fbpx
มองทะลุม่านมายาคติ "หญิงไทยกับสามีฝรั่ง" : เมื่อสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

มองทะลุม่านมายาคติ “หญิงไทยกับสามีฝรั่ง” : เมื่อสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

 

อาจกล่าวได้ว่า ค่านิยมในการมีสามีฝรั่งของหญิงไทยในเขตภาคอีสานเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางหมู่บ้านเริ่มรู้สึกว่าการมีลูกเขยฝรั่งเดินไปมาในหมู่บ้านเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ในสายตาคนภายนอกแล้ว ผู้หญิงไทยกลุ่มนี้มักถูกมองว่า พวกเธอต้องการ “ยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง” โดยไม่ได้สนใจเรื่อง “ความรัก” หรืออายุของสามีฝรั่งที่อาจแก่คราวพ่อเลยก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว เบื้องหลังม่านมายาคติเหล่านี้มีความจริงอะไรซ่อนอยู่บ้าง

101 คุยกับ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ จากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักวิจัยอิสระ และประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี สองนักวิจัยหญิงไทยที่ทำงานศึกษาเรื่องนี้มายาวนานกว่า 20 ปี เพื่อเปิดมุมมองทะลุผ่านม่านมายาคติต่างๆ ทำความเข้าใจผู้หญิงไทยกลุ่มนี้ให้มากยิ่งขึ้น

 

ดร.พัทยา เรือนแก้ว (ซ้าย) และ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ (ขวา)

มีคนพูดว่า “ฝรั่งแก่คราวพ่อเลือกแต่งงานกับหญิงไทยเพราะได้ทั้งคู่นอนและแม่บ้านไปพร้อมกัน” – ทัศนคติเช่นนี้ตรงกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

พัทยา : จริงๆ แล้ว เรื่องการจ้างคนมาดูแลคนชราไม่ค่อยมีในสังคมตะวันตก ถ้าใครแก่แล้วไม่มีคนดูแล ก็จะย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราเลย คนที่พูดแบบนี้ คือคนที่ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง แล้วสำหรับหลายคน การแต่งงานกับคนแก่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะผู้หญิงก็แค่ช่วยดูแลทำกับข้าว เปลี่ยนเสื้อผ้า แค่นี้เอง ไม่ต้องเปลืองตัว

บางครั้งคนที่พูดแบบนี้ มองเผินๆ เหมือนคุณดูถูกผู้ชาย แต่มองลึกๆ แล้วคุณเหยียดหยามผู้หญิงต่างหาก เมื่อ 20 ปีก่อน ดิฉันเคยไปนำเสนองานวิจัยแล้วมีนักวิชาการไทยพูดถึงผู้ชายฝรั่งอายุเยอะว่าเหมือนส้มเน่าที่ไม่มีใครเอา จึงตกมาถึงผู้หญิงไทย การพูดแบบนี้ คุณกำลังดูถูกผู้หญิงไทยด้วยกัน

มันสะท้อนทัศนคติของคนไทยเรื่องการเหยียดหยามทางเพศ เมื่อก่อนมักมีคำพูดว่า ผู้หญิงไทยที่เดินกับผู้ชายฝรั่งคือ “อีตัว” ทุกวันนี้ คุณบอกว่าแต่งงานกับผู้หญิงไทยได้ทั้ง “เมียและแม่บ้าน” ไปพร้อมกัน จริงๆ มันก็ยังเป็นคำพูดในคอนเซ็ปต์เดิม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเรื่องการเหยียดหยามทางเพศนั่นเอง

พัชรินทร์ : กรณีแบบนี้ต้องถามผู้หญิงเหมือนกันว่า พอใจไหม ผู้หญิงบางคนบอกว่า เหตุผลที่เลือกผู้ชายอายุเยอะ เพราะไม่ได้ต้องการเรื่องบนเตียง แต่ต้องการเพื่อนต่างหาก

จริงๆ แล้ว ผู้ชายฝรั่งแก่ๆ ที่คุณเห็นว่ามาแต่งงานกับหญิงไทย เป็นความจริงเพียงบางส่วน หรือภาพของเหรียญแค่ด้านเดียวเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องคิด ต้องมองอย่างรอบด้าน เพราะฝรั่งหนุ่มๆ ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน เมื่อแต่งงานกับหญิงไทยแล้ว ก็มักจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ไม่ได้อยู่เมืองไทย คนไทยก็เลยไม่ได้เห็น จะเห็นแต่ฝรั่งที่เกษียณแล้ว และย้ายมาอยู่เมืองไทยกับภรรยา เราเลยมองแบบ “เหมารวม” ว่ามีแต่ชายฝรั่งแก่ที่แต่งงานกับหญิงไทย

