fbpx

ในคลื่นลมแห่งความสงบ ความรุนแรงก็ปรากฏตัว สังคมไทยในสายตาของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

หลายคนมองว่าปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ ‘คลื่นลม’ สงบนิ่งกว่าปีก่อนๆ

อาจเป็นข้อสรุปในความหมายที่หลายสิ่งเริ่มกลับสู่ความคุ้นชินของผู้คน ไม่ว่าจะภาคการเมืองที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นหมุดหมายใหญ่ หรือในภาคสังคมที่การทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของผู้คนอีกต่อไปหลังโรคระบาดคลายตัวลง

และ 2565 ยังเป็นปีที่คล้ายว่า ‘รัฐ’ เองก็สงบนิ่งกว่าปีก่อนๆ เช่นกัน เมื่อแทบไม่มีภาพหรือบันทึกการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมและกลุ่มผู้เห็นต่าง ทว่า คำถามสำคัญคือเป็นไปได้หรือไม่ที่ความเคลื่อนไหวจากรัฐอาจไม่ได้ปรากฏในรูปลักษณ์ของการใช้กำลังด้วยโล่และกระบอง หากแต่เป็นในเรือนร่างอื่นที่แยบยลกว่านั้น – กล่าวให้ชัด คือในนามของ ‘กฎหมาย’

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปีที่ผ่านมา รัฐใช้อำนาจผ่านกฎหมายเพื่อปิดปากผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะการดำเนินคดีผู้คนด้วยมาตรา 112 การจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าเรือนจำ และการเลือกปล่อยตัวบางรายพร้อมเงื่อนไขต่างๆ ไม่ว่าจะให้ติดกำไลติดตามตัว (EM) หรือห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็น ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

มิหนำซ้ำ หากเราพินิจให้ดี ปี 2565 ก็อาจไม่ได้เป็นปีที่สงบอย่างที่หลายคนเข้าใจ เมื่อมันเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงจากรัฐผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายหนซึ่งนับเป็นการสร้างความรุนแรงและเจ็บปวดต่อสังคมในรูปแบบหนึ่ง และยังไม่ต้องพูดถึงว่า พ้นไปจากนั้น มันก็ยังเป็นปีที่มีโศกนาฏกรรมชวนสลดเกิดขึ้น – ทั้งจากกรณีกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่หนองบัวลำภูและกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง – ล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรตำรวจ-ทหาร ในนามของรัฐทั้งสิ้น

101 สนทนากับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กับโจทย์ที่ว่าปี 2565 สงบจริงหรือ และภายใต้ความนิ่งนั้นมี ‘ความรุนแรง’ ในรูปรอยอื่นใดแฝงตัวอยู่หรือไม่

ปีที่ผ่านมา เกิดการตั้งคำถามต่อระบบองค์กรตำรวจและทหารหลายครั้ง ทั้งเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กและเรือที่อับปางจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย มองการที่องค์กรเหล่านี้ถูกท้าทายจากประชาชนอย่างไรบ้างหลังจากที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยถูกตั้งคำถามเลย

จริงๆ เมื่อก่อนองค์กรเหล่านี้เคยถูกตั้งคำถามนะคะ ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 กับสมัย 6 ตุลาคม 2519 ก็มีประชาชนบางกลุ่มตั้งคำถามกับการที่องค์กรเหล่านี้ไปเผาหมู่บ้าน หรือไปบังคับอุ้มหายคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีแค่คนกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มก้าวหน้าที่ตั้งคำถามต่อองค์กรทหารและตำรวจ แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่าคนทั่วไปก็ตั้งคำถามเหล่านี้เหมือนกัน เราเลยคิดว่านี่น่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากเมื่อก่อนถ้ากองทัพออกมาพูดอะไร เรื่องก็จะเงียบไปเอง ซึ่งคุณจะเห็นได้จากเหตุการณ์ล้อมปราบปี 2553 ที่ไม่มีใครออกมาขอโทษและรอจนเหตุการณ์ค่อยๆ เงียบไป

เราว่าต้องขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่ออกมาสู้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง – ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าต้องใช้คำไหนนะ – บรรยากาศเปลี่ยน พื้นฐานทางการเมืองก็เปลี่ยน และเราว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในการเคลื่อนไหวเองก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เกิดการเปลี่ยนระดับวาทกรรมไปเลย ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงเรื่องราวและการเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้

การเปลี่ยนแปลงระดับวาทกรรมที่ว่านั้นคืออะไร

คำว่า ‘ลอยนวลพ้นผิด’ เป็นคำที่หลายๆ คนก็รู้และเข้าใจแล้ว จากที่เมื่อก่อนคนไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยเข้าใจ พ้นผิดคืออะไร ลอยนวลอย่างไร แต่ตอนนี้เราเห็นว่าคนใช้คำนี้บนหน้าหนังสือพิมพ์ธรรมดาเยอะมาก ใช้กันทั่วไป ไม่ใช่แค่ที่สื่อทางการเมือง

