fbpx
ถ้าเศรษฐกิจถดถอย คนรุ่นที่จะซวยที่สุดอาจคือมิลเลนเนียลส์

ถ้าเศรษฐกิจถดถอย คนรุ่นที่จะซวยที่สุดอาจคือมิลเลนเนียลส์

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ได้ยินผู้ใหญ่ระดับสูงของประเทศคนหนึ่งบอกว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ไม่เหมือนคนรุ่นเรา พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนพวกเรา เพราะฉะนั้น เขาไม่ฟังสิ่งที่เราบอกหรอก

ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นประโยคแสดงความน้อยใจ อยากต่อว่าเด็กสมัยนี้ หรือเป็นประโยคแสดงความเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้แตกต่างออกไป อย่านำเอาบทเรียนที่คนสมัยก่อนเคยมีไปยัดเยียดให้พวกเขาเลย

จะอย่างไรก็ตาม คำพูดนั้นทำให้ผมนึกถึงบทความของแอนนี โลว์รีย์ (Annie Lowrey) ซึ่งเธอเป็นนักเขียนของ The Atlantic และได้ตั้งประเด็นเอาไว้น่าสนใจมากๆ ในบทความชื่อ The Next Recession Will Destroy Millennials เธอบอกในทำนองที่ว่า ถ้าหากเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาจริงๆ กลุ่มคนที่จะ ‘ซวย’ ที่สุด ก็คือพวกมิลเลนเนียลส์นี่เอง

บทความนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือของมัลคอล์ม แฮริส (Malcolm Harris) ที่ก็พูดถึง ‘เด็กสมัยนี้’ เหมือนกัน แต่พูดอีกแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ระดับสูงของประเทศที่ว่า เขาบอกว่า เป็นพวก ‘เด็กสมัยนี้’ นี่แหละ ที่จะซวยจริงๆ เพราะไม่มีทุน (capital) มากพอที่จะเติบโตร่ำรวยต่อไปได้

พูดให้ชัดเข้าไปอีกขั้นก็คือ มีหลายคนทำนายเอาไว้ว่า พวกมิลเลนเนียลส์โดยเฉลี่ย น่าจะเป็นคนรุ่นแรกในประวัติศาสตร์ที่ ‘จน’ กว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ตัวเอง

โดยเฉพาะถ้าเกิดเศรษฐกิจถดถอย!

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

คำถามที่หลายคนกำลังนึกถามตัวเองอยู่ก็คือ เรากำลังอยู่ในช่วง ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ กันอยู่หรือเปล่า เพราะถ้ามองย้อนกลับไป (แบบไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือความเป็นนักวิชาการใดๆ อะไรทั้งสิ้น) เราจะพบว่า เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เกิดขึ้นในทศวรรษ 30 เมื่อศตวรรษที่แล้ว ซึ่งก็กินเวลาเกือบครบร้อยปีแล้ว เป็นไปได้ไหม ที่โลกจะหมุนวนกลับไปสู่วัฏจักรยากลำบากแบบเดิมอีกครั้ง

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราย้อนกลับไปดูโลกยุคโน้น เราจะเห็นได้เลยว่า แนวคิดประเภท ‘ขวาจัด’ หรือฟาสซิสม์ เริ่มแผ่ไปครอบครองโลกมากขึ้นก็ในยุคนี้ ผู้นำที่มีแนวคิดรุนแรง สุดโต่ง เริ่มได้รับความนิยมในประเทศของตัวเอง และเริ่มบ่มเพาะฟูมฟักอาการฟาสซิสม์ในประเทศต่างๆ ทั้งอิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น ในช่วงนี้เช่นกัน แล้วถ้าทอดตามองโลกยุคนี้ เราจะเห็นได้เลยว่ากระแส ‘ขวาจัด’ กำลังมาแรงในหลายประเทศทั่วโลก

ความฟาสซิสม์กับเศรษฐกิจถดถอยสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายกันยืดยาว แม้มีการศึกษาหลายชิ้น ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของความขวา (หรือความฟาสซิสม์) กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยตกต่ำในต้นศตวรรษที่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่อยากเล่าให้ฟังตรงนี้

เพราะเรื่องที่อยากชวนคุย เป็นเรื่องของชาวมิลเลนเนียลส์ต่างหาก

โลว์รีย์บอกว่า ชาวมิลเลนเนียลส์คือคนกลุ่มที่จบการศึกษาออกมาในช่วงเวลาที่ตลาดแรงงานแย่ที่สุดในรอบ 80 ปี ความแย่ที่ว่า ไม่ได้แย่แค่เพราะไม่มีงานทำ หรืออัตราการว่างงานสูงเท่านั้น แต่กระทั่งคนที่ได้ทำงานจริงๆ มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ ก็ต้องเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า lost wages หรือค่าจ้างในส่วนที่ควรจะได้นั้น มัน ‘ลด’ หรือกระทั่ง ‘หาย’ ไปเลย

lost wages มีได้หลายระดับ เช่น ระดับครอบครัว ถ้าคนที่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเกิดตายลง ครอบครัวไม่มีรายได้เข้ามา ก็จะเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจขึ้น แต่ที่ใหญ่ไปกว่านั้นก็คือ lost wages ในระดับโครงสร้างสังคม ซึ่งเกิดปัจจัยบางอย่าง ‘ผู้หาเลี้ยง’ (ซึ่งก็คือผู้บริหารประเทศ) ไร้ความสามารถที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศ เมื่อเงินไม่ไหลเข้า ก็เหมือนผู้นำครอบครัวตายหรือหายไป เงินไม่ไหลเข้ามา ทั้งสังคมจึงมีรายได้น้อยลง

แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในกาลเวลาอันสถิตย์นิ่ง มันเกิดอยู่ในกาลเวลาที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าใคร ‘เกิด’ ได้ถูกยุคสมัย โอกาสที่จะ ‘ได้รับ’ (gain) ผลประโยชน์จากสังคมก็จะมีมาก แต่ถ้าใครเกิด ‘ผิด’ ยุค (เช่น ชาวมิลเลนเนียลส์ของเรา) มาจบการศึกษาในช่วงที่ตลาดแรงงานกำลังย่ำแย่ ก็จะมีผลทำให้เกิด lost wages ขนานใหญ่ในวงกว้าง ซึ่งก็มีผู้ศึกษาเอาไว้ไม่น้อยถึงผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

โลว์รีย์สรุปง่ายๆ ให้ฟังในบทความของเธอว่า ถ้าดูแนวโน้มของโลกที่ควรจะเจริญขึ้น เราจะพบภาพที่น่าตกใจว่า ชาวมิลเลนเนียลส์ในตอนนี้ โดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้น้อยกว่าชาวเบบี้บูมเมอร์ (ในตอนที่บูมเมอร์มีอายุเท่าๆ กัน) ทั้งที่ในตอนนี้ ระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่โตกว่ามาก และประเทศ (อย่างสหรัฐอเมริกา) ก็ร่ำรวยยิ่งใหญ่กว่าในยุคหลายสิบปีก่อนมากเช่นกัน แล้วที่เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงกันมานานนมเป็นสิบๆ ปี ตัวเลขที่สะท้อนออกมาในเรื่องรายได้ก็น่าตกใจด้วย เพราะผู้หญิงมิลเลนเนียลส์ มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิงรุ่นเอ็กซ์ โดยไม่ต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคบูมเมอร์ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ คนมิลเลนเนียลส์ยังมี ‘ทุน’ น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ คือจำนวนหนึ่งไม่ได้เริ่มที่บวกหรือศูนย์ แต่กลับไปเริ่มต้นติดลบด้วยซ้ำ และตัวเลขติดลบมากที่สุด ก็คือ ‘หนี้การศึกษา’

ย้อนกลับไปยังคนรุ่นเอ็กซ์ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พบว่าคนรุ่นนี้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาราว 1 ใน 4 ของทั้งรุ่น คือมีการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา 25% แต่ในชาวมิลเลนเนียลส์ พบว่าการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาพุ่งขึ้นมาเป็นราว 50% (นี่คือตัวเลขในสหรัฐอเมริกานะครับ) แล้วถ้าไปดูจำนวนเงินกู้ยืม จะพบว่าจำนวนก็สูงกว่าคนรุ่นเอ็กซ์ถึง 2 เท่าด้วย นั่นจึงแปลว่า คนมิลเลนเนียลส์เริ่มต้นชีวิตด้วยการ ‘ติดลบ’ มากกว่าคนรุ่นก่อน

โลว์รีย์เอา (แค่) สองเรื่องนี้มาผนวกรวมกัน คือเรื่องจบการศึกษาออกมาในช่วงเศรษฐกิจแย่ แต่กลับมีหนี้การศึกษาก้อนโตที่ต้องแบกรับ ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า ชาวมิลเลนเนียลส์แทบจะไม่มี ‘ทางไป’ เท่าไหร่เลย โดยเฉพาะในเรื่องของการซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยของตัวเอง

เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อชาวมิลเลนเนียลส์ ‘ตรงจังหวะชีวิต’ (ในแง่ลบ) อย่างมาก ก็คือเหตุการณ์วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า The Great Recession เพราะมันเกิดขึ้นช่วงที่มิลเลนเนียลส์จำนวนหนึ่งเริ่มทำงานหรือไม่ก็เพิ่งจบการศึกษามาพอดี ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนั้นทำให้งานและเงินหายไปจากตลาดจำนวนมาก แม้ช่วงนั้นราคาบ้านจะตก แต่ชาวมิลเลนเนียลส์ที่เพิ่งตั้งตัวก็ยังไม่มีปัญญา ‘ช้อนซื้อ’ ได้ คนที่สามารถทำอย่างนั้นได้มากที่สุด คือกลุ่มบูมเมอร์ที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง และสั่งสมทุนมากพอที่จะใช้ช้อนซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาถูก

โลว์รีย์วิเคราะห์ว่า หลังวิกฤต เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ดีดตัวพุ่งสูงขึ้น ก็เป็นชาวมิลเลนเนียลส์อีกนั่นแหละที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะพวกเขาไม่ได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เอาไว้ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนรุ่นก่อนหน้า เมื่อราคาบ้านและที่ดินพุ่งสูงขึ้น ทางเลือกเดียวที่ชาวมิลเลนเนียลส์ส่วนใหญ่เหลืออยู่ก็คือการเช่า หรือไม่อย่างนั้นก็อาจต้องกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ถ้ายังจำกันได้ ปรากฏการณ์การกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของวัยรุ่นอเมริกันเคยเป็นที่ฮือฮาชื่นชมในสังคมไทยเมื่อหลายปีก่อนว่าเป็นลูกกตัญญู แต่แท้จริงแล้วถูกบีบด้วยภาวะเศรษฐกิจ

มีการศึกษาการเป็นเจ้าของบ้าน เอาไว้ พบว่าชาวมิลเลนเนียลส์มีอัตราการครอบครองบ้าน (Homeownership Rate) ต่ำกว่าชาวเอ็กซ์หรือบูมเมอร์ในวัยเดียวกันราว 8% และตัวเลขเฉลี่ยของ ‘ผู้ซื้อบ้าน’ ก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 46 ปี นี่คืออายุของผู้ซื้อบ้านเฉลี่ยที่แก่ที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาราว 40 ปี

แล้วการ ‘เช่า’ ของชาวมิลเลนเนียลส์นั้น ถามว่าเงินค่าเช่าที่จ่ายไป จ่ายไปให้กับใคร?

คำตอบในบทความของโลว์รีย์ก็คือ เป็นค่าเช่าที่จ่ายให้กับเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็น ‘คนรุ่นก่อนหน้า’ เช่น ชาวบูมเมอร์ นั่นแหละ เธอบอกว่านี่คือการดึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ถ่ายเทย้อนกลับไปหาคนรุ่นเก่าที่ได้เปรียบมาชั่วชีวิตแล้ว โลว์รีย์ใช้คำว่า Generational Transfer of Wealth หรือการถ่ายเทความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น เพียงแต่มันกลับตาลปัตรจากที่เรามักคิดกันว่า คนรุ่นเก่าจะเป็นผู้มอบมรดกหรือความมั่งคั่งให้คนรุ่นใหม่ เพราะกลายเป็นว่า เป็นคนรุ่นใหม่ต่างหากที่ยก ‘ความมั่งคั่งเชิงโครงสร้าง’ ให้คนรุ่นก่อน

นอกจากนี้ เงินออมของชาวมิลเลนเนียลส์ก็มีปัญหา เรามักบอกคนรุ่นใหม่ทั้งหลายว่าให้รีบออมเงินกันนะ รีบลงทุนกันไว้เสียแต่เนิ่นนๆ นะ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ทั้งหนี้การศึกษา รายได้ที่ลดลง รวมไปถึงค่าใช้จ่าย (เช่น ค่าเช่า) ที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งล้วนเป็นการถ่ายเทความมั่งคั่งกลับไปสู่คนรุ่นก่อน) ก็ทำให้มิลเลนเนียลส์เหล่านี้มีความสามารถในการออมและลงทุนลดลงมาก

มีการสำรวจของ Gallup พบว่าหลังตลาดหุ้นสูญเสียเงินไปหลายล้านล้านเหรียญเพราะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์แล้ว คนหนุ่มสาวอเมริกัน ‘ขยาด’ กับการลงทุน รวมทั้งไม่มีเงินจะลงทุนมากนักด้วย โดยถ้าเอาวิกฤตครั้งนั้นเป็นตัวตั้ง พบว่า คนอายุน้อยกว่า 35 ปี ในปี 2017 และ 2018 รวมกัน ที่มีเงินลงทุนอยู่ในตลาดหุ้น มีอยู่แค่ 37% เท่านั้น แต่ก่อนวิกฤต คือปี 2006-2007 คนอายุน้อยกว่า 35 ปี ที่มีเงินลงทุนในตลาดหุ้น มีอยู่ราว 52% แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า คนรุ่นนี้ออมและลงทุนน้อยกว่ามาก ทำให้หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่า คนรุ่นนี้ ‘ยังออมไม่มากพอ’

แต่ปัญหาก็คือ มันมีให้ออมหรือเปล่าเล่า

ปีนี้มีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่าเศรษฐกิจอาจถดถอย ตกต่ำ ซบเซา (จะใช้คำว่าอะไรก็แล้วแต่น่ะนะครับ)  ไม่ว่าจะเกิดภาวะหนักหนาฉับพลัน (เช่น Trade War) หรือเกิดภาวะซึมยาว ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยต่อชาวมิลเลนเนียลส์ที่ยังมีต้นทุนในชีวิตน้อยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อบ้าน การมีลูก การเปลี่ยนงาน การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการจ่ายหนี้การศึกษา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวมิลเลนเนียลส์อาจต้อง ‘รอ’ ไปอีกระยะหนึ่ง กว่าจะสามารถลืมตาอ้าปากจนกระทั่ง ‘เริ่ม’ สั่งสมความมั่งคั่งได้

แต่เวลาที่ว่านั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ก็ต้องรอดูด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาถดถอยที่กำลังจะมาถึง จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save