fbpx
แกะรอยตัวเลขต้องรู้ในยุคโลกร้อน

แกะรอยตัวเลขต้องรู้ในยุคโลกร้อน

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

สิ่งมีชีวิต 1 ล้านชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์แตะระดับ 415 ppm ขยะพลาสติก 90.5% ไม่ได้ถูกรีไซเคิล ตัวเลขเหล่านี้สำคัญขนาดไหน มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แล้วเกี่ยวอะไรกับเรา ลองมาแกะรอยที่มาที่ไปและความหมายของตัวเลขสำคัญที่ทุกคนสมควรต้องรู้ในยุคโลกร้อน

1,000,000 ชนิดของสิ่งมีชีวิตกำลังจะสูญพันธุ์​เพราะมนุษย์

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (IPBES) ของสหประชาชาติได้เปิดเผยรายงานฉบับสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก รายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์และข้อมูลทันสมัยที่สุดฉบับนี้เปิดเผยว่าพืชและสัตว์มากถึง 1 ล้านชนิดทั่วโลกกำลังเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้าเพราะกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ตัวเลข 1 ล้านชนิดนี้มาจากไหน นักวิทยาศาสตร์เลือกเอาตามใจชอบหรือเปล่า

การประเมินสถานภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือไม่ เริ่มต้นอย่างเป็นระบบมากว่า 50 ปีแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ องค์กรอนุรักษ์ และสถาบันการศึกษาประมวลข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดมาใช้ในการประเมิน โดยการประสานงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN) ภายใต้ชื่อ บัญชีแดงของสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม (Red List of Threatened Species) รายงานการประเมินสถานภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก ฉบับแรกถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาตั้งแต่ปี 1964  แม้จะยังไม่ครอบคลุมทุกชนิดก็ตาม

งานวิจัยที่ขยายตัวพร้อมกับเครือข่ายนักวิชาการทำให้การประเมินสถานภาพสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ มีความสมบูรณ์มากขึ้นในยุคต่อมา เช่น การประเมินสถานภาพนกทุกชนิดที่มีการค้นพบในเวลานั้นในปี 1988 ตามมาด้วยสนในปี 1998 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในปี 2004 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พืชกลุ่มปรงและปะการังทุกชนิดในปี 2008 ปลาทูน่าในปี 2011 ปลาฉลามและปลากระเบนในปี 2012  ข้อมูลชุดดังกล่าวเป็นหมุดหมายสำคัญในวงการอนุรักษ์​และกลายเป็นฐานข้อมูลสำหรับติดตามความเปลี่ยนแปลงของประชากรว่าดีขึ้นหรือแย่ลงขนาดไหน รวมไปถึงการคาดการณ์ว่ามีสิ่งมีชีวิตกี่ชนิดที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากมนุษย์ในอนาคตอันใกล้

นักวิทยาศาสตร์อาศัยสัดส่วนชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มมาหาค่าเฉลี่ย เช่น 14% ของนก (~1 หมื่นชนิด) หนึ่งในสี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (~6,500 ชนิด) หนึ่งในสี่ของปลาฉลามและปลากระเบน (~1,000 ชนิด)  หนึ่งในสาม (33%) ของปะการังแข็ง (~845 ชนิด) 41% ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 63% ของพืชกลุ่มปรง (Cycad) เมื่อคำนวณแล้วพบว่าโดยเฉลี่ยราวหนึ่งในสี่ (25%) ของสิ่งมีชีวิตทุกกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งผลจากการประเมินสถานภาพพืช และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน

แนวโน้มและดัชนีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ
ภาพที่ 1: แนวโน้มและดัชนีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ (IUCN 2019)

อย่างไรก็ตามยังมีการประเมินสัดส่วนแมลงที่ใกล้สูญพันธุ์ยังทำได้ค่อนข้างยาก และเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่มาก คือคาดว่าจะมีประมาณ 5.5 ล้านชนิด จากจำนวนสัตว์และพืชทั้งหมดราว 8 ล้านชนิดบนโลก (ที่คาดว่าจะมีแต่ยังสำรวจและจำแนกชนิดได้ไม่ครบ) แมลงกลุ่มเดียวที่มีการประเมินค่อนข้างสมบูรณ์คือแมลงปอ (Odanota) ซึ่งตัวเลขจำนวนที่เสี่ยงสูญพันธุ์อยู่ที่ 15% แต่แมลงปอย่อมไม่สามารถเป็นตัวแทนแมลงได้ทั้งหมด จึงต้องเอาข้อมูลกลุ่มที่มีข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ในยุโรปคือ ผีเสื้อ (Lepidoptera) ผึ้ง (Hymenoptera) และ แมลงปีกแข็ง (Coleoptera) ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 9-18% แม้ยุโรปจะมีอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นของโลก แต่เพื่อไม่เป็นการคาดการณ์ที่สูงเกินไป จึงเฉลี่ยความเสี่ยงของแมลงอยู่ที่ 10%