ที่จริง เราก็ตั้งข้อสังเกตว่า ความหมายของคำว่า ‘ประชาชน’ หรือคำว่า ‘ราษฎร’ ก็เปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน เรานึกถึงประเด็นนี้ตอนมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อกลางปี 2565 ตอนนั้นเราอยู่กรุงเทพฯ และไปเดินดูเขานับคะแนนกันในคูหาต่างๆ เรารู้สึกว่าคนที่อยู่ในบริเวณนั้น แน่นอนว่าต้องมีคนรุ่นใหม่อยู่ด้วยแน่ๆ แต่นอกจากนี้ก็มีป้าๆ ลุงๆ ที่อายุเยอะ พวกเขามีส่วนร่วมในการนับคะแนนมากๆ เลย คือไม่ได้ไปทำงานนับคะแนนนะ แต่พวกเขาไปสังเกตการณ์ เรารู้สึกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงวาทกรรมและเชิงบทบาทของคนทั่วไป แล้วเราไม่ได้เห็นบรรยากาศที่คนลุ้นการนับคะแนนแบบนี้มานานแล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่เรามองว่าสุดยอดมาก เพราะอีกอย่างหนึ่งคือ เราคิดว่าคนที่ไปร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนนี้ หลายคนก็ไม่ใช่คนที่ไปร่วมชุมนุมบนท้องถนนเมื่อ 2 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เราไม่มีหลักฐานอะไร แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ซึ่งก็ต้องขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่ยังออกไปเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ มันมีความเปลี่ยนแปลงพลวัตของสังคมไปเลย

เราว่าสิ่งที่เปลี่ยนอย่างชัดเจนคือจิตสำนึกของประชาชนต่อการเมือง โดยเฉพาะต่อสถาบันสำคัญที่มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์หรือสถาบันความยุติธรรม ตลอดจนกองทัพ ประชาชนมีจิตสำนึกสูงมาก เช่นเดียวกับมีความรู้ทางการเมืองพื้นฐานของประชาชนทั่วไปก็เพิ่มสูงมาก เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่มีทางจะย้อนกลับได้เลย

หลายคนมองว่าปี 2565 นิ่งและสงบมาก คุณว่าสงบจริงไหม

เราว่าไม่สงบจริง (ตอบเร็ว) เราเพิ่งคุยกับนักศึกษาที่สหรัฐฯ ซึ่งเขามองว่าเห็นสังคมไทยนิ่งมากจึงเข้าใจไปว่าการเคลื่อนไหวเมื่อ 2 ปีก่อนน่าจะพ่ายแพ้ไปแล้ว เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย ปกติเราไม่ค่อยโวยวายนะคะ แต่วันนั้นเราโวยวายมาก (ยิ้ม) บอกว่า เราไม่มีสิทธิที่จะสรุปเช่นนั้น คนที่มีสิทธิจะสรุปเช่นนั้นได้คือคนที่ต่อสู้อยู่

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าไม่ได้มีความนิ่งแต่อย่างใด คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐใช้กลไกทางกฎหมายในเชิงอยุติธรรมมาก เพื่อทำให้การต่อสู้ในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ยาก และอีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามให้นักศึกษาที่สหรัฐฯ เข้าใจแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่คือ เราเล่ากรณีของกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ ให้พวกเขาฟัง บอกเขาว่ามีคนที่โดนจับและต้องติดคุกเพราะทำแบบสำรวจ นักศึกษาก็งงมากว่าทำไมถึงต้องโดนขนาดนั้น เราจึงคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมการทำแบบนั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่คนมองว่าผิดกฎหมายได้

แน่นอนว่านักศึกษาก็เข้าใจว่ามีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับปิดปากคน แต่ถ้าสมมติเราเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตีความว่าการทำแบบสำรวจหรือทำโพลมีความผิด เราก็มองว่ายากมากนะที่จะตีความว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ในฐานะที่เขียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยปี 2475 ถ้าให้เขียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเขียนอย่างไรบ้าง

อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามเขียนอยู่ (ยิ้ม) เรานึกถึงบทความที่อาจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล เขียนไว้เมื่อสัก 30 กว่าปีก่อน ทำนองว่าหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อดีตก็เปลี่ยนไป ต้องมีการเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ และเรามองว่าหลังจากวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ก็เป็นลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าประวัติศาสตร์แบบใหม่ถูกเขียนขึ้นมาแล้ว หนังสือที่บันทึกประวัติศาสตร์แบบใหม่เล่มแรกน่าจะเป็นหนังสือเรื่อง ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ซึ่งเขียนขึ้นมาก่อนเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคมอีก เราคิดว่านี่คือหนังสือเล่มแรกของประวัติศาสตร์แบบใหม่ เพราะสะท้อนถึงวิธีการมองสังคมและวิธีการมองตนเองของผู้เขียน มองความเท่าเทียมกันและพลังของความเป็นมนุษย์

ส่วนตัวแล้วคุณคิดว่าเหตุการณ์ใดในรอบปีที่ผ่านมาน่าจะหยิบมาบันทึกในประวัติศาสตร์ที่คุณอยากเขียน

