fbpx

บอลโลกในสนามการเมือง: การช่วงชิงความหมายของการแข่งขันฟุตบอลโลกในระบอบการเมืองเผด็จการ

นับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลในปี 2014 ที่เริ่มต้นแข่งขันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการรัฐประหารในประเทศไทย (รัฐประหาร 2557) ผู้ติดตามสถานการณ์ทางสังคมในไทยคงพบเจอปรากฏการณ์ที่พลเมืองผู้เคยมีความตื่นตัวทางการเมืองจนถึงขั้นร่วมเข้าไปในขบวนการเรียกร้องการปฏิรูป-ปิดกรุงเทพฯ เลิกสนใจการเมืองไปเสียแบบนั้น และหลายท่านในกลุ่มนี้มักกล่าวว่าอย่าเอาการเมืองมาปนทุกเรื่องในชีวิต กระนั้นการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังเริ่มขึ้นมักหลีกเลี่ยงจากการ ‘แปดเปื้อน’ หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่พ้น เพราะรายการแข่งขันที่สื่อในโลกภาษาอังกฤษมักเรียกกันอย่างสวิงสวายว่าเป็น ‘การแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลก’ (The Greatest Show on Earth) คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่ผู้คนหลายคนมักเข้าไปนิยามเหตุการณ์หรือจัดวางการแข่งขันลงในความทรงจำของตนเอง ในอีกนัยหนึ่ง กลุ่มพลังทางสังคมมักเข้าไปช่วงชิงพื้นที่และการสร้างความหมายให้แก่การแข่งขันฟุตบอลโลก และทำให้ฟุตบอลไม่ได้เป็นเพียงแค่การแข่งขันที่จบลงในสนาม แต่ยังมีผลสะเทือนถึงการสร้างความทรงจำร่วมของผู้คนด้วย

ความเกี่ยวโยงระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกและการสร้างความหมายทางการเมืองมักพบได้ในทัวร์นาเมนต์ที่จัดขึ้นในรัฐที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ที่โดดเด่นและถูกพูดถึงมากคือการแข่งฟุตบอลโลกในปี 1934 ที่อิตาลี ซึ่งระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างลัทธิฟาสซิสต์ (fascism) ได้ใช้ชัยชนะของทีมชาติอิตาลีเป็นการป่าวประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติอิตาลีและการปกครองภายใต้ผู้นำอำนาจนิยมอย่างเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)  

แม้ผู้ปกครองในระบอบเหล่านี้ดูเหมือนมีอำนาจที่ปิดฟ้าป้องพสุธาได้ แต่ผู้คนที่ไม่ได้เข้าถึงอำนาจทางการเมืองก็สามารถช่วงชิงพื้นที่ทางอุดมการณ์และวัฒนธรรมในการสร้างความหมายให้แก่การแข่งขันได้เช่นกัน ยิ่งกว่านั้น ด้วยสถานะของการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เป็นเหตุการณ์ในระดับนานาประเทศ กลุ่มตัวละครที่อยู่นอกเขตแดนของรัฐเผด็จการที่เป็นเจ้าภาพจึงสามารถเข้าร่วมการแข่งขันในการช่วงชิงนิยามของบอลโลกได้เช่นกัน

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกกรณีของการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1978 ที่จัดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินาภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร (military junta) ของนายพลฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา (Jorge Rafael Videla) อดีตเจ้าหน้าที่ทางการทหารระดับสูง และการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2018 ณ ประเทศรัสเซียที่มีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) เป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองระบอบการเมืองแบบคณาธิปไตย (oligarchy) เพื่อชี้ชวนให้เห็นว่าทำไมการช่วงชิงนิยามและความหมายทางการเมืองของฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

อุดมการณ์ทางการเมืองในบอลโลกที่อาร์เจนตินา – เสถียรภาพหรือเสรีภาพ[1]

