fbpx
วรรณคดี: สิ่ง 'เล็กน้อย' ที่มอบพลังวิเศษให้ชีวิตจริง

วรรณคดี: สิ่ง ‘เล็กน้อย’ ที่มอบพลังวิเศษให้ชีวิตจริง

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“เรียนวรรณคดีแล้วจะไปทำอะไรกิน” มารดาผู้เขียนซึ่งเป็นแม่ค้าถามเสมอ “แกไม่ใช่คุณหนูลูกผู้ดี จะมานอนอ่านหนังสือทั้งวันอย่างนี้ไม่ได้” แม่ว่า

การอ่านและศึกษางานเขียนจากอดีต การใช้เวลาอยู่ในโลกสมมติ การหมกตัวในห้อง ซุกหน้ากับกองหนังสือ (และหน้าจอคอมพิวเตอร์) มีความเกี่ยวเนื่องอะไรกับชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ และปากท้อง นี่เป็นคำถามที่ผู้เขียนได้ยินมาเกือบตลอดชีวิต เพราะจะว่าไปแล้ว ในแต่ละวันผู้เขียนใช้เวลาอยู่กับตัวหนังสือ ซึ่งเป็นอดีตไกลตัว โลกซึ่งไม่มีอยู่จริง ห้วงความคิดของผู้อื่นและบทสนทนาของตัวละครหลากหลาย มากกว่าเวลาที่ใช้หาของกินหรือตักอาหารเข้าปาก

เสียงของแม่ก็ยังไม่จางหายไป และยังเป็นข้อคลางแคลงใจเมื่อผู้เขียนตั้งใจนำเสนอบทความที่สาธารณะชนสนใจ มีความเป็นปัจจุบัน และมีประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนทั้งโลกต้องเผชิญกับวิกฤตรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน

แล้วผู้เขียนจะตีโจทย์ให้แตกและหาคำตอบได้จากที่ใดเล่า ถ้าไม่ดำดิ่งไปลงในหน้าหนังสือและขุดหาความคิดจากอดีต

เช้าวันหนึ่ง วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth, 1770-1850) ออกเดินทางจากแชริง ครอสส์ มุ่งหน้าไปโดเวอร์เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังกาเลส์ในฝรั่งเศส เพื่อพบลูกสาวของเขา สมุดบันทึกของโดโรธี เวิร์ดสเวิร์ธ น้องสาวของเขาผู้เป็นนักเขียนเช่นกันบันทึกว่า เป็นเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 1802 ออกเดินทางจากแชร์ริง ครอสส์ เวลาประมาณตีห้าครึ่ง-หกโมงเช้า ระหว่างทางผ่านสะพานเวสมินสเตอร์ในกรุงลอนดอนตอนเช้าตรู่ ขณะที่พระอาทิตย์ขึ้นพอดี ภาพพระอาทิตย์เหนือแม่น้ำเทมส์มองจากสะพานเวสมินสเตอร์สร้างความประทับใจให้กับเวิร์ดสเวิร์ธจนเขาอยากบันทึกภาพและความรู้สึกนั้นไว้ในบทกวี และมอบชีวิตนิรันดร์ให้กับชั่วขณะนั้น

 

ปรับจากสำนวนแปลของผู้เขียนเองในหนังสือ ภาษา ถอดรหัสมหัศจรรย์การสื่อสารของมนุษย์, สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป, 2563

 

กลอนบทนี้ชื่อ “Composed upon Westminster Bridge, 31 July 1802”  (ประพันธ์บนสะพานเวสมินสเตอร์) เป็นกลอนที่นักเรียนในอังกฤษทุกคนได้อ่านในโรงเรียน และเป็นบทกวีที่คนรู้จักดีที่สุดของเวิร์ดสเวิร์ธ แน่นอนว่ากวีไม่ได้แต่งกลอนนี้บนรถม้าขณะวิ่งบนสะพานเวสมินสเตอร์ (เมื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1807 ชื่อกลอนลงวันที่ 3 กันยายน 1802) ทว่าภาพที่เห็นตราตรึงในความทรงจำ และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนบทกวีดังกล่าวในเวลาต่อมา

ชวนฟัง Sir Ian McKellen อ่าน “Composed upon Westminster Bridge” ทาง Youtube

 

https://www.youtube.com/watch?v=W2lP9AXWHB8

 

กลอนอีกบทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักดีของเวิร์ดสเวิร์ธคือ “Daffodils” ซึ่งเป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของกลอน “I wandered lonely as a cloud” เนื่องจากกลอนบทนี้ไม่มีชื่อ ตามเทคนิคแล้วจึงเรียกตามบาทแรก

 

ผู้เขียนแปลกลอนนี้เพื่อเสริมความเข้าใจแก่ผู้อ่านแต่ไม่สามารถเก็บฉันทลักษณ์หรือเสนออรรถรสของต้นฉบับ

 

 