 

วิธีคิดในการเลือกคู่ครองระหว่างผู้หญิงชนชั้นกลางกับผู้หญิงชาวบ้านมีความแตกต่างกันหรือไม่

พัทยา : โอกาสที่ผู้หญิงในหมู่บ้านจะเลื่อนชั้นทางสังคมมีไม่มากนัก การแต่งงานกับฝรั่งทำให้มีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมเยอะกว่า ยกตัวอย่างคนที่เป็นแม่หม้าย หรือหญิงขายบริการทางเพศ การแต่งงานใหม่กับชายไทยไม่ใช่เรื่องง่าย หรือหญิงขายบริการทางเพศ ถามหน่อยว่า มีผู้ชายไทยคนไหนที่จะรับคนเหล่านี้เป็นภรรยาอย่างเต็มใจ แต่ฝรั่งไม่แคร์ว่าอดีตเป็นอย่างไร

เราอาจพูดได้ว่า การแต่งงานกับฝรั่ง ณ จุดแรกอาจยังไม่ใช่ความรัก ตอนเราสัมภาษณ์ผู้หญิง เหตุผลที่บอกอย่างแรกไม่ใช่ความรัก บางคนก็บอกว่า มีลูกมีแม่ต้องเลี้ยงดู อยู่ในเมืองไทยก็เบื่อ คงไม่มีอะไรดีขึ้น เขาไม่ได้บอกว่า แต่งเพราะรักผู้ชายคนนี้

การแต่งงานระหว่างคู่ที่ไม่ได้เจอกันตามธรรมชาติ น่าจะมีเงื่อนไขอื่นมากกว่าเรื่องอารมณ์ความรู้สึก คู่สมรสไทยกับตะวันตก ส่วนใหญ่จะไม่ได้คบหากันแบบคู่รัก อาจเจอกันทางอินเทอร์เน็ต หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ

สำหรับหญิงชนชั้นกลาง ปัจจัยหลักน่าจะมาจากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เขารู้สึกไม่ได้รับหากอยู่ในประเทศไทย สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการเลื่อนชั้น รวมถึงทางสังคมด้วย การแต่งงานคือโอกาส

พัชรินทร์ : ถ้าเราดูข้อมูลให้ดีๆ มันมีเงื่อนไขที่หลากหลายและซับซ้อนมาก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เป้าหมายในชีวิต รวมถึงเรื่องความรัก มีคนถามว่า ความรักมาก่อนหรือมาหลังการตัดสินใจแต่งงาน อย่างคนตะวันตกมองว่าคุณต้องรักก่อนถึงจะแต่งงาน แต่ผู้หญิงไทยในหมู่บ้านมักพูดถึงความสัมพันธ์กับสามีฝรั่งว่า “รัก สงสาร ผูกพัน” เหตุผลในตอนแรกที่แต่งงานอาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่หลังจากอยู่ด้วยกันไปแล้วก็จะเกิดความรักตามมาเอง หลายคู่จึงอยู่ด้วยกันจนตายจากกัน

ถ้าถามผู้หญิงชนชั้นกลางในเมือง อาจได้คำตอบเรื่องแรงจูงใจในการแต่งงานกับฝรั่งแตกต่างจากผู้หญิงในหมู่บ้าน มีงานศึกษาที่สะท้อนว่าผู้หญิงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นแรงจูงใจในการเลือกคู่น้อยกว่าผู้หญิงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแย่กว่า

 

ในกรณีที่แต่งงานไปแล้ว เจอสามีฝรั่งไม่ดี ผู้หญิงไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้วจะย้ายกลับประเทศไทยไหม

พัชรินทร์ : ไม่กลับ แต่จะหาผู้ชายคนใหม่จนกว่าจะได้ “คนดี” ผู้หญิงกลุ่มนี้จะไม่กลับบ้านพร้อมกับความล้มเหลว การแต่งงานกับสามีฝรั่งคนแรกของหลายคนไม่ประสบความสำเร็จ และต้องดิ้นรนต่อสู้ บางคนบอกว่าขอให้ได้ไปเมืองนอกก่อน พอได้วีซ่าแล้วหากอยู่กันไม่ได้ ก็ต้องหาคนใหม่ บางคนบอกว่า “ถ้าหนูได้ไปอยู่ที่โน่น ประสบการณ์ดีขึ้น ภาษาดีขึ้น ทำไมหนูจะหาคนที่ดีกว่าเดิมไม่ได้”

