fbpx
มองให้ทะลุดราม่า The Cave นางนอน : "ความจริง" โครงเรื่อง และระบบราชการไทย

มองให้ทะลุดราม่า The Cave นางนอน : “ความจริง” โครงเรื่อง และระบบราชการไทย

ณัฐดนย์ โกศัยธนอนันท์ เรื่อง

 

จากวันแรกที่ THE CAVE นางนอน ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ได้ก่อให้เกิดกระแสดราม่าจำนวนมาก หนึ่งในดราม่าที่น่าสนใจที่สุดคือการตอบโต้กันระหว่างนายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวังลำปาง ในฐานะอดีตผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งได้ออกมาวิจารณ์ภาพยนตร์ THE CAVE ว่านำเสนอเรื่องราวได้ “ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” ในหลายจุด และยอมรับว่าตนรู้สึกเสียความรู้สึกกับมุกที่ภาพยนตร์ THE CAVE นำเสนอออกมาในเชิงยั่วล้อการทำงานของระบบราชการไทย ขณะที่ฟากของผู้กำกับทอม วอลเลอร์ ก็ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนเช่นเดียวกัน

คำถามที่น่าสนใจคือ ข้อกล่าวหาที่ว่าภาพยนตร์ THE CAVE นำเสนอเรื่องราวได้ “ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” นั้น ข้อเท็จจริงที่พูดอยู่นี้คือข้อเท็จจริงของใคร แล้วข้อเท็จจริงของเราแต่ละคนนั้น จำเป็นต้องเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันหรือไม่

บางทีดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ อาจกำลังสะท้อนว่า “ข้อเท็จจริง” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ 13 หมูป่า สามารถถูกนำไปร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะเล่าจากโครงเรื่องแบบไหน เพราะโครงเรื่องจะทำหน้าที่คอยเป็นตัวกำกับว่า “ข้อเท็จจริง” ชุดไหนของเหตุการณ์ที่จะได้มีบทบาทมากหรือมีบทบาทน้อยภายในเรื่องราวหนึ่งๆ

ดราม่าที่เราเห็นจึงเป็นผลของการปะทะกันระหว่างเรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวง 2 ชุด ซึ่งมีที่มาจากโครงเรื่องที่แตกต่างกัน ระหว่าง “โครงเรื่องแบบไทย” ที่สังคมไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และ “โครงเรื่องแบบ THE CAVE” ที่มาท้าทายเรื่องราวปฏิบัติการถ้ำหลวงภายใต้โครงเรื่องแบบเดิม

 

เรื่องราวและโครงเรื่องของปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทย

 

หากว่ากันตามความเป็นจริง เรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวงที่เราได้รับรู้กันมาโดยตลอดว่า ตัวแสดงกลุ่มใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญ มีอุปสรรคสำคัญอะไรบ้างที่ต้องเผชิญ ไปจนถึงว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถฝ่าฟันอุปสรรคดังกล่าวมาได้อย่างไร ฯลฯ ล้วนมาจากมุมมองและประสบการณ์ของระบบราชการไทยที่มีต่อภารกิจในครั้งนี้ ผ่านการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งถูก “จัดระเบียบ” มาแล้วทั้งสิ้น โครงเรื่องหลักของเรื่องเล่าชุดดังกล่าวจึงยากที่จะหลีกพ้นจากการให้คุณค่ากับระบบราชการ ในฐานะ “ผู้นำ” ที่สามารถพาให้ปฏิบัติการครั้งยิ่งใหญ่ของโลกประสบความสำเร็จในที่สุด

โครงเรื่องหลักของเรื่องเล่าปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทย จึงเป็นโครงเรื่องที่นำเสนอให้เห็นถึงสมรรถภาพและขีดความสามารถของระบบราชการไทย ที่สามารถเล่นบทบาทสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) บทบาทของระบบราชการไทยในฐานะ “ผู้นำ” ในการหลอมรวมความรู้รักสามัคคีของคนไทยจากที่เคยแตกแยกกันมานาน ให้สามารถกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง เพื่อช่วยกันทำให้ 13 หมูป่าสามารถออกจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัย 2) บทบาทของระบบราชการไทยในการเป็นแกนกลางประสานความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งโลก โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ผลประโยชน์ โดยพร้อมจะละวางความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เคยมีต่อกันเอาไว้ชั่วคราว แล้วช่วยกันระดมทรัพยากรทั้งหมดที่แต่ละฝ่ายมี มาช่วยในปฏิบัติการถ้ำหลวงอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนทำให้ภารกิจที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเป็นไปได้

