fbpx
The Naked Island

บทกวีไร้ถ้อยคำ The Naked Island

ขณะที่โรงหนังยังไม่เปิดฉาย บวกกับปัญหาทางเทคนิคบางประการ ผมจึงยังจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการหาหนังดูจาก youtube เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟังอยู่นะครับ แต่ท่ามกลางข้อจำกัดดังกล่าว ก็โชคดีไปเจอะเจอสุดยอดหนังดี (และแปลก) คือ The Naked Island หนังญี่ปุ่นปี 1960 ผลงานกำกับของคาเนโตะ ชินโด

The Naked Island เคยมาฉายบ้านเราในเทศกาลหนังญี่ปุ่นครั้งที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2526 ที่หอประชุมเอยูเอ ผมมีโอกาสได้ดูตั้งแต่ตอนนั้น

ผลก็คือ เป็นประสบการณ์การดูหนัง ‘พิเศษสุด’ ชนิดลืมไม่ลง

เป็นการจำได้ฝังใจในทางลบนะครับ พูดง่ายๆ คือเป็นความทุกข์ทรมาน อึดอัด ความยาวของหนังราวๆ หนึ่งชั่วโมงครึ่งให้ความรู้สึกเนิ่นนานประหนึ่งดังสามหรือสี่ชั่วโมง

มี 2 เหตุปัจจัยที่ทำให้รู้สึกเช่นที่ว่ามา อย่างแรกคือพล็อตและเนื้อเรื่องเบาบางจนจับต้องแทบไม่ติด แต่ที่หนักมือกว่านั้นคือ ตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีบทพูดถ้อยสนทนาเลยแม้แต่คำเดียว

ปัจจัยต่อมาคือความเป็นมือใหม่ของผมเองในขณะนั้น คุ้นเคยเฉพาะหนังเน้นความบันเทิงที่เล่าเรื่องง่ายๆ ชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่สลับซับซ้อน ส่วนหนังนอกกระแสหรือหนังอาร์ตอะไรเทือกๆ นั้นยังไม่ประสีประสาเอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อเริ่มทำงานเป็นนักวิจารณ์และเกิดความสนใจหนังญี่ปุ่น ผมก็พบเจอคำยกย่องสรรเสริญหนังเรื่อง The Naked Island ในตำรับตำราจำนวนมาก พูดโดยย่นย่อ มันเป็นหนึ่งในหนังคลาสสิกเรื่องสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ญี่ปุ่น

ถัดจากนั้นอีกไม่นานนัก ผมก็มีโอกาสได้ดูหนังปี 1964 เรื่อง Onibaba (เรื่องนี้เพิ่งมาฉายในบ้านเราเมื่อปีกลายที่ Bangkok Screening Room) ผลงานของคาเนโตะ ชินโด คนเดิม คราวนี้ประจักษ์ชัดถึงคุณงามความดีของหนัง โดยไม่มีอะไรให้คลางแคลงใจ ทั้งการเล่าเรื่องที่เข้มข้นชวนติดตาม การตีแผ่ธาตุแท้สันดานดิบของมนุษย์ในการเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตจากสงครามกลางเมือง และที่เหนืออื่นใดคือการนำเสนอที่เต็มไปด้วยความงามทางศิลปะ

คาเนโตะ ชินโด ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผู้กำกับคนสำคัญของกลุ่มคลื่นลูกใหม่ (Japanese New Wave) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำพาวงการหนังญี่ปุ่นก้าวสู่ยุคทองครั้งที่ 3 ร่วมกับคนทำหนังอย่าง นางิสะ โอชิม่า, มาซาฮิโร ชิโนดะ, โชเฮ อิมามุระ ผลงานของพวกเขาเหล่านี้เป็นการปฏิวัติวงการหนังญี่ปุ่นขนานใหญ่ ทั้งรูปแบบวิธีการและเนื้อหาสาระ ซึ่งหันมาวิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมือง ตั้งคำถามท้าทายต่อจารีตและค่านิยมที่ยึดถือกันมาช้านาน รวมทั้งสะท้อนด้านมืดตั้งแต่ระดับตัวบุคคลในเชิงจิตวิทยา ไปจนถึงภาพกว้างอย่างเช่นแง่มุมเกี่ยวกับสิทธิสตรี การฉ้อฉลในแวดวงการเมือง ปัญหายาเสพติด เซ็กซ์และความรุนแรงในสังคม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หากประเมินเฉพาะเท่าที่ปรากฏใน The Naked Island งานชิ้นนี้มีความคาบเกี่ยวปนกัน ด้านหนึ่งมีลักษณะเด่นๆ ของหนังในกลุ่มคลื่นลูกใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งก็พ้องพานกับกลุ่มหนังที่เรียกกันว่า postwar humanism ซึ่งเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญของวงการหนังญี่ปุ่นช่วงระหว่างกลางทศวรรษ 1940-1950 อันถือเป็นยุคทองครั้งที่สอง