เราอย่าไปดูถูกความคิดของผู้หญิงชาวบ้านกลุ่มนี้ เพราะจริงๆ แล้ว พวกเธอมีวิธีวางแผนชีวิตที่ฉลาดมาก พอเราถามว่า ทำไมถึงไปทำงานที่พัทยาละ ไม่กลัวคนว่าหรือว่าไปทำงานแบบนั้นแล้วได้เจอสามี พวกเธอถามเรากลับว่า “ถ้าพี่จะมีแฟนสักคน จะเลือกคนที่ติดต่อคุยกันทางอินเทอร์เน็ต ไม่เห็นตัวจริง หรืออยากเลือกตัวเป็นๆ เลย พี่จะเอาอันไหน”

พัทยา : กลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานกับคนต่างชาติมีหลายกลุ่ม มีทั้งผ่านเอเจนซี่ หรือไปพัทยา เวลาฝรั่งมาพัทยา ถ้าเจอคนถูกใจจะเช่าตลอดทั้งเดือน หรือตลอดช่วงที่อยู่เมืองไทย ใช้ชีวิตเหมือนคู่รัก คนที่อยู่กันทั้งวันทั้งคืนเป็นเดือนก็ตกหลุมรักกัน ส่วนมากผู้ชายจะตกหลุมรักผู้หญิงและขอแต่งงาน แต่ผู้หญิงบางคนก็ไม่ได้คบคนเดียวตลอดแบบนี้ เลือกจะเป็นผู้หญิงบาร์มากกว่า ด้วยเหตุผลว่า จะได้มีโอกาสเลือกว่าจะคบแบบผูกพันกับคนชาติไหนดี นี่เป็นวิธีคิดในการเลือกคู่ครองที่ฝ่ายหญิงเป็นคนตัดสินใจเอง

 

หลังจากแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ผู้หญิงที่มีการศึกษากับผู้หญิงชาวบ้านมีสถานะแตกต่างกันไหมในสังคมต่างประเทศ

พัชรินทร์ : ผู้หญิงชาวบ้านที่แต่งงานกับฝรั่งแล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ จะปรับตัวได้ดีกว่าผู้หญิงที่มีการศึกษา เพราะเขาจะรู้สึกว่า ยังทำงานในภาคบริการเหมือนเดิม แต่ได้รับค่าแรงมากกว่า แต่ผู้หญิงที่มีการศึกษา เช่น จบปริญญาตรีจากเมืองไทย พอไปอยู่เมืองนอก บางคนก็ไปทำงานภาคบริการ เป็นพนักงานในร้านอาหาร ปริญญาไม่มีความหมาย เพราะคุณก็ต้องไปทำงานระดับเดียวกับผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่า

ผู้หญิงที่มีการศึกษาจะกดดันและต้องปรับตัวมากกว่า ถ้ามองในภาพใหญ่ เหมือนกับสถานะจะเลื่อนขึ้น เพราะได้ไปอยู่ในประเทศที่รวยกว่า หรือพัฒนามากกว่า แต่ถ้ามองระดับบุคคล เหมือนสถานะจะลดลง เลยเป็นอะไรที่สวนทางกัน

พัทยา : จริงๆ เรื่องนี้มีความซับซ้อน ในแง่สถานะทางสังคมอาจจะลดลง แต่ในแง่เศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้น จากคนที่มีการศึกษาควรทำงานไวท์คอล์ลาร์ แต่ต้องมาทำงานระดับบลูคอล์ลาร์ เพียงแต่ได้เงินมากกว่า คนที่มีการศึกษาสูงมักจะหยิ่งทะนงตัวเพราะคิดว่าตนเองเรียนมาตั้งเยอะ ไม่เหมือนกับชาวบ้าน งานอะไรทำหมด

พัชรินทร์ : ผู้หญิงจากชนบทเวลาไปอยู่ที่โน่นไม่ได้รอให้สามีเลี้ยงอย่างเดียว เพราะแรงบันดาลใจอันหนึ่งของการไปเมืองนอก คือ การไปหางานทำหาเงินเพื่อสนับสนุนครอบครัวที่เมืองไทย การแต่งงานกับฝรั่งไปอยู่เมืองนอก จึงไม่ใช่เรื่องความรักอย่างเดียว แต่มีเงื่อนไขที่หลากหลาย

