fbpx

ตำนานมูลศาสนาหลากเวอร์ชัน: ราโชมอนแห่งล้านนาและเครื่องด่าวาจา(สวน)ดอกไม้

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมของราชวงศ์มังรายที่มีอำนาจเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และบริเวณลุ่มน้ำกก-โขงและอิง รวมไปถึงน่าน ยามที่อำนาจการเมืองพุ่งขึ้นสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ พ.ศ.1984-2030) รัฐที่รวมศูนย์ได้ในขณะนั้นถูกเรียกกันในเวลาต่อมาว่า ‘ล้านนา’ อิทธิพลการเมืองที่ใหญ่โตขึ้นสามารถขยายอำนาจลงใต้ไปยึดครองเมืองเชลียง (ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเชียงชื่น) อันถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจอยุธยาโดยตรง

แต่ก่อนที่ล้านนาจะคำรามแผ่แสนยานุภาพทางการทหาร การเมืองภายในราชสำนักเชียงใหม่ก็ดูจะปั่นป่วนไม่น้อย การชิงบัลลังก์พ่อตัวเองของพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ.1984 เกิดขึ้นอย่างเร้าใจราวกับซีรีส์เกาหลีย้อนยุค แต่การเล่มเกมแห่งอำนาจนั้นไม่ได้ชิงไหวชิงพริบด้วยอำนาจทางการทหารเท่านั้น แต่ยังใช้พลังทางพุทธศาสนาเข้าช่วยด้วย บทความนี้จะเผยมุมดังกล่าวผ่านวรรณกรรมที่ชื่อ ตำนานมูลศาสนา

การเมืองในนิกายพระสงฆ์ล้านนา

พุทธศาสนาในเชียงใหม่นั้น คาดว่าสืบทอดมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย ก่อนจะได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยจากการเดินทางเข้ามาของพระสุมนเถระจนสร้างศูนย์กลางไว้ที่เวียงสวนดอกเบื้องตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นที่มาของชื่อนิกายสวนดอก (บ้างก็เรียกว่านิกายรามัญวงศ์ บ้างก็เรียกนิกายลังกาวงศ์เก่า) การจาริกไปสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพก็เป็นอิทธิพลนิกายนี้ ขณะนั้นกรุงลังกา ถือเป็นศูนย์กลางความรู้ของพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีความพยายามเดินทางไปศึกษาหาความรู้ ทีนี้ก็มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งเดินทางไปร่ำเรียนถึงลังกาและทำการบวชใหม่ ต่อมาสร้างศูนย์กลางของตน ณ วัดป่าแดง ตีนดอยสุเทพ ไกลออกไปกว่าวัดสวนดอกทางทิศตะวันตก บ้างเรียกคณะนี้ว่านิกายป่าแดง บ้างเรียกว่านิกายลังกาวงศ์ใหม่[1]

นิกายใหม่ถูกระแวงและถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดสังฆเภท ในที่สุดกษัตริย์เชียงใหม่นามพญาสามฝั่งแกนได้สั่งเนรเทศพระผู้ทรงอิทธิพลอย่างพระญาณคัมภีร์ (บ้างก็เรียกธรรมคัมภีร์ หรือธรรมกำเพียร) ออกไปจากเชียงใหม่ และนั่นคือจุดเริ่มต้นการขยายอำนาจนิกายป่าแดงออกนอกศูนย์กลางไปยังเขตเมืองละกอน (หรือลำปางในปัจจุบัน) พะเยา เชียงราย ฯลฯ ทั้งในเขตเมืองและเขตป่าเขา และเป็นไปได้ว่า พุทธศาสนาขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตห่างไกลอย่างกว้างขวางในยุคนี้ และอาจเป็นที่มาของตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่เป็นเรื่องเล่าสากลทางพุทธศาสนาที่ถูกสถาปนาลงในท้องถิ่นต่างๆ ว่าด้วยโครงเรื่องว่าพระพุทธเจ้าเคยเดินทางไปถึงเมืองและชุมชนต่างๆ แล้วพบเจอและเอาชนะใจผู้คนหรือยักษ์แล้วได้รับการปรนนิบัติอย่างดี นำมาซึ่งการพยากรณ์ว่าจะมีพุทธศาสนามาประดิษฐาน ณ ที่นั้นๆ