เราตั้งชื่อหนังสือไว้คร่าวๆ ว่า ‘ประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้อนรับ’ อยากสำรวจว่ามีแนวคิดอะไรบ้างที่ผู้มีอำนาจไม่พร้อมยอมรับ โดยเราเน้นไปที่คน 3 กลุ่ม ได้แก่ คนที่ถูกจับ, คนที่ถูกสังหารซึ่งมีคนที่โดนบังคับอุ้มหายกับคนที่ถูกประหารชีวิตด้วย และคนที่ถูกผลักออกจากประเทศ จึงคิดว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้อนรับคือคน คือแนวคิดบางอย่าง เราจึงต้องเล่าประวัติศาสตร์มุมนั้น

อย่างช่วงนี้ หลายคนคิดว่าต้องเขียนเล่าบันทึกประวัติศาสตร์โรคระบาดหรือเศรษฐกิจ แต่เราอยากเขียนเล่าว่า ใครโดนจับบ้าง และโดนจับเพราะอะไร พวกเขาต่อสู้อย่างไร นอกจากนี้ก็มีสิ่งที่เรานึกถึง ที่เราคิดไว้แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจคือ ความหมายของการอดอาหารของหลายๆ คนที่อยู่ในคุก และการตอบโต้ของผู้มีอำนาจ คิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไม่ลืม (เน้นเสียง)

นึกถึงตอนที่ บุ้ง (เนติพร เสน่ห์สังคม) กับ ใบปอ (ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์) สมาชิกกลุ่มทะลุวังที่อดอาหารเพื่อประท้วงให้ปล่อยตัว ขณะที่ผู้พิพากษาก็ยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า จะไม่ปล่อยตัวพวกเขา เพราะการอดอาหารของทั้งสองยังไม่ถึงจุดวิกฤตของชีวิต เราอยากรู้ว่าการที่ผู้พิพากษากล่าวและออกคำสั่งแบบนั้น มีความหมายอย่างไรบ้างทางด้านประวัติศาสตร์

ในแง่หนึ่งเราคิดว่ามันมีความหมายในเชิงของการกำลังต่อสู้เพื่อนิยามว่า ใครเป็นมนุษย์ และใครที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ ไม่ต้องถูกรักษาชีวิต ไม่ต้องถูกปกป้อง แต่อันนี้เรายังไม่แน่ใจนะ เราจึงต้องพยายามตีความเยอะๆ ว่าการที่ผู้มีอำนาจกับนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ทำนั้น มีความหมายอย่างไร

การอดอาหารเพื่อประท้วงในคุกเองก็เป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่งที่เดือดดาลมากในปีก่อน คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ทุกคนกลัวว่าผู้มีอำนาจจะปล่อยให้ผู้ที่อดอาหารเสียชีวิต – ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการปล่อยให้เสียชีวิตโดยตั้งใจ หรือเพราะระบบสุขภาพในคุกห่วยมากจนผู้ต้องขังเสียชีวิตโดยที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ตั้งใจ – แต่เราพูดได้ว่าการอดอาหารมีความหมายสำคัญ เพราะมันผลักให้ผู้พิพากษาพูดชัดมากๆ ว่าจะไม่ปล่อยตัว และสะท้อนให้เราเห็นว่าพวกเขาคิดอย่างไร พร้อมที่จะทำร้ายชีวิตของคนอย่างไร

มีข้อถกเถียงทำนองว่าเป็นการแลกที่ไม่คุ้มและเสนอให้ผู้ประท้วงเลิกอดอาหาร แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าควรเคารพการตัดสินใจของพวกเขาด้วย

เราตอบไม่ได้หรอกว่าคุ้มหรือไม่คุ้มเพราะเราไม่ได้เป็นคนอดอาหาร แต่การที่คนอดอาหาร ไม่ว่าจะบุ้ง, ใบปอหรือ ตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ – นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) หรือจากเมื่อปีก่อนที่ เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์ – นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) อดอาหาร เราคิดว่าต้องเคารพเขาเลยนะ คนที่ไม่ได้อยู่ในคุก ไม่ได้อดอาหารอยู่ ไม่มีสิทธิไปบอกว่าคนที่ทำควรจะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้แทน เพราะเราเองก็มีชีวิตที่สบายมาก บทบาทของคนข้างนอกคือเรียกร้องความยุติธรรม และควรใช้เวลาและพลังของเราเพื่อผลักให้ผู้พิพากษายอมปล่อยตัวคนข้างใน แทนที่จะพยายามเปลี่ยนความคิดของคนที่กำลังต่อสู้

ตอนท้ายๆ ที่บุ้งกับใบปออดอาหาร เราเองก็ไปอยู่ตรงหน้ากระทรวงยุติธรรมกับกลุ่มของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข (นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) ต้องบอกว่าเวลานั้นเราเองก็กลัวนะ เราเป็นคนขี้กลัว (ยิ้ม) ตำรวจก็เยอะ ประชาชนที่ไปก็น้อย เราเองก็เป็นฝรั่งคนเดียว เราถามคุณสมยศว่า คิดว่ากระทรวงยุติธรรมจะยอมหรือไม่ เขาตอบว่า ถึงอย่างไรเราก็ต้องมาตรงนี้ มากดดันกระทรวงยุติธรรม และถ้ากระทรวงยุติธรรมไม่ยอมให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง เราก็ต้องมาเพื่อให้มีการบันทึกว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ยอมทำอะไร เราเห็นด้วยกับประเด็นนี้มากๆ