 

ภาพยนตร์ไทย “อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง” (2554) ตัวอย่างของมุมมองแบบไทยๆ ต่อหญิงไทยและสามีฝรั่ง

มุมมองของผู้ชายฝรั่งที่เลือกผู้หญิงไทยเป็นอย่างไร

พัทยา : จากข้อมูลงานวิจัยพบว่าจำนวนไม่น้อยเคยผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว หรือมีคู่มาแล้ว และผิดหวังกับผู้หญิงชนชาติเดียวกับตนเอง บางคนบอกเลยว่าจะไม่มีแฟนเป็นคนเยอรมันอีกแล้ว จริงๆ แล้วเขาตั้งใจจะหาคู่เป็นคนต่างชาติเฉยๆ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้หญิงไทย แต่บังเอิญเพื่อนมาแต่งกับผู้หญิงไทยแล้วก็แนะนำให้บ้าง หรือติดต่อกับสำนักงานจัดหาคู่ที่หาคู่ให้หญิงไทย

พัชรินทร์ : เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและชายของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน อย่างผู้ชายฝรั่งบางคนบอกว่าต้องการให้ผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลสามี แต่ในสังคมของเขาหาไม่ได้ เพราะแนวคิดเรื่อง เฟมินิสต์ในสังคมตะวันตกเข้มแข็งกว่าสังคมไทย ผู้หญิงตะวันตกมีทางเลือกมากกว่า มีความตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากกว่า อย่างเวลาสัมภาษณ์ฝรั่งว่าทำไมถึงมาแต่งงานกับผู้หญิงไทย เขาจะบอกว่า ผู้หญิงไทยรู้ว่าควรดูแลสามีอย่างไร

พัทยา : ผู้ชายฝรั่งอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ บางคนทำงานจนไม่มีเวลาไปหาคู่ครองด้วยตนเอง งานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาของสังคมสมัยใหม่ มีปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่ผลักให้คนต้องโดดเดี่ยว ต้องทำงานมากขึ้นและทำในช่วงเวลาที่ไม่เอื้อให้ได้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสหาคู่แบบเก่า ทำให้ต้องพึ่งพาทางเลือกในการหาคู่ เช่น เอเจนซี่จัดหาคู่ หรือมาเที่ยวเมืองไทยเพื่อหาคู่ครอง  เคยสัมภาษณ์ผู้ชายเยอรมันว่า เจอกับแฟนที่ไหน เขาบอกว่า เพื่อนแนะนำให้มาพัทยา เจอกับแฟนคืนเดียวก็แต่งงานเลย

 

ฟังดูแล้วเหมือนกับความต้องการของทั้งสองฝ่ายตรงกันพอดีใช่ไหม เพราะผู้ชายฝรั่งไม่มีเวลาหาคู่ ส่วนผู้หญิงไทยก็ต้องการหาสามีฝรั่ง

พัชรินทร์ : สิ่งที่น่าสนใจคือ การลองเอาปรากฏการณ์นี้มามองสังคมไทยว่า ทำไมหญิงไทยถึงไม่เลือกผู้ชายไทย

พัทยา : มันสะท้อนเรื่องโครงสร้างของสังคมไทยด้วย อย่างผู้หญิงที่เคยขายบริการมาก่อน มีใครยอมรับไหม มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเราเหยียดหยาม ไม่เคยให้โอกาส อย่างคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำไมต้องไปขวนขวายหาสามีฝรั่งมาช่วยเลี้ยงดูลูกขนาดนั้น เพราะถ้าเป็นสังคมตะวันตก ถึงจะเลิกกันแล้ว พ่อของเด็กก็ยังต้องช่วยรับผิดชอบจนลูกอายุ 18-20 ปี แต่สังคมไทยไม่มีกฎหมายบังคับใช้ให้พ่อของเด็กต้องรับผิดชอบ พอมีลูกแล้วก็ปัดก้นไปเลย ผู้หญิงจึงต้องวิ่งหาโอกาสอยู่รอดด้วยตัวเธอเองแบบนี้