บนบัลลังก์ทอง พญาสามฝั่งแกนได้ส่งลูกชายอย่างท้าวลก (ชื่อเดิมของพระเจ้าติโลกราช) ไปกินเมืองพร้าว ซึ่งถือว่าเป็นเมืองชายขอบห่างไกล จะอย่างไรไม่รู้ในเวลาต่อมาท้าวลกร่วมมือกับขุนนางยึดอำนาจพญาสามฝั่งแกนและขึ้นครองราชย์ที่เมืองเชียงใหม่ ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช นิกายวัดป่าแดงได้รับการเชิดชูให้เป็นนิกายที่มีความสำคัญ เห็นได้ชัดจากการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอด วัดสำคัญแห่งหนึ่งของนิกาย

ยามนั้น ล้านนาถือเป็นดินแดนที่วรรณกรรมพุทธศาสนาเบ่งบานเป็นอย่างยิ่ง มีสำนักบาลี มีการแต่งตำราภาษาบาลีเต็มไปหมด การผลิตใบลานเพื่อใช้ทางพุทธศาสนาและการคัดลอกต่อเนื่องกันมากลายเป็นมรดกสำคัญที่ยังคงหลงเหลือในวัดภาคเหนือปัจจุบันที่มากกว่าภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยก็เพราะเหตุนี้

ตำนานมูลศาสนาหลากเวอร์ชันกับเครื่องด่าค่ายสวนดอกไม้

คัมภีร์ทางศาสนาสำคัญที่รจนาโดยพระสงฆ์สองนิกายก็คือ ตำนานมูลศาสนา ที่มีอยู่อย่างน้อยสามเวอร์ชันที่เขียนโดยทั้งสองค่ายนั่นคือ สวนดอกไม้ (หรือที่รู้จักกันในนามวัดสวนดอก) และป่าแดง นี่คือที่มาของบทความนี้ ค่ายสวนดอกมีคัมภีร์ที่สนับสนุนพร้อมทั้งการวิจารณ์และบริภาษค่ายป่าแดงได้แก่ ตำนานมูลศาสนา สำนวนวัดสวนดอก เชียงตุง และสำนวนวัดยางควง เชียงตุง ส่วนค่ายป่าแดงคือสำนวนวัดป่าแดง เชียงตุง คัมภีร์ที่ชื่อผูกอยู่กับภูมิศาสตร์เช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมเชียงใหม่ที่สัมพันธ์ไปถึงเส้นทางอำนาจการเมืองและการค้าที่ขึ้นไปทางตอนเหนืออยู่ด้วย

หรือหากพูดในภาษาปัจจุบัน ตำนานมูลศาสนา ก็คือราโชมอนฉบับล้านนาก็พอได้อยู่ ค่ายสวนดอกถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่ทรงอำนาจมาแต่เดิม แต่กลับถูกท้าทายด้วยค่ายป่าแดงที่มาใหม่ ทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองจากพระเจ้าติโลกราชผู้ขึ้นมาจากการโค่นบัลลังก์พ่อ อันที่จริงตำนานมูลศาสนาควรจะเล่าถึงประวัติเชิงตำนานของพุทธศาสนา แต่ปรากฏว่าตัวบทกลับแฝงเรื่องเล่าทางความขัดแย้งของค่ายสวนดอกและค่ายป่าแดง โดยเฉพาะของค่ายสวนดอกที่โจมตีพระผู้ทรงอย่างพระญาณคัมภีร์ไม่ยั้ง