ในปี 1966 ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เลือกอาร์เจนตินาให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 1978 แม้จะมีเวลาเตรียมตัวกว่าทศวรรษ แต่ตลอดช่วงระยะดังกล่าวทาง FIFA ได้พิจารณาถึงการเปลี่ยนเจ้าภาพฟุตบอลโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณของรัฐบาลอาร์เจนตินา และบางส่วนของผู้คนในอาร์เจนตินาวิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกว่าเป็นนโยบายที่สิ้นเปลืองและก่อเกิดการคอร์รัปชันในวงกว้าง แต่รัฐบาลเผด็จการทหารของวิเดลาที่ก่อกำเนิดจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่อิซาเบลิตา เปรอน (Isabelita Perón) ในเดือนมีนาคมปี 1976 ยืนกรานที่จะจัดฟุตบอลโลกต่อไป เพราะเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ทางการเมืองบางประการ

ผลประโยชน์ประการแรกที่รัฐบาลวิเดลาเล็งเห็นคือ การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกสามารถแสดงให้ผู้คนในประเทศและประชาคมนานาชาติเห็นว่า รัฐบาลทหารประสบความสำเร็จในการสถาปนาเสถียรภาพในอาร์เจนตินาที่เจ็บปวดจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเสียชีวิตของฮวน โดมิงโก เปรอน (Juan Domingo Perón) ผู้นำที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบของการเมืองประชานิยม (populism) ในปี 1974 การเสียชีวิตของฮวน เปรอน ทำให้สังคมอาร์เจนตินาสูญเสียจุดประสานความแตกต่างของขั้วการเมืองอันหลากหลายและนำไปสู่การปะทะและการก่อการร้ายที่นำโดยทั้งกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งและกลุ่มขบวนการฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง ดังนั้นการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจึงเปรียบเสมือนการป่าวประกาศว่าความปั่นป่วนที่เกิดจากการปะทะของกลุ่มการเมืองได้จบสิ้นแล้ว 

ผลประโยชน์ประการที่สองคือ ชัยชนะของทีมชาติอาร์เจนตินาในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนให้หมกมุ่นกับความดีใจที่ได้จากชัยชนะในการแข่งขัน มากกว่าการจับจ้องการบริหารและการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหาร ดังนั้นแล้ว รัฐบาลของวิเดลาจึงใช้มาตรการต่างๆ เช่นการห้ามนักเตะย้ายออกไปเล่นในสโมสรฟุตบอลในต่างประเทศ หรือการจัดตารางแข่งขันฟุตบอลที่สะดวกต่อการเรียกเก็บตัวฝึกซ้อมของทีมชาติ เพื่อส่งเสริมให้ทีม ‘ฟ้าขาว’ (Albiceleste) คว้าชัยชนะในฟุตบอลโลก เพราะผลงานที่ดีของทีมฟ้าขาวช่วยยกระดับความชอบธรรมและเสริมความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลทหาร

แต่รัฐเผด็จการทหารไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเดียวที่สร้างนิยามให้แก่การแข่งขันฟุตบอลโลก สามัญชนในอาร์เจนตินาที่รวมถึงเซซาร์ หลุยส์ เมนอตติ (César Luis Menotti) ผู้จัดการทีมชาติฟุตอาร์เจนตินาในขณะนั้นกลับเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนิยามฟุตบอลโลกได้อย่างแหลมคม ผู้คนในอาร์เจนตินาต่างรับรู้กันอย่างทั่วไปว่าเมนอตติสมาทานอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ทว่าเขาเป็นโค้ชที่เป็นความหวังของอาร์เจนตินา เพราะสร้างชื่อจากการพาทีมฮูรากัน (Huracán) ที่อยู่นอกวงโคจรมหาอำนาจทางฟุตบอลคว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอลในมหานครบัวโนสไอเรส (Campeonato Metropolitano) ในปี 1973 ได้ ชื่อเสียงนี้เองเป็นเกราะกำบังให้เขารอดพ้นจากการโดนปลดจากตำแหน่ง เพราะรัฐบาลวิเดลาก็ต้องพึ่งพาการนำทีมของเขาเช่นกัน 