กลอนบทนี้เขียนจากความประทับใจที่ได้เห็นดอกดัฟโฟดิลขณะที่เวิร์ดสเวิร์ธเดินเล่นในเขตชนบทแถบ Lake District ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติของอังกฤษที่มีธรรมชาติงดงาม เช่นเดียวกับกลอนแรก เรารู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1802 จากสมุดบันทึกของโดโรธีน้องสาวของเขาอีกเช่นกัน โดโรธีเล่าว่าเธอไปเดินเล่นกับพี่ชายและพบดอกดัฟโฟดิลขึ้นอยู่ริมน้ำ มันแทรกตัวผ่านโขดหินที่มีหญ้ามอสจับและแอบอิงหินราวกับเป็นหมอนหนุน บางดอกเริงระบำส่ายตัวตามสายลม พี่ชายผู้เป็นกวีประทับใจภาพเดียวกัน และนำมาแต่งเป็นบทกลอนเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงความสงบ ความเบิกบานของธรรมชาติ และความสุขใจเมื่อได้อยู่ตามลำพัง (ในกลอนเวิร์ดสเวิร์ธคนพี่ใช้โฟโต้ช็อปลบน้องสาวออกไปจากฉาก)

อธิบายได้ยากว่าทำไมกลอนนี้จึงเป็นที่กล่าวขานและเชิดชู ทั้งที่เรียบง่ายในด้านเนื้อหาและภาษา แต่สิ่งที่เราได้จากกลอนบทนี้คือความสุขที่เรียบง่ายและความทรงจำที่งดงาม ที่จะทำให้เราหายเศร้ายามอ้างว้างและเบื่อหน่าย

บทชมดอกดัฟโฟดิลและพระอาทิตย์ขึ้นบนสะพานเวสมินสเตอร์บันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่สร้างความประทับใจให้กับกวี เป็นตัวแทนของช่วงเวลาและความรู้สึกขณะนั้นราวกับเป็นภาพนิ่งที่ตราตรึง ติดตา เป็นภาพถ่ายที่เราอาจพกติดตัวในกระเป๋าเสื้อแนบอก และหยิบออกมาดูได้ทุกเมื่อ ช่วงเวลาเพียงหนึ่งลมหายใจอาจยืดออกเป็นชั่วนิจนิรันดร์ และเราสามารถกลับไปทบทวนความรู้สึกนั้นได้ อาจเปรียบได้กับความรู้สึกตอนที่เรานั่งดูรูปเก่าๆ และนึกถึงวันวาน

ตอนนี้คนหันมาอ่านบทกวีมากขึ้น เพื่อหาเครื่องยึดเหนี่ยวหรือกำลังใจที่จะช่วยให้ก้าวผ่านความท้าทายที่ต้องเผชิญในพื้นที่จำกัดขณะกักตัวและการเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อร่างกายถูกกัก จิตใจจึงต้องการอิสรภาพที่จะท่องเที่ยวไปในดินแดนไร้ขอบเขต ซึ่งวรรณกรรมพร้อมมอบให้

เราต่างต้องการเครื่องปลอบประโลมใจ หวนนึกถึงภาพน่าประทับใจจากอดีต และหวังว่าเราจะได้สัมผัสประสบการณ์นั้นอีกครั้ง

บทกวีมีพลังวิเศษที่จะส่งเราไปในที่ต่างๆ สถานที่เหล่านั้นอาจเป็นดินแดนห่างไกล แปลกตา หรือเป็นความรู้สึกคุ้นเคยจากห้วงเวลาประทับใจในอดีต บทกวีของเวิร์ดสเวิร์ธส่งเสริมให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวเราในธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ยามเช้า สายลมที่พัดผ่านกอดอกไม้ ก้อนเมฆที่ล่องลอยบนท้องฟ้า ผีเสื้อโผบิน เน้นให้เห็นความสำคัญของสิ่ง “เล็กน้อย” เหล่านี้ที่นำความเพลิดเพลินและความผาสุขมากสู่จิตใจ

นอกจากนี้ เมื่อเราได้อ่านเนื้อหาที่กล่าวถึงประสบการณ์ร่วม ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ร่วมกับผู้ประพันธ์ ตัวละคร หรือเหตุการณ์ที่กล่าวถึงในวรรณกรรม ทั้งหมดนี้ช่วยยืนยันตัวตนของผู้อ่านและเป็นเครื่องปลอบประโลมใจว่า อย่างไรเสียเราก็ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก ไม่ใช่เราคนเดียวที่ประสบเรื่องที่เผชิญอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจเราและเราเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น แผนเที่ยวและโครงการธุรกิจใดๆ ที่ต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก็คงไม่ต่างจากที่เวิร์ดสเวิร์ธต้องงดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 250 ปีของเขาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เมื่อเราอิ่มเอมกับบทกวีของเวิร์ดสเวิร์ธแล้ว เย็นนี้เราจะกินอะไรดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save