fbpx

ความสุขของคนหัวใจสลาย The Museum of Innocence

สำหรับผมแล้ว The Museum of Innocence (พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา) ของออร์ฮาน ปามุก เป็นนิยายรักที่ตรึงใจ รวดร้าวเศร้าสร้อย และเปี่ยมสุขชวนหลงใหล

ผมควรต้องรีบเตือนกันไว้ก่อน ว่ามันมิใช่นิยายรักตามขนบอันเป็นที่คุ้นเคย ไม่ได้หวานชื่นโรแมนติกชวนฝัน ไม่ได้สะเทือนใจเรียกน้ำตาอย่างจะแจ้ง แต่มีรสชาติเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

The Museum of Innocence ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2008 คล้อยหลัง 2 ปีจากที่ปามุกได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

นิยายเริ่มต้นด้วยการที่ ‘ผม’ (เคมาล) เล่าถึงห้วงขณะที่เขาเชื่อว่าเป็น ‘ช่วงเวลาแสนสุขที่สุดในชีวิตผม’ เมื่อยามบ่ายวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1975

ขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น เคมาลยังไม่รู้ตัวว่านั่นเป็นเวลาแห่งความสุขสมบูรณ์แบบ ต่อเมื่อเรื่องราวถัดจากนั้นผ่านความแปรผันเป็นอื่น และล่วงเลยผ่านพ้นไปอีกเนิ่นนานหลายปี ผ่านการรำลึกทบทวนย้อนหลังและความพยายามทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เคมาลจึงค่อยตระหนักว่าอดีตครั้งนั้นเป็นโมงยามอันสุขสมล้ำลึกโดยแท้

The Museum of Innocence เล่าเรื่องความรัก ความหมกมุ่นลุ่มหลง พิษรักบาดแผลอันรวดร้าวสาหัสจากความไม่สมหวัง การเยียวยาตนเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานใจ และการสร้างความทรงจำต่ออดีตที่ผ่านพ้นไม่มีวันกลับคืนของเคมาล โดยจับความเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 1975 ถึง 1984

เคมาลเป็นหนุ่มวัย 30 สืบทอดธุรกิจของครอบครัว มีฐานะร่ำรวย (เขาย้ำเตือนกับผู้อ่านอยู่เนืองๆ ถึงความน่าอึดอัดขัดข้องของ ‘การเป็นคนรวยในประเทศยากจน’) กำลังจะเข้าพิธีหมั้นกับสาวสวยชื่อสิเบล ซึ่งมีฐานะ ชาติตระกูล พื้นเพการศึกษาทัดเทียมกัน ทั้งสองเป็น ‘คู่รักในฝัน’ แบบกิ่งทองใบหยก และใครๆ ต่างจับตามองด้วยความชื่นชมระคนอิจฉา

ในช่วงทศวรรษ 1970 ผู้หญิงอย่างสิเบลถือได้ว่าเป็นคนหัวสมัยใหม่ เคยผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตในยุโรป และเปิดกว้างในเรื่องเพศ ดังนั้นเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคนรักเป็นไปอย่างราบรื่น มีความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่สิเบลกับเคมาลจะมีอะไรกันก่อนแต่ง โดยไม่มีฝ่ายใดรู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหายหรือไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สิเบลไม่ใช่นางเอกของนิยายเรื่องนี้ หากแต่เป็นหญิงสาวอีกคนที่แทรกตัวเข้ามาในฐานะ ‘มือที่สาม’

เธอเป็นหญิงสาววัย 18 ปีชื่อฟูซุน ญาติห่างๆ ของเคมาล (เมื่อไล่ลำดับสืบสาวจนถึงที่สุดแล้ว ทั้งสองไม่มีความข้องเกี่ยวผูกพันกันทางสายเลือด แต่นับญาติกันได้ผ่านการแต่งงานระหว่างบรรพบุรุษของสองฝ่าย) ฐานะยากจน ทำงานเป็นพนักงานขายของในร้านค้าแห่งหนึ่ง ก่อนหน้านั้นไม่นาน ฟูซุนเคยเข้าประกวดนางงามผ่านไปถึงรอบสุดท้าย แต่ไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ การเข้าประกวดนางงามทำให้ภาพพจน์ของเธอติดลบ เป็นที่ครหานินทากันไปทั่วในทางเสื่อมเสีย (สำหรับสังคมที่มีรากฐานเคร่งศาสนาอย่างตุรกี)

เคมาลกับฟูซุนพบเจอและรำลึกได้ถึงความหลังที่เคยรู้จักพบเจอกันเมื่อวัยเยาว์ และพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นรักต้องห้าม ทั้งสองนัดหมายพบปะกันเป็นประจำในยามบ่าย ที่อพาร์ตเมนต์ซึ่งแม่ของเคมาลใช้เป็นที่เก็บของ

สำหรับเคมาล ในเบื้องต้นความสัมพันธ์ดังกล่าวค่อนหนักไปทางความพึงใจในเพศรส เขาปรารถนาจะได้เจอฟูซุน มีเซ็กซ์กับเธอ แต่ปราศจากความคิดที่จะแต่งงานกับเธอ และมุ่งหวังอย่างเห็นแก่ตัวว่าจะหมั้นหมายและแต่งงานกับสิเบลในเร็ววัน พร้อมๆ กับที่ยังปรารถนาจะได้ร่วมรักกับฟูซุน (ซึ่งสารภาพว่าเธอหลงรักเขาอย่างจริงจัง) ต่อไป

เคมาลกับฟูซุนเจอะเจอมีความสัมพันธ์ก่อนแต่ง เกิดขึ้นจบลงกินเวลารวมแล้ว 44 วัน หลังจากคืนที่ประกอบพิธีหมั้นระหว่างเคมาลกับสิเบล ซึ่งฟูซุนกับครอบครัวได้รับเชิญมาเป็นแขก หญิงสาว (ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าน่าจะใจสลายยับเยิน) ก็หายลับไปจากชีวิตของเคมาล

นับจากวันนั้นสืบเนื่องมาอีก 9 ปี เคมาลค่อยๆ รู้ซึ้งแก่ใจว่าตนเองโหยหาต้องการฟูซุนมากมายเพียงไร หลงรักฟูซุนหัวปักหัวปำเพียงไร เจ็บปวดรวดร้าวทรมานอย่างไม่อาจเยียวยาเพียงไร

เรื่องคร่าวๆ ที่ผมเล่ามา เป็นเหตุการณ์เริ่มต้นกินเนื้อความประมาณไม่กี่สิบหน้าของนิยาย ที่เหลือถัดจากนั้นอีกห้าร้อยกว่าหน้า คือการพรรณนาถึงความทุกข์โศกสาหัสแบบกู่ไม่กลับของเคมาล หลังจากทำความรักหลุดลอยไป และเพิ่งมารู้ภายหลังว่าได้ทำผิดพลาดมากมายสารพัดสารพันต่อหญิงสาวที่ตนรัก, ความพยายามที่จะใช้ชีวิตปกติต่อไปของเคมาล ดิ้นรนต่อสู้กับความเจ็บปวดทั้งทายใจและทางกาย โดยมีสิเบลคู่หมั้นสาวร่วมยืนหยัดเคียงข้าง ก่อนที่ต่างฝ่ายต่างพบว่า ไม่เพียงแต่จะล้มเหลวปราศจากผล การใช้ชีวิตร่วมกัน (โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน) ยังเผยแสดงให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เคมาลไม่ได้รักสิเบล หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่เคยรักเลยเสียด้วยซ้ำ, ชีวิตหลังจากหญิงสาวที่เคมาลรักและหญิงสาวที่เคมาลหมั้นหมายหลุดมือไปทั้งสองคน ชายหนุ่มตกอยู่ในสภาพหมกมุ่นลุ่มหลงดิ่งลึก จนนำไปสู่การสะสมสิ่งของที่ข้องเกี่ยวกับฟูซุน เพื่อรำลึกถึงชั่วขณะต่างๆ นานาเกี่ยวกับเธอ

แรกเริ่มสิ่งของเหล่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการสะสม แต่เป็นเครื่องเยียวยาบรรเทาอาการทุกข์ทรมานเจ็บปวดให้ทุเลาเบาลง และในบางขณะสิ่งของดังกล่าวก็ทำให้เกิดความสุขใจเล็กๆ น้อยๆ นานวันเข้าก็กลายเป็นกิจวัตรประจำ กลายเป็นการสะสมเสาะหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลังจากประสบเหตุสำคัญในบั้นปลาย สิ่งของเกี่ยวกับฟูซุนที่รวบรวมไว้มากมายก็แปรเปลี่ยนไปเป็นความคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา

นิยายบอกเล่ากับผู้อ่านเรื่องการมีอยู่เกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาไว้ตั้งแต่บทแรกๆ แล้วนะครับ ไม่ได้เป็นความลับต้องห้ามเพื่อสร้างความประหลาดใจอันใด ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้สิ่งของต่างๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่าเรื่อง ด้วยการหยิบยกข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นมา แล้วบอกเล่าเชื่อมโยงไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์

พูดอีกนัยหนึ่ง ตัวนิยายทั้งเรื่องทำหน้าที่เสมือนคู่มือนำชมพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นจริงเป็นจัง (และทำให้พฤติกรรมแปลกพิลึกของเคมาลเต็มไปด้วยความหนักแน่นน่าเชื่อถือ) และมีชีวิตชีวาเอามากๆ จนไม่น่าแปลกใจว่า หลังจากนิยาย The Museum of Innocence ปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน ในปี 2014 ก็มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาขึ้นมาจริงๆ โดยจำลองถอดแบบรายละเอียดต่างๆ รวบรวมสิ่งของที่จัดแสดงตรงตามนิยายทุกประการ

ขณะเขียนบทความชิ้นนี้ ผมอ่าน The Museum of Innocence ไปแล้ว 3 เที่ยว ความชอบนั้นเพิ่มพูนมากขึ้นโดยตลอด

ความชอบแรกสุด คือความรู้สึกว่าเป็นนิยายที่อ่านสนุก ซึ่งแยกย่อยลงไปได้อีกว่า อย่างแรกเป็นความสนุกในการติดตามด้วยความกระหายใคร่รู้เหตุการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร เช่น ฟูซุนหายไปไหน? เคมาลจะได้พบเธออีกหรือไม่? และหากทั้งคู่ได้พบกัน เขากับเธอจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกัน? รวมทั้งเรื่องราวจะจบลงเอยอย่างไร?

ความสนุกอีกแบบคือการสาธยายรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตในแต่ละวันของเคมาล การบรรยายถึงฉากหลังสภาพบ้านเมืองของอิสตันบูล ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง ร้านรวงต่างๆ อาหารการกิน รวมถึงสภาพความเป็นไปทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาตามท้องเรื่อง

ผมคิดว่านิยายทุกเรื่องของออร์ฮาน ปามุก โดดเด่นมากในการถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างแจ่มแจ้งจนเห็นภาพคล้อยตามในขณะอ่าน และเป็นการแสดงรายละเอียดได้อย่างมีเสน่ห์ชวนติดตามเอามากๆ

ความชอบต่อมาคือ The Museum of Innocence เป็นนิยายรักที่มีความลึก โดยพล็อตแล้ว แทบไม่ต่างจากเรื่องรักประโลมโลกย์ทั่วๆ ไป แต่ด้วยวิธีการเขียน วิธีการดำเนินเรื่อง และการเลือกที่จะบอกเล่า เลือกที่จะละเว้น ก็ส่งผลให้ภาพรวมทั้งหมด เกิดอรรถรสแตกต่างนิยายรักโรแมนติกพาฝันอันมีอยู่ดาษดื่นไปไกลลิบลับ

ความลึกอย่างแรกคือการเผยแสดงให้เห็นความสลับซับซ้อนในจิตใจของตัวละคร ทั้งเคมาลและฟูซุน (รวมถึงตัวละครรองลงมารายอื่นๆ)

สำหรับตัวละครเคมาล นิยายเรื่องนี้สามารถเรียกได้ว่า เป็น ‘คำสารภาพ’ หรือ ‘คำให้การ’ ของคนหัวใจแหลกสลาย ‘ผม’ ผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของตนเองไม่ได้แจกแจงเฉพาะแค่ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นเท่านั้น แต่ยังทบทวนตรวจสอบข้อบกพร่องผิดพลาดของตัวเอง พูดถึงการเรียนรู้ เติบโต และคลี่คลายเงื่อนปมหลายอย่างในใจ ผ่านวันเวลาและช่วงวัยที่เพิ่มพูน โดยเฉพาะแง่มุมเกี่ยวกับการค้นหาความสุขจากเรื่องดีร้ายที่เลยลับไปแล้ว

ทั้งบทเปิดเรื่อง ประโยคจบ ล้วนตอกย้ำแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตที่มีความสุขนะครับ รวมทั้งเนื้อความตอนหนึ่งในหน้า 73 เคมาลบอกต่อผู้อ่านว่า “ผมแน่ใจว่าไฟที่ใจกลางเรื่องราวของผมคือ แรงปรารถนาที่จะกลับไปยังช่วงเวลาแห่งความรักนั้น และความยึดติดในความสุขนั้น”

สำหรับตัวละครฟูซุน มิติความลึกสะท้อนผ่านการกระทำหลายครั้งหลายครา ซึ่งชวนให้สงสัยว่าเธอทำไปเพราะเหตุใดหรือกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ และการให้คำตอบหรือการอธิบาย (ข้อสงสัยของผู้อ่าน) ก็เล่าผ่านการสันนิษฐานคาดเดาของเคมาล ซึ่งเป็นอีกบุคคล ไม่กระจ่างแจ้งไปเสียทั้งหมด มีความเป็นไปได้ว่าเคมาลอาจเข้าใจถูกหรือผิดก็ได้

กล่าวโดยรวม ความลึกหรือสลับซ้อนในจิตใจของตัวละคร เป็นแง่มุมที่ท้าทายเชิญชวนให้ผู้อ่านตีความเป็นอย่างยิ่ง ขอสารภาพว่าผมเองยังเข้าใจไม่กระจ่างชัด ไม่ใช่เพราะนิยายบอกเล่าอย่างกำกวมคลุมเครือหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะว่ามีรายละเอียดเบาะแสมากมายเต็มไปหมด และหลายๆ รายละเอียดทิ้งแง่มุมให้ต้องขบคิดถอดรหัสตามอัธยาศัย เช่น การประกวดนางงามและความใฝ่ฝันอยากเป็นดาราอย่างแรงกล้าของฟูซุน หรือความชื่นชมที่หญิงสาวมีต่อดาราดังเกรซ เคลลี ผู้มีเส้นทางชีวิตชวนฝันราวกับเทพนิยายสมัยใหม่

เช่นเดียวกับนิยายเรื่องอื่นๆ ของออร์ฮาน ปามุก ซึ่งมักจะสะท้อนถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’ The Museum of Innocence ก็พูดถึงสภาพอิหลักอิเหลื่อของตุรกีในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลง

อย่างแรกคือ หญิงสาวหลายๆ คนในเรื่อง ทั้งตัวนางเอกฟูซุน คู่หมั้นของเคมาล (สิเบล) และนูร์จิฮัล (เพื่อนสาวของสิเบล ซึ่งเคยใช้ชีวิตที่ปารีสด้วยกัน) มีบุคลิกนิสัยและพฤติกรรมเป็นสาวสมัยใหม่แบบเดียวกับสาวๆ ในยุโรป ทั้งรสนิยมการแต่งกาย การใช้ชีวิต (ฟูซุนกับสิเบลมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งด้วยความเต็มใจ

ส่วนูร์จิฮันเคยหลับนอนกับผู้ชายหลายคนเมื่อตอนอยู่ปารีส แต่ค่านิยมที่หยั่งรากลึกในตุรกียังคงยึดมั่นให้ค่าต่อพรหมจรรย์ของหญิงสาว ทั้งตั้งแง่รังเกียจหญิงสาวที่ปล่อยตัวปล่อยใจก่อนแต่งงานว่าเป็นเรื่องน่าอัปยศอดสู เป็นผู้หญิงมีตำหนิเสียหายที่สังคมวงกว้างไม่ยอมรับ กระทั่งสามารถย้อนกลับมาทำลายชีวิตจนพังพินาศ (ดังเช่นที่เกิดกับฟูซุนและสิเบล และทำให้สาวเปรี้ยวอย่างนูร์จิฮันทำตัวตรงข้าม กลายเป็นคนรักนวลสงวนตัวเมื่อกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในตุรกี โดยการไม่ยอมหลับนอนกับแฟนหนุ่มอย่างเคร่งครัดจนกว่าจะได้แต่งงานกัน)

ความขัดแย้งข้างต้นนี้ กินความลงลึกไปกระทั่งว่าในการโฆษณาน้ำอัดลมท้องถิ่นยี่ห้อแรกที่เน้นถึงความทันสมัย ก็ยังต้องใช้นางแบบชาวต่างชาติ เพราะรับไม่ได้ที่จะเห็นหญิงสาวชาวตุรกีปรากฏโฉมในเชิงเชิญชวนต่อสาธารณชน

ความขัดแย้งต่อมา คือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเมืองอิสตันบูล ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพูนของประชากร ความเฟื่องฟูของธุรกิจกับต่างชาติ การไหลบ่าเข้าของอารยธรรมยุโรปและอเมริกัน, การเริ่มต้นของสื่อโทรทัศน์ (ตุรกีเพิ่งมีการแพร่ภาพผ่านสื่อโทรทัศน์ ช่วงต้นทศวรรษ 1970 รายละเอียดเหล่านี้ เล่าไว้ในหนังตลกปี 2001 เรื่อง Vizontele สามารถดูได้ทาง Netflix), วงการภาพยนตร์ของตุรกี ฯลฯ

แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะมุ่งสู่ความทันสมัย ขณะเดียวกันก็ยังคงมีหลายอย่างที่ล้าหลังหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความยากไร้ของผู้คนส่วนใหญ่ ค่านิยมความเชื่อของผู้คนที่ตีกรอบโดยคำสอนทางศาสนา ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แหล่งย่านเสื่อมโทรม การเซ็นเซอร์ตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อห้ามหยุมหยิมมากมาย แทบจะกลายเป็นสภาพไร้กฎเกณฑ์และลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างถึงที่สุด รวมถึงปัญหาระอาใจที่ไม่เคยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางบวก จำพวกน้ำท่วม น้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับอยู่เนืองๆ

อาจกล่าวได้ว่า พร้อมๆ กับการเล่าถึงเรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มสาว The Museum of Innocence ก็เป็นนิยายแสดงถึงความรักความผูกพันที่ออร์ฮาน ปามุกมีต่ออิสตันบูล ทั้งในแบบดั้งเดิมสมัยอดีต ทั้งในแบบที่กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่าน ทั้งในแบบที่ผิดแผกเป็นอื่น จนไม่หลงเหลือเค้าเดิม

พ้นจากรสบันเทิงและแง่มุมทางเนื้อหาส่วนหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ผมชอบลำดับต่อมาคือ การที่นิยายเรื่องนี้พูดถึง 3 แง่มุมได้อย่างลึกซึ้ง นั่นคือความสุข (รวมถึงความทุกข์) ความทรงจำ และกาลเวลา มีการตอกย้ำและให้คำอธิบายเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ เหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนในหลายบทหลายตอน แต่ที่ผมชอบมากคือการผูกโยงทั้งหมดนี้เข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ตัวเอก และการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาได้อย่างน่าทึ่ง

ในบรรดานิยายทั้งหมดของออร์ฮาน ปามุก ที่แปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้ว อันประกอบไปด้วย หิมะ (Snow), My Name is Red (เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งชื่อภาษาไทย), A Strangeness in My Mind (หากหัวใจไม่สามัญ เรื่องนี้มียิ่งมีความเป็นจดหมายรักถึงอิสตันบูลเด่นชัดมาก) และ The Museum of Innocence

เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ผมคิดว่า The Museum of Innocence เป็นเรื่องที่อ่านสนุกสุด กินใจสุด พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจเนื้อหาสาระยากสุดด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save