ปมความขัดแย้งสำคัญที่มีข้อสนเทศสำคัญตรงกันก็คือ การตีความพระวินัยที่แตกต่างกันไป ลักษณะดังกล่าวอาจจะคล้ายกับกรณี ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ที่เป็นนิกายใหม่ภายใต้การสนับสนุนของวชิรญาณภิกขุที่ท้าทายอำนาจของพระเดิมที่นับเป็น ‘มหานิกาย’ ที่เราอาจเคยได้ยินว่าหลังจากที่รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้ออกผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ กรณีเชียงใหม่ ท้าวลก ผู้ลูก แม้ไม่ได้เป็นผู้ตั้งนิกายใหม่ แต่ก็ปรากฏว่าได้สนับสนุนค่ายป่าแดงนี้อย่างออกหน้าออกตา โดยเฉพาะหลังจากได้รับอำนาจมาอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว

การตีความวินัยอย่างเคร่งครัด และการอ้างความบริสุทธิ์กว่าคือการสร้างความชอบธรรมอย่างหนึ่งของค่ายวัดป่าแดง การโจมตีภิกษุผู้รับเงินทอง การสะสมที่นา ถือเป็นเรื่องน่าละอายไม่ต้องตรงกับที่พุทธบัญญัติ (ซึ่งฝ่ายสวนดอกถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย) การออกเสียงสวดที่คลาดเคลื่อนอาจทำให้การอุปสมบทไม่ถูกต้อง ค่ายสวนดอกยังใช้อักขระแบบสันสกฤต มากกว่าอักษรบาลี ถือว่าผิดไปจากแนวของพระพุทธโฆษาจารย์ และจุดตายที่ค่ายป่าแดงโจมตีก็คือพระสวนดอกบวชในสำนักพระมหาสวามีอุทุมพร แต่ปรากฏว่าเมื่อครั้งขึ้นสำเภามาจากลังกา พระภิกษุมรณภาพไปทำให้เหลือเพียง 4 รูป ถือว่าไม่ครบองค์ที่จะบวชพระตามธรรมเนียม ตอนนั้นแก้ไขโดยการนำพระพุทธรูปมาตั้งแทนพระ วิธีการเช่นนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ค่ายป่าแดงจึงโจมตีว่า พระสำนักนี้จึงไม่เป็นพระที่บริสุทธ์สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น[2] สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ค่ายป่าแดง การจาริกขยายอิทธิพลของพระญาณคัมภีร์ แสดงผ่านร่องรอยทางสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่และน่าจะเป็นอิทธิพลค่ายป่าแดงก็คือวัดป่าแดงที่ตั้งอยู่ในเขตวัดป่าของสุโขทัย เช่น วัดป่าแดง พะเยา และวัดป่าแดง เชียงแสน[3]

ค่ายสวนดอก หลังจากรู้ข่าวว่าพระญาณคัมภีร์ตายได้ไม่นานก็ได้จัดประชุมให้พระทั้งหลายบันทึกในใบลานว่าพระญาณคัมภีร์เป็นผู้ทำให้สงฆ์แตกแยก[4] และนี่เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นการโจมตีพระญาณคัมภีร์ในคัมภีร์ใบลานค่ายสวนดอกไปทั่ว งานเขียนค่ายสวนดอกชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งเลย นั่นคือการสำแดงว่าพระญาณคัมภีร์นั้นเป็นตัวร้ายผู้เกรี้ยวกราดที่มักหาเรื่องพระนิกายเดิมไปทั่วไม่ว่าจะในเชียงใหม่หรือตามหัวเมืองที่มีโอกาสเดินทางไป จึงพบคำเรียกว่า ‘คัมภีรตนร้าย’[5] ปรากฏอย่างเนืองๆ วีรกรรมของเขาถูกเขียนไว้ว่าตั้งแต่การทะเลาะกับพระอุปัชฌาย์ แม้จะไปถึงลังกาก็ไปเรียนเวทมนต์จากพ่อค้าและชีเปลือย (ซึ่งชีเปลือยนั้นก็เป็นขโมยที่ลักแผ่นทองจังโกที่ใช้ห่อหุ้มตกแต่งเจดีย์เสียอีก) และใช้อวิชชานั้นล่อลวงทำให้เจ้าเมืองและกษัตริย์ต่างๆ หลงใหลในตน นำไปสู่การเผยแพร่นิกายของตนด้วยการบวชใหม่ให้กับพระในหัวเมืองต่างๆ อย่างไรก็ตามกษัตริย์อยุธยาและดินแดนที่อยู่ในอำนาจอย่างละโว้ เชลียง กำแพงเพชรไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น มีเพียงเจ้าเมืองสองแควและกษัตริย์สุโขทัยที่ยินยอมให้บวชพระ กลายเป็นว่าเมืองที่ยอมให้บวชกลับพบกับความพินาศชิบหาย[6] เช่น เมืองสองแควที่เจ้าเมืองออกปากว่าจะสร้างวัดให้พระญาณคัมภีร์อยู่ เจ้าเมืองขี่ช้างมงคลไปดูสถานที่ก่อสร้างก็ตกหล่ม และตายภายใน 3 วัน เหมราชลูกเจ้าเมืองก็เป็นโรคร้ายเสียชีวิต ตัวเจ้าเมืองยังเป็นโรคหิดโรคเรื้อนจนได้ชื่อว่า ‘พระยาขี้เรื้อน’

อีกหนึ่งสิ่งหนึ่งที่ค่ายสวนดอกโจมตีก็คือ การใช้เวทมนตร์ล่อลวงให้คนรักคนชอบตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงระดับเจ้าเมืองและกษัตริย์[7] จนมีคนตามมาบวชด้วย อาจเป็นข้อกล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมโดยตรงต่อพระญาณคัมภีร์ ขณะที่ความนิยมต่อค่ายสวนดอกอาจจะลดลงเมื่อค่ายป่าแดงโจมตีโดยอ้างว่าตนศักดิ์สิทธิ์กว่า

ค่ายสวนดอกยังแก้ตัวว่าการรับเงินทองและมีที่นามากก็เป็นเพียงอาบัติที่ไม่ถึงกับปาราชิก คือเป็นเพียงลหุโทษไม่ใช่โทษใหญ่หลวงอะไร และยังกล่าวหาเพิ่มเติมว่าพระญาณคัมภีร์สั่งสอนให้นำพระพุทธรูปไปทิ้งเพราะอ้างว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ มีแต่สวนดอกที่ปั้นรูปให้คนกราบไหว้ (แต่คำกล่าวหานี้น่าจะบิดเบือน เพราะพระญาณคัมภีร์เมื่อกลับมาจากลังกาก็นำพระพุทธรูป พระไตรปิฎกและพระศรีมหาโพธิ์กลับมาด้วย)[8]

ศูนย์กลางความขัดแย้งสะท้อนออกมาในประวัติและบทบาทของพระญาณคัมภีร์ พระรูปสำคัญของค่ายป่าแดง ตำนานฝ่ายสวนดอกชี้ว่าเขาขัดแย้งกับพระธรรมกิตติผู้เป็นอุปัชฌาย์ มีความหลงผิด จนถูกกษัตริย์เชียงใหม่เนรเทศระหกเหินไปเรียนต่อที่ลังกา โดยการช่วยเหลือของมหาเทวี ไปถึงที่นั่นก็คือยังไปคบคนและพระเลว มีพระที่มาจาก ‘เมืองไทย’ เตือนก็ไม่ฟัง[9] หลักฐานค่ายป่าแดงกลับชี้ว่าทั้งพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์เชียงใหม่และมหาเทวีเป็นผู้สนับสนุนให้เดินทางไปเรียนต่อนอกเข้าบวชใหม่และนำเอาพระพุทธรูป ต้นศรีมหาโพธิ์ และไตรปิฎกกลับมา[10]

หลักฐานค่ายสวนดอกชี้ให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของพระญาณคัมภีร์ต่อการดีเบตกับศัตรูตลอดกาลอย่างพระธรรมไตรโลกแห่งเมืองเชลียง ที่เข้ามาขัดขวางการเผยแพร่ศาสนาใหม่ของเขา โดยชี้ให้เห็นว่าการโจมตีของพระญาณคัมภีร์ต่อนิกายดั้งเดิมนั้นเป็นเพียงอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่ขั้นปาราชิกไม่ถึงขาดจากความเป็นพระ หรือการโชว์เหนือเมื่อยามบ้านเมืองมีภัยแล้ง[11] พระญาณคัมภีร์ไม่สามารถทำพิธีขอฝนได้ แต่พระธรรมไตรโลกสามารถแก้ไขได้อย่างราบรื่น[12] มีครั้งหนึ่งชี้ว่าพระญาณคัมภีร์ไม่กล้าสู้หน้าพระธรรมไตรโลกจึงส่งลูกศิษย์อย่างพระญาณกิติไปดีเบตแทนและก็แพ้กลับมา[13] แต่ค่ายป่าแดงกลับเขียนประวัติในด้านตรงข้ามก็คือ การดีเบตดังกล่าวพระธรรมไตรโลกพ่ายแพ้ ยอมรับว่าตนไม่แม่นยำในบาลีจึงขอบวชใหม่[14]

สุดท้าย ค่ายสวนดอกถึงกับบันทึกว่า ในช่วงบั้นปลายชีวิตพระญาณคัมภีร์หนีไปลำปาง แล้วสึกออกมาแต่งงานและขึ้นเป็นเจ้าเมือง ที่ร้ายกว่านั้นคือ ตายไปเป็นเปรตผู้น่าสมเพชถึงขนาดว่า เป็นเปรตแล้วก็พยายามจะสิงร่างพระค่ายป่าแดง แต่ก็ทำไม่ได้เพราะพระไม่บริสุทธิ์ต้องไปสิงร่างพระค่ายสวนดอก ลูกศิษย์ค่ายพระป่าแดงทั้งหลายที่ว่ากล่าวให้กับค่ายสวนดอก เมื่อตายไปก็ตกนรกทั้งสิ้น[15]

“มันก็เป็นพยาธิไป คือว่าเตโชธาตุ มันอันหากเกิดแต่ตนมันเป็นอันร้อนมากนักด้วยบาปกัม มันหากไหม้พายในตนมัน แล้วก็ออกมาพายนอกตนมันเป็นอันร้อนมากนักแล เขาก็หื้อนอนในเรือนสองอันนั้นก็ยังร้อนเล่า เขาจิ่งถ่ายน้ำเก่าแล้วเอานำมาใหม่ใส่ไจ้ๆ บ่รู้กี่เทื่อก็บ่รู้เย็นก็ยังร้อนฉันเดียวนั้น มันก็ลวดตายไปหั้นแล คันว่ามันตายไปแล้วก็ได้เป็นเปรตก่อนแล ด้วยวิบากมันติเตียนชาวเจ้าหนสวนดอกไม้เรานั้นแล…แม่นว่าลูกสิกมันเชื้อชาติอันสืบมันนั้นลวดติเตียรชาวเจ้าหนสวนดอกไม้เราว่าบ่ใช่ชีดั่งเขาว่าอั้น แม่นคนฝูงเป็นปักขเขานั้นก็ติตเตียรลวดประมาทในชาวเจ้าสวนดอกไม้เราว่าบ่เป็นชีดังฝูงเขาว่าอั้น คันเขาตายก็ได้เป็นเปรต ตกนารกมหาอเวจีเป็นดั่งครูเขานั้นแล”

ยังไม่พอยังขยี้ด้วยการเล่าว่า หลังจากพระญาณคัมภีร์ตายไป 80 ปี ก็เป็นเปรตที่อดอยากจึงมาเข้าสิงพระชาวเชียงแสนค่ายสวนดอก และบอกเหตุที่กลายเป็นเปรตว่า “ครูกูนั้นเป็นโจร แลช่างลักเอาคำพระเจ้าแล กูก็บ่เป็นชีพ้อยมาล่ายว่าเป็นชีบริสุทธิ แลติเตียนชาวเจ้าหนสวนดอกไม้ กูจิ่งได้เป็นเปรตเพื่ออั้นดาย” ฝ่ายพระสวนดอกจึงรุมซักว่าทำไมถึงไม่ไปสิงพระค่ายป่าแดงก็ได้คำตอบว่า พระสวนดอกนี้บริสุทธิ์กว่า นี่คือเทคนิคการโจมตีของค่ายสวนดอกไม้

การสังคายนาพระไตรปิฏก: การกระชับอำนาจของพระเจ้าติโลกราช ด้วยพลังค่ายป่าแดง

ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือร่องรอยความแค้นของค่ายสวนดอกที่สะท้อนผ่านคำพูดของท้าวลกที่ต่อมาจะขึ้นชิงบัลลังก์พญาสามฝั่งแกน (และรู้จักกันในนามพระเจ้าติโลกราช) เมื่อคราพญาสามฝั่งแกนจัดให้มีดีเบตระหว่างพระญาณรังสีแห่งสวนดอก และพระญาณคัมภีร์แห่งป่าแดง ข้อสรุปคือฝ่ายป่าแดงพ่ายแพ้ แต่ท้าวลก (ในตัวบทเรียกว่าท้าวเชียงล้าน) ผู้สนับสนุนฝ่ายป่าแดงไม่ยอมแพ้และได้จองเวรไว้ว่า

“เมื่อใดกูได้เป็นพระยาเมือง กูจักมล้างชีหมู่เก่าเสียแล้วจักหือบวชในสำนักชีหมู่ใหม่ดูเสี้ยงชะแลว่าอั้น”[16]

รอยแค้นของท้าวลกที่ระบุว่าหากตนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์จะจับพระเก่าคือค่ายสวนดอกบวชในค่ายป่าแดงให้หมดสิ้นนั้น ค่ายสวนดอกตอบกลับอย่างองอาจหลังจากได้ข้อสรุปจากการนัดชุมนุมว่า หากเกิดเหตุเช่นนั้น พระทั้งหลายจะหนีไปบวชทีลังกาเสียให้หมด

แม้พระญาณคัมภีร์จะสิ้นชีวิตลงนอกเชียงใหม่ แต่พลังของค่ายป่าแดงนั้นยังคงเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะค่ายนี้มีทั้งฝ่ายอาณาจักรสนับสนุน และมีรากฐานที่มั่นคงทางด้านวิชาการ พระป่าแดงพยายามชี้ให้เห็นความเป็นปัญญาชนของตนเองมากกว่าความปากร้ายของฝ่ายตรงกันข้าม การแสดงความรู้ด้านตรรกวิทยาและการตอบโต้ด้วยหลักวิชาของป่าแดงเป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำมากกว่า ในอีกด้านหนึ่งประวัติการจาริกของพระญาณคัมภีร์ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไปตามอยุธยา ละโว้ พระบาง (นครสวรรค์) สองแคว เชลียง สุโขทัย ก็อาจแสดงให้เห็นพลังทางการเมืองวัฒนธรรมที่แฝงอยู่กับพุทธศาสนาแบบใหม่ด้วย ดังจะเห็นว่าช่วงต้นรัชกาล การสวามิภักดิ์ของอดีตเจ้าเมืองสองแคว ปี 1994 และเจ้าเมืองเชลียงในปี 2003[17] ทำให้การขยายอำนาจทางการเมืองลงใต้ประสบความสำเร็จ ภูมิศาสตรืเหล่านี้ ล้วนเป็นเส้นทางจาริกเดิมของพระญาณคัมภีร์

ชัยชนะของค่ายป่าแดงจะเป็นอะไรไม่ได้นอกไปจากการที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ออกผนวชในวัดป่าแดง และสนับสนุนให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในปี 2020[18] โดยพระเจ้าติโลกราช ที่วัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการสถาปนาอำนาจนำของค่ายป่าแดงเหนือค่ายสวนดอกอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด การสังคายนาครั้งดังกล่าวทำให้วรรณกรรมที่เกี่ยวกับไตรปิฎกเฟื่องฟูขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นการแต่งคัมภีร์ขยายความ การอธิบายธรรมต่างๆในไตรปิฎก การอิงไตรปิฎกจึงหมายถึงการย้อนกลับไปหาความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนา ซึ่งมีนัยการวิจารณ์วัตรปฏิบัติที่ไม่น่าเลื่อมใสอย่างค่ายสวนดอกไปในตัว

ก่อนหน้าสังคายนาพระไตรปิฎกเพียง 2 ปี เชียงใหม่ได้สงบศึกกับอยุธยา เมืองเชียงชื่นกลับไปอยู่ในมือของอยุธยาอีกครั้ง[19] อาจชี้ให้เห็นความเสื่อมถอยทางการทหารของเชียงใหม่ที่เลยจุดสูงสุดไปแล้วด้วย การเน้นอำนาจการเมืองผ่านศาสนาก็อาจเป็นความพยายามกลบเกลื่อนความเสื่อมถอยทางการทหารของพระเจ้าติโลกราช

ร่องรอยการต่อสู้กันเพื่อชิงอำนาจนำทางศาสนายังไปปรากฏอยู่ที่เชียงตุง สงครามตัวแทนสวนดอก-ป่าแดง อยู่ในรูปการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของวัดยางควง และวัดป่าแดง เชียงตุง นั่นคือ ตำนานมูลศาสนาในเวอร์ชันของทั้งสองวัด ความขัดแย้งทั้งสองค่ายจบลงด้วยการพยายามประนีประนอมของชนชั้นสูงที่สนับสนุนค่ายป่าแดง พญาอาทิตย์แห่งเชียงตุงได้สั่งให้ค่ายสวนดอกที่เป็นพวกวัดยางควงไปขอโทษหลังจากพยายามชำระความผิด แต่พระวัดยางควงก็ไม่ยอมทำตามที่ตกลง จึงถูกสั่งให้ไปบวชใหม่กับพระป่าแดงที่เชียงใหม่เมื่อ 2052 ตรงกับสมัยพระเมืองแก้วแห่งเชียงใหม่[20] ข้อนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และอิทธิพลของเชียงใหม่ที่มีต่อเชียงตุงด้วย

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายที่อาจยังไม่ท้ายสุด เราจะเห็นว่า ทุกวันนี้เป็นวัดสวนดอกที่ยังหลงเหลือความยิ่งใหญ่ในฐานะที่เป็นวัดใหญ่โต และยังมีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมที่คึกคัก การย้ายกู่อัฐิเจ้านายเชียงใหม่ เชื้อสายเจ้าเจ็ดตนจากแถบริมน้ำปิงมาไว้ที่นี่โดยพระราชชายาดารารัศมี ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของชนชั้นสูงในยุคนั้น ต่างไปจากฝ่ายวัดป่าแดงที่ปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นวัดร้างและถูกรุกล้ำจนเค้าลางความยิ่งใหญ่นั้นแทบจะไม่หลงเหลือ แม้ว่าจะเคยเป็นที่ตั้งศพของแม่และพ่อของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของเชียงใหม่ก็ตาม การต่อสู้ที่เข้มข้นในยุคกว่า 500 ปีก่อน แม้จะไม่เหลือพยานบุคคลมาเล่าแล้ว แต่คัมภีร์ทางศาสนาอย่างตำนานมูลศาสนาก็ได้เก็บความบางประการส่งต่อมาถึงเราอย่างที่ไม่แน่ใจว่า ผู้เขียนต้องการจะสื่ออย่างที่คนในทุกวันนี้ตีความกันหรือไม่


[1] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่และเชียงตุง (กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, 2537)

[2] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 4

[3] ศิริพร รัตนพานิช, วัดป่าแดงศูนย์กลางพระพุทธศาสนานิกายสีหฬภิกขุในอาณาจักรล้านนาพุทธศตวรรษที่ 20-21 การค้นคว้าอิสระ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553, หน้า 36, 56, 71

[4] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 120-121

[5] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 44

[6] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 40-44

[7] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 114

[8] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6

[9] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 35-38

[10] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 169-178

[11] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 40-44

[12] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 49-50

[13] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 114-116

[14] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 179-180

[15] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 59-60

[16] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 118

[17] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552), หน้า160

[18] สรัสวดี อ๋องสกุล, เรื่องเดียวกัน, หน้า162

[19] สรัสวดี อ๋องสกุล, เรื่องเดียวกัน, หน้า160

[20] ประเสริฐ ณ นคร และปวงคำ ตุ้ยเขียว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 9, 204-206

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save