fbpx
‘Sharenting’ เมื่อการโพสต์รูปด้วยความรักของพ่อแม่อาจกำลัง ‘ละเมิดสิทธิ’ ของลูก

‘Sharenting’ เมื่อการโพสต์รูปด้วยความรักของพ่อแม่อาจกำลัง ‘ละเมิดสิทธิ’ ของลูก

ไม่ใช่แค่การกระหน่ำโพสต์รูปเบบี้จนเพื่อนต้องขออันฟอลโลว์ แต่ดูเหมือนว่าการเปิดเพจลูกน้อยจะกลายเป็นเทรนด์สมัยใหม่ของพ่อแม่ยุคนี้ สังเกตได้จากหน้าฟีดเฟซบุ๊กที่มักจะมีภาพน่ารักๆ ของเด็กๆ โผล่ขึ้นมาให้เราเห็นแทบทุกชั่วโมง

พ่อแม่หลายคนให้เหตุผลในการเปิดเพจลูกๆ ว่า ช่วงเวลานี้ของเจ้าหนูเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดและไม่มีวันย้อนกลับมาอีกแล้ว จึงอยากขอเก็บความทรงจำไว้ แต่ถ้าจะเก็บไว้ดูคนเดียวก็กระไรอยู่ พวกเขาจึงเลือกเปิดเพจเพื่อให้บรรดาญาติๆ หรือคนรู้จักสามารถติดตามความเป็นไปของเด็กๆ ได้ด้วยเช่นกัน 

หากมองในแง่นี้ การโพสต์รูปหรือคลิปวิดีโอ ไปจนถึงการเปิดเพจเล่าเรื่องราวชีวิตในแต่ละวันของลูกๆ ก็ดูไม่น่าจะมีพิษมีภัยอะไร แถมต้องยอมรับว่าภาพความน่ารักสดใสของเด็กๆ ก็ช่วยชุบชูใจในวันที่ห่อเหี่ยวให้ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี แต่ขนาดเหรียญยังมีสองด้าน แล้วพฤติกรรมการโพสต์ที่อาจมากเกินไปของพ่อแม่จะไม่มีข้อที่น่ากังวลได้อย่างไร

ในปี 2016 ยุคที่กระแสการแชร์รูปลูกๆ ของพ่อแม่กลายเป็นเรื่องไวรัลไปทั่วทั้งโลก Collins Dictionary ได้บัญญัติศัพท์คำว่า Sharenting (n.) ขึ้นมา เกิดจากการผสมคำว่า Share และ Parenting เข้าด้วยกัน ใช้เรียกพฤติกรรมของพ่อแม่ที่แชร์ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกมากเกินไป จนอาจมองข้ามความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็ก หลายคนถึงกับเอ่ยว่านี่อาจเป็นการกระทำแบบพ่อแม่รังแกฉันแห่งศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้

พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกที่เปลี่ยนไปของพ่อแม่ส่งผลให้ประเด็นเรื่อง ‘สิทธิความเป็นส่วนตัว’ ของเด็กถูกกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง เส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวของลูกกับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของพ่อแม่แท้จริงแล้วควรอยู่ที่ใด 101 คุยกับ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผู้ติดตามและทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กในโลกออนไลน์มาอย่างยาวนาน ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยเนื่องมาจากพฤติกรรม Sharenting ของพ่อแม่ยุคดิจิทัล ไปจนถึงคำแนะนำในการใช้โซเชียลมีเดีย ว่าผู้ปกครองควรใช้เทคโนโลยีอย่างไร เพื่อไม่ให้สิ่งที่คุณเคยโพสต์ในอดีตย้อนกลับมาทำให้ลูกรักของคุณต้องปวดใจในอนาคต