มองเรื่องการเลือกใช้อำนาจของรัฐผ่านกฎหมายอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องการดำเนินคดี 112 หรือการตั้งเงื่อนไขให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองใส่กำไลติดตามตัว ตลอดจนห้ามเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

(คิดนาน) เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ทำร้ายกฎหมายโดยตรงเลยนะคะ และสะท้อนว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของคนที่มีอำนาจ ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้เพื่อปกป้องชีวิตของตนเอง และอีกสิ่งหนึ่งคือ มันสะท้อนว่ารัฐกลัว กลัวมากๆ กลัวคนที่ตั้งคำถาม เพราะถ้าเขาไม่กลัว เขาจะไม่ปราบปรามหนักขนาดนี้

จริงๆ ก็ตั้งแต่สมัยก่อนแล้วนะ รัฐไทยเป็นรัฐที่เก่งในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปราบปราม และเป็นวิธีที่รัฐเผด็จการและรัฐอำนาจนิยมหลายที่ใช้กัน เพราะหากพวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ เขาก็จะตอบได้ว่า เขาไม่ได้ปราบปรามประชาชนนะ แต่ประชาชนน่ะละเมิดกฎหมายเอง รัฐเพียงแค่ใช้กระบวนการปกติในการดำเนินการจับกุมเท่านั้นเอง อะไรแบบนั้น แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็สะท้อนว่ากฎหมายช่างไม่มีความหมายเอาเสียเลย

มองในระยะยาว การกระทำเช่นนี้ของรัฐจะส่งผลอย่างไร

จะส่งผลแย่มาก

อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของประชาชนคือ การพยายามทำให้กฎหมายกลับมามีความหมาย เราจะเห็นได้จากงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน งานจากกลุ่ม iLaw ที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ และเราว่าการที่คนยังปฏิบัติตัวราวกับกฎหมายเป็นสิ่งที่ยุติธรรมอยู่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะส่งผลดีในระยะยาว ในแง่ว่า ถ้าคนยังยืนยันว่ากฎหมายต้องมีความหมาย ต้องเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความยุติธรรม

ตอนแรกเราก็งงเหมือนกันเพราะมองว่านักกฎหมายเหล่านี้จะเสียเวลาไปเปล่าๆ หรือไม่ เนื่องจากดูต้องใช้เวลาเยอะมากในการเขียนคำร้อง แต่เราก็มาคิดใหม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมันสะท้อนว่า ภายใต้ระบบกฎหมายอันเดียวกัน ประมวลกฎหมายอันเดียวกัน มีการตีความอีกวิธีหนึ่งได้ สุดท้ายแล้วก็จะเริ่มสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้ในที่สุด

การที่รัฐใช้อำนาจเพื่อปราบปรามประชาชนอย่างแยบยลมันสร้างความชอบธรรมให้รัฐในสายตาสังคมโลกมากขึ้นไหม

คิดว่าไม่นะ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็คิดว่ารัฐไทยค่อนข้างโชคดี เพราะคนในประเทศอื่นจะมองว่ากรณีประเทศพม่าดูเลวร้ายกว่ามากสำหรับพวกเขา ทั้งที่ในไทยก็แย่แหละแต่ไม่เท่า

สิ่งหนึ่งที่รัฐไทยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากคือ เขาทำให้พื้นที่สาธารณะสำหรับการต่อสู้และการต่อต้านมีน้อยลงโดยที่ไม่มีการเสียภาพลักษณ์

กล่าวสำหรับความรุนแรงของรัฐไทย เราจะพบว่ามันมีหลายระดับมาก ทั้งการใช้กำลังปราบปรามไปจนการใช้อำนาจผ่านกฎหมาย มองว่ามันมีตรรกะอะไรในการเลือกใช้ความรุนแรงเหล่านี้ไหม

อันนี้ก็น่าสนใจ สิ่งที่เราพยายามคิดคือ รัฐใช้หลายวิธีในการปราบปรามคนหลายกลุ่ม

นึกถึงกรณีคนที่ถูกบังคับอุ้มหายตั้งแต่ 6 ปีก่อน เขาเป็นผู้ลี้ภัยที่ใช้ชีวิตในกัมพูชาหรือลาว สุดท้ายก็ถูกอุ้มหายโดยที่ปัจจุบันก็ไม่มีร่องรอยว่าใครเป็นคนทำ แต่เราจะเห็นว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่รัฐเลือกว่าต้องทั้งสังหารและต้องทั้งทำให้ครอบครัว เพื่อนของเหยื่อไม่มีสิทธิจัดพิธีศพ ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐเลือกใช้วิธีนี้ต่อกลุ่มคนที่ตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐพร้อมจับ โดยจะจับอยู่พักหนึ่งแล้วปล่อยตัว และยังมีอีกกลุ่มที่รัฐพร้อมจับแล้วขังโดยไม่ปล่อย