ด้านที่เข้าลักษณะหนังกลุ่มคลื่นลูกใหม่ ได้แก่ การตั้งโจทย์ทำหนังที่ปราศจากบทพูด (แต่ไม่ใช่หนังเงียบ ยังคงมีการใช้ดนตรีประกอบและซาวด์เอฟเฟกต์ตามปกติเช่นเดียวกับหนังเสียงทั่วไป) บอกเล่าด้วยภาษาภาพล้วนๆ รวมถึงการแสดงออกทุกอย่างแต่น้อยแบบ minimalism และที่สำคัญคือ ท่ามกลางการเล่าเรื่องในลักษณะไปเรื่อยๆ งานชิ้นนี้ก็สะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับบทบาทสตรีในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่เอาไว้เด่นชัด

ขณะเดียวกัน เนื้อหาหลักๆ ใน The Naked Island ก็ตรงกับลักษณะงานของคนทำหนังกลุ่ม postwar humanism ด้วยการเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันที่ยากลำบาก เหนื่อยล้าแสนสาหัส การต่อสู้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อยอมจำนนด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเข้มแข็งและเปี่ยมด้วยความหวัง

อย่างไรก็ตาม หนังในกลุ่ม postwar humanism นั้นกินความหมายกว้างกว่าที่กล่าวในย่อหน้าข้างต้นนะครับ มีทั้งการสะท้อนถึงสภาพบอบช้ำเสียหายจากภัยสงคราม (ทั้งในแง่ทรัพย์สิน บ้านช่อง และการล้มหายตายจากของสมาชิกครอบครัว) ภาวะข้าวยากหมากแพงขัดสนฝืดเคือง อาชญากรรมที่เกิดขึ้นสืบเนื่องติดตามมา การฟื้นฟูสร้างเนื้อสร้างตัวแบบเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ฯลฯ

ตัวอย่างที่อธิบายลักษณะของหนังในกลุ่ม postwar humanism ได้ชัดเจนถี่ถ้วนสุด น่าจะได้แก่หนังยุคแรกๆ ของอากิระ คุโรซาว่า ซึ่งสะท้อนแง่มุมไว้หลากหลายและครอบคลุมจนเกือบครบถ้วนทุกแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจสำคัญสุด คือความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศักยภาพและความดีงามเบื้องลึกในจิตใจของมนุษย์ (สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุโรซาว่าได้รับการยกย่องมากก็คือหนังของเขามักจะสะท้อนแง่มุมนี้ควบคู่ไปกับการเสนอภาพด้านลบ ทั้งความละโมบ ความอ่อนแอ ความฉ้อฉล ฯลฯ ก่อนจะจบลงทิ้งท้ายด้วยแง่มุมที่เปี่ยมด้วยความหวัง)

เนื้อเรื่องคร่าวๆ (หรือเรียกว่าเนื้อเรื่องเกือบจะละเอียดก็ได้ครับ เพราะมีความหมายเท่ากัน) ของ The Naked Island เล่าถึงครอบครัวหนึ่งประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูกชายสองคน ทั้งหมดพำนักอาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งตามลำพัง เป็นเกาะที่ปราศจากแหล่งน้ำจืด ปราศจากชายหาด ลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินสูงชัน เต็มไปด้วยก้อนหินและผืนดินแห้งผาก พวกเขายังชีพด้วยการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงแพะและเป็ด ทำนาปลูกข้าวกินเอง พอมีเหลือก็นำไปขายบ้างจำนวนหนึ่ง รวมถึงจับปลาในทะเล