กายไม่ปลอดภัย ใจไม่แข็งแรง
ภัยจากการโพสต์รูปลูกลงบนโลกออนไลน์ 



“สิ่งนี้เป็นการกระทำแห่งยุคสมัย ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่ยุคนี้ใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดียตลอดเวลา พวกเรากลายเป็นมนุษย์กล้องที่ต้องถ่าย ต้องแชร์กันโดยธรรมชาติ ซึ่งฟังก์ชันสำคัญของโซเชียลมีเดียมีไว้เพื่อติดต่อสื่อสาร เรื่องราวของลูกๆ ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เราอยากจะพูดคุยส่งต่อ นอกจากนี้ในแง่ผลตอบรับ โพสต์ของเด็กๆ ก็เรียกความสนใจและยอดไลก์ได้มากกว่าโพสต์ทั่วๆไป ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ยุคนี้ถึงโพสต์รูปลูกกันมากขึ้น” 

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ย้อนให้ฟังถึงที่มาของพฤติกรรม Sharenting ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมว่า หากวิเคราะห์เจตนาของพ่อแม่ที่มีพฤติกรรม Sharenting แล้วนั้น เธอมองว่าหลายคนไม่ได้มีเจตนาร้าย ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์รูปลูกด้วยความรักใคร่ เอ็นดู และอยากจะส่งต่อความน่ารักนี้ให้หลายคนได้เห็นกัน แต่บางครั้งอาจลืมไปว่าการโพสต์รูปลูกที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กในอนาคตได้ ซึ่งหลายครั้งผลกระทบที่ตามมาก็ร้ายแรงกว่าที่พ่อแม่คิด ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน การรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของลูก ไปจนถึงการละเมิดสิทธิเด็ก โดยศรีดาแบ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็กออกเป็นสองแนวทางคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายนอกและผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใน 

“สำหรับผลกระทบภายนอก อย่างแรกคือเรื่องความปลอดภัย การโพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปภาพของลูกๆ เสี่ยงต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเขาสามารถแกะรอยกิจกรรมของเด็กๆ ผ่านสิ่งที่พ่อแม่เช็คอินหรือโพสต์ไว้ในโซเชียลมีเดีย อย่างที่สองคือเรื่องการขโมยตัวตน นี่ถือเป็นปัญหาใหม่ที่มาพร้อมกับยุคดิจิทัล มิจฉาชีพหลายคนขโมยภาพหรือข้อมูลของเด็กๆ ก่อนจะนำไปปั้นเป็นเรื่องราวใหม่เพื่อขอรับบริจาค ตามที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ในหน้าข่าว 

“ส่วนอย่างสุดท้ายที่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ คือการนำภาพของเด็กไปใช้เพื่อตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก หรือ pedophile ภาพน่ารักๆ ของเด็กในโลกออนไลน์อาจไปกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เกิดอารมณ์ทางเพศและไปละเมิดเด็กอื่นๆ ที่เขามีโอกาสเข้าถึงในโลกแห่งความจริง ปัญหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็กก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราพบเห็นได้บ่อยขึ้น” 

ทางด้านผลกระทบภายใน ศรีดากล่าวว่าการโพสต์เรื่องราวที่มากจนเกินไปของพ่อแม่ โดยเฉพาะการโพสต์เฉพาะเรื่องราวดีๆ อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกๆ และไม่ว่าผลตอบรับที่ได้กลับมาจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ ล้วนส่งผลต่อการเติบโตของเด็กทั้งสิ้น

เธออธิบายว่า หากเด็กได้รับคอมเมนต์แง่บวกอย่างท่วมท้นอาจทำให้เขาเกิดการเสพติดตัวตนในโลกออนไลน์ที่พ่อแม่ประกอบสร้างขึ้นมา เด็กอาจกลายเป็นคนที่เสพติดการเยินยอ การกดไลก์ การกดว้าว หรืออาจถึงขั้นพยายามทำตัวเองให้ดูดีตลอดเวลาเพื่อให้ได้รับคำชื่นชม เพราะเด็กดันเข้าใจไปแล้วว่านั่นคือชีวิตของเขา ทั้งที่ชีวิตจริงของมนุษย์ไม่ได้มีเพียงแค่ช่วงเวลาที่กดไลก์อย่างเดียว แต่ยังมีทั้งช่วงเวลาที่กดโกรธหรือกดหน้าบึ้งผสมหลอมรวมกลายเป็นชีวิตไปพร้อมๆ กัน  