เราคิดว่ารัฐชั่งน้ำหนักเหมือนกันว่าจะเลือกใช้วิธีใดกับใคร และเราว่ารัฐก็คิดด้วยเหมือนกันว่าคนที่พวกเขาจับไปนั้นสามารถขังลืมได้ไหม หรือเป็นคนที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักและเห็นใจอยู่แล้ว

มันจึงไม่ใช่การใช้อำนาจอย่างสะเปะสะปะใช่ไหม

คิดว่าไม่นะ อย่างตอนที่ทานตะวันกำลังถูกปล่อยตัว เราก็ได้ยินจากเพื่อนๆ ว่าจริงๆ แล้วผู้พิพากษาไม่ได้ตัดสินใจเองว่าจะให้ประกันตัวหรือเปล่า แต่ในวันนั้นเราอยู่ในห้องพิจารณาที่ศาล เราก็เห็นว่าพวกผู้พิพากษาตั้งคำถามคุยกัน จนมาถึงจุดหนึ่ง ผู้พิพากษาอาวุโสก็ลุกขึ้น หยิบโทรศัพท์แล้วบอกว่า ต้องไปโทรศัพท์คุยกับ “ท่าน” ก่อน นี่คือมันชัดมากเลยนะ! ถ้าสมมติเป็นเรา เราก็คงบอกว่าขอโทษนะขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อน เราคงไม่แสดงตัวว่าต้องไปคุยโทรศัพท์แบบเขาน่ะ เพราะมันดูแย่มาก ดูไม่มีอำนาจของตัวเองเลย

แต่ถ้าเราจะพยายามเข้าใจตรรกะของระบบทั้งหมดว่ามาจากไหน ใครเป็นคนสั่ง เราเองก็ไม่แน่ใจ แต่เหมือนที่มีการชั่งน้ำหนักว่าคนกลุ่มไหนที่รัฐจะสังหารได้ กลุ่มไหนที่รัฐสังหารไม่ได้แต่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ หรือคนไหนที่คุกคามได้

กรณีอุ้มหายรวมถึงสังหาร มองว่าเกิดจากอะไร มีเงื่อนไขทางกฎหมายใดอยู่เบื้องหลังบ้าง

ดูเหมือนว่าคนที่โดนอุ้มหายและสังหารจะมีทั้งกลุ่มคนที่ตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ และไม่ได้เป็นคนที่มีแสงเยอะๆ เป็นคนชายขอบ อีกสิ่งหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องการเข้าถึงด้วย กล่าวคือคนที่อยู่ในลาวหรือกัมพูชานั้น เจ้าหน้าที่รัฐไทยหรือเจ้าหน้าที่ของทางสถาบันสามารถเข้าถึงคนเหล่านั้นได้ อาจเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านจึงอาจเกิดการให้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยพยายามไปขู่หรือไปคุกคาม ทำร้ายร่างกายผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ เราก็ยังคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ค่อยกล้าเท่าเวลาที่พวกเขาทำกับกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศใกล้เคียงนะ

ที่ผ่านมาเรามีประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงหนักหน่วงมาก คิดว่าเราพัฒนาขึ้นบ้างไหม

ยังนะ (ยิ้ม) ยังไม่มีการพัฒนาในการจัดการการลอยนวลพ้นผิดซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาไปไม่ค่อยได้ ถ้าต้องการลดการใช้ความรุนแรงก็ต้องเอาคนที่ฆ่าประชาชนหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมารับผิดชอบ คิดว่าสิ่งที่ประชาชนเองก็รู้คือ พวกเขาต่างมีสิทธิที่จะถูกรัฐจัดการ ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนยังรู้ด้วยว่าคนที่ทำไม่มีวันที่ต้องรับผิดชอบ สิ่งนี้ทำให้ประชาชนต้องอยู่ในสภาวะที่เสี่ยง หวาดกลัว

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความเคลื่อนไหวในปี 2565 คือมีการพยายามผลักดันให้เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เช่น 6 ตุลาฯ มายังสายตาของคนในกระแสหลักมากขึ้น ทั้งจัดนิทรรศการและจัดคอนเสิร์ต ซึ่งอย่างหลังเป็นข้อถกเถียงมากเพราะเป็นการเอาประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ถูกชำระล้างมาเล่าผ่านความบันเทิงที่อาจจะกลบเนื้อหาของความรุนแรงไป เราจะทำความเข้าใจประเด็นนี้ได้อย่างไร

จริงๆ คิดว่าปรากฏการณ์ที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลายเป็นสิ่งที่หลายคนรู้จัก ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์จริงๆ ลองถ้านึกถึงสัก 20-30 ปีก่อนคุณไม่มีทางเห็นอะไรแบบนี้เลย คนไม่รู้จักเหตุการณ์นี้หรอก ถ้าจะอ่านเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ต้องหาอ่านในสื่อกระแสก้าวหน้า หรือต้องรู้จักนักวิชาการที่เขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ตอนนี้ ประเทศไทยมีนิทรรศการเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ซึ่งเราเองก็ได้ไปดูและได้คุยกับแม่ค้าแผงลอยที่ขายของจุกจิกแถวนั้น เขาก็รู้จักเรื่อง 6 ตุลาฯ นะคะ รู้ด้วยว่ามีนิทรรศการ เราคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และคิดว่าเวลานี้คนรู้จักประวัติศาสตร์เรื่องนี้มากขึ้น แม้หลายคนอาจยังไม่รู้รายละเอียดหรือรู้โดยผิวเผิน เราว่าก็ยังดีกว่าไม่รู้จักเลยนะ