ภายใต้โครงเรื่องดังกล่าว มุมมองและประสบการณ์ของตัวแสดงหลักที่ถูกให้ความสำคัญสูงสุดย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเป็นบรรดาข้าราชการไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนี้ ได้แก่

1) ผู้ว่าณรงศักด์ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งทำหน้าที่วางแผน และประสานการทำงานกับทุกทีมที่เข้าร่วมในปฏิบัติการ

2) Thai Navy Seal และกองทัพไทย ในฐานะกองกำลังหลักจำนวนมากที่สุดในปฏิบัติการครั้งนี้

3) เหล่าประชาชนจิตอาสาที่ได้รับการรับรองจากระบบราชการไทยให้สามารถคอยสนับสนุน “อย่างเป็นระเบียบ” นอกถ้ำหลวง เช่น ทำอาหาร, ซักเสื้อผ้า, ขับรถรับส่งเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าตัวแสดงอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่ถูกระบุไว้นี้ จะไม่ถูกพูดถึงเลยในเรื่องเล่าของปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทย หากแต่โครงเรื่องแบบไทยได้ให้ความสำคัญกับบทบาทและความสำคัญของตัวละครทั้ง 3 กลุ่มที่ระบุไว้สูงมาก จนบดบังความสำคัญของตัวแสดงอื่นๆ ไป

ขณะที่อุปสรรคสำคัญจากมุมมองและประสบการณ์ของระบบราชการไทย ที่คอยขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ มี 3 ประการ ได้แก่

1) เรื่องของธรรมชาติอย่างความซับซ้อนทางภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน และระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจนอาจทำให้ระดับออกซิเจนภายในถ้ำอยู่ในสภาวะวิกฤติ

2) กองทัพสื่อมวลชนที่กระหายข่าวจนเกินงาม

3) อาสาสมัครผู้รู้ทั้งหลายที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎระเบียบ

เพื่อจัดการกับอุปสรรคทั้ง 3 ประการนี้ ระบบราชการไทยได้ตัดสินใจรวมศูนย์อำนาจในการสั่งการ เพื่อจัดระเบียบให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของภารกิจในเวลาต่อมา

ดังนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเหนืออุปสรรคทั้งปวงของปฏิบัติการถ้ำหลวง จึงเป็นผลมาจากความสามารถในการการวางแผนการทำงานอย่างบูรณาการที่ชาญฉลาด และการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างเคร่งครัดของระบบราชการไทยต่อผู้เข้าร่วมภารกิจหลายหมื่นชีวิต ทำให้ผู้เข้าร่วมภารกิจแต่ละด้านสามารถแสดงศักยภาพในด้านที่ตนเชียวชาญออกมาให้ได้มากที่สุด และนำไปสู่ความสำเร็จในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้ แม้ทีมนักดำน้ำต่างชาติที่พา 13 หมูป่าออกจากถ้ำ จะเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในปฏิบัติการ แต่ก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักในเรื่องเล่าปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทย เพราะพวกเขาเองเป็นเพียง “จิ๊กซอว์” ชั้นหนึ่ง ท่ามกลางจิ๊กซอว์ชิ้นอื่นๆ อีกนับล้าน ที่มีระบบราชการไทยเป็นผู้นำมาประกอบสร้างให้เป็นภาพที่สมบูรณ์

ขณะที่เสียงแห่งความปิติยินดีของคนไทยที่ได้เห็น 13 หมูป่า ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้อย่างปลอดภัยดังขึ้น “ความเป็นจริงอีกด้าน” ที่ไม่สอดรับกับโครงเรื่องแบบราชการไทย กลับยังคงติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเช่นเดิม กระทั่งการเข้าฉายของภาพยนตร์ THE CAVE นางนอน ความเป็นจริงอีกดังกล่าวจึงค่อยๆ ถูก “กู้” ออกมาจากถ้ำหลวง

 

เรื่องราวและโครงเรื่องของปฏิบัติการถ้ำหลวงใน THE CAVE

 

ในขณะที่เรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทย พยายามเล่าให้เห็น “ความเป็นจริง” ผ่านโครงเรื่องที่ระบบราชการไทยมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของปฏิบัติการถ้ำหลวง ภาพยนตร์ THE CAVE นางนอน ก็กำลังทำหน้าที่เสนอเรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวงในแบบของตัวเอง (ต่อไปนี้จะขอเรียกว่า “แบบ THE CAVE” ) เพื่อเล่าให้เห็นถึง “ความเป็นจริงอีกด้าน” ผ่านโครงเรื่องที่แตกต่างออกไป