ศรีดาเสริมต่อว่า ในทางกลับกัน หากเด็กได้รับคำวิจารณ์ด้านลบ แม้วันนี้เขาอาจไม่รับรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรลืมว่าคอมเมนต์เหล่านี้จะกลายเป็น digital footprint หรือ ร่องรอยทางดิจิทัล ที่จะคงอยู่ตลอดไป ในอนาคตเมื่อเขาสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ มีอารมณ์ ความรู้สึกเป็นของตัวเอง สิ่งที่เคยปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจของเขาโดยที่พ่อแม่ก็ไม่อาจแก้ไขได้ 


การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจัง อุปสรรคการคุ้มครอง
สิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กบนโลกออนไลน์ 


ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับประเด็น ‘สิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก’ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป หลายประเทศต่างออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของผู้ปกครองในการแชร์ข้อมูลส่วนตัวลูกๆ เช่น ในฝรั่งเศส หากพ่อแม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปถ่ายของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องรับโทษทั้งจำและปรับฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลในโลกออนไลน์

หรือในสหภาพยุโรป มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation : GDPR) ซึ่งแน่นอนว่า ‘รูปภาพ’ นับเป็นหนึ่งในข้อมูลส่วนบุคคลที่ใครนำมาเผยแพร่โดยไม่ขออนุญาตไม่ได้ นอกจากนี้ GDPR ยังมีหลักที่ว่าด้วยเรื่อง ‘สิทธิการถูกลืม’ (Right to be forgotten) กล่าวคือเป็นสิทธิของผู้ให้ข้อมูลในการสั่งให้ลบข้อมูลส่วนตัวที่เผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ หากไม่ต้องการให้ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ต่อไป 

ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน (The Children’s Online Privacy Protection Act of 1998) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘COPPA’ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2000 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี  

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กเหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา กฎหมายที่ดูจะใกล้เคียงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเด็ก พ.ศ. 2546 

ศรีดาให้ความเห็นว่า “สำหรับบ้านเรามี 2 กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งทั้งคู่ถูกตีความไว้ค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ที่เป็นการพูดรวมๆ ไม่ได้แยกเป็นกรณีของเด็กเหมือนอย่างกฎหมาย COPPA ของอเมริกาที่แยกออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

“แต่ถ้าถามว่ากฎหมายที่มีอยู่เพียงพอที่จะคุ้มครองเด็กหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเพียงพอ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา เราไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง สาเหตุอาจเป็นเพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นครอบครัว ทำให้ยากต่อการดำเนินคดี บวกกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ก็เก่าเสียเต็มที แถมบทลงโทษต่างๆ ก็มีโทษน้อย ส่งผลให้พ่อแม่ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง” 


Consent is a KEY!


นอกจากกลไกทางกฎหมายที่ดูท่าจะบังคับใช้จริงได้ยาก แถมคงไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าลูกจะลุกขึ้นไปฟ้องร้องพ่อแม่ ต่างจากกรณีเชิงพาณิชย์ทั่วไป ยังมีอีกหนึ่งวิธีการที่สามารถใช้ได้และดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง นั่นก็คือ การถามและขอความยินยอมจากลูก (consent) ก่อนโพสต์ข้อความหรือรูปภาพลงในโซเชียลมีเดีย 

งานวิจัยปี 2016 ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ทำการสอบถามคู่พ่อลูกหรือแม่ลูกกว่า 249 คู่เรื่องกฎการใช้โซเชียลมีเดีย พบว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-17 ปี ต้องการให้พ่อแม่ขออนุญาตก่อนจะโพสต์เรื่องราวของเขาลงในโซเชียลมีเดีย ในขณะที่ฝ่ายพ่อแม่แทบไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้เลย 