ถึงแม้ทั้งวิเดลาและเมนอตติต่างอยากคว้าชัยชนะในฟุตบอลโลก แต่ทั้งสองป่าวประกาศถึงความสำเร็จของทีมชาติอาร์เจนตินาต่างกัน โดยวิเดลามักกล่าวในทำนองว่าชัยชนะของทีมฟุตบอลคือชัยชนะของ ‘ชาติ’ ที่ก้าวพ้นความรุนแรงทางการเมืองมาได้ ในขณะที่เมนอตติมักบอกกับลูกทีมของเขาว่า การใส่เสื้อฟ้าขาวไม่ใช่เรื่องของการเป็นตัวแทนของรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่เป็นการยืนยันตัวตนของ ‘ประชาชน’ อาร์เจนตินาที่เป็นชนชั้นอันเป็นเหยื่อ (victimized class) จากระบอบการปกครองอันกดขี่ และฟุตบอลในอาร์เจนตินาดำรงอยู่ก่อนเผด็จการทหาร เมนอตติจึงเรียกฟุตบอลของเขาว่า “ฟุตบอลของพวกเรา (La Nuestra)” ที่ให้อิสระผู้เล่นในการสรรสร้างความสวยงามของเกม ไม่ใช่ฟุตบอลแบบเน้นชัยชนะจากการเล่นอย่างมีระเบียบวินัย  หลังจากอาร์เจนตินาประสบความสำเร็จในการพัฒนาประชาธิปไตย (democratization) ในช่วงกลางคริสตทศวรรษ 1980 ชัยชนะของทีมชาติอาร์เจนตินามักถูกนิยามผ่านอุดมการณ์ของเมนอตติ

นอกจากการยืนยันถึงอุดมการณ์ฟุตบอลต่อต้านอำนาจนิยม (ที่เล่นให้ระบอบเผด็จการ) ของเมนอตติแล้ว ฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังฉายภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสามัญชนอาร์เจนไตน์ที่ต่อต้านรัฐทหารออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่นำโดยเหล่าแม่ (Madres) ของผู้เสียชีวิตหรือสูญหายจากการดำเนินการของรัฐได้มารวมตัวที่จตุรัสพฤษภาคม (Plaza de Mayo) และชูรูปของลูกๆ พวกเธอเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก การเคลื่อนไหวของเหล่าคุณแม่กลายเป็นภาพสำคัญที่ถูกเผยแพร่จากสื่อทั่วโลก ราวกับว่าฟุตบอลโลกช่วยฉายแสงให้แก่การเคลื่อนไหวเหล่านี้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน กลุ่มพลังทางสังคมนอกประเทศอาร์เจนตินาได้ประณามการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งในนี้ทำนองว่าเป็นการฟอกขาวให้การปกครองอันสกปรกของระบอบเผด็จการทหารของวิเดลา พร้อมไปกับตั้งคำถามถึงแนวทางปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมในระหว่างการแข่งขัน ทั้งการตัดสินที่น่ากังขาของเหล่ากรรมการ หรือการใช้วิธีการอันไม่ชอบธรรมในการบั่นทอนกำลังใจของทีมที่ทำการแข่งขันกับทีมชาติอาร์เจนตินา พร้อมไปกับการตอกย้ำประเด็นของผู้คนที่หายสาบสูญ (missing people) ที่เกิดจากมาตรการของรัฐทหารในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก

โดยสรุป สถานะของการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1978 ที่อาร์เจนตินา ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐทหารที่นำโดยวิเดลา แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบอำนาจนิยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการส่งเสียงเพื่อยืนยันถึงความชอบธรรมของอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง ในปัจจุบัน ฝ่ายต่อต้านดูเหมือนจะเป็นฝ่ายชัยชนะ เพราะหนังสือประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกมักประณามการจัดการแข่งขันในครั้งนั้น แต่ให้การยกย่องการเล่นฟุตบอลของทีมชาติที่นำโดยเมนอตติว่าเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดยุคใหม่ของฟุตบอลอเมริกาใต้

ข้อความทางการเมืองของฟุตบอลโลกที่รัสเซีย – มหาอำนาจที่เป็นมิตรหรือภัยคุกคาม[2]  

เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่อาร์เจนตินา การแข่งขันฟุตบอลโลกที่จัดขึ้น ณ ประเทศรัสเซีย ในปี 2018  เป็นหนึ่งในกิจกรรมการกีฬาที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของระบอบการเมืองอำนาจนิยมในดำรงและยืนยันความชอบธรรมของตนเอง และยังเป็นมาตรการทางการเมืองของรัฐบาลปูตินในการพยายามจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของรัสเซียในการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ที่ส่งผลให้สถานะมหาอำนาจของรัสเซียสั่นคลอนและเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก  