10% ของแมลง 5.5 ล้านชนิดคือ 5.5 แสนชนิด 25% ของสัตว์และพืชกลุ่มอื่นๆ จำนวน 2.5 ล้านชนิดก็คือ 5 แสนชนิด เมื่อรวมกันจึงเป็นที่มาของตัวเลขกลมๆราว 1 ล้านชนิด (ตัด 5 แสนออก เพราะเป็นการประมาณการ)

“ความหลากหลายทางชีวภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติของทุกๆ รัฐบาลเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Anne Larigauderie เลขาธิการ IPBES กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา​ “จะบอกว่าเราไม่รู้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” รายงานฉบับดังกล่าวได้รับการรับรองจากตัวแทนรัฐบาลเกือบทุกประเทศ จึงนับเป็นครั้งแรกที่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเป็นวิกฤตที่ทุกฝ่ายยอมรับตรงกัน

ส่วนคำถามที่ว่าถ้าสิ่งมีชีวิต 1 ล้านชนิดสูญพันธ์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ลองอ่านต่อได้ที่ สูญพันธุ์แล้วไง

415 ppm เมื่อระดับคาร์บอนไดอ็อกไซด์สูงที่สุดในรอบ 3 ล้านปี

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ที่วัดได้จากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศบนเขา Mauna Loa ที่ฮาวายได้แตะระดับ 415 part per million (ppm) ไปแล้ว นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก 3 ล้านปี และยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวแต่อย่างใด

ภาพที่ 2 ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ตั้งแต่ 8 แสนปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 2 ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ตั้งแต่ 8 แสนปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน (Peter Gleick 2019)

จะว่าไปนี่คือกราฟที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตลูกหลานของเราในอนาคตก็ว่าได้ นักวิจัยศึกษาข้อมูลระดับ CO2 ย้อนกลับไปถึง 8 แสนปีจากการเจาะแกนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้มาตรวจ ซึ่งพบว่าระดับ CO2 ไม่เคยสูงเกิน 300 ppm

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติเคยตั้งเป้าหมายรณรงค์ว่าเราต้องพยายามจำกัดไม่ให้ระดับก๊าซ CO2 เกิน 350 ppm เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ตอนนี้มันทะลุเกิน 415 ppm ไปเรียบร้อยแล้ว

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเราต้องย้อนกลับไปถึง 3 ล้านปี ในยุคไพลโอซีน (Pliocene) ที่เชื่อว่ามีระดับ CO2 สูงขนาดนี้ ราว 310-400 ppm แต่ในยุคนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปัจจุบัน 2-3 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงกว่าในปัจจุบัน 15 เมตร!

ระดับ CO2 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลโดยตรงต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และทุกองศาที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนเมืองชายฝั่งต้องอพยพ ไต้ฝุ่นรุนแรง น้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้งยาวนาน ไฟป่ามหาประลัย ปะการังฟอกขาว เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

งานวิจัยในอดีตและแบบจำลองสภาพภูมิอากาศสามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันการณ์ ซึ่งเป้าหมายสำคัญในเวลานี้คือต้องลดการปล่อย CO2 ของทุกประเทศรวมกันลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 หรือ อีก 11 ปีข้างหน้า และการปล่อย CO2 จะต้องเป็นศูนย์ (carbon neutral) ภายในปี 2050  และหลังจากปี 2050 อาจจะต้องมีเทคโนโลยี Geoengineering เข้ามาช่วยดูดซับคาร์บอนอีกแรง ให้มีสภาพเป็นคาร์บอนเป็นลบ และอุณหภูมิของโลกเริ่มลดลงอีกครั้ง

ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ยุคสมัยเดียวที่อนุญาตให้มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาได้คือ ยุคโฮโลซีน (Holocene) หรือเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีที่ผ่านมา ที่สภาพภูมิอากาศค่อนข้างคงที่ หรือผันผวนเพียงแค่ +1 – 1 องศาเท่านั้น (โดยเฉลี่ย)