งานวิจัยดังกล่าวตรงกับความคิดเห็นของกรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เธอมองว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ขาดการตระหนักเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยหลายคนคิดเพียงว่าลูกยังเล็กเกินกว่าจะตัดสินใจได้เอง พ่อแม่เลยขอใช้สิทธิความเป็นผู้ปกครองในการตัดสินใจแทน ซึ่งศรีดาให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะโพสต์ข้อความหรือแชร์รูปใดๆ พ่อแม่ควรขออนุญาตลูกทุกครั้ง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่ต่อให้เป็นพ่อแม่ก็ไม่มีสิทธิละเมิด

“ที่ผ่านมาจะมีประเด็นว่า ลูกยังเล็ก เรายังถามเขาไม่ได้ พ่อแม่เลยใช้สิทธิความเป็นพ่อแม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งจริงๆ แล้วสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าใครก็มาละเมิดไม่ได้ แม้ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่เขาก็ตาม ฉะนั้นการที่คุณจะโพสต์หรือแชร์ภาพที่เกี่ยวข้องกับลูกจึงจำเป็นที่จะต้องถามและขอความยินยอมจากเขาก่อน เพราะคุณอย่าลืมว่าสิ่งที่คุณโพสต์ไปจะเป็น digital footprint ที่จะอยู่กับเขาไปตลอด เผลอๆ คุณอาจจะตายไปแล้ว แต่สิ่งที่คุณเคยโพสต์วิจารณ์ลูกหรือรูปภาพที่เขาอาจจะอายในวันข้างหน้ามันยังคงอยู่

“วันนี้เขาอาจไม่อายเพราะเขาไม่รู้เรื่อง แต่หากวันหนึ่งเมื่อเขาโตขึ้นแล้วเกิดอายขึ้นมา วันนั้นคุณจะทำอย่างไร เพราะหนึ่งโพสต์ของคุณมีค่าไม่ต่างกับการที่คุณเอารูปลูกไปติดไว้หน้าบ้าน ใครจะเอาหนวดมาเติม เขียนคำหยาบ หรือจะเอารูปนี้ไปถ่ายสำเนาและนำไปแชร์ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ย่อมทำได้ ฉะนั้นในเมื่อเขาเป็นคนที่จะต้องเผชิญกับผลของการกระทำนี้ คุณก็ต้องขออนุญาตและให้สิทธิเขาในการเลือกว่าเขาจะเอาอย่างไร”


เพราะพ่อแม่ควรต้อง ‘คิดก่อนโพสต์’

ถึงแม้ในวันนี้เราจะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ว่าตกลงแล้วเราควรโพสต์หรือไม่ควรโพสต์รูปของลูกๆ ลงในโซเชียลมีเดีย และประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กกับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของพ่อแม่ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องแลกเปลี่ยน ถกเถียง หาทางออกกันต่อไป แต่หนึ่งสิ่งที่เรารู้ชัด คือโซเชียลมีเดียได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว สิ่งสำคัญ ณ วันนี้จึงอาจไม่ใช่การปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการตั้งคำถามว่าพ่อแม่ควรจะใช้เทคโนโลยีนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้สิ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอมาทำร้ายโลกจริงของลูกๆ

ศรีดาให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า อย่างแรก (ซึ่งเธอย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก) คือพ่อแม่จำเป็นต้อง ‘คิดก่อนโพสต์’ ไม่ว่าจะคิดให้รอบด้านและคิดไปให้ไกล รวมทั้งต้องตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็กทั้งในทางบวกและทางลบ นอกจากนี้ วันใดที่ลูกโตพอที่จะตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง พ่อแม่ก็ควรจะต้องขอความยินยอมจากเขาหรือปล่อยให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่จะปรากฏในโลกโซเชียลมีเดีย