สำหรับเรื่องคอนเสิร์ต เราไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตนี้ แต่คิดว่าคงไม่มีทางเล่าประเด็นความรุนแรงในคอนเสิร์ตโดยปราศจากปัญหาหรอก แต่เรามองว่า การที่จัดงานขึ้นมาโดยที่กลุ่มเป้าหมายหรือคนฟังอาจไม่เข้าใจสารที่ต้องการจะสื่อโดยครบถ้วน แต่ก็ทำให้พวกเขาได้รู้จัก ก็ยังเป็นเรื่องที่ดีนะ

นึกถึงตอนที่เราสอนหนังสือเมื่อ 15 ปีก่อนในสหรัฐฯ ก็มีนักศึกษาจากประเทศไทยมาร่วมชั้นเรียนด้วย เขาไม่ค่อยรู้เรื่องเหล่านี้เพราะมันไม่มีสอนในไทย คือเขาจะไปเรียนรู้เรื่องพวกนี้จากที่ไหน แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้ว เราจึงคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ ยิ่งมองย้อนไปตั้งแต่ยุคครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วตอนนั้นจัดขึ้นภายใต้ คสช. ด้วย ตลกมากที่ คสช. ก็ยอมให้จัดงานนี้ (หัวเราะ) เราว่าตั้งแต่ช่วงนั้นแหละที่คนรู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากขึ้น

ช่วงครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราจำได้ว่าเขาฉายหนังเรื่อง ‘ดาวคะนอง’ (2559, อโนชา สุวิชากรพงศ์) เราดูหนังหลายรอบมาก และต้องบอกว่าตอนแรกๆ ที่ดูนั้นเราไม่ชอบหนังเลย ไม่ชอบเพราะว่าดูไม่รู้เรื่อง (ยิ้ม) แล้วก็รู้สึกว่าหนังเล่าข้อเท็จจริงไม่ครบ ไม่พอ แต่เมื่อได้ไปคุยกับเพื่อนๆ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนชาวเกาหลีซึ่งเพื่อนคนนี้ชอบหนังมาก และเขาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สังหารหมู่กวังจู (หมายถึงเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวเกาหลีใต้เรียกร้องประชาธิปไตยและนำไปสู่การนองเลือดโดยรัฐเมื่อปี 1980) เพื่อนบอกว่า แน่นอนว่าหนัง ‘ดาวคะนอง’ นั้นไม่ใช่สารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นหนังเกี่ยวกับความเข้าใจและความพยายามเข้าใจของคนทำหนังคนหนึ่งต่อเหตุการณ์นี้ เราจึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นเหมือนกัน เพราะทุกคนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือนักเคลื่อนไหว

สื่อกระแสหลักไม่ค่อยแตะประเด็นเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ควรจะเป็นหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ๆ ที่จะพูดเรื่องนี้ ในสหรัฐฯ เองก็เช่นกัน ยังมีหลายต่อหลายเรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง ไม่กี่ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ เพิ่งจะมาพูดเรื่องการแขวนคอของคนดำเมื่อสักร้อยปีก่อน และเพิ่งมีการนับจำนวนคนที่ถูกสังหาร ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าเป็นที่เราเองนั่นแหละที่ไม่รู้เพราะไม่เคยไปพยายามเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่หรอก เป็นเพราะไม่ค่อยมีคนไปนับจำนวนผู้เสียชีวิตในรัฐต่างๆ น่ะ

มันเลยเป็นเรื่องที่ว่ารัฐจะจัดการกับประวัติศาสตร์เหล่านี้อย่างไรด้วยหรือเปล่า

ใช่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคนก็จะลืมเรื่องความรุนแรงเร็วมากๆ เราจึงคิดว่าบทบาทของนักประวัติศาสตร์ต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่าให้คนลืม การขุดเอาประวัติศาสตร์ของการใช้ความรุนแรงโดยผู้มีอำนาจเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำเรื่อยๆ

มีนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นชาวเฮติชื่อคุณมิเชล-รอล์ฟ ทรูอิลลอต (Michel-Rolph Trouillot) เขาเขียนว่า ประวัติศาสตร์คือความเงียบ ทุกครั้งที่เราได้เปิดความเงียบชนิดหนึ่งหรือกรณีหนึ่ง มันเป็นกระบวนการที่ไม่เคยสิ้นสุดและจะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเห็นด้วยมาก

เทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณเห็นความเหมือนหรือความต่างในเชิงประวัติศาสตร์ความรุนแรงอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าอำนาจนิยมเข้มแข็งทั้งภูมิภาคเลย กล่าวคือมันทำให้คนไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของเรามากนัก เหมือนที่ทุกคนคิดว่า โอเค ฉันจะไม่พูดถึงการกระทำเลวร้ายของเธอถ้าเธอไม่พูดถึงการกระทำอันเลวร้ายของฉัน