แต่เราได้ผ่านยุคนั้นมาแล้ว เรากำลังอยู่ในยุคแอนโทรโปซีน (Athropocene) ที่มนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เมื่อใดที่ระบบนิเวศป่าไม้ มหาสมุทรและขั้วโลก หลุดสมดุล จนไม่สามารถรองรับความผันผวนนี้ได้อีก หรือผ่านจุดเปลี่ยนที่ไม่หวนคืน หรือ Tipping point เมื่อไหร่ โลกก็จะปรับสมดุลตัวเองอีกครั้ง สมดุลที่อาจไม่มีมนุษย์อยู่ในสมการ

90.5% ของขยะพลาสติกไม่ถูกนำไปรีไซเคิล

งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่าตั้งแต่มีการผลิตพลาสติกขึ้นมาใช้บนโลก โดยเฉลี่ยมีพลาสติกราว 9% เท่านั้นถูกนำไปรีไซเคิล หมายความว่าพลาสติกส่วนใหญ่หรือสูงถึง 90.5% กลายเป็นขยะสะสมในสิ่งแวดล้อมและเป็นภาระในการกำจัด

ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และชี้ให้เห็นว่าการพึ่งกระบวนการรีไซเคิลอย่างเดียวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับการแก้วิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงในมหาสมุทรและชายฝั่งทะเลทั่วโลก

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2017 ในวารสาร Science Advance แต่กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อราชสมาคมด้านสถิติของสหราชอาณาจักร (The Royal Statistical Society) ได้เลือกให้ ขยะพลาสติก 90.5% ที่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งอยู่ในรายงานของสหประชาชาติมาเป็นตัวเลขสถิติที่สำคัญระดับนานาชาติประจำปี 2018 (International Statistic of 2018)

Calculating plastic waste

ทีมวิจัยได้ประเมินว่ามนุษย์ผลิตพลาสติกออกมาแล้วราวๆ 8,300 ล้านตัน ในจำนวนนี้กลายเป็นขยะพลาสติก 6,300 ล้านตัน มีเพียง 9% เท่านั้นถูกนำไปรีไซเคิล 12% ถูกกำจัดโดยการเผา และอีก 79% สะสมอยู่ในกองขยะและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจและตื่นตัวต่อปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการรอบด้าน ทั้งการลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และการปรับปรุงระบบรีไซเคิล

แม้รีไซเคิลจะเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญ แต่ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า การจัดเก็บ คัดแยก รวบรวมยังมีปัญหาอย่างมาก ทำให้ขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ กลายเป็นขยะสะสมในสภาพแวดล้อมและสร้างปัญหามากมาย

นอกจากปรับปรุงระบบรีไซเคิล มาตรการสำคัญจึงจำเป็นต้องเน้นการลดการสร้างขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด และหันมาส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ซ้ำ โดยให้ยึดหลัก “ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ก็ขอให้ปฎิเสธ” “If you can’t reuse it refuse it”​

งานวิจัยชิ้นนี้ได้คาดการณ์ว่าจะมีขยะพลาสติกสะสมในสภาพแวดล้อมมากถึง 1.2 หมื่นล้านตันภายในปี 2050 และขยะพลาสติกมากถึง 350 ล้านตันอาจรั่วไหลออกสู่ทะเล

A Clearer picture of plastics

ตัวเลข 1 ล้าน 415 และ 90.5 อาจดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย แต่ความจริงแล้วเชื่อมโยงกัน เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน อันเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการผลิตเชิงอุตสาหกรรมแบบเส้นตรง นั่นคือ ผลิต ใช้ แล้วทิ้ง โดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานขับเคลื่อน

การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องตลอดเวลาขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าโลกมีต้นทุนธรรมชาติและทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาที่ผ่านมาจึงไม่ยั่งยืนและเกิดการทำลายธรรมชาติอย่างมโหฬาร นำไปสู่การคุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก สร้างขยะที่ไม่ย่อยสลาย ทำมหาสมุทรให้กลายเป็นถังขยะ และเกิดก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนของโลกให้สำเร็จจึงไม่อาจทำแบบแยกส่วนได้ แต่ต้องอาศัยการปฏิวัติความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัวเรา โดยไม่ลืมว่าหากไม่ดูแลรักษาโลกที่เป็นบ้านหลังเดียวของทุกชีวิต มนุษย์เองก็คงเป็นหนึ่งในล้านชนิดที่กำลังอยู่บนเส้นทางของการสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save