พ่อแม่ควรต้องตระหนักรู้ถึงผลที่จะตามมาหลังจากการโพสต์แต่ละครั้ง เป็นไปได้ที่เมื่อเขาโตขึ้น เขาอาจจะไม่ชอบในสิ่งที่คุณโพสต์ แต่เขาลบไม่ได้ เขาเอาความเป็นส่วนตัวเหล่านั้นกลับคืนมาไม่ได้ แถมคนที่ทำยังเป็นพ่อแม่เขาอีก ท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมาที่ว่า คุณเคยขออนุญาตลูกหรือเปล่า คุณเคยลองถามเขาไหมว่าเขาชอบหรือไม่ชอบที่จะอยู่ในโซเชียลมีเดียของคุณ แล้วตัวคุณเคยรู้ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นไหม 

“เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนรักลูกและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดสิทธิของเขา เพียงแต่ไม่ทันได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เท่านั้นเอง” 

อย่างที่สอง ศรีดากล่าวว่า ได้เวลาที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง ไปจนถึงการเข้าใจฟังก์ชันต่างๆ ของโซเชียลมีเดีย เธอตั้งข้อสังเกตว่ายังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่มองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปหรืออาจจะเรียนรู้แค่บางฟังก์ชัน โดยเฉพาะฟังก์ชันที่เกี่ยวกับการแชร์ จนหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วโซเชียลมีเดียก็มีฟังก์ชันจำกัดการเข้ามาของคนนอกด้วยเช่นกัน ซึ่งหากพ่อแม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวให้ลูกได้มากขึ้น 

“ถ้าคุณบอกว่าคุณโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดียเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ จริงๆ วิธีการในการจัดเก็บยังมีได้อีกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ การอัปโหลดรูปเก็บไว้ในคลาวด์ หรือถ้าคุณอยากจะใช้พื้นที่นี้เพื่ออัปเดตเรื่องราวของลูกๆ ให้คนในครอบครัว เพื่อนๆ หรือญาติได้รับรู้กัน คุณก็สามารถตั้งค่าโพสต์ให้มองเห็นเฉพาะกลุ่ม เช่น เห็นแค่ในกลุ่มญาติ กลุ่มเพื่อน หรือจะตั้งค่าให้เห็นเฉพาะฉัน เรียกได้ว่าเทคโนโลยีสมัยนี้มีหลายรูปแบบให้คุณเลือกใช้ ฉะนั้นคุณควรต้องเข้าใจฟังก์ชันต่างๆ ของมัน เพราะโซเชียลมีเดียเป็นชุมชนที่คุณออกแบบได้ อยู่ที่คุณแล้วว่าจะจำกัดการเข้าถึงนี้อย่างไร” 

นอกเหนือจากประเด็นข้างต้น ศรีดาชวนเรามองต่อไปถึงภาพใหญ่อย่างค่านิยมในสังคม เธอคิดว่าแรงผลักดันที่ทำให้พ่อแม่บางคนแชร์เรื่องราวของลูกมากขึ้นหรืออาจถึงขั้นเปิดเพจลูกแบบเป็นเรื่องเป็นราว มีผลมาจากค่านิยมในสังคมที่เชื่อว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จคือชีวิตที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นคนมีชื่อเสียงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพ่อแม่หลายคนจะมองว่านี่คือโอกาสที่จะพาลูกไปถึงฝั่งฝันจนไม่ทันได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

ศรีดาทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ว่า “ถึงเวลาที่สังคมต้องช่วยกันเปลี่ยนนิยามของคำว่าชีวิตที่ดีเสียใหม่ ว่าชีวิตที่ดีไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงโด่งดังเพียงอย่างเดียว แต่การมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จหรือชีวิตที่มีความสุขสามารถเป็นไปได้หลายทาง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราทั้งสังคมต้องช่วยกัน” 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save