แต่คิดว่าสิ่งที่ทำให้ไทยไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ (คิดนาน) คงเป็นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยยากกว่า เป็นอุปสรรคใหญ่ คือทหารนั้นเป็นปัญหาในทุกประเทศ แต่ถ้าทหารทำสิ่งผิดมากๆ ก็ยังถูกดำเนินคดีได้น่ะ

ทั้งนี้ ตัวสถาบันกษัตริย์เอง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ดีหรือไม่ดี ปัญหาคือการที่มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่เหนือกว่าทุกคนหรือสถาบันอื่นๆ ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นแล้วว่าประเด็นนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะปกติแล้วก่อนหน้าเหตุการณ์การเคลื่อนไหวในปี 2563 สถาบันกษัตริย์ไม่เคยถูกท้าทายมาก่อน เราเองก็กลัวมากหากจะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว คือแม้ว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เปลี่ยน แต่หลายๆ คนก็มองเห็นแล้วว่าตัวสถาบันมีปัญหาอย่างไร

ปีที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงในสากลโลกเยอะมาก ทั้งในอิหร่านและในกาตาร์ เห็นความทับซ้อน ความเหมือนหรือต่างของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ในสังคมไทยบ้างไหม

บางครั้งเราก็เศร้าที่ตอนนี้เราไม่ได้อายุ 20 ปีแล้ว (ยิ้ม) เพราะถ้าอายุสัก 20 ชีวิตเราน่าจะสนุกมาก คนรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังต่อสู้อย่างหนัก นักเคลื่อนไหวที่ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหมือนกัน อย่างถ้ามองในแง่สากลโลก เราคงพบว่าคนจะไม่ยอมแยกประเด็นต่างๆ ในการต่อสู้แล้ว อย่างที่อิหร่านเองก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีไปพร้อมกับเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย อย่างในไทยก็เห็นได้ชัดว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยก็รวมตัวกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) รวมทั้งรวมตัวกับนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เราเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง You Have Not Yet Been Defeated เขียนโดย อัลลา อับด์ เอล-ฟัตตาห์ (Alaa Abd El-Fattah – นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน) เขาเป็นนักโทษทางการเมืองที่อียิปต์ และเป็นคนที่ต่อสู้มาตั้งแต่ 12 ปีก่อนที่จัตุรัสทาห์รีร์ และถูกจับกุมบ่อยมากจนแทบจะอยู่ในคุกตลอด 12 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดที่มีการประชุม COP27 (เวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งจัดขึ้นที่อียิปต์ มีนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งที่ใช้พื้นที่ในการประชุม COP27 เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและให้ปล่อยตัวคุณเอล-ฟัตตาห์ เราจึงคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ของการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ถ้าจะใช้คำแบบสตรีศึกษา ก็คงใช้คำว่า intersectionality และเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดทั้งในต่างประเทศและในไทยด้วย

ยกตัวอย่างกรณีในประเทศไทย เข้าใจว่าหลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม 2563 มีการแถลงข่าวหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและมีตัวแทนจากหลายๆ กลุ่มมาเข้าร่วม เราคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และคิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเหมือนกัน คือการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่านั้น และนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นผู้นำ แต่เขามองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่ใหญ่และยาวนานกว่านั้น

มองว่าในแง่การเป็นพันธมิตรกันต่างจากการเคลื่อนไหวเมื่อ 14 ตุลาฯ กับ 6 ตุลาฯ ไหม

คล้ายกันนะคะ ไม่ว่าจะในไทยและในประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่รู้ว่าเป็นปรากฏการณ์ของคนแต่ละรุ่นที่จะมาเรื่อยๆ ไหม ไม่รู้ว่าต้องอธิบายอย่างไร เหมือนว่าเป็นวิทยาศาสตร์อะไรสักอย่างที่ทุก 60 ปี มนุษย์จะคิดได้ว่าต้องร่วมมือกัน (หัวเราะ) แต่เราว่าคล้ายๆ กัน ที่ยุคตุลามีคนจากชนชั้นต่างๆ มาร่วมมือต่อสู้กัน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือปัจจุบันเราไม่มีพรรคการเมือง เมื่อก่อนมีพรรคที่มีบทบาทใหญ่พอสมควร แน่นอนว่าตอนนี้เรามีพรรคการเมืองก้าวหน้าอยู่แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ในแง่ภาพรวมของโลก เป็นที่พูดกันว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ฝั่งขวากลับมาแข็งแกร่ง สำหรับในไทยเอง ขวาไทยเป็นอย่างไร เราจะทำความเข้าใจขวาไทยอย่างไรได้บ้าง

