังไม่ต้องพูดถึงแวดวงการเมืองที่มีลักษณะไม่ต่างกัน)

กล่าวได้ว่าตัวละครเอกในเรื่องเล่าของ Lewis คือพวก debunker ซึ่งมีวิทยาการเชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเปิดโปงให้เราเห็นถึงหนึ่งในความชั่วร้ายของ Seven Deadly Sins ที่มีชื่อเรียกว่า  Greed หรือความโลภ ในที่นี้ ความโลภอยู่ในการแสวงหาเพื่อรักษาหน้าตาและฐานเสียงทางการเมืองที่บดบังทัศนวิสัยในการตัดสินใจ รวมไปถึงการแสวงหาเพื่อฉวยโอกาสทำกำไรในภาวะวิกฤต จากบุคลิกลักษณะของ Donald Trump เราอาจเข้าใจผิดไปได้ว่าปัญหาทั้งปวงกำเนิดมาจากตัวตนของเขา (เราต้องไม่ลืมว่าเราไม่สามารถนับว่า Covid-19 เป็นต้นตอของความเลวร้ายในกรณีนี้ได้ Covid-19 เป็นภัยธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความรุนแรงถึงขนาดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนทั้งโลก)

สิ่งที่เหล่า Wolverines เปิดเผยให้เราเห็นคือความบกพร่องของระบบที่เกิดจากความเฉื่อยชา การไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่กลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความเคยชินทำให้การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าถูกมองว่าเป็นปัญหา นั่นหมายถึงว่าระบบกลายเป็นโรคที่ทำให้สังคมแพ้ภูมิตัวเอง และในบริบทของสังคมอเมริกันในเรื่องเล่าของ Lewis ระบบที่มีปัญหาคือระบบสาธารณสุข โดยต้นตอของปัญหาอยู่ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริการับบทผู้ร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการยินยอมเปิดทางให้อำนาจทางการเมืองมีบทบาทในการแต่งตั้งบุคลากรผู้ขาดความรู้ความสามารถด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมกับสาขางานมาอยู่ในตำแหน่งการบริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ การทำแบบนี้นำไปสู่การทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ตามน้ำเพื่อหวังผลทางการเมือง และภาวะความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือกฎ คือสิ่งที่ปลอดภัยจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ซึ่งเมื่อระบบเข้าไปอยู่ในวงจรนี้ แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ วันอย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์ตกอยู่ในวิกฤตจนสุดวิสัยเท่านั้น นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว ถ้าใครคิดจะมีปากมีเสียง กฎต่างๆ จะทำให้คนเหล่านั้นเป็นตัวร้าย เป็นศัตรูของระบบ

ผู้ร้ายและเหตุการณ์ใน The Premonition: A Pandemic Story ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงเรื่องราวเรื่องหนึ่งในอดีต เรื่องราวที่อาจจะมี moral บางอย่างกอดเกี่ยวไปกับเรื่องราวของ Lewis

หลายปีก่อน ในคาบเรียนวิชา Soil Mechanics อาจารย์ของผมตั้งคำถามกับทุกคนในห้องว่า “พวกคุณรู้ไหมว่าทำไมค่าตัววิศวกรส่วนใหญ่จึงต่ำ?” คำตอบที่ได้แตกต่างกันไป หลังจากปล่อยให้อภิปรายกันไปสักพัก อาจารย์ก็เสนอคำตอบจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นว่า “เพราะวิศวกรยอมให้ผู้รับเหมามาเป็นนายจ้าง จุดประสงค์อย่างเดียวของพวกเขาคือกำไร พวกเขาก็กดราคาพวกคุณ คุณไม่ทำ เขาก็ให้คนอื่นทำ ยากนักเขาก็จ้างโฟร์แมนมาทำ แล้วจ้างวิศวกรเซ็นรับรองเอา เขากดราคาพวกคุณ แต่พวกคุณไม่สู้ ดีไม่ดีก็กดราคากันเองแย่งงาน สภาวิศวกรหรือวิศวกรรมสถานก็มีวิศวกรที่กลายไปเป็นผู้รับเหมาเสียเองเข้าไปคุม ไม่มีใครดูแลกันจริงจัง มันเลยเละเทะแบบนี้ ในขณะที่อาชีพอย่างหมอเขาไม่ยอมให้ใครมาคุม นอกจากพวกเดียวกัน พวกเขาดูแลกันอย่างเข้มแข็งผ่านแพทยสภา ทำให้โครงสร้างรายได้ของพวกเขาไม่มีปัญหา ถ้าพวกคุณไม่ช่วยกัน ไม่แก้ไข ต่อไปมันจะเลวร้ายไปกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้นะ” แต่นี่ก็เป็นเรื่องหลายปีมาแล้ว

ระหว่างที่อ่าน The Premonition: A Pandemic Story ผมก็อดคิดถึงบริบทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้ ประเทศที่มีคำว่า ‘ลาง’ อยู่ในคติความเชื่อที่ผูกโยงกับไสยศาสตร์อย่างแน่นแฟ้น เราประสบปัญหาเดียวกันทั่วโลก ปัญหาที่เราพบเจอจากระบบของรัฐก็เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ตัวละครในเรื่องเล่าแบบ Lewis ผมก็คิดว่ามีหรือมีบ้าง (แม้บางคนจะถูกกดดันจากระบบลำดับชั้นให้ออกมาขอโทษก็ตาม หรือบางคนอาจจะถึงขั้นถูกทำให้หมดบทบาทจากการใช้ช่องทางดำเนินคดี) แต่ทำไมเราถึงยังตามหลังประเทศอื่นในโลกนักในเรื่องการแก้ปัญหา? (บางทีในวงเล็บก่อนหน้าอาจเป็นคำตอบอยู่แล้วในตัว)

ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงภาพการรณรงค์ให้คนไปฉีดวัคซีน Pfizer ในลาว รัฐมนตรีที่ออกมาพูดเรื่อง Ventilation System ด้วยฐานะวิศวกรในกรณีจัดการรดน้ำดำหัวในร้านอาหารจนเกิดคลัสเตอร์การระบาด โวหารอย่างคำว่า “ม้าเต็ง,” “เอาอยู่,” “โควิดกระจอก,” “เราชนะ,” “หน้ากากอนามัยคือวัคซีนที่ดีที่สุด,” “เราอย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บดีกว่า” และถ้อยคำต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ออกมาอย่างค้านสายตาค้านข้อเท็จจริง

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้ามีคนเขียนเรื่องราวเชิงสารคดีแบบ Lewis ขึ้นมาในไทย ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายรักชาติจนน้ำลายไหลหรือจากฝ่ายชังชาติจนน้ำตาไหล ถ้อยคำที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นจะถูกบรรจุไว้อย่างไรใน narrative เพราะทุกเรื่องเล่ามีตรรกวิธีบางอย่างในการกำกับการรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมหยิบ The Premonition: A Pandemic Story ขึ้นมาเปิดดูเนื้อหาส่วนที่สนใจเป็นพิเศษอีกครั้งก่อนเก็บเข้าตู้หนังสือ ประโยคแรกของเพลง สยามเมืองยิ้ม ก็กังวานแทรกเสียงเข้ามาในความคิด

จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save