FIFA ได้เลือกรัสเซียเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2010 และได้รับคำวิพากษ์มากมายหลังจากนั้น เพราะในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 ถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 2010 รัสเซียเป็นประเทศที่ภาพลักษณ์ผูกอยู่กับเรื่องของการเหยียดผิว การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT และการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน แต่ FIFA ยังยืนกรานให้รัสเซียเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันฟุตบอลโลก

ปูตินใช้การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ในการปรับปรุงภาพลักษณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของรัสเซีย โดยเฉพาะในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันที่เน้นย้ำถึงภาพความเป็นมิตรของรัสเซียที่มีต่อประชาคมโลก เพราะเทศกาลฟุตบอลโลกคือ ‘พลังละมุน’ (soft power) ที่ทางการรัสเซียสามารถใช้ในการโน้มน้าวใจให้ผู้คนในโลกรับรู้บทบาทด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมและการสร้างความเป็นมิตรระหว่างประเทศ อันเป็นผลจากความพยายามของปูตินในการใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับชาติทั้งโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2014 และฟุตบอลโลกครั้งนี้ 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียถือโอกาสในการจัดการแข่งขันครั้งนี้กระจายความเจริญไปยังหัวเมืองที่อยู่ในภูมิภาคอันห่างไกลจากศูนย์กลาง ผ่านการกระจายการลงทุนของภาครัฐและการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวที่เป็นแฟนบอลไปเยือนภูมิภาคเหล่านี้ และเข้าไปจัดการควบคุมพฤติกรรมของแฟนบอลอันธพาล (hooligans) ที่เป็นปัญหาร้ายแรงในวงการฟุตบอลรัสเซียมาอย่างยาวนาน และออกมาตรการกำชับให้ตำรวจจัดการไม่ให้เกิดการประท้วงในพื้นที่การแข่งขันฟุตบอลโลก เพื่อรับประกันว่าพฤติกรรมของแฟนบอลเหล่านี้ไม่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัสเซียในช่วงเวลาที่การแข่งขันฟุตบอลดำเนินอยู่  ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลรัสเซียส่งเสริมความรู้สึกชาตินิยมแก่ผู้คนในประเทศด้วยการประกาศว่า ประชาชนชาวรัสเซียทุกคนคือผู้จัดการแข่งขันในครั้งนี้ บรรยากาศที่ดีระหว่างการแข่งขันจึงเป็นความสำเร็จของประชาชนเช่นเดียวกัน

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการทีมฟุตบอลและรัฐบาลรัสเซียมีรูปแบบที่ต่างไปจากกรณีของทีมชาติอาร์เจนตินาในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1978 กล่าวคือ ผู้จัดการทีมชาติรัสเซียชุดตะลุยบอลโลก 2018 อย่างสตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ (Stanislav Cherchesov) มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำสูงสุดอย่างปูติน โดยทั้งสองคนนี้มักแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างสม่ำเสมอ ในครั้งหนึ่งเชอร์เชซอฟกล่าวว่า เมื่อประธานาธิบดีปูตินสนับสนุนทีมชาติ นักเตะในทีมต่างรู้สึกสบายใจไปพร้อมกับมีแรงกระตุ้นในการคว้าชัยชนะ แม้กระทั่งตอนที่เชอร์เชซอฟไปคุมทีมให้สโมสรเฟเรนซ์วารอส (Ferencváros) ในประเทศฮังการี เขายังลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกประท้วงการตัดสินใจของสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (Union of European Football Associations – UEFA) ที่ห้ามทีมฟุตบอลในระดับชาติของยุโรปเข้าร่วมการแข่งขันที่จัดโดย UEFA ในทุกประเภทและระดับอายุ หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยจดหมายเปิดผนึกให้เหตุผลว่า การห้ามทีมชาติรัสเซียเข้าแข่งขันไม่ได้ส่งผลเชิงบวกต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น และการตัดสินใจยังขัดกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยการแยกฟุตบอลกับการเมืองออกจากกัน อาจกล่าวได้ว่า การคุมทีมของเชอร์เชซอฟวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่าความสำเร็จของทีมชาติคือความภูมิใจของชาติและประชาชนรัสเซีย ในขณะที่เมนอตติมองว่าทีมชาติอาร์เจนตินาคือตัวแทนของประชาชนที่ไม่มีช่องทางในการส่งเสียงที่ต่างไปจากรัฐบาลทหาร นอกจากผ่านทีมฟุตบอลของพวกเขา/เธอ