โครงเรื่องแบบ THE CAVE ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่มีจิตใจอยากจะช่วยเหลือ 13 หมูป่าโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เป็น “UNSUNG HERO” ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ภารกิจระดับโลกครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

ภายใต้ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการถ้ำหลวง และการขอใช้สถานที่ถ่ายทำจากหน่วยงานราชการไทย[1] และ ข้อจำกัดเรื่องลิขสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล 13 หมูป่า ซึ่งเป็นสิทธิ์ขาดของบริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง[2] จึงทำให้ทีมผู้สร้าง THE CAVE เลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของนักดำน้ำต่างชาติ อย่าง “จิม วอร์นีย์” นักดำน้ำถ้ำชาวเบลเยียมผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำตัว “โค้ชเอก” ดำน้ำออกมาจากจุดที่อันตรายที่สุดภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน และยังได้เจ้าของเรื่องตัวจริงเสียงจริง มาร่วมแสดงเป็นตัวเองในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย

เรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบ THE CAVE เริ่มต้นขึ้นเหมือนกับการเล่าเรื่องแบบอื่นๆ ทั่วไป คือ 13 หมูป่า ชักชวนกันไปเที่ยวในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน แต่ไม่สามารถออกจากถ้ำได้ ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ 13 หมูป่าจึงเกิดขึ้น โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้มวลน้ำภายในถ้ำหลวงไม่มีท่าทีว่าจะลดระดับลงได้ เป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยขัดขวางปฏิบัติการครั้งนี้

แต่เมื่อดำเนินเรื่องมาถึงจุดนี้ THE CAVE ได้เริ่มแหวกกรอบการนำเสนอของตนให้มีความแตกต่างจากเรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวงแบบไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเน้นไปที่ความต้องการอยากจะมาช่วย 13 หมูป่า ของบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อย อุปสรรคที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญ ไปจนถึงวิธีการที่พวกเขาเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น

ภาพยนตร์ THE CAVE นางนอน ได้นำเสนอเรื่องราวของปฏิบัติการถ้ำหลวง จากมุมมองและประสบการณ์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยากจะมาช่วยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ผ่านตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญ 4 กลุ่มด้วยกัน คือ

1) ทีมระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง โดยมี “ผู้ใหญ่ตั้น” และ “อ.อดิสรณ์” เป็นตัวแสดงหลัก ในการนำเครื่องสูบน้ำเทอร์โบเจ็ทไปช่วยระบายน้ำภายในถ้ำ

2) กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง ซึ่งนำเสนอผ่านบทบาทของ “ป้าบัว” ผู้ปฏิเสธที่จะรับเงินชดเชยใดๆ จากรัฐบาล ทั้งๆ ที่พื้นที่ทำกินของเธอและครอบครัว ได้รับความเสียหายมูลค่ามหาศาล จากการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง

3) กลุ่มนักดำน้ำต่างชาติ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ THE CAVE มุ่งให้ความสำคัญสูงสุด โดยมี “จิม วาร์นีย์” นักดำน้ำถ้ำชาวเบลเยียมเป็นตัวชูโรง

4) “จ่าแซม” อดีตหน่วยซีลที่อาสามาช่วยเหลือภารกิจครั้งนี้ตราบจนสิ้นลมหายใจ

ตัวแสดงทั้ง 4 กลุ่ม ล้วนต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มากมายกว่าที่พวกเขาจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ 13 หมูป่าได้สำเร็จ แต่มีเพียง “จ่าแซม” เท่านั้น ที่ไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้จนตลอดรอดฝั่ง

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการสดุดีต่อวีรกรรมของจ่าแซมที่ถ้ำหลวง ภาพยนตร์ THE CAVE จึงได้พยายามถ่ายทอดเรื่องราวของจ่าแซม ผ่านภาพและเสียงของจ่าแซมที่เคยบันทึกเป็นวิดีโอให้ได้มากที่สุด เพราะคงไม่มีใครเข้าใจต่อเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการอาสามาช่วยพา 13 หมูป่ากลับบ้านได้มากเท่าตัวจ่าแซมเองอีกแล้ว และฉากการปฏิบัติภารกิจในถ้ำหลวงของจ่าแซม ภาพยนตร์ THE CAVE ก็เลือกที่จะไม่ถ่ายทำให้ผู้ชมได้เห็นใบหน้าของนักแสดงที่รับบทเป็นจ่าแซม ผู้ชมจะได้เห็นแต่เพียงด้านหลังของจ่าแซมเท่านั้น เพราะคงไม่มีใครอีกแล้วที่จะสามารถรับบทบาทที่มีเกียรติยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้