โอ้! แล้วแต่ว่ากำลังพูดถึงช่วงไหน ถ้าในปัจจุบัน ขวาก็ค่อนข้างหลากหลาย มีคนที่ได้ผลประโยชน์จากการที่ได้ใกล้ชิดกับทหารหรือใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ เราว่าอันนี้คือขวา หรือคนที่ไปฟ้องนักศึกษา ฟ้องนักเคลื่อนไหว นี่เราก็ว่าขวา แต่ในเวลาเดียวกัน ก็คิดว่าคนที่ไม่ได้มองว่าปัจจุบันมีปัญหา แง่หนึ่งเราคิดว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นขวาอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน หรือรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองก็ดีอยู่แล้วและไม่เห็นว่าต้องเปลี่ยนอะไร เราว่านี่ก็ขวา

ถ้าจะต้องไปอธิบายความเป็นขวาไทยให้ชาวต่างชาติฟัง คุณจะอธิบายว่าอย่างไร

(ยกมือยอมแพ้) ยากมากเลย ก็คงจะบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่รักสถาบันหรือคนที่พร้อมจะสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราพยายามเข้าใจแต่ยังไม่เข้าใจคือ คนที่พร้อมจะแปะป้าย (label) ตัวเองและคนอื่นว่าเป็นคนดีกับคนไม่ดี เหมือนว่าคนที่มองโลกแบบที่แบ่งฝ่ายว่ามีคนดีกับคนไม่ดี อันนี้คือขวาชนิดหนึ่ง

ที่สหรัฐฯ เขาก็มีฝั่งขวานะ แต่มันคือวิธีคิดที่มองโลกบางเรื่องโดยขึ้นอยู่กับศีลธรรม เช่น เรื่องการทำแท้ง ซึ่งนี่แหละขึ้นอยู่กับศีลธรรมและศาสนาเลยล่ะ

ถ้าในตะวันตก ความเป็นขวาคือภาพแทนของการยึดถือคุณค่าเก่าแก่บางอย่าง ซึ่งอาจไม่ได้โยงกับศีลธรรมเสมอ คุณมองว่าขวาไทยมีน้ำเสียงแบบนั้นบ้างไหม คือยึดคุณค่าเก่าๆ

ว่าไปก็มีบางเรื่องที่เราไม่ค่อยเข้าใจนะ ไม่ว่าจะทั้งในไทยหรือสหรัฐฯ เช่น ทำไมคนที่ไม่ได้ได้ประโยชน์จากระบบเก่า จึงยังสนับสนุนระบบเก่าอยู่ คือถ้าเป็นคนที่โคตรรวยแล้วสนับสนุนระบบเก่าที่พวกเขาได้ประโยชน์นี่เรายังพอเข้าใจนะ แต่คนที่เป็นคนจนที่สนับสนุนระบบเก่านี่เรางงมากๆ แล้วมีเยอะมากเลยนะ! คือถ้าเขาไปสนับสนุนคนที่พร้อมเปลี่ยนระบบให้ก้าวหน้าก็อาจจะดีกับชีวิตพวกเขามากกว่า

ในไทยเองก็มีแบบนี้เหมือนกัน และเราก็งงเหมือนกัน เราว่าก็มีหลายคนที่ยังสนับสนุนคนที่มีอำนาจเก่าอยู่โดยที่สนับสนุนไปแล้วชีวิตพวกเขาก็ไม่ได้ดีขึ้นแม้แต่น้อยก็ตาม

ปี 2566 จะมีการเลือกตั้งในไทย มองการเลือกตั้งอย่างไร รวมทั้งมีบรรยากาศที่คนกลัวว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง มองว่าความกลัวนี้สะท้อนภาวะอะไรของคนไทยในปี 2566 บ้าง

แง่หนึ่งก็เป็นผลจากจิตสำนึกทางการเมืองของคนไทยสูงขึ้นด้วยนะคะ กลายมาเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันแบบที่คนรู้ว่าเราเคยมีรัฐประหาร มีคนร้ายต่อระบบประชาธิปไตยของสังคม เรามองว่าความกลัวว่าอาจจะไม่ได้เลือกตั้งสะท้อนถึงจิตสำนึกทางการเมืองที่มากขึ้นด้วย คือคนอยากให้มีการเลือกตั้งจริงๆ แต่ก็ต้องห่วงตลอดว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือเปล่า หรือทหารจะไม่ยอม หรือจะมีวิธีเล่ห์เหลี่ยมอะไรไหมในการเลือกตั้ง

แต่จำได้ว่าคืนที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คืนนั้นเราก็คิดเผื่อไปนิดหน่อยว่า ถ้าเผื่อพรรคพลังประชารัฐจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้องเพื่อไม่ให้คุณชัชชาติชนะ เราก็คิดว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ยอมหรอก และแม้ว่าปี 2565 ที่ผ่านมาจะไม่ค่อยมีม็อบใหญ่ๆ เราก็คิดว่าหากมีการเล่นตุกติกในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ที่จะถึงนี้ คนก็คงไม่ยอมแน่ๆ และอาจเกิดการลงถนนเพื่อประท้วง โดยผู้ชุมนุมก็อาจเป็นคนที่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาไม่เคยร่วมลงถนนเลยด้วยซ้ำ

แต่ก็ไม่รู้ว่านี่เป็นวิธีการมองโลกที่มีความหวังเกินไปหรือเปล่านะ (ยิ้ม)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save