fbpx
The Origin of Wealth

The Origin of Wealth

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” และ “ความยั่งยืน” ได้ยินกันหนาหูจนเฟ้อและเฝือขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความเสียหายและภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทวีความเข้มข้นและรุนแรง นักธุรกิจจำนวนมากท่องประโยคหลวมๆ กว้างๆ อย่าง “บริษัทของเรามุ่งสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” โดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตัวเองกำลังพูดถึงอะไร

ในความเป็นจริง เศรษฐกิจทั้งระบบย่อมอยู่ภายในสังคมของมนุษย์ และสังคมของมนุษย์ทั้งหมดก็อยู่ภายในสิ่งแวดล้อมหรือโลกธรรมชาติอีกทอดหนึ่ง หรือพูดอีกอย่างคือ ไม่มีส่วนใดของเศรษฐกิจที่อยู่นอกสังคมมนุษย์ และไม่มีส่วนใดของสังคมมนุษย์ที่อยู่นอกโลกธรรมชาติ

ในเมื่อโลกธรรมชาติทำงานภายใต้ “กฎธรรมชาติ” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขาอุทิศตนมาหลายชั่วอายุคนในการทำความเข้าใจ เป็นไปได้อย่างไรที่เศรษฐศาสตร์ – วิชาซึ่งศึกษาการทำงานของเศรษฐกิจและแรงจูงใจของคน – จะใช้ได้โดยไม่ต้องอาศัยบทเรียนจากบรรดานักวิทยาศาสตร์? เศรษฐศาสตร์ที่ “แท้” ในแง่ที่สอดรับกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้น จะแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์ที่นักศึกษาวิชานี้ร่ำเรียน และนักเศรษฐศาสตร์อาชีพใช้ในการทำงานอย่างไรบ้าง?

ผู้เขียนคิดว่าหนังสือที่ตอบคำถามข้อนี้ได้ดีที่สุด และอ่านสนุกที่สุดในบรรดาหนังสือแนวนี้ทั้งหมด คือ The Origin of Wealth ออกปี 2007 เขียนโดย อีริค ไบน์ฮ็อกเกอร์ (Eric Beinhocker) อดีตที่ปรึกษาอาชีพประจำบริษัทแม็คคินซีย์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ Institute for New Economic Thinking มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ในหนังสือเล่มนี้ ไบน์ฮ็อกเกอร์สังเคราะห์งานวิจัยหลากหลายแขนง ตั้งแต่ชีววิทยาวิวัฒนาการ มานุษยวิทยา ทฤษฎีเกม จิตวิทยา ทฤษฎีข้อมูล ฟิสิกส์ และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มาอธิบายว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักสำนักนีโอคลาสสิก ซึ่งเขาเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม” หรือ Traditional Economics (เขาย่อว่า TE) ล้มเหลวในการอธิบายโลกแห่งความจริงอย่างไร และ “เศรษฐศาสตร์เชิงซับซ้อน” หรือ Complexity Economics (CE) ซึ่งผนวกข้อค้นพบจากวิชาต่างๆ เหล่านี้ ทำงานได้ดีกว่าเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมอย่างไร และมันจะช่วยให้เราคิดใหม่เกี่ยวกับบทบาทของรัฐ เอกชน ตลอดจนมองเห็นความ “พ้นสมัย” ของการปะทะทางความคิดระหว่างฝ่าย “ซ้าย” และฝ่าย “ขวา” ของไม้บรรทัดอุดมการณ์ได้อย่างไรบ้าง

ไบน์ฮ็อกเกอร์อธิบายประเด็นเหล่านี้จากคำถามที่ว่า “ความมั่งคั่ง” ในโลกถูกสร้างและสะสมมาได้อย่างไร และเราจะสร้างความมั่งคั่งในอนาคตมากขึ้นได้อย่างไร

ไบน์ฮ็อกเกอร์ชี้ว่า ในรอบ 250 ที่ผ่านมา ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีต่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 37 เท่า หรือในภาษาของเขา “เราสรุปประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 2.5 ล้านปีที่ผ่านมาแบบย่นย่อได้ว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยเป็นเวลานานมโหฬารมากๆ แล้วจู่ๆ นรกก็แตก”