ครึ่งชั่วโมงแรกของหนังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนึ่งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เริ่มตั้งแต่การตื่นนอนแต่เช้ามืด แจวเรือไปยังเกาะใกล้เคียงเพื่อตักน้ำจืดไปใช้สอย จากนั้นแม่ก็แจวเรือส่งลูกชายไปโรงเรียน (บนเกาะที่ไปตักน้ำจืด) ระหว่างวันก็ยังไป-กลับอีกหลายเที่ยวเพื่อให้ได้น้ำจำนวนมากพอกับการเพาะปลูกใช้สอย รวมทั้งมีภาพตัวละครหาบถังน้ำอันหนักอึ้ง เดินไต่เลาะขึ้นเนินลาดชันและมีพื้นที่ให้วางเท้าจำกัด ซ้ำๆ นับครั้งไม่ถ้วน

โดยรายละเอียดที่หนังแจกแจงอย่างละเอียดในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกนี้แทบจะไม่มีเหตุการณ์เนื้อเรื่องใดๆ เลย ทำให้เกือบๆ จะแลดูเป็นหนังสารคดี (ที่ปราศจากเสียงบรรยาย) แต่ก็แค่เกือบเท่านั้นนะครับ ความน่าอัศจรรย์ของ The Naked Island คือหนังใช้ช่วงเวลาดังกล่าวบอกเล่าปูพื้นทุกอย่างที่จำเป็นโดยครบครัน (ซึ่งผู้ชมจะทราบในเวลาต่อมาเมื่อติดตามไปเรื่อยๆ จนจบว่าครึ่งชั่วโมงที่ไม่มีเนื้อเรื่องนี้สำคัญอย่างไร)

ความน่าทึ่งต่อมา (อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมจากการดูครั้งล่าสุด ซึ่งให้ผลตรงกันข้ามกับวาระแรกโดยสิ้นเชิง) คือ The Naked Island กลายเป็นหนังที่เปี่ยมมนตร์ขลังชวนติดตามทุกขณะ และเผลอไผลประเดี๋ยวเดียวหนังก็จบเสียแล้ว รู้สึกว่าผ่านไปเร็วไวเหลือเกิน

แม้จะพูดไม่ได้ว่า The Naked Island เป็นหนังที่ดูสนุก แต่ก็มีความเพลิดเพลินในลักษณะพิเศษไม่เหมือนหนังใดๆ ที่ผมเคยดูมาในชีวิตเลยนะครับ ครึ่งชั่วโมงที่ดำเนินอย่างไร้พล็อต หนังดึงดูดผู้ชมด้วยภาพ (และดนตรีประกอบทำนองติดหูที่ยอดเยี่ยมมาก) ซึ่งถ่ายสวยมีชีวิตชีวาเหลือเกิน (บทวิจารณ์ต่างประเทศหลายๆ ชิ้น รวมถึงตำราเกี่ยวกับภาพยนตร์หลายเล่มพรรณนายกย่องเอาไว้ตรงกันว่า ภาพในหนังเรื่องนี้มีลีลาสวยงามราวบทกวี)

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะก่อนหน้าที่จะมาเป็นผู้กำกับ คาเนโตะ ชินโดเคยเป็นผู้ช่วยของเคนจิ มิโซงุจิมาก่อน

อันว่าเคนจิ มิโซงุจินั้น ถือเป็น 1 ใน 3 ปรมาจารย์ของวงการหนังญี่ปุ่น (อีก 2 ท่าน คือ ยาสึจิโร่ โอสุ และอากิระ คุโรซาว่า) งานของเขาโดดเด่นในทางเนื้อหาสะท้อนภาพถูกเอารัดเอาเปรียบของเพศหญิง และงานด้านภาพที่สวยวิจิตรบรรจงราวกับภาพวาดโบราณ ที่ล้ำเลิศเป็นหนึ่งยากจะหาใครทัดเทียมคือการจัดองค์ประกอบภาพอย่างประณีตพิถีพิถัน แล้วใช้การเคลื่อนกล้องเพื่อประคับประคององค์ประกอบภาพนั้นเป็นเทคยาวๆ อย่างลื่นไหล นิ่มนวล

การเคลื่อนกล้องในหนังของมิโซงุจินั้นโดดเด่นสุดๆ และมีอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นหลังจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสอย่าง ฌ็อง ลุค โกดารด์ และ ฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์ ซึ่งเทิดทูนมิโซงุจิเป็นฮีโร่ โดยเฉพาะในรายของโกดารด์ได้รับอิทธิพลจากวิธีการเคลื่อนกล้องนี้และนำมาพัฒนาต่อจนกลายเป็นการถ่ายโดยแบกกล้องใส่บ่าติดตามตัวละคร ซึ่งให้ผลลัพธ์สั่นไหว ไม่มั่นคง และดิบกระด้าง จนกลายเป็นอีกหนึ่งเทคนิคภาพยนตร์อันลือลั่น