กลุ่มผู้ต่อต้านการปกครองรัฐบาลปูตินในรัสเซียใช้การแข่งขันฟุตบอลโลกในฐานะเวทีสื่อความเห็นทางการเมืองเช่นกัน เช่นวงดนตรีพังค์อย่าง Pussy Riot ที่บุกเข้าไปในสนามฟุตบอลในนัดชิงชนะเลิศระหว่างฝรั่งเศสและโครเอเชีย เพื่อเสนอข้อเรียกร้องหลายประการเช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมือง การยกเลิกการห้ามเดินขบวนทางการเมือง การหยุดสอดส่องพฤติกรรมประชาชนในโลกออนไลน์ และการยกระดับการแข่งขันทางการเมือง แต่การประท้วงของ Pussy Riot ไม่ได้ส่งเสียงดังเท่าไหร่ เพราะ FIFA ที่ยึดมั่นกับหลักการในการแยกกีฬาและการเมืองออกจากกันแบบเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้ผู้ทำการถ่ายทอดจับภาพกิจกรรมที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในสนามฟุตบอล การประท้วงในครั้งนี้ปรากฏเพียงแค่ในหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึงในฐานะเหตุการณ์เล็กๆ ในนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น 

ปัญหาทางการเมืองที่รายล้อมการแข่งขันฟุตบอลโลกในรัสเซียส่งให้กลุ่มประชาสังคมในประเทศพัฒนาแล้วเรียกร้องให้ทีมชาติของประเทศเหล่านั้นแสดงท่าทีในการปฏิเสธการเข้าสังฆกรรมในการแข่งขันครั้งนี้ แต่ไม่มีทีมชาติใดที่ปฏิเสธในการเข้าร่วมการแข่งขัน ท่าทีของการต่อต้านทางการทูตมักปรากฏในรูปแบบของการตัดสินใจของผู้นำประเทศในการไม่เข้าร่วมชมการแข่งขันที่ประเทศรัสเซีย แต่ท่าทีเช่นนี้ก็อ่อนลงเมื่อทีมชาติเหล่านั้นสามารถผ่านเข้ารอบในระดับลึกเช่น รอบรองชนะเลิศหรือรอบชิงชนะเลิศ กรณีตัวอย่างคือ การปรากฏตัวของแอมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส ที่เข้าร่วมชมการแข่งขันในนัดชิงชนะเลิศระหว่างฝรั่งเศสและโครเอเชีย

ท่าทีในการต่อต้านอันไม่หนักแน่นไม่เพียงพบเห็นได้ในกลุ่มผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ความอ่อนแรงในการต่อต้านยังปรากฏในกลุ่มผู้ใช้สื่อโซเซียลอย่าง Twitter อีกด้วย บทความของเมเยอร์และคณะ (Meier et al) เผยข้อมูลว่าด้วยแนวโน้มของทวีตที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียจำนวน 1,000 ทวีต โดยมีทวีตที่สื่อถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในรัสเซียหรือนโยบายต่างประเทศของปูตินเพียงแค่ 7 ทวีตเท่านั้น และทวีตทางการเมืองจำนวนน้อยนิดเหล่านั้นมุ่งเน้นไปในประเด็นของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT เป็นหลัก บทความชิ้นนี้ยังได้เสนอว่า แนวโน้มการทวีตและรีทวีตในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียเป็นไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยสรุปแล้ว รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของปูตินสามารถใช้ฟุตบอลโลกในการหักเหความสนใจของผู้คนให้ออกจากสถานการณ์ทางการเมืองและพฤติกรรมในการเมืองระหว่างประเทศของรัสเซีย แล้วพุ่งความสนใจไปยังที่การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นหลักแทน

การนิยามขอบเขตของการเมือง – การแย่งชิงความหมายของการแข่งขันฟุตบอลโลก ณ ประเทศกาตาร์