พัชรินทร์ : คำพูดที่ว่า “ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติเพื่อเงิน” เป็นชุดคำพูดเกิดจากสังคมของชายเป็นใหญ่ เพราะเหมือนคุณผลักบาปไปให้ผู้หญิง แต่สังคมไม่เคยถามหาความรับผิดชอบของผู้ชาย ไม่เคยถามว่าทำไมผู้หญิงต้องขวนขวายไปหาเงิน เงินที่หามาได้เอาไปทำอะไร

 

เป้าหมายในชีวิตของการแต่งงานระหว่างผู้หญิงที่มีการศึกษากับผู้หญิงชาวบ้านแตกต่างกันอย่างไร

พัชรินทร์ : ค่านิยมเรื่องการไปอยู่ต่างประเทศมีผลต่อกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษามากกว่าผู้หญิงชาวบ้าน เพราะผู้หญิงชาวบ้านหลายคนบอกว่า แต่งงานกับฝรั่งแล้วไม่ต้องไปอยู่เมืองนอกก็ได้ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางการเงินสำหรับลูกและพ่อแม่มากกว่า แต่กลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษามักจะอยากไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกมากกว่าผู้หญิงชาวบ้าน เพราะดูเหมือนจะได้เลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นมาจากเดิมอีกระดับหนึ่ง

 

อยากทราบว่า ในอนาคตทิศทางงานวิจัยประเด็นหญิงไทยที่แต่งงานกับสามีต่างชาติควรไปในทิศทางไหน

พัทยา : ตอนนี้คงหมดยุคแล้วที่จะมาดูเรื่องเหตุผลของการแต่งงาน สิ่งที่ควรศึกษาต่อไป คือ “สถานการณ์หลังแต่งงานกับชาวต่างชาติ” เราควรจะดูว่ามันส่งผลอะไรบ้างทั้งต่อสังคมต่างประเทศและสังคมไทย เพราะปัจจุบันคนเหล่านี้เริ่มจะแก่ตัวแล้ว ผู้หญิงไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 1970-80 ตอนนี้อายุก็เริ่มเข้า 50-60 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นอีกหน่อยจะเกิดชุมชนคนไทยสูงอายุในประเทศเหล่านี้ แม้ว่าประเทศตะวันตกจะมีสวัสดิการให้ แต่คำถามก็คือ คุณเข้าถึงไหม ถ้าคุณไม่ทำงานหรือจ่ายสวัสดิการสังคมไว้เลย สิ่งที่คุณจะได้คืออะไรและเท่าไหร่

ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้เดินทางกลับบ้าน บางคนสามีตายหรือเกษียณ ฉันกลับมาอยู่บ้านดีกว่า แล้วรัฐบาลไทยมีอะไรรองรับตรงนี้บ้างไหม ได้เอาประสบการณ์ของคนเหล่านี้มาใช้บ้างไหม มีการเตรียมความพร้อมเมื่อพวกเขากลับมาอยู่เมืองไทยไหม เพราะจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ส่งเงินกลับบ้านตลอดชีวิต 30-40 ปี ส่งมาให้พ่อแม่พี่น้องจำนวนเยอะมาก

พัชรินทร์ : อีกประเด็นหนึ่งที่ควรทำการศึกษาคือ เรื่อง “คนที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง” อยู่ในชุมชนบ้านเกิด อยู่ในประเทศมาตุภูมิของผู้หญิงที่ย้ายถิ่น  เรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติจากการแต่งงานไม่ได้เชื่อมโยงกับคนๆ เดียว แต่เกี่ยวข้องกับญาติพี่น้องและคนทั้งชุมชน เวลาคนในหมู่บ้านพูดถึงการแต่งงานกับฝรั่ง หรือการแต่งงานข้ามชาติ พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไร การแต่งงานมีความหมายอย่างไรสำหรับพวกเขา แน่นอนว่า คำตอบไม่ใช่แค่เรื่องการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษาจริงๆ จังๆ เลย

ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้วไปอยู่ต่างประเทศกันเยอะขึ้น ในอนาคตกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองไทยก็จะขาดคนดูแลเหมือนกัน อีกหน่อยเราก็ต้องนำเข้าผู้หญิงจากลาวและพม่ามาดูแลผู้สูงอายุไทยหรือเปล่า ความจริงตอนนี้ก็เริ่มมีการจ้างคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาดูแลผู้สูงอายุและผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว

นี่เป็นคำถามที่สังคมไทยควรเริ่มทำการศึกษาเพื่อหาทางรับมือกับสิ่งที่จะเผชิญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกับการแต่งงานระหว่างหญิงไทยและสามีต่างชาติ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save