ตรงนี้ผมไม่ยืนยันเป็นมั่นเหมาะนะครับ แต่เท่าที่ติดตามดูมา ผมคิดว่าในบรรดาผู้กำกับระดับตำนานของวงการหนังญี่ปุ่นด้วยกัน คาเนโตะ ชินโดเป็นคนที่รับมรดกในแง่งานด้านภาพอันสวยวิจิตรแบบมิโซงุจิเอาไว้มากกว่าใคร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากโลเคชัน ภูมิประเทศในสภาพต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่อง Onibaba (ภาพทุ่งหญ้าท่ามกลางสายลมในหนังเรื่องนี้ตรึงตาตรึงใจมาก) และ The Naked Island ที่ทำให้เนินเขาอันแห้งแล้งกันดาร ท้องทะเลท่ามกลางแสงแดดแปรเปลี่ยนในแต่ละช่วงของวัน จนกระทั่งเกาะเล็กๆ ซึ่งขาดแคลนไปเสียทุกสิ่งอย่างกลายเป็นอีกตัวละครที่มีชีวิตจิตใจและหลากอารมณ์

แต่สิ่งที่ชวนให้ผมเพลิดเพลินมากสุด คือฝีมืออันเก่งระดับฉกาจฉกรรจ์ในการใช้ ‘ภาษาภาพ’ สื่อสารกับผู้ชมแทน ‘ภาษาพูด’

ที่พูดกันว่าภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพันนั้น The Naked Island เข้าข่ายตรงเผงเลยนะครับ นอกจากภาพจะทำหน้าที่บอกเล่าอธิบายแทนคำพูดให้ได้ใจความโดยไม่ตกหล่นแล้ว การเล่าด้วยภาพในหนังเรื่องนี้ยังไปไกลและลงลึกกว่านั้น คือทำให้ผู้ชมเข้าถึงรู้สึกร่วม เกิดความคล้อยตามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวละคร เกิดความเอาใจช่วย จนกระทั่งกิจกรรมพื้นเพสามัญอย่างการหาบน้ำเดินขึ้นเนิน กลายเป็นความเร้าใจและดูด้วยความลุ้นระทึกเอาใจช่วยตัวละคร เกิดความสมจริง ความหนักแน่นน่าเชื่อถือ

หลังจากดำเนินเรื่องเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งชั่วโมงแรกแล้ว ลำดับถัดมาของหนังเป็นไปอย่างกระชับฉับไว เล่าถึงการดำเนินชีวิตและสภาพความเป็นไปในฤดูกาลต่างๆ ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน

พูดง่ายๆ คือเป็นการแสดงวงจรชีวิตในรอบปีของตัวละคร จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงสุดท้าย ซึ่งค่อยๆ ปรากฏเนื้อเรื่องเหตุการณ์

ข่าวร้ายคือผมเล่าเปิดเผยอะไรไม่ได้เลย แต่พูดทางอ้อมก็คือมันสะท้อนถึงช่วงเวลาที่ครอบครัวนี้มีความสุขและด้านรื่นรมย์ จากนั้นเป็นห้วงยามเผชิญทุกข์ และสรุปปิดท้ายด้วยเรื่องราวในท่วงทำนองว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดีร้ายอย่างไร ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป

เมื่อติดตามจนจบ ผมคิดว่าผู้ชมน่าจะจับสังเกตได้ไม่ยากว่า The Naked Island ไม่ใช่หนังในแบบที่คนทำตั้งใจเล่นกับโจทย์ยากๆ โดยไม่แยแสหัวอกของผู้ชม ไม่ใช่หนังสลับซับซ้อนดูไม่รู้เรื่อง แท้จริงแล้วมันเป็นหนังที่ตั้งโจทย์ยากของคนทำหนัง เพื่อทดลองอะไรบางอย่างในการทำหนัง และพยายามใช้ฝีมือทั้งสิ้นทั้งปวงที่มีอยู่ เพื่อทำหนังที่สามารถสะกดตรึงคนดูไว้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ มีรสบันเทิงมากสุดเท่าที่จะทำได้ และมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การสร้างความประทับใจ

ทุกประการที่ว่ามา ล้วนเป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้บรรลุตามเป้าหมาย

ตรงเนื้อเรื่องเหตุการณ์ที่บอกเล่าไม่ได้ประมาณ 30 นาทีสุดท้าย มีความเป็นหนังเพื่อความบันเทิงเต็มตัว ทั้งความรื่นรมย์ ผ่อนคลาย ตื่นเต้นเร้าใจ และที่เหนืออื่นใด คือมีช่วงเร้าอารมณ์สะเทือนใจที่ดีและตราตรึงใจเหลือเกิน

ฉากสะเทือนใจดังกล่าว ยอดเยี่ยมด้วยเหตุผล 2 ประการ

อย่างแรกเป็นเรื่องของจำนวนปริมาณและตำแหน่งที่ปรากฏ กล่าวคือตลอดทั้งเรื่องที่เต็มไปด้วยความราบเรียบ การเกิดขึ้นของฉากดังกล่าวกลายเป็นความโดดเด่นเจิดจ้า และจังหวะปรากฏขึ้นก็เป็นไปอย่างถูกที่ถูกเวลาเหมาะเหม็ง

อย่างต่อมาเป็นเรื่องของวิธีสร้างความสะเทือนใจ หลังจากนวดผู้ชมอย่างใจเย็นจนอยู่หมัดด้วยการทำให้หนังเต็มไปด้วยความสมจริง การเร้าอารมณ์แบบแสดงออกแต่ ‘น้อย’ จึงดูมีชั้นเชิงและส่งผลสะเทือนความรู้สึกของผู้ชม

ยิ่งไปกว่านั้น การเร้าอารมณ์สะเทือนใจของหนังยังมีลูกติดตาม มีจังหวะสอง จังหวะสาม มาเป็นระลอกต่อเนื่อง ทุกรายละเอียดนั้นเกิดขึ้นจบลงฉับไว ไม่มีการคร่ำครวญพิรี้พิไร แต่ละดอกนั้นคิดสร้างสรรค์ได้อย่างชาญฉลาด

ถึงตรงนี้ หนังใช้ประโยชน์จากการไม่มีบทสนทนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดอีกแบบคือในฉากดังกล่าว หากมีบทพูดตามปกติทั่วไป น้ำหนักของความเศร้าสะเทือนใจจะไม่หนักหน่วงเทียบเท่ากับที่เป็นอยู่

การปราศจากบทพูดทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเจ็บช้ำอมทุกข์ขึ้นอีกพะเรอเกวียนเลยนะครับ

การที่ตัวละครในหนังไม่ปริปากพูดกระไรเลย ยังส่งผลให้เนื้อหาของหนังว่าด้วยการขับเคี่ยวขัดแย้งกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ความมุ่งมั่นไม่ยอมจำนน มีน้ำหนักเด่นชัดและไม่มีท่าทีโอดครวญตีโพยตีพาย ไม่ยัดเยียดสั่งสอนเทศนาผู้ชม รวมทั้งอาจจะตีความไปได้ในแง่สภาพไร้ปากเสียงของผู้คนตัวเล็กๆ (แง่มุมนี้จะเด่นชัดมากในตัวละครผู้เป็นแม่ ซึ่งดูเหมือนจะกรากกรำทำงานหนักกว่าสามี)

The Naked Island เป็นหนังที่ผมขอแนะนำและเชิญชวนเป็นที่สุดเลยนะครับ แค่คิดหนังแบบนี้ออกมาได้ก็นับว่ายากแล้ว แต่การลงมือทำให้ออกมาได้ดังเช่นที่คิดยิ่งยากกว่า เพราะมีทั้งทุนรอนจำกัด ความยากลำบากของโลเคชันที่ใช้ถ่ายทำ การแสดงที่ดาราต้องฝึกปรือใช้ชีวิตเป็นชาวบ้านจริงๆ เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การถ่ายหนังในช่วงเวลาที่สร้างยังไม่อำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของคนทำหนังเหมือนอย่างในปัจจุบัน

และที่เหลือเชื่อมากๆ คือ หนังเรื่องนี้ใช้ทีมงานในทุกตำแหน่ง (ไม่นับนักแสดง) รวมไปถึงคาเนโตะ ชินโดด้วย ทั้งหมดทั้งสิ้นมีจำนวน 13 คนเท่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save