การแย่งชิงความหมายของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ได้ดำเนินมาเป็นปีแล้ว ในด้านหนึ่ง ทางรัฐบาลกาตาร์มุ่งหวังให้การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นภาพตัวแทนของความทันสมัยในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการส่งออกพลังงานและการลงทุนโดยกองทุนที่รัฐเป็นผู้บริการ (sovereign fund) และการสร้างหลักหมายของวงการฟุตบอลในโลกอาหรับผ่านการเป็นประเทศเจ้าภาพแห่งแรกที่มาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ในอีกด้านหนึ่ง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในโลกตะวันตกประณามกิจกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเตรียมการแข่งขัน โดยเฉพาะการกดขี่แรงงานต่างด้าวในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทศกาลฟุตบอลโลก ทีมฟุตบอลระดับชาติที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันทำการเข้าร่วมการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เช่นทีมชาติเดนมาร์กที่มีการออกแบบเสื้อเป็นลักษณะเฉพาะเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวทางการปฏิบัติที่ไม่เคารพมนุษยชนของเจ้าภาพอย่างกาตาร์

อย่างไรก็ตาม FIFA พยายามลดทอนความแหลมคมของกระแสการแสดงความไม่ลงรอยต่อการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพอย่างกาตาร์ โดย FIFA แถลงว่าทีมชาติควรให้ความสนใจฟุตบอลมากกว่าเรื่องการเมือง เพราะกีฬากับการเมืองควรแยกออกจากกัน และ FIFA ยังส่งข้อความตักเตือนให้ทีมชาติเดนมาร์กปรับเปลี่ยนรูปแบบชุดที่ใช้ในการแข่งขันเสียใหม่ เพราะไม่ต้องการให้ทีมชาติเดนมาร์กนำฟุตบอลไปปะปนกับการเมือง แต่ทางตัวแทนของสมาคมฟุตบอลเดนมาร์กแสดงความเห็นในทำนองว่า ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ทีมชาติเดนมาร์กเรียกร้องไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตของมนุษย์ 

การพยายามแยกกีฬาออกจากการเมืองคือเหตุผลที่ FIFA ใช้อธิบายความชอบธรรมของเจ้าภาพที่มีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตลอดอย่างน้อยก็ตั้งแต่การแข่งขันในอาร์เจนตินาใน 1978 อย่างที่ได้เล่าไปแล้ว (บางส่วนเหตุการณ์ในครั้งนั้นสามารถรับชมได้จากสารคดี FIFA Uncovered ที่ฉายทาง Netflix ในขณะนี้) แต่นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่กลุ่มพลังทางการเมืองและสังคมอันหลากหลายตอบโต้กลับด้วยการเมืองของการให้นิยามและกำหนดขอบเขตของคำว่าการเมืองด้วย

ในวันที่ประชาธิปไตยและคุณค่าสิทธิมนุษยชนถูกท้าทายและถดถอย การช่วงชิงนิยามและความหมายของฟุตบอลโลกหนนี้จึงน่าสนใจยิ่ง


References
1 ความเกี่ยวเนื่องระหว่างการเมืองและฟุตบอลในอาร์เจนตินาสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Wilson, Jonathan. 2016. Angels with Dirty Faces. New York, N.Y.: Nation Books. ที่เป็นหนังสือภาอังกฤษที่บรรยายประวัติศาสตร์ฟุตบอลและสังคมในอาร์เจนตินาได้ละเอียดและมีชีวิตชีวามาก
2 เรื่องราวทางการเมืองของการแข่งขันฟุตบอลโลก ณ ประเทศรัสเซีย สามารถอ่านได้เพิ่มเติมจาก (1) Meier, Henk Erik, Michael Mutz, Julia Glathe, Malte Jetzke, and Martin Ho ̈lzen. 2021. Politicization of a Contested Mega Event: The 2018 FIFA World Cup on Twitter. Communication and Sport 9, (5): 785-810. (2) Morgan, Ewan. Russia’s World Cup: Two Politics in Review, Two Years on. Football Paradise, May 1. Available online at https://www.footballparadise.com/russia-world-cup-the-politics-in-review-a-year-on/. (3) Reiche, Danyel. 2018. Issues around the FIFA World Cup 2018 in Russia: A Showcase of how Sports and Politics Mix. SUG 15, (2-3): 283-296.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save