 

โจมตีระบบราชการไทย หรือ “เล่า” กันคนละโครงเรื่อง

 

ภายใต้โครงเรื่องแบบ THE CAVE ที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นจริง” ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่อาสามาช่วยเหลือ 13 หมูป่าโดยไม่หวังผลตอบแทน มุมมองและประสบการณ์ของพวกเขาซึ่งมีตัวตนจริง จึงถูกใช้มากำหนดว่าอะไรบ้างคือปัญหาและอุปสรรคของปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมแตกต่างกับโครงเรื่องแบบไทย ที่มองผ่านมุมมองและประสบการณ์ของระบบราชการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่โครงเรื่องแบบ THE CAVE นำเสนอออกมาอย่างตรงไปตรงมา คือ ปัญหาความด้อยประสิทธิภาพของระบบราชการไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครหลักของเรื่องต่างต้องเผชิญเหมือนๆ กัน ได้ปรากฏให้เห็นผ่านฉากต่างๆ มากมายตลอดทั้งเรื่อง อาทิ การเคร่งครัดกฎระเบียบขั้นตอนโดยไม่รู้จักยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ (ฉากผู้ใหญ่ตั้นถูกบอกให้ไปทำบัตรที่ศาลากลางจังหวัดก่อนจึงจะเข้าไปช่วยได้), การใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ฉาก “เจ้าหน้าที่อุทยาน” ไล่อ.อดิสรณ์กลับไปเก่งที่นครปฐม), การหวงข้อมูล และขาดความพร้อมในการประสานการทำความร่วมกันกับหน่วยงานอื่น (ฉากถันเสี่ยวหลงขอแผนที่ภายในถ้ำแล้วถูกปฏิเสธ), การให้ความสำคัญกับเครือข่ายที่ไว้ใจได้มากกว่าคนนอก (ฉากเครื่องสูบน้ำที่เข้าไปช่วยได้เพราะบรรทุกใส่รถของมูลนิธิ ก่อนหน้านี้ตอนบรรทุกมาเองถูกปฏิเสธไม่ให้เข้า), การขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในภารกิจของตนเอง (ฉากจิมวิจารณ์การดำน้ำภายในถ้ำของหน่วยซีลว่าขาดความพร้อม) เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา แม้จะเป็น “ความเป็นจริง” ที่ไม่อยากจะยอมรับสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ก็ล้วนเป็น “ความเป็นจริง” อีกด้านจากมุมของคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ทั้งสิ้น แต่ภาพยนตร์ THE CAVE ก็ยุติธรรมมากพอที่จะนำเสนอให้เห็นถึงเงื่อนไขแวดล้อมและความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนั้น ซึ่งบีบให้ระบบราชการไทยจะต้องตัดสินใจอย่างที่ได้เห็นในภาพยนตร์ นั่นคือ เพื่อให้การปฏิบัติงานบริเวณพื้นที่ถ้ำหลวงเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

ยกเว้นเพียงแค่ฉากเดียว ที่ THE CAVE ไม่ได้ทำให้ผู้ชมเห็นว่าอะไรคือความเหตุผลเบื้องหลังของ “ตัวแสดงลับ” ที่ออกมาเรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมอย่างพร้อมเพรียง จากลีลาและพฤติกรรมของตัวแสดงลับที่ผู้ชมทุกคนล้วนคุ้นหูคุ้นตามาอย่างยาวนาน ซึ่งฉากดังกล่าวก็เป็น “ความเป็นจริง” ที่เกิดขึ้นกับ จิม วาร์นีย์ นักดำน้ำถ้ำชาวนอร์เวย์ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยบิดเบือนแต่อย่างใด[3] การที่ไม่ได้ทำให้ผู้ชมเห็นถึงเหตุผลของตัวแสดงลับดังกล่าว คือความร้ายกาจของภาพยนตร์ THE CAVE อย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้คิดเองว่า การกระทำที่น่าขบขันของตัวแสดงลับดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร

แม้ระบบราชการไทยจะถูกนำเสนอให้เห็นเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ จากมุมมองและประสบการณ์ของตัวเล็กตัวน้อยที่ปรารถนาจะช่วย 13 หมูป่าโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ก็ไม่ได้หมายความภาพยนตร์ THE CAVE จะไม่เห็นว่าบทบาทของระบบราชการไทยมีความสำคัญมากแค่ไหนต่อปฏิบัติการในครั้งนี้ เพียงแต่ด้วยโครงเรื่องที่ต้องการเน้นบทบาทของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งอาสามาช่วยเหลือ 13 หมูป่าโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำให้บทบาทของข้าราชการไทยที่ปรากฏและมีความสำคัญในภาพยนตร์ THE CAVE จึงล้วนเป็นข้าราชการที่สอดคล้องกับโครงเรื่องเท่านั้น

ภายในเรื่องจึงได้ให้ความสำคัญกับ 2 ตัวแสดงที่เป็นข้าราชการไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อโครงเรื่องอย่างมาก คือ

1) คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น (รับบทโดย “อาหนิง” นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้นักดำน้ำอังกฤษ 3 คน คือ ร็อบ ฮาเปอร์, ริชาร์ด สแตนตัน, จอห์น โวลันแทน ได้เข้ามาร่วมปฏิบัติการในภารกิจระดับโลกครั้งนี้ จึงถือได้ว่าบทบาทของคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ UNSUNG HERO จากต่างชาติจำนวนมากหลังจากนั้น เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ได้[4]

2) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รับบทโดยนักแสดงที่ไม่ทราบชื่อท่านหนึ่ง) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจอนุมัติให้ทีมนักดำน้ำต่างชาติ สามารถเริ่มปฏิบัติภารกิจนำ 13 หมูป่าดำน้ำออกจากถ้ำได้ ท่ามกลางความเสี่ยงที่ 13 หมูป่า อาจจะไม่รอดชีวิตครบทุกคน[5]

ส่วนข้าราชการอื่นๆ แม้จะมีบทบาทสำคัญต่อปฏิบัติการครั้งนี้มากแค่ไหน แต่หากบทบาทนั้นไม่สอดคล้องกับโครงเรื่องของ THE CAVE แล้ว อย่างมากก็มีซีนโผล่ออกมาแค่ในรูปแบบของคลิปการแถลงข่าวของตนในปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์นี้เท่านั้น ประเด็นจึงไม่ใช่ว่า THE CAVE ให้เครดิตข้าราชการครบทุกคนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบทบาทของข้าราชการเหล่านั้นในภารกิจ สอดคล้องกับโครงเรื่องที่ THE CAVE ต้องการจะนำเสนอหรือไม่ต่างหาก

ขอจบบทความชิ้นนี้ด้วยคำถามเดิมที่ฝากเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ข้อกล่าวหาที่บอกว่าภาพยนตร์ THE CAVE นำเสนอเรื่องราวได้ “ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” ข้อเท็จจริงที่พูดอยู่นี้คือข้อเท็จจริงของใคร แล้วข้อเท็จจริงของเราแต่ละคนนั้น จำเป็นต้องเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันหรือไม่

บางทีภาพยนตร์เรื่อง THE CAVE นางนอน อาจจะช่วยให้ท่านตอบคำถามทำนองนี้ได้ชัดเจนขึ้น…?

 


[1] โปรดพิจารณา ทัศนีย์ สาลีโภชน์. “เบื้องลึก ‘the Cave นางนอน’ หนังถ้ำหลวงเรื่องแรกของโลก.” กรุงเทพธุรกิจ 21 พฤศจิกายน 2562.http://www.judprakai.com/entertainment/1353?fbclid=IwAR3VD_3FE_0IKQz92tq0GYfPOTfYUYPBQp6NMSo7GqOjLVS8HLkiospqH30.

[2] เรื่องเดียวกัน, อ้างแล้ว

[3] The Cave – นางนอน (Facebook Page). “รู้หรือไม่ Otop ไม่ใช่มุกขำ จิม ยัน! ประทับใจจริง “. 1 ธันวาคม 2562. https://www.facebook.com/thecavenangnon/photos/a.331818047376930/547427092482690/?type=3&theater.

[4] พิจารณาบทบาทของวีระศักด์ โควสุรัตน์ ได้จาก “”วีระศักดิ์”ผู้อยู่เบื้องหลัง ดึงนักดำน้ำโลกช่วยหมูป่า.” โพสต์ทูเดย์ 22 กรกฏาคม 2561. https://www.posttoday.com/politic/report/558361.

[5] พิจารณาบทบาทของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้จาก Thai PBS. “เจอ : สารคดีถ้ำหลวง Thai Cave Rescue Ep.3 [ Eng Sub ]”. 16 มกราคม 2562. สืบค้น เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562. https://www.youtube.com/watch?v=q31mbdRKqcE.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save