ในช่วงต้นของหนังสือ ไบน์ฮ็อกเกอร์ทบทวนพัฒนาการของ “เศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม” อย่างรวบรัด ผู้เขียนคิดว่าใครที่ไม่เคยได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ทางความคิดของเศรษฐศาสตร์จะได้ความรู้อย่างสนุกสนาน ส่วนนักเศรษฐศาสตร์เองก็จะได้ทบทวนความรู้ด้วย ไบน์ฮ็อกเกอร์สรุปความคิดของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ ในอดีต ไล่มาตั้งแต่ Adam Smith (1723-1790), Jaques Turgot (1727-1781), Jeremy Bentham (1748–1832), John Stuart Mill (1806-1873) และ Alfred Marshall (1842-1924) จากนั้นไบน์ฮ็อกเกอร์ก็บอกว่า นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมาอีกหลายคนพยายามแปลงเศรษฐศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ Léon Walras (1834-1910), William Stanley Jevons (1835-1882) และ Vilfredo Pareto (1848-1923) จากนั้นเขาก็แนะนำให้เรารู้จักกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดในศตวรรษที่ 20 อันได้แก่ Paul Samuelson, Kenneth Arrow, Milton Friedman และ Robert Lucas

ไบน์ฮ็อกเกอร์บอกว่า นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้รวมกันสร้าง “วิหารใหญ่” แห่ง “เศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม” แต่ความผิดพลาดร้ายแรงของพวกเขาคือ การใช้คณิตศาสตร์จากวิชาฟิสิกส์สมัยศตวรรษที่ 19 (ซึ่งฟิสิกส์สองร้อยปีให้หลังก็ก้าวหน้าไปกว่านั้นมากแล้ว) เป็นฐานรากทางความคิด ไบน์ฮ็อกเกอร์เสนอว่า การนำแบบจำลองดุลยภาพ (equilibrium model) จากฟิสิกส์มาใช้ กลับนำวิชาเศรษฐศาสตร์ไปสู่ “ทางตัน”

“แบบจำลองของวาลราส (Walras) เจวอนส์ (Jevons) และ พาเรโต (Pareto) ล้วนแต่เริ่มด้วยสมมติฐานว่า เศรษฐกิจมีอยู่แล้ว ผู้ผลิตมีทรัพยากร และผู้บริโภคครอบครองโภคภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้น แบบจำลองจึงมองว่า ‘โจทย์’ คือเราจะจัดสรรความมั่งคั่งที่มีอยู่แล้วและมีจำกัดในระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ในทางที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์สูงสุด เหตุผลสำคัญที่[แบบจำลองเหล่านี้]เน้นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด คือ สมการคณิตศาสตร์เรื่องดุลยภาพซึ่งนำเข้ามาจากวิชาฟิสิกส์นั้น เหมาะเหม็งกับการตอบคำถามเรื่องการจัดสรร แต่ยากกว่ามากที่จะประยุกต์ใช้กับการเติบโต ระบบดุลยภาพนั้นโดยนิยามอยู่ใน “สภาพคงที่” (state of rest) ขณะที่การเติบโตย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเต็มไปด้วยพลวัต”

สมมติฐานหลักเกี่ยวกับมนุษย์ใน “เศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม” หรือ TE ก็ผิดมหันต์เช่นกัน TE สมมติว่ามนุษย์เป็นผู้เล่นที่มีเหตุมีผลครบถ้วน เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ ทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจอย่างราบรื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ราวกับการประมูลของ ทั้งหมดนี้เพื่อบรรลุประโยชน์ส่วนตนตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงห่างไกลจากภาพนี้มาก (และใครก็ตามที่ติดตามอ่านหนังสือแนว “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” หรือ behavioral economics เศรษฐศาสตร์ฮอตฮิตแขนงใหม่ ก็จะอธิบายได้เป็นฉากๆ)

ไบน์ฮ็อกเกอร์อ้างคำพูดอมตะของ Axel Leijonhufvud นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย UCLA ว่า แบบจำลอง TE นั้นสมมติ “คนที่ฉลาดอย่างเหลือเชื่อในสถานการณ์ที่ตื้นเขินอย่างไม่น่าเชื่อ” แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น “คนที่เชื่อมั่นได้ว่าตื้นเขินพยายามรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนอย่างเหลือเชื่อ”

จากนั้นไบน์ฮ็อกเกอร์ก็พาเราท่องสายธารประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ของโลกจริงและประวัติศาสตร์ของความคิด สรุปกรณีเด่นๆ ที่ TE คาดการณ์ผิดพลาด พาเราไปรู้จักนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ หลายคนได้รับรางวัลโนเบลในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากแขนงใหม่ๆ อย่างเช่น เศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งกำลังค่อยๆ ทลายกระบวนทัศน์อันพ้นสมัยของ TE ลง ระหว่างทางเขาก็เชื่อมโยงให้เห็นว่า ความคิดของพวกเขาเหล่านั้นสอดคล้องกับหรือได้รับการสนับสนุนโดยข้อค้นพบของนักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างไรบ้าง

ไบน์ฮ็อกเกอร์เสนอให้เราใช้คำว่า “เศรษฐศาสตร์เชิงซับซ้อน” (Complex Economics หรือ CE) ในการอธิบายกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งเขาหวังว่าจะนำทางวิชาเศรษฐศาสตร์ได้อย่างดีกว่าเดิม

CE แตกต่างจาก TE อย่างไร? ไบน์ฮ็อกเกอร์ทำตารางสรุปประเด็นหลักในหนังสือ ซึ่งเขาขยายความและอัพเดทเกือบสิบปีหลังจากที่เขียน Origin of Wealth สรุปโดยย่อได้ดังนี้

ปัจเจกบุคคล: TE บอกว่าคนมีเหตุมีผล ใช้เหตุผลแบบนิรนัย เข้าถึงข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ / CE บอกว่าคนพึ่งพากฎจำง่าย (rules of thumb) ในการตัดสินใจ ใช้เหตุผลแบบนิรนัยและอุปนัย ทำผิดพลาดได้ เรียนรู้ได้ และเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

เครือข่ายและความสัมพันธ์: TE บอกว่าความสัมพันธ์ในเครือข่ายไม่สำคัญ ปฏิสัมพันธ์อย่างเดียวที่สำคัญคือผ่านระบบราคา / CE บอกว่าโครงสร้างเครือข่ายสำคัญ และปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เรื่องของราคา (เช่น การซื้อขาย) ก็สำคัญ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการต่างตอบแทน

สถาบัน: TE บอกว่าสถาบันมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดอย่างมีเหตุมีผล (rational optimizers) และดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องสนใจรายละเอียดของการออกแบบสถาบัน / CE บอกว่าไม่มีสถาบันไหนสมบูรณ์แบบ สถาบันมักจะไร้ประสิทธิภาพและมีวิวัฒนาการตลอดเวลา รายละเอียดของการออกแบบสถาบันอาจสำคัญก็ได้ เช่น ความเปราะบางของระบบธนาคาร

ความมีพลวัต: TE บอกว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ดุลยภาพโดยอัตโนมัติ ทันทีที่สวัสดิการสังคมเข้าสู่จุดสูงสุด (maximized) / CE บอกว่าเศรษฐกิจคือระบบพลวัตสูง (highly dynamic) ซึ่งอาจไถลไกลจากจุดดุลยภาพและติดอยู่ในสภาพที่ไม่ยังประโยชน์สูงสุด (suboptimal state)

นวัตกรรม: TE บอกว่านวัตกรรมคือพลังปริศนา เป็นปัจจัยภายนอกที่คาดเดาไม่ได้ / CE บอกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสังคมคือ “กระบวนการวิวัฒนาการ” (evolutionary process) ซึ่งเป็นหัวใจของการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

การอุบัติเอง (emergence): TE บอกว่าปรากฎการณ์ระดับมหภาค (เงินเฟ้อ ระดับการว่างงาน ภาวะฟองสบู่) เกิดจากผลบวกของการตัดสินใจของปัจเจกแต่ละคนแบบเส้นตรง (linear addition) ความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (heterogeneity) ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ / CE บอกว่าแบบแผนระดับมหภาคล้วนอุบัติขึ้นแบบไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นที่แตกต่างกัน ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ อาจก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบเพียงเล็กน้อยก็เป็นได้

ครึ่งหลังของหนังสือนำเราไปรู้จักกับองค์ประกอบต่างๆ ข้างต้นที่ไบน์ฮ็อกเกอร์มองว่าเป็นส่วนสำคัญของ CE แต่ถูกละเลยใน TE มาช้านาน ในบทเหล่านี้เราจะได้ทำความรู้จักกับระบบไม่เป็นเส้นตรง วงจรป้อนกลับ (feedback loops) เครือข่ายแบบบูล (Boolean networks) กฎไม่เป็นเชิงเส้นแบบยกกำลัง (power law) ส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขาย (bid-ask spread) สภาพปัจจุบันอันเนื่องมาจากสถานการณ์ในอดีต (path dependence) เศรษฐศาสตร์ที่จำลองโดยคอมพิวเตอร์ ฟังก์ชันความเหมาะสม (fitness function) ตลอดจนแนวคิดและทฤษฎีอื่นๆ อีกมากมายจากภาคการเงินและวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา

บทที่ผู้เขียนชอบที่สุดในหนังสืออ่านสนุกเล่มนี้ คือบทที่ว่าด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ ไบน์ฮ็อกเกอร์บอกว่า ถ้าเรานำทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และนักชีววิทยารุ่นหลังมามองเศรษฐกิจ เราอาจกล่าวได้ว่า “วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ” นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เหตุผลของเราแบบนิรนัย (deductive) นั่นคือ เกิดจากแรงจูงใจและเจตนา อีกส่วนเกิดจากการใช้เหตุผลแบบอุปนัย เช่น ลางสังหรณ์ (hunch) ในขณะที่วิวัฒนาการในธรรมชาติเดินด้วยความบังเอิญ คำถามที่ยากจริงๆ ในวิชาชีววิทยาวิวัฒนาการไม่ใช่เรื่องการเอาตัวรอดและการสืบพันธุ์ของสัตว์และพืช แต่เป็นเรื่องของความซับซ้อนตลอดระยะเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา ในทำนองเดียวกัน คำถามที่ยากจริงๆ ในวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องดุลยภาพ แต่เป็นเรื่องการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของความมั่งคั่ง

ไบน์ฮ็อกเกอร์ประดิษฐ์คำว่า “เทคโนโลยีกายภาพ” (Physical Technologies) และ “เทคโนโลยีสังคม” (Social Technologies) ขึ้นมาอธิบายสิ่งที่เขาเสนอว่า นวัตกรรมสองด้านนี้คือหัวจักรที่ส่งผลให้ความมั่งคั่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เขาชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 250 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นผลจากเทคโนโลยีกายภาพใหม่ๆ แต่เทคโนโลยีสังคม (เช่น การใช้เงินตรา กรรมสิทธิ์ บริษัทจำกัด ชื่อเสียง ความไว้วางใจกัน หลักนิติรัฐ ความโปร่งใส) ก็จำเป็นต่อการปลดปล่อย “พลวัตที่ไม่ใช่การแลกได้แลกเสีย” (non-zero sum dynamics) เพื่อให้ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นนั้นกระจายไปทั่วทั้งสังคม

ไบน์ฮ็อกเกอร์เสนอว่า เทคโนโลยีสังคมนั้นสร้างและพัฒนายากยิ่งกว่าเทคโนโลยีกายภาพหลายเท่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยังเป็น “ระบบผู้มีอิทธิพล” (Big Man system) ซึ่งทำงานเพื่อ “สะสมความมั่งคั่งและอำนาจของผู้มีอิทธิพล (และพวกพ้องของเขา) มากกว่าความมั่งคั่งโดยรวมของสังคม” และในระบบแบบนี้ พลังของผู้ประกอบการจะถูกชักจูงให้ “ผู้มีอิทธิพลสบายใจ” มากกว่า

ไบน์ฮ็อกเกอร์บอกว่าเศรษฐกิจระบบตลาด(ที่แท้จริง)ดีกว่าระบบนี้ “ไม่ใช่เพราะมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรในทางที่สร้างสวัสดิการสังคมสูงสุดภายใต้เงื่อนไขดุลยภาพ แต่เป็นเพราะมันมอบกลไกการค้นหาแบบวิวัฒนาการ (evolutionary search mechanism) ที่สร้างแรงจูงใจให้คนประดิษฐ์คิดค้น นำไปสู่การสร้างความแตกต่าง สร้างฟังก์ชันความเหมาะสมให้เกิดการเลือกทางเศรษฐกิจได้…”

สุดท้าย ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า “เศรษฐศาสตร์เชิงซับซ้อน” ในความคิดของไบน์ฮ็อกเกอร์จะพัฒนาไปในทิศทางใด เขาดูจะยอมรับว่ามันเป็น “โครงการการวิจัยขนาดใหญ่” มากกว่าจะเป็นชุดทฤษฎีใดๆ ที่มีความสอดคล้องลงตัวกัน แต่ The Origin of Wealth ก็เป็นหนังสืออ่านสนุกที่ฉุกให้คิดถึงเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ในมุมมองใหม่ที่เปิดโลกทัศน์ผู้อ่านทุกสาขาอาชีพอย่างกว้างไกล

และอย่างน้อย การเปรียบเทียบเศรษฐกิจกับฟิสิกส์และทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็น่าสนใจและ “จริง” กว่าการเปรียบเทียบกับศาสตร์อื่นๆ ที่เน้นการสร้างสิ่งต่างๆ จากน้ำมือมนุษย์ อย่างสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมศาสตร์ ดังที่ไบน์ฮ็อกเกอร์เขียนตอนหนึ่งว่า

“เสื้อของคุณไม่ได้ถูกออกแบบ มันถูกวิวัฒนาการมาต่